แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1674

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๐


มีท่านผู้หนึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านฟังพระธรรม และท่านก็เบื่อ ในขณะที่กำลังฟังรู้สึกว่า มากไปแล้ว เบื่อแล้ว ก็เป็นชีวิตจริงๆ เป็นความจริง ใครจะสามารถฟังได้ตลอดเวลา ถ้าสามารถ ก็หมายความว่าขณะนั้นมีปัจจัยให้กุศลจิตเกิดที่จะฟัง และขณะใดที่รู้สึกเบื่อ ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นอกุศล ที่สะสมมามีกำลังเป็นปัจจัยเกิดขึ้นที่จะรู้สึกว่า อยากไปทำอย่างอื่น แทนที่จะฟัง พระธรรมในขณะนั้น

ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ ถ้าผู้ใดเห็นโทษของความประมาทจริงๆ ก็จะทำให้กุศลค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกๆ ขั้นได้

นี่คือประโยชน์ของการศึกษาทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และสำหรับพระอภิธรรมปิฎกนั้น จะเป็นการอบรมสะสมปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะ รู้ว่าลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขั้นของการศึกษา ซึ่งจะเป็นบาทเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้ตามที่เข้าใจ และอบรมเจริญสติปัฏฐานไปเรื่อยๆ ด้วยความไม่ประมาท

ผู้ฟัง ฟังๆ อยู่รู้สึกเบื่อ ดูนาฬิกา นึกในใจว่าไปทำอย่างอื่นดีกว่า ช่างตรงกับสภาพธรรมที่อาจารย์พูดเมื่อกี้จริงๆ ผมมาฟังพระธรรมทุกวันอาทิตย์ เกือบทุกครั้งจะต้องมองนาฬิกาว่า เพิ่งผ่านไป ๒๐ นาที เมื่อไรจะจบ เบื่อ อยากจะ กลับแล้ว กำลังของอกุศลมีเกือบทุกครั้ง นานๆ จะมีสักครั้งที่ว่าฟังธรรมเพลิดเพลินไป จนหมดเวลา

สุ. ก็เป็นชีวิตจริงๆ สภาพธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ข้อสำคัญที่สุด คือ เมื่อไรจะถึงเวลาที่รู้จริงๆ ว่า ไม่มีตัวตนเลยสักขณะเดียว การฟังพระธรรมทั้งหมด ก็เพื่อรวบรวมสะสมปรุงแต่ง จนกระทั่งสติระลึกลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งมีเพียง ๖ ทาง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง แม้ขณะที่กำลังเบื่อก็ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้าสติปัฏฐานไม่เจริญถึงขั้นนั้นจริงๆ ก็ยังดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้

เพราะฉะนั้น ชีวิตจริงๆ ในวันหนึ่งๆ ไม่ว่าจะมีสภาพธรรมอย่างไรเกิดขึ้น ผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรม ย่อโลกทั้งหมด จนกระทั่งเหลือเพียงชั่วขณะจิตเดียวที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏ โดยสติกำลังระลึกและรู้ชัดในลักษณะนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานไปอีกนาน แม้ในขณะที่เบื่อ ระลึกได้ไหม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ใช่ไหม ขณะนั้น เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง

ถ้ายังไม่เคยระลึกเลย ก็หมายความว่ายังละความยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตนไม่ได้

เบื่อเกิดขึ้น สติระลึกในลักษณะเบื่อ สภาพนั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ง่วง ไม่ใช่คิดนึก ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ความรู้สึกเป็นสุข ไม่ใช่ความรู้สึกเป็นทุกข์ แต่ในขณะนั้นอาจจะไม่ระลึกที่ลักษณะของเบื่อก็ได้ จะระลึกลักษณะของความรู้สึกก็ได้

เพราะฉะนั้น ทุกอย่างซึ่งดูเหมือนกับว่าเกิดและก็ดับ และก็ผ่านไปจนไม่ได้สังเกต แต่เวลาที่สติเกิด ความไวของสติที่เกิดขึ้นระลึกที่ปัฏฐาน คือ สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏจริงๆ จะทำให้รู้ถึงความละเอียดของขณะจิตเพิ่มขึ้น แม้แต่ทางหู อาจจะไม่สนใจว่ามีเสียงเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แต่เวลาที่สติเกิด ความรวดเร็ว จะเห็นได้ว่า แม้แต่เพียงเสียงเล็กๆ ชั่วขณะหนึ่งเกิดและก็ดับ และมีเสียงอื่นเกิดและ ก็ดับ เฉพาะทางหูทางเดียว ก็มีสภาพธรรมที่ปรากฏถี่ถ้วนขึ้นเวลาที่สติปัฏฐานเกิด

