แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1655

สนทนาธรรมระหว่างไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย

เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๐


สุ. อีกคำถามหนึ่งซึ่งอาจจะตลก ขันๆ กรุณาให้อภัยด้วย คือถามว่า เวลานี้ท่านมีฟันไหม

. มี

สุ. ท่านทราบเมื่อไรว่าท่านมีฟัน

. เพราะว่าตอนเช้าก็ต้องแปรงฟัน

สุ. เดี๋ยวนี้ ท่านมีไหม

. ยังมองไม่เห็น

สุ. แล้วมีไหม

. มี

สุ. ทั้งๆ ที่ไม่เห็น ยังว่ามี เห็นไหม ซึ่งความจริงกระทบแข็ง ถ้าเป็นปรมัตถธรรมจริงๆ คือ แข็ง ไม่ใช่ฟัน เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ทรงแสดงไว้ละเอียดอย่างไร เราก็เมินเฉย ต่อให้บอกว่าไม่มีอะไรนอกจากดิน น้ำ ไฟ ลม เราก็เมินเฉยอีก แต่จริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้น และต่อให้ทรงแสดงว่า เกิดดับอย่างรวดเร็ว คือ ระหว่างรูปทางตาที่ปรากฏ กับ เสียงทางหูที่ปรากฏ ขณะใดที่เสียงปรากฏขณะนั้นรูปทางตาต้องดับ ไม่ปรากฏเลย และขณะใดที่รูปทางตาปรากฏ เสียงในขณะนี้จะปรากฏซ้อนกันไม่ได้เลย

นี่คือการเกิดดับอย่างรวดเร็วที่สุดของรูป เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่อย่างละเอียดในทุกกลุ่มของรูป นี่เป็นเหตุที่ทำให้สามารถแตกย่อยร่างนี้ออกได้อย่างละเอียดที่สุด เพราะว่ามีอากาศธาตุคั่นอยู่

เหมือนกับเรือนหลังหนึ่ง ทีแรกก็ไม่มีอะไร มีแต่อากาศ เมื่อเอาอิฐ เอาไม้ มาก่อ เอาเถาวัลย์มาพันเข้า ก็กลายเป็นบ้าน มีหน้าต่าง มีประตู ฉันใด อากาศธาตุก็อาศัยมหาภูตรูปเกิดเป็นกลุ่มๆ รวมกันก็ทำให้ยึดถือว่าทั้งก้อนทั้งแท่งนี่ทึบ แต่ ความจริงแล้ว ทุกกลุ่มทยอยกันเกิดและทยอยกันดับเร็วที่สุด นี่เป็นเหตุที่ขณะใด ที่รูปใดไม่ปรากฏ รูปนั้นดับแล้ว

เพราะฉะนั้น ท่านไม่ได้รู้สึกจริงๆ เลยว่า ท่านมีหลัง ท่านมีข้อศอก ท่านมีใบหู ไม่ได้รู้สึก แต่ถ้ากระทบสัมผัส มีแข็งตรงนี้ และจำได้ว่าเป็นหู แต่เวลาไม่กระทบสัมผัส อยู่ที่ไหน หายไปไหน เกิดแล้วดับแล้วๆ ตลอดเวลา

. ช่วยอธิบาย ระหว่างเสียงที่ได้ยิน กับสิ่งที่ปรากฏทางตา

สุ. รูปอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ทรงแสดงวิถีจิตไว้อย่างละเอียดว่า ทางตาจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะไปแล้วก่อนที่จะมีการได้ยินทางหู เวลาที่เสียงปรากฏ แสดงว่ารูปทางตาปรากฏไม่ได้เลย

. ยกตัวอย่างได้ไหม

สุ. ยาก เพราะว่าสลับกันเร็วมาก จนกระทั่งเหมือนโลกนี้หยุดนิ่ง ไม่มีการเกิดดับเลย ความรวดเร็วเป็นอย่างนั้น เหมือนกับนกอยู่ที่กระดาษใบหนึ่งและกรงอยู่ที่กระดาษอีกใบหนึ่ง หมุนเร็วๆ เข้า นกก็อยู่ในกรง ซึ่งความจริงนกไม่ได้อยู่ในกรงเลย เพราะฉะนั้น ตากับหูก็คนละเรื่อง คนละเหตุปัจจัย เกิดพร้อมกันไม่ได้ ปรากฏ พร้อมกันไม่ได้ด้วย แต่ความรวดเร็วทำให้ปรากฏเหมือนพร้อมกัน

