แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1677

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๓๐


. ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาอธิบายย้ำอีกทีว่า ขณะที่เป็นกุศลที่ว่า เบาสบายไร้กังวล ไม่หนัก ต่างจากที่เป็นอกุศลที่หนัก เราจะรู้ได้อย่างไร เพราะบางทีเรารู้สึกสบาย ปลื้มอกปลื้มใจ แต่อาจจะไม่ใช่กุศลก็ได้ เป็นโลภะก็ได้

สุ. ต้องสติปัฏฐานเกิด และเริ่มรู้ลักษณะของเวลาที่เกิดพอใจ ชอบ สนุกสนานว่า เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และเวลาที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ลักษณะของจิตที่ปราศจากโลภะ ปราศจากโทสะ เพราะถ้าเกิดโกรธขึ้นมา ขณะนั้นต้องเป็นทุกข์แน่ เวลาสติเกิดแม้เพียงขั้นระลึกได้ว่าความโกรธเป็นโทษเป็นภัย เป็นอันตรายของตนเอง คนที่ถูกโกรธไม่เดือดร้อนอะไรเลย กิเลสของตนเองที่เกิด กำลังทำร้ายตนเอง และจะสะสมเป็นอุปนิสัยทำให้เป็นผู้ที่โกรธต่อไปอย่างรวดเร็ว และอาจจะผูกโกรธเอาไว้นานด้วย อาจจะถึงขั้นที่ไม่ยอมให้อภัย ซึ่งถ้ารู้โทษของอกุศลอย่างนี้จริงๆ ขณะนั้น เมื่อเห็นโทษแล้ว สติที่ระลึกได้จะทำให้ขณะนั้นปราศจากความโกรธ หรืออาจจะเกิดความเมตตาแทนที่จะโกรธก็ได้

ลักษณะ ๒ อย่างนี้ เปรียบเทียบให้เห็นความต่างกันได้ ใช่ไหม ขณะที่ เป็นโทสะ เป็นอกุศล จิตจะคิดเป็นไปในทางอกุศลมากมายหลายเรื่อง เป็นเรื่องร้ายทั้งหมด แต่ขณะใดที่คิดด้วยกุศลจิต จิตจะคิดในเรื่องที่ดีทั้งหมด แม้แต่การที่จะทำ หรือวาจาที่จะพูด หรือแม้แต่ความคิดนึกทางใจ ก็เป็นไปในทางกุศล

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า วิตกซึ่งเป็นเจตสิกที่ทำกิจตรึก ทรงแสดงไว้ว่า เป็นเท้าของโลก เพราะว่าทำให้ก้าวไป แล้วแต่ว่าจะไปในทางดี หรือจะไปในทางไม่ดี

. แต่วันหนึ่งๆ จิตที่เป็นกุศลที่เรารู้สึกเบาสบายไร้กังวลจะเกิดน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการนึกคิดเรื่องราวที่เป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง ทำให้มีความกังวลและหนักใจ ที่เบาสบายไร้กังวลโดยเป็นกุศลนั้นจะไม่ค่อยรู้ เพราะเกิดนิดๆ หน่อยๆ

สุ. เป็นความจริง เพราะฉะนั้น สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง ไม่ใช่เพียงแต่คำที่พูดกันบ่อยๆ แต่เป็นความจริงอย่างนั้น สติเกิดขณะใด ขณะนั้นกั้นกระแสของอกุศล เช่น กำลังเป็นโลภะ สนุกมาก การละเล่น เกมกีฬาต่างๆ เพลิดเพลินทั้งวัน ถ้าสติเกิดระลึกขึ้นได้ในขณะนั้นเพียงนิดเดียว ขณะนั้นก็กั้นกระแสของอกุศล และลักษณะที่เป็นกุศลซึ่งเป็นสติปัฏฐานที่รู้ว่าลักษณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล ทำให้ไร้ความกังวลได้ มิฉะนั้นแล้วเวลาเป็นอกุศล บางคนก็ยิ่งเป็นอกุศลหนักขึ้นไปอีก เพราะว่าไม่ชอบอกุศล ไม่อยากเป็นอกุศลอย่างนี้เลย รู้ตัวเองว่า มีอกุศลทั้งนั้น มากมาย กลุ้มใจจะทำอย่างไร บางคนก็พยายามหาทางอื่นที่จะไม่เป็นอกุศล ซึ่งไม่ใช่หนทางดับกิเลส แต่เวลาที่สติเกิด แม้ว่าจะเป็นอกุศลก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่เป็นหนทางที่จะดับกิเลสได้ โดยการรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าจะรู้ชัดจริงๆ ว่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะถ้าปัญญายังไม่เจริญจนกระทั่งถึงขั้นนามรูปปริจเฉทญาณ สภาพธรรมก็ยังปรากฏรวมกัน ไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเพียงขณะที่จิตรู้และดับไป ถ้าจิตไม่เกิดขึ้น รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ลักษณะสภาพธรรมนั้นก็ปรากฏไม่ได้

