แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1640

ถวายคำตอบปัญหาธรรมพระภิกษุที่มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๐


คำถาม ธรรมชาติเดิมของจิต คือ ธาตุรู้ เพราะเหตุอะไรเป็นปัจจัย จึงทำให้จิตปฏิสนธิในรูปสังขารเป็นไม่รู้ หนทางที่จะทำให้จิตที่ปฏิสนธิแล้วคืนกลับไป สู่ความเป็นผู้รู้ได้อย่างไร

สุ. จิตเป็นสภาพรู้ทุกขณะที่เกิดขึ้น ทุกประเภทด้วย ไม่ว่าจะเป็นอกุศลจิตก็เป็นสภาพรู้ กุศลจิตก็เป็นสภาพรู้ โลกียจิตก็เป็นสภาพรู้ โลกุตตรจิตก็เป็นสภาพรู้เพราะฉะนั้น ลักษณะของจิตทุกประเภท ทุกขณะที่เกิดขึ้น เป็นสภาพรู้

ที่ถามว่า เพราะเหตุอะไรเป็นปัจจัยจึงทำให้จิตปฏิสนธิในรูปสังขารเป็นไม่รู้

ไม่รู้ นั่นไม่ใช่จิต ถ้าไม่รู้อารมณ์ใดๆ เลยทั้งสิ้น นั่นเป็นรูป ถ้าจิตเกิดขึ้น และไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นอวิชชา เป็นโมหเจตสิก ไม่ใช่จิต เพราะว่าจิตเพียงแต่เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏ เช่น เห็นสิ่งที่ปรากฏ ทางตา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีรูปร่างสีสันวัณณะสัณฐานอย่างไร จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งนั้น ทำไมจึงรู้ว่าเป็นเพชรจริง ทำไมจึงรู้ว่าเป็นเพชรเทียม ก็เพราะตาเห็น หรือ เห็นด้วยจักษุ เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏโดยเพียงเห็น เห็นสิ่งที่ต่างกันทั้งหมด แต่ไม่ใช่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นเพชรจริงหรือสิ่งนี้เป็นเพชรเทียม แต่เห็นสิ่งที่ต่างกันที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง และจิตขณะต่อไปจะเป็นจิตที่สามารถ คือ มีสัญญา ความทรงจำ และการพิจารณาที่จะรู้บัญญัติที่ต่างกันของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะที่ไม่รู้ ไม่ใช่จิต ต้องเป็นเจตสิก

ถ้าเป็นขณะที่ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นอวิชชา หรือโมหเจตสิก ถ้าขณะนั้นรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นปัญญาเจตสิก ไม่ใช่จิต

คำถาม จิตที่รู้ไม่จริง เช่น หลงอยู่ในสัญญา อุปาทาน เช่น ครูบาอาจารย์บางสำนักจะเผยแพร่ความรู้ไม่จริงนั้นไปยังหมู่ศิษย์ มีศิษย์บางคนสดับศึกษาแล้วนำไปปฏิบัติ เกิดรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมขึ้น แล้วนำความรู้จริงนั้น ไปปรารภ แต่อาจารย์โกรธ จะแก้ไขอย่างไร

สุ. จิตที่รู้ไม่จริง เช่น หลงอยู่ในสัญญา อุปาทาน ก็หมายความถึง อกุศลจิต เพราะเกิดร่วมกับอวิชชาหรือโมหะ ความไม่รู้

ยาก ที่คิดจะแก้ไขบุคคลอื่น เพราะพระธรรมเป็นศาสดาแทนพระผู้มีพระภาค ถ้าแสดงธรรมและไม่สามารถที่จะเกื้อกูลบุคคลนั้นได้ ก็ไม่มีบุคคลใดๆ สามารถที่จะเกื้อกูลได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น มีหนทางเดียว ถ้าเป็นผู้ที่สดับพระธรรม ฟังพระธรรม ก็สามารถที่จะเกื้อกูลโดยแสดงพระธรรมเท่านั้น

คำถาม โลกียะ โลกุตตระ รู้แล้ว แต่อยากทราบว่า จะแยกจิตเข้าโลกุตตระ แยกตรงไหน เข้าในสมาธิขั้นไหน และใช้อารมณ์อย่างไร

