แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1634

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๓๐


สำหรับอุเบกขา ๑๐ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ ฉฬังคุเปกขา พรหมวิหารุเปกขา และโพชฌังคุเปกขา

อุเบกขาที่ ๔ วิริยุเปกขา ได้แก่ วิริยเจตสิก คือ ความเพียรที่ไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนักในการใส่ใจด้วยอุบายในนิมิตตามระยะกาล

หมายความว่า ถ้าผิดจากสัมมาวายามะในมรรคมีองค์ ๘ ในการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติ ตามเหตุตามปัจจัย ตามความ เป็นจริง ชื่อว่าตึงไปหรือหย่อนไปทันที

ตึงไป คือ รีบๆ อยากจะให้สติเกิดมากๆ ทำอะไรหลายๆ อย่างโดยหวังว่า เมื่อทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วสติจะเกิด อย่างนั้นตึงไปไหม แทนที่จะไม่ต้องไปทำอะไรให้เหนื่อยยากเพียงสติระลึกทันที นั่นเป็นวิริยุเปกขา ความเพียรที่ไม่ตึงนักไม่หย่อนนัก ซึ่งจะต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าขาดปัญญาไม่มีทางที่จะเป็นวิริยุเปกขาได้ เพราะต้องทำสิ่งที่ผิดพลาดไปจากการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

สำหรับเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ท่านผู้ฟังคงจะได้ยินบ่อยๆ แต่ตามปกติเวลาที่ โลกุตตรจิตยังไม่เกิด จะเป็นมรรคมีองค์ ๕

อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อรรถกถามัคคสังยุต อวิชชาวรรคที่ ๑ อรรถกถาอวิชชาสูตร ข้อ ๑ – ข้อ ๓ มีข้อความว่า

องค์แม้ ๘ เหล่านั้น ย่อมไม่เกิดพร้อมกันในขณะแห่งโลกียมรรค แต่ย่อมเกิดพร้อมกันในขณะแห่งโลกุตตรมรรค

ที่ใช้คำว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ เสมอในพระไตรปิฎก และบางแห่งใช้คำว่า มรรคมีองค์ ๕ จะต้องเข้าใจด้วยว่า เพราะเหตุใดจึงกล่าวถึงมรรคมีองค์ ๘ และ มรรคมีองค์ ๕

ถ้าเป็นโลกียมรรค คือ วิรตีเจตสิก ๓ บางขณะไม่เกิด เพราะฉะนั้น จึงมีแต่สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑

สำหรับวิรตีเจตสิก ๓ คือ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑เกิดไม่ครบทั้ง ๓ พร้อมกันในขณะจิตเดียว ต้องเกิดเพียงวิรตีหนึ่งวิรตีใดในวิรตี ๓ คือ ขณะใดที่สัมมาวาจาเกิด ขณะนั้นสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะไม่เกิด ขณะใดที่สัมมากัมมันตะเกิด ขณะนั้นสัมมาวาจา สัมมาอาชีวะไม่เกิด ขณะใดที่สัมมาอาชีวะเกิด ขณะนั้นสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะก็ไม่เกิด

ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจึงรู้ว่า ตามปกติที่เป็นโลกียมรรค โดยทั่วไปเวลาที่วิรตีเจตสิกไม่เกิด จะประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๕ เท่านั้น

สำหรับมรรคมีองค์ ๘ ย่อมมีได้ในโลกุตตรมรรคที่ประกอบด้วยปฐมฌาน แต่ถ้าเป็นการรู้แจ้งอริยสัจธรรมพร้อมด้วยองค์ฌานขั้นต่างๆ ได้แก่ ส่วนในมรรค ที่ประกอบด้วยทุติยฌานเป็นต้นไป ย่อมมีองค์ ๗ เท่านั้น เว้นสัมมาสังกัปปะ คือ เว้นวิตกเจตสิก

เป็นเรื่องที่ยังไม่ถึง แต่ควรที่จะทราบว่า เหตุผลที่แสดงมรรคมีองค์ ๕ เพราะโดยปกติแล้วถ้าวิรตีเจตสิกไม่เกิด มรรคมีองค์ ๘ จะเกิดเพียง ๕ องค์เท่านั้น

