แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1639

ถวายคำตอบปัญหาธรรมพระภิกษุที่มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๐


คำถาม ทุกขเวทนา คือ ความป่วยไข้ เกิดขึ้นจากเหตุอะไร

สุ. มีหลายเหตุ โรคหรือความทุกข์กายที่เกิดจากกรรมก็มี เกิดจากจิตก็มี เกิดจากอุตุก็มี เกิดจากอาหารก็มี ถ้าไม่มีกายปสาทที่ซึมซาบอยู่ทั่วร่างกาย ทุกขเวทนาก็เกิดไม่ได้ ซึ่งกายปสาทเป็นรูปที่เกิดจากกรรม เป็นรูปที่สามารถรับกระทบสัมผัสกับสิ่งที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ถ้าเป็นสิ่งที่เย็นจัด ไม่สม่ำเสมอ ไม่พอดี ก็เป็นปัจจัยให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ถ้าเป็นสิ่งที่ร้อนก็เป็นปัจจัยให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ถ้าเป็นสิ่งที่แข็งก็เป็นปัจจัยให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้น รวมความว่า สิ่งที่กระทบสัมผัสกายที่ไม่น่าสบาย เป็นปัจจัยให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้น

และสำหรับความป่วยไข้นั้น บางโรคก็เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน บางโรคก็เกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน บางโรคก็เกิดขึ้นเพราะอุตุ ความเย็นความร้อนเป็นสมุฏฐาน บางโรคก็เกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน เวลาที่บริโภคอาหารที่ เป็นพิษ ก็เป็นโรคซึ่งเกิดขึ้นเพราะอาหาร

สำหรับบางคนที่เป็นอกุศลจิต อาจจะมีการทรมานตัว ทรมานกายต่างๆ ทุกขเวทนาที่เกิดจากการทรมานตัวทรมานกายนั้น ก็เป็นทุกขเวทนาที่เกิดเพราะจิต เป็นสมุฏฐาน และโรคบางอย่างก็เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน

เมื่อคืนนี้มีข่าวโทรทัศน์เรื่องของชาวต่างประเทศท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้หญิง เป็นอัมพาตมาเป็นเวลาหลายปี และเกิดเดินได้ทันที ซึ่งในทางพระพุทธศาสนา ได้แสดงเรื่องการเกิดดับของรูปอย่างรวดเร็วไว้โดยละเอียด คือ รูปๆ หนึ่งที่เกิดขึ้น จะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ซึ่งเป็นระยะที่สั้นที่สุด

ขณะที่กำลังเห็นไม่ใช่ขณะที่กำลังได้ยิน ช่วงระหว่างเห็นกับได้ยิน มีจิตเกิดดับคั่นเกินกว่า ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ซึ่งดูเสมือนว่าทั้งเห็นและได้ยินพร้อมกันเป็นไปด้วยการเกิดดับอย่างรวดเร็วของจิต เพราะฉะนั้น รูปที่ร่างกายทุกๆ รูป ซึ่งมีอายุสั้นมากและมีอากาศธาตุคั่นอยู่อย่างละเอียดยิบทีเดียว สามารถที่จะแตกย่อยรูปทุกรูปออกเป็นรูปที่เล็กที่สุดจนแยกไม่ได้ ก็ยังมีรูปรวมกันถึง ๘ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา ซึ่งแต่ละรูปที่มีอากาศธาตุ แทรกคั่นอยู่เกิดดับสลับกันอย่างเร็วมาก จนกระทั่งแม้แต่ละท่านจะมีน้ำหนักกัน หลายกิโล แต่ไม่มีความรู้สึกหนักเลยสักแห่งในกาย ก็เพราะแต่ละรูปซึ่งเป็นรูป ที่ละเอียดนั้น เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมที่จะไม่ให้เป็นอัมพาตอีกต่อไป ก็โดยที่เมื่อรูปที่เกิดเพราะอกุศลกรรมดับไปหมด กุศลกรรมก็ทำให้รูปที่คล่องแคล่ว ที่เป็นปกติ ที่ไม่หนักเกินไป ไม่ใช่อาการของคนมีโรคนั้นเกิดขึ้น จึงสามารถเดินได้ ทันทีได้

มีผู้สัมภาษณ์ว่า ทำไมถึงเดินได้ ท่านผู้นั้นก็ตอบว่า เขาเองก็ไม่ทราบ เพียงแต่ เหมือนมีเสียงบอกว่า ให้ลุกขึ้นเดิน ก็ลุกขึ้นเดินไปได้ทันที และมีภาพที่แสดงว่า เขาเดินออกจากบ้านด้วย

