แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1650

สนทนาธรรมระหว่างไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย

เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๐


. ทฤษฎีหรือปริยัตินี่ ต้องมีการฟังหรือหมั่นสังเกต

ศุ. หมายความว่า ถ้าเราไม่เคยฟังเลย ไม่เคยรู้เลย เราก็อาจจะคิดว่า ไปเจริญอย่างอื่นก็คือเมตตา ใช่ไหม ลักษณะเมตตาต้องเป็นกุศล แต่ถ้าไม่ใช่เมตตา ใกล้เคียงเมตตา ก็เป็นลักษณะของโลภะ เป็นอกุศล เช่น รักลูก กับเราให้ เสมอกัน เท่ากันทั้งหมด จะต่างกันหรือไม่ต่างกัน รักลูก ซื้อเสื้อผ้าข้าวของให้ กับช่วยเหลือคนอื่น สภาพธรรมเหมือนกัน หรือไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เมตตาไม่ใช่ง่าย ถ้าเป็นเมตตาจริงๆ แต่ถ้าเป็นโลภะ ง่าย

คำว่า เมตตา หรือมิตตะ เป็นมิตร ไม่ต้องจำกัด ใช่ไหม ทั้งหมด ทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้น ยาก ฟังชื่อง่าย แต่ถ้าพิจารณาแล้ว เป็นสิ่งที่ค่อนข้างลึกซึ้งพอสมควร สำหรับคนอื่นผมไม่ทราบ แต่ผมฟังแล้ว ผมเห็นว่ายากมาก ถ้าไม่เข้าใจเจริญไม่ถูก

. ทำไมเราต้องไปทำให้ยาก อย่างที่อาจารย์บอกว่า ทำเข้ามาในชีวิตประจำวัน แสดงว่าทำให้ง่ายแล้ว

นิ. ใช่ นั่นเป็นเป็นคำพูด แต่ชีวิตประจำวันเราเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า นี่เป็นปัญหา เพราะว่าการศึกษาของเราสมัยนี้ คำว่า การศึกษา ห่างจากการปฏิบัติมาก ไม่เหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนปริยัติกับปฏิบัติท่านเกื้อกูลกัน ศึกษาปริยัติเพื่อปฏิบัติ แต่เดี๋ยวนี้ศึกษาปริยัติเพื่อเอาชั้นเอาภูมิ ไม่ได้เกื้อกูลแก่การปฏิบัติเลย พูดอย่าง ไม่เกรงใจ ไม่ได้ศึกษาเพื่อเป็นการเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ เพราะฉะนั้น คำว่า ศึกษา จึงห่างกันมาก ไม่เหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนคำว่าศึกษาของท่าน คือ ฟังให้เข้าใจ และปฏิบัติเกิดเอง ถ้ายังไม่เข้าใจ ปฏิบัติเกิดไม่ได้ เดี๋ยวนี้ศึกษาทฤษฎีเสียก่อน และไปปฏิบัติทีหลัง แต่เวลาไปปฏิบัติ โน่น อาจารย์ไหนก็ไม่รู้ อยู่เขาไหนก็ไม่รู้ ต้องไปให้ท่านสอน ปริยัติทิ้งไปหมด อย่างนี้จะเกื้อกูลต่อการปฏิบัติได้อย่างไร

อย่างนี้เราพลาดนะ ผมสังเกตดูตัวผมเอง ผมเรียนได้ สอบได้ประโยค แต่เวลาไปปฏิบัติ ผมต้องไปวิ่งหาอาจารย์ทั่วไปหมด อาจารย์สอนว่าอย่างไรก็ทำตาม ถูกหรือผิดก็ไม่รู้ นี่เป็นข้อผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง

เพราะฉะนั้น การศึกษาที่ถูกต้อง จะต้องศึกษาให้เข้าใจความจริง ต้อง ให้เข้าใจสภาวธรรมเพื่อจะเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ เพราะว่าการปฏิบัติที่จะมีขึ้นได้ ต้องมีความเข้าใจจริงๆ

