แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1667

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๐


. ในปฏิกูลมนสิการบรรพ มีเรื่องในอรรถกถาธรรมบทว่า พระที่สาธยายอาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เรื่อยไปจนถึงเยื่อในสมอง ปรากฏว่า ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา และอุบาสิกาที่เรียน การสาธยายอาการ ๓๒ กับพระ ก็สำเร็จเป็นพระอนาคามี และสำเร็จก่อนด้วย อาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ... พวกนี้ก็เป็นสมมติบัญญัติทั้งนั้น ใช่ไหม

สุ. ถูกต้อง

. แต่ทำไมท่านสาธยายแล้ว ท่านบรรลุ

สุ. ก็น่าคิด และควรคิดถึงพระสูตรอื่นๆ อีกมากมายด้วยว่า ผู้ที่ไม่ได้สาธยายทำไมท่านบรรลุ คิดว่าสาธยายแล้วจะบรรลุ แต่ก็ยังสงสัยว่าบรรลุได้อย่างไร ในสูตรอื่นๆ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้ฟังธรรม ไม่ได้สาธยายอะไร ทำไมได้บรรลุเพียงการฟังธรรม และบางท่านกำลังทำอาหารอยู่ในครัว ไม่ได้สาธยายอะไร ทำไมถึงได้บรรลุ

คำถามมีว่า ทำไมจึงได้บรรลุ

เพราะฉะนั้น ตัดเรื่องสาธยาย ตัดเรื่องอื่นทั้งหมดได้ เพราะไม่ว่าจะยก เรื่องหนึ่งเรื่องใดขึ้นมา ก็เป็นปัญหาที่ว่าทำไมจึงได้บรรลุ ทำไมสาธยายจึงได้บรรลุ ทำไมไม่สาธยายจึงได้บรรลุ เพราะฉะนั้น ที่จะบรรลุได้ เพราะอะไรกัน

. คงจะไม่เป็นเพราะสาธยาย

สุ. ผู้ที่ไม่สาธยายทำไมบรรลุ จำนวนมากด้วย เพราะฉะนั้น อะไรกันแน่ ที่ทำให้บรรลุ

. การพิจารณาที่ยกเอาผม ขน เล็บ แต่ละอย่างๆ มาแยกกระจาย พิจารณาแยกเป็นส่วนต่างๆ ทั้ง ๓๒ และเห็นว่านี่แหละเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน อย่างนี้เป็นความคิด ใช่ไหม

สุ. แน่นอน เพราะฉะนั้น หนทางที่ทรงแสดงไว้ และยืนยันว่าต้อง เป็นหนทางเดียวเท่านั้น คือ สติปัฏฐาน

. ขณะที่ระลึกถึงผม หรืออาการ ๓๒ จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งก็แล้วแต่ ขณะนั้นถ้าสติจะระลึกรู้ ไม่ให้เป็นบัญญัติ จะเป็นอย่างไร

สุ. ลักษณะอะไรปรากฏทางตา ลักษณะอะไรปรากฏทางหู ลักษณะอะไรปรากฏทางจมูก ลักษณะอะไรปรากฏทางลิ้น ลักษณะอะไรปรากฏทางกาย ลักษณะสภาพธรรมอะไรปรากฏเกิดขึ้นทางใจ

. ต้องเอาลักษณะสภาวะ

สุ. แน่นอนที่สุด ต้องเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมเท่านั้น

. คิดถึงผม ขน เล็บ นั่นไม่ใช่สภาวธรรม เป็นเรื่องคิดนึกถึงเรื่องราว คิดถึงชื่อธรรม

