แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1656

สนทนาธรรมระหว่างไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย

เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๐


สุ. แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ขณะที่เห็น เพียงเห็น และหลังจากนั้นขึ้นอยู่กับความคิดนึกว่า นี่เป็นคน หรือนี่เป็นรูปปั้น หรือนี่ชื่ออะไร หรือว่าหน้าตาเป็นอย่างไร นอกจากนั้นถ้ามีการคิดนึกถึงรูปซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน จนกระทั่งปรากฏทำให้คิดว่า เป็นการเคลื่อนไหว ก็คิดนึกว่า กำลังทำอะไรอีกด้วย

เพราะฉะนั้น แต่ละทางๆ จะต้องมีความแยบคายที่จะต้องค่อยๆ น้อมพิจารณาให้รู้ความจริง แม้เราจะได้ฟังเรื่องปรมัตถธรรม จิต เจตสิก รูปมาก และรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาชื่อรูปารมณ์ ก็ไปรู้จักชื่ออีกแล้ว จึงใช้คำว่ารูปารมณ์กันใหญ่

สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไร เป็นรูปารมณ์ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เราเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏถ้าใช้คำว่า รูปารมณ์ แต่ต้องหมายความถึงสติระลึกได้ว่า ขณะนี้มีสิ่งซึ่งเพียงหลับตาแล้วไม่ปรากฏ ขอเพียงแค่นี้ที่จะรู้ความจริงว่า ไม่ใช่อะไรเลย และหลังจากนั้นเป็นความคิดทั้งหมด

เพราะฉะนั้น เราอยู่ในโลกของความคิดของเราเอง เท่ากับว่าเราอยู่คนเดียว กับความคิดของเรา แล้วแต่ว่าเราเห็นและเราจะคิดว่าเป็นอะไร จะสุข จะทุกข์ เป็นเรื่องยาวเรื่องสั้นกับสิ่งที่เราเห็น และมาประกอบกับทางหูที่กำลังได้ยินได้ฟังนี้อีก ก็แสดงว่า ช่วงของความหลงลืมสติมาก จนกระทั่งไม่สามารถรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละลักษณะได้จริงๆ เพราะยังแยกโลกของปรมัตถ์ กับโลกของบัญญัติไม่ออก

ปรมัตถสัจจะ สมมติสัจจะ ไม่ใช่อยู่ในตำรา ทุกอย่างที่เรียนทั้งหมด ทุกคำ ทุกพยัญชนะ ไม่ใช่อยู่ในตำรา แต่จะต้องรู้พร้อมสติ ซึ่งจะต้องสามารถเข้าใจชัดเจนด้วยปัญญา เพราะว่าเมื่อระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม สามารถเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมขึ้น ก็รู้ว่าปรมัตถธรรมเป็นอย่างไร หลังจากนั้นแล้วเป็นบัญญัติ ก็จะได้รู้ตัวว่า อยู่ในโลกของบัญญัติมานานเท่าไร และเมื่อสติเริ่มระลึก ก็ค่อยๆ ก้าวเข้าไปในโลกของปรมัตถ์ทีละเล็กทีละน้อยๆ จนกว่าจะชินกับโลกของปรมัตถ์

และเมื่อชินกับโลกของปรมัตถ์ จึงจะเห็นว่า โลกของบัญญัติไม่มีสาระ ซึ่งแต่ก่อนนี้อะไรมีสาระ ปรมัตถ์หรือบัญญัติ โดยเฉพาะวิชาการต่างๆ แสนวิจิตร ต้องมีวิชาการอย่างนี้ ต้องมีวิชาการอย่างนั้น โลกจึงจะอยู่ต่อไปได้ ถ้าไม่มีวิชาการอย่างนี้ ไม่มีวิชาการอย่างนั้น โลกก็ยากจนข้นแค้น ไร้ปัญญา ไร้วิชาการ นี่เป็นความคิดความเข้าใจโดยไม่รู้ความสำคัญว่า แท้ที่จริงแล้วเราไม่ได้ห้ามโลกของบัญญัติ ไม่ได้ห้ามความคิดเรื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ได้ห้ามความคิดทางวิทยาศาสตร์ ทางวิชาการแพทย์ แต่ปัญญาจะต้องตามรู้ว่า ขณะไหนเป็นปรมัตถ์ และขณะไหนเป็นบัญญัติ จึงจะสามารถรู้ความจริงได้ ไม่อย่างนั้นไม่มีทางที่ปัญญาจะเจริญขึ้น ที่จะรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมจนประจักษ์ความเกิดดับได้

