แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1654

สนทนาธรรมระหว่างไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย

เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๐


สุ. ดิฉันอยากจะให้สติระลึกที่หู หรือที่เสียง หรือที่ได้ยิน แต่ช่วยไม่ได้ ถ้าสติจะระลึกที่อ่อนหรือที่แข็ง เพราะว่าสติเป็นอนัตตา

. ทำไมไม่ได้

สุ. ไม่ได้ เพราะว่าสติเกิดขณะใด ขณะนั้นสติระลึกโดยสติเอง ได้ยินเกิดขึ้นขณะใด ได้ยินก็ได้ยินขณะนั้น ไม่มีใครไปว่าต้องได้ยินสิ่งนั้นสิ่งนี้ ฉันใด ได้ยินเกิดขึ้นเมื่อมีเสียงกระทบหู เสียงใดเป็นปัจจัยเกิดขึ้น ปรากฏ ได้ยินก็ ได้ยินเสียงนั้น ได้ยินจะไปได้ยินเสียงอื่นที่ไม่มากระทบไม่ได้ ได้ยินต้องได้ยินเสียงที่มากระทบ ฉันใด เมื่อ …

. ถ้าสัมมาสติกำหนดที่ลมหายใจ ลมหายใจก็มีอยู่แล้ว

สุ. มิได้ ทำไมท่านจะให้สติไประลึกที่นั่น ในเมื่อสติเป็นอนัตตา สติจะระลึกที่อื่นก็ย่อมได้ นั่นคือสัมมาสติ แต่ถ้าจะให้สติระลึกที่หนึ่ง นั่นไม่ใช่สัมมาสติ เพราะว่ามีความจงใจที่จะให้สติระลึกที่นั่น

. หมายความว่า ถ้าสิ่งที่มีอยู่แล้ว สติไม่สามารถจะระลึกได้

สุ. สติระลึกได้ เพราะเป็นสติ ไม่ใช่เป็นเรา ถ้าเป็นเรา เราก็จะเลือก ให้สติระลึกตรงนั้น ตรงนี้ นั่นคือเรา ไม่ใช่สัมมาสติ

. อย่างนี้ไม่ใช่เลือก หมายความว่าสิ่งที่มีอยู่แล้ว

สุ. สิ่งที่มีอยู่แล้ว เห็นก็มีอยู่ ได้ยินก็มีอยู่ ลมหายใจก็มีอยู่ อ่อนแข็งก็มีอยู่ รสก็มีอยู่ เจ็บก็มี คิดนึกก็มี มีตั้งหลายอย่าง ทำไมจะให้สติระลึกที่ลมหายใจ ถ้าไม่ใช่เป็นไปด้วยความต้องการ แต่ถ้าเป็นสัมมาสติเอง ไม่มีใครบังคับสัมมาสติได้ เพราะบอกแล้วว่า ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร สภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร จึงเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ใครจะไปสั่งสติ ให้ระลึกตรงนั้นตรงนี้ไม่ได้ ถ้าทำอย่างนั้น แปลว่าไม่รู้ในความเป็นอนัตตาของสติ

. ถ้าไม่ใช่คำว่า สั่ง บอกว่า เจริญสติที่ลมหายใจ ได้ไหม

สุ. ถ้าพูดว่า เจริญสติที่ลมหายใจ นั่นไม่ใช่ต้องการหรือ ระบุไปว่า เจริญสติที่ลมหายใจ ก็ระบุอยู่แล้วถึงความต้องการ ฉะนั้น เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องพิจารณาในเหตุในผลว่า นี่เป็นความต้องการหรือเปล่า ที่ให้อยู่ที่ลมหายใจ

. ก็เห็นด้วยที่ว่า สติกำหนดที่ …

สุ. สติ คือ สภาพที่ระลึกได้ ระลึกรู้ที่ลักษณะ โดยสติเอง ไม่ใช่โดยเรา ไปให้รู้ที่ลมหายใจ เพราะฉะนั้น สติจะระลึกที่ไหน เราไม่มีทางไปรู้ล่วงหน้าได้เลย เหมือนได้ยิน จะได้ยินเสียงอะไร เราก็ไม่รู้ล่วงหน้า เราไม่อยากได้ยินเสียงนี้เลย เสียงนี้ไม่ ...

