แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1645

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๓๐


สุ. ขออนุโมทนา แสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการฟังพระธรรม คือ ต้องเป็นผู้ที่สำรวจตัวเองอยู่เสมอว่า เมื่อฟังแล้วได้ประโยชน์จริงๆ หรือเปล่า ถ้าฟังแล้วยังเป็นอกุศลมากมาย ยังคิดเหมือนเดิม ก็ไม่ชื่อว่าได้ประโยชน์จากพระธรรม แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมและเกิดกุศลจิตเพิ่มขึ้นในแต่ละทาง จึงเป็นผู้ที่ชื่อว่าได้ประโยชน์จากพระธรรม

. การเจริญเมตตาต้องมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ ใช่ไหม ในกรณีที่ ผู้มีพระคุณล่วงลับไปแล้ว และฝันว่าท่านมาขอส่วนบุญ เราก็เกิดเมตตาทำบุญทำทานไปให้ ลักษณะนี้ถือว่าเป็นเมตตาหรือเปล่า

สุ. เป็นเมตตาในการที่จะอุทิศส่วนกุศลให้ แต่ไม่ใช่เป็นการเจริญเมตตา กับบุคคลนั้นจนกระทั่งสามารถถึงอัปปนาสมาธิได้ เพราะว่าบุคคลนั้นไม่มีที่จะเป็นพื้นให้เมตตาเจริญถึงขั้นนั้น แต่การที่เราจะทำกุศลให้กับบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม ให้ทราบว่าในขณะนั้น อย่างทาน ถ้าไม่มีเมตตาก็คงจะไม่ให้ หรือแม้แต่การอุทิศ ส่วนกุศลก็คงจะไม่ให้

. อย่างกรณีที่เราศึกษามาว่า มี ๓๑ ภพภูมิ และเข้าใจว่า มีเปรต อสุรกาย สัตว์นรก การที่เราได้ทำบุญทำทานและอุทิศส่วนกุศลให้ ในลักษณะซึ่งอยู่คนละภพภูมิกับเรานี้ ผมเข้าใจว่าเป็นการเจริญเมตตาอย่างหนึ่ง แต่จะถือว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลไหม

สุ. ขณะนั้นจิตของเราเป็นเมตตาที่ให้ ซึ่งต้องเป็นอโทสเจตสิกที่เกิดกับจิต แต่ไม่สามารถเป็นการเจริญเมตตาพรหมวิหาร เพราะว่าบุคคลนั้นไม่มีที่จะทำให้พื้นฐานจิตของเรามั่นคง

คนที่เราพบเห็นในโลกนี้ที่เราจะเจริญเมตตา เราจะรู้ได้ว่าเราเจริญได้จริงๆ หรือเปล่า มีจิตที่เปี่ยมด้วยเมตตาเมื่อพบคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ หรือว่าคนในโลกนี้เราก็ไม่เมตตา แต่เราจะไปเมตตาโดยนึกถึงบุคคลซึ่งไม่ได้เผชิญหรือไม่ได้พบในโลกนี้ ที่จะให้เมตตาเจริญขึ้นได้จริงๆ ในการเจริญเมตตาพรหมวิหารที่จะถึงอัปปนาสมาธิ

กุศลจิตเกิดได้เวลาที่กระทำทานอุทิศส่วนกุศลให้ แต่ไม่ใช่การอบรมเจริญเมตตา เพราะว่าไม่ใช่บุคคลในโลกนี้ที่เราพบเราเห็น ถ้าเรายังคงโกรธ ไม่พอใจ ขัดเคืองใจกับคนในโลกนี้ที่เรายังเห็น ก็ไม่ต้องไปกล่าวถึงการที่เราจะมีเมตตากับบุคคลอื่นได้จริงๆ เพราะคนที่เราพบ เผชิญหน้าอยู่ เมตตาของเราก็ยังไม่มั่นคงพอ และ เราจะแผ่ขยายกระจายไปจนกระทั่งถึงสัตว์อื่น ภูมิอื่น ภพอื่น ก็เป็นแต่เพียงการคิด เพราะแม้บุคคลที่เราเห็นเราพบ เราก็ยังไม่สามารถที่จะมีเมตตาได้โดยทั่ว เอาแต่เพียงในโลกนี้ก่อน หรือเอาแต่เพียงภายในบ้าน และขยายออกไป กว้างออกไปๆ แต่ ต้องเริ่มจากคนที่เราพบปะ คือ ภายในบ้าน ในอาวาส ในที่อยู่อันเดียวกัน

