แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1668

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๐


สุ. ทางตาที่เห็นเป็นปรมัตถธรรมปรากฏ และคิด ทางหูที่ได้ยินเป็น ปรมัตถธรรมปรากฏ และคิด เพราะฉะนั้น ความคิดหรือจิตที่คิดทางมโนทวารวิถี ที่เป็นมโนทวารวิถีจิตนั้นก็ดับด้วย ไม่ใช่ไม่ดับ และปัญญาจะรู้ว่า คิดไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ว่าคิดเรื่องอะไรทั้งสิ้น

แต่ไม่ใช่เป็นการไปท่องโดยหวังรอที่จะให้สติปัฏฐานเกิด และไประลึกลักษณะของขันธ์หนึ่งขันธ์ใด ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจะต้องรู้ว่า ขณะที่คิดนั่นเองเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง แยกออกจากปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมที่เป็นรูปธรรมที่ปรากฏทางตา หรือว่าจิตที่คิด ซึ่งเป็นนามธรรมที่กำลังคิดเรื่องบัญญัติต่างๆ จึงจะเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ ไปท่อง ไปสงบ และไม่รู้ลักษณะของจิตที่คิดทางมโนทวารซึ่งสลับกับทางปัญจทวาร

. ผมเข้าใจอย่างนี้จะถูกหรือเปล่า คือ สภาวธรรมมีอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะไปท่อง ถ้าศึกษาและเข้าใจอรรถและพยัญชนะแล้ว ขณะใดสติระลึกรู้ว่าหลงลืมสติ ขณะนั้นก็สามารถพิจารณาสภาพธรรมได้ เพราะสภาพธรรมมีตลอดเวลา และระลึกรู้ได้ ไม่จำเป็นต้องไปท่องพิจารณาไล่ไปตามลำดับ

สุ. ถูกต้อง และตรวจสอบได้กับมหาสติปัฏฐานสูตรทั้ง ๔ สติปัฏฐาน ไม่ได้บอกไว้เลยว่าให้ท่อง แต่ให้สติระลึกลักษณะของกาย ลักษณะของเวทนา ลักษณะของจิต ลักษณะของธรรม คือ ในขณะนี้เองที่กำลังปรากฏ

ความคิดนึกนี่ ไม่ต้องไปส่งเสริม ทุกคนคิดจนกระทั่งปิดบังลักษณะของ ปรมัตถธรรมแล้ว แม้ว่าปรมัตถธรรมมีก็ไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมว่า เป็นปรมัตถธรรม เพราะว่าความคิดไปยึดถือปรมัตถธรรมที่เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว โดยวิปลาสที่เห็นแตกต่างไปจากสภาพธรรมตามความเป็นจริงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปสร้างวิธีหนึ่งวิธีใดขึ้นมาเป็นแบบที่จะยึดถือ ที่จะติดข้อง ที่จะกั้นไม่ให้สติเกิดในขณะนี้โดยที่ยังไม่ทันท่อง

ทางตากำลังเห็น สติก็ระลึกได้ ทางใจที่คิด ก็รู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งคิด และจะรู้ได้ว่าโลกของบัญญัติอยู่ที่โลกของความคิดทั้งหมด แต่โลกของปรมัตถ์ก็ สลับกับโลกของบัญญัติด้วย ไม่ใช่มีแต่ความคิดอย่างเดียว

ในขณะที่ท่อง ไม่ได้รู้โลกของปรมัตถ์ที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดทั้ง ๖ ทางเลย แต่มุ่งไปด้วยความหวังว่าจะท่องเพื่อให้สติเกิด โดยที่ไม่รู้ว่า ถ้าสังขารขันธ์ คือ การฟังจนกระทั่งเข้าใจในสภาพที่เป็นอนัตตาแล้ว ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่คิด ไม่ใช่ในขณะที่ท่อง สติปัฏฐานก็เกิดโดยความเป็นอนัตตา เพราะว่า จะท่องหรือไม่ท่องก็คือความคิด ซึ่งแล้วแต่ว่าจะคิดเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ผู้ฟัง ขอเพิ่มเติมเรื่องสาธยาย คือ เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานหรือ การเจริญวิปัสสนานี้ เป็นเรื่องการอบรมเจริญ ต้องอบรม คือ ฝึกฝน ฝึกจิต ต้องฝึกอยู่เรื่อย พระธรรมเป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจประกอบ และต้องฝึก ถ้าท่อง สติปัฏฐานเกิดไม่ได้ จะต้องระลึก สภาพธรรมต้องระลึก จะไปใช้คำมาท่องไม่ได้ ต้องฝึก ต้องอบรม ใช้ท่องไม่ได้ แม้กระทั่งการบรรยายของอาจารย์ที่นี่ ก็มีผู้ที่ท่องได้คล่อง แต่เวลาอาจารย์ถามว่า เห็นมีไหม ก็ไม่เข้าใจ การฝึกอบรมเจริญสติปัฏฐาน สำคัญมาก เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องท่อง