สุ. ถ้าทุกคนรู้ คงจะเป็นพระอรหันต์กันหมด ถ้าทุกคนรู้วิธีทำและคิดว่า ทำได้ แต่นี่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาจากความไม่รู้ไปสู่ความค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ ประจักษ์แจ้งขึ้น จนกระทั่งสามารถรู้อริยสัจธรรมได้ แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องมีวิธีที่จะแยกจิตเข้าโลกุตตระว่าแยกตรงไหน และเข้าในสมาธิขั้นไหน ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเรื่องของการดับกิเลส เป็นเรื่องการอบรมเจริญปัญญา

ถ้าจะกล่าวว่าใช้อารมณ์อะไร ก็อารมณ์ที่กำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้ ไม่ใช่อารมณ์อื่น เพราะที่ว่าไม่รู้ ไม่รู้อะไร ก็ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ต้องรู้สิ่งที่ปรากฏนั่นเอง ไม่ใช่ว่ามีอารมณ์อื่น และไปทำสมาธิ และ จะแยกเข้าโลกุตตรธรรมได้

ในขณะที่นอนหลับสนิท ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ไม่มีการคิดนึกเลย ขณะนั้นรู้ไหมว่า เป็นใคร นอนอยู่ที่ไหน ชื่ออะไร บิดามารดาชื่ออะไร มีทรัพย์สมบัติมากน้อยแค่ไหน มีมิตรสหายแค่ไหน ในขณะที่นอนหลับสนิท ก็ไม่รู้เลย

ในขณะที่โลกไม่ปรากฏ ไม่สามารถที่จะเกิดความหลง ความไม่รู้ หรือความรู้ในโลกที่ปรากฏได้ แต่ทันทีที่ตื่นแล้วเห็น ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง ไม่ใช่ภวังคจิตในขณะที่นอนหลับสนิท เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นและไม่รู้สิ่งที่ปรากฏ โลกุตตรจิตจะเกิดได้ต่อเมื่อปัญญาอบรมจนกระทั่งรู้สิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงก่อน

ขณะที่นอนหลับสนิท ไม่ได้ยิน เวลาที่ตื่นขึ้นแล้วได้ยิน แต่ไม่รู้สภาพของการได้ยินและเสียงที่ปรากฏตามความเป็นจริง ขณะนั้นเป็นความหลง เป็นความไม่รู้ ต้องรู้สิ่งที่ได้ยินก่อนโลกุตตรจิตจึงจะเกิดได้

เพราะฉะนั้น ไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเลย การไม่รู้ ก็ไม่รู้ ในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การรู้ ก็คือรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง เพราะฉะนั้น ทางที่จะให้โลกุตตรจิตเกิดขึ้น ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญารู้สิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นหนทางเดียว คือ สติปัฏฐาน ๔

คำถาม คำว่า สวรรค์ เป็นบุคคลาธิษฐานนั้นคือเช่นไร

สุ. ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมนั้น จำแนกโดยปรมัตถธรรมกับบัญญัติธรรม

ปรมัตถธรรม หมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริง สภาพธรรมที่มีจริงนั้น ทรงบัญญัติคำเพื่อเรียก เพื่อแสดงให้เข้าใจว่า หมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริงประเภทใด ที่ไหน จึงเป็นบัญญัติธรรม เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวโดยนัยของปรมัตถธรรมกับโดยนัยของบัญญัติธรรม จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่างชัดเจนขึ้น เช่น คำว่า สวรรค์ เป็นที่ที่มีจริง เช่นเดียวกับโลกนี้เป็นโลกหนึ่ง ทำไมจะคิดว่า มีแต่เพียงโลกนี้โลกเดียวในจักรวาลที่กว้างใหญ่

ถ้าเกิดที่นี่ก็รู้ว่าโลกนี้จริง ยังไม่เห็นนรก ไม่ทราบว่านรกจะจริงไหม แต่ถ้า มีเหตุให้เกิดในนรก ก็จะเกิดในนรกจริงๆ และเมื่อนั้นจะรู้ว่านรกก็มีจริง

ถ้าทำความดีตามลำดับขั้นที่จะให้เกิดในสวรรค์ขั้นต่างๆ เมื่อกรรมดีนั้นให้ผล และเกิดในสวรรค์ขั้นต่างๆ ก็จะรู้ว่า สวรรค์คือโลกๆ หนึ่งเหมือนโลกนี้ แต่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะประณีตกว่าโลกนี้ จึงชื่อว่าสวรรค์

