แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1679

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๓๐


เรื่องของนามรูปปริจเฉทญาณ กว่าจะถึงต้องอบรมเจริญปัญญาศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า วันหนึ่งๆ รู้ลักษณะของ ปรมัตถธรรมมากหรือน้อย เพิ่มขึ้นหรือเปล่า หรือวันหนึ่งๆ ก็ยังเป็นเรื่องของบัญญัติมากมายอยู่ตลอด ไม่ว่าเช้า สาย บ่าย เย็น ก็ยังเต็มไปด้วยเรื่องของบัญญัติ

ต้องเป็นผู้ที่สามารถแยกลักษณะของปรมัตถ์ออกจากบัญญัติจริงๆ จึงจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมโดยความเป็นอนัตตาทางมโนทวาร ถึงความสมบูรณ์พร้อมที่จะแทงตลอดลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้โดยสภาพที่เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ตรงต่อเหตุผล ต่อข้อปฏิบัติ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ตรง และอยากจะรู้สภาพธรรม อยากจะประจักษ์แจ้งอริยสัจจ์เร็วๆ รีบร้อนหาทางอื่น ก็ยิ่งไม่สามารถจะเกิดปัญญาที่ดับกิเลสได้

อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหปติวรรค อุปาลิวาทสูตร มีข้อความว่า

นิครนถ์นาฏบุตรได้ส่งลูกศิษย์ คือ ท่านอุบาลีคฤหบดีให้ไปยกวาทะของ พระผู้มีพระภาค เพราะสำคัญตนว่าเก่งกว่าพระผู้มีพระภาค และแม้จะอยู่ในนครเดียวกันกับพระผู้มีพระภาค คือ ในครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใกล้เมือง นาลันทา และนิครนถ์นาฏบุตรก็อยู่ที่เมืองนาลันทา แต่นิครนถ์นาฏบุตรก็ไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคเลย ด้วยว่า ผู้ใดย่อมปฏิญาณตนด้วยวาทะว่าเป็นศาสดา ผู้นั้นยัง ไม่ละปฏิญาณนั้น ก็ไม่สมควรเห็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น นิครนถ์นาฏบุตรนั้น ไม่รู้ถึงสมบัติ คือ การเห็นและการฟังพระธรรมของพระผู้มีพระภาค เพราะไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาค

นี่เป็นสิ่งที่สาวกจะเห็นคุณค่าของพระธรรมโดยการรู้ว่าไม่รู้อะไร นอกจากจะได้ฟังพระธรรม และเริ่มพิจารณา เริ่มเข้าใจขึ้น จนกระทั่งพิจารณาข้อปฏิบัติที่ละเอียด รอบคอบ เป็นหนทางที่จะทำให้รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน เพราะถ้าผิดไปเพียงเล็กน้อย ทีละนิดทีละหน่อย ไม่เป็นผู้ที่พิจารณาเหตุผลโดยถูกต้อง ย่อมจะทำให้มีข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด

ในทุกวันนี้ ทุกคนจะเห็นได้ว่า เพราะไม่รู้ปัจจัย คือ เหตุที่จะทำให้เกิดผล คือ สภาพธรรมแต่ละขณะในขณะนี้ จึงทำให้มีการเข้าใจผิด มีการเชื่อและประพฤติผิดต่างๆ ซึ่งความเห็นผิดในปัจจุบันนี้ที่ทุกท่านเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นความ เข้าใจผิด เป็นความเชื่อผิดๆ และความเห็นผิดก็ไม่ได้มีแต่เฉพาะในสมัยนี้ แม้แต่ ในครั้งโบราณนานมาแล้ว จะเป็นพันล้านปีก่อน หรืออีกพันล้านปีข้างหน้า ความเห็นผิดหรือว่าความเชื่อผิดๆ ก็ยังคงเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของผู้ที่ ไม่พิจารณาเหตุและผลให้ถูกต้องตามความเป็นจริง จึงต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาทจริงๆ ว่า ถ้าขาดเหตุผลขณะใด จะไม่รู้ปัจจัยที่ทำให้เกิดสภาพธรรมแต่ละอย่างตาม ความเป็นจริงซึ่งจะทำให้เชื่อผิดๆ และปฏิบัติผิดๆ ได้

อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหปติวรรค อุปาลีวาทสูตร มีข้อความต่อไปว่า

พวกนิครนถ์เห็นผิดว่า แม้ต้นไม้ ใบไม้แห้งๆ ผุๆ กรวดหรือกระเบื้องแตก ก็มีชีวิต คือ มีปาณะ มีลมหายใจ

จะเห็นได้ว่า ความคิดอย่างนี้ ไม่ได้มีเฉพาะในสมัยนี้ แม้ในครั้งที่ พระผู้มีพระภาคหรือก่อนนั้น ก็ยังมีความเชื่อที่ผิดๆ มีความเห็นที่ผิดๆ ได้

อีกเรื่องหนึ่ง ตามข้อความใน อุปาลีวาทสูตร

หญิงงามเมืองผู้หนึ่งที่อาศัยกรรมดีในอดีตที่ได้กระทำมาแล้ว จึงได้ฐานันดร คือ มีตำแหน่งเป็นหญิงงามเมือง แต่ก็เข้าใจว่าที่ตนได้ฐานันดรนั้น เพราะเห็นดาบส ผู้หนึ่งซึ่งมีหนวดเคราปิดอกรุงรัง ก็คิดว่าเป็นกาลกิณี เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นดาบสนั้นก็เลยล้างตา แปรงฟัน เคี้ยวไม้สีฟัน ถ่มน้ำลายเป็นก้อนๆ ลงไปที่ดาบสนั้น และโยนไม้สีฟันลงไปบนเซิงผม บ้วนปาก เอาราดบนศีรษะของดาบส โดยเข้าใจว่า การทำอย่างนั้นเป็นการลอยกลีโทษแล้ว ซึ่งก็ทำให้ผู้อื่นพลอยกระทำตามกันไปหมด

นี่ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสมัยนี้จะมีอย่างนี้หรือเปล่า หรือจะมากน้อยกว่านี้ ก็ต้องแล้วแต่สถานที่ เพราะว่าตามชายแดนห่างไกล ก็ไม่ทราบว่าจะมีความเห็นผิด ความเข้าใจผิด เพราะไม่รู้เหตุปัจจัยของสภาพธรรมมากน้อยแค่ไหน

เมื่อผู้อื่นได้กระทำตามอย่างนั้น ได้อาศัยกรรมดีที่ได้กระทำแล้วในอดีตเป็นเหตุให้ได้ยศถาบรรดาศักดิ์กัน ก็ยิ่งทำให้เชื่อว่า ด้วยการกระทำอย่างนั้นเป็นเหตุที่ทำให้ได้ยศถาบรรดาศักดิ์

นี่คือประวัติของป่าทัณฑกี ในอุปาลีสูตร

อีกป่าหนึ่ง คือ ป่ากาลิงคะ ก็มีประวัติที่แสดงความเห็นผิดของพระราชา องค์หนึ่ง เรื่องมีว่า

เมื่อได้ฟังดาบสรูปหนึ่งแสดงโทษของการล่วงศีล ๕ พระราชาองค์นั้นคิดว่า ดาบสนั้นพูดกระทบกระเทียบทิ่มแทงพระองค์ผู้เดียวท่ามกลางบริษัท จึงคิดที่จะเบียดเบียนดาบสทั้ง ๕๐๐ รูป ผู้สมบูรณ์ด้วยตบะ จนสิ้นชีวิตในวันเดียวเท่านั้น

นี่คือความคิดปรุงแต่งมากมาย แม้เพียงได้ฟังเรื่องโทษของการล่วงศีล ๕ แต่คำพูดที่ดีที่เป็นศีล ก็เป็นทุศีลสำหรับผู้ที่ไม่มีศีล พระราชาพระองค์นั้นจึงเข้าใจว่า ดาบสนั้นกระทบกระเทียบทิ่มแทงพระองค์ผู้เดียว จนกระทั่งเกิดความคิดที่จะเบียดเบียน และในที่สุดก็ได้ประหารดาบสทั้ง ๕๐๐ ผู้สมบูรณ์ด้วยตบะ ในวันเดียว นี่คือประวัติของป่ากาลิงคะ

อีกป่าหนึ่ง คือ ป่ามาตังคะ ซึ่งได้แสดงให้เห็นความเข้าใจผิดที่ไม่รู้ว่า สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นไปทุกขณะ ต้องมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลวิบากก็ต้องเกิดจากกุศลกรรม อกุศลวิบากก็ต้องเกิดจากอกุศลกรรม แต่เมื่อไม่รู้สภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริงจึงทำให้เข้าใจผิด เช่น ในครั้งนั้นความเห็นผิดของคนในสมัยนั้นมีว่า

เมื่อคนจัณฑาลโกรธ นอนตายใกล้ประตูห้องของผู้ใด คนที่อยู่ในห้องนั้นทั้งหมดต้องตกเป็นจัณฑาล หรือเมื่อคนจัณฑาลตายกลางเรือน คนในเรือนทั้งหมดต้องเป็นจัณฑาล หรือเมื่อคนจัณฑาลตายที่ประตูเรือน คนที่อยู่ในเรือนทั้ง ๒ ข้าง ต้องเป็นจัณฑาล หรือเมื่อคนจัณฑาลตายที่ลานบ้าน คนที่อยู่ในเรือนทั้ง ๑๔ หลัง คือ ทั้งข้างโน้น ๗ หลัง ข้างนี้ ๗ หลัง ต้องเป็นจัณฑาล

ไม่มีเหตุไม่มีผลอะไรเลย แต่เพราะไม่รู้เหตุปัจจัยของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏ จึงทำให้มีการเห็นผิดต่างๆ

เรื่องของนายมาตังคะได้เคยกล่าวถึงแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งก็เป็นพระชาติหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต้องเกิดขึ้นเป็นไปในแต่ละภพแต่ละชาติตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมา

สำหรับท่านผู้ฟังใหม่ จะขอกล่าวถึงเรื่องของนายมาตังคะอีกครั้งหนึ่งโดยย่อ

ในสมัยนั้นที่พระนครพาราณสี มีเศรษฐีผู้หนึ่งมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ เศรษฐีผู้นั้น มีธิดาคนหนึ่งชื่อทิฏฐมังคลิกา สะสวย น่ารักน่าชม พร้อมด้วยรูปสมบัติ โภคสมบัติ และคุณสมบัติ แต่ไม่ว่าจะมีชายใดมาสู่ขอ นางก็เห็นว่าไม่มีใครคู่ควรเลยสักคนเดียว มีข้อตำหนิไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องชาติบ้าง หรือไม่ก็ในเรื่องทรวดทรง เรื่องมือ เรื่องเท้า เป็นต้น

วันหนึ่งนางทิฏฐมังคลิกาตั้งใจจะลงเล่นน้ำในแม่น้ำคงคา ก็ได้สั่งให้จัดตบแต่งท่าน้ำ บรรทุกของเคี้ยวของกินเป็นอันมากเต็มเล่มเกวียน เอาของหอมและดอกไม้ เป็นต้นไปด้วย และขึ้นยานอย่างมิดชิด มีหมู่ญาติแวดล้อมออกจากปราสาทไป

สมัยนั้น พระมหาบุรุษได้กำเนิดเป็นคนจัณฑาลมีชื่อว่ามาตังคะ อายุ ๑๖ ปี อาศัยอยู่ในกระท่อมหนังนอกพระนคร วันนั้นนายมาตังคะมีกิจที่จะเข้าไปในพระนครพาราณสี เขานุ่งผ้าเก่าสีเขียว มือข้างหนึ่งถือกระเช้า อีกข้างหนึ่งถือกระดิ่งสั่น ร้องบอกคนที่ผ่านไปมาให้รู้ว่าเขาเป็นคนจัณฑาล ด้วยความนอบน้อมเจียมตน

ความนอบน้อมเจียมตนเป็นกุศล แต่ผู้คนในสมัยโน้นหรือแม้ในสมัยนี้ ก็ยังคงยึดถือในกำเนิด คือ ไม่ได้พิจารณาถึงกุศลจิตและอกุศลจิต แต่ถือชั้นวรรณะ

เมื่อนางทิฏฐมังคลิกาได้ยินเสียงกระดิ่งก็ได้มองทางช่องม่าน เห็นนายมาตังคะก็รังเกียจจนตัวสั่น

คิดดู นายมาตังคะซึ่งเป็นพระชาติหนึ่งของพระผู้มีพระภาค รูปร่างหน้าตา ทำให้คนรังเกียจจนตัวสั่น

นางถ่มน้ำลาย และบอกให้พี่เลี้ยงเอาน้ำมาล้างตาที่เห็นนายมาตังคะ และบ้วนปากที่เอ่ยชื่อนายมาตังคะ และให้กลับรถไปปราสาท

คือ เลิกเล่นน้ำที่แม่น้ำคงคา

พวกที่คิดว่าจะได้ข้าวปลาอาหาร สุรา เนื้อ ของหอมจากการไปเล่นแม่น้ำ คงคาของนางทิฏฐมังคลิกาก็โกรธนายมาตังคะ ที่ทำให้ตนพลาดโอกาสที่จะได้สนุกสนานและได้ลาภอย่างนั้น คนเหล่านั้นก็ตามนายมาตังคะไปจนกระทั่งถึงที่อยู่ และทำร้ายจนกระทั่งเข้าใจว่านายมาตังคะตายแล้ว และช่วยกันจับลากไปทิ้งไว้ที่ กองขยะ

เมื่อนายมาตังคะรู้สึกตัว ก็พิจารณาหาเหตุที่ถูกทำร้ายว่าเกิดจากอะไร ก็รู้ว่าเป็นเพราะนางทิฏฐมังคลิกานั่นเอง นายมาตังคะจึงคิดที่จะละมานะของ นางทิฏฐมังคลิกา นายมาตังคะไปนอนที่ลานบ้านของนางทิฏฐมังคลิกาด้วยตั้งใจว่า เราได้นางทิฏฐมังคลิกาจึงจะลุก เมื่อไม่ได้ก็จะตายเสียที่นี้แหละ

ความเห็นผิดของคนในสมัยนั้นมีว่า เมื่อคนจัณฑาลโกรธ นอนตายใกล้ประตูห้องของใคร คนที่อยู่ในห้องนั้นทั้งหมดต้องเป็นจัณฑาล หรือเมื่อคนจัณฑาลตายกลางเรือน คนในเรือนนั้นทั้งหมดต้องเป็นจัณฑาล หรือเมื่อคนจัณฑาลตายที่ ประตูเรือน คนที่อยู่ในเรือนสองข้างต้องเป็นจัณฑาล หรือเมื่อคนจัณฑาลตายที่ ลานบ้าน คนที่อยู่ในเรือนทั้ง ๑๔ หลัง คือ ข้างโน้น ๗ หลัง ข้างนี้ ๗ หลัง ทั้งหมดต้องตกเป็นจัณฑาล

คนทั้งหลายก็ได้ไปบอกเศรษฐีว่า นายมาตังคะนอนอยู่ที่ลานบ้านของเศรษฐี เศรษฐีก็บอกให้เอาทรัพย์ไปให้นายมาตังคะ ๑ มาสก เพื่อให้นายมาตังคะลุกไป แต่นายมาตังคะก็ไม่ยอมลุก เขาบอกว่าไม่ได้ต้องการเงิน ต้องการนางทิฏฐมังคลิกา คนเหล่านั้นก็ถามว่า นางทิฏฐมังคลิกามีโทษผิดอะไร นายมาตังคะก็บอกว่า นางทิฏฐมังคลิกาไม่ได้ทำอะไร แต่พวกของนางทำร้ายตน

เมื่อคนเหล่านั้นไปบอกเศรษฐี เศรษฐีก็เพิ่มเงินให้อีก เพื่อให้นายมาตังคะกลับไป แต่นายมาตังคะก็ไม่กลับไป ยังนอนอยู่ตามเดิม

เศรษฐีและภรรยากลัวนายมาตังคะจะตาย ก็ส่งอาหารและทรัพย์ไปให้ นายมาตังคะเพิ่มขึ้น แต่นายมาตังคะก็ไม่รับ

ล่วงไปวันหนึ่ง ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ๕ วัน พวกเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันก็บอกให้เศรษฐีให้นางทิฏฐมังคลิกากะนายมาตังคะไปเสีย แต่เศรษฐีและภรรยาก็ไม่ยอม ส่งเงินไปให้เพิ่มอีกเรื่อยๆ จนถึงหนึ่งแสน แต่นายมาตังคะก็ไม่ยอมรับ

จนถึงวันที่ ๗ ชาวบ้านทั้ง ๑๔ หลังก็ประชุมกันยกนางทิฏฐมังคลิกาให้ นายมาตังคะ โดยพากันขึ้นไปบนปราสาท ถอดเครื่องประดับทุกชิ้นออก ให้นุ่งผ้าเขียวเก่าๆ ให้ประดับต่างหูดีบุก มอบกระเช้าใบตาลให้ แล้วจับแขนไปส่งให้ นายมาตังคะ

นายมาตังคะทำมานะของนางทิฏฐมังคลิกาให้ลดลงโดยไม่ยอมลุกขึ้น จนกว่านางทิฏฐมังคลิกาจะพูดกับตนอย่างนอบน้อม ซึ่งนางทิฏฐมังคลิกาก็เรียกนายมาตังคะว่า เจ้านาย แล้วก็บอกให้ลุกขึ้น

นายมาตังคะก็ให้นางทิฏฐมังคลิกาแบกตน พาไปยังประตูที่จะออกไปสู่บ้าน แต่ไม่บอกให้ไปทางไหน นางทิฏฐมังคลิกาเป็นผู้ที่ไม่เคยแม้แต่จะยกของที่เบาๆ อย่างก้านบัว แต่ก็เชื่อฟัง เพราะฉะนั้น ก็แบกนายมาตังคะเดินไปทางประตูด้าน ทิศตะวันออก แล้วก็ถามว่า ออกทางประตูนี้ใช่ไหม นายมาตังคะก็บอกว่า ไม่ใช่ นางทิฏฐมังคลิกาก็แบกต่อไปอีกจนถึงประตูเมืองด้านตะวันตก นายมาตังคะก็บอกว่าให้ออกไปทางประตูด้านนี้ ไปยังกระท่อมมุงหนังของตน

พระโพธิสัตว์อยู่ในกระท่อมของตนกับนางทิฏฐมังคลิกาโดยไม่เกี่ยวข้องกับ นางทิฏฐมังคลิกาเลยตลอด ๗ – ๘ วัน ระหว่างนั้นท่านคิดว่าจะมีทางใดที่จะทำให้ นางทิฏฐมังคลิกาได้เกียรติ ได้ยศ และได้บริวาร เมื่อเห็นว่าถ้าท่านยังอยู่เป็นคฤหัสถ์ ก็ไม่มีทางที่จะทำให้นางทิฏฐมังคลิกาได้เกียรติ ได้ยศ ได้บริวารได้ เพราะฉะนั้น ก็ออกบวช เจริญฌานสมาบัติจนกระทั่งได้อภิญญา เมื่อบรรลุอภิญญาแล้ว ก็ได้กลับไปบอกนางทิฏฐมังคลิกาว่า ให้นางประกาศให้ทั่วพระนครว่า สามีของนางไม่ใช่จัณฑาล แต่เป็นท้าวมหาพรหม และให้ประกาศว่า อีก ๗ วันซึ่งจะเป็น วันอุโบสถนั้น ท้าวมหาพรหมสามีของนางจะเหาะลงมาจากวงพระจันทร์ และเมื่อ ถึงวันนั้น ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

เพราะฉะนั้น เมื่อมหาชนเห็นดังนั้น ก็พากันแวดล้อมนางทิฏฐมังคลิกา เรียกนางว่า พรหมปชาบดี และปรึกษากันที่จะเชิญนางเข้าไปอยู่ในพระนคร โดยหามไปด้วยวอทอง ไม่ให้คนที่มีชาติไม่บริสุทธิ์ ๗ ชั่วคนหาม แต่ว่าให้พราหมณ์ ที่มีชาติและมนต์ ๑๖ คนหามไป คนที่เหลือบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น เข้าไปสู่พระนคร และได้สร้างมณฑปให้นางอยู่

ตั้งแต่นั้นมาคนทั้งหลายได้ยืนพอเห็นนาง แต่ว่าเข้าใกล้ไม่ได้ เมื่อต้องการ จะไหว้ก็ต้องให้ ๑ กหาปณะจึงไหว้ได้ ผู้ต้องการไหว้ในที่รอบๆ พอได้ยินเสียง ต้องให้ ๑๐๐ กหาปณะจึงไหว้ได้ ผู้ต้องการไหว้ในที่ใกล้ซึ่งเป็นที่ได้ยินเสียงพูดปกติ ต้องให้ ๕๐๐ กหาปณะจึงไหว้ได้ ผู้ต้องการวางศีรษะที่เท้าแล้วไหว้ต้องให้ ๑,๐๐๐ กหาปณะ จึงไหว้ได้ ผู้ที่ต้องการน้ำชำระเท้า ต้องให้ ๑๐,๐๐๐ กหาปณะจึงได้

มีใครต้องการไหม น้ำล้างเท้า ๑๐,๐๐๐ กหาปณะ เพราะคิดว่านั่นเป็นมงคล

แม้แต่พระราชาซึ่งจะทำพิธีราชาภิเษก ก็ยังต้องการน้ำชำระเท้าของ นางทิฏฐมังคลิกา เพราะฉะนั้น พระราชาก็ต้องให้เงินถึง ๑๐,๐๐๐ กหาปณะด้วย

นายมาตังคะซึ่งเป็นคนจัณฑาล เป็นผู้ที่อยู่บ้านมุงหนัง ก็ได้จบชีวิตใน สังสารวัฏฏ์ด้วยการตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดมพระองค์นี้

เพราะฉะนั้น ทุกคนในขณะนี้ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ที่ยากไร้ถึงขนาดนายมาตังคะ ก็น่าที่จะมีโอกาสได้อบรมเจริญปัญญา แม้ว่าจะไม่มาก แต่ก็อบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาติหนึ่ง

เปิด  240
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565