ชอบทุกชีวิตในบ้านหรือเปล่า และจะไปเจริญเมตตาอย่างไร นึกถึงคนอื่นอย่างไร

เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานยังมีอะไรที่สงสัยไหม เพราะวิปัสสนาญาณที่ ๑ ย่อมจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าข้อปฏิบัตินั้นยังไม่ถูก ต้องเป็นผู้ที่อดทน มีชีวิตตามปกติ และอาศัยการฟังพระธรรม การเข้าใจพระธรรม การเข้าใจลักษณะของสิ่งที่สติจะระลึกเพิ่มขึ้น เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา เคยเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สติเกิด คือ ระลึก ศึกษา เพื่อที่จะรู้ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย เพราะว่าสภาพธรรมนี้เป็นแต่เพียงสิ่งหนึ่งซึ่งมีจริงที่ปรากฏขณะที่กระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น หลังจากนั้นแล้วมโนทวารก็คิดถึงรูปร่างสัณฐานต่างๆ ซึ่งถ้าไม่ละคลายการยึดมั่นในรูปร่างสัณฐาน จะทำให้มีความพอใจหรือไม่พอใจ และยึดมั่นในความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลเพิ่มขึ้น มีทั้งทิฏฐิวิปลาส สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาสในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ว่าเป็นตัวตน ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน

เพราะฉะนั้น การที่ปัญญาจะเจริญ ต้องเจริญขึ้นจากความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้นจริงๆ และ จะข้ามทางหนึ่งทางใดไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ทุกขณะเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมทั้งนั้น

สนทนาธรรมระหว่างไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย

เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๐

. ปกติจิตมักจะตกไปในอกุศล แม้แต่ในการเจริญเมตตา ทั้งๆ ที่เรา รู้โทษของโทสะหรือกิเลสแล้วก็ตาม แต่เมตตาก็ไม่เกิดขึ้น ถ้าจะมีวิธีหรือเรียก โยนิโสมนสิการก็ได้ เช่น เมตตาไม่เกิดขึ้น เราอาจจะน้อมใจหรือกระทำไว้ในใจว่า เขาก็อยู่ในวัยที่เหมือนกับเป็นมารดาของเราหรือเป็นพี่ของเรา ถ้าเราน้อมใจอย่างนี้แล้วอาจเมตตาได้ อย่างนี้จะเรียกว่าโยนิโสมนสิการได้ไหม

สุ. วิธีที่ง่ายที่สุด คือ ไม่ติดอยู่ที่ชื่อ จะเรียกอะไรก็ตามแต่ กุศลจิตเกิดขึ้นขณะใด หมายความว่าขณะนั้นเป็นการถูกต้อง เป็นการพิจารณาที่แยบคาย ไม่ต้องไปติดที่ชื่อว่าเป็นหรือไม่เป็น ใช่หรือไม่ใช่ แต่ขณะใดกุศลจิตเกิด ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นกิจของโยนิโสมนสิการซึ่งเกิดขึ้นกระทำกิจนั้น จึงเป็นกุศล

. แสดงว่าลักษณะที่เป็นโยนิโสมนสิการ...

สุ. ขณะที่กุศลจิตเกิดขณะใด เป็นโยนิโสมนสิการขณะนั้น

. ขณะที่เราพบสัตว์บุคคล ซึ่งถ้าไม่เจริญสติ เจริญเมตตา เมตตาก็ ไม่เกิด แต่เมื่อมีความรู้สึกอย่างนี้ เมตตาก็เกิดขึ้นได้

สุ. ขณะใดที่เป็นกุศล คิดอย่างนั้นเลย ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นอโยนิโสมนสิการ ไม่มีเราที่จะไปทำอะไรเลย

. แต่บางครั้งเมตตาเกิดได้ทันที

สุ. นั่นเป็นโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่เรา ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็น โยนิโสมนสิการ