นี่เป็นความไม่รู้ของคนที่ถ้าไม่อาศัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีทางใดเลยที่สัตว์โลกจะพ้นจากความมืดบอดของอวิชชา คือ เกิดมาก็ไม่รู้ความจริง และก็ตายโดยที่ไม่ทันได้ฟังพระธรรม หรือได้ฟังพระธรรมบ้าง แต่ก็น้อยมาก ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมและก็ตาย ก็ต้องเกิดไปหลายชาติกว่า ปัญญาที่ได้ฟังจะสะสมเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาค่อยๆ เพิ่มความรู้ขึ้นจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเมื่อพร้อมแล้ว แล้วแต่ว่าจะเป็นสาวกของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ไหน จะเป็นสาวกโดยเป็นประเภทภิกษุ ภิกษุณี หรืออุบาสก อุบาสิกา พร้อมที่จะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ หรือเพียงขั้นที่จะรู้แจ้งเป็น พระโสดาบัน หรือว่าอาจจะน้อยกว่านั้นก็ได้ คือ เพียงแต่เป็นวิปัสสนาญาณบางขั้นเท่านั้นเองก็ได้

ผู้ฟัง ผมว่าเรื่องนี้พูดยาก ถ้าเข้าใจแล้วแม้แต่เพียงคำว่า การฟัง หรือจะอ่านให้เข้าใจก็ได้ หรือจะสนทนาธรรมก็ได้ เมื่อมีความเข้าใจแล้ว คิดว่าคงจะช่วยในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เวลานี้เป็นความเห็นของคนไม่น้อยเลยที่ ...

สุ. นี่ก็รู้มานานแล้ว

ผู้ฟัง อยากให้อาจารย์อธิบายให้ผู้ที่มีความสนใจและมีโอกาสร่วมคณะฟัง จะได้พิจารณาและเห็นประโยชน์

สุ. อะไรที่เราหวัง และเราต้องการ ถ้าคนอื่นเขายังไม่พร้อมก็ไม่มีประโยชน์ เพราะว่าเขาก็ยังติดในความคิดนั้นอยู่ และการฟังช่วงนี้ก็น้อย ใช่ไหม ไม่มีเวลาพอ นอกจากถ้าเขาสนใจและเขาซักถาม ถ้าเขาไม่สนใจ ไม่ซักถาม เราจะไปบอกเขา ไม่มีประโยชน์ ต้องให้เขาสนใจและซักถาม เราก็ให้เหตุผลได้

ผู้ฟัง สำหรับคำพูดของพระ เท่าที่ผมฟัง นี่เป็นความเห็นส่วนตัวของผมว่า ท่านอาจจะเป็นผู้มีความจำดี สังเกตได้จากเวลาเปิดเทป ท่านจะตั้งใจฟัง ฟังแล้ว ท่านก็เอามาสรุป เพราะท่านมีความเห็นว่า การเปิดเทปแต่ละครั้งควรที่จะ มีการสรุปว่า ท่านอาจารย์พูดว่าอะไรบ้าง

สุ. อย่าอย่างนั้นเลย รู้สึกเป็นพิธีรีตอง

ผู้ฟัง คือ เป็นความเห็นของท่าน ท่านเป็นคนบอกในรถ ท่านต้องการให้สรุปและเอาปัญหามาวิจารณ์กัน ผมก็บอกว่าผมไม่ใช่ฐานะ อีกอย่างหนึ่ง ถ้าท่านมี ความเข้าใจมากกว่านี้อีกสักนิดหนึ่ง ผมคิดว่าคำพูดอย่างนี้คงไม่ปรากฏแน่ เพราะว่าการสรุปไม่ใช่เรื่องของการอภิปราย เท่าที่สังเกตดู เท่าที่ท่านพูดออกไป ท่านจำ พูดถึงเรื่องสติ ท่านก็คิดว่า สติก็มีตามปกติทั่วๆ ไปของทุกคน เป็นแต่เพียงว่า ผู้นั้นยังไม่รู้จักวิธีการที่จะนำเอาสติมาใช้

สุ. อย่างนี้จะเรียกว่า ท่านจำได้อย่างไร ท่านไปจำอะไรมา

ผู้ฟัง เพราะท่านอาจารย์พูดถึงว่า การมีสติระลึกได้ ท่านก็คิดว่า สติ แปลว่า ระลึกได้ ท่านก็อธิบายของท่านเองว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตามให้มี การรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา

สุ. คนส่วนใหญ่ก็เข้าใจกันอย่างนี้ เวลานี้คุณศุกลกำลังพูดถึงคนส่วนใหญ่ ที่เขาไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เข้าใจว่าธรรมคืออะไร เขาก็ต้องคิดของเขาเอาเอง อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น มีคนส่วนน้อยที่ศึกษาจริงๆ และเข้าใจจริงๆ ว่า พระธรรมคืออะไร เมื่อเราเป็นส่วนน้อย เราก็พยายามช่วยเหลือส่วนใหญ่เท่าที่เราสามารถจะทำได้ตามโอกาส แต่เราไม่ต้องไปขบคิดปัญหาอะไรทั้งนั้น เพราะว่า เป็นเรื่องธรรมดา เอาเรื่องอะไรที่เรายังไม่เข้าใจ และเรามีทางที่จะเข้าใจขึ้น และก็ไปช่วยทำให้คนอื่นเข้าใจขึ้น แต่ปัญหาอย่างนี้ ตลอดชีวิตไม่จบหรอก

. ขณะที่รับประทานอาหาร ผมรู้สึกตัวขึ้นมา ก็ระลึกรู้ลักษณะของรส ที่ปรากฏ สังเกตว่า นี่ลักษณะของรส ผมก็บอกคุณป้าว่า ถ้าผมรู้จักลักษณะจริงๆ ของรส จะไม่มีคำว่า เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม คุณป้าบอกว่า ไม่ใช่ ถ้ารู้รส ลักษณะจริงๆ ของรส ต้องมีทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม มี ๗ รส ไม่ทราบว่า ผมเข้าใจผิดหรือเข้าใจถูก

ผมบอกว่า ถ้าเราจำแนกเป็นรสเปรี้ยว รสหวาน รสมัน รสเค็ม นั่นเราไปจำแนกลักษณะของรส คล้ายๆ กับที่เราติดในคำพูดที่ว่า นิมิต คือ ลักษณะที่ปรากฏ อนุพยัญชนะ คือ การจำแนกลักษณะที่ปรากฏออกเป็นเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม คุณป้าบอกว่า ไม่ใช่ คำว่า รสารมณ์ หมายถึงลักษณะของรสที่ปรากฏ ทำให้ผม ไม่ทราบว่า ความเข้าใจของผมถูกหรือผิด หรือคุณป้าเข้าใจถูกผิดอย่างไร

สุ. รู้สึกว่า คุณธนิตจะปนเรื่องบัญญัติ คือ ชื่อ กับลักษณะของปรมัตถ์ เพราะการที่เราใช้คำว่า รส ไม่ได้หมายความถึงสิ่งที่ไม่มีจริง แต่เราเรียกรสสำหรับ สิ่งที่มีลักษณะสภาพที่ปรากฏได้ทางลิ้น ถูกไหม และเวลาที่สิ่งนั้นปรากฏทางลิ้น เป็นอย่างไร อะไรปรากฏ

. เป็นลักษณะอย่างหนึ่งที่ปรากฏ

สุ. เวลาที่สภาพธรรมนั้นปรากฏทางลิ้น อะไรปรากฏ

. รสปรากฏ

สุ. ไม่ต้องเรียกก็ได้ แต่ถ้าใช้ชื่อว่ารส รสอะไร ถ้าไม่ใช้ชื่อยังมีรสอยู่ไหม

. มี

สุ. รสอะไร

. หมายถึงว่า ต้องรสเปรี้ยว

สุ. แน่นอน คือ เขามีลักษณะของเขา ไม่ใช่ว่าไม่มีรสอะไรเลย และมาใส่รสเอาทีหลัง ไม่ใช่

. ตามความเข้าใจของผม อย่างที่คุณป้าอธิบายก็คงจะถูกต้องว่า รสารมณ์ หมายถึงชื่อรสอย่างเดียว