คนที่เข้าใจในแนวทางมหาสติปัฏฐาน คนภายนอกที่มองเห็นจะไม่รู้เลยว่า คนนั้นเจริญสติปัฏฐานหรือไม่เจริญ คือ จะไม่ผิดปกติจากคนทั่วไป แต่การปฏิบัติเดี๋ยวนี้ต้องไปสร้างห้องขึ้นมา เวลาเดินก็ต้องค่อยๆ ย่อง เวลามอง เวลาเหลียว ก็ต้องค่อยๆ ทำ ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ

. ทำไมว่าผิดปกติ

นิ. ก็พระพุทธองค์สอนไว้ที่ไหนว่า เวลาเดินให้ค่อยๆ ย่อง

. ก็เรียนแบบธรรมชาติ เวลาเป็นเด็กก่อนจะเดินได้ ก็ต้องคลานก่อน

นิ. นี่เราไม่ใช่เด็ก ผิดธรรมชาติของคนที่โตแล้ว

. เราย้อนไปถึงธรรมชาติเดิม คนเราจะมีสติขึ้นมาทันทีไม่ได้ ก็ต้องค่อยๆ ก่อน ค่อยๆ ทำ

นิ. สติจะเกิดไม่ใช่เพราะค่อยๆ เดิน ไม่ใช่เกิดเพราะค่อยๆ นั่ง ไม่ใช่เกิดเพราะค่อยๆ นอน ผมไปนั่งทำอยู่เกือบ ๕ เดือน ค่อยๆ ทำอย่างนี้ ไม่ได้อะไรเลย เพราะขาดความเข้าใจ เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาให้เข้าใจก่อน

. แต่ค่อยๆ ทำ น่าจะเป็นหนทางที่ดี ถ้าเข้าใจแล้ว ค่อยๆ ทำ ก็น่าจะเป็นผลดี

นิ. แต่ก่อนนี้ถ้าพระท่านบวชแล้วไม่เรียนพระไตรปิฎก ท่านก็จะเรียน ข้อปฏิบัติในสำนักพระพุทธเจ้าอย่างน้อย ๕ ปี ใช่ไหม อย่างท่านพระจักขุบาลเป็นต้น ท่านเรียน ๕ ปี ทุกรูปเลย ต้องอยู่ในสำนักครูบาอาจารย์ ๕ ปี จึงออกไปไหนได้ ในระยะเวลา ๕ ปี ท่านจะต้องศึกษาให้เข้าใจในข้อปฏิบัติว่าเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ท่านไม่มีปัญหาเรื่องปฏิบัติเลย เวลาปฏิบัติท่านทำอย่างไร ท่านก็ทำธรรมดาเหมือนพระทั่วๆ ไป ไปบิณฑบาต เย็บจีวรท่านก็เย็บ ซักจีวรท่านก็ซัก กวาดลานวัด กิจวัตรของพระเหมือนปกติธรรมดา ไม่จำเป็นต้องไปสร้างห้อง ออกไปไหนก็ไม่ได้ คุยกัน ก็ไม่ได้ ดูหนังสือก็ไม่ได้ ผิดปกติหรือเปล่า

ดูในพระไตรปิฎกได้ เรื่องไหนเรื่องนั้นไม่มีหรอกที่ท่านจะทำให้พระเป็นอย่างนั้น ทุกคนทำอย่างนั้นเหมือนกันหมด เวลาได้ผลก็ได้ผลเหมือนกันหมด ญาณเกิดเหมือนกันหมด พระพุทธองค์ท่านตรัสไว้ที่ไหน

. ไม่ใช่ให้ทุกคนทำอย่างนั้น ขึ้นกับความชอบของแต่ละบุคคล ถ้าเขา ใช้วิธีนั้นแล้วบรรลุ