จะต้องแยกโลกทั้งหมด โลกใหญ่ๆ ซึ่งมีคนเยอะๆ ออกเหลือเพียงตัวคนเดียว และยังแยกตัวคนเดียวออกไปจนเหลือขณะจิตเดียว จึงจะรู้ว่าเป็นอนัตตาจริงๆ มิฉะนั้นแล้วแม้จะพูดเรื่องอนัตตาสักเท่าไร ก็ไม่มีทางที่จะประจักษ์จริงๆ เพราะฉะนั้น สภาพที่เป็นอนัตตา ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ต้องในขณะที่ สภาพธรรมไม่รวมกัน จึงจะปรากฏว่าเป็นอนัตตาได้

ถ้ายังรวมกันอยู่ตราบใด ที่จะไม่เป็นอัตตา เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่า เมื่อรวมกันแล้วต้องเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ทางตาที่กำลังเห็น เวลาคิดนึกเกิดขึ้น ก็เป็นสัตว์ เป็นบุคคลทันที นี่คือการสืบต่อรวมกันของนามธรรม ซึ่งแท้ที่จริง ขณะที่เห็นต้องดับไป จิตดวงต่อไปจึงเกิดขึ้นๆ จนกว่าจะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นอะไร แต่เมื่อไม่สามารถประจักษ์ลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิดได้ ก็ยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏรวมกันเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

การประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่จะประจักษ์ได้ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ต้องเป็นผู้ตรง ตัตรมัชฌัตตตาทำให้เป็นผู้ตรงในข้อปฏิบัติ ในเหตุ ในผล และเห็นโทษของการไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง สติจึงจะระลึกเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจนกว่าจะประจักษ์แจ้ง มิฉะนั้นแล้วไม่มีทางที่จะดับกิเลสได้

ใครที่เห็นโทษของกิเลสและจะทำวิธีอื่น ให้ทราบว่าไม่ใช่หนทาง นอกจาก สติเกิดระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าจะปรากฏลักษณะที่เป็นอนัตตา

. ขณะที่สีปรากฏทางตา ขณะนั้นเป็นเฉพาะจักขุวิญญาณ หรือรวม จิตอื่นด้วย

สุ. ขณะนี้จิตเกิดดับเร็วมากจนกระทั่งไม่สามารถที่จะแยกได้

. ขณะที่สีกำลังปรากฏทางตา รูปารมณ์มีอายุ ๑๗ ขณะของจิต แต่ จักขุวิญญาณมีอายุเพียง ๑ ขณะของจิต ขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏทางตา ถ้าระลึกที่สีอย่างเดียว ขณะนั้นจะเป็นเฉพาะจักขุวิญญาณ หรือรวมจิตอื่นด้วยทางปัญจทวาร

สุ. กำลังระลึกรู้อะไร

. ยังไม่ได้ระลึกรู้ เพียงแต่สีกำลังปรากฏ เรายังไม่ได้คิดนึกอะไรเลย เป็นเฉพาะจักขุวิญญาณ หรือรวมจิตอื่นทั้งหมด ตั้งแต่จักขุวิญญาณดับไปแล้ว จนถึงตทาลัมพนะของปัญจทวารด้วย

สุ. ขณะนี้สภาพธรรมเป็นจริงอย่างไรต้องเป็นจริงอย่างนั้น คือ วิถีจิตแรกเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต ดับไป จักขุวิญญาณเกิด ดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิด ดับไป สันตีรณจิตเกิด ดับไป โวฏฐัพพนจิตเกิด ดับไป ชวนจิตเกิด ดับไป ตทาลัมพนจิตเกิด ดับไป ภวังคจิตเกิด ดับไป มโนทวาราวัชชนจิตเกิดต่อ สภาพความจริง เป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น โดยที่ปัญญาจะรู้หรือไม่รู้สิ่งที่เกิดก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ก็ต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว

. ถ้าเรายังไม่ถึงขั้นที่จะรู้ ขณะที่เป็นชวนะทางปัญจทวาร ขณะนั้นยังคงสว่างอยู่ ใช่ไหม

สุ. แน่นอน

. เป็นสีที่ยังคงปรากฏอยู่ ใช่ไหม ถ้าวิถีจิตทางปัญจทวารดับไปแล้ว ภวังคจิตคั่น ตอนนั้นรูปดับไปหมดแล้ว แต่มโนทวารวิถีก็สามารถรู้รูปนั้นสืบต่อได้อีก ขณะนั้นยังคงสว่างอยู่ ใช่ไหม

สุ. เหมือนกันกับทางปัญจทวาร มโนทวารวิถีจิตวาระแรกจะมี ปรมัตถอารมณ์เดียวกับทางปัญจทวารที่เพิ่งดับไป

. เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏกับชวนะของปัญจทวาร กับสิ่งที่กำลังปรากฏกับชวนะของมโนทวารก็เหมือนกัน

สุ. แน่นอน รูปารมณ์เป็นอารมณ์ของจิต ๒ ทวาร คือ ของจักขุทวารวิถีและมโนทวารวิถี สัททารมณ์ คือ เสียง เป็นอารมณ์ของ ๒ ทวาร คือ โสตทวารวิถีและมโนทวารวิถี

. ถ้าอย่างนั้นรู้สึกยากมากที่จะระลึกรู้ว่า ขณะใดเป็นปัญจทวาร และขณะใดเป็นมโนทวาร เพราะว่าปัญจทวารและมโนทวารก็เป็นจิต เป็นสภาพรู้เหมือนกัน และสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นรูปารมณ์เหมือนกัน เป็นสัททารมณ์เหมือนกัน ถ้าสติระลึกรู้ที่รูปธรรม ก็ระลึกที่รูปเท่านั้นเอง ถ้าระลึกรู้นามธรรม ก็ระลึกที่นาม และปัญญาที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณที่แยกขาดความต่างกันของปัญจทวารและ ทางมโนทวาร ก็ต้องระลึกรู้ลักษณะของภวังคจิตได้ ใช่ไหม จึงจะเห็นว่า ๒ ทวาร ไม่ต่อกัน

สุ. ในขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตาที่ขาดตอนต้องมี ใช่ไหม จึงจะมีการ ได้ยินเสียงทางหู ถ้ายังคงปรากฏทางตาอยู่เรื่อยๆ ทางหูจะได้ยินไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น การที่ทางหูได้ยิน แสดงว่าทางตาต้องหมด นี่โดยเหตุผล ก่อนที่ปัญญาจะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมทีละอย่างทางมโนทวารตามความเป็นจริง

ในขณะนี้ ในขั้นการพิจารณา ช่วงที่ขาดตอนระหว่างปัญจทวารวิถีที่เห็นกับทางโสตทวารวิถีที่ได้ยินต้องมี เพราะว่าเป็นจิตต่างประเภท มีอารมณ์ปรากฏ คนละอย่าง ช่วงที่ขาดตอน แม้ว่ากำลังมีอยู่ แต่ไม่ได้ปรากฏ เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว

การเจริญสติปัฏฐาน ต้องอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถแยกบัญญัติออกจากปรมัตถ์ได้ ขณะใดไม่สามารถรู้ความต่างกันของขณะที่มีบัญญัติ เป็นอารมณ์ กับขณะที่มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการเจริญปัญญา

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานสามารถรู้ปรมัตถธรรม ซึ่งไม่ใช่บัญญัติ ซึ่งก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐาน ไม่มีใครรู้จักปรมัตถ์เลย ใช่ไหม อยู่ในโลกของบัญญัติทั้งหมด สิ่งที่เห็นก็เป็นวัตถุ เป็นคน เป็นสิ่งต่างๆ แต่เวลาที่ศึกษาธรรมแล้วก็รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท สามารถจะปรากฏเฉพาะเมื่อกระทบกับจักขุปสาท เพราะฉะนั้น สิ่งที่เพียงปรากฏทางตาในขณะที่กระทบกับจักขุปสาท จะเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุใดๆ ไม่ได้เลย