อย่างเวลานี้ กำลังเป็นคุณศุกลถือไมโครโฟน จะดับไปได้อย่างไร กำลังเป็นโต๊ะ มีองุ่น มีกาน้ำ มีเทป มีอะไรต่างๆ ดับไม่ได้ เพราะนั่นเป็นความคิด เป็นความคิดของเรื่องของสิ่งที่ดับไปแล้ว กำลังเกิดและก็ดับ เกิดและก็ดับ อยู่ตลอดเวลา

ถ้าไม่สามารถจะรู้ความรวดเร็ว คือ สติระลึกไม่ได้ ตลอดทั้ง ๖ ทาง จะไม่เห็นว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นปริตตธรรม สั้นมาก ระหว่างเห็นกับได้ยิน คิดดู ถ้าสามารถค่อยๆ ชินในลักษณะที่เป็นสภาพธรรมที่ต่างกันทั้งลักษณะ ต่างกันทั้งเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด ต่างกันทั้งมีความคิดนึกคั่นอยู่อีกตั้งหลายวาระ และ ยังมีภวังคจิตคั่น ถ้าสามารถจะรู้อย่างนั้นได้ ทำไมเห็นนี้จะดับไม่ได้ในเมื่อสั้นนิดเดียว แต่ต้องสั้น ไม่ใช่ยาวอย่างชนิดที่ต่อกันเป็นเรื่องเป็นราว เป็นคนกำลังนั่ง กำลังคิด กำลังทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้

เพราะฉะนั้น จะได้รู้จักปัญญาของตัวเองตามความเป็นจริงว่า ในเมื่อได้ฟังเรื่องของอภิธรรม ในเมื่อได้รู้และเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้ว แต่ สติปัฏฐานที่เกิดบ้างนั้นน้อยเท่าไร ถ้าจะเทียบกับความจริงที่จะต้องเข้าไป ประจักษ์แจ้ง

แต่การรู้อย่างนี้ ก็ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท อย่าไปท้อถอย คือ ทำให้เป็น ผู้ไม่ประมาทว่า เมื่อเป็นทางที่ไกล และทางที่ยาก แต่วิริยะมี ความเพียรมี ความอดทนมี ขออย่างเดียว อย่าให้โลภะพาไปในทางที่ผิดที่จะทำให้ทิ้งสัจจญาณ คือ ปัญญาที่มั่นคง แน่ใจจริงๆ ว่า สัจจธรรมคือสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ต้องเป็นของจริงซึ่งกำลังเกิดดับ เป็นสังขารธรรมตามที่ทรงแสดง เมื่อเข้าใจสัจจญาณอย่างนี้จริงๆ แล้ว กิจจญาณ คือ สติ จะระลึกตรงตามที่เข้าใจ

เพราะฉะนั้น จะไม่ไปนั่ง และทำอย่างอื่น ถ้าไปนั่งทำอย่างอื่น เมื่อไร จะประจักษ์ว่า เห็นขณะนี้ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร และเกิดดับอย่างไร

ธรรมต้องตรง และต้องสอดคล้องกันทั้งหมด ไม่ว่าจะส่วนหนึ่งส่วนใดของพระไตรปิฎกและอรรถกถา ถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาและพิจารณาโดยรอบคอบ จะค่อยๆ หยั่งลงไปถึงอรรถ พร้อมทั้งการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้ความเข้าใจ ในลักษณะของสภาพธรรมชัดเจนกว่าการที่เพียงเข้าใจปริยัติ แต่สติไม่เคยระลึกเลย เหมือนอย่างกับรสารมณ์ที่ว่า รู้จักชื่อ แต่ก็ไปคิดเอาเองว่า ต้องไม่มีหวาน ไม่มีเค็ม ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ขึ้นชื่อว่ารสแล้ว จะต้องเป็นชนิดหนึ่งชนิดใดตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมไม่ผิดปกติ ปัญญาที่จะรู้ ก็รู้ตามปกติ แต่รู้ละเอียดจนแทงตลอด ถ้าไม่ละเอียดแทงตลอดไม่ได้เลย เหมือนอย่างทางตาที่กำลังเห็น จะต้องรู้ว่า ไม่ใช่ขณะที่กำลังคิดนึกเป็นเรื่องเป็นราว เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งของ