เพราะฉะนั้น ทุกขเวทนาที่เกิดจากกรรมก็มี เกิดจากจิตก็มี เกิดจากอุตุก็มี เกิดจากอาหารก็มี

คำถาม วิญญาณที่ออกจากตัวคนตาย มีรูปร่างลักษณะอย่างไรหรือไม่

สุ. นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจให้ชัดเจนจริงๆ ในเรื่องของจิตและเจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรมว่า เป็นสภาพธรรมที่ต่างกับรูปโดยสิ้นเชิง จิต เจตสิก ไม่มีรูปร่าง ไม่ใช่สีสันวัณณะ ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส

รูปในพระพุทธศาสนาหมายความถึงสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่สภาพรู้ รสหวานมีจริง รสขมมีจริง ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น รสเป็นรูป แม้ว่ามองไม่เห็น

เสียงมีจริงกำลังปรากฏ เสียงไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ลักษณะที่ได้ยิน เสียงเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบกับหู และปรากฏเป็นเสียงสูง เสียงต่ำ เสียงเบา เสียงทุ้ม เสียงห้าว เสียงหลายๆ เสียง ซึ่งสัญญาจำได้ว่าเสียงใคร แม้ว่าจะมีคนในโลกนี้ กี่หมื่นพันล้าน แต่รูปธรรมที่ทำให้เกิดเสียงก็ต่างกัน เพราะฉะนั้น ทุกคนย่อมสามารถจำได้ว่านั่นเสียงใคร แม้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางหูเท่านั้นเอง

วิญญาณ คือ นามธรรม ไม่ใช่รูปใดๆ เลย ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีเสียง เป็นแต่เพียงธาตุรู้ สภาพรู้ อาการรู้

ที่ถามว่า วิญญาณที่ออกจากตัวคนตายมีรูปร่างลักษณะอย่างไรหรือไม่ วิญญาณไม่มีขาที่จะออกจากตัวคนตาย ไม่มีปีก ไม่มีแขน เพราะเป็นเพียงธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นและดับไปทันที เกิดขึ้นทำกิจรู้และดับไปทันที ขณะที่เห็นในขณะนี้ จิตเห็นเกิดและดับทันที และมีจิตอื่นเกิดดับสืบต่อทันทีด้วย เป็นจิตแต่ละประเภท แต่ละชนิดที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย

เหมือนไฟซึ่งไม่มีที่ไป ไม่ใช่ว่าไฟดับที่นี่แล้วไปที่อื่น แต่เกิดที่ไหนดับที่นั่น จิตเห็น เห็นที่จักขุปสาท เกิดที่จักขุปสาท ดับที่จักขุปสาท จิตได้ยิน ได้ยินเสียง เกิดขึ้นที่โสตปสาท ได้ยินที่โสตปสาท ดับที่โสตปสาท เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าวิญญาณที่ออกจากตัวคนตายมีรูปร่างลักษณะ ไม่ใช่รูป โดยสิ้นเชิง

สำหรับนามธรรม คือ จิตและเจตสิก ใช้คำว่า สัมปยุตตธรรม แต่รูป แม้ว่าเกิดร่วมกันก็ไม่ใช่คำว่า สัมปยุตตธรรม

ถ้าแสดงโดยนัยของปัจจัย จะมีคำ ๒ คำ คือ สัมปยุตตปัจจัย และ วิปปยุตตปัจจัย

ที่ใช้คำว่า สัมปยุตต์ เพราะนามธรรม ๒ ประเภท คือ จิตและเจตสิก เป็นสภาพที่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และเกิดที่เดียวกันด้วย เพราะฉะนั้น จึงเข้ากันสนิท ไม่มีช่องทางที่จะแยกขาดจากกันได้เลย เจตสิกใดเกิดกับจิตใด เมื่อจิตนั้นดับ เจตสิกทั้งหมดที่เกิดกับจิตนั้นก็ดับ เพราะฉะนั้น อกุศลเจตสิกเกิดกับอกุศลจิต และดับพร้อมกับอกุศลจิต กุศลเจตสิกเกิดกับกุศลจิต และดับพร้อมกับกุศลจิตนั่นเอง จึงใช้คำว่า สัมปยุตตธรรม เพราะเข้ากันสนิท เกิดก็เกิดร่วมกัน ดับก็ดับพร้อมกัน และก็รู้อารมณ์เดียวกันด้วย

