แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1653
สนทนาธรรมระหว่างไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย
เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๐
ถ. บางครั้ง สภาพจิตใจของคน ถ้าบอกว่า ไม่รู้เลย เขาจะค้านว่า ทำไมจะไม่รู้
สุ. ถ้าเขาเป็นผู้ที่ตรง เขาก็น่าจะอยากทราบว่าเขาไม่รู้อะไร ถ้าผู้อื่นสามารถบอกได้ เขาก็น่าที่จะพร้อมพิจารณาว่าเขาไม่รู้จริงอย่างนั้นไหม เขาต้องยอมรับความจริงก่อนว่า ไม่รู้จริงๆ และจะได้ค่อยๆ รู้ขึ้น
ถ้าเขาคิดว่า เขารู้แล้ว ใครจะไปให้เขารู้อีกก็ไม่ได้ แต่ถ้าเขาเริ่มรู้ว่า เขาไม่รู้ และเขาอยากรู้ไหม เมื่อไม่รู้ อยากจะรู้หรือเปล่า เมื่อไม่รู้และไม่อยากจะรู้ ก็ตามสบาย เพราะว่าเราก็ช่วยอะไรไม่ได้ แต่ถ้าไม่รู้และอยากจะรู้ ก็มีทางที่จะศึกษาให้รู้ขึ้น
ถ. ในการรู้ของแต่ละคน บางคนก็อยากจะรู้อย่างตรงไปตรงมา แต่บางคนการที่จะให้รู้นี่ ต้องค่อยๆ จูงให้รู้ทีละน้อย อย่างเรื่องของสติปัฏฐาน จะให้รู้ ก็รู้เพียงว่าได้สนทนากัน แต่จะให้รู้อย่างพิจารณาละเอียดเลย ทุกขณะเลย ก็ยัง ทำไม่ได้ อยากจะรู้อย่างนั้น อย่างละเอียด แต่ก็คิดว่า จะต้องใช้เวลาสั่งสมอบรม
สุ. แน่นอนที่สุด ถ้าเขาคิดว่าเขาสามารถรู้ได้โดยรวดเร็ว เขาก็เข้าใจผิด อย่างกำลังเห็น เพียงแต่จะให้รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ต่างกับสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่ก็ยากแล้ว และสิ่งที่ปรากฏทางตายังต้องไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เพราะเพียงแต่หลับตาก็ไม่มีแล้ว
เพราะฉะนั้น ความคิดนึกเกิดจากเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา และนึกถึงรูปร่างสัณฐาน เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ ซึ่งก็หมายความว่า เริ่มโลกของสมมติบัญญัติ เพราะว่าโลกของปรมัตถ์เป็นโลกที่ไม่ต้องใช้ชื่อ ไม่ต้องคิดคำ ไม่ต้องคิดเรื่อง สิ่งนั้นมีจริงๆ อย่างเห็น ไม่ต้องเรียกอะไรเลย แต่เวลามีเรื่องราวของสิ่งที่เห็น เป็นดอกกุหลาบ เป็นดอกกล้วยไม้ เป็นพาราณสี เป็นกรุงเดลลี นั่นคือโลกของ สมมติบัญญัติแล้ว
ถ้าตราบใดยังไม่แยกรู้ว่า โลกของปรมัตถ์เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ โลกของสมมติบัญญัติคือความคิดนึกต่อจากปรมัตถ์ที่ปรากฏ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ว่า การไม่มีตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ นั้น เพราะว่าเกิดแล้วดับ เหลือแต่ความคิดนึก
เหมือนอย่างไกรลาสเมื่อกี้ ขณะนี้อยู่ที่ไหนนอกจากคิด ไม่เห็น ไม่ได้ยิน เพราะฉะนั้น จึงรู้ว่า ปรมัตถธรรมเกิดดับ แต่เรื่องราวทั้งหลายไม่ได้เกิดดับ และจิตที่ คิดนึกเรื่องราวนั้นก็เกิดดับ ต้องละเอียดจริงๆ จึงจะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน แต่ละทาง ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ว่าหมดตัวตน เป็นพระโสดาบันกันเต็มบ้านเต็มเมือง