. ก็ไม่เป็นสติน่ะซิ

สุ. ไม่ได้ ล่วงหน้าไม่ได้ สภาพธรรมต้องเกิดแล้วปรากฏ สติจึงระลึกได้ สติจะไประลึกสิ่งที่ยังไม่ปรากฏไม่ได้ เพียงนิดเดียวก็ผิดได้ เขวได้ ถ้าไม่สอบกับเหตุผลให้ตรงตามความเป็นจริงว่า เข้าใจคำว่าอนัตตาแค่ไหน และวันไหนจะประจักษ์จริงๆ ว่าเป็นอนัตตา ถ้าไม่ได้ดำเนินทางนี้จริงๆ ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ตั้งแต่ต้น

. ถ้าอย่างนั้น คำว่า พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ก็เป็นสภาพแค่นึกคิดอย่างเดียว ใช่ไหม

สุ. ขณะที่ระลึกถึงพระพุทธคุณ อย่างกำลังฟังพระธรรม และเกิดความเข้าใจ ก็รู้ได้ว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้ ไม่มีใครชี้หนทางที่จะทำให้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นอนัตตา นี่เป็นพุทธานุสสติ

. แต่ว่าเป็นสติขั้นนึกคิด ไม่ใช่สติขั้นปัญญา

สุ. แน่นอน ถ้าเป็นสติขั้นสติปัฏฐาน ต้องรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ๒ อย่างนี้เท่านั้น จะเปลี่ยนจากนี้ไปไม่ได้เลย

. และพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ มีประโยชน์ไหม

สุ. พุทธานุสสติ เป็นกุศล แล้วแต่ว่าเป็นกุศลขั้นไหน ขั้นทำให้จิตสงบ หรือขั้นที่สติปัฏฐานระลึกว่า แม้ขณะที่กำลังระลึกถึงพระคุณ ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เรา สุดยอดของพระธรรมเทศนา คือ สติปัฏฐาน จึงจะดับกิเลสได้

. อานาปานสติก็น่าจะเป็นกุศล เพราะว่าทำให้เกิดมีสติ

สุ. ท่านจะเอาขั้นสมถะ หรือท่านจะเอาขั้นวิปัสสนา

. อันดับแรกต้องขั้นสมถะก่อน

สุ. ทำไมต้องเป็นอันดับแรก

. เพราะว่าในการพิจารณา …

สุ. ถ้าท่านอบรมเจริญสมถะ จุดประสงค์คือจิตสงบ แต่ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมว่าไม่ใช่ตัวตน นั่นคือสมถภาวนา มีก่อนการตรัสรู้ของ พระผู้มีพระภาค ท่านอาฬารดาบส ท่านอุทกดาบส ท่านก็เจริญจนถึงอรูปฌานได้ แต่ท่านไม่ได้แสดงหนทางที่จะทำให้บรรลุความเป็นพระโสดาบัน ดับกิเลสได้

. แต่การเจริญอย่างนั้น ก็หมายถึงว่า เป็นผู้สั่งสมปัญญา

สุ. ขั้นสมถะ ไม่ใช่ขั้นวิปัสสนา เพราะฉะนั้น อาฬารดาบสตอนนี้ก็ยังอยู่บนโน้น ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน ในเมื่อคนอื่นเขาเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์กันมากมายนับไม่ถ้วน

. แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดว่า ทำไมพระองค์จึงนึกถึงอาฬารดาบสและ อุทกดาบสก่อน

สุ. เพราะรู้ว่าท่านทั้งสองเป็นผู้มีปัญญา แต่ไม่ใช่ปัญญาขั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

. แต่เป็นปัญญาเพราะการสั่งสมสมถะ ใช่ไหม

สุ. วิปัสสนาท่านก็ต้องสั่งสมมาแล้ว ถ้าไม่สั่งสมมาจะไม่เห็นว่า อินทรีย์ ของสัตว์ต่างกัน ต้องเป็นผู้ที่มีธุลีในดวงตาน้อย มีกิเลสเบาบาง

. ถ้าสะสมมาแล้ว ท่านก็น่าจะรู้เอง

สุ. ไม่ได้ ปัญญาของการสะสมมี ๑. บรรลุถึงการเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ขั้นสูงสุด ๒. บรรลุความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ขั้นรองลงมา ๓. บรรลุขั้นเป็นสาวก ซึ่งตามลำดับ คือ ขั้นอัครสาวก มหาสาวก สาวกธรรมดา