สุ. ขออนุโมทนาที่ให้ข้อคิดในเรื่องของธรรม ซึ่งไม่ควรจะค้างไว้เพียงแค่ว่าเป็นการฝึกอบรมหรือสะสม แต่ต้องรู้ให้ชัดยิ่งไปกว่านั้นอีกว่า ฝึกอบรมสะสมอะไร ที่จะเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งก็คือฝึกอบรมสะสมการสังเกต การพิจารณา การระลึก การรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

คือ ปัญญาที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน จะต้องประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมว่าเป็นนามธรรม จึงไม่ใช่เรา รู้ในลักษณะของรูปธรรมว่าเป็นรูปธรรม จึงไม่ใช่เรา เวลานี้ทั้งๆ ที่นามธรรมก็เกิด เห็นก็เป็นนามธรรม ได้ยินก็เป็นนามธรรม คิดนึกก็เป็นนามธรรม รูปธรรมก็มี คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นรูปธรรม เสียงก็เป็นรูปธรรม แต่ทำไมไม่ปรากฏ ก็เพราะว่ายังไม่ได้สะสมอบรมการสังเกต การระลึกได้ การศึกษา การพิจารณาพร้อมสติ ในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ กำลังปรากฏ

เมื่อกล่าวถึงว่าเป็นการอบรม เป็นการสะสม ก็ควรที่จะได้เพิ่มเติมว่า เป็นการอบรมสะสมการระลึกรู้ พร้อมการสังเกต พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าเป็นโดยลักษณะนี้ ก็ตัดปัญหาเรื่องท่องไปได้เลย ใช่ไหม เพราะในขณะนั้น ไม่ใช่การสะสมการสังเกต การระลึกรู้ การพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานสามารถรู้ได้ว่า ขณะไหนเป็นสติปัฏฐาน ขณะไหนเป็นการคิดเรื่องนามธรรมและรูปธรรม

. ก่อนได้มาฟังพระธรรม เวลาถูกเขาหมิ่นประมาท กล่าวคำหยาบด่าว่า เราเดือดร้อนมาก เกิดการทะเลาะวิวาท ต่อมาเมื่อฟังพระธรรมบ่อยๆ นานๆ เข้า ยิ่งได้อ่านศึกษาเรื่องอภิธรรม ก็รู้ว่ามีแต่รูปกับนาม เวลาถูกคนอื่นหมิ่นประมาทด่าว่า เกิดนึกขึ้นได้ว่า นั่นเป็นเพียงรูปกับนามเท่านั้น เสียงนั้นเป็นเพียงจิตตชรูป นามนั้นเป็นโทสมูลจิต เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย นึกได้อย่างนี้แล้ว ความเดือดร้อนก็น้อยลง เวลาที่นึกได้อย่างนี้ เป็นสติหรือเปล่า

สุ. เป็นสติที่ระลึกได้ และจะเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรมจริงๆ ว่า ไม่ใช่ว่าจะต้องมีสติปัฏฐานอยู่ตลอดเวลา แต่สติจะเกิดโดยการที่ระลึกได้ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของกุศลจิตหรืออกุศลจิตก็ตาม ในวันหนึ่งๆ ถ้าในขณะที่อกุศลจิตเกิด และสติไม่ระลึกเลย เช่น บางวันหรือทุกวันก็ได้ ตั้งแต่เช้าตื่นมาทุกคนชินกับกระแสของอกุศล อกุศล คือ โลภะ ต้องการตั้งแต่ลืมตา ทุกอาการกิริยาการเคลื่อนไหวเป็นไปด้วยความต้องการทั้งสิ้น แต่ไม่เคยรู้สึกเลยว่าเป็นโลภะ เป็นอกุศล หรือว่า เคยรู้สึก

ตั้งแต่เช้ามาจนกระทั่งขณะที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม หรือขณะที่กุศลจิตไม่เกิด ทราบไหมว่า ขณะนั้นเป็นชีวิตประจำวันซึ่งเต็มไปด้วยอกุศล ไม่เคยรู้เลย เป็นกระแสของอกุศล จนกระทั่งสติระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นอกุศล ขณะนั้นสติก็เป็นธรรมเครื่องกั้นกระแสของอกุศลเมื่อระลึกได้