ถ. คล้ายๆ กับว่า เจริญสติทางตา ทางหู อยู่ตลอดเวลาทุกๆ ทวารทั้ง ๖
สุ. แน่นอน และความรู้ของตนเองจะเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัตตธรรมจริงๆ หมายความว่ารู้เฉพาะตัว เพราะว่าขณะนี้สติของใครจะเกิด คนอื่นรู้ไม่ได้ เหมือนกับว่าขณะนี้แต่ละคนคิดอะไร คนอื่นก็รู้ไม่ได้ และปัญญาของใครจะเจริญถึงขั้นรู้แจ้ง แทงตลอด คนอื่นก็รู้ไม่ได้
นี่เป็นเหตุที่พระผู้มีพระภาคผู้เดียวที่สามารถพยากรณ์ว่า ใครบรรลุ มรรคผลนิพพานขั้นไหน คนอื่นไม่สามารถรู้ได้ นั่งๆ กันอยู่อย่างนี้ ใครคิดอะไร สติของใครจะเกิด สติของใครจะไม่เกิด สติเกิดแล้วปัญญาของใครจะรู้มากรู้น้อย ก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้ นอกจากผู้นั้นเอง กับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือผู้ที่ มีปัญญาสามารถรู้วาระจิตของคนอื่นได้
ถ. ท่านอาจารย์วางแนวการปฏิบัติเฉพาะตามทวารทั้ง ๖ โดยการเจริญสติ หรือว่ามีประยุกต์เข้ามาในชีวิตประจำวันเป็นหลักการ เป็นขั้นตอนอะไรบ้าง อย่างไร
สุ. ไม่มีวิธีของดิฉันเอง พระธรรมทรงแสดงไว้อย่างไร ก็แสดงตาม ความเป็นจริงอย่างนั้น เพราะรู้แน่ว่าไม่มีทางอื่นเลย อย่างแข็งกำลังปรากฏ ได้ยินกำลังปรากฏ เห็นกำลังปรากฏ ถ้าสติไม่ระลึกก็ดับไปหมดแล้ว สิ่งที่ดับแล้ว เราจะตามไปพิสูจน์ว่าไม่ใช่เรา เกิดขึ้นและดับไปก็ไม่ได้ ต้องสิ่งไหนที่เกิดและปรากฏ สติระลึกขณะนั้นปรากฏว่าสิ่งนั้นดับไป จึงจะเป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งการเกิดดับ จริงๆ ที่ไม่ใช่ขั้นคิดนึก
ถ. ต้องระลึกให้ทัน
สุ. ไม่ใช่ระลึกให้ทัน แล้วแต่สติจะเกิด และค่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ เหมือนกับจับด้ามมีด
ถ. การเจริญสติถึงขั้นที่ว่า สติเจริญจนกระทั่งรู้เท่าทันแล้ว ถึงภาวะ นั้นแล้ว ถือว่าเป็นผู้ที่หมดจากกิเลสได้ไหม
สุ. หมายความถึงขั้นไหน
ถ. ถึงขั้นที่รู้เท่าทันหมด เวลาเห็นก็รู้สภาพที่รู้ และความจริงที่กำลังปรากฏ ก็สามารถรู้ว่าเป็นเพราะเหตุเพราะปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา รู้เท่าทันอย่างนี้
สุ. และเป็นอย่างไร
ถ. สภาวะนี้ จะถือว่าเป็นผู้หมดกิเลสได้ไหม
สุ. ถ้ายังไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน ดับกิเลสไม่ได้ ต่อให้ประจักษ์ว่าสภาพธรรมในขณะนี้กำลังเกิดดับ ก็ยังดับกิเลสไม่ได้ อย่างที่ดิฉันได้เรียนให้ทราบว่า ขั้นพิจารณา ทุกคนรู้ว่าขณะนี้ไม่ใช่ขณะเมื่อกี้นี้ ได้ยินคำนี้ ไม่ใช่ขณะที่ได้ยินคำก่อนนี้ ก็แสดงว่าสภาพธรรมเกิดดับ รู้อย่างนี้แล้วทำไมยังดับกิเลสไม่ได้ รู้ว่าเกิดดับ เข้าใจว่าเกิดดับ ยังดับกิเลสไม่ได้ฉันใด ต่อให้ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปๆ ก็ยังดับกิเลสไม่ได้ จนกว่าจะประจักษ์ลักษณะของนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมเดียวเท่านั้นที่ดับกิเลสได้
ถ. แต่เมื่อเจริญสติถึงขั้นที่เรียกว่า มีสติสมบูรณ์แล้ว