สุ. ไม่ใช่ รสารมณ์ คือ สภาพธรรมที่ปรากฏทางลิ้น ซึ่งสภาพธรรมที่ปรากฏทางลิ้น เขาต้องมีลักษณะของเขาปรากฏ ไม่ใช่เขาไม่มีลักษณะ และมา ใส่หวาน ใส่เค็มเอาทีหลัง ไม่ใช่ แต่ว่าลักษณะนั้นกำลังปรากฏ เป็นรสชนิดหนึ่ง เมื่ออีกลักษณะหนึ่งปรากฏ ก็เป็นรสอีกชนิดหนึ่ง เมื่อลักษณะนั้นปรากฏอีกอย่างหนึ่ง ก็เป็นรสอีกอย่างหนึ่ง หมายความว่าสภาพของรสนั้นเองมีลักษณะต่างๆ กัน เหมือนอย่างเสียง มีเสียงสูง มีเสียงต่ำ เราจะไปบอกว่า มีเสียงธรรมดาและมาเติมสูง มาเติมต่ำเองไม่ได้ คือ ลักษณะของเสียงสูงก็สูง ลักษณะของเสียงต่ำก็ต่ำ แต่ละเสียงที่ปรากฏกระทบหูจะมีลักษณะของเขา จะต้องเป็นอย่างนั้น หมายความว่า เมื่อมีหวาน เราไม่ต้องใช้คำว่าหวานก็ได้ แต่ลักษณะของหวานจะเปลี่ยนเป็นเค็มไม่ได้ นั่นคือปรมัตถธรรม

. แต่ในขณะที่เราลิ้มรส

สุ. มีรสนั้นปรากฏ แล้วแต่ว่าจะเป็นรสอะไรก็แล้วแต่ จะต้องมีรสนั้น โดยไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อ หวานก็ต้องเป็นหวาน เปลี่ยนหวานเป็นเค็มไม่ได้ เค็มก็ต้องเป็นเค็ม จะเปลี่ยนเค็มเป็นเปรี้ยวไม่ได้ สภาพนั้นจึงจะเป็นรสได้

. และชื่อที่คุณป้าใช้ ที่ว่า รสารมณ์ ก็คืออันนี้

สุ. ลักษณะสิ่งที่ปรากฏทางลิ้น คือ ของจริงเป็นอย่างไร ไม่ผิดของจริงเลย การศึกษาปรมัตถธรรม ทำให้เราเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่ให้เราสับสน นี่ถ้าเราไม่ได้เจริญสติ หรือไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เราเอา ๒ อย่างมา ผสมกันทีหลังจะสับสน อย่างคำว่า รสารมณ์ ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางลิ้น และเอาความคิดของเราเข้ามาใส่ว่า ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางลิ้นต้องไม่เปรี้ยว ไม่เค็ม ไม่หวาน เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางลิ้น อย่างนี้ไม่ถูกต้อง เพราะว่าสภาพธรรมปกติของเรา ทุกครั้งที่ลิ้มรส จะต้องมีรสอย่างหนึ่งอย่างใด ใช่ไหม เพราะฉะนั้น นั่นคือรสารมณ์ รสที่ปรากฏทางลิ้น

สูง ต่ำ แผ่ว จาง ดัง แหลม หรืออะไรก็แล้วแต่ จะจำแนกออกไปกี่สิบเสียง ก็ตาม ขณะที่เสียงนั้นกระทบ เสียงนั้นเป็นอารมณ์ จะกล่าวว่าไม่มีเสียงสูง เสียงต่ำ มีแต่เสียงเฉยๆ และมาเติมสูง เติมต่ำเอาเองทีหลังไม่ได้ นั่นเรียกชื่อ เรื่องชื่อ แต่สภาพธรรมไม่เปลี่ยน เสียงสูงก็ต้องสูง เสียงต่ำก็ต้องต่ำ แต่เวลาที่ปัญญาเกิดขึ้น หมายความว่า ให้รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง จะสูง จะต่ำ ก็ไม่สนใจในนิมิตที่สูงหรือต่ำ ในอนุพยัญชนะซึ่งละเอียดลงไปอีก เพียงแต่ให้รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะเอาตัวตนหรือความเป็นตัวตนออก

. และที่ถามว่าการรู้เรื่องสติปัฏฐานจะมีประโยชน์อะไร

สุ. คุณศุกลตอบได้แน่ข้อนี้ คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีกิเลส จะไม่เห็นประโยชน์ของสติปัฏฐาน แต่คนไหนที่รู้ตัวว่ามีกิเลส เห็นโทษของกิเลส รังเกียจกิเลส อยากจะถอยกลับจากกิเลส คนนั้นจะหาทางว่า ทำอย่างไรกิเลสจึงจะน้อยลง และนั่นคือคำตอบว่า ประโยชน์อะไรที่เจริญสติปัฏฐาน

