แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1636

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๓๐


ถ. ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะต้องมีปัญญาแค่ไหน

สุ. เดี๋ยวนี้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม สติก็ระลึก

ถ. ผมก็รู้ว่า ขณะนี้มีนามธรรมและรูปธรรมปรากฏอยู่

สุ. เข้าใจ ใช่ไหม อย่าเปลี่ยนความเข้าใจนี้ ขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ไม่รู้ ใช่ไหม หรือรู้

ถ. แต่สติไม่ยอมระลึก

สุ. มาแบบเดิม แบบเดียวกันหมด คือ สติไม่ยอมระลึก

ถ. คือ ไม่เข้าใจ

สุ. หนทางเดียวที่จะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ คือ รู้อยู่แล้วว่า ขณะนี้เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม อย่ากล่าวว่าสติไม่ยอมระลึก แต่หมายความว่ายังไม่เข้าใจว่า สติเกิดระลึกคืออย่างไร

ถ. ผมสงสัยว่า ปกตินั้นแค่ไหน คำว่า มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

สุ. กำลังเห็น เป็นปกติหรือเปล่า

ถ. เป็นปกติ

สุ. กำลังได้ยินเป็นปกติหรือเปล่า กำลังพูดอย่างนี้เป็นปกติหรือเปล่า ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกขณะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยก็ไม่เกิด เกิดไม่ได้ จริงหรือเปล่า

หนทางที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนตั้งแต่เบื้องต้นทีเดียว โดยการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แต่ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ยังมีความเป็นเรา มีความเป็นตัวตนที่จะทำ ก็ยากแสนยากที่จะละความเป็นตัวตนที่จะทำ แต่ตรงกันข้าม ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า สติ คือ สภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ สติก็มีโอกาสที่จะเกิดระลึกตามปกติได้

ถ. เบื้องต้น ต้องมีการนึก การน้อมนึก การพิจารณา การใคร่ครวญ เราต้องเข้าใจถึงคำเหล่านี้

สุ. เข้าใจหรือยัง

ถ. มีระลึกอย่างเดียว จะไประลึกอะไร ยังไม่มีความเข้าใจถึงสภาพ ...

สุ. เดี๋ยวนี้เข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมหรือยัง เห็นไหมว่า ต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับวิธีอื่น ขณะนี้เข้าใจลักษณะของนามธรรมหรือยัง เข้าใจลักษณะของรูปธรรมหรือยัง

ถ. สภาพแข็งปรากฏ เราก็คิดบ่อยๆ คิดที่แข็งบ่อยๆ คิดไปเรื่อยๆ

สุ. คิดว่าอย่างไร

ถ. คิดว่าแข็งปรากฏขณะนี้ เราคิดไปที่แข็ง คิดไปที่สภาพแข็งด้วย

สุ. คิดไปที่แข็ง คิดอย่างไร

ถ. แข็งก็ปรากฏขณะนั้น

สุ. คิดว่า แข็งปรากฏขณะนี้ ใช่ไหม

ถ. ถ้าไม่คิดถึงแข็ง ก็เรื่อยๆ อย่างนี้ บางทีวันหนึ่งๆ แข็งก็ไม่ปรากฏ

สุ. แข็งปรากฏแล้ว เวลานี้ก็ปรากฏ จะบอกว่าแข็งไม่ปรากฏได้อย่างไร แต่สติไม่ได้ระลึกเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจ เห็นก็กำลังมี แต่สติไม่ได้ระลึก จึงไม่รู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม ได้ยินก็มี แต่เมื่อสติไม่ระลึกก็ไม่รู้ และหนทางที่จะทำให้รู้มีกี่หนทาง

ถ. มีทางเดียว

สุ. มีทางเดียวคืออะไร

ถ. ก็สติปัฏฐานที่ระลึก

สุ. สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่หนทางอื่น ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ จะไม่ทำอย่างอื่นอีกเลย นอกจากระลึกและรู้ ศึกษาลักษณะ สิ่งที่กำลังปรากฏ

ถ. ขณะเสียงปรากฏ มีเสียงปรากฏ ระลึกที่เสียง เฉพาะเสียงแค่นั้น ไม่มีการรู้ว่า สภาพที่รู้เสียงเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เฉพาะเสียงเป็นรูปธรรม ไม่ได้มีการคิดอย่างนั้นเลย รู้แค่ว่ามีเสียงปรากฏ รู้เฉพาะเสียงแค่นั้นแล้วหมด จบแค่นั้น

สุ. ด้วยการศึกษาทราบแล้ว ใช่ไหม ลักษณะของนามธรรมเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ขณะเห็นเป็นสภาพรู้ซึ่งคนตายไม่เห็น เพราะฉะนั้น กำลังเห็นเป็นอาการรู้อย่างหนึ่ง ขณะที่ได้ยิน คนตายไม่ได้ยิน เพราะฉะนั้น สภาพรู้ คือ ในขณะที่กำลัง ได้ยินเสียงเป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง เข้าใจอย่างนี้แล้วหรือยัง

ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว ในขณะที่ได้ยิน สติปัฏฐาน คือ ระลึกที่จะสังเกตพิจารณา ไม่ใช่คิดเป็นคำ แต่รู้ว่าอาการรู้ ขณะนี้กำลังมีสภาพรู้หรือธาตุรู้ซึ่งไม่ใช่เสียง

เสียงปรากฏ ลักษณะของเสียงเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ลักษณะของสภาพรู้เสียงเป็นธาตุรู้ซึ่งคนตายไม่ได้ยิน เพราะฉะนั้น อาการที่กำลังรู้เสียงนี้เป็นนามธรรม ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ให้ไปท่อง แต่ให้น้อมไปสังเกตพิจารณา นั่นคือสติปัฏฐาน สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา พร้อมกับสติที่ระลึกลักษณะของนามธรรม หรือรูปธรรมจนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น

ถ. การพูดว่า รูปไม่เที่ยง เสียงไม่เที่ยง กลิ่นไม่เที่ยง การพูดแบบนี้ผมว่า ก็เป็นประโยชน์ เป็นสัมมาวาจา

สุ. เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า พูดอย่างนั้นเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า

ถ. เป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิดได้ไหม

สุ. เมื่อกี้บอกว่ามีหนทางเดียว คือ สติเกิด เพราะฉะนั้น ที่กำลังพูด อย่างนั้นเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า

ถ. ถ้าระลึกในขณะนั้น รูปไม่เที่ยง ในขณะที่เสียงไม่เที่ยง

สุ. ยังไม่ทันรู้เลยว่า เสียงกับได้ยินต่างกันอย่างไร ก็ได้ยินไม่เที่ยง เสียงไม่เที่ยงแล้ว และจะมีประโยชน์อะไร เพราะไม่ได้ทำให้รู้ลักษณะของเสียงซึ่ง ต่างกับได้ยิน

ถ. ขอเรียนถามเกี่ยวกับการอบรมเจริญสติปัฏฐานของผมเอง ยกตัวอย่างว่า วันหนึ่งผมจะไปทำบุญ ในขณะที่หยิบปิ่นโตลงจากรถเพื่อไปใส่ของ ขณะที่เห็นปิ่นโตมีฝุ่นหรือสกปรก โทสะเกิด ขณะนั้นสติสามารถระลึกรู้ได้ว่า ความไม่ยินดีพอใจ หรือความขุ่นข้องหมองใจกำลังเกิดขึ้น ซึ่งเกิดอยู่ชั่วขณะนิดเดียวเท่านั้นเอง และก็เกิดระลึกว่า สติที่เกิดขึ้นคงจะมีลักษณะอย่างนี้เอง อย่างนี้จะเป็นสติหรือเปล่า

ผมเข้าใจว่า ขณะที่สติเกิดระลึกรู้ว่าโทสะเกิดขึ้นนั้น มีการที่จะน้อมพิจารณาศึกษาสภาพธรรมในขณะนั้น และมีความเพียรในขณะนั้นที่จะศึกษา ก่อนเหตุการณ์อย่างนี้จะเกิดขึ้น คือ การน้อมพิจารณาศึกษาหรือการที่จะมีความเพียร หรือมีศรัทธาในเรื่องอย่างนี้ ถ้าหากว่าเราตั้งใจหรือจดจ้องที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะไม่มีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น ผมคิดว่า วิธีการที่กระผมประพฤติปฏิบัติมาก็น่าสงสัย ผมคงต้องมีความสงสัยอย่างนี้ตลอดไปจนกว่าจะถึง ... อะไรดี อาจารย์

สุ. ทุกอย่างเป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม แต่สติที่เพิ่งเกิดระลึกได้บ้าง มีกำลังน้อยมากหรืออ่อนมาก และยังไม่ทั่ว เพราะเพียงแต่ระลึกลักษณะของโทสะ และก็อย่างอื่นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในชีวิตประจำวัน แต่ให้ทราบว่า นั่นคือความเป็นผู้ที่มีปกติที่สติจะเกิดและระลึก ซึ่งเหตุการณ์นี้สติระลึก แต่เหตุการณ์อื่นๆ สติไม่เกิด ก็แสดงถึงความเป็นอนัตตาของสติว่า แล้วแต่สติ จะเกิดเมื่อไร

ถ. ผมเข้าใจว่า ถ้าเราท่องว่า สิ่งนี้แข็ง สิ่งนี้อ่อน ผมคิดว่าลักษณะนั้นเป็นการท่องเพื่อที่จะให้สติเกิด ในขณะนั้นก็เป็นโลภะอย่างหนึ่ง มีความยินดีพอใจหรือหวังผล ผมเข้าใจว่า ลักษณะนั้นสติผมยังไม่เกิด

สุ. ทำไมต้องท่อง ในเมื่อขณะที่กำลังเห็นยังไม่ได้ท่องก็เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะได้รู้ คือ สติระลึก โดยไม่ต้องไปทำ อย่างอื่นขึ้นด้วยความเป็นตัวตน ซึ่งถ้าทำอย่างนั้นก็จะปิดบัง และสติปัฏฐานก็ไม่เกิด

ท่องเพื่ออะไร ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดใช้คำว่า ท่อง ก็ควรที่จะเข้าใจจุดประสงค์ ของการท่องด้วยว่า เวลาที่ท่านท่อง ท่องเพื่ออะไร คำธรรมดาๆ ที่ใช้คำว่า ท่อง แต่ละคนที่นึกจะท่อง ท่องเพื่ออะไร ตอบแทนท่านผู้อื่นก็ได้

ถ. ท่องเพื่อจะให้เกิดผลตามต้องการ

สุ. ผลที่ต้องการจากการท่องคืออะไร เหตุผลต้องมีอยู่ตลอด แม้แต่การ ใช้คำว่า ท่อง อาจจะไม่ได้พิจารณาเลยว่าท่องเพื่ออะไร

ทุกคนที่ท่อง ท่องเพื่อให้จำได้ ถูกไหม ที่ใช้คำว่า ท่อง ไม่ว่าจะท่องเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะท่องสูตรคูณ หรือวันพรุ่งนี้จะทำอะไร กลัวจะลืมก็อาจจะท่องๆ ไว้ ทุกครั้งที่ใช้คำว่า ท่อง หมายความว่าเพื่อจำได้ ถูกไหม ไม่ใช่เพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

ผู้ฟัง ผมฟังอาจารย์มาก็หลายปีกว่าจะเข้าใจว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นอย่างไร กว่าจะเข้าใจว่า ศึกษา มีความเพียรที่จะระลึก ครั้งแรกคิดว่าตัวเอง ต้องมีความเพียร ต่อเมื่อสติเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้น ในขณะนั้นก็มีความสงสัยว่า เป็นสติใช่ไหม เป็นการน้อมมาศึกษาใช่ไหม ในขณะนั้นผมคิดว่าเป็นหนทางอันหนึ่งตามที่ได้เรียนให้อาจารย์ทราบว่า ผมได้อบรมเจริญสติปัฏฐานมาในลักษณะอย่างนี้

สุ. ความสงสัยจะค่อยๆ หมดไป เมื่อมีการค่อยๆ รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเป็นขั้นต้นๆ ความสงสัยก็ยังมีมาก จะสงสัย เรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง แต่ให้ทราบว่า หนทางเดียว คือ สติปัฏฐาน

ใช้คำว่า สติปัฏฐาน ไม่ใช่ผัสสปัฏฐาน ไม่ใช่เจตนาปัฏฐาน ไม่ใช่สัญญาปัฏฐาน ด้วยเหตุที่ต้องอาศัยสติ ซึ่งเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

ถ. ผมคิดว่าก่อนที่จะถึงสติปัฏฐาน ลักษณะของสติเล็กๆ น้อยๆ ในขั้นทาน ขั้นศีล คงจะต้องเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ บ่อยๆ กว่าจะถึงขั้นสติปัฏฐาน ถ้าเราคิดอย่างนี้ ก็คงไม่ถูกต้องอีก

สุ. เวลาที่ตั้งใจจะให้ทาน มีเจตนาที่เป็นไปในการให้เกิดขึ้น ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นก็ไม่รู้ว่ามีสติที่ระลึกเป็นไปในทาน ยังคงเป็นเรา ใช่ไหม แต่การที่จะ รู้สภาพธรรมทั้งหมดตามความเป็นจริงว่า เป็นจิตและเจตสิกแต่ละประเภท เป็น รูปแต่ละชนิดได้ ก็ต่อเมื่อสติปัฏฐานเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมแล้ว จึงจะ ค่อยๆ รู้ว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดเพื่อประโยชน์ ที่เมื่อบุคคลใดเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้น ตามที่ได้ทรงแสดงไว้ เป็นความจริงอย่างนั้น ไม่คลาดเคลื่อน แม้แต่ลักษณะของโทสะ แม้แต่ลักษณะของนามธรรมอื่นๆ ที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง เป็นต้น

สำหรับสีลัพพตปรามาสกายคันถะ คือ การลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด คลาดเคลื่อนไปจากมรรคมีองค์ ๘ จะค่อยๆ หมดไปเมื่อปัญญาพิจารณาและ รู้ในสัจจญาณ และจะดับหมดเป็นสมุจเฉทเมื่อโสดาปัตติมรรคจิตเกิด เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบ ระวังที่จะไม่ผิดพลาดไปจากหนทาง คือ มรรคมีองค์ ๘

ผู้ฟัง เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ จากคำถามต่างๆ ที่มีผู้ถามมา อาจารย์ก็บอกให้ฟัง ก็จะมีคำถามว่า เท่าไร แค่ไหน อาจารย์บอกว่า ต้องเข้าใจ ก็จะมีคำถามอีกว่า เท่าไร แค่ไหน ผมได้ยินคำถาม อย่างนี้มาไม่น้อย และก็น่าเห็นใจ เพราะว่าเขาอยากได้ อยากให้สติเกิด

ผมอยากบอกให้เพื่อนธรรมฟังว่า การฟังนั้นไม่มีจำกัดขอบเขต ไม่มีบทที่ อะไรทั้งนั้น หรือจะบอกว่า ต้องสติขั้นทานเกิดก่อน สติขั้นศีลเกิดก่อน ก็ไม่มีอีก ไม่มีขอบเขตจริงๆ ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีนิมิต สิ่งที่อยากจะบอก คือ สติระลึกรู้ ทางตา พอสิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดขึ้น เราระลึก เมื่อเราระลึกแล้ว คือ นึกคิดนั่นเอง ตอนแรกก็คิดนึกก่อน แต่การคิดนึกนั้นเกิดจากความเข้าใจที่เรามีอยู่ระดมกันเข้าไป สิ่งที่ปรากฏทางตากับเห็น ๒ อย่าง คือ รูปธรรมกับนามธรรม อาจารย์บอกว่า ให้สำเหนียก สังเกต เราก็พิจารณาว่า เห็นนี่คนตาบอดไม่มี หรือหลับตาแล้วก็ไม่เห็น คนตายไม่มีเห็น หรือจะเอาหูไปรู้อย่างเห็นก็ไม่ได้ ทางหู คือ ได้ยิน ได้ยินเป็นสภาพรู้ เสียงเป็นลักษณะดัง เราก็เทียบเคียงจากทวารต่างๆ ใช้คำว่า สำเหนียก สังเกต ผมว่าดีที่สุดแล้ว

เราเทียบเคียงทางทวารต่างๆ ไม่ต้องไปท่องว่า เสียงไม่เที่ยง ได้ยินก็ไม่เที่ยง โดยการศึกษาก็รู้ว่าไม่เที่ยงอยู่แล้ว แต่เรายังไม่ประจักษ์ไตรลักษณะ เรายังไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ต้องไปท่องและคิดว่าสติจะเกิด เราใช้วิธีเทียบเคียงตามทวารต่างๆ ทางใจรู้ได้อย่างไร ใจก็รู้จากการนึกคิด จะเอาตาไปนึกคิดก็ไม่ได้ จะเอาหูไปนึกคิดก็ไม่ได้ ผมขอชี้แจงแค่นี้

สุ. ขอบพระคุณ เพราะคงจะเกื้อกูลท่านผู้ฟังหลายท่านซึ่งท่านเพิ่งจะ เริ่มฟัง และท่านก็บอกว่า มาฟังครั้งแรกๆ ท่านไม่เข้าใจเลย แต่หลังจากที่ได้ฟัง สัก ๒ – ๓ ครั้ง ก็เริ่มจะเข้าใจขึ้น และทั้งทางวิทยุท่านก็เพิ่งจะเริ่มฟัง เพราะฉะนั้น คงจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจในการที่เมื่อเห็นแล้วปัญญาจะเพิ่มขึ้น อกุศล จะลดลง แทนที่เห็นแล้วกิเลสก็เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ คงจะเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งจนกว่าปัญญาจะเข้าใจและระลึกได้ว่า เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ไม่รู้

เปิด  231
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566