แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1670

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๓๐


. ในมหาสติปัฏฐานสูตร ทรงแสดงกายานุปัสสนาสติปัฏฐานหลายๆ บรรพ เช่น อิริยาปถบรรพ สัมปชัญญบรรพ ทรงแสดงไว้เพื่อให้เราพิจารณา ทางทวารทั้ง ๖ คือ มีสติสัมปชัญญะระลึกลักษณะสภาพที่กำลังปรากฏ เนื่องจาก ทุกวันๆ เราอยู่กับอิริยาบถเหล่านี้ จึงใช้อิริยาบถเหล่านี้มาเพื่อให้เราเจริญสติปัฏฐาน ใช่ไหม

สุ. ไม่ใช่การเลือกสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใด แต่มหาสติปัฏฐาน ชื่อก็บอกแล้วถึงความกว้างขวางว่า ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง จิตทุกประเภท รูปทุกชนิด เวทนาความรู้สึกทุกอย่าง ธรรมทุกอย่าง

เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ ไม่ควรหลงลืมสติ หรือ ไม่ควรคิดถึงสภาพธรรมที่ยังไม่ปรากฏ แต่ขณะนี้กำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏ สะสมการระลึกรู้ การสังเกต และการพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ่อยๆ เนืองๆ นั่นจึงจะเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

. ที่ท่านทรงแสดงให้พิจารณา เช่น อานาปานสติ หรืออาการ ๓๒ เหล่านี้ ก็ตรงกับการเจริญสมถภาวนา

สุ. มหาสติปัฏฐานกว้างขวางมาก ครอบคลุมทุกอย่าง ขณะนั้นจิตคิดอะไร ใครจะทำอะไร แล้วแต่สังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งของบุคคลนั้น แต่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมในขณะนั้น จึงจะเป็น สติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่ให้เลือก หรือไม่ใช่ให้เจาะจง

บางท่านเมื่อได้ฟังเรื่องของสาธยายๆ ก็คงจะสงสัยว่า ก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิด ต้องท่องไหม หรือควรท่องไหม แต่ถ้าเข้าใจถูกแล้วไม่มีปัญหาเลย ใช่ไหม เพราะว่าการเจริญสติปัฏฐานเป็นการระลึกได้ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ทันทีที่สติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ในขณะที่ท่อง หรือในขณะที่คิดว่าจะท่อง ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง รู้หรือไม่ว่าไม่ใช่ตัวตน ขณะที่กำลังคิด กำลังท่อง ก็เป็นนามธรรม ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่พิจารณาลักษณะของจิตในขณะที่กำลังคิด ขณะนั้นก็ต้องยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นเรา ซึ่งความจริงในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังเป็นสุข กำลังเป็นทุกข์ หรือกำลังคิด ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ก็ดับไป ดับไป อยู่ตลอดเวลา โดยไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา

เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ท่อง ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องเป็นในขณะที่สติระลึกได้ สังเกตลักษณะของสภาพธรรม แม้แต่ขณะที่กำลังคิดหรือท่อง ก็รู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง นั่นจึงจะเป็นการเจริญสติปัฏฐาน

ควรคิดถึงจุดประสงค์ที่จะท่องว่าเพื่ออะไร ทุกอย่างต้องมีเหตุผล ถ้าจะท่องท่องเพื่ออะไร เพื่อรอให้สติปัฏฐานเกิดหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่เพื่อรอให้สติปัฏฐานเกิด ทำไมต้องท่อง ในเมื่อสติระลึกทันทีได้

ขณะนี้กำลังเห็น สติเกิดระลึกทันที กำลังได้ยินเสียงปรากฏ สติเกิดระลึกทันที ทำไมต้องรอให้ท่องก่อน และจึงจะระลึกรู้

สติปัฏฐานเป็นขณะที่ระลึกรู้ แต่การท่องอาจจะไม่ได้พิจารณาว่า ขณะนั้น เป็นการรอให้สติเกิดหรือเปล่า แทนที่จะระลึกทันทีที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหปติวรรค กันทรกสูตร ข้อ ๑ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อคัคครา เขตนครจำปา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้งนั้น บุตรของนายควาญช้าง ชื่อเปสสะ และปริพาชกชื่อกันทรกะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้สรรเสริญภิกษุทั้งหลายซึ่งนั่งสงบเงียบ ไม่มีความรำคาญด้วยมือและเท้า และภิกษุ ทุกรูปไม่ได้คุยกันด้วยความเคารพในพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กันทรกะ ก็ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุทั้งหลายผู้อรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว มีประโยชน์ตนถึงแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบมีอยู่