นิ. นั่นก็ผิดจากมหาสติปัฏฐานแล้ว ที่ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นหนทางเอก เป็นหนทางเดียวไม่มีทางอื่น เพราะฉะนั้น จะต้องเข้าใจว่า หนทางเดียวนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเรายังไม่เข้าใจความจริงหรือสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ในชีวิตประจำวันแล้ว เราก็ยังไม่เข้าใจหนทางเดียว ก็ยังคิดว่ามีทางอีกมาก และผลสุดท้ายจะไปรวมกันหมด ซึ่งในพระพุทธศาสนาไม่มีอย่างนั้น ที่พูดกัน เลอะเทอะทั้งนั้น นี่ผมศึกษาและทดลองมาหลายแห่งด้วย ถูกก็ต้องถูก ผิดก็ต้องผิด

ศุ. จากความเข้าใจเท่าที่ผมพอมีบ้าง การที่พระพุทธองค์ทรงแสดง พระวินัยและพระอภิธรรมปิฎกนั้น ทรงแสดงทำไม และเป็นสิ่งที่ไม่มีใครบอกว่าง่าย พูดถึงพระอภิธรรมแล้วเป็นเรื่องของสภาวะทั้งหมด จึงต้องกล่าวว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ตรงตามที่เป็นพระอภิธรรม ส่วนเรื่องพระสูตรก็ต้อง เป็นเรื่องราวของบุคคล สถานที่ต่างๆ ถ้ากล่าวถึงพระอภิธรรม มีคนที่ไหน ไม่มีเลย มีแต่ลักษณะ หรือมีแต่ปรมัตถธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อมีลักษณะที่ยากอย่างนี้ และเมื่อพูดถึงข้อปฏิบัติ เราจะนำเอาปิฎกไหนมาเป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่ง มหาสติปัฏฐานก็ต้องอาศัยหลักของพระธรรมวินัยเป็นเครื่องตรวจสอบ ถ้าไม่มี พระธรรมวินัยแล้วยากที่จะรู้ได้ว่า การประพฤติก็ดี การฟังธรรมก็ดี ความเข้าใจก็ดี จะรู้ได้อย่างไรว่าเข้าใจถูกหรือยังคลาดเคลื่อนอยู่

. เราก็รู้ตัวเอง

ศุ. ถ้าไม่อาศัยพระธรรม แต่คิดเอาเอง ผมถือว่าผิด พระธรรมนี่ คิดเองไม่ได้ แม้คำๆ เดียว ฟังครั้งแรกข้ามไปเหมือนเข้าใจ อาจจะจำได้ พูดได้ แต่ไม่เข้าใจ ฉะนั้น ไม่ควรข้ามไป จนกว่าจะเข้าใจ แม้แต่เพียงคำว่า รูป อาจจะพูดได้ว่า รูปที่ปรากฏ แต่รูปจริงๆ เป็นอย่างไร เวลาพูดถึงลักษณะของรูปก็บอกไม่ได้อีก จะอธิบายเหมือนกับคนที่ประจักษ์รูปจริงๆ ก็ไม่ได้ เพียงแต่บอกว่าเป็นสี เป็นวัณณะ เป็นรูปารมณ์ อย่างทางหูเป็นเสียง มีลักษณะอย่างไร ถ้าไม่ประจักษ์แล้วพูดไม่ได้ แต่จำ จำได้ว่า ทางที่จะรู้อารมณ์มี ๖ ทาง และมีลักษณะ ๒ อย่าง ทางปัญจทวาร ก็ต้องมีลักษณะที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ก็พูดได้อย่างที่ผมพูด แต่ถ้าจะถาม ผมจริงๆ ว่า คุณรู้ลักษณะหรือยัง ผมบอกว่า ผมยังไม่ทราบตามความเป็นจริง และไม่เคยหวังด้วยว่าเมื่อไรจะทราบสักที ถ้ามีเหตุปัจจัยให้ทราบก็ทราบ ถ้าไม่ทราบ ก็ไม่ทราบ แต่ไม่เดือดร้อนเลย

