แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1692

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๓๐


วิปัสสนาญาณที่ ๒ คือ ปัจจยปริคคหญาณ เป็นการประจักษ์แจ้งปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมเกิดปรากฏ เพราะเมื่อรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนทางมโนทวาร เวลาที่ปัจจยปริคคหญาณเกิด ในขณะนั้นจะใส่ใจรู้ถึงลักษณะความเป็นปัจจัยของนามธรรมหรือรูปธรรมที่เกิดในขณะนั้นด้วย เพราะว่าลักษณะของนามมีหลายอย่าง เช่น ได้ยิน ทันทีที่เกิดขึ้นก็รู้ว่าลักษณะนี้มีปัจจัยคือเสียง เวลาที่กลิ่นปรากฏ สภาพของนามธรรมที่รู้กลิ่นปรากฏทางมโนทวาร ปัญญาขณะนั้นก็รู้ปัจจัยของสภาพที่รู้กลิ่นที่เกิดปรากฏในขณะนั้น

ปัจจยปริคคหญาณเป็นขณะที่รู้ปัจจัยของสภาพธรรมที่เกิด ประจักษ์แจ้งในปัจจัยของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏทางมโนทวาร เพราะฉะนั้น ปัจจยปริคคหญาณ ละความเห็นผิดว่าไม่มีเหตุและการเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุ อันควรที่จะให้เกิดของสภาพธรรมนั้นๆ

เพราะฉะนั้น จึงรู้ว่า สภาพธรรมซึ่งไม่มี และเกิดมีขึ้น ก็เพราะเหตุ ไม่ใช่ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมนามธรรมแต่ละลักษณะ รูปธรรมแต่ละลักษณะ เหมือนอย่างนามรูปปริจเฉทญาณ แต่ปัญญาเพิ่มขึ้นเพราะว่าพิจารณาทันที รู้แจ้งทันทีในลักษณะของปัจจัยที่ทำให้สภาพนามธรรมนั้นๆ ต่างกัน

สำหรับวิปัสสนาญาณที่ ๓ คือ สัมมสนญาณ เป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง การเกิดดับสืบต่อกันของนามธรรมและรูปธรรมอย่างรวดเร็วทางมโนทวาร เพราะขณะนี้นามธรรมก็เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว รูปธรรมก็เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น สัมมสนญาณละความยึดถือว่าเราหรือของเราได้ด้วยกลาปสัมมสนญาณ เพราะเป็นญาณที่ประจักษ์รูปกลาปและสภาพของนามธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน ในขณะนั้น

เวลาที่เกิดปวดเมื่อย จะรู้ได้ไหมว่าเพิ่มขึ้นๆ

เวลาที่จะประจักษ์สภาพการเกิดของเวทนาทางมโนทวารซึ่งเป็นการ ประจักษ์แจ้ง ก็สามารถประจักษ์สภาพที่เกิดดับๆ สืบต่อเพิ่มขึ้นได้ตามปกติ ตามความเป็นจริง โดยสภาพที่ไม่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน หรือเป็นเรา หรือเป็น ของเรา นั่นจึงจะเป็นสัมมสนญาณ

ทั้ง ๓ ญาณนี้ยังเป็นตรุณวิปัสสนา เพราะแม้ในขณะนั้นก็ยังมีการตรึกถึงลักษณะที่กำลังปรากฏในขณะนั้นด้วยได้

เป็นเรื่องของกาลข้างหน้า ซึ่งการรู้แจ้งชัดในลักษณะของสภาพธรรมจะต้อง มาจากการที่สติเริ่มระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไปเรื่อยๆ แต่ต้องสังเกตจนเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ระลึกเฉยๆ ซึ่งในขณะที่กำลังระลึกนั้นเอง ศึกษาเพื่อที่จะแยกรู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม

บางท่านเข้าใจว่าเวลาที่พิจารณาว่า นามนี้เกิดเพราะรูปนั้น หรือรูปนั้นเกิดเพราะนามนี้เป็นปัจจยปริคคหญาณ ซึ่งความจริงนั่นเป็นแต่เพียงขั้นคิด ยังไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง จนกว่านามรูปปริจเฉทญาณจะเกิดแล้ว ต่อจากนั้นความสมบูรณ์ของปัญญาจึงเป็นปัจจยปริคคหญาณได้ หรือแม้แต่การสามารถประจักษ์แจ้งการเกิดดับสืบต่อกันของนามธรรมและรูปธรรมอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นสัมมสนญาณ ก็ต้องหลังจาก ที่นามรูปปริจเฉทญาณและปัจจยปริคคหญาณเกิดก่อน ถ้าทั้ง ๒ ญาณนี้ยังไม่เกิด สัมมสนญาณก็เกิดไม่ได้

. อาจารย์บอกว่า สัมมสนญาณละความเป็นตัวตนได้ และนามรูปปริจเฉทญาณก็ละสักกายทิฏฐิ ก็เหมือนๆ กัน

สุ. ละสักกายทิฏฐิโดยที่ขณะนั้นไม่มีตัวตนเลยทางมโนทวาร ไม่มีความสำคัญหมายที่เป็นอัตตสัญญาเลย เพราะว่ามีลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทีละลักษณะกำลังปรากฏตามความยาวนานของนามรูปปริจเฉทญาณ เพราะแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน และไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า ในขณะที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณนั้น สำหรับบุคคลนั้นนามธรรมใดปรากฏ รูปธรรมใดปรากฏมากน้อยกี่อย่าง นั่นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่เนื่องด้วยในขณะนั้นไม่มีอัตตสัญญา จึงเป็นการละสักกายทิฏฐิ คือ การยึดถือสภาพธรรมรวมกันเป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นแท่ง

. ก็ไม่ผิดอะไรกับเป็นตัวเป็นตน

สุ. ละสักกายทิฏฐิ แต่เมื่อถึงสัมมสนญาณ การที่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปด้วยสืบต่อกัน ก็ยิ่งเพิ่มการคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา

ผู้ฟัง ยังไม่ถึง ผมว่าไม่มีทางที่จะเข้าใจได้แจ่มแจ้ง

. เมื่อเป็นวิปัสสนาญาณแล้ว สภาพธรรมปรากฏทีละอย่างทางมโนทวาร และขณะที่เป็นสัมมสนญาณได้จะต้องพิจารณาสภาพธรรมนั้น คือ เมื่อสภาพธรรมปรากฏทีละอย่างแล้วที่จะเข้าใจว่าสภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นแล้วดับไป ต้องเทียบเคียงกับสภาพธรรมแต่ละอย่างไหม คือ เมื่อเราทราบว่ารูปธรรมกำลังเกิดดับ รูปธรรมชนิดใดกำลังเกิดขึ้นและดับไปจึงได้มีรูปธรรมชนิดอื่นเกิดขึ้นมา ถ้าเป็นสัมมสนญาณ ต้องรู้ชัดจริงๆ ว่า สภาพธรรมใดกำลังเกิดขึ้นและดับไปจริงๆ ในขณะนั้นหรือเปล่า

สุ. เวลานี้รูปที่กำลังแข็งไม่ได้ดับเลย เพราะว่าไม่ใช่สัมมสนญาณ และถ้าเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ โลกที่เกิดดับสืบต่อรวมกันเป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นแท่ง ไม่มีเลย อย่างที่ถามว่า มีฟันไหม มีผมไหม มีปอดไหม มีนิ้วไหม มีมือไหม จะไม่มีความสงสัยเลย เพราะว่าไม่มี เพียงแต่จำไว้

เวลานี้ถ้าถามว่า ใครมีปอดบ้าง ใครมีหัวใจบ้าง ใครมีผมบ้าง ใครมีเล็บบ้าง ใครมีฟันบ้าง อัตตสัญญาจะจำไว้ว่ามี นั่นคืออัตตสัญญา แต่เมื่อเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ จะไม่มีการรวมกันเป็นกลุ่มก้อนเลย ขอให้คิดถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเพียงอย่างเดียว ทางทวารเดียว เพราะฉะนั้น ลักษณะนั้นเป็นการประจักษ์ลักษณะที่รู้ชัดว่า สภาพรู้ต่างกับรูปธรรม นั่นคือนามรูปปริจเฉทญาณ