. นี่เป็นสิ่งที่คงต้องเอาไปใช้ เป็นประโยชน์มากทีเดียว เพราะเมื่อพูดถึงเรื่องเจริญสติปัฏฐานแล้ว เป็นความไม่เข้าใจ เพราะเห็นว่า ยังไม่ใช่เป็นหนทาง คือไม่ใช่เป็นการปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาที่แท้จริง พูดถึงเรื่องพระพุทธศาสนาแล้ว แม้จะศึกษาเรื่องปริยัติมากสักเท่าไร ก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ถ้าปฏิบัติธรรมก็หมายความว่า ต้องมีการบังคับจิต หรือว่าจิตต้องอยู่ในอำนาจของตัวเอง

สุ. ข้อนี้ยกไปได้เลยว่า เป็นธรรมดาของคนที่ไม่เข้าใจ คนที่ไม่เข้าใจธรรม ก็คิดอย่างนี้อย่างโน้นกันไป คิดไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องของการไม่เข้าใจธรรม มีทางเดียวที่จะทำได้ คือ ให้เขาเข้าใจว่า เขาไม่เข้าใจธรรม ถ้าเขาคิดว่าเขาเข้าใจธรรมแล้ว เขาไม่ฟังหรอก ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเป็นธรรม รู้หรือเปล่า ถ้าไม่รู้ ก็คือนั่นแหละ ไม่เข้าใจธรรม

. หลังจากไปนมัสการสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล และที่สำคัญๆ ต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา ได้ชมสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ เห็นแล้วว่า สิ่งมหัศจรรย์ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะความวิจิตรของจิต คือ จิตของคนที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่วิจิตรขึ้นมาได้ เพราะว่าจิตวิจิตร จิตที่วิจิตรจนสร้างของที่วิจิตรออกมา จะเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมอย่างไรบ้าง

สุ. ก็ให้รู้ว่า เป็นสภาพธรรมที่สะสมอย่างละเอียดมากทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างต่างกันไป ทั้งในด้านวัตถุ และในด้านของจิตใจก็ต้องหลายเท่าของทางด้านวัตถุ ไม่ต้องอะไร อย่างต้นไม้ใบหญ้าที่เราเห็น ทำไมใบไม่เหมือนกัน ดอกไม่เหมือนกัน กลิ่นไม่เหมือนกัน ผลไม่เหมือนกัน รสไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเท่านั้นเอง สี กลิ่น รส ก็ยังต่างกันไป และสภาพของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ สามารถที่จะรู้เรื่องต่างๆ และสร้างธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมให้ปรากฏต่างๆ ได้ จะยิ่งวิจิตรกว่านั้นสักแค่ไหน ก็เป็นธรรมดาที่จะเห็น และถ้าย้อนกลับมาระลึกถึงว่า ความวิจิตรของอกุศลที่สะสมมาในสังสารวัฏฏ์ จะมากมายสักแค่ไหน ซึ่งแต่ละคนไม่มีทางจะรู้ได้ นอกจากเวลาที่สภาพธรรมนั้นปรากฏเมื่อไรจึงจะรู้ว่า ชาติก่อนๆ นี้ และชาติก่อนๆ โน้น ก็เคยสะสมมามากมาก แค่ไหน ทำให้ความคิดแม้แต่ในขณะนี้ก็ยังวิจิตรไม่เหมือนกัน ความสามารถก็ต่างกัน

. แต่จิตที่วิจิตรก็มี ๒ ลักษณะ อย่างที่ผมเห็น ลักษณะหนึ่งที่เขาสร้าง สิ่งสำคัญทางพระพุทธศาสนา อย่างถ้ำที่มีพระพุทธรูป มีสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา และอีกอย่างหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาอื่น ทั้ง ๒ ลักษณะนี้ ผู้ที่สร้างสิ่งสำคัญทางพระพุทธศาสนา คงจะมีจิตวิจิตรที่ประกอบด้วยมหากุศล ส่วนที่สร้างในศาสนาอื่น คงจะประกอบด้วยโลภะที่เป็นอกุศล

สุ. เรื่องกุศลอกุศลที่เป็นจิตของคนอื่น เราตัดทิ้งไปได้เลย เราจะไปคิด ไปประมาณอย่างไร ก็เป็นแต่ขั้นคิด ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ยังจะไปค้นคว้าว่า จิตของผู้สร้างอันนี้กับจิตของผู้สร้างอันนั้นจะต่างกันอย่างไร ก็เป็นแต่เพียงขั้นคิด ทางที่ดีที่สุดที่จะได้ประโยชน์จากการที่มีจิต คือ สติระลึกลักษณะของจิตของตนเท่านั้น คือ เรื่องของคนอื่นหรืออะไร ๒,๐๐๐ กว่าปีก็เดาไปเฉยๆ คาดคะเนตาม หลักวิชาการเท่านั้นเอง แต่ไม่สามารถรู้ความจริงได้ เพราะว่าดับไปนานแล้ว และไม่ใช่จิตของเราด้วย