. ต้องหวังด้วยซิ มุ่งหวังผล

ศุ. ความหวังในที่นี้ หมายความว่า เราไม่ทอดทิ้ง ถ้ามีวิริยะ มีขันติ ความอดทน ไม่ทำให้ง่อนแง่นคลอนแคลน และไม่มีสิ่งอื่นจะทำให้เราไขว่เขว นี่คือหวังของผม แต่ไม่ใช่ไปตั้งความหวังโดยไม่ฟังธรรมหรือไม่ศึกษาเลย ความหวังของผมขณะนี้ คือ ไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการสนทนาธรรม และไม่หวังผลด้วย ถ้าเหตุดีเมื่อไร ผลมาเอง

. นี่ก็หวังแล้ว เพราะรู้ว่าเหตุดีผลก็ต้องมา

ศุ. เหตุยังไม่ดี

. ก็เห็นว่าพอเป็นพื้นฐาน คือ ยังไม่ได้ศึกษาในรายละเอียดต่างๆ เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัญหาพื้นๆ และเป็นปัญหาที่สงสัยจริงๆ ไม่ใช่ถามไปอย่างนั้น อยากจะศึกษาจริงๆ

สุ. ถ้ามีหลายทาง ในพระพุทธศาสนาไม่ต้องมีคำว่า เดียรถีย์ ไม่ต้องมี คำว่า ปริพาชก เพราะท่านเหล่านั้นก็แสวงหาทางหลุดพ้นทั้งนั้น ทำไมต้องต่างกับหนทางของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ก็แสดงอยู่แล้วว่า หนทางอื่น ที่ใครหลายคนคิดว่ามี จะถูกหรือจะผิด ถ้าถูกเหมือนกันหมด ก็ไม่มีความต่างกันระหว่างพวกเดียรถีย์กับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

. ไม่ถึงขั้นไปเปรียบกับพวกเดียรถีย์ แต่เปรียบเทียบว่า ในเมื่อ เป็นพระพุทธศาสนาของเรา และเขาก็ดำเนินหลายๆ ทาง ก็เปรียบเหมือนกับทาง ที่จะมาที่ลุมพินี ทางรถไฟก็ได้ รถยนต์ก็ได้ เฮลิคอปเตอร์ก็มาได้ ไม่ใช่หมายความว่า ยึดทางรถยนต์ทางเดียวตลอด

สุ. แต่จะขาดสติได้ไหม

. ขาดไม่ได้

สุ. ถ้าขาดไม่ได้ คือ สติเป็นหนทางเดียว ใช่ไหม

ถ้ากล่าวอย่างนั้น ก็ใช่

สุ. ถ้าอย่างนั้นก็ต้องตัดหลายๆ ทางออก ต้องมาลงที่สติปัฏฐานทางเดียว เพราะว่าสภาพธรรมกำลังมี ถ้าสติไม่ระลึก ปัญญาก็ไม่สามารถจะรู้ได้ นี่เป็นของที่ตายตัวที่สุด ถ้าสติไม่ระลึกเท่านั้น ปัญญาก็ไม่สามารถรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏได้ จึงต้องอาศัยสติเป็นหนทาง เป็นสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นทางเดียว

. ที่ถามนี่เพราะติดที่ว่า ในเมื่อบำเพ็ญทางสมถภาวนา และขณะเดียวกันก็มีสติด้วย มีปัญญาด้วย

สุ. ถ้าทั้งหมด ไม่ได้ ต้องรู้ว่าสมถภาวนาจริงหรือเปล่า หรือไม่ใช่ สมถภาวนา เพราะว่ามิจฉามรรค ได้แก่ โลภมูลจิต ทรงแสดงไว้เลย ที่เราใช้คำว่า มิจฉามรรค ได้แก่ โลภมูลจิต ถ้าหนทางทุกอย่างถูกหมด ไม่ต้องมีมิจฉามรรคและสัมมามรรค และตัวมิจฉามรรคจริงๆ นั้น ไม่ใช่อย่างอื่นเลย นอกจากโลภมูลจิต ความปรารถนา ความต้องการผล โดยที่ไม่ใช่ปัญญา