สุ. วันหนึ่งๆ ความคิดของแต่ละคนมากมายนับไม่ถ้วน มีใครนับความคิดของท่านเองได้บ้างไหมว่า คิดเรื่องอะไรบ้างในวันหนึ่งๆ ก็นับไม่ได้ เมื่อนับไม่ได้ พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงวิธีอะไรหรือเปล่า ในเมื่อความคิดของแต่ละคนเกิดขึ้นโดยความเป็นอนัตตาจริงๆ โดยสังขารขันธ์ โดยการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น แต่ละขณะจิตเป็นสภาพธรรมที่ เป็นอนัตตา โดยขณะที่คิดเป็นเพียงสภาพของนามธรรมชนิดหนึ่งที่คิดเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไร

วันนี้ทุกคนต้องคิดเรื่องผม ถูกไหม เวลาเห็นผม เพราะอะไร ทุกคนมีผม ก็ต้องคิดเรื่องผม ต้องคิดแน่ๆ แต่จะคิดอย่างไร ห้ามได้ไหม เมื่อห้ามไม่ได้ บางคนเป็นกุศล บางคนเป็นอกุศล แล้วแต่ แต่ไม่ว่าจะเป็นการคิดที่เป็นกุศลโดยเห็นความเป็นปฏิกูลละคลายความติดความพอใจก็ตาม ก็ต้องไม่ลืมว่า สติปัฏฐาน คือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

คนที่กำลังพอใจในผมที่สวย สติปัฏฐานเกิดได้ไหม หรือห้ามว่าเกิดไม่ได้ สติปัฏฐานเกิดได้ไหม กำลังพอใจในผมที่สวย สติปัฏฐานระลึกลักษณะสภาพของแข็งที่กระทบสัมผัสได้ ระลึกลักษณะของสี สิ่งที่ปรากฏทางตาได้ ระลึกถึงลักษณะความคิดในสัณฐานได้ ระลึกลักษณะของโสมนัส ความยินดีพอในใจในขณะนั้นได้ ส่วนคนที่ท่องผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แต่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะสามารถบรรลุอริยสัจจธรรมได้ไหม

เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ศึกษาพิจารณาธรรมโดยละเอียด โดยนัยของกุศล ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถะ คือ ความสงบ ดับกิเลสไม่ได้ เพราะไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา สะสมการสังเกต การพิจารณา การรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เกิดดับตามเหตุตามปัจจัยตามปกติ และเมื่อไม่รู้ ต้องเริ่มสะสมการระลึกรู้และการสังเกตลักษณะของสภาพธรรม จะได้รู้ว่า ถ้าระลึกถึงด้วยความเป็นปฏิกูล จิตอาจสงบ แต่ไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส มิฉะนั้นต้องมีผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมก่อนพระผู้มีพระภาค เพราะว่ามีผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาถึงขั้นฌานที่เป็นอรูปฌานขั้นสูงสุด แต่ก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

เพราะฉะนั้น ถ้าใครคิดถึงผมและเกิดโลภะ ใครคิดถึงผมและเกิดโทสะ ใครคิดถึงผมและเกิดกุศล ใครคิดถึงผมจิตสงบเพราะกุศล ใครคิดถึงผมและสติระลึกลักษณะของสภาพปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น หนทางใดที่จะทำให้ รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

แต่ไม่ใช่หมายความว่า ทุกคนต้องคิดเหมือนกัน นี่ไม่มีในพระไตรปิฎกเลย เพราะว่านานาจิตตัง วันหนึ่งๆ ทุกคนมีความคิดมากมาย เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี แต่ทุกคนจะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงเมื่อสติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะแม้ขณะที่คิด ไม่ว่าจะคิดด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต ด้วยโลภะหรือด้วยโทสะก็ตาม ขณะนั้น เป็นสติปัฏฐานได้ เพราะว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละประเภทที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

ผู้ที่บรรลุโดยไม่ท่อง ไม่สาธยาย มีมากกว่า ถ้าอ่านในพระไตรปิฎกจะเห็นได้ในแต่ละสูตร