สุ. สมบูรณ์ขั้นไหน สมบูรณ์นี่ ขั้นพระโสดาบัน ๑๖ ญาณ พระสกทาคามีอีกกี่รอบ พระอนาคามีอีกเท่าไร พระพระอรหันต์อีกเท่าไร จะเอาสมบูรณ์ขั้นไหน ตอนไหน ตรงไหน
ถ. ต้องมีเป็นขั้นๆ อีก
สุ. แน่นอน ปัญญาขั้นการฟังก็ยังอ่อนมาก ฟังไปก็ค่อยๆ เติบโตมา ทีละน้อย เวลาสติเกิดก็ขั้นอ่อนมาก ถึงวิปัสสนาญาณแรกก็อ่อนทีเดียว ทั้งๆ ที่เป็นวิปัสสนาญาณ ที่ใช้คำว่า อ่อน คือ ยังไม่สามารถประหารกิเลสหรือทำอะไรได้เลย เหมือนตัดต้นไม้ใหญ่ ครั้งที่ ๑ ฟันไปก็เข้า ไม่ใช่ว่าไม่เข้า แต่ว่าเข้าแค่ไหน เฉือนผิวหรือว่าเข้าไปถึงแก่น
ถ. ฟันแรง ก็ถึงผิวก่อน
สุ. แน่นอน จนกว่าจะเข้าไปตัดต้นไม้นั้นได้ แต่ต้องอาศัยจากขั้นที่ ๑ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นอ่อน แต่ความจริงแล้ว สำหรับการอบรมแต่ละขั้นๆ จากการฟัง ก็ถือว่ายากพอสมควร แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังชื่อว่าอ่อน เพราะยังไม่ถึงขั้นที่ตัดแก่น
ถ. จะต้องเจริญไปให้จนถึงขั้นที่ตัดแก่น
สุ. แน่นอน จนกระทั่งประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน
ถ. รู้สึกว่า ต้องทำความเข้าใจ
สุ. แน่นอน เพราะฉะนั้น ไม่ศึกษาพระธรรม ไม่พิจารณาพระธรรม ไม่ฟังพระธรรมมากๆ แต่จะตื่นเต้นกับผล ประหลาดมากทีเดียวว่า ทำไมถึงเชื่อง่ายๆ
เวลามีคนบอกว่าเป็นวิปัสสนาญาณขั้นนั้นขั้นนี้ เป็นพระโสดาบัน ท่านผู้นี้ เป็นพระอรหันต์ เป็นพระธาตุอะไรต่ออะไรต่างๆ นี่ไม่ใช่เหตุ เหตุ คือ การอบรมเจริญปัญญาเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นที่มีสติกับหลงลืมสติต่างกันอย่างไร ถ้าไม่รู้ขั้นนี้ และบอกให้นั่ง นั่งทำอะไร นั่งแล้วรู้อะไร ก็ไม่ตรงกับความจริงที่เป็นสัจจธรรม ที่จะต้องรู้เห็นเดี๋ยวนี้ ได้ยินเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอน จะนิ่ง จะพูด จะคิด จะทำกิจการงาน ก็เป็นนามธรรมทั้งนั้น เป็นรูปธรรมทั้งนั้น ถ้าปัญญายัง ไม่สามารถรู้โดยทั่ว โดยตลอด จะไปดับความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้อย่างไร เพราะยึดไว้หมด ทุกนาม ทุกรูป
ถ. การนั่งบางครั้งทำให้สงบได้
สุ. สงบอย่างไร
ถ. หมายความว่า สตินี่เจริญอยู่อย่างเดียว เช่น การนั่งกำหนดลมหายใจ ก็สามารถใช้สติกำหนดที่ลมหายใจได้ สมมติว่าจะพิจารณาสิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏมากเหลือเกินนี่ ไม่อาจจะกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเจริญสติต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ แต่เมื่อนั่งเงียบๆ กำหนดได้อย่างหนึ่ง นี่เป็นหนทางที่จะทำให้สติเจริญได้มากกว่า เพราะถ้าพิจารณาตามประวัติของพระพุทธองค์ ช่วงที่พระองค์เสด็จมาประทับนั่งที่ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ในช่วงนั้นเป็นความสงบ เป็นความเงียบ บำเพ็ญเพียรอยู่แต่พระองค์เดียว และกำหนดจิตให้สงบ หมายความว่าได้บรรลุฌาน ตามประวัติกล่าวไว้อย่างนั้น ในการบรรลุฌาน ฌานมาจากไหน ก็มาจากความสงบก่อน ทำไมพระองค์ไม่ใช้สติปัฏฐานโดยตรง โดยการใช้สติกำหนดพิจารณาต้นโพธิ์ พิจารณาต้นไม้ พิจารณาลำคลองโดยตรง แสดงว่าการที่พระองค์ทรงนั่งนั้น ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะกำหนดจิตให้แน่วแน่ และตามประวัติบอกว่าบรรลุฌานแล้ว ก็ได้บรรลุญาณทั้ง ๓ นั่นหมายถึงว่า การนั่งนั้นก็น่าเป็นหนทางที่จะเจริญสติได้เช่นเดียวกัน