ถ้าใครมุ่งหวังผล โดยไม่รู้ว่าปัญญาคืออย่างไร ปัญญารู้อะไร เพียงแต่ต้องการผล อยากจะรู้แจ้งนิพพาน อยากจะหมดกิเลส แต่ไม่มีความรู้อะไรเลย นั่นคือลักษณะของโลภะ ซึ่งเป็นมิจฉามรรค

. ผู้ที่ปรารถนาว่า นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ ถือว่าเป็นโลภะเหมือนกัน

สุ. มิได้ ต้องรู้ว่า ต้องมีเหตุจึงจะถึง ถ้าปราศจากเหตุ คือ มรรคมีองค์ ๘ ถึงไม่ได้เลย ทรงแสดงอริยสัจไว้ว่า ทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ นิโรธเป็นผล มรรคเป็นเหตุที่จะให้ถึง ทรงแสดงเหตุที่จะให้ถึง ไม่ใช่ให้ตั้งความหวังไว้ลอยๆ

คนที่หวังไว้ลอยๆ ไม่มีโอกาสจะถึงเลยถ้าไม่มีเหตุที่จะให้ถึง และถ้าเหตุผิด ก็ถึงไม่ได้ ข้อสำคัญที่ต้องระมัดระวัง คือ ต้องพิจารณาเหตุนั้นว่า ถูกหรือผิด ถ้าเป็นเหตุผิด เป็นมิจฉามรรค เป็นโลภะ ก็ถึงไม่ได้

. อย่างสมถภาวนานี่ ถือว่าเหตุผิดไหม

สุ. สมถภาวนาจริงๆ คือ กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ใครมีปัญญารู้วิธีเจริญสมถะ คนนั้นจึงเจริญสมถะได้ ไม่ใช่ว่าฉันปฏิบัติสมถะแล้ว ฉันก็ถูก ไม่ใช่อย่างนั้น คนนั้นมีปัญญาหรือเปล่า ถ้าไม่มีปัญญา ปฏิบัติสมถะไม่ได้

. ถ้ามีปัญญา

สุ. ถ้ามีปัญญา ก็ต้องรู้ว่าปัญญาของสมถะคืออย่างไร ไม่ใช่ให้นั่งเฉยๆ นั่งเฉยๆ ไม่ใช่สมถะ ไม่ใช่ปัญญา

. ขณะที่เขานั่งเฉยๆ เขามีปัญญาด้วย และเป็นสมถะด้วย

สุ. ปัญญารู้อะไร

. ก็รู้ตามความเป็นจริง

สุ. ความเป็นจริงอะไร

. ความเป็นจริงขณะนั่ง

สุ. ขณะนั่งคืออะไร ความเป็นจริงอะไร

. อย่างเช่นรู้ว่า

สุ. จะต้องมีลักษณะจริงๆ ให้รู้ได้ ขณะนี้จิตเป็นกุศลหรืออกุศล จะรู้ได้อย่างไร นี่คือการที่จะเจริญสมถภาวนา ต้องพูดเรื่องของจริงว่า จิตที่เป็นอกุศลเป็นอย่างไร จิตที่เป็นกุศลเป็นอย่างไร ไม่ใช่อยู่ในตำรา แต่ขณะนี้ เดี๋ยวนี้

อกุศลมี ๓ ประเภทใหญ่ คือ โลภมูลจิต โทสมูลจิต และโมหมูลจิต ซึ่งไม่ประกอบด้วยโลภะและโทสะ

ที่จะรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล จะรู้ได้อย่างไร นี่คือผู้ที่จะเจริญสมถภาวนา ถ้าไม่สามารถรู้ได้ เจริญสมถภาวนาไม่ได้ เพราะว่าการเจริญ สมถภาวนานั้น มหากุศลจิตประกอบด้วยปัญญาต้องเกิดบ่อยๆ จนกว่าความสงบ จะมั่นคงขึ้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ไปจดจ้อง ไม่รู้ลักษณะที่ต่างกันของอกุศลจิตกับกุศลจิต