เวลาได้ยินคำพูดที่ไม่พอใจ เป็นคำสบประมาท ซึ่งแต่ก่อนนี้จะต้องไหลไปตามกระแสของอกุศล คือ ความไม่พอใจ แต่เมื่อสติเกิดระลึกได้ นั่นคือสติเป็นเครื่องกั้นกระแสของอกุศล

เพราะฉะนั้น จึงเห็นคุณของสติว่า จำปรารถนาในที่ทั้งปวง เพราะว่าสติเกิด จึงสามารถรู้ว่า สิ่งใดควรและสิ่งใดไม่ควร

. ผมสงสัยว่า ที่นึกว่าเป็นเพียงรูปกับนามเป็นอารมณ์ อารมณ์นั้น เป็นของคนอื่น ไม่ใช่จิตของเรา ต้องนึกถึงว่า จิตเรา จึงจะเป็นสติ ใช่หรือเปล่า จะต้องมีจิตของเราเป็นอารมณ์ ตอนที่เราเห็นว่าคนกำลังด่าเรานั้น ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เป็นเพียงรูปกับนามที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และจิตที่กำลังคิดอย่างนั้นเป็นเพียงนามชนิดหนึ่ง

สุ. ถูก เพราะขณะนั้นใครคิดว่านั่นเป็นรูป

. นามธรรม

สุ. เป็นจิตที่เกิดพร้อมกับสติ สติที่เป็นไปในการคิดเรื่องนามธรรมและรูปธรรม

. ถ้าไม่คิดว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่คิดอย่างนั้น ก็เป็นสติเหมือนกัน ใช่ไหม

สุ. เป็นสติขั้นที่คิดเรื่องนามธรรมและรูปธรรม คือ คิดว่านั่นเป็นรูป ที่คิดว่านั่นเป็นรูป เป็นสติ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ถ้าเป็นสติปัฏฐานต้องระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม

. ถ้าเป็นสติปัฏฐาน หมายถึงจิตของเราเอง

สุ. ลักษณะของสภาพคิด แต่นั่นเป็นเพียงการคิดเรื่อง

. เรื่องที่เคยได้ยินธรรมมา

สุ. เป็นปัญญาขั้นคิดเรื่อง เป็นสติขั้นคิดเรื่อง แต่ก็ชื่อว่าเป็นผู้น้อมไปสู่ การประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อดับกิเลส มิฉะนั้นแล้วอาจจะพอใจที่จะโกรธ แต่เมื่อพิจารณาเห็นว่าไม่มีประโยชน์ ขณะนั้นเป็นการน้อมที่จะพิจารณาและประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่ได้ฟัง

บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะว่าบัญญัติไม่ใช่สภาวธรรม นี่เป็นเหตุผลที่จะต้องรู้ว่า เหตุใดบัญญัติจึงเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะว่าสติปัฏฐานหมายความถึงสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งได้แก่นามธรรมหรือรูปธรรม จนกว่าปัญญาจะประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งเกิดขึ้น และดับไปที่ปัญญาจะต้องรู้ชัด จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาเรื่องของบัญญัติโดยละเอียดบ่อยๆ เข้าใจเรื่องของบัญญัติเพิ่มขึ้น จนกระทั่งทำให้สติสามารถละความติดในบัญญัติเพื่อที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมเพิ่มขึ้น

บัญญัติธรรมคืออะไร

บัญญัติธรรม คือ เรื่องราวที่จิตคิดนึกไปต่างๆ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นจิตมีบัญญัติเป็นอารมณ์

ปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ขณะใดที่จิตไม่มีปรมัตถธรรม ๔ เป็นอารมณ์ ขณะนั้นจิตมีบัญญัติเป็นอารมณ์

และในวันหนึ่งๆ จะทราบโดยสติระลึกว่า ขณะใดมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ และขณะใดมีบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่ถ้าสติไม่เกิด บัญญัติธรรมและปรมัตถธรรมก็ ปนกัน ยากที่จะรู้ชัดได้จริงๆ ว่า ในขณะนี้กำลังมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ หรือว่ากำลังมีบัญญัติเป็นอารมณ์ เนื่องจากการไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของปรมัตถธรรม จึงไม่สามารถรู้ความต่างกันของขณะที่กำลังมีปรมัตถธรรม เป็นอารมณ์ หรือว่ากำลังมีบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว จึงเริ่มเข้าใจว่า สิ่งที่เคยเข้าใจว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรื่องราวต่างๆ แท้ที่จริง ในขณะที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม ทั้งหมดในขณะนั้นเป็นบัญญัติทั้งสิ้น