และสำหรับโลกอื่นๆ เช่น รูปพรหมและอรูปพรหม ก็เช่นเดียวกัน คือ ต้องมีเหตุที่ควรแก่การที่จะให้เกิดในโลกนั้นได้

คำถาม พระพุทธเจ้าไปโปรดพุทธมารดานั้น ไปอย่างไร

สุ. พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ที่ถึงพร้อมวิชชาและจรณะ

วิชชา คือ ปัญญาที่สามารถระลึกอดีตชาติได้ สามารถรู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์โลกได้ สามารถรู้หนทางวิธีที่จะดับกิเลสได้ นี่คือวิชชา ๓

จรณะ ได้แก่ ฌาน ความสงบของจิต ซึ่งไม่มีผู้อื่นเสมอเหมือน และสำหรับจิตใจที่สงบนั้น ย่อมสามารถกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้

เพราะฉะนั้น การที่พระผู้มีพระภาคเสด็จสู่ภพอื่น โลกอื่น ย่อมเป็นสิ่งที่กระทำได้ด้วยกำลังของจิตที่สงบที่เป็นฌานจิต ที่สามารถกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ คนที่ยังมีกิเลสมาก กระโดดได้สูงมากตามลำดับของการฝึกหัด ถ้าคนที่ไม่หัดเลย ก็กระโดดได้ต่ำๆ ถ้าคนที่หัดเสมอ และมีความสามารถ มีความชำนาญ ย่อมสามารถกระโดดสูงได้ นั่นคือคนที่มีกิเลส แต่คนที่จิตสงบ ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เป็นพระอรหันต์ และยังเป็นผู้ที่ประกอบด้วยจรณะ คือ ฌานขั้นต่างๆ ก็ย่อมสามารถกระทำสิ่งที่บุคคลอื่นไม่สามารถกระทำได้

เรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นการกระทำด้วยอำนาจของฌานจิต ก็ไม่ใช่มีแต่เฉพาะพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว แม้แต่พวกเดียรถีย์ปริพาชกผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาก็สามารถกระทำได้ เพียงแต่ไม่รู้หนทางที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ย่อมไม่สามารถกระทำได้เท่ากับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

คำถาม สภาวะของจิตเช่นใดเรียกว่า กามภพ รูปภพ อรูปภพ

สุ. ขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกาม เพราะฉะนั้น จิตใดๆ ก็ตาม ที่เป็นไปกับกาม คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นกามภพ ถ้าหมายถึงสภาวะของจิต ไม่ได้หมายความถึงโลก ถ้ากามโลก กามภูมิ ก็มีทั้งที่ เป็นอบายภูมิ ๔ มนุษย์ ๑ และสวรรค์ ๖

รูปภพ ถ้าหมายถึงสภาวะจิต ได้แก่ รูปาวจรจิต ซึ่งเป็นฌานจิตตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน

อรูปภพ ได้แก่ อรูปฌานจิต ได้แก่ อากาสานัญจายตนจิต วิญญาณัญจายตนจิต อากิญจัญญายตนจิต เนวสัญญานาสัญญายตนจิต

คำถาม วิสุทธิ ๗ ประการ เกิดในขณะจิตเช่นใด การเกิดของวิสุทธิทำลายกิเลสอะไรได้บ้าง

สุ. เป็นการพูดถึงสิ่งที่ไกล ทิฏฐิวิสุทธิซึ่งเป็นวิสุทธิที่ ๑ ได้แก่ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวาร เพราะฉะนั้น การพูดถึงเรื่องผลเป็นเรื่องที่ไกล ถ้าขณะนี้ สติไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ การพูดถึงวิสุทธิ ๗ นั้น ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก เพราะเป็นการพูดเรื่องชื่อเท่านั้นเอง

ถ้าจะกล่าวถึงวิสุทธิ ๗ โดยย่อก็ได้แก่วิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ นั่นเอง เพราะวิปัสสนาญาณจะละคลายกิเลสตามลำดับขั้น จนกว่าจะถึงการรู้แจ้ง อริยสัจธรรม ซึ่งจะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทตามลำดับขั้น

คำถาม ทราบได้อย่างไรว่า มีการเวียนว่ายตายเกิด แตกดับไปแล้ว ทราบได้อย่างไรว่าจะต้องไปเกิดในภูมิอื่น