ถ้าสติสามารถระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้ จะปรากฏการสลับกันของสิ่งที่ปรากฏทางตา กับสภาพที่คิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา และเสียงที่ปรากฏทางหูกับสภาพที่คิดนึกเรื่องเสียงที่ปรากฏทางหู

จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมเป็นปริตตธรรม เป็นลักษณะที่สั้นจริงๆ ก่อนที่จะประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมได้ ไม่ใช่อย่างที่ท่านถามเรื่องที่เข้าใจว่า แมวตะครุบหนู จดจ้องจนกระทั่งรู้การเคลื่อนไหวของอิริยาบถ แต่ไม่ได้รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตรงตามความเป็นจริง จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้ง เป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นได้

เพราะฉะนั้น เรื่องของวิปัสสนาญาณ ต้องรอการอบรม จนกว่าจะถึง ความสมบูรณ์ของปัญญาจริงๆ

ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ญาณกถา ข้อ ๘๖ มีข้อความว่า

ปัญญาในการฟังธรรมแล้วสำรวมไว้ ชื่อว่าสีลมยญาณ

เพียงเท่านี้เป็นประโยชน์ไหมที่จะรู้ว่า การฟังของแต่ละท่านได้ประโยชน์จริงๆ หรือยัง เพราะถ้าเป็นประโยชน์จริงๆ ปัญญาในการฟังธรรมแล้วสำรวมไว้ ชื่อว่า สีลมยญาณ หมายความว่าไม่ใช่ฟังเฉยๆ และไม่ปฏิบัติตาม ไม่ว่าเรื่องของศีล ไม่ว่าเรื่องความสงบของจิต ไม่ว่าเรื่องของสติปัฏฐาน ไม่ใช่เพียงฟังเฉยๆ และ ไม่ปฏิบัติตาม

ท่านผู้ฟังก็ได้ฟังธรรมมาก ไม่ว่าเรื่องของพระวินัยปิฎกบ้าง พระสุตตันตปิฎกบ้าง พระอภิธรรมปิฎกบ้าง เรื่องของสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ้าง เพราะฉะนั้น ชื่อว่า สีลมยญาณ ไม่ใช่ฟังเฉยๆ แต่ไม่ปฏิบัติตาม ต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามด้วย

ก็ทราบประโยชน์จากการฟังได้ว่า ท่านได้ถึงสีลมยญาณหรือยัง คือ ฟังแล้วปฏิบัติตาม

ข้อ ๔๕๐ มีข้อความว่า

คำว่า วิหาโร คือ ย่อมอยู่

ทุกท่านมีวิหารธรรม คือ ธรรมซึ่งเป็นเครื่องอยู่ แต่คำว่า วิหาโร คือ ย่อมอยู่ด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ฉะนั้น วิหารธรรมของท่าน คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาหรือยัง

นี่คือผลของการฟัง ซึ่งเป็นเครื่องเตือนทั้งนั้นว่า ทุกคนมีชีวิตอยู่ แต่จะอยู่ ด้วยอะไร อยู่อย่างไร จะอยู่ด้วยศรัทธา ด้วยวิริยะ ด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา หรือจะอยู่ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ

ธรรมเป็นของจริง ก่อนที่จะประจักษ์การเกิดดับ อย่าข้ามการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง อย่างทางใจ ไม่ใช่เพียงแต่ให้รู้ว่า ขณะที่คิดเป็นสภาพรู้คำ รู้บัญญัติ แต่ยังต้องรู้ลักษณะของความรู้สึกต่างๆ ซึ่งจะรู้ได้ ทางใจด้วย เช่น ในขณะนี้รู้สึกอย่างไร ความรู้สึกมีทุกขณะ ถ้าสติจะระลึกลักษณะของความรู้สึก ความรู้สึกในขณะนี้คือความรู้สึกอะไร ดีใจหรือเสียใจ สุขหรือทุกข์ หรือเฉยๆ ถ้ายังไม่เคยระลึก เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ยังคงยึดถือเวทนา ความรู้สึกนั้นว่าเป็นเรา เป็นตัวตน

เพราะฉะนั้น ยิ่งฟัง ก็ยิ่งรู้ว่าการอบรมเจริญปัญญาต้องมากจริงๆ กว่าจะรู้แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้

อัฏฐสาลินี อรรถกถา พระธรรมสังคณีปกรณ์ ติกนิกเขปกถา อธิบายคำว่า ไม่ได้ฝึกฝนในธรรมของพระอริยะ มีข้อความว่า