แต่รูปธรรมแม้จะอาศัยกันเกิด แต่ไม่ได้เข้ากันสนิทอย่างนามธรรม เพราะไม่ใช่สภาพรู้ และมีลักษณะต่างกันด้วย เช่น ธาตุที่แข็งไม่ใช่ธาตุที่ร้อน เป็นลักษณะของธาตุต่างชนิดกัน แม้ว่าจะต้องเกิดร่วมกันโดยเป็นมหาภูตรูป เป็นธาตุทั้ง ๔ แต่ แม้กระนั้นก็ไม่ใช่สัมปยุตตธรรม

นี่เป็นการเข้าใจลักษณะของจิตว่า ไม่ใช่รูปโดยสิ้นเชิง

คำถาม สัตว์โลกตายแล้วไปไหน และอะไรตายด้วย

สุ. สัตว์โลกตาย หมายความถึง จิต เจตสิก รูปดับ สิ้นสภาพของความเป็นบุคคลนี้อีกต่อไป

ธรรมดาจิต เจตสิก เกิดดับอยู่เรื่อยๆ แต่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ต้องมีกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยให้ผลคือปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ถ้าเป็นอกุศลกรรมเป็นปัจจัย ก็ทำให้อกุศลวิบากจิตซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมนั้นทำกิจปฏิสนธิ ในอบายภูมิ ไม่มีสิทธิเกิดเป็นมนุษย์ ไม่มีสิทธิเกิดในสวรรค์ ไม่มีสิทธิเกิดในพรหมโลก เพราะเป็นผลของอกุศลกรรม แม้ว่าอกุศลจิตดับไปแล้ว แต่จิตขณะต่อไปที่เกิดสืบต่อ ก็มีการสะสม มีปัจจัย จิตดวงก่อนๆ ดับไปก็สะสมอยู่ในจิตขณะต่อไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น เมื่อได้กระทำกรรมใดแล้ว แม้ตัวเหตุคือจิตที่กระทำกรรม ดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลเกิดขึ้น ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ สัตว์โลกตายแล้วจะต้องมีกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิดในภูมิหนึ่ง ภูมิใดใน ๓๑ ภูมิ

คำถาม ผีมีจริงหรือไม่

สุ. โดยมากเข้าใจว่า ตายแล้วเป็นผี แต่ความจริงทันทีที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตเกิดต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่น แล้วแต่ว่าจะเกิดในภพภูมิใด ถ้าเกิดในนรก ไม่มีใครมองเห็น เพราะฉะนั้น ไม่เห็นสัตว์นรก ก็ไม่กล่าวว่าเห็นผี แต่ถ้าเกิดในภูมิ ที่สามารถจะปรากฏให้เห็นได้ ขณะที่เห็นบุคคลซึ่งได้ตายไปแล้วและปรากฏเป็นรูปร่างอย่างที่เคยมีรูปร่างอย่างนั้นในขณะที่มีชีวิตอยู่ ก็เข้าใจว่าเห็นผี หมายความถึง เห็นสัตว์ในภูมิอื่นซึ่งไม่ใช่ภูมิมนุษย์ แต่ความจริงเทวดาก็เห็นได้เหมือนกัน ไม่ทราบว่าจะเรียกว่าผีหรือเปล่า หรือจะเรียกว่าผีเฉพาะเปรต

อบายภูมิมี ๔ ได้แก่ สัตว์ที่เกิดในนรก ไม่มีใครไปนรก เพราะฉะนั้น ก็ไม่เห็น อบายภูมิที่ ๒ คือ เปรต อบายภูมิที่ ๓ คือ อสุรกาย อบายภูมิที่ ๔ คือ สัตว์ดิรัจฉาน สำหรับสัตว์ดิรัจฉานไม่มีใครเรียกว่าผี แม้ก่อนจะเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ต้องตายจาก ชาติก่อนจึงเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน แต่ใครก็ตามที่ตายแล้วเกิดเป็นอสุรกาย หรือเกิดเป็นเปรต และสามารถปรากฏตัวให้เห็น เมื่อไม่ใช่มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์โลกในภูมินี้ก็เข้าใจว่าเห็นผี แต่ความจริงแม้แต่เทพก็สามารถที่จะปรากฏได้ และเมื่อเทพไม่ใช่สัตว์โลก ที่เป็นมนุษย์ ไม่ทราบว่าจะใช้คำว่าผีหรือเปล่า แต่ให้ทราบว่า ไม่ว่าจะใช้คำว่า ผี หรือจะใช้คำอะไรก็ตาม ทันทีที่จุติจิตดับทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ไม่ทรงสภาพความเป็นบุคคลนี้อีกต่อไป ปฏิสนธิจิตต้องเกิดต่อทันที