สุ. นั่นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และท่านพระสารีบุตรท่านเป็นพระโสดาบันขณะไหน เมื่อกี้พระคุณเจ้ากล่าวถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนนี้ขอกล่าวถึงพระอัครสาวกผู้เลิศด้วยปัญญา คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านเป็น พระโสดาบันขณะไหน
ถ. ได้ฟังพระอัสสชิกล่าว
สุ. ท่านไปนั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์และสงบ พิจารณาลมหายใจก่อนหรือเปล่า
ถ. ก็ไม่ได้พิจารณา
สุ. นั่นคือพระอัครสาวก และสำหรับคนสมัยนี้จะทำอย่างไหน ไม่ใช่ทั้ง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ทั้งพระอัครสาวกผู้เลิศทางปัญญา จะทำอย่างไหน ลองหาแบบ
ถ. ใช้ทั้ง ๒ อย่าง
สุ. ไม่ได้ ทำไมถึงกล่าวว่าไม่ได้ เพราะไม่ได้ทรงแสดงว่า ให้เอาแบบ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือท่านพระสารีบุตร แต่ทรงแสดงมหาสติปัฏฐานว่า ถ้าปัญญาของใครยังไม่สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างนี้ จะนั่งและคิดว่าสงบ จะพิจารณาอะไรอย่างไรๆ ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะว่าชีวิตต่างกัน พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุอย่างไร พระอัครสาวกบรรลุอย่างไร วิสาขามิคารมาตาบรรลุอย่างไร ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีบรรลุอย่างไร และพระภิกษุภิกษุณีอื่นๆ บรรลุอย่างไร ทำไมเราไม่คิดว่าเราเป็นใคร แต่เราอาจเอื้อมจะทำอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป ไม่คำนึงถึงพระอัครสาวกด้วย ซึ่งเราก็ไม่สามารถจะถึงแม้พระอัครสาวกอย่างท่านพระสารีบุตร และท่านก็ไม่ได้ไปนั่งทำอย่างพระพุทธเจ้า เพราะท่านไม่ได้เข้าใจผิดว่า ท่านต้องไปทำอย่างนั้น แต่คนสมัยนี้ที่จะไปทำอย่างนั้น เข้าใจถูกหรือเข้าใจผิด
ถ. แต่ก็ไม่ใช่เข้าใจผิด ใช่ไหม
สุ. ก็ท่านพระอัครสาวก ทำไมท่านไม่ทำอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ. คงเป็นเพราะการสั่งสมบารมีมาต่างกัน
สุ. และการสั่งสมของเราล่ะ จะเป็นอย่างใคร
ถ. ก็ต้องอยู่ที่เรา
สุ. ไม่ใช่อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน ใช่ไหม
ถ. แต่ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
สุ. อย่างท่านพระสารีบุตร ถ้าท่านไม่ปฏิบัติคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ไม่รู้ ท่านก็เป็นพระโสดาบันไม่ได้ เพราะฉะนั้น ท่านต้องทำตามคำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน แต่ท่านเป็นพระโสดาบัน ขณะไหน เมื่อไร ทั้งๆ ที่ท่านก็ต้องทำตามคำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และเราเป็นใคร เราทิ้งคนอื่นหมด จะมุ่งทำอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเข้าใจถูกหรือเราเข้าใจผิด