ดูกร กันทรกะ อนึ่ง ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุทั้งหลายผู้ยังต้องศึกษา มีปกติสงบ มีความประพฤติสงบ มีปัญญา เลี้ยงชีพด้วยปัญญามีอยู่ เธอเหล่านั้นมีจิตตั้งมั่น ดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

นี่คือพระพุทธพจน์

ดูกร กันทรกะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก เสียได้ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

ไม่มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้ท่อง ใช่ไหม แต่ถ้าไม่ข้ามพยัญชนะ พิจารณาเห็นกายในกาย พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา พิจารณาเห็นจิตในจิต พิจารณาเห็นธรรมในธรรม

. คำว่า มีจิตตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ คำว่า จิตตั้งมั่น หมายถึงสมาธิ

สุ. ถ้าจะเข้าใจว่า มีจิตตั้งมั่นในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ได้ไหม แม้ว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ให้พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม แต่ก็จะไปทำอย่างอื่น อย่างนั้นจะชื่อว่าตั้งมั่นหรือเปล่า จะไปให้สมาธิเกิดอย่างนี้ อย่างนั้นชื่อว่าพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรมหรือเปล่า

. จะหมายถึงว่ามีความรู้ความเข้าใจมั่นคงในสติ

สุ. เป็นผู้ที่ตั้งมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน

. หมายความว่า อารมณ์ทั้งหลายที่ปรากฏ ก็รู้ว่าเป็นสภาวธรรมที่ …

สุ. เป็นผู้ที่ไม่ทำอย่างอื่น นอกจากเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ตั้งมั่น ในการเจริญสติปัฏฐาน

. เพราะอย่างนี้ สมัยนี้จึงคิดแบบวิธีที่จะให้สติเกิดตลอดเวลา กำหนดว่าจะต้องนั่งเท่านั้น จะต้องเดินเท่านี้

สุ. ข้อความในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่ได้ตรัสอย่างนี้เลย เพียงแต่พิจารณากาย ไม่ได้บอกให้ทำอย่างอื่น พิจารณาเวทนา ขณะนี้มีกาย มีจิต มีธรรม พิจารณา สะสมการสังเกต การพิจารณา

. ถ้าจิตจะตั้งมั่นได้ หมายความว่า ต้องตั้งมั่นอยู่ในกาย อยู่ในเวทนา ในจิต ในธรรมนี้เท่านั้น

สุ. ตั้งมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ไปทำอย่างอื่น

. เฉพาะในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ก็ครอบหมดอยู่แล้ว

สุ. ใช่ เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ตั้งมั่นในการเจริญ สติปัฏฐานก็อยากจะให้สมาธิเกิด หรืออยากจะท่อง หรืออยากจะทำอย่างอื่น มีวิธีต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นผู้ตั้งมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่ามักจะอยากให้ได้ผลเร็ว

ผู้ฟัง ผมฟังแล้ว ผมก็อยากจะพิสูจน์ธรรม อย่างที่พูดถึงการสาธยาย หรือ ท่อง ถ้าท่องว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก และได้บรรลุ ตั้งแต่วันนี้ผมท่องแน่ ๓ เดือน ๖ เดือน แต่ผมคิดว่า ไม่ผิดอะไรกับท่อง ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ .... ก็ไม่ได้พิจารณาอะไร

นี่เป็นการพิสูจน์ธรรม อย่างที่ท่านพระสาวกบอก ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ท่านไล่ไปแล้ว ในขณะนั้น ผม ท่านก็พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม และจิตของท่านจะปรากฏอย่างไร เราพิสูจน์เลยในขณะ ผม ขน เล็บ สติก็ระลึกได้ เสียงมา ก็ระลึกที่เสียง หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา พิสูจน์ คือ ระลึกทันที ผมว่าในขณะที่ ท่านสาวก ท่าน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เสียงที่ท่องไปหรือที่พูดไปอย่างนี้ สติ ของท่านคงจะระลึก แต่จะตรงไหน เราก็ตามท่านไม่ทัน

สุ. เวลานี้ท่านผู้ฟังกำลังท่องหรือเปล่า ข้อที่สำคัญที่สุด คือ เป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง สติปัฏฐานจะไม่ทำให้ท่านกลายเป็นบุคคลอื่น แต่รู้จักตัวเอง ขณะนี้ท่องหรือเปล่า ถ้าไม่ท่อง มีสภาพธรรมที่เป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรม ขณะนี้ ที่สติจะระลึกตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าให้ไปท่อง

แต่ท่านผู้ใดที่เคยอบรมเจริญสมถภาวนาจะโดยอานาปานสติ หรือกายคตาสติหรือปฏิกูลมนสิการก็ตาม นั่นเป็นอัธยาศัย เป็นสิ่งที่เมื่อท่านระลึกได้ถึงผม ขณะนั้นสติปัฏฐานรู้ว่า เป็นการคิด เป็นนามธรรม เป็นสภาพคิด