สุ. ดูเหมือนเป็นเรื่องไม่จริง หรือดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ หรือดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะไม่เห็น แต่ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาในเหตุและในผล ย่อมสามารถรู้ได้ว่า จิต เจตสิก รูปเมื่อวานนี้ อยู่ที่ไหน จิต เจตสิก รูปเมื่อเดือนก่อนอยู่ที่ไหน จิต เจตสิก รูปเมื่อปีก่อน อยู่ที่ไหน จิต เจตสิก รูปเมื่อสิบปีก่อน อยู่ที่ไหน จิต เจตสิก รูปในขณะที่เกิดและยังไม่เติบโตนั้นอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ทุกขณะเกิดขึ้นและดับไปๆ ที่ใช้คำว่า สังสาระ คือ วนเวียน ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง

เมื่อเกิดมาแล้วจะให้เห็นอย่างเดียวไม่ได้ หรือจะให้ได้ยินแต่เพียงอย่างเดียว ก็ไม่ได้ เกิดมาแล้วเดี๋ยวเห็น ขณะหนึ่งหมดไป เดี๋ยวได้ยินอีกขณะหนึ่งหมดไป เดี๋ยวได้กลิ่นขณะหนึ่งหมดไป เดี๋ยวนึกคิดอีกขณะหนึ่งหมดไป เมื่อวานนี้ก็อย่างนี้ วันนี้ก็อย่างนี้ พรุ่งนี้ก็อย่างนี้ เพราะฉะนั้น แต่ละขณะซึ่งเกิดและดับไปต้องมี เหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น เมื่อวานนี้จิตก็เกิดดับสืบต่อ จิตในขณะนี้ดับแล้วจิตในขณะต่อไปก็เกิดสืบต่ออีก เพราะว่าการดับไปของจิตดวงก่อน เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นโดยเป็นอนันตรปัจจัย

เวลาที่สวดศพ จะมีเรื่องของปัจจัย ๒๔ อนันตรปัจจัยเป็นปัจจัยหนึ่งที่แสดงว่า เมื่อนามธรรม คือ จิตและเจตสิก ดับไป การดับไปของจิตเจตสิกนั้น เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกขณะต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ใครจะยุติสภาพการเกิดดับสืบต่อกันของจิตในสังสารวัฏฏ์ได้ ในเมื่อเหตุยังมีอยู่

เพราะฉะนั้น เป็นของที่แน่นอนว่า เมื่อจุติจิตดับไปแล้ว ปฏิสนธิจะต้องเกิดต่อ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เชื่อในเหตุและในผลก็จะคิดว่า ไม่มีเหตุที่จะทำให้จิตเกิด แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ธรรมทั้งหลายที่เกิดต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง มีเหตุที่จะทำให้เกิดจึงเกิดได้ ต่อเมื่อใดที่ดับเหตุปัจจัย คือ จุติจิตของพระอรหันต์ ดับเหตุปัจจัยที่จะให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น เมื่อจุติจิตของพระอรหันต์ดับ ก็ไม่มีปฏิสนธิอีกต่อไป

นี่เป็นความต่างกันของปุถุชนกับพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ยังต้องมีปฏิสนธิจิตเกิดต่อจากจุติจิต

คำถาม รูปที่มีชีวิตแต่ไม่มีเจตสิก ถือได้ว่าเป็นการเกิดเพราะกรรมหรือไม่

สุ. ถ้าไม่มีเจตสิก ก็ต้องไม่มีจิตด้วย จะไม่มีแต่เจตสิกโดยยังมีเฉพาะจิตไม่ได้เลย ขณะใดที่จิตเกิด ขณะนั้นต้องมีเจตสิก ขณะใดที่เจตสิกเกิด ขณะนั้นต้องมีจิต เพราะฉะนั้น รูปที่มีชีวิตแต่ไม่มีเจตสิก ต้องหมายความว่าไม่มีจิตด้วย

รูปที่เกิดเพราะกรรม แต่ไม่มีจิตเจตสิกเกิดมีอยู่ภูมิหนึ่ง คือ อสัญญสัตตาภูมิ เป็นรูปพรหมภูมิซึ่งมีแต่รูปเกิด ไม่มีนามธรรมเกิดเลย เพราะว่าคนในครั้ง ก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะทรงตรัสรู้ เป็นผู้ที่แสวงหาหนทางที่จะดับทุกข์ แต่เมื่อไม่ได้อบรมพระบารมีที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงไม่สามารถรู้หนทางที่จะดับกิเลส ซึ่งจะดับกรรม ซึ่งจะดับทุกข์ เพราะเหตุว่าจะไม่มีการเกิดอีกเลย

เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นก็พากเพียรแสวงหาหนทางโดยการอบรม เจริญสมถภาวนา ซึ่งทำให้จิตสงบจนกระทั่งสามารถบรรลุถึงปัญจมฌาน โดยปัญจกนัย และเห็นโทษของนามธรรมว่า ที่มีการกระทำต่างๆ ที่เป็นอกุศลกรรมเพราะมีจิต ถ้าไม่มีจิตแล้ว รูปไม่สามารถกระทำอกุศลกรรมใดๆ ได้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ท่านที่เห็นโทษของนามธรรม ก็ปรารถนาไม่ให้นามธรรมเกิด ด้วยอำนาจของฌานที่หน่ายคลายเพราะเห็นโทษของนามธรรม เมื่อปัญจมฌานจิตเกิดใกล้จะจุติพร้อมด้วยการเป็นผู้หน่ายในการที่นามธรรมจะเกิด จึงเป็นปัจจัยให้รูปปฏิสนธิ เป็นอสัญญสัตตาพรหมบุคคลในอสัญญสัตตาภูมิ เพราะฉะนั้น ก็เป็นแต่เพียงรูปปฏิสนธิด้วยกรรมเป็นสมุฏฐาน โดยไม่มีจิตและเจตสิกเกิดในภูมินั้นตลอดขณะที่ ยังเป็นอสัญญสัตตาพรหมบุคคล

คำถาม ความเชื่อเรื่องกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่สะสมไว้ในภูมิหลังๆ จะติดตามมาชดใช้กันในภูมินี้ เป็นความเชื่อที่ถูกต้องหรือเป็นความเชื่อที่ผิด และจะมีข้อพิสูจน์ได้อย่างไร

สุ. ถ้าไม่มีกรรม ก็ไม่เกิด และถ้าเกิดแล้ว ขณะไหนเป็นผลของกรรม ถ้าไม่ทราบก็ไม่รู้เลย คิดว่ามีชีวิตไปวันๆ หนึ่ง โดยไม่รู้ว่า ขณะไหนเป็นผลของกรรมในอดีต และขณะไหนเป็นกรรมในปัจจุบันที่จะให้ผลในอนาคต

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะรู้เรื่องของกรรมและผลของกรรม ควรทราบว่า ขณะปฏิสนธิเป็นผลของกรรม เมื่อปฏิสนธิแล้ว ยังมีตาสำหรับเห็น เพราะฉะนั้น จิตเห็นเป็นผลของกรรม มีหูเพื่อที่จะให้ได้ยิน เพื่อที่จะได้รับผลของกรรม ถ้าเป็นผลของกรรมดี ก็ได้ยินเสียงที่ดี ถ้าเป็นผลของกรรมที่ไม่ดี ก็ได้ยินเสียงที่ไม่ดี มีจมูก มีลิ้น มีกาย เพื่อรับผลของกรรม

ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะเห็นผลของกรรมในปัจจุบัน ซึ่งไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถยับยั้งได้ เช่น ในขณะที่ได้ยินเสียง ได้ยินเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเสียงไม่เกิดกระทบกับ โสตปสาท จิตได้ยินก็เกิดไม่ได้

ถ้าสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ จะรู้ได้จริงๆ ว่า จิตที่ได้ยินเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ไม่ใช่กุศลจิตและอกุศลจิต เพราะว่าจิตได้ยินไม่มีใครสามารถ บังคับได้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ได้ยินแล้วเป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เพราะฉะนั้น กุศลจิตและอกุศลจิตจึงไม่ใช่วิบากจิตที่ได้ยิน

ความเชื่อในเรื่องของกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่ได้สะสมไว้ เมื่อได้ยินได้ฟัง ในเรื่องของเหตุผล พร้อมทั้งเป็นผู้ที่พิสูจน์ธรรม จะพิจารณาลักษณะของจิตประเภท ต่างๆ ได้ คือ กุศลจิตไม่ใช่อกุศลจิต กุศลจิตและอกุศลจิตไม่ใช่วิบากจิต ซึ่งสามารถจะพิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวันนี่เอง

เปิด  259
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565