ข้อความต่อไปมีว่า

แม้คำใดอันท่านกล่าวในอภิธรรมว่า ก็สมัยนั้นแล มรรคย่อมประกอบด้วย องค์ ๕ คำนั้นท่านกล่าวเพื่อแสดงในระหว่างกิจอย่างหนึ่ง

คือ แล้วแต่ว่าจะเป็นกิจที่มีวิรตีเกิดร่วมด้วย หรือไม่มีวิรตีเกิดร่วมด้วย หรือ มีวิรตีประเภทใดเกิดร่วมด้วย

ก็ในกาลใด บุคคลละการงานผิดแล้ว ย่อมยังการงานที่ชอบให้บริบูรณ์ ในกาลนั้น มิจฉาวาจาหรือมิจฉาอาชีวะย่อมไม่มี สัมมากัมมันตะย่อมให้บริบูรณ์ ในมรรคที่เป็นมรรค ๕ เหล่านี้ คือ ทิฏฐิ ๑ สังกัปปะ ๑ วายามะ ๑ สติ ๑ สมาธิ ๑ ก็สัมมากัมมันตะ ชื่อว่าย่อมให้บริบูรณ์ได้ด้วยสามารถแห่งวิรัติ แม้ในสัมมาวาจา และสัมมาอาชีวะก็มีนัยนี้แล คำอันท่านกล่าวแล้วอย่างนี้ เพื่อแสดงในระหว่างกิจนี้

ส่วนในขณะแห่งโลกียมรรค ย่อมมีองค์ ๕ แน่ แต่วิรตีไม่แน่ เพราะฉะนั้น ท่านไม่กล่าวว่ามีองค์ ๖ แต่กล่าวว่ามีองค์ ๕ เท่านั้น ด้วยประการฉะนี้

ข้อนี้โดยย่อๆ คงพอที่จะทราบว่า ปกติที่ไม่ใช่โลกุตตรจิตแล้วก็เป็นมรรคมี องค์ ๕ เพราะไม่แน่ว่าวิรตี ๓ วิรตีหนึ่งวิรตีใดจะเกิด และเวลาที่เกิดต้องเกิดเพียง วิรตีเดียว จะเกิดพร้อมกันทั้ง ๓ ไม่ได้

ต่อไป อุเบกขาที่ ๕ คือ สังขารุเปกขา ได้แก่ ปัญญาเจตสิก

ปัญญาเป็นสภาพของความเป็นกลาง เพราะฉะนั้น อุเบกขาใดที่วางตน เป็นกลางในการพิจารณาธรรมมีนิวรณ์เป็นต้น และไตร่ตรอง ตามที่ตรัสไว้ว่า

สังขารุเปกขา เกิดขึ้นด้วยอำนาจสมาธิมีเท่าไร เกิดด้วยอำนาจวิปัสสนา มีเท่าไร

สังขารุเปกขา เกิดขึ้นด้วยอำนาจสมาธิมี ๘ อย่าง เกิดด้วยอำนาจวิปัสสนา มี ๑๐ อย่าง ดังนี้ อุเบกขานี้ชื่อว่าสังขารุเปกขา

สำหรับปัญญาที่เจริญอบรมจนถึงขั้นที่จะวางเฉยเป็นกลางในสังขารทั้งหลาย มีทั้งในการเจริญสมถภาวนาและการเจริญวิปัสสนาภาวนา ซึ่งในการเจริญสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนานั้น ต้องอาศัยโสภณสาธารณเจตสิก คือ ต้องมีทั้งสติ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ ตัตรมัชฌัตตตา และต้องมีปัญญาด้วย ด้วยเหตุนี้ อุเบกขาที่ ๕ คือ สังขารุเปกขา จึงได้แก่ ปัญญาเจตสิก

ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๑๓๓ มีข้อความว่า

สังขารุเปกขาเท่าไร ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะ สังขารุเปกขาเท่าไร ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา

สังขารุเปกขา ๘ ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะ สังขารุเปกขา ๑๐ ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา

สำหรับสังขารุเปกขา ๘ คือ ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยนิวรณ์ เพื่อต้องการได้ปฐมฌาน ต้องเป็นปัญญาขั้นที่สามารถรู้หนทางด้วยว่า ทำอย่างไร จิตจึงจะสงบถึงขั้นบรรลุปฐมฌานได้ ตลอดไปจนกระทั่งถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน โดยจตุกกนัย รวมเป็นรูปฌาน ๔ และต้องมีสังขารุเปกขาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉย เพื่อจะได้บรรลุถึงอรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ รวมเป็น สังขารุเปกขา ๘ เหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะ

แสดงว่าถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา จะเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาไม่ได้เลย โดยมากถ้าไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดยิ่งขึ้นอาจจะคิดว่า สังขารุเปกขาญาณเป็นเฉพาะวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น แต่ตามความเป็นจริงแล้ว สภาพที่วางเฉยเป็นกลางในธรรมซึ่งเป็นสังขาร มีทั้งส่วนที่เป็นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา เพราะทุกอย่างที่เกิดเป็นสังขาร เพราะฉะนั้น ความรู้สึกเป็นกลาง วางเฉยในสังขาร ในการอบรมเจริญสมถภาวนานั้น ก็เป็นเหตุที่จะให้บรรลุถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน โดยจตุกกนัย

และสำหรับสังขารุเปกขาญาณซึ่งต่อจากปัญจมฌานโดยปัญจกนัย หรือ จตุตถฌานโดยจตุกกนัย ก็เป็นเหตุให้บรรลุถึงอรูปฌานทั้ง ๔ รวมเป็นสังขารุเปกขา ๘ ซึ่งย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถภาวนา ถ้าไม่มีการอบรมเจริญสมถภาวนาก็ไม่สามารถรู้ลักษณะของสังขารุเปกขา ๘ นี้ได้ เพราะเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา มีทั้งส่วน ที่เป็นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

สมถภาวนา คือ สติสัมปชัญญะที่สามารถระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต และสามารถรู้ว่าขณะใดเป็นนิวรณธรรม คือ เป็นอกุศลธรรมประเภทใด เป็นความยินดีพอใจในรูป หรือในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งทุกวันๆ ทุกคนก็ยังคง ยินดีพอใจในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง ในกลิ่นบ้าง ในรสบ้าง ในโผฏฐัพพะบ้าง แต่สติสัมปชัญญะจะเกิดและรู้ลักษณะของจิตที่ต่างกันไหมว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศล ที่กำลังยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถ้าสติสัมปชัญญะ ไม่เกิด ทุกท่านก็ปล่อยไปตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

วันหนึ่งๆ จากทางตาไปถึงทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่ได้ปราศจากความยินดีพอใจที่เป็นกามฉันทะเลย เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบของจิต จะขาดสติสัมปชัญญะไม่ได้ เพราะสามารถมีการระลึกได้ และรู้ในลักษณะที่เป็นอกุศลธรรม ซึ่งเมื่อรู้ในลักษณะที่เป็นอกุศลธรรมแล้ว ถ้าเป็นผู้ที่รู้ในการที่จะกระทำจิตให้สงบระงับจากกามฉันทะด้วยการตรึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ ในขณะนั้น กุศลจิตก็เกิด

เพราะฉะนั้น ระหว่างที่เจริญความสงบของจิต จะต้องรู้ความต่างกันว่า ขณะนี้จิตกำลังสงบเป็นกุศล และขณะต่อไป หรือขณะอื่น ก็มีอกุศลจิตเกิดสลับ เกิดแทรก คือ ความคิดนึกถึงรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้าง ดังนั้น การอบรมเจริญภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา จะต้องประกอบพร้อมด้วยสติและสัมปชัญญะ มิฉะนั้นจะไม่ใช่การอบรมเจริญภาวนาเลย คือ ไม่ใช่ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

ถ้าได้ยินคำว่า สมถภาวนา หรือสมถะ อย่าพอใจเพียงว่าไม่รู้อะไรเลย หรือ ไปจดจ้องที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดและเข้าใจว่า ขณะที่จดจ้องจิตไม่รู้อารมณ์อื่น รู้เฉพาะอารมณ์เดียวนั้นเป็นสมถะ แต่ตามความเป็นจริงต้องเป็นสติสัมปชัญญะที่สามารถรู้ลักษณะของจิตที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล จึงจะเจริญจิตซึ่งเป็นกุศลให้เพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งสงบขึ้นๆ สามารถที่จะถึงความสงบ ที่มั่นคงเป็นสมาธิขั้นต่างๆ นั่นจึงเป็นสมถภาวนา จนกว่าจะถึงสังขารุเปกขา ซึ่งจะทำให้บรรลุถึงปฐมฌาน และสำหรับผู้ที่ถึงปฐมฌานแล้ว ที่จะถึงทุติยฌาน ต้องมีสังขารุเปกขา คือ สติสัมปชัญญะที่ประกอบด้วยปัญญาที่วางเฉยในสังขารที่เกิดสลับคั่นกับที่เป็นอกุศล

เพราะฉะนั้น พิจารณาดูว่า มีท่านผู้ใดเจริญสมถภาวนาบ้าง

ในวันหนึ่งๆ ขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็ต้องเป็นกามฉันทะบ้าง พยาปาทะบ้าง ถีนมิทธะบ้าง หรือเป็นอุทธัจจกุกกุจจะบ้าง วิจิกิจฉาบ้าง ซึ่งเป็น สภาพธรรมในแต่ละวัน เวลาที่ผู้ใดก็ตามเจริญความสงบที่เป็นสมถะ สภาพธรรมเหล่านี้ก็มีเหตุปัจจัยที่จะเกิดสลับ ไม่ใช่ว่ากุศลจิตนั้นจะเกิดสืบต่อได้ตลอดไป แต่จะต้องอาศัยองค์ของฌาน เช่น วิตก ตรึกในอารมณ์ที่ทำให้สงบ วิจาร ประคองให้จิตตั้งมั่นในอารมณ์นั้นตามที่วิตกตรึก และต้องประกอบด้วยปีติ สุข เอกัคคตา

การเจริญภาวนาต้องเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาโดยละเอียดจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา มิฉะนั้นถ้ากล่าวถึงสังขารุเปกขา ก็เพียงแต่ได้ยิน เป็นชื่อ ไม่ทราบว่าสังขารุเปกขาเมื่อไรจะเกิด และจะเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ทุกอย่างต้องเริ่มด้วยปัญญาที่เข้าใจชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง

ถ้าปัญญาในชีวิตประจำวันยังไม่มี ไม่สามารถที่จะเจริญกุศลขั้นภาวนาได้ ก็คงจะเป็นกุศลขั้นทาน ขั้นศีลเท่านั้น

มีท่านผู้ใดเจริญสมถภาวนาบ้างไหม ไม่จำเป็นต้องให้ถึงฌาน เพียง สมถภาวนาในชีวิตประจำวันก็มีประโยชน์ ถ้าสามารถจะรู้ได้จริงๆ ว่า แต่ละบุคคลในวันหนึ่งๆ อกุศลมากแค่ไหน โลภมูลจิตซึ่งเกิดเป็นประจำทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ยังไม่ค่อยจะรู้ว่าเป็นอกุศลใช่ไหมเวลาที่เกิดขึ้น ไม่มีใคร รู้ว่าเป็นอกุศล เห็นแล้วก็ชอบ มีทุกสิ่งทุกอย่างที่สวยงาม มีทุกสิ่งทุกอย่างแวดล้อม ที่น่าพอใจ แต่ขณะนั้นจะรู้ไหมว่าเป็นอกุศล หรือยังปรารถนาที่จะให้มีมากกว่านั้นอีกแสดงให้เห็นว่า ในขณะที่เป็นอกุศลนั้น ไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่าเป็นอกุศลอยู่เป็นประจำ

นี่คือทางตา

ทางหูก็เช่นเดียวกัน ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ บางท่านมีเพลงเพราะเกือบจะ ทั้งวัน เรียกได้ว่าไม่หยุดเลย บางท่านในขณะที่เดินทาง ไม่ได้อยู่ที่บ้าน ก็ยังมีเสียงเพลงเพราะๆ ติดตามฟังไปเรื่อยๆ คิดดู ตลอดเวลาที่ได้ยินเสียงที่เพราะ ไม่ได้รู้สึกตัวเลยว่าขณะนั้นเป็นอกุศล

ทางตาก็ไม่รู้ ทางหูก็ไม่รู้ ทางจมูกก็ไม่รู้ ทางลิ้น ขณะที่กำลังบริโภคอาหาร ที่มีรสอร่อยก็ไม่รู้ว่าเป็นอกุศล ทางกายกำลังกระทบสัมผัสที่เย็นสบายก็ไม่รู้ว่า เป็นอกุศล

ทุกคนบอกว่าร้อนมาก รู้สึกว่าในขณะนั้นไม่ชอบเลย ขณะที่ไม่ชอบก็ไม่รู้ว่าเป็นอกุศล แต่เมื่อสามารถทำให้ความร้อนนั้นคลายลงเป็นความเย็นสบาย ก็ไม่รู้อีกว่าเป็นอกุศล

เพราะฉะนั้น สมถภาวนาแม้ในชีวิตประจำวัน ต้องมีปัญญาจริงๆ ที่จะเห็นว่า ทั้งวันและทุกวันเต็มไปด้วยอกุศลจริงๆ เมื่อนั้นจึงจะเห็นโทษและเจริญกุศลเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขั้นทาน หรือขั้นศีล หรือความสงบของจิต แม้เล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ยังดีกว่าที่จะเป็นอกุศลทางหนึ่งทางใด เช่น เป็นกามฉันทะบ้าง ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นพยาปาทะ ความขุ่นเคืองใจบ้าง หรือเป็นถีนมิทธะ ความหดหู่ท้อถอย ง่วงเหงาซึมเซา หรือเป็นอุทธัจจกุกกุจจะ ความคิดที่เดือดร้อนรำคาญใจในอกุศลที่ได้กระทำแล้ว หรือในกุศลที่ยังไม่ได้กระทำ หรือเป็นวิจิกิจฉา สภาพที่สงสัยในลักษณะของสภาพธรรม ในพระรัตนตรัย ในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในอดีต ในปัจจุบัน ในอนาคต

เป็นชีวิตจริงๆ ของแต่ละคนซึ่งควรจะทราบว่า พระธรรมจะช่วยทำให้ปัญญาสามารถรู้จักตนเอง เมื่อรู้จักตนเองแล้วย่อมเลือกได้ว่า จะเจริญกุศลเพื่อให้อกุศล ลดน้อยลง หรือยังคงพอใจที่จะเป็นอกุศลมากๆ อยู่

สังขารุเปกขา ๘ ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะ

ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้เจริญสมถภาวนาจนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ ไม่มีทางที่จะเข้าใจลักษณะของสังขารุเปกขาซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะ

สังขารุเปกขา ๑๐ ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา

ทุกท่านเป็นผู้ที่ต้องการอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพื่อที่จะดับกิเลสโดยการละ โดยการดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ถ้าไม่พิจารณาข้อปฏิบัติจนกระทั่งเป็นสัจจญาณ มีความมั่นใจ แน่ใจ เข้าใจโดยถูกต้องจริงๆ ในเรื่อง การเจริญสติปัฏฐานแล้ว กิจจญาณ คือ มรรคมีองค์ ๘ หรือมรรคมีองค์ ๕ ก็ย่อม เกิดไม่ได้

เพราะฉะนั้น การที่จะกล่าวถึงว่า สังขารุเปกขาญาณ ๑๐ ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา จะต้องกล่าวถึงเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานตั้งแต่ขั้นต้น ซึ่งต้องเป็นความเห็นถูก เป็นสัจจญาณ เพราะบางท่านเพิ่งจะรับฟังและบอกว่า สติไม่ค่อยเกิด ทำอย่างไรสติจึงจะเกิด

ถ้ายังไม่เข้าใจว่าปัญญารู้อะไรในวันหนึ่งๆ สติย่อมเกิดไม่ได้ ต่อเมื่อใดรู้ว่าปัญญารู้อะไรในวันหนึ่งๆ สติจึงจะเริ่มระลึก เพื่อให้ปัญญาศึกษารู้ลักษณะของ สิ่งที่ปัญญาจะต้องรู้

เปิด  253
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565