. ถือเป็นวิปัสสนาธรรมดา

สุ. ปัญญาต่างขั้นกัน เพราะฉะนั้น อาฬารดาบสท่านสะสมปัญญา ขั้นไหนมา ท่านไม่ได้สะสมปัญญาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน

. ก็อาจารย์บอกว่ามีวิปัสสนาอยู่ด้วย

สุ. ท่านต้องสะสมวิปัสสนามาแล้ว อย่างพระพุทธเจ้าตอนที่เป็น โชติปาลมาณพ ในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านสามารถบรรลุความเป็น พระอรหันต์ได้ แต่เนื่องจากท่านสะสมบารมีที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจึงไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ในชาตินั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า เป็นคนโง่ เป็นคน เซ่อเซอะ และปรารถนาความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นานๆ เข้า อยู่ดีๆ วันดีคืนดีก็เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่ได้ฟังพระธรรม โดยไม่ได้เป็น พหูสูต โดยไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ไม่เป็นเช่นนั้นเลย จะต้องบำเพ็ญบารมีพร้อม จึงจะบรรลุได้

. แสดงว่าในด้านการบำเพ็ญสติ จะต้องใช้วิปัสสนาพิจารณา

สุ. สติปัฏฐาน เป็นการเจริญวิปัสสนา เพราะว่าสติปัฏฐานเป็นขั้นต้น เป็นเหตุ วิปัสสนาเป็นผล ถ้าสติไม่ระลึก ปัญญาที่จะรู้แจ้งก็เกิดไม่ได้ วิปัสสนา คือปัญญาขั้นประจักษ์

. คิดว่าน่าจะเท่ากัน สติเป็นเบื้องต้น

สุ. หมายความว่า สติต้องระลึกที่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่เป็นเบื้องต้นอย่างขั้นทาน

. ต้องระลึกถึงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

สุ. แน่นอนที่สุด ไม่อย่างนั้นก็ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไม่ได้ ทั้งๆ ที่กำลังเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมก็ไม่รู้

. อานาปานสติ ก็น่าจะประจักษ์ในขั้นที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ได้เหมือนกัน

สุ. ขั้นไหน ถ้าคิดถึงคนที่เขากำหนดลมหายใจว่าเขาทำอย่างไร เขาจะเห็นความเป็นอนัตตาของสติไหม

. ในเมื่อเขากำหนดลมหายใจ

สุ. จะเห็นความเป็นอนัตตาของสติไหมว่า สติไม่มีใครบังคับบัญชาได้ สติจะระลึกที่ได้ยินก็ได้ สติจะระลึกที่เห็นก็ได้ นั่นคือสัมมาสติ ในเมื่อเขามีความต้องการให้ตั้งมั่นอยู่ที่ลมหายใจ เป็นลักษณะของความต้องการ หรือเป็นลักษณะของปัญญาที่รู้ว่า สติเป็นอนัตตา

. แน่นอนว่า ยังไม่ถึงขั้นกำหนดที่เรียกว่าความเป็นอนัตตา

สุ. และเมื่อไรจะกำหนด

. ในขณะต่อมา

สุ. ขณะไหน ต่อมาขณะไหน ขณะต่อมาอย่างไรก็ไม่ได้ เพราะเอาไปตั้งไว้เสียแนบแน่นแล้ว ถอนไม่ออก ตั้งอยู่ที่นั่นที่เดียว จะเป็นอนัตตาได้อย่างไร

. เมื่อตั้งอยู่ตรงนั้นได้ ก็สามารถที่จะมองเห็นได้ว่า นั่นเป็นอนัตตาได้

สุ. และเห็นขณะนี้ เขาจะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นอนัตตา ได้ยินขณะนี้ เขาจะรู้ได้อย่างไรว่า ไม่ใช่ตัวตน

. ก็อยู่ที่เขา เขาจะรู้

สุ. อยู่อย่างไร ในเมื่อเขาไปอยู่ที่ลมหายใจ

. ก่อนที่จะกำหนดลมหายใจ ก็เรียนรู้มาแล้ว

สุ. มิได้ เรียนรู้ไม่ได้ ต้องเป็นสติที่ระลึก ขั้นระลึก ไม่ใช่ขั้นรู้จากการฟัง สัจจญาณคืออะไร เขาก็ไม่รู้ว่า คือ กำลังเห็นเป็นสัจจญาณ กำลังได้ยินเป็น สัจจญาณ เพราะเขาเอาไปตั้งที่ลมหายใจ แสดงว่าสัจจญาณของเขาไม่มี