และเมื่อนามรูปปริจเฉทญาณดับแล้ว ทุกอย่างก็ปรากฏเหมือนเดิม แต่ อนัตตสัญญาเริ่มมี เพราะเคยประจักษ์ว่า สิ่งที่เคยเข้าใจว่ามีเป็นแต่เพียงความทรงจำเท่านั้น ลักษณะจริงๆ ไม่ได้ปรากฏเลย เพราะว่ารูปใดเกิดแล้วดับแล้วถ้ารูปนั้น ไม่ปรากฏ เนื่องจากรูปทุกรูปมีอายุที่สั้นมาก เพียงแค่ ๑๗ ขณะจิตที่เกิดดับเท่านั้นเอง และ ๑๗ ขณะจิตที่เกิดดับ ขณะที่กำลังเห็นและดูเหมือนได้ยินด้วยก็เกิน ๑๗ ขณะแล้ว เพราะฉะนั้น รูปในขณะนี้ต้องดับไปหมดถ้ารูปนั้นไม่ปรากฏ

เมื่อมีอนัตตสัญญาที่ได้ประจักษ์แจ้งแล้ว เวลาพิจารณาลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรม ก็ย่อมจะพิจารณาในลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกันที่เกิด ในขณะนั้น เช่น เวลาที่สติระลึกลักษณะที่ได้ยิน ลักษณะที่ได้ยินเป็นธาตุรู้ไม่สงสัย พร้อมกันนั้นก็รู้ด้วยว่าลักษณะธาตุรู้นี้เกิดเพราะเสียง เพราะว่าเป็นของแน่นอนที่ ถ้าเสียงไม่กระทบ หรือไม่มี ไม่ปรากฏ ได้ยินย่อมได้ยินไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็รู้ปัจจัยของนามธรรมแต่ละชนิด

นี่คือการรู้ปัจจัย คือ ในขณะที่เกิดนั้นเอง เกิดเพราะปัจจัยอะไร หรือแม้แต่การที่มือจะเคลื่อนไหวไป หรือการกล่าววาจาซึ่งปกติไม่เคยสังเกตเลยว่า ทันทีที่คิด เสียงก็ดังแล้วตามความคิดนั้น เพราะว่าทุกคนพูดโดยปราศจากสติ แต่เวลาที่สติเกิดระลึกลักษณะของจิตที่คิด เสียงปรากฏ การประจักษ์แจ้งลักษณะของ ปัจจยปริคคหญาณจึงเป็นทางมโนทวารวิถี ซึ่งในขณะนั้นไม่มีตัวตนเลย เหมือนเดิม เหมือนนามรูปปริจเฉทญาณซึ่งสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน แต่ในขณะนั้นเพิ่มการที่จะรู้ลักษณะของปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ สืบต่อกันในขณะนั้น นั่นคือปัจจยปริคคหญาณ ละการที่คิดหรือเข้าใจผิดว่า สภาพธรรมเกิดได้โดยไม่มีเหตุ เพราะว่าในขณะนี้ไม่มีการพิจารณาถึงเหตุที่เกิดของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ยังต้องพิจารณาว่า เป็นแต่เพียงสภาพรู้ ธาตุรู้ ยังไม่แปลอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ให้เข้าใจถึงอรรถของคำว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่งที่ปรากฏทางตา