. เรื่องของการท่อง อย่างการสาธยายอาการ ๓๒ และขันธ์ ๕ โดยอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด คือ ให้แยบคายขึ้น แจกแจงให้ ละเอียดขึ้นทุกทีๆ โดยให้รู้สภาวธรรมต่างๆ การท่องอย่างนั้นบ่อยๆ จะเป็น เหตุปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดหรือเปล่า

สุ. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมว่าให้ท่องหรือเปล่า ถ้าเห็นว่า การท่องมีประโยชน์ ขณะนี้ทุกท่านไม่ควรฟังพระธรรม จงมาท่องกันเถอะในขณะนี้ เพื่อสติปัฏฐานจะได้เกิด แต่ทำไมพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติของแต่ละบุคคลเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ถ้าเป็นโดยนัยว่าการท่องมีประโยชน์ พระธรรมทั้งหมดจะไม่เกื้อกูลและ ไม่มีความจำเป็นเลย เป็นการเสียเวลาเปล่าที่จะแสดงเรื่องของจิต หรือเจตสิก หรือรูป หรือนิพพาน หรือแม้แต่พระสูตร หรือพระวินัย ก็เป็นสิ่งไม่จำเป็น ควรที่จะท่องๆ เพื่อให้เกิดปัญญาหรือว่าเกิดสติ

. อย่างพระที่สวดอภิธรรม และศึกษา หมั่นสาธยายบ่อยๆ ซึ่งคล้ายกับการท่อง จะเป็นประโยชน์อะไรกับพระภิกษุ

สุ. เวลาที่ฟังพระธรรม ประโยชน์ที่ท่านผู้ฟังได้รับคืออะไร

. ก็แล้วแต่ อาจจะทำให้สติเกิดได้ อาจจะทำให้เข้าใจสภาวธรรมได้ด้วย แล้วแต่ความเข้าใจของผู้ฟังแต่ละคน

สุ. สิ่งสำคัญที่สุด คือ ฟังเพื่อเข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจถูกซึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิ จะทำให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ฟัง แต่ถ้า ไม่เข้าใจ อย่างเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือสภาพธรรมต่างๆ นามธรรม รูปธรรมต่างๆ เพียงบอกว่าเห็นเป็นนาม สีเป็นรูป จะมีประโยชน์อะไรไหม

ผู้ที่เป็นสาวก ได้ฟังพระธรรมในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ปัญญาของท่านเหล่านั้นไม่น้อยเลย ท่านต้องมีความเข้าใจแม้ว่าทรงแสดงพระธรรมโดยย่อ โดยสั้น แต่ท่านเหล่านั้นก็ยังติดตามเพื่อฟังส่วนที่ละเอียด เพื่อประโยชน์ต่อการที่จะได้เข้าใจสภาพธรรมนั้นๆ และสติปัญญาของท่านก็เพิ่มพูนขึ้นตามลำดับขั้น ซึ่งเกิดจากการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดขึ้นๆ ไม่ใช่เห็นว่า แค่นี้พอแล้ว หรือสามารถที่จะท่องไปๆ และปัญญาจะเกิดได้

ถ้าเป็นอย่างนั้น จะไม่ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียดเป็นแน่ จนกระทั่ง คนในยุคนี้สมัยนี้คิดว่าละเอียดเกินไปด้วยซ้ำ ใช่ไหม เวลาอ่านพระไตรปิฎกก็บอกว่า ทำไมซ้ำๆ อย่างนี้ กล่าวแล้วกล่าวอีก ข้อความที่กล่าวไว้ในสูตรนั้น ก็ยังกล่าวไว้ ในสูตรนี้อีก แต่ไม่ได้มีพยัญชนะที่บอกว่าให้ท่อง แต่ทรงแสดงธรรมเพื่อให้เข้าใจ