. น่าจะมี

สุ. ถ้ามี ก็ต้องเห็นเป็นของจริง เป็นสัจจญาณ ถ้ารู้จริงๆ ว่า ปัญญาจะต้องประจักษ์การเกิดดับของเห็น เพราะฉะนั้น สติจะต้องระลึกที่ทางตา ที่กำลังเห็น จึงจะประจักษ์ได้ ถ้ารู้ว่าได้ยินเป็นสัจจธรรมกำลังเกิดดับ ที่จะประจักษ์ได้ ก็เพราะสติระลึก ถ้ารู้อย่างนี้ สติก็ระลึกที่ได้ยินจนกว่าจะประจักษ์ได้ ถ้ารู้จริงอย่างนี้ ข้อปฏิบัติก็ต้องตรงกัน

. ถ้าจากทางสัมผัส

สุ. และทางตา ทางหูล่ะ

. ก็ปิดไว้

สุ. ปิดไว้ เมื่อไรจะรู้ได้

. ตอนเปิด

สุ. เปิดเมื่อไร

. เปิดตอนที่ไม่ได้กำหนดที่ลมหายใจ

สุ. ไม่ได้ ถ้าไม่ได้กำหนด และปัญญาจะไปรู้ทางตา ไม่มีทางเป็นไปได้เลย ถ้าสติไม่ระลึก อย่างไรๆ ปัญญาจะรู้ รู้ไม่ได้แน่ รู้ได้เพียงขั้นการฟัง ขั้นประจักษ์แจ้งมีไม่ได้เลย

. ที่เข้าใจ หมายความว่า เอาสติไป …

สุ. ไม่ใช่เอาสติ หมายความว่า ผู้นั้นสติเกิด

. เกิดเฉพาะตรงนั้นอย่างเดียว

สุ. ไม่ได้ ไปบังคับสติ ไปทำอะไรสติไม่ได้เลย ต้องมีสัจจญาณขั้นต้น คือ รู้ว่า ปัญญารู้ว่าอะไรเป็นสัจจธรรม กำลังเห็นเป็นของจริงหรือเปล่า นี่ต้องรู้ การเห็นเกิดขึ้นและดับไปหรือเปล่า นี่ต้องพิจารณา ถ้าการเห็นเป็นของจริงกำลัง เกิดดับ ถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ จะเป็นปัจจัยให้สติระลึกขณะที่กำลังเห็น นี่คือความสัมพันธ์กันระหว่างสัจจญาณกับกิจจญาณ ไม่ใช่ว่ารู้อย่างนี้แล้วไปทำอย่างอื่น นั่นไม่ใช่ ถ้าเป็นอย่างนั้นไม่สัมพันธ์กันเลยระหว่างสัจจญาณกับกิจจญาณ ไม่ใช่เป็นผู้ตรง

ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้เรื่องของทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในพระไตรปิฎกจะไม่มีเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเลย ถ้าตรวจดูในพระไตรปิฎกทั้งหมด จะไม่พ้นจากเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะว่าเป็นทางที่จะรู้สิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ แต่เมื่อปัญญาไม่เกิด ก็ยึดถือ สภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา

ต้องให้ตรง เมื่อปัญญารู้อย่างนี้ ขั้นฟัง ขั้นเข้าใจ สติก็ต้องรู้ตามขั้นที่ได้เข้าใจแล้ว คือ เมื่อรู้ว่าเห็นเป็นสัจจธรรมเกิดดับ สติจะต้องระลึกขณะที่กำลังเห็น จนกว่าจะประจักษ์การเกิดดับ เมื่อรู้ว่าได้ยินเป็นสัจจธรรม เป็นของจริง เคยยึดถือว่าเป็นเราได้ยิน เป็นความไม่รู้ เป็นความยึดถือ เป็นตัวสักกายทิฏฐิ การที่จะละให้หมดไปได้ ก็ต้องสติระลึกและพิจารณาศึกษาจนประจักษ์การเกิดดับของได้ยินกับเสียง นี่คือ ข้อปฏิบัติที่ตรง หมายความว่าสัจจญาณรู้อย่างไร กิจจญาณก็ปฏิบัติเพื่อประจักษ์แจ้งอย่างนั้น ไม่มีความคลาดเคลื่อนเลย