. ที่ท่านอาจารย์แสดงมา เป็นหนทางที่ยาวและไกลจริง เพราะว่าสติ ที่จะเกิดขึ้นแต่ละครั้งก็ยากแสนยาก แต่ท่านอาจารย์ก็ให้กำลังใจว่า อย่าท้อถอย ต้องมีความเพียรความพยายาม ซึ่งความเพียรความพยายามที่คนส่วนใหญ่ และแม้ ตัวผมเองก็เห็นว่า ดูเหมือนเป็นการไปบังคับให้สติเกิด ไปเร่งให้สติเกิด ที่จะถือว่า เป็นความเพียรที่เป็นสัมมาวายามะ หรือเป็นอาตาปีนั้น ยังไม่ค่อยจะตรง ไม่ทราบว่าในลักษณะความเพียรพยายาม ...

สุ. นี่เป็นของธรรมดา ตราบใดที่ยังมีตัวตนอยู่ วิริยะก็ต้องมีความ เป็นตัวตนแอบแฝง ไม่อย่างนั้นพระโสดาบันจะไม่ดับสีลัพพตปรามาสกายคันถะ แต่ หนทางกว่าจะเป็นมัชฌิมาปฏิปทาจริงๆ หมายความว่า ชีวิตปกติธรรมดาเป็นอย่างไร เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ฝืน และในขณะเดียวกันต้องมีสติตามรู้ คิดดู ยากที่ว่า วิริยะก็ต้องเป็นสัมมาวายาโม ที่จะต้องเป็นปกติและไม่ฝืน ไม่ใช่เป็น ความพยายามจงใจตั้งใจที่จะเพียร ที่จะรู้ และจะรู้เองว่า ค่อยๆ เป็นมัชฌิมา เป็นทางสายกลาง ที่เป็นชีวิตจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเพราะเหตุปัจจัย มิฉะนั้นถ้าความเพียรมากเกินไป ความเป็นตัวตนต้องการผลแทรก ก็กลิ้งไปกลิ้งมาอยู่ระหว่างทางสายกลางนั่นแหละ จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เกิด ค่อยๆ คลาย ค่อยๆ ละไป ด้วยตัวของตัวเอง ต้องเป็นปัญญาของตัวเอง

บางคนอาจจะไม่เห็นค่าของแข็ง และสติระลึกนิดหนึ่ง หรือกลิ่นปรากฏ และสติระลึกนิดหนึ่ง เพราะบางคนอาจจะบอกว่า ชีวิตประจำวันที่ทำงานยุ่งมาก งานมาก และทุกคนก็ต้องทำงานด้วยความสนใจให้เสร็จ ให้ดี แต่ถ้าขณะนั้นเพียง จับปากกาและเกิดระลึกที่แข็ง พอแล้ว ไม่ต้องมาก วันละหนึ่ง สองครั้งไปเรื่อยๆ นั่นก็เป็นการคลายโลภะที่ต้องการผลด้วย และถ้ามีการระลึกเป็นปกติในชีวิตประจำวันทีละเล็กทีละน้อย เป็นธรรมชาติไปเรื่อยๆ ภายหลังก็จะเห็นได้ว่า ถ้าปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้น ก็ไม่ต่างกับตอนที่เริ่มระลึกและปัญญาไม่เกิด เหมือนกันทีเดียว เพียงแต่ว่า ตัวปัญญาเท่านั้นที่ต่างกัน แต่สิ่งที่ปรากฏเหมือนเดิม