ผู้ฟัง การสาธยายที่มีผู้เรียนถามอาจารย์ ไม่ใช่ท่องโดยไม่รู้ความหมาย ตามหลักฐานเดิมท่านบอกว่า ท่อง หรือสาธยาย อย่าลืม คนอินเดียสมัยพุทธกาลนั้นพูดภาษามคธ หรือพูดภาษาบาลี ฉะนั้น เขารู้ความหมาย เขาเข้าใจ แต่คนไทย พูดภาษาบาลี ฟังเท่าไรๆ ก็ไม่รู้ สวดอภิธรรมผมได้ยินมาตั้งแต่เล็ก ยังไม่รู้ความหมายเลย กุสลา ธัมมา หรือ เหตุปัจจโย ... ก็ไม่รู้ความหมาย สวดกันมากมาย มีคนฟังสวดและสำเร็จไปแล้วบ้างไหม เพราะฉะนั้น สวดแล้วไม่ได้อะไร เพราะไม่เข้าใจความหมาย

คำว่า สาธยาย หรือ ท่อง หลักฐานดั้งเดิมท่านบอกว่า ต้องเข้าใจความหมาย ถ้าไม่เข้าใจความหมาย สิ่งที่ท่องไปนั้นก็เป็นแบบโบราณว่า นกแก้ว นกขุนทอง

มีมนต์อยู่บทหนึ่งซึ่งอาจารย์เห็นว่าลูกศิษย์คนนี้ไม่ฉลาด แต่มีความกตัญญู ก็อยากจะเกื้อกูลอนุเคราะห์ให้อาศัยมนต์นี้ไปเลี้ยงชีพ จึงสอนมนต์ให้ท่อง ให้จำได้ มนต์นั้นมีว่า ฆเตติ ... ผมเห็นเขาเอามาพิมพ์แจกว่าเป็นมนต์ป้องกันอันตราย ลูกศิษย์คนนี้เมื่อกลับมาแล้ว ญาติพี่น้องก็ต้อนรับอย่างดี ถือว่าเป็นผู้เรียนสำเร็จกลับมา จนกระทั่งวันหนึ่งมีโจรเข้ามาขโมยของตอนดึก มาณพนั้นก็ท่องมนต์ตามปกติ โจรได้ยินเปิดเลย เพราะโจรฟังรู้เรื่องมนต์บทนี้ แต่คนไทยฟังไม่รู้ ความหมายคือ พยายามเข้าไปเถอะๆ ถึงแกจะพยายามอย่างไร ฉันก็รู้

โจรคิดว่า มีคนคอยจ้องดูอยู่ ก็หนีไป ไม่กล้าเข้าไปในบ้าน มนต์บทนี้ถ้า เพียงท่อง ท่องให้ตาย สมัยนี้โจรไม่กลัวหรอก เพราะโจรฟังไม่รู้เรื่อง

เพราะฉะนั้น ประโยชน์ที่จะได้จากการท่อง คือ ความเข้าใจ ถ้ายังไม่เข้าใจ ท่องเท่าไรๆ ก็ไม่ได้ประโยชน์

. ลืมบอกไปว่า ผู้ที่กล่าวเรื่องนี้เขาบอกว่า ให้ศึกษาในสำนักของอาจารย์ให้เชี่ยวชาญชำนาญจนเข้าใจในอรรถและพยัญชนะ สามารถแยกได้ละเอียดถึงขันธ์ ๕ ทั้งหลาย และหมั่นสาธยายบ่อยๆ จะช่วยให้สติเกิดมากขึ้น จริงหรือเปล่า

สุ. ขอให้ท่านผู้ฟังคิดดูว่า ขณะที่กำลังท่อง จะละความยึดถือว่าเป็นตัวตนได้เมื่อไร และเพราะอะไร เพราะว่าสติปัฏฐานต้องเป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพื่อละการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นว่าเป็นตัวตน

เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังท่อง รู้อะไร จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน ที่กล่าวว่าไปศึกษาที่สำนักอาจารย์จนกระทั่งมีความเข้าใจละเอียดดีแล้ว จึงควรท่องเพื่อให้สติเกิด แต่ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้นเลย เพราะว่าจุดประสงค์ของการ ที่จะท่องก็เคลื่อนแล้ว โดยการที่ว่าต้องการให้สติเกิด