. สัจจญาณหมายถึงอะไร

สุ. การรู้จริงๆ ว่า อะไรเป็นสัจจธรรม อะไรเป็นอริยสัจจธรรม การเห็นมี เกิดดับ ถ้าปัญญาไม่ประจักษ์แจ้งเป็นพระอริยบุคคลไม่ได้ เพราะว่ายังยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นเราเห็น การได้ยินมีจริง ถ้าสติไม่ระลึก ปัญญาไม่เจริญ ไม่ประจักษ์แจ้งว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดดับ ถ้าไม่ประจักษ์แจ้งก็เป็น พระอริยบุคคลไม่ได้ ดับการยึดถือได้ยินว่าเป็นเราไม่ได้

เพราะฉะนั้น สัจจญาณกับกิจจญาณต้องตรงกัน และกตญาณก็ต้องตรงด้วย คือ สติระลึกที่ไหน ประจักษ์การเกิดดับที่นั่น ไม่ใช่สติระลึกที่นี่ ไปประจักษ์การ เกิดดับที่โน่น ทางโน้น ไม่ได้ ถ้าสติระลึกที่ลมหายใจและจะไปประจักษ์การเห็น ว่าเกิดดับ เป็นไปไม่ได้ ไม่ตรงกัน

ถ้าใครผิดสักนิดหนึ่ง หมายความว่าข้อปฏิบัติผิดแล้ว คลาดไปแล้ว นิดหนึ่ง ก็ผิดไปแล้ว เพราะฉะนั้น จึงมีสีลัพพตปรามาสกายคันถะ ผู้ที่จะดับได้ คือ พระโสดาบัน ตราบใดยังไม่ถึงความเป็นพระโสดาบัน โลภะก็ดึงไปนิดหนึ่งได้ เขวไปเรื่อยๆ ได้ทีละเล็กทีละน้อย มากหรือน้อยแล้วแต่การพิจารณาในเหตุผลของผู้นั้น

. คล้ายๆ กับว่า ต้องสะสมอบรม เพราะว่า

สุ. ตั้งแต่ขั้นฟัง ฟังแล้วยังต้องพิจารณา ยังต้องยึดถือในหลักเหตุผล ที่ถูกต้อง อย่างสัจจธรรมคืออะไร

ภาษาบาลีใช้คำว่า สัจจะ คือ จริง ธรรม คือ สิ่งที่เป็นสภาพธรรม ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น สัจจธรรม ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย แต่เป็นของจริงที่มีปรากฏให้พิสูจน์ได้ทุกขณะ

เห็นกำลังมี เป็นสัจจธรรมหรือเปล่า เป็นของจริงหรือเปล่า ใครบอกว่าไม่จริง คนนั้นพูดถูกหรือพูดผิด เห็นเกิดขึ้นและดับไปจริงหรือเปล่า ใครบอกว่าเห็นไม่ดับเลย พูดถูกหรือพูดผิด ค่อยๆ พิจารณาไปจนกระทั่งสติระลึกตรงลักษณะสภาพธรรมนั้นๆ จึงจะเป็นกิจจญาณ ซึ่งจะต้องสัมพันธ์กัน และระลึกไปจนกว่ากตญาณ คือ การประจักษ์แจ้งเกิดขึ้น เหตุกับผลต้องตรงกันทุกขั้น

ผู้ฟัง เวลานี้ สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้ายังเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ กับคำว่า สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมเปรรูปธรรม มีลักษณะอย่างไร เพราะว่าทางตา เราเห็น มักจะเห็นเป็นวัตถุ เช่น เห็นแก้ว เห็นไมโครโฟน ก็ยังไม่ใช่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น เห็นอย่างไรจึงจะกล่าวว่า เป็นการเห็นที่ตรงตามลักษณะ

ทางตาเห็น จะต้องมีลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ทางหูก็ต้องมี ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ในที่สุดทั้ง ๖ ทาง จนไม่สงสัย ตรงนี้เป็นสิ่งที่ยากมากที่สุด การจะเห็นอย่างนั้นได้ จะต้องมีสภาพธรรมอะไรเป็นเครื่องประกอบ คือ สตินั่นเอง ถ้าไม่ใช่สติ จะเห็นอย่างนั้นได้หรือเปล่า