เพราะฉะนั้น เพียงแข็งอย่างนี้ ก็เป็นพระอรหันต์ได้ เป็นพระอนาคามีได้ เป็นพระสกทาคามีได้ เป็นพระโสดาบันได้ ไม่ว่าจะทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่ปรากฏ นิดๆ หน่อยๆ ก็ยังดี และค่อยๆ ไปเรื่อยๆ ให้รู้ว่าเป็นผู้มีปกติ สติเจริญขึ้น

ผู้ฟัง รู้สึกว่าเป็นหนทางที่ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนเราจะเจาะภูเขาทั้งลูก

สุ. ทรงอุปมาทุกอย่าง ให้เราเห็นความจริง เทียบได้กับชีวิตของเราจริงๆ กับสติปัฏฐาน วันนี้ไปที่ไหนบ้าง ที่ออโรร่า มีสติเกิดบ้างไหม

ผู้ฟัง ไม่มี

ผู้ฟัง มาที่อินเดีย ไม่ว่าจะไปที่ไหน ผมว่าได้ประโยชน์กว่าอยู่เมืองไทยมาก รู้สึกว่า สติจะดีกว่าอยู่เมืองไทยหลายเท่า แม้ว่าจะไปมัสยิดของมุสลิม ผมยกมือ ท่วมหัวตลอดเวลาว่า นี่คือดินแดนที่พระพุทธองค์ท่านเสด็จไปเสด็จมา พระอรหันต์ทั้งหลายท่านไปทุกแห่งหน เป็นดินแดนที่ศักดิ์สิทธิ์

สุ. จะชี้หนทางไกลให้อีกหน่อย เพราะว่าไกลจริงๆ คือ ต้องทิ้งแม้แต่ความพอใจอันนี้ นี่ยากจริงๆ ยากแสนยากกว่าที่เราจะรู้ทันโลภะที่แอบแฝงอย่าง ซ่อนเร้น และสลับกันไปกันมาอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะสำคัญที่สุด ที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ และละด้วยความรู้

ผู้ฟัง อกุศลแทรกเร็ว แป๊บเดียวเข้ามาแล้ว บางทีเข้ามาตั้งครู่หนึ่ง กุศล เกิดนิดเดียว ถ้าเราหวังผลมากไป อกุศลก็แทรกมาอีก ผมพยายามไปๆ ก็อย่างว่า ...

สุ. ต้องต่อสู้ไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น อย่างเดียวเท่านั้น คือ ต้องปัญญาเจริญขึ้น ซึ่งขั้นของปัญญาที่จะเจริญก็มากมาย และค่อยๆ เจริญ ทีละน้อยด้วย ข้อสำคัญที่สุด ไม่มีใครสังเกตเห็นการเจริญขึ้นของปัญญาได้ เหมือนกับไม่มีใครสังเกตเห็นการสึกไปของด้ามมีดที่จับแต่ละครั้งได้

ผู้ฟัง โดยมากคนเรามักต้องการผลเร็วๆ ซึ่งเป็นปัญหา จะให้สำเร็จเร็วๆ

สุ. และยังมีความเข้าใจผิดต่อไปอีกว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนง่าย ทำไม มาทำให้ยากๆ กัน ก็ยิ่งเป็นความเข้าใจผิดซ้ำเติมเข้าไปอีก แสดงให้เห็นว่า ความไม่เข้าใจเท่านั้น และช่วยไม่ได้ด้วยว่า ใครจะเข้าใจผิดไปมากกว่านั้นอีก เพราะว่าเกิดจากความไม่เข้าใจ

ผู้ฟัง มีคนพูดถึงสติว่า เวลานี้ต่างคนต่างก็ไม่มีสติ แต่เมื่อสติระลึกก็จะรู้เลย ลืมไปว่า สติไม่ใช่ปัญญา

สุ. เขาอาจจะหมายความถึงการระลึกรู้โดยลักษณะของสติ ไม่ใช่หมายความถึงตัวปัญญาก็ได้ หรือเวลาที่สติระลึก เขาอาจจะหมายความว่า ปัญญาเริ่มพิจารณา เริ่มรู้ก็ได้ แต่แทนที่เขาจะพูดแยก ก็พูดรวมไปเลย สติเกิดก็รู้ ก็หมายความว่า รู้นั่นคือปัญญาที่เกิดพร้อมสติ

เป็นความเห็นของแต่ละคน อย่าได้ไปคิดถึงคนอื่นเลย เอาของตัวเองนี่แหละว่า เราเข้าใจอย่างไร

ผู้ฟัง เป็นความจำเป็นอย่างหนึ่ง เพราะว่าเราต้องมีโอกาสพบ มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับผู้อื่น ถ้าเราเห็นว่า พอจะเป็นประโยชน์ เราก็อยากจะเกื้อกูลบ้าง แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าหนัก ก็ต้องหลีกทาง

ผู้ฟัง อยู่ที่ความเข้าใจด้วย ถ้าเราไม่เข้าใจ ไปสอนเขาว่า กำหนดแข็ง เขาก็ถามว่า แข็งแล้วอะไรอีกล่ะ เห็น เห็นแล้วอะไรอีก ถาม อะไรอีกล่ะ เรื่อยเลยอย่างนี้

สุ. เขายังไม่ได้รู้อะไรเลย และเราไปให้เขาเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่ถูกต้อง ต้องหมายความว่า เขาเข้าใจว่าธรรมคืออะไร และเขาต้องมีศรัทธาพอที่จะต้องการละกิเลส เมื่อมีศรัทธาพอแล้ว ยังจะต้องมีการศึกษา การฟังที่จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่ง เพราะว่าสัมมาสติก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่มีตัวคนไปเร่งรัด เร่งรัดไม่ได้เลย ไม่มีทาง

ผู้ฟัง โดยมากเป็นอย่างนั้น จะถามว่า และอะไรอีกล่ะๆ อยู่เรื่อยเลย

สุ. และเขาก็ไม่เข้าใจอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เขายังไม่เห็นประโยชน์ แต่ถ้าเขาเห็นประโยชน์แล้ว ก็ค่อยๆ ปรุงแต่งไปจนกระทั่งสัมมาสติเขาเกิด ไม่ต้องไปบอกเขา ให้ระลึก สติเขาก็เกิดเองได้ แต่เวลาที่เขาไม่เข้าใจ แข็งอย่างไรๆ เขาก็แข็งอย่างไร อยู่อย่างนั้น ไม่มีทางที่จะเป็นสัมมาสติ

ผู้ฟัง เขาบอกว่า ไม่เห็นได้อะไรเลย

สุ. นั่นก็แสดงอยู่แล้วว่า เขาไม่เข้าใจ และเราไปเร่งเขา

ผู้ฟัง ปัญหาใหญ่ตรงที่ไม่เข้าใจนี่แหละ

สุ. เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะให้คนเจริญสติปัฏฐาน ให้เขาเข้าใจพระธรรมก่อน และเรื่องเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องเรา เรื่องเขา เมื่อเขาเข้าใจแล้วนั่นเป็น เรื่องเขา ไม่ใช่เรื่องเรา ไปชักชวนกันมานั่ง ๑๐ นาที ครึ่งชั่วโมง ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะว่าไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจอะไรขึ้น

. คิด เป็นบัญญัติใช่ไหม แต่ตัวคิดนั้นเป็นปรมัตถ์

สุ. แน่นอน

. เพราะฉะนั้น ขณะที่สติเกิด และตามมาด้วยบัญญัติ คือ ความคิด

สุ. สติเกิด หมายความถึงสติปัฏฐานหรือเปล่า ถ้าสติปัฏฐานเกิด ต้องมีลักษณะของปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ นี่ตายตัวเลย เวลาที่สติปัฏฐานเกิดต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ลักษณะของปรมัตถธรรม แม้แต่กำลังคิด ขณะที่สติเกิด สติจะต้องระลึกรู้ว่า สภาพที่คิดเป็นสภาพรู้คำ โต๊ะ เก้าอี้คิดไม่ได้

. ตอนที่สติเกิด เมื่อเป็นสติปัฏฐาน มักจะตามมาด้วยความคิดนึกเสมอ

สุ. ไม่ใช่ หมายความว่าสติปัฏฐานนั้นมีอะไรเป็นอารมณ์ หมายความว่า กำลังรู้ว่าที่กำลังคิดนั้น เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง

. คือ เป็นคนละขณะจิต ขณะจิตที่กำลังพิจารณา

สุ. กำลังคิด ไม่ใช่หมายความว่าให้เราไปหยุดคิด คิดก็คิดไป ตามเหตุปัจจัย แต่เมื่อสติเกิด ช่วงนั้นจะรู้ว่า ที่กำลังคิดเป็นสภาพรู้คำ นี่คือ การรู้ลักษณะของนามธรรม

. เมื่อสติเกิดขึ้นพิจารณาสภาพที่คิดนั้น ก็มักจะหยุดคิดต่อไป

สุ. ไม่สำคัญว่าจะหยุดคิด หรือไม่คิดเลย เพียงแต่ว่าประโยชน์ของสติ ที่เกิดขึ้นคืออะไร คือ เพื่อที่จะได้รู้ว่าขณะนั้นเป็นนามหรือเป็นรูป จะคิดต่อไป หรือ ไม่คิดต่อไป ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เหมือนอย่างความโกรธ เมื่อสติเกิด หลายคนบอกว่า ดีจังเลย หยุดโกรธ ก็ไปดีอีก ถ้ามีปัจจัยที่จะโกรธต่อ สติก็ระลึกต่อในลักษณะของความโกรธที่อาจจะเพิ่มขึ้นก็ได้ อาจจะลดลงไปก็ได้ อาจจะหยุดไปเลยก็ได้ คือ ไม่มีใครไปกะเกณฑ์ว่า ปัจจัยอะไรจะเกิดต่อจากนั้น แต่ไม่ว่าสภาพธรรมอะไรจะ เกิดต่อ สติก็ระลึกตาม เท่านั้นเอง โดยไม่คาดคะเนล่วงหน้า

. จะเป็นการตั้งใจเกินไปหรือเปล่า หรือเป็นตัวเป็นตนหรือเปล่าที่มีการเปรียบเทียบทางทวารทั้ง ๒ ทั้ง ๓

สุ. อย่ากังวลไปเลย เพราะตอนที่สติเกิดใหม่ๆ ตัวตนก็เจ้ากี้เจ้าการ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะค่อยๆ คลายลงด้วยปัญญาที่รู้ขึ้น

แม้แต่คำว่า เจริญสติ ที่ทรงใช้ กับ สติเจริญ ถ้าเข้าใจโดยความเป็นอนัตตาแล้ว ต้องเป็นสติที่เจริญ แต่เมื่อยังมีความเป็นตัวตนอยู่ แม้ว่าสติเกิด และสติค่อยๆ เจริญ ก็ยังคิดว่า เราเจริญสติ

เพราะฉะนั้น พยัญชนะ ๒ คำ ส่องถึงปัญญาแต่ละขั้น ปัญญาขั้นที่ สูงกว่านั้นก็รู้ว่าสติเจริญ ไม่มีเรา แต่ปัญญาขั้นต้นแม้ว่าสติเกิดและสติเจริญ ก็เข้าใจว่า กำลังเจริญสติ เพราะยังมีความเป็นตัวตนอยู่ เพราะฉะนั้น ใช้พยัญชนะอย่างไร ก็เข้าใจพระธรรมได้ตรงตามสภาพของความจริงด้วย และถึงเวลาที่ ความเข้าใจถูกโดยความเป็นอนัตตาเกิดก็จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนเลย เป็นสติต่างหาก ที่เจริญ เป็นมรรคมีองค์ ๘ ที่เจริญ แต่เมื่อมรรคมีองค์ ๘ ยังไม่ถึงขั้นที่จะเจริญจนกระทั่งคลายความเป็นตัวตน ก็เป็นเรากำลังเจริญมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ตอนต้นๆ ยังต้องมีตัวตนอยู่

. การที่เราเปรียบเทียบระหว่างทวารอย่างรวดเร็ว จะทำให้เห็นความ ไม่เป็นตัวเป็นตน

สุ. แยกโดยขั้นคิด เพราะขณะนั้นเป็นการเปรียบเทียบ เป็นการนึก ไม่ใช่เป็นสติปัฏฐาน

เปิด  233
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565