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะปฏิสนธิเป็นบุคคลนี้ ก็ต้องจุติ คือ เคลื่อนจากความเป็นบุคคลในชาติก่อน ซึ่งอีกไม่นานจุติจิตก็จะเกิด ทำกิจเคลื่อนพ้นสภาพความ เป็นบุคคลนี้ และกรรมหนึ่งจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลกรรมทำให้เกิดในสุคติภูมิ หรือจะเป็นอกุศลกรรมทำให้เกิดในทุคติภูมิ

คำถาม การทำความดีก็ถือว่าดี ทำชั่วก็ถือว่าชั่ว การที่เราทำดีทำชั่ว จะถือว่ายึดดียึดชั่วหรือเปล่า เราควรจะยึดหรือเปล่า ถ้าไม่ยึด จะถือว่าทำดีทำชั่วไหม ถ้าไม่ยึดดี จะถือเอาอะไรว่าดี

สุ. สภาพธรรมที่ดี ใครจะเปลี่ยนให้เป็นสภาพธรรมที่เลวไม่ได้ สภาพธรรมที่ชั่ว ใครจะเปลี่ยนให้เป็นสภาพธรรมที่ดีไม่ได้

โลภะ ความต้องการ ความยึดมั่น ความติดข้อง ไม่เปลี่ยนลักษณะ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นอกุศลก็ต้องเป็นอกุศล

อโลภะ สภาพที่สละความติดข้องความต้องการ เป็นกุศล ใครจะเปลี่ยนลักษณะสภาพของอโลภเจตสิกให้เป็นอย่างอื่นก็เปลี่ยนไม่ได้ จะใช้ชื่อเรียกอะไร ก็ตามแต่ แต่ลักษณะของสภาพธรรมนั้นยังเป็นสภาพธรรมนั้นที่ไม่เปลี่ยน

ใครจะเข้าใจว่า ชั่วเป็นดี ดีเป็นชั่ว นั่นเป็นความเข้าใจของแต่ละบุคคล แต่ลักษณะของสภาพธรรมที่ดี ใครจะเปลี่ยนให้ไม่ดีไม่ได้

ที่ถามว่า การที่เราทำดีทำชั่ว จะถือว่ายึดดียึดชั่วหรือเปล่า

ถ้ายังมีการยึดมั่นในจิตเจตสิกรูปว่าเป็นเรา ก็จะมีความคิดว่า เราทำดี เราทำชั่ว เป็นของธรรมดา จนกว่าจะรู้ว่า มีเหตุปัจจัยที่จะให้ธรรมฝ่ายชั่วเกิดขึ้น และก็ดับไป ไม่ใช่ตัวตน แต่แม้กระนั้น สภาพธรรมนั้นก็เป็นเหตุทำให้เกิดสภาพธรรม ที่เป็นผลคือวิบากที่ไม่ดีในอนาคตได้

คำถาม คำว่า ตาย กับคำว่า แตกดับ ต่างกันหรือเหมือนกัน เมื่อรูปกายแตกดับ จิตวิญญาณจะล่องลอยอยู่หรือไปปฏิสนธิอย่างไร ช่วยอธิบาย เมื่อจิตวิญญาณเริ่มปฏิสนธิ

สุ. คำว่า ตาย กับคำว่า แตกดับ เป็นเรื่องของภาษา แล้วแต่การใช้ภาษา เช่น ต้นไม้ตาย ก็ใช้กันอยู่ ต้นไม้เกิดหรือเปล่า แต่เวลาที่ต้นไม้เหี่ยวแห้งไปก็ใช้คำว่า ต้นไม้ตาย แต่ลักษณะของต้นไม้ตายกับคนตายไม่เหมือนกัน

ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดและดับไป เป็นลักษณะของการแตกดับ ที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้คำว่า โลก โลกะ หรือโลกียะ หมายความถึงสภาพธรรม ที่แตกดับ เพราะฉะนั้น พระนิพพานอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นโลกุตตระ เพราะว่า ไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและแตกดับไป

ถ้าจะใช้คำว่า แตกดับ ก็หมายความถึงสภาพธรรมใดก็ตามที่เกิด สภาพธรรมนั้นทรงอยู่ดำรงอยู่ไม่ได้ สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดต้องแตกดับ และ ต้องแตกดับอย่างรวดเร็วด้วย ซึ่งนั่นเป็นลักษณะของสังขารธรรมทุกอย่างที่เกิด คือ จิตเกิดขึ้นและก็ดับ จะใช้คำว่าแตกดับก็ได้ เจตสิกเกิดขึ้นและก็ดับ รูปเกิดขึ้น และก็ดับ

เพราะฉะนั้น ถ้าใช้คำว่า ตาย ส่วนมากที่ถูกต้องจะใช้กับสิ่งที่มีชีวิต แต่ ไม่ได้หมายความถึงต้นไม้ใบหญ้า ชีวิตในที่นี้ต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะกรรม เป็นสมุฏฐาน รูปของคนกับรูปของตุ๊กตาขี้ผึ้ง แม้จะดูมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก สักเพียงใด แต่รูปหุ่นขี้ผึ้งไม่ใช่รูปที่เกิดจากกรรม จึงไม่ใช่รูปที่ทรงชีวิต แต่รูปของสัตว์บุคคลที่เกิดเพราะกรรมที่ไม่ใช่หุ่นขี้ผึ้งเป็นรูปที่ทรงชีวิต เพราะมีชีวิตรูปที่เกิด เพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ทำให้ทรงสภาพของความมีชีวิต ซึ่งต่างกับหุ่นขี้ผึ้ง

การที่จะใช้คำว่า ตาย ควรหมายถึงสัตว์บุคคลที่เกิดขึ้นเพราะกรรม เป็นสมุฏฐาน ขณะที่จิตเจตสิกรูปดับ พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ไม่เกิดขึ้นดำรงสภาพความเป็นบุคคลนี้อีกเลย ใช้คำว่า ตาย

ถ้าจะกล่าวถึง มรณะ หรือ ความตาย ทรงแสดงไว้ ๓ อย่าง คือ

ขณิกมรณะ ได้แก่ ความตายชั่วขณะ แต่ละขณะที่จิตเจตสิกรูปเกิดขึ้นและ ดับไป เป็นขณิกมรณะ

สมมติมรณะ ได้แก่ ความตายในภพหนึ่งชาติหนึ่ง สำหรับทุกคนที่เป็นสัตว์บุคคลเกิดขึ้นและตายไป แล้วแต่อายุขัย หรืออายุของแต่ละบุคคล

สมุจเฉทมรณะ ได้แก่ การปรินิพพานของพระอรหันต์ ซึ่งเมื่อจุติจิตเกิดและ ดับไป ทำให้สิ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้น แต่ไม่มีปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่ออีกเลย นั่นคือสมุจเฉทมรณะ

คำถาม คนเราเมื่อตายไปแล้ว มีอะไรติดตามไปด้วย

สุ. ความเป็นบุคคลเก่าในชาติก่อนติดตามใครไปได้บ้าง ปฏิสนธิจิตเกิด สืบต่อจากจุติจิตเท่านั้นเอง แต่ปฏิสนธิจิตนั้นก็เกิดขึ้นเพราะกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้วในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น กรรมนั้นเองเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิต และกัมมชรูป คือ รูปซึ่งเกิดเพราะกรรมนั้นเป็นปัจจัย เกิดขึ้นพร้อมกันในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด ด้วยเหตุนี้แต่ละคนจึงต่างกันในรูปร่างลักษณะ ในความคิด ในการสะสมของจิต

บางคนเป็นผู้ที่มีโลภะมาก บางคนเป็นผู้ที่มีโทสะมาก แสดงให้เห็นว่า ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิต แต่ไม่ได้นำจิตของชาติก่อนตามมาด้วย ไม่ได้นำรูปของชาติก่อนตามมาด้วย แต่การดับไปของจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตในชาตินี้เกิดขึ้น พร้อมกับรูปที่เกิดขึ้นเพราะกรรมที่ทำให้เกิดเป็นบุคคลนี้

ถ้าจุติจิตในชาตินี้เกิดขึ้นและดับไป และกรรมหนึ่งทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อ จะเป็นรูปใหม่ จะเป็นบุคคลใหม่ สิ้นสภาพของความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง

เปิด  244
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565