นี่เป็นจุดที่จะต้องเข้าใจ เพียงแค่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แค่นี้เท่านั้น แต่ไม่ง่ายเลยที่เราจะพูดถึงเรื่องการมีสติ หรือแม้จะกล่าวว่า ขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ แม้ ๒ คำนี้จะดูเหมือนว่าไม่ยาก แต่จริงๆ แล้ว ยากมาก เพราะว่าสติจะต้องมีลักษณะที่ระลึก ถ้ายังเห็นอย่างนี้ ก็แสดงว่าสติไม่เกิด ถ้าไม่เกิดก็ยังเป็นเหมือนอย่างเดิม คือ เห็นสิ่งที่เป็นบัญญัติหรือสมมติ ยังไม่เห็นสิ่งที่เป็นปรมัตถ์ หรือเห็นสิ่งที่เป็นของจริง แต่ก็ต้องเห็นก่อนตามความเป็นจริง จะกล่าวว่า ไม่เห็นไม่ได้ ต้องเห็นก่อน จึงจะรู้ว่าเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตรงนี้ ตรงที่เห็น ที่จะเป็นลักษณะเป็นรูปเป็นนามได้ ไม่ทราบว่าผมอธิบายถูกหรือไม่

สุ. ข้อสำคัญประการหนึ่ง ที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมแน่นอนที่สุด คือ การไปพยายามทำให้พระพุทธศาสนาขั้นสติปัฏฐานง่าย ซึ่งจะต้องผิดมาก นี่เป็นข้อที่จะทำให้เสื่อมในการปฏิบัติ เพราะไปทำให้ง่าย แต่ความจริง คิดดู จะง่ายหรือจะยากในการที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตนในขณะที่กำลังเห็น ทั้งเห็นและสิ่งที่ปรากฏ ลักษณะอย่างไรจึงไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเคยเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ มาตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย และเมื่อไรปัญญาจะสามารถแยกลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนออกจากสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตนได้

อย่างคำถามบางอย่าง อาจจะสะกิดใจ อย่างที่ถามว่า จับสีได้ไหม

. จับสีไม่ได้

สุ. เพราะอะไร

. เพราะเป็นเรื่องของตาที่จะมองเห็น

สุ. เพราะฉะนั้น เวลาจับ จับอะไร

. ก็จับวัตถุที่สัมผัสทางกาย

สุ. นั่นซิ อะไร กระทบสัมผัสอะไร เวลากระทบสัมผัส ที่จับนี่ จับอะไร

. เป็นความรู้สึก หรือว่าเป็นการจับ จับโต๊ะ

สุ. จับโต๊ะนี่ไม่ถูกแล้ว แม้แต่สิ่งง่ายๆ ธรรมดา เราก็อาจจะคิดว่าทำให้พระพุทธศาสนาง่าย แต่ไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามที่ทรงตรัสรู้และ ทรงแสดง อย่างสีนี่ จับอย่างไรก็จับไม่ได้ เพราะว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เมื่อสี จับไม่ได้ จับอะไรได้ นี่มาถึงอีกขั้นหนึ่งที่จะให้รู้ว่า เราเข้าใจจริงๆ หรือเราเพียงแต่ พูดตาม คิดตามเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าจับสีไม่ได้ จับอะไรได้ กระทบสัมผัสอะไร

. สัมผัสสิ่งที่รู้ทางกาย

สุ. นั่นซิ อะไรปรากฏให้รู้ได้ทางกาย

. ความอ่อน แข็ง เย็น ร้อน

สุ. แน่นอน เพราะฉะนั้น ที่ตัวนี่มีแต่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ซึ่งถ้ากระทบสัมผัสเมื่อไร สติปัฏฐานสามารถที่จะรู้ความจริงในสิ่งนั้นได้ สภาพธรรมมีอยู่ที่ตัวตลอด เพียงแต่ว่าสติจะเกิดระลึกหรือไม่ระลึก ถ้าไม่ระลึก ก็ไม่รู้ความจริงว่าไม่ใช่เรา อ่อนแข็งนี่หรือเรา นี่ก็อ่อน นี่ก็แข็งเหมือนๆ กัน ทำไมยึดถืออันนี้ว่าเป็นเรา ถ้าตัดแขนออกไปไว้ข้างนอก ทำไมไม่ไปตามคิดว่านั่นเรา แต่เวลารวมกันอยู่ตรงนี้ก็เกิดยึดถือว่าเป็นเรา หรือของเรา เพราะว่าหลงลืมสติ ไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมของสภาพธรรมนั้นๆ เลย

เปิด  250
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565