ทองศรี ดิฉันขอสารภาพว่า ตัวเองมีกิเลสมาก

สุ. สำหรับทุกคนด้วย

ทองศรี ที่พยายามศึกษา ก็เป็นการเริ่มต้นมาก อาจจะเป็นชั้นอนุบาล แต่อย่างไรก็ดีคิดว่าอยากจะมองหาธรรม หรือวิธีการที่ค่อนข้างจะไม่ใช่ไปขั้น ปรมัตถ์อย่างคุณสมนึก หรือว่าศัพท์สูงๆ อย่างที่คุณธงชัยใช้ ดิฉันพยายามดูว่า เราจะใช้ธรรมในลักษณะของความรับผิดชอบที่เรายังต้องมีอยู่ เมื่อเรายังหลีกไม่พ้นจากความรับผิดชอบในชีวิตประจำวัน เราจะนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง กำลังมองหาทางอย่างนี้อยู่ จริงๆ แล้วเราสามารถจะนำมาใช้มากน้อยแค่ไหน นอกจากการพยายามรู้จักตัวเองอย่างที่เราพยายามกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ทราบว่าอย่างนี้จะเป็นคำถามหรือเปล่า

(… มีเสียงสนทนากัน แต่ได้ยินไม่ชัด)

สุ. คุณทองศรีชอบใคร

. ถ้าตอบให้ตรงที่สุด คือ ชอบตัวเอง

สุ. ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ดีหรือ และถ้าคนอื่นไม่ดีอย่างคุณทองศรี คุณทองศรีจะชอบไหม

. ต้องดูว่าเขาไม่ดีอย่างไร

สุ. และไม่ชอบความไม่ดีของคุณทองศรีเองหรือเปล่า

. ความไม่ดีของตนเองไม่ชอบแน่ แต่ยังมองเห็นความไม่ดีอันนั้น จะมองเห็นตัวเองค่อนข้างดีอยู่เสมอ

สุ. เพราะฉะนั้น เวลาที่รู้สึกว่ามีปัญหาเกิดขึ้น เป็นความผิดของคนอื่น หรือเป็นความผิดของเรา

. ทั้ง ๒ คน

สุ. อย่างนั้นก็แก้ได้

. ก็แก้ได้บ้าง ไม่ใช่แก้ไม่ได้เลยเท่าที่ปรากฏ จึงยังมีชีวิตอยู่มาได้ เพราะว่าพยายามเอาใจเขาใส่ใจเราอยู่มาก

สุ. นี่ก็เป็นการใช้ธรรมอยู่แล้ว คือ ไม่ใช่เห็นแต่ตัวเอง แต่ยังเห็นคนอื่นด้วยว่าเหมือนกับเรา เราอย่างไร ฉันใด เขาก็อย่างนั้น ฉันนั้น เวลาเราโกรธ กับ เวลาเขาโกรธก็เหมือนกัน และเวลาเขามีเมตตา กับเรามีเมตตาก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ธรรมอะไรที่เป็นสิ่งที่ดี ที่ควรจะเกิด

. บางครั้งก็คิดว่าให้อภัยกันได้ แต่ก็ยังเดือดร้อนอยู่ บางทีคิดว่าหายโกรธเขาแล้ว แต่เวลามีอะไรแว๊บมานิดหนึ่ง ทุกอย่างก็กลับมาเกือบเหมือนเดิม

สุ. รู้สึกว่าเรื่องใหญ่ของทุกชีวิต คือ เรื่องความโกรธ ความไม่พอใจ ซึ่งถ้าเราจะคิดให้ลึกลงไปอีกว่า ความโกรธเกิดขึ้นได้อย่างไร มาจากไหน เราก็อาจจะพบต้นตอที่ทำให้เราต้องโกรธบ่อยๆ ใช่ไหม และถ้าเรารู้จักต้นตอจริงๆ เราก็จะคลายความโกรธลงได้ เพราะฉะนั้น ต้องรู้สาเหตุของความโกรธว่า สาเหตุของความโกรธ อยู่ที่ไหน

. สาเหตุของความโกรธอาจจะทราบ แต่วิธีที่จะดับสาเหตุนั้น เป็นปัญหาที่อาจจะยาก

สุ. สาเหตุของความโกรธ คือ คุณทองศรีมีความพอใจอย่างใดอย่างหนึ่งและไม่ได้อย่างที่ต้องการ ที่บ้านอยากให้สะอาดทุกซอกทุกมุม ตื่นมาเจอฝุ่นนิดหนึ่ง ก็ขุ่นใจหน่อยแล้ว ห้ามไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น สาเหตุของความโกรธ ความไม่พอใจ คือ โลภะ ความที่เราต้องการให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างที่ต้องการ แต่ไม่เป็นอย่างนั้น ซึ่งรับรองได้ว่า ไม่มีวันที่จะเป็นอย่างที่คุณทองศรีต้องการตลอดชีวิต จึงยังต้องโกรธตลอดชีวิต เพียงแต่ว่าถ้ามีปัญญาเพิ่มขึ้น เข้าใจเพิ่มขึ้น ความโกรธนั้นจึงจะลดลงได้

เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับปัญญา และปัญญาจะเอามาจากไหน ใช่ไหม อยากได้ปัญญาแล้ว ใช่ไหม แต่ปัญญาของผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่มีทางที่จะรู้หรือเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรา รวมทั้งตัวเราเองด้วย นอกจากคนที่เห็นว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะ และธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ คือ พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นสรณะด้วย แต่ถ้ายังไม่ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้ว่า พระผู้มีพระภาคมีพระคุณอย่างยิ่งที่จะทำให้เราละคลายกิเลสทุกชนิดลงไปได้ แม้แต่ความโกรธหรือความไม่พอใจ ซึ่งเกิดจากความต้องการให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างที่ เราต้องการ ซึ่งโลกนี้จะไม่เป็นอย่างนั้น โลกไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของใคร โลกเป็นสภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นและดับไปตามลักษณะของธรรมแต่ละชนิด ใครก็ไปยับยั้งไม่ได้

คนที่ไม่ละเอียด ก็ยังคงเป็นคนที่ไม่ละเอียด คนที่ละเอียด ก็เป็นคนที่ละเอียด ตามการสะสม จะไปฝืน จะไปสลับกันก็ไม่ได้ ทุกอย่างเป็นธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกนึกคิดต่างๆ แต่ละขณะ ความสุขความทุกข์แต่ละขณะ ก็เป็นธรรม แต่ละชนิด

ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ว่า เป็นธรรมแต่ละชนิด เพียงเท่านี้ แต่คิดลงไปให้ลึกว่า ต้องทุกอย่างด้วย แม้แต่ความรู้สึกของเราเองก็เป็นแต่เพียงธรรมแต่ละชนิด จะทำให้คลายลงไปใช่ไหมว่า ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย เพราะว่าเป็น สภาพธรรมแต่ละอย่าง เราไม่ต้องเดือดร้อน เราไม่ต้องแบกโลก

. ฟังไปฟังมาดูเหมือนว่าเป็นของง่ายที่จะทำ หรือพูดอีกอย่าง คือ ยากมากที่จะทำ ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน ถ้าบอกว่าให้ถือ พระพุทธ พระธรรมเป็นสรณะ เราก็ถือเป็นสรณะอยู่แล้ว

สุ. เริ่มต้นจากการรู้ว่า เราไม่ได้รู้พระธรรม

. ไม่ได้รู้เลยหรือ

สุ. ใช่

. โง่สนิทหรือ ถ้าอย่างนั้น ขอทราบเดี๋ยวนี้เลยว่า พระธรรมเป็นอย่างไร

สุ. ใครรู้บ้างแล้ว กรุณาช่วยด้วย

นีน่า เป็นอย่างนั้นเสมอ แต่ก่อนคิดว่าเข้าใจแล้ว แต่หลังจากนั้นรู้ว่า ยังไม่เข้าใจดี เป็นคนที่เริ่มตลอดเวลา

. จริงๆ ก็พอเข้าใจ แต่อาจจะไม่ลึกซึ้งมาก ยอมรับ แต่ปัญหาของเรา ทุกวันนี้ คือ เรายังต้องรับผิดชอบในอะไรมากมาย

สุ. แน่นอน พระพุทธศาสนาเข้ากันได้กับชีวิตประจำวัน

. บางครั้ง ก็ไม่ถึงกับขัดแย้ง แต่เรายังต้องมีอะไรที่จะต้องทำอีกหลายๆ อย่าง

สุ. อย่างพระเจ้าพิมพิสาร มหาอำมาตย์ของแต่ละแคว้น แต่ละรัฐ ทุกคน ก็ยังทำงานเป็นปกติ เป็นพระโสดาบันก็ได้ และเป็นได้ถึงพระอนาคามี เป็น พระอรหันต์แล้วเท่านั้นจึงจะบวช เพราะว่าไม่มีกิจที่จะต้องมายุ่งเกี่ยวกับฆราวาสวิสัยอีกต่อไป เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนา ไม่ฝืน ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า ไม่ใช่ว่า ให้เราไปเปลี่ยนแปลงกลับหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ให้เราเริ่มรู้จักตัวของเราจริงๆ ซึ่งถ้าปราศจากพระธรรม เราไม่มีวันรู้จักตัวเราเอง สักนิดเดียวก็ไม่รู้จักว่าไม่มีเรา แต่มีอะไรที่กำลังยึดถือว่าเป็นเรา ต้องมีสภาพของจริงให้ยึดถือ เช่น เห็น มี ก็เป็น เราเห็น ได้ยิน มี จึงเป็นเราได้ยิน