ถ. ที่พูดนี่ หมายถึงว่า เอาผลที่มองเห็น
สุ. และเหตุล่ะ ผลนั้นง่าย ดูพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูท่านพระสารีบุตร ดูท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี คฤหัสถ์ท่านหนึ่ง ท่านบรรลุความเป็นพระอนาคามีในขณะที่ท่านอยู่ในครัว แกงผักดองไหม้ ไฟลุกขึ้นติดโพลง ขณะนั้น ท่านเป็นพระอนาคามี
ถ. แสดงว่าท่านได้แผ้วถางทางไว้แล้ว นี่ประการหนึ่ง
สุ. และเราแผ้วหรือยัง เรายังไม่แผ้ว แต่เราจะทำตามคนที่แผ้วแล้ว และตอนที่ท่านแผ้วกันมา
ถ. เราก็รู้ตัวของเราว่า อยู่ขั้นนี้ ขั้นธรรมดา
สุ. ขั้นธรรมดา คือ ขั้นที่จะต้องแผ้วทาง ถ้าจะแผ้วทาง ก็ต้องดูช่วง ก่อนที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเจริญอย่างไร เราควรจะทำตัว อย่างนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะทำตามอย่างตอนที่ท่านบรรลุ เรายังไม่ได้แผ้วทางเลย เราก็ต้องทำเหมือนท่านตอนที่ท่านกำลังแผ้วทาง บารมี ๑๐ เรามีหรือยัง เมื่อเราไม่มี และเราไม่เจริญ เราก็จะไปทำอย่างโน้น ก็เป็นไปไม่ได้
ถ. มีตอนหนึ่งที่พูดเกี่ยวกับเรื่องจิต หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียรแล้ว อุปมา ๓ ข้อได้เกิดขึ้นกับพระพุทธองค์ คือ ตราบใดก็ตามที่สมณพราหมณ์มีความเพียรพยายาม แต่ตัวเองไม่ได้ออกจากกาม และใจก็ยินดีในกามด้วย บำเพ็ญเพียรเท่าไรก็ไม่สามารถบรรลุ เหมือนกับไม้ที่ชุ่มน้ำ กำลังแช่อยู่ในน้ำด้วย ในสมัยก่อนใช้ไม้สีไฟ ถ้าจะนำไม้นี้มาสีไฟ ไฟติดขึ้นมาไม่ได้ นี่อุปมาข้อที่ ๑
อุปมาข้อที่ ๒ สมณพราหมณ์เหล่าใดก็ตามที่ทำตัวออกจากโลกียวิสัยแล้ว แต่ใจยังติดอยู่ ใจยังข้องอยู่ ยังพอใจ ยังยินดี หากจะบำเพ็ญเพียรใช้เวลาเท่าไร ก็ตาม ก็ไม่สามารถบรรลุได้ เพราะใจยังข้องอยู่ เหมือนไม้สดแม้ไม่แช่ในน้ำ แต่ยัง สดอยู่ ก็ไม่สามารถสีให้เกิดไฟได้ การบำเพ็ญเพียรก็เปล่าประโยชน์
อุปมาข้อที่ ๓ การบำเพ็ญเพียรที่ทำตัวออกห่างโลกียวิสัยด้วยและใจก็ ไม่ข้องอยู่ด้วย ก็เหมือนไม้ที่แห้งและวางอยู่บนบก จึงสามารถสีให้เกิดไฟได้ง่าย เหมือนกับการบำเพ็ญเพียร
สุ. สำคัญที่สุด คือ วิธีทำให้ไม้แห้ง ทำอย่างไร เพราะว่าพุทธบริษัทมี ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาที่ครองเรือน ที่ไม่ครองเรือน ทั้ง ๔ บริษัทบรรลุ มรรคผลนิพพานเป็นจำนวนมาก โดยไม่ก้าวก่ายกันเลย คฤหัสถ์ก็บรรลุในเพศ ของคฤหัสถ์ บรรพชิตก็บรรลุในเพศของบรรพชิต เพราะฉะนั้น การบำเพ็ญเพียร ทำอย่างไร
ถ. ต้องไปตามหลักที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้
สุ. มหาสติปัฏฐานเป็นหนทางเอก เป็นหนทางเดียว นี่เป็นพระพุทธพจน์ ไม่เปลี่ยน เปลี่ยนไม่ได้เลย
ถ. แปลว่าเหมาะกับทุกคน ใช่ไหม