การศึกษาพระธรรม จะต้องศึกษาจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ในชีวิตประจำวัน วันนี้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมอะไรบ้าง นี่เป็นเครื่องทดสอบว่า สามารถแยกรู้ปรมัตถธรรมกับบัญญัติในขณะที่เป็นอารมณ์ได้บ้างหรือยัง

ถ้าในวันนี้สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ก็จะรู้ได้ว่า ปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ มีลักษณะปรากฏ แม้ว่าจะไม่นึกถึงคำ ถึงเรื่อง ถึงชื่อของ ปรมัตถธรรมนั้น ลักษณะของปรมัตถธรรมนั้นๆ ก็มี เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ในวันนี้ หรือแม้แต่เดี๋ยวนี้เอง ขณะใดมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ และขณะใด มีบัญญัติเป็นอารมณ์

ทางตา มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ และมีบัญญัติเป็นอารมณ์หลังจากที่ จักขุทวารวิถีจิตดับไปแล้ว

ทางหู ขณะที่เสียงเท่านั้นปรากฏ ยังไม่ได้คิดถึงความหมายเลย ขณะนั้น มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ แต่เมื่อโสตทวารวิถีดับไปแล้ว หลังจากนั้นก็มีบัญญัติ เป็นอารมณ์

บัญญัติธรรมกับปรมัตถธรรมที่เป็นอารมณ์ จะสลับกันในวันหนึ่งๆ อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งถ้าสติไม่ระลึกจะแยกไม่ออกเลย แม้แต่ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะนี้ เริ่มที่จะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นปรมัตถ์ และขณะใดเป็นบัญญัติ

ทางตา เป็นเครื่องตรวจสอบการได้ฟังพระธรรมมาเป็นเวลานาน และการที่ สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมทางนั้นบ้าง ทางนี้บ้าง ทางกายบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ลิ้นบ้าง ใจบ้าง ตาบ้าง ก็เพื่อที่จะได้รู้ว่า ความรู้ในลักษณะของ สภาพปรมัตถธรรมเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน

มีท่านผู้ฟังที่ใคร่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้บ้างไหม เรื่องของวันนี้ รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมอะไรบ้าง หรือว่าเป็นบัญญัติไปหมดทั้งวัน ทั้งๆ ที่ ปรมัตถธรรมมี ไม่ใช่ไม่มี ถ้าไม่เห็นจะคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ยินก็จะคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ จากเสียงที่ได้ยินไม่ได้ จะไม่มีการทรงจำคำ และความหมายของคำไว้เลย

เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ที่คิด อาจจะไม่ทราบว่า คิดถึงเรื่องสิ่งที่เห็นทางตา คิดถึงเสียงที่ได้ยินทางหู คิดถึงกลิ่นที่รู้ได้ทางจมูก คิดถึงรสที่ลิ้มได้ทางลิ้น คิดถึงสิ่งที่กระทบสัมผัสกายได้ นอกจากนั้น แม้ว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านี้ จะไม่ปรากฏ จะไม่กระทบ แต่ใจก็ยังติดตามคิดถึงเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ โดยเป็นเรื่องทั้งหมด ไม่ใช่เป็นปรมัตถธรรม แต่เป็นบัญญัติ เป็นเรื่องราวของสิ่งต่างๆ ทั้งหมด

วันหนึ่งๆ บัญญัติเป็นอารมณ์มากมาย จนกว่าจะแหวกกระแสของบัญญัติ ที่เป็นอารมณ์และระลึกตรงลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อจะได้รู้ ด้วยตนเองว่า ขณะใดมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ และขณะใดมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ทางทวารไหน

ทางตา ข้อที่จะสังเกตมีหลายอย่างที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรม ว่าต่างกับบัญญัติที่คิดว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นคน เป็นวัตถุ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็คือ น่าที่จะคิดพิจารณาถามตัวเองว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาพูดได้ไหม อาจจะไม่เคยคิด มาก่อน แต่เป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า ทุกวันๆ แต่ถ้าจะย้อนถามเพื่อที่จะให้คิดว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้พูดได้ไหม

ผู้ที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาจะตอบถูก แต่ผู้ที่ยังไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาอาจจะตอบไม่ตรงก็ได้ เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้คิดว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาพูดได้ไหม ร้องเพลงได้ไหม

เปิด  231
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565