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจึงครอบคลุมทุกบุคคล แต่ไม่ใช่หมายความว่า ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดไปทำสิ่งที่ไม่มีในขณะนั้น เช่น ขณะนี้กำลังเห็นก็จะไปท่อง นั่นไม่ใช่เป็นผู้ที่ตั้งมั่นในการพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ไปรออะไร ไปรอที่จะให้สติปัฏฐานเกิด แต่ไม่รู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏแล้ว

. การเจริญสติปัฏฐานมี ๒ อย่าง คือ รู้กับละ รู้ได้ ๒ อย่าง คือ รู้ด้วยปัญญา หรือรู้ด้วยสัญญา ถ้ารู้ด้วยปัญญาคงจะละได้ ถ้ารู้ด้วยสัญญาคงจะ ละไม่ได้ ถามอาจารย์ว่า ตั้งแต่อาจารย์บรรยายมา รู้ด้วยปัญญามีหรือไม่

สุ. คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้

. ก็พอจะสังเกตได้

สุ. ถ้าสังเกตได้ จะถามไหม

. ถ้ารู้ด้วยปัญญาคงจะละได้ แต่ถ้ารู้ด้วยสัญญาไม่ว่าจะมากขนาดไหน คงจะละไม่ได้

สุ. สัญญามีอัตตสัญญา กับอนัตตสัญญา

. ถ้ารู้ด้วยปัญญา ต้องรู้ด้วยปรมัตถ์ ย่อมต้องละได้แน่ๆ

สุ. ก่อนนามรูปปริจเฉทญาณ มีการฟังเรื่องนามธรรมและรูปธรรม แต่ตราบใดที่ยังเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ ก็ยังเป็นอัตตสัญญาอยู่

. อย่างนี้ก็ยังรู้ไม่จริง

สุ. ต้องอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และเป็นผู้ที่อดทน และเป็นผู้ที่ตั้งมั่นในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

. เวลาคนอื่นมีความทุกข์หรือมีความสุข เราก็รู้ได้ ในการเจริญ สติปัฏฐาน เราพิจารณาตามดูเวทนาของคนอื่นได้ไหม

สุ. ดูช่างอยากจะไปทำอะไรต่างๆ ซึ่งขณะนี้ก็มีกายของเรา ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา และก็มีความรู้สึกของเราด้วยที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ทำไมยังจะต้องไปขวนขวายที่จะเอากายคนอื่น เอาเวทนาคนอื่น เอาจิตคนอื่น เอาธรรมคนอื่น มาพิจารณา

นี่เป็นเรื่องของการที่ไม่รู้ว่า วันหนึ่งๆ ความคิด คิดมากทุกเรื่อง และ เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แม้ว่าไม่มีเลย เช่น นวนิยายต่างๆ หรือเรื่อง ต่างๆ ในโทรทัศน์ ละครต่างๆ มีตัวจริงๆ หรือเปล่า แต่ในความรู้สึกเหมือนมี ทั้งๆ ที่ไม่มี ยังพอใจที่จะคิดถึงเรื่องนั้น คนนี้ บทคนนั้น บทคนนี้ ความรู้สึกคนนั้น ความรู้สึกคนนี้ แต่จริงๆ แล้ว ขณะนั้นเป็นจิตของตัวเองที่นึกถึงเรื่องคนอื่น

. หมายความว่าเวทนาของคนอื่น หรือจิตคนอื่น …

สุ. คิดว่าเป็นเวทนาของคนอื่น นึกถึงสภาพของเวทนา และคิดว่าเป็นของคนอื่น แต่ขณะนั้นเป็นจิตที่คิด เพราะฉะนั้น ต้องรู้ความจริงว่า ไม่มีใคร ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลจริงๆ มีแต่ความคิด ซึ่งคิดวิจิตรมาก มีคนเต็มไปหมด ซึ่งความจริงแล้ว ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

ข้อความต่อไปในพระสูตรนี้มีว่า

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นายเปสสหัตถาโรหบุตรได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า

น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าข้า ไม่เคยมี พระพุทธเจ้าข้า สติปัฏฐานนี้ พระองค์ทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วง ความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ที่จริงแม้พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาว ก็ยังมีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้อยู่ตามกาลที่สมควร ขอประทานพระวโรกาส พวกข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นธรรม ในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก เสียได้