ผู้ฟัง หมายความว่าที่จะเป็นประโยชน์สำหรับเรา คือ ต้องรู้ตัวของเรา

สุ. เรื่องอื่นมากมาย รู้ตลอดชีวิต ไม่จบ แต่เรื่องของตัวเรา สามารถที่จะรู้ได้ชัดเจน ไม่ต้องไปนั่งคิดหรือคาดคะเนอย่างจิตของคนอื่น

ผู้ฟัง คุณนิภัทรขณะที่กำลังคิดนึกว่า จิตคนนั้นวิจิตร สร้างอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ให้ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นจิตของเรากำลังคิดนึกถึงลักษณะ …

สุ. ที่ดีที่สุด คือ สติปัฏฐาน แต่สติปัฏฐานก็ไม่ได้เกิดได้อย่างที่ต้องการ ก็แล้วแต่เป็นขั้นๆ ตามลำดับ สติอาจจะระลึกเป็นไปในกุศลประการอื่นก็ได้ หรืออาจจะเกิดอกุศลก็ได้ เหมือนอย่างคนหนึ่งที่มาสังเวชนียสถานบอกว่า เวลามาสังเวชนียสถานอยากจะให้กุศลจิตเกิดมากเป็นพิเศษ เห็นไหม มีความหวังว่า ไหนๆ ก็มาแล้วถึงสังเวชนียสถาน เพราะฉะนั้น เป็นเวลา เป็นโอกาสที่พิเศษจริงๆ ก็อยากจะให้กุศลเกิดมาก และก็ประณีตเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่เป็นอย่างนั้น

คิดดูถึงจิตใจ อย่างไปที่คยาเห็นลามะน้อย เห็นพระธิเบตกำลังต้องการของไทยธรรม เห็นอะไรต่ออะไรหลายๆ อย่าง และก็อยากจะให้จิตของเรา บางคนอาจจะถึงกับอยากให้วิปัสสนาญาณเกิดก็เป็นไปได้ แต่ตราบใดที่เป็นความหวัง ทราบได้เลยว่า ปิดประตูแล้วเรื่องของความสำเร็จ หรือผลที่ต้องการ ไม่มีเลย นอกจากจะปล่อย คือ ต้องไม่มีความเป็นตัวตน แล้วแต่อะไรจะเกิด และสติก็ระลึก ที่จะต้องเป็นผู้ชินต่อลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทีละทวาร และเป็นผู้ที่รู้ด้วยว่า สภาพธรรมทางทวารไหนที่สติยังไม่เคยระลึก ยังไม่ชิน ยังเต็มไปด้วยความสงสัย

อย่างทางตา ส่วนใหญ่จะบอกว่า ยังไม่เป็นสภาพที่กำลังปรากฏทางตาเลย ยังเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นอะไรต่ออะไรอยู่ตลอดเวลา นั่นก็เป็นเครื่องเตือนสำหรับตัวเองได้ อย่างหลงลืมสติ ทางตา แม้ว่าจะได้ฟังมาชัดเจนกี่ครั้งๆ ก็ได้ยินว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และจิตที่เห็นคิดอะไรไม่ได้ เป็นกุศลไม่ได้ เป็นอกุศลไม่ได้ ประกอบกรรมอะไรไม่ได้เลย อยู่เฉยๆ เห็นอย่างเดียว ใช่ไหม กำลังเห็นเท่านั้นเอง ส่วนหลังจากเห็นแล้วจึงคิด เพราะฉะนั้น ต้องไม่หลงลืม และ มีวิริยะที่จะรู้ว่า เพียงลักษณะที่อยู่นิ่งๆ ของสิ่งซึ่งไม่เคลื่อนไหว โดยที่ยังไม่ได้คิด อะไรเลย ก็น่าจะทำให้รู้ได้ว่า นี่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

อย่างคนไม่เคลื่อนไหวเลย นั่นคุณประวิตร หรือว่าหุ่น หรือว่ารูป นั่งนิ่งเฉยๆ ไม่มีทางที่จะรู้ว่าเป็นคน จะเป็นรูปภาพ หรือจะเป็นภาพเขียน หรือจะเป็นอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้น แล้วแต่การคิดนึก

เปิด  225
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565