ชื่อว่าวินัย มี ๒ อย่าง ในวินัย ๒ อย่างนี้ แต่ละอย่างๆ มี ๕ อย่าง ปุถุชนนี้เรียกว่า ไม่ได้ฝึกฝน เพราะไม่มีวินัยนั้น

ฟังดูเป็นเรื่องของตำรับตำรา แต่ความจริงแล้วเป็นชีวิตประจำวันทั้งหมด แม้แต่ในเรื่องของวินัย คือ การฝึกฝน

วินัยมี ๒ อย่าง คือ สังวรวินัย ๑ ปหานวินัย ๑

ต้องเกี่ยวกับการอบรมเจริญสติปัฏฐานทั้งนั้น เป็นเครื่องประกอบให้ท่านผู้ฟัง ได้พิจารณาว่า การฟังพระธรรม การอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นไหน

สังวรวินัย ๕ คือ ๑. สีลสังวร ความสำรวมคือศีล ๒. สติสังวร ความสำรวม คือสติ ๓. ญาณสังวร ความสำรวมคือญาณ ๔. ขันติสังวร ความสำรวมคือขันติ ๕. วิริยสังวร ความสำรวมคือวิริยะ

เป็นเรื่องชีวิตประจำวัน เช่น สีลสังวร ความสำรวมคือศีล สำหรับเพศบรรพชิตคือพระภิกษุ ได้แก่ ความสำรวมในปาฏิโมกข์สังวรศีล ในพระวินัยบัญญัติ แต่สำหรับคฤหัสถ์ก็ตามสมควร เช่น สำรวมในศีล ๕ เป็นนิจศีล

ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม คิดที่จะไม่ละเมิดศีล ๕ บ้างไหม และสำหรับบางท่าน ก็คิดว่าบางข้อธรรมดา ก็เป็นเรื่องของการที่จะพิสูจน์ตัวเอง รู้จักตัวเองว่า มีสังวรวินัยในข้อใดบ้าง

สติสังวร ความสำรวมคือสติ เป็นการรักษาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เป็นกุศล แต่ที่จะเป็นได้จริงๆ คือ ขณะที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ

สำหรับอินทริยสังวรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อชิตะ กระแสเหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น เราย่อมกล่าวการกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านี้ บัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยปัญญาดังนี้

สติเป็นเพียงเครื่องกั้น แต่ที่จะปิดกั้นกระแสได้จริงๆ ต้องด้วยปัญญา ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะว่ามีแต่สติโดยที่ปัญญาไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็ไม่สามารถดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้

เพราะฉะนั้น ญาณสังวร ความสำรวมคือญาณ ได้แก่ ปัญญา ถ้าปัญญา ยังไม่เกิด ยังไม่ถึงขั้นญาณหรือสำรวมด้วยปัญญา ก็ยังเป็นเพียงขั้นสำรวมด้วยศีล หรือสำรวมด้วยการที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ยังไม่ถึงขั้นที่สำรวม ด้วยญาณ จนกว่าปัญญาจะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรม

ขันติสังวร ความสำรวมคือขันติ ได้แก่ ความอดทนต่อความหนาว ความร้อน อากาศร้อนมากๆ เป็นเครื่องพิสูจน์ที่ดีว่ามีความสำรวม มีความอดทนแค่ไหน หรืออากาศหนาวก็ทำให้รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า มีความอดทน มีความสำรวมมากน้อยแค่ไหน ถ้าบ่นว่าร้อน ขณะนั้นจิตที่กำลังกล่าวคำว่า ร้อนมาก ร้อนจริงๆ ร้อนเหลือเกิน ทนไม่ได้ ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าสติเกิดจะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล และถ้าอกุศลจิตเกิดในขณะที่ร้อน จะหายร้อนไหม ก็ยังร้อนเหมือนเดิม แต่จิตเป็นอกุศล คิดดู ความร้อนก็ยังคงเป็นความร้อนอยู่ แต่ถ้ากุศลจิตเกิด ย่อมดีกว่าที่เมื่อร้อนแล้วอกุศลจิตเกิด

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันพร้อมด้วยสติ มีการระลึกได้ จะทำให้รู้ลักษณะแม้ของการเปล่งวาจาว่า คำพูดนั้นเป็นไปด้วยกุศลจิตหรือด้วยอกุศลจิต