การรู้อย่างนี้ ทำให้สติเริ่มเกิดที่จะพิจารณา แต่ยังไม่ต้องไปกังวลถึงว่า นี่เป็นปัญจทวารวิถีหรือมโนทวารวิถี หรือว่ามีภวังค์คั่นระหว่างจักขุทวารวิถี ที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตากับโสตทวารวิถีที่ได้ยินเสียง ซึ่งความรู้เหล่านี้เป็น เครื่องประกอบที่จะทำให้สติเกิดระลึกได้ และยิ่งศึกษาเรื่องของสภาพธรรม ละเอียดขึ้นๆ ถึงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ และดับไปอย่างรวดเร็ว ก็เป็นการประกอบให้มีการละคลาย ไม่ยึดถือ ไม่ติดข้องในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าขณะนี้ ถ้าจะระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่แข็ง เป็นของจริงแน่นอน เกิดดับแน่นอน และลักษณะแข็งนั้นไม่ใช่ใครทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ไม่เคยพิจารณา ไม่เคยแม้แต่จะคิดว่า แข็งเกิดมาได้อย่างไร มาจากไหน ใครทำให้มีแข็ง ไม่ว่าจะเป็นแข็งที่ร่างกาย หรือแข็งภายนอกก็ตาม สิ่งใดก็ตามที่เกิด มีขึ้น สิ่งนั้นต้องมีปัจจัยปรุงแต่งเป็นสมุฏฐานให้สิ่งนั้นเกิด

เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเริ่มระลึกลักษณะที่แข็ง ลักษณะแข็งปรากฏ แต่ ทำไมที่เคยยึดถือว่าแข็งเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ หรือเป็นเรา เป็นนิ้วของเรา เป็นเท้าของเรา ไม่หมดไป ทั้งๆ ที่ลักษณะจริงๆ ของแข็งก็คือสิ่งนั้นแหละ ซึ่งจะไม่เป็นสิ่งอื่นได้เลย ด้วยเหตุนี้จึงทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียดที่จะให้รู้ถึงสมุฏฐานที่เกิด แม้ของรูปนั้น

ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ค่อยๆ เริ่มระลึกลักษณะของปรมัตถ์ และให้เข้าใจเหตุผลนี้ว่า เคยอยู่ในโลกของบัญญัติจนกระทั่งไม่สามารถแยกบัญญัติและปรมัตถ์ออกจากกันได้ เพราะฉะนั้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า สังขารธรรมทั้งหลาย ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป สำหรับท่านที่รู้ ท่านที่ประจักษ์ ไม่มีข้อสงสัยเลย แต่ ผู้ที่กำลังฟัง กำลังเข้าใจ กำลังเริ่มศึกษา สติเริ่มระลึก น้อมไปที่จะรู้ลักษณะของ สิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่อาศัยการฟังเลย ไม่สามารถละหรือรู้ได้ว่า เป็นเพียงสิ่งหนึ่ง ซึ่งปรากฏ ต่างกับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น

ดูเสมือนว่าแข็งนี้ไม่ดับ ทางตาก็ดูเสมือนว่าเห็นนี้ไม่ดับ ทางหูก็แยกไม่ออกว่า ได้ยินกับคิดเป็นคำๆ นั้น ต่างขณะกัน ขณะที่ได้ยินเฉพาะเสียง ไม่ใช่ขณะที่กำลัง นึกถึงคำหรือความหมายของเสียงสูงๆ ต่ำๆ ที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น จะบอกว่าเสียงดับ แน่ใจหรือว่าเสียงดับ หรือว่าได้ยินดับ หรือว่าคิดนึกถึงความหมายของเสียงดับ เพราะว่ารวมกันหมดแล้ว

ด้วยเหตุนี้การศึกษาสามารถทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขั้นของ การพิจารณาได้ว่า ภวังคจิตมี วิถีจิตมี และแต่ละวิถีต้องมีภวังค์คั่น และมโนทวารวิถีในขณะนี้ก็กำลังรับอารมณ์เดียวกับทางตาสืบต่อ ดังนั้น จึงไม่สามารถแยกได้ว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นคนทันที ปัญจทวารวิถีดับไปเมื่อไร ภวังคจิตคั่นเมื่อไร มโนทวารวิถีเกิดกี่วาระ จึงจะรู้ว่ากำลังเห็นคนนั้น คนนี้

แสดงให้เห็นว่า สติปัฏฐานในขั้นต้นเพียงแต่เริ่มระลึกได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่บัญญัติอย่างไร เพื่อที่จะถ่ายถอนถอดบัญญัติที่เคยยึดถือ จนกระทั่งเมื่อปรากฏเป็นปรมัตถธรรมแล้ว ปัญญาสมบูรณ์ขึ้นก็จะประจักษ์ในการเกิดขึ้นและดับไปของปรมัตถธรรมนั้นๆ ได้ แต่ถ้ายังไม่สามารถแยกบัญญัติกับปรมัตถ์ ไม่มีทางที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของปรมัตถธรรมได้

ยิ่งฟังก็ยิ่งต้องถอยไปตั้งต้นกันใหม่อีกเรื่อยๆ ก็เป็นความจริง ซึ่งพิสูจน์ได้ วันนี้รู้ลักษณะที่ไม่ใช่บัญญัติกี่ครั้ง คือ ถ้าพูดถึงเรื่องปรมัตถธรรม เรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป ก็มีความเข้าใจรู้ได้ว่า มีจิตกี่ประเภท ชื่ออะไรบ้าง มีเจตสิกเท่าไร เจตสิกประเภทไหนเกิดกับจิตประเภทไหน แม้แต่ตัตรมัชฌัตตตาก็เป็น โสภณเจตสิก เป็นสภาพที่เป็นกลาง ต้องเกิดกับจิตที่ดีงาม ก็เป็นเพียงชื่อ แต่ที่จะ รู้จริงๆ ว่า รูปธรรมเป็นสภาพที่ไม่ใช่นามธรรม เพียงเท่านี้ก็ต้องอาศัยการพิจารณาตนเองว่า รู้ลักษณะของนามธรรมในขณะที่เห็นหรือยัง

ถ้าไม่รู้ก็มีหนทางเดียว คือ เริ่มระลึกได้เท่านั้นเองว่า ขณะนี้ ขณะที่เห็น เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง จนกว่าจะรู้ว่าขณะที่ไม่ใช่บัญญัติ คือ กำลังศึกษาลักษณะของปรมัตถธรรม แม้ว่ายังเห็นเป็นคนอยู่ ยังเห็นเป็นโต๊ะ ยังเห็นเป็นเก้าอี้ แต่ก็เริ่มระลึกได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาทั้งหมด เพียงไม่คิดก็ไม่มีใครในห้องนี้เลย เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ แต่ความคิดนี่ก็รวดเร็ว กั้นไม่ได้ เพราะว่าหลังจากที่ตาเห็นแล้ว ก็คิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา หลังจากหูได้ยินก็คิดเรื่องที่ได้ยินทางหู

เพราะฉะนั้น โลกจึงเต็มไปด้วยบัญญัติ คือ การคิดนึก ซึ่งมากเหลือเกิน เพียงแต่เริ่มพิจารณาว่า วันหนึ่งๆ เราคิดมากแค่ไหน แค่นี้ก็เป็นประโยชน์แล้ว เต็มไปด้วยเรื่องของโลกของความคิดทั้งนั้นในวันหนึ่งๆ แต่ความจริงแท้ๆ เพียง ชั่วขณะที่เห็นนิดเดียวเท่านั้นเอง ถ้าไม่เปรียบเทียบกับทางหูที่ได้ยินเมื่อกี้จะไม่รู้เลยว่า ทางตาต้องดับ

ปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งได้จริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาต้องดับด้วย ไม่ใช่ปรากฏสืบต่อสว่างอย่างนี้ไปตลอดนั้น คือ รู้ว่าเวลาที่ได้ยินเสียง ต้องไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาแน่นอน แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์ ก็ไม่ประจักษ์ ก็ค่อยๆ อบรมไปจนกว่าจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น

ไม่ใช่เรื่องรีบร้อน หรือใจร้อนที่จะต้องการผล แต่เป็นเรื่องที่พิสูจน์ตนเองว่า เริ่มรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมและบัญญัติเพิ่มขึ้นหรือยัง ขณะใดมีบัญญัติเป็นอารมณ์ และขณะใดมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์

. รู้ตามความเป็นจริง ต้องรู้ปรมัตถ์ แต่ถ้าคิดและรู้ว่าที่คิดนั้น เป็นบัญญัติ รู้ว่าบัญญัติคือบัญญัติ ชื่อว่ารู้ตามความเป็นจริงหรือเปล่า

สุ. คิดไม่ใช่บัญญัติ เรื่องที่คิดเป็นบัญญัติ แต่สภาพที่คิดเป็นปรมัตถ์ จิตที่คิดเป็นปรมัตถธรรม แต่เรื่องที่จิตคิด ที่เป็นเรื่อง ไม่ใช่ปรมัตถ์

เปิด  228
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565