สุ. ใครก็ตามที่จะเจริญปัญญา เวลานี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ ขอให้พิจารณาถึงเหตุผลว่า ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะประจักษ์ การดับได้ไหม เมื่อไม่ประจักษ์การเกิดดับ จะละความยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ไหม
ถ. ถ้าหากว่ามหาสติปัฏฐานสูตรเป็นเอกอย่างเดียวแล้ว หลักธรรมอื่นๆ พระพุทธองค์ก็ไม่น่าจะบัญญัติไว้ บัญญัติเฉพาะมหาสติปัฏฐานสูตรอย่างเดียวก็พอ
สุ. พระธรรมเทศนาทั้งหมด ไม่พ้นจากมหาสติปัฏฐานสักคำเดียว แม้แต่คำว่า อนัตตา ก็ไม่พ้นจากสติปัฏฐาน เพราะถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึก จะเป็นอนัตตา ได้อย่างไร จะรู้ในความเป็นอนัตตาได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องโลภะ เรื่องโทสะ ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึก จะรู้ว่าสภาพนั้นเป็นโลภะไม่ใช่ตัวตน โทสะเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมด ไม่พ้นจากสติปัฏฐาน
ถ. ถ้าเน้นตรงนี้ ก็คงไม่มีข้อโต้แย้งอะไร
ศุ. ต่อไปขอเน้นเรื่องข้อประพฤติปฏิบัติ ถ้ามีหลายๆ ทาง จะนำไปสู่ ผลอย่างเดียวกันได้หรือไม่ ผมอยากจะขอความเข้าใจกับท่านสักเล็กน้อย
ถ. ก็ต้องมาแยกแยะว่า เป็นข้อปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์หรือไม่ หรือตามความคิดเห็นอย่างอื่น หรือความเข้าใจของคนอื่น
ศุ. อย่างการเจริญอานาปานสติ กับการเจริญสติปัฏฐานที่เป็นปกติ ให้รู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็อาจจะ มีความเห็นว่า เวลาเห็นทางตามากไป ไม่สามารถทำให้รู้ชัดรู้แจ้งไปทางใดทางหนึ่งได้ จึงกำหนดทีละอย่าง กับเป็นปกติ อย่างไหน …
ถ. กำหนดทีละอย่างนี่เป็นปกติหรือเปล่า
ศุ. นั่นซิ ผมก็อยากจะถาม
ถ. ในความเห็น คิดว่าเป็นปกติ
สุ. ตามความเป็นจริงแล้ว สติเกิดตามความต้องการไม่ได้ เหมือนได้ยิน จะให้ได้ยินเกิดตามความต้องการไม่ได้ ต้องตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ว่ามีตัวตนที่จะไปจับจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใด นี่เป็นความต่างกัน เพราะสัมมาสติ ต้องขณะนี้ ทางตาเห็น สติจะเกิดหรือไม่เกิดแล้วแต่เหตุปัจจัย ทางหูได้ยิน สติจะเกิดหรือไม่เกิดแล้วแต่เหตุปัจจัย จะต้องแทรกระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นของจริง ที่กำลังปรากฏ โดยไม่เลือก
ถ้าเป็นสัมมาสติ หมายความว่า เป็นอนัตตา เมื่อเป็นอนัตตาแล้ว สติเกิดขึ้นขณะใด สติระลึกทันทีขณะนั้น เพราะว่าเจตนาระลึกไม่ได้ ปัญญาก็ระลึกไม่ได้ สัญญาก็ระลึกไม่ได้ เวทนาก็ระลึกไม่ได้ เพราะไม่ใช่สติ ต่อเมื่อใดสภาพที่เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งคือสติเกิดขึ้นเท่านั้น จึงระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นคือลักษณะของสติซึ่ง เป็นอนัตตา
เมื่อสติเป็นอนัตตา สติเกิดขณะใด สติระลึกทันที เพราะฉะนั้น ถ้ามีคนไปแบ่ง ไปจด ไปจ้อง ไปจับให้สติระลึกตรงนั้นตรงนี้ ไม่สามารถเป็นสัมมาสติได้ เพราะถ้าเป็นสัมมาสติแล้ว เขาเกิดเอง เขาระลึกเอง