ขณะนี้ทุกคน ถ้าเป็นผู้ตรงจะตอบได้ไหมว่า จิตกำลังเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าตอบได้ ยังต้องถามต่อไปอีกว่า รู้ได้อย่างไร คือ ต้องมีเหตุที่จะให้รู้ได้ ผลทั้งหลายต้องมาจากเหตุ แม้แต่ปัญญาขั้นสมถะก็ต้องมีเหตุ ปัญญาขั้นวิปัสสนาก็ต้องมีเหตุ ไม่ใช่โดยการอ้างแล้วก็จะเชื่อ แต่ต้องมีเหตุและผล

ถ้าสงบ เพราะเหตุใดจึงสงบ และที่จะรู้ว่าสงบ รู้ได้อย่างไรด้วย ไม่ใช่พูดเฉยๆ แต่ถ้าเขาจะสงบจริงๆ เขารู้ได้อย่างไร มีอะไรที่จะทำให้รู้

จิตเดี๋ยวนี้ สำหรับแต่ละคนเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ต้องรู้จักตัวเองตามความ เป็นจริงจึงจะเจริญสมถภาวนาได้ ถ้ายังแยกกุศลกับอกุศลไม่ออก เจริญสมถภาวนาไม่ได้

เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ต่างขั้นกันของขั้นสมถะกับขั้นวิปัสสนา คือ ปัญญาขั้นสมถะเพียงรู้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล และเจริญกุศลมากขึ้นได้เพราะรู้ว่าขณะไหน เป็นอกุศลเพราะอะไร แต่สำหรับวิปัสสนา ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ยังต้องรู้ด้วยว่า สภาพธรรมที่เป็นอกุศลก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เรา ธรรมที่เป็นกุศลก็เป็นธรรม ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เรา เพื่อที่จะละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพของกุศลและอกุศลว่า เป็นตัวตน นี่คือวิปัสสนา

แค่นี้ก็ยากแล้วสำหรับผู้ที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า เดี๋ยวนี้เองเป็นกุศลหรือ เป็นอกุศล ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ง่ายๆ สำหรับการเจริญสมถภาวนา ต้องเป็นปัญญา จริงๆ เพียงแต่ต่างขั้นกับวิปัสสนาเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ถ้ามีใครบอกว่า กำลังเจริญสมถะ เราก็สามารถทดสอบได้

สมถะคืออะไร ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ และจะรู้ได้อย่างไรว่าขณะนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าไม่รู้ ก็เจริญความสงบที่เป็นกุศลไม่ได้ เพราะความสงบต้องเป็นกุศล เป็นอกุศลไม่ได้

. มีบางคนเจริญสมถะและเห็นโน่นเห็นนี่ อย่างนี้ก็ไม่เชื่อหรอก แต่ ที่ยกขึ้นมาหมายถึงสมถะที่เดินไปตามแนว ตรงทาง

สุ. ก็ต้องสอบถามเท่านั้นว่า ในขณะนี้ รู้ได้อย่างไรว่าจิตเป็นกุศลหรือ เป็นอกุศล นี่เป็นจุดเริ่มต้นของสมถภาวนาที่ถูกต้อง คือ จะต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของกุศลและอกุศล กุศลจึงจะเจริญได้

. ถ้ารู้ว่ากุศลและอกุศลต่างกันอย่างไรแล้ว แต่ไม่สามารถเจริญสมถะได้ มีไหม

สุ. มี เพราะว่ายังไม่ได้ศึกษาอารมณ์ที่จะทำให้จิตสงบขึ้น เพียงแต่อ่าน แต่ไม่ได้เข้าใจในเหตุผลว่า เพราะอะไร และพิจารณาอย่างไรจากอารมณ์นั้นๆ จิตจึงสงบได้

เปิด  232
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565