ผู้ที่มีขันติสังวร คือ ความอดทน ไม่ว่าจะหนาว จะร้อน จะหิว หรือจะพอใจ จะไม่พอใจ ทุกท่านย่อมสังเกตตนเองได้ยิ่งขึ้นว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานทำให้ กุศลจิตเจริญขึ้น และไม่กล่าววาจาซึ่งเคยกล่าวเป็นปกติ และยังสามารถรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต

สังวรที่ ๕ วิริยสังวร ความสำรวมคือวิริยะ ได้แก่ การไม่ยังกามวิตกอัน เกิดขึ้นแล้วให้ท่วมทับอยู่

วันหนึ่งๆ ไม่มีใครพ้นจากกามวิตก การระลึกเป็นไปด้วยความยินดี ความเพลิดเพลิน ความต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถ้ารู้จักตนเองก็มีวิริยสังวร คือ การเพียรที่จะละกามวิตกนั้น แต่ไม่ใช่ด้วยการบังคับ เพราะว่าไม่มีใครสามารถบังคับไม่ให้โลภะเกิด แต่ด้วยการระลึกรู้ลักษณะของโลภะว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

ไม่มีใครชนะโลภะได้ ไม่มีใครบังคับโลภะได้ นอกจากจะอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของโลภะตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

สำหรับสังวรวินัย ๕ นี้ ย่อมไม่มีแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับอย่างนี้ เพราะความเป็นผู้มีสังวรอันทำลายแล้ว คือ ไม่มั่นคง

ปุถุชน ไม่ว่าจะเป็นสีลสังวรก็ดี สติสังวรก็ดี หรือญาณสังวรก็ดี หรือขันติสังวรก็ดี วิริยสังวรก็ดี เป็นสังวรที่ไม่มั่นคงทั้งนั้น เพราะแม้แต่ศีล ๕ ก็ยังมีโอกาสหรือ มีปัจจัยที่จะล่วงละเมิดได้

เหตุนั้นปุถุชนนี้จึงเรียกว่า ผู้มิได้ฝึกฝน เพราะไม่มีวินัยนั้น ฉะนี้แล

นี่เป็นส่วนประกอบของการได้เห็นชีวิตตามความเป็นจริงของการอบรม เจริญสติปัฏฐานว่า ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็เป็นอย่างนี้ แต่สามารถอบรมเจริญปัญญาขึ้น เพื่อให้ถึงปหานวินัยซึ่งมี ๕ อย่างได้

สำหรับการละอกุศลธรรมมี ๕ คือ ๑. ตทังคปหาน ๒. วิกขัมภนปหาน ๓. สมุจเฉทปหาน ๔. ปฏิปัสสัทธิปหาน ๕. นิสสรณปหาน

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่จะดับกิเลสกันได้ง่ายๆ เลย ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น

สำหรับปหานที่ ๑ คือ ตทังคปหาน ได้แก่ การละกิเลสได้ด้วยองค์นั้นๆ ซึ่งได้แก่วิปัสสนาญาณตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณจนถึงโคตรภูญาณ เป็นตทังคปหาน เนื่องจากยังไม่สามารถดับกิเลสได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉท เพราะไม่ใช่มรรคจิต ไม่ใช่ โลกุตตรจิต

การที่จะพูดถึงโสภณสาธารณเจตสิก ซึ่งได้กล่าวตามลำดับมาจนกระทั่งถึง ตัตรมัชชัตตตาเจตสิกว่าได้แก่สภาพธรรมขณะใดบ้าง แม้แต่ตัตรมัชชัตตตาที่เป็น สังขารุเปกขาญาณ ก็ต้องทราบเรื่องของตัตรมัชชัตตตาตามลำดับ ตั้งแต่เป็นผู้ที่ตรง ในเรื่องของการฟังพระธรรม ในเรื่องของการปฏิบัติธรรม จนกระทั่งในเรื่องของวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นกว่าจะถึงสังขารุเปกขาญาณ

พระธรรมมีมาก และการที่จะกล่าวถึงพระธรรมไปลอยๆ โดยไม่กล่าวถึง เหตุที่จะให้บรรลุถึงธรรมนั้นๆ ย่อมไม่สามารถเข้าใจได้จริงๆ เพราะฉะนั้น การที่จะกล่าวถึงธรรม ต้องกล่าวถึงธรรมตั้งแต่ขั้นเจริญสติปัฏฐานไปจนกระทั่งถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น ซึ่งเป็นตทังคปหาน และให้ทราบว่าการที่จะดับกิเลสได้แม้เพียงชั่วขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ ก็ต้องอาศัยการอบรม ที่สมควรแก่วิปัสสนาญาณนั้นๆ คือ ต้องเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

เปิด  244
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565