เรื่องของโลภะ เป็นเรื่องที่ละยากที่สุด ใครก็ตามที่หาวิธีหนึ่งวิธีใดที่จะทำให้ สติเกิดบ่อย เกิดมาก ผู้นั้นจะไม่เจริญปัญญา เพราะไม่รู้ว่าขณะนั้นเพราะอะไร จึงแสวงหาทางที่จะให้สติเกิดมาก แต่ถ้าเป็นการศึกษาพระธรรมและเข้าใจจริงๆ รู้ในลักษณะที่เป็นอนัตตาจริงๆ แม้แต่เพียงฟังปัญหานี้ ก็จะต้องพิจารณาว่า ในขณะที่กำลังท่อง สติต้องระลึกอะไรและปัญญาต้องรู้อะไร จึงจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้

ต้องรู้ว่าขณะที่กำลังคิดเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่หวังรอท่องเพื่อให้สติ ไประลึกลักษณะของเห็นที่กำลังท่อง หรือไประลึกลักษณะของได้ยินที่กำลังท่อง หรือไประลึกรู้ลักษณะของกลิ่น ของรส ของโผฏฐัพพะที่กำลังท่องเรื่องขันธ์ ๕ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่ท่องไปเพื่อหวังคอยให้สติไประลึก

แต่เมื่อเป็นสติปัฏฐาน ต้องสามารถแยกโลกของปรมัตถ์กับโลกของบัญญัติได้ เพราะว่าในขณะนี้ ทุกคน ปรมัตถธรรมปรากฏทางตา เล็กน้อย สั้นมาก หลังจากนั้นก็บัญญัติ ถ้าไม่คิดไม่มีบัญญัติ มีแต่ปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ ทางตา ปรมัตถธรรมปรากฏ ในขณะที่ไม่ได้คิดเลย เป็นปรมัตถธรรม แต่เมื่อเห็นเป็นสัตว์ บุคคล วัตถุสิ่งต่างๆ ขณะนั้นคิด

ขณะที่ได้ยินเสียงทางหู เสียงเป็นปรมัตถธรรม แต่ขณะที่กำลังเข้าใจคำ หรือความหมายของคำที่พูด ขณะนั้นเป็นจิตที่คิด คือ มโนทวารวิถีจิตที่เกิดต่อจาก ทางตาบ้าง มโนทวารวิถีจิตที่เกิดต่อจากทางหูบ้าง มโนทวารวิถีจิตที่เกิดต่อจาก ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนั่นเอง เพราะฉะนั้น ปัญญาจะต้องสามารถรู้ว่า ปรมัตถธรรมที่ปรากฏไม่ใช่ขณะที่จิตคิด เป็นเรื่องของปรมัตถธรรมนั้นๆ

ขณะที่กำลังคิดเรื่องผม สติไม่ได้ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม แต่เป็น การคิด ขณะนั้นเป็นตัวตนที่กำลังคิด เพราะฉะนั้น ที่จะละความเป็นตัวตนที่จะเป็นสติปัฏฐานได้ ทุกขณะ ไม่ใช่แต่ขณะที่คิดเรื่องผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรือขณะที่พยายามจะท่อง ซึ่งผิดไปแล้ว เรียกว่า เพี้ยนไป คลาดเคลื่อนไป ด้วยความต้องการ ที่จะหาวิธีที่จะทำให้สติเกิดมากๆ ซึ่งนั่นคือลักษณะของโลภะ

ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ต้องรู้ว่า เพียงคิด ขณะไหนก็ตาม ขณะนั้นเป็น สภาพนามธรรมชนิดหนึ่งที่จะต้องรู้ว่า แม้ความคิดก็ดับ เพราะไม่ได้มีความคิดติดต่อไปตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน เพราะเหตุใด ก็เพราะว่าปรมัตถธรรมกำลังปรากฏ สลับกับความคิด

เปิด  254
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565