วันหนึ่งๆ สิ่งที่เรายึดถือว่าเป็นของเราจะไม่พ้นจาก ๖ อย่าง หรือ ๖ ทาง คือ ทางตาเห็น เป็นเราเห็น ทางหูได้ยิน เป็นเราได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น เป็นเราได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส เป็นเราลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส เป็นเรากระทบสัมผัส ทางใจ คิดนึกเป็นสุขเป็นทุกข์นี่เรา คิดดู นอกจาก ๖ อย่างนี้แล้วมีอะไรอีก

ไม่ว่ากี่โลก ก็ไม่พ้น ๖ ถ้าคนตาบอดก็ลดลงไป คนหูหนวกก็ลดลงไป ทั้งตาบอดทั้งหูหนวกก็ต้องลดลงไป คือ ตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นจริง อย่างนั้น ไม่ได้สอนให้เราหมดโลภะวันนี้ เป็นไปไม่ได้ แต่ต้องหมดการยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นของเราหรือเป็นตัวตนก่อน ก่อนที่กิเลสอื่นๆ จะคลายลงไปได้ ต้องละความยึดมั่นในตัวตน เพราะตราบใดที่ยังมีเรา เราก็ต้องเห็นแก่ตัว เราต้อง มาก่อน เราต้องสำคัญ คิดดู ในชีวิตของเรา เรารักใครมาก มากเท่าเราหรือเปล่า ไม่มีทางเลย

เราอาจจะคิดว่า เรารักลูกมาก แต่ว่า ... ลูกของเรา ใช่ไหม ความรู้สึกของเรา ไม่พ้นจากเราไปได้เลย เราต้องรู้ว่า สิ่งที่มีจริง ทำไมพระพุทธเจ้าทรงจำแนกนามธรรมกับรูปธรรมออกเป็นขันธ์ ๕ ทั้งๆ ที่นามธรรมหมายถึงสภาพรู้ ไม่ใช่ชื่อ เป็นอาการรู้ ลักษณะรู้ ธาตุรู้ อย่างกำลังได้ยินเสียง ถามว่าได้ยินคืออะไร ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ตอบไม่ได้ เราก็บอกว่า ได้ยินเฉยๆ แต่ในทางธรรม ได้ยินเป็นธาตุรู้ เหมือน อากาศธาตุเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ธาตุแข็งก็แข็ง ธาตุไฟก็ร้อน แต่ธาตุรู้เกิดขึ้นทำกิจรู้

เพราะฉะนั้น อาการรู้เป็นธาตุชนิดหนึ่ง และกำลังได้ยินเสียง คือ กำลังรู้เสียง ที่เราบอกว่า ได้ยิน ได้ยิน หมายความว่า ธาตุรู้เสียงกำลังเกิดขึ้น จึงรู้เสียงนั้น ที่เราใช้คำว่า ได้ยิน หรือเห็นก็เหมือนกัน ก็เป็นธาตุรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา นามธาตุหรือนามธรรม คือ สภาพรู้ซึ่งเป็นของที่มีจริง และรูปธรรมเป็นของที่มีจริงเหมือนกัน แต่รูปไม่รู้อะไรเลย

นี่เพียง ๒ อย่าง ก็มาเหมารวมกันว่าเป็นเราไปหมด รูปก็เป็นเรา นามก็เป็นเรา แต่ปัญญาจะต้องค่อยๆ เกิดจากการฟัง และสติจะค่อยๆ ระลึกได้ จึงประจักษ์แจ้ง ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนทีละเล็กทีละน้อย ถ้าเราไม่ฟังเลย จะให้สติไประลึกอะไร ก็ระลึกไม่ถูก ปัญญาก็ไม่เกิด

ไปทำอะไรก็ตามแต่ ถ้าไม่ใช่การรู้สิ่งที่กำลังปรากฏชัดเจนอย่างนี้ นั่นไม่ใช่ คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ผู้ฟังเกิดปัญญา ของตัวเอง ถ้าไม่เกิดปัญญาของตัวเอง การฟังนั้นไม่มีประโยชน์

เปิด  254
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565