นี่ก็ต่างขั้นกันแล้ว ใช่ไหม ระหว่างการพิจารณาที่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิด นามรูปปริจเฉทญาณ และการพิจารณาที่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดปัจจยปริคคหญาณ สำหรับวิปัสสนาญาณทั้งหมด ต้องประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมทางมโนทวาร ซึ่งในขณะนั้น ปัญญาที่สะสมเหตุสมควรแก่การที่จะประจักษ์ลักษณะที่ เกิดดับสืบต่อกันของนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้นไม่ต้องคิดไตร่ตรอง หรือคาดหวัง หรือตระเตรียม เพราะว่าสภาพธรรมแม้วิปัสสนาญาณก็เป็นอนัตตา ทันทีที่สติเกิด หรือขณะนั้นความสมบูรณ์ของปัญญาที่ได้อบรมมาแล้วก็ทำให้มโนทวารวิถีเกิดปรากฏ ประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน ถ้าเป็นรูปก็จะประจักษ์ใน รูปกลาปซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน อย่างแข็งก็จะประจักษ์การเกิดดับๆ ของแข็ง หรือนามธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน ก็สามารถรู้ได้ด้วยสัมมสนญาณ แต่ทั้ง ๓ วิปัสสนาญาณ ยังเป็นตรุณวิปัสสนา

วิปัสสนาญาณขั้นต่อไป คือ อุทยัพพยญาณ เป็นพลววิปัสสนา เมื่อไรจึงจะเกิด หรือทำอย่างไรจึงจะเกิด หรือมีเหตุอะไรที่จะทำให้เกิด ก็ต้องเป็นปัญญาหลังจากที่พิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทวาร คือ ไม่ว่าขณะนี้ทางตา สติก็สามารถเกิดระลึกรู้เป็นปกติ หรือจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏว่ากำลังเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ ก็รู้ในลักษณะของนามธรรมในขณะนั้นว่า เป็นแต่เพียงธาตุรู้ สามารถแยกลักษณะของปัญจทวารวิถีและมโนทวารวิถี ออกจากกันได้

ถ้าไม่เคยพิจารณาเลยว่า ทางตาในขณะนี้กำลังแปลสี ก็แยกไม่ออก จะต้องฟัง และพิจารณา และอบรมเจริญปัญญา โดยไม่คำนึงถึงอุทยัพพยญาณเลย จนกว่าเหตุจะสมควรเมื่อไร แต่อุทยัพพยญาณนั้นคืออะไร

อุทยัพพยญาณ คือ ปัญญาที่สามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเป็นปัจจุบันทีละอย่าง สำหรับสัมมสนญาณ ประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับสืบต่อกันของนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น มีความเข้าใจชัดในสภาพธรรมที่เป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต เพราะว่าเกิดแล้วดับๆ ก็รู้ว่า อดีต คือ สิ่งที่ดับแล้ว ปัจจุบัน คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และสิ่งที่เกิดต่อที่เป็นอนาคตก็เป็นปัจจุบันอีก และสิ่งที่เป็นปัจจุบันนั้นก็เป็นอดีตอีก เพราะว่าเกิดดับ สืบต่อกัน แต่วิปัสสนาญาณที่ ๓ คือ สัมมสนญาณนั้น เป็นการประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปสืบต่อของนามธรรมและรูปธรรมอย่างรวดเร็วตามปกติที่เร็วมาก ด้วยเหตุนั้นปัญญาในขณะนั้นจึงไม่ละเอียดพอที่จะละคลายหรือเห็นโทษของการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม เพราะว่าการเกิดขึ้นสืบต่อสภาพธรรมที่ดับไปนั้น เร็วจนกระทั่งปิดบังโทษของการดับไป หรือการเกิดดับของนามและรูปที่ดับไปแล้ว

