แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1638

ถวายคำตอบปัญหาธรรมพระภิกษุที่มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๐


เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถา จะไม่พ้นจากเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงความจริง ลักษณะที่แท้จริงของธรรมต่างๆ เหล่านี้ไว้โดยละเอียดที่จะให้พิสูจน์ความจริง จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมและดับกิเลสได้เป็นลำดับขั้น

การที่จะดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นนั้น ในขั้นแรกจะต้องรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียง สภาพธรรมแต่ละอย่างเท่านั้นเอง

นี่เป็นขั้นต้นของการที่จะศึกษาพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎก แต่เรื่องของพระธรรม ที่ได้ทรงแสดงไว้นั้นมีมากมายตลอด ๔๕ พรรษา ซึ่งเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว แม้เป็นเวลาที่ยังเช้าอยู่ ยังไม่ควรแก่การเสด็จบิณฑบาต ก็ได้ทรงพิจารณาถึงบุคคลที่ควรแก่การ ที่จะรับฟังพระธรรม และได้เสด็จไปแสดงธรรมหรือสนทนาธรรมกับบุคคลนั้น เมื่อเสด็จบิณฑบาต เสวยภัตตาหารแล้ว มีเวลาว่างที่จะทรงพักผ่อนเพียงเล็กน้อย และก็ได้ทรงแสดงธรรมกับผู้ที่ไปเฝ้าในตอนบ่าย ในตอนเย็น ในตอนค่ำ และแม้ ตอนก่อนที่จะบรรทมพักผ่อน

เพราะฉะนั้น พระมหากรุณาคุณมีมากเหลือเกินที่ทรงแสดงเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าเป็นเรื่องที่มีจริง ปรากฏจริงตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ถ้าผู้ใดไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่ได้ฟังพระธรรมโดยละเอียด แม้มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ไม่รู้ความจริงในลักษณะของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าจะศึกษาพระธรรม ไม่ใช่เพียงแต่ศึกษาเฉพาะในตัวหนังสือ ในคัมภีร์ต่างๆ ในตำราต่างๆ แต่ต้องฟังและพิจารณาเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในขณะนี้ประกอบด้วยว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้เป็นความจริงอย่างไร

สำหรับเวลาที่มีน้อยมาก คือ เพียง ๒ ชั่วโมง ถ้าจะเทียบกับพระธรรมที่ ทรงแสดงวันละหลายครั้งใน ๔๕ พรรษา ก็เทียบกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าพระคุณเจ้ามีข้อสงสัยประการใด และดิฉันสามารถที่จะกราบเรียนถวายได้ ก็ขอเป็นเรื่องของปัญหาธรรม จะเป็นเรื่องของการปฏิบัติ หรือการศึกษาปริยัติก็ได้

คำถาม คำว่า บาป บุญ เป็นตัวตนจริงๆ หรือ จะเชื่อได้อย่างไร

สุ. บาป หมายความถึงอกุศล สิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม และให้โทษ บุญ หมายความถึงกุศล สิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ ไม่เป็นโทษกับใครเลย

แต่ถ้าไม่มีจิต ไม่มีบาป ไม่มีบุญ ต้นไม้ไม่มีบาปไม่มีบุญ ต้นไม้คิดไม่ได้ ต้นไม้ทำอะไรไม่ได้ ต้นไม้ฆ่าสัตว์ ต้นไม้ลักทรัพย์ หรือต้นไม้จะถวายทานก็ไม่ได้ ภูเขา ก้อนหิน กรวดทราย ไม่มีบุญไม่มีบาป

เพราะฉะนั้น บุญบาปต้องเป็นสภาพของจิตซึ่งประกอบด้วยสภาพธรรมที่ดี จึงเป็นบุญ ขณะใดที่ประกอบด้วยสภาพธรรมที่ไม่ดี จึงเป็นบาป

ไม่มีใครสามารถเห็นจิตหรือดูจิตได้ด้วยตา แต่สามารถระลึกรู้ลักษณะของ จิตได้ เพราะทุกคนมีจิต แต่แม้ว่าทุกคนจะรู้เพียงคร่าวๆ ว่ามีจิต ถ้าไม่ศึกษา โดยละเอียดก็ไม่สามารถตอบได้ว่า ที่ว่ามีจิตนั้น จิตอยู่ที่ไหน แต่ถ้าสามารถรู้ได้จริงๆ ว่า ขณะที่เห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่ได้ยินเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่ได้กลิ่นเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่ลิ้มรสเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่กำลังรู้สิ่งที่เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้างเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่คิดนึกเป็นจิตชนิดหนึ่ง จึงจะพิจารณาให้ละเอียดลงไปอีกว่า จิตเห็นเป็นบาปหรือเปล่า

จิตเห็น เพียงเห็น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อกุศลจิต ไม่ใช่กุศลจิต จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็เช่นเดียวกัน

แต่ขณะใดที่เห็นแล้วชอบ ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต เป็นอกุศลจิต จะใช้คำว่าบาปก็ได้ เพราะว่าเป็นขณะจิตที่เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส มีสภาพของโลภเจตสิกซึ่งทำให้เป็นสภาพที่ติด ที่พอใจ ที่ยินดี ที่ปรารถนาอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น ไม่ใช่กุศล

ถ้าขณะใดเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นเป็นโทสะ เป็นสภาพที่ขุ่นเคืองขัดข้อง ไม่พอใจ ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่กุศล จะใช้คำว่า บาป ก็ได้

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น จะลิ้มรส รู้สิ่งที่พอใจ ก็เป็นโลภมูลจิต เป็นอกุศล และขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่ไม่พอใจ ขณะนั้นก็เป็นอกุศล และในวันหนึ่งๆ ถ้าจะพิจารณา ก็พอใจที่จะเห็น พอใจที่จะ ได้ยิน พอใจที่จะได้กลิ่น พอใจที่จะลิ้มรส พอใจที่จะกระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ มีจิตที่เป็นอกุศล คือ เป็นบาป มาก เพียงแต่ว่าจิตที่เป็นอกุศลนั้นยังไม่มีกำลังถึงขั้นที่จะเป็นทุจริตกรรม ยังไม่ถึงขั้นที่กระทำอกุศลกรรมบถ ๓ ทางกาย อกุศลกรรมบถ ๔ ทางวาจา และอกุศลกรรมบถ ๓ ทางใจ

เพราะฉะนั้น จะเห็นระดับขั้นของอกุศลจิต ในขณะที่เห็น เป็นต้น จนกระทั่งถึงเวลาที่อกุศลนั้นมีกำลังทำให้ล่วงเป็นทุจริตทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง

ที่ถามว่า บาปบุญมีจริงไหม เมื่อจิตมีจริง และจิตมีทั้งอกุศลจิตและกุศลจิต ขณะใดที่เป็นอกุศลจิต ขณะนั้นเป็นบาป จึงมีจริง ขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นก็เป็นบุญ จึงมีจริง

พระคุณเจ้าขอให้พูดถึงเรื่องของสติปัฏฐานและวิปัสสนา

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องสติปัฏฐานจนกระทั่งทำให้สติปัฏฐานเกิด จะต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงก่อนว่า ขณะนี้เห็นมีจริง เป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าการเจริญสติปัฏฐานเพื่อปัญญาที่จะรู้ว่า ไม่มีเรา ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เพราะฉะนั้น ในขั้นการฟังต้องพิจารณาสิ่งที่ปรากฏทางตาก่อนว่า ขณะนี้เห็น ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา เห็นเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตามีปรากฏเมื่อจิตรู้ คือ เห็น

นี่เป็นการเริ่มต้นของสติปัฏฐานหรือวิปัสสนา ถ้ายังไม่ได้พูดถึงเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางหู เช่น เสียงและสภาพที่ได้ยินเสียง สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้ เพราะสติปัฏฐานหมายความถึงการระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกระทั่งสามารถรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม จึงจะ ไม่มีความยึดถือว่า นามธรรมเป็นเรา รูปธรรมเป็นเรา และเมื่อปัญญาอบรมเจริญขึ้นก็สามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของทั้งนามธรรมและรูปธรรมนั้นเอง จนกระทั่งสามารถละคลายความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน จนประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน ซึ่งเป็นอริยสัจธรรม

นั่นคือจุดสูงสุดของสติปัฏฐาน ซึ่งจะต้องเริ่มจากการฟังเรื่องของสิ่งที่ กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนเข้าใจจริงๆ ก่อน ซึ่งเป็นเวลาที่นานมาก แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงทุกแห่งที่เสด็จไป ไม่ว่าจะที่กุรุ หรือที่พระวิหารเชตวัน ที่พระวิหารเวฬุวัน ที่เมืองเวสาลี ที่เมืองโกสัมพี ทุกแห่ง ทรงแสดงเรื่องของสติปัฏฐาน ซึ่งไม่ใช่เป็นเวลาเพียง ๒ ชั่วโมง ทรงแสดงแล้วแสดงอีก ทรงแสดงทั้งอภิธรรมโดยละเอียด ทรงแสดงทั้งพระสูตร ทรงแสดงทั้งประโยชน์ ของพระวินัยในการที่จะเกื้อกูลต่อการเจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิต ตลอด ๔๕ พรรษา

แต่ให้ทราบว่า สติปัฏฐาน คือ สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังได้กลิ่น ที่กำลังลิ้มรส ที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่กำลังคิดนึก

คำถาม ช่วยอธิบายความหมายหรือคำจำกัดความ ธรรมชาติ หน้าที่ ภาวะที่เกิดขึ้นและดับไปของคำเหล่านี้ คือ ๑. จิต ๒. สติ ๓. เจตสิก ๔. ใจ ๕. พุทธะ ๖. ฌาน ๗. ญาณ

สุ. ทั้งหมด คือ สภาพของธรรมในขณะนี้เอง เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณา ก็พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ประกอบ เพื่อให้เข้าใจคำเหล่านี้ได้ถูกต้อง

เช่น คำว่า จิต ภาษาไทยจะใช้คำว่า ใจ จะใช้คำว่า หทัย จะใช้คำว่า มโน จะใช้คำว่า มนัส หรือแม้ในภาษาบาลีจะใช้คำว่า ปัณฑระ ก็หมายความถึงจิตนั่นเอง เพราะฉะนั้น สภาพของจิต ไม่ใช่คำว่า จิต

ทุกคนก็รู้จักจิตโดยคำ แต่ยังไม่รู้จักลักษณะของจิต ถ้าบอกว่า มีจิต ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรู้ว่าจิตคืออะไร แต่ถ้าอธิบายว่า จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งคำว่า ธาตุ หมายความว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นสภาวะ เป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสิ่งที่สามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้น ลักษณะของจิต คือ วิชานนลกฺขณํ หมายถึงมีลักษณะรู้อารมณ์ คือ จิตเป็นสภาพรู้

เมื่อจิตเกิดขึ้นจะต้องรู้อย่างหนึ่งอย่างใด จะมีจิตที่รู้โดยไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ไม่ได้ คนเป็นจึงต่างกับคนตาย เพราะคนตายมีแต่รูป ซึ่งแต่ก่อนนั้นมีจิตด้วย แต่เพราะ จิตขณะสุดท้ายที่เกิดขึ้นและดับไป ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ เพราะฉะนั้น มีแต่เพียงรูปซึ่งปราศจากจิต จึงไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน คนตายไม่ได้กลิ่น คนตายไม่ลิ้มรส คนตายไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คนตายไม่ได้คิดนึกอีกต่อไป

ถ้าจะเปรียบเทียบลักษณะของคนเป็นกับคนตาย จะทำให้สามารถเข้าใจลักษณะของจิตในขณะนี้ซึ่งกำลังเห็นได้ ถ้าคิดถึงคนตาย ในขณะนี้ ถ้ามีซากศพ ๑ ศพที่นี่ ไม่เห็นอะไร เพราะฉะนั้น ขณะนี้สภาพเห็น อาการเห็น ขณะที่เห็น เป็นจิตชนิดหนึ่ง เพราะเป็นสภาพรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นอาการรู้

นี่คือหน้าที่ของจิต คือ เป็นสภาพที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ และจิตก็อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น และก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

คำต่อไป สติ

สติไม่ใช่จิต

ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งทรงจำแนกไว้โดยประเภท ๔ คือ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑ นิพพานปรมัตถ์ ๑

ปรมัตถธรรม หมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริง แม้จะไม่เรียกชื่ออะไรเลย ลักษณะนั้นก็มีจริงๆ เช่น เย็น หรืออ่อน หรือแข็ง หรือหวาน หรือเปรี้ยว ไม่ต้องเรียกอะไรเลย จะเป็นชาติไหน ภาษาไหน จะใช้คำอะไร หรือไม่ใช้คำอะไร แต่ขณะใดที่รสปรากฏ รสเป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น เป็นปรมัตถธรรม

ปรมัตถธรรมทั้งหมดมี ๔ คือ จิต เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ๑ เจตสิกเป็นสภาพรู้ที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่ไม่ได้เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้

เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ชนิด หรือ ๕๒ ประเภท เจตสิกเกิดกับจิตและดับพร้อมจิต เจตสิก ๕๒ ประเภทนั้น มีลักษณะเฉพาะของตนๆ เช่น โลภะเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง โทสะเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง อโลภะ ความไม่โลภ เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง อโทสะ เป็นเจตสิกอีกชนิดหนึ่ง

ถ้าพิจารณาสภาพของธรรมที่เกิดกับตนในวันหนึ่งๆ ก็สามารถบอกได้ว่า สภาพใดเป็นเจตสิก สภาพใดเป็นจิต เช่น จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็น เป็นใหญ่เป็นประธานในการได้ยิน เป็นใหญ่เป็นประธานในการลิ้มรส แต่ ชอบหรือเปล่า ไม่ชอบ ไม่ใช่จิต เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตและดับพร้อมจิต

สำหรับสติเจตสิกนั้น เป็นโสภณเจตสิก หมายความว่าเป็นเจตสิกฝ่ายดี ถ้าสติเจตสิกเกิดขณะใด สภาพของจิตในขณะนั้นต้องเป็นโสภณจิต

วิธีที่ดีที่สุดในการศึกษาพระธรรม คือ เมื่อทราบคำจำกัดความ หรือลักษณะของสภาพธรรมใด บทฝึกหัดในชีวิตประจำวันมีมาก โกรธ เป็นจิตหรือเจตสิก เป็นเจตสิก เห็นเป็นจิตหรือเจตสิก เป็นจิต อย่างนี้ก็จะสามารถแยกแยะสภาพของจิตและเจตสิกในวันหนึ่งๆ ได้ด้วยตนเอง และเมื่อแยกแยะถูกต้อง ในพระไตรปิฎกตรงกัน จะไม่มีความคลาดเคลื่อนเลย

เมตตาเป็นจิตหรือเจตสิก ริษยาเป็นจิตหรือเจตสิก เป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ทั้งหมดนี้ตรงกับพระไตรปิฎก

เพราะฉะนั้น พระไตรปิฎก คือ การตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และทรงแสดง ดังนั้นสภาพธรรมที่เป็นจริงต้องตรงกับพระไตรปิฎกทั้งหมด ไม่คลาดเคลื่อนกันเลย

เจตสิก ได้กล่าวถึงแล้ว คำต่อไป ใจ เป็นไวพจน์ คือ เป็นคำที่มีความหมายเดียวกับจิตนั่นเอง

คำต่อไป พุทธะ หมายความถึงปัญญาที่สามารถตรัสรู้สภาพธรรมตาม ความเป็นจริง

คำต่อไป ฌาน ได้แก่ สภาพธรรมที่เผา ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียดจะคิดว่า ฌานเป็นแต่กุศลฌาน แต่ข้อความในพระสูตรแสดงไว้ว่า ฌานมีทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล เพราะว่าฌานได้แก่สภาพธรรมที่เผาธรรมที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น อกุศลฌานก็มี กุศลฌานก็มี แต่ถ้ากล่าวถึงคัมภีร์บางคัมภีร์ เช่น วิสุทธิมรรค มีข้อความแสดงไว้แล้วว่า หนทางที่จะขัดเกลากิเลสเป็นทางที่จะทำให้จิตบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น ต้องหมายถึงเฉพาะที่เป็นกุศลฌาน แต่ถ้าในฌานปัจจัย ในพระอภิธรรมปิฎก มีทั้งที่เป็นกุศลฌานและอกุศลฌาน

นี่เป็นการที่จะต้องศึกษาสภาพธรรม คือ จิตและเจตสิกให้ละเอียดขึ้น

คำสุดท้าย ญาณ คือ ปัญญา ได้แก่ เจตสิกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสภาพที่เข้าใจและรู้ขึ้นๆ จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่ผิด

ก็คงเป็นเค้าโครงพอสมควรสำหรับที่จะพิจารณาความต่างกันของฌาน และญาณ

คำถาม ที่ว่ากายนี้เป็นกายบูด กายเน่า เป็นสิ่งปฏิกูล เป็นของไม่ใช่ตน ถ้าหากว่ามีคนมาขอมือทั้งสองข้าง ทำไมเราไม่ยอมให้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ใช่ของตน ควรตอบอย่างไร

สุ. เมื่อไม่ใช่ตนแล้ว ทำไมต้องให้ด้วย ปัญญารู้ว่า ไม่มีใครที่รับ และไม่มีใครที่ให้ด้วย เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องให้ ไม่ใช่ว่าผู้รู้มีปัญญาแล้วจะให้ ทุกสิ่งทุกอย่างไปโดยไร้ประโยชน์

คำถาม ที่กล่าวว่า มรณัมปิ ทุกขัง ตายเป็นทุกข์นั้น อะไรตาย ทั้งที่รูปร่างกายนั้นก็ยังอยู่

สุ. ยังอยู่แต่ก็เน่าเปื่อยผุพัง เพราะขณะนั้นไม่มีใจครองอีกต่อไป จึงชื่อว่า ตาย

คำถาม ทุกวันนี้เราทานข้าวเพื่ออะไร เรานอนเพื่ออะไร ช่วยตอบใน แนวปฏิบัติ

สุ. นี่คือทุกข์ของสังขาร เพราะว่าเมื่อมีรูปนามแล้วที่จะดำรงอยู่โดยปราศจากอาหารนั้น เป็นไปไม่ได้เลย แม้เกิดมามีรูปที่เกิดเพราะกรรม และเมื่อมีจิต ก็มีรูปซึ่งเกิดเพราะจิต เมื่อมีความเย็นความร้อนโดยที่ไม่ขาดเลย ก็ต้องมีรูป ที่เกิดเพราะอุตุคือความเย็นความร้อนด้วย แต่แม้กระนั้นก็ไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ได้เพียงรูปซึ่งเกิดเพราะกรรม รูปซึ่งเกิดเพราะจิต และรูปซึ่งเกิดเพราะอุตุ จำเป็น ต้องอาศัยรูปที่เกิดเพราะอาหารด้วย

ทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า อาหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสัตว์โลก แล้วแต่ว่า จะเป็นการเกิดในภพภูมิไหน ถ้าเกิดในภพภูมิมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน ก็ต้องอาศัยอาหารหยาบ ได้แก่ กพฬีการาหาร เป็นต้น

คำถาม สัตว์ดิรัจฉานทำบุญทำบาปได้หรือไม่

สุ. ถ้ามีจิต ก็ต้องมีกุศลจิตและอกุศลจิตด้วย เพียงแต่ว่าอกุศลจิต จะเกิดมาก หรือกุศลจิตจะเกิดมาก

คำถาม ขอให้บรรยายเรื่อง ๑. จิตมีกี่ดวง ๒. เจตสิกมีกี่ดวง ๓. รูปมี กี่รูป ๔. นิพพานต่างกับจิต เจตสิก รูปอย่างไร

สุ. จิตมีทั้งหมด ๘๙ หรือ ๑๒๑ โดยพิเศษ เพราะรวมทั้งจิตของ พระอรหันต์ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และปุถุชน รวมทั้งจิตของบุคคลในสุคติภูมิ คือ ในโลกมนุษย์และในสวรรค์ รวมทั้งจิตของบุคคลในทุคติภูมิ คือ ในอบายภูมิ ได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน รวมทั้งจิตของรูปพรหมบุคคล ในรูปพรหมภูมิ และอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ

รวมทั้งหมดแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกเป็นจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ โดยพิเศษ

เจตสิกมี ๕๒ ประเภท หรือที่เรียกว่า ๕๒ ดวง ส่วนรูปมี ๒๘ รูป

และนิพพานต่างจากจิต เจตสิก รูป โดยที่จิต เจตสิก รูปเป็นสังขารธรรม เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ นิพพานเป็นวิสังขารธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดและไม่ดับ

เปิด  253
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565