น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าข้า ไม่เคยมี พระพุทธเจ้าข้า เพียงเท่านี้ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าย่อมทรงทราบประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ของสัตว์ทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์รกชัฏเป็นไปอยู่อย่างนี้ ในเมื่อมนุษย์เดนกาก เป็นไปอยู่อย่างนี้ ในเมื่อมนุษย์โอ้อวดเป็นไปอยู่อย่างนี้ ก็สิ่งที่รกชัฏคือมนุษย์ สิ่งที่ตื้นคือสัตว์

ถ้าพิจารณาโดยละเอียด จะเห็นว่าเป็นเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานตามปกติตามความเป็นจริง เรื่องของการพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ที่นายเปสสหัตถาโรหบุตรกล่าวว่า

น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าข้า ไม่เคยมี พระพุทธเจ้าข้า เพียงเท่านี้ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าย่อมทรงทราบประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ของสัตว์ทั้งหลาย

ทุกท่านมีสิ่งที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ในเมื่อมนุษย์รกชัฏเป็นไปอยู่อย่างนี้ มนุษย์รกชัฏ คือ มนุษย์ที่มากมายหนาแน่นด้วยกิเลส เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นประโยชน์ของมนุษย์รกชัฏ คือ ขณะที่เป็นกุศล สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ของมนุษย์รกชัฏ คือ ขณะที่เป็นอกุศล

เป็นชีวิตจริงๆ ของทุกคนที่ว่า มนุษย์รกชัฏเป็นไปอยู่อย่างนี้ คือ หนาแน่นด้วยกิเลสอย่างนี้ แต่พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของ สัตว์ทั้งหลาย และยังทรงแสดงธรรม เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

และข้อความที่ว่า แท้จริงแม้พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาว คนสมัยนี้ก็อาจจะคิดว่า การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมหรือเป็นอุบาสกอุบาสิกา จะต้อง นุ่งผ้าขาว แต่ความจริงแล้วผ้าขาวเป็นเครื่องหมายของคฤหัสถ์ซึ่งต่างกับบรรพชิตเท่านั้น เพราะว่าบรรพชิตมีเสื้อผ้าที่เศร้าหมอง ได้แก่ จีวร ซึ่งต้องย้อมด้วยน้ำฝาด ทำให้เป็นผ้าที่หมดราคา ไม่เป็นที่ต้องการของโจรหรือผู้อื่นที่ต้องการจะลักขโมยเอาไป แต่คฤหัสถ์ผ้าขาวถือว่าเป็นผ้าที่สวยงาม และสำหรับเจ้าลิจฉวีเวลาไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ก็แต่งกายด้วยสีต่างๆ เหมือนกับเทพที่มีเสื้อผ้าอาภรณ์สีต่างๆ เพราะฉะนั้น ผ้าขาวเป็นเพียงเครื่องหมายของคฤหัสถ์ที่ต่างกับจีวรที่เป็นผ้ากาสายะของบรรพชิตเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า คฤหัสถ์จะต้องนุ่งห่มผ้าสีขาว

และเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจำแนกบุคคล ๔ ให้นายเปสสะฟังแล้ว ก็ได้ตรัสถามว่า ในบรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ จำพวกไหนจะยังจิตของนายเปสสะให้ยินดี

นี่คือพระธรรมที่ทรงแสดง ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งอัธยาศัยของสัตว์โลกโดยละเอียด โดยถี่ถ้วน จึงไม่ได้ทรงแสดงให้ท่อง หรือ ให้สาธยาย แต่ทรงแสดงบุคคล ๔ จำพวก และได้ถามนายเปสสะว่า ในบรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ บุคคลพวกไหนที่เป็นที่ยังใจของนายเปสสะให้ยินดี

พวกที่ ๑ คือ ผู้ที่ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบการขวนขวายในการทำตน ให้เดือดร้อน

พวกที่ ๒ คือ ผู้ที่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบการขวนขวายในการทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน

พวกที่ ๓ คือ ผู้ที่ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบการขวนขวายในการทำตน ให้เดือดร้อน และทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบการขวนขวายในการทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน

พวกที่ ๔ คือ ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ที่ ประพฤติธรรม เป็นพระอรหันต์

ซึ่งนายเปสสะได้กราบทูลว่า

บุคคล ๓ จำพวกแรกไม่ยังจิตของเขาให้ยินดีได้ แต่บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบการขวนขวายการทำตนให้เดือดร้อน เขาไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบการขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่มีความหิว (หิว คือ โลภะ แต่ท่านผู้นี้ไม่มีความหิว) ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหม อยู่ในปัจจุบัน ย่อมยังจิตของเขาให้ยินดีได้

เมื่อนายเปสสหัตถาโรหบุตรกราบทูลเหตุผลในการที่พอใจในบุคคลจำพวกที่ ๔ แล้ว ก็กราบทูลลาไป

เปิด  225
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565