ถ้าขณะนี้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับๆ จะเห็นโทษของการ เกิดดับไหม ในเมื่อเกิดดับ ก็เกิดอีก และก็ดับอีก และก็เกิดอีก และก็ดับอีก และ ก็เกิดอีก และก็ดับอีก จะเห็นโทษไหม ในเมื่อเกิดใหม่ มีสภาพธรรมใหม่ จึงยังเป็นความอบอุ่นใจว่ายังเหลืออยู่ หรือยังมีอยู่ ยังไม่ได้ปราศไปโดยสิ้นเชิง ถ้าคิดถึงในขั้นของการพิจารณา เมื่อวานนี้หมดแล้ว น่าใจหาย แต่ก็ไม่ใจหายเพราะว่าวันนี้ยังมี ใช่ไหม หรือได้ยินขณะเมื่อกี้ก็ดับไปแล้ว ก็น่าใจหายจริงๆ ในขณะที่กำลังได้ยิน ก็ยึดถือว่าเป็นเราแท้ๆ ที่กำลังได้ยิน แต่ได้ยินเมื่อกี้ที่ว่าเป็นเราก็ดับหมดไปแล้ว ไม่เห็นมีใครใจหาย หรือเดือดร้อน หรือละคลาย หรือเห็นโทษ เพราะว่าการเกิดใหม่อย่างรวดเร็วสืบต่อการดับไป หรือการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดแล้ว ปิดบังไม่ให้เห็นโทษของการเกิดขึ้นและดับไป เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่ละคลาย เพราะว่ายังไม่เห็นโทษของการเกิดดับใกล้ชิดยิ่งกว่านั้น

ปัญญาจึงต้องสมบูรณ์ถึงขั้นต่อไป ที่สามารถจะแทงตลอดการเกิดขึ้นและ ดับไปของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละประเภทชัดเจนยิ่งขึ้นในขณะที่กำลังเป็นปัจจุบันทีละอย่าง ที่เกิดขึ้นและดับไปเร็วมาก กับการสังเกตที่ละเอียดขึ้น พิจารณาละเอียดขึ้น ประจักษ์ลักษณะที่เกิดและดับไปชัดขึ้นทีละอย่าง นี่คือความต่างกันของ ตรุณวิปัสสนากับพลววิปัสสนา

ก็เป็นสภาพธรรมในขณะนี้ทั้งหมด และถ้าเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น ก็ต้องเป็นความรู้ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับขั้น จนกว่าจะคมกล้าขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้องมีเหตุที่จะทำให้คมกล้าขึ้น ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับว่าจะต้องระดมกำลังของปัญญาทั้งหมด ไม่ว่าในอดีตที่เคยฟังมาแล้วเท่าไร เป็นพหูสูตมาแล้วมากน้อยเท่าไร เคยได้ยินแม้แต่สภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง ๑๐,๐๐๐ ครั้ง ๑๐๐,๐๐๐ ครั้ง สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม และค่อยๆ พิจารณาไป ไม่ว่าจะ ในเรื่องของพระสูตร หรือพระวินัย หรือพระอภิธรรม ธรรมทุกอย่างจะเป็นสังขารขันธ์ ที่ปรุงแต่งทำให้ปัญญาสมบูรณ์ถึงขั้นที่จะถึงพลววิปัสสนา เพราะว่าเป็นความสมบูรณ์ของตีรณปริญญา ซึ่งเป็นการพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ ในชีวิตประจำวัน

. ตอนพลววิปัสสนาเกิด อุทยัพพยญาณเกิด คงจะมีกำลังมาก และคงจะเกิดติดต่อกัน หรือว่าไม่แน่

สุ. ไม่แน่ เพราะว่าแต่ละบุคคลไม่เหมือนกันเลย สำหรับบางท่านเมื่อ นามรูปปริจเฉทญาณเกิดแล้ว ปัจจยปริคคหญาณและสัมมสนญาณเกิดต่อได้ทันที และสำหรับบางท่านก็อาจจะต่อไปจนกระทั่งถึงพลววิปัสสนา อุทยัพพยญาณ บางท่านก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่ผู้ที่รู้ช้า ต้องทั้งฟัง ทั้งศึกษา ทั้งอบรม ทั้งพิจารณา ทั้งสนทนา ทั้งไตร่ตรอง ทุกสิ่งทุกประการ และค่อยๆ เขยิบไป ก้าวไป ทีละขั้นๆ

. ตอนที่เป็นอุทยัพพยญาณแล้ว ผมเข้าใจว่ามีกำลังมากแล้ว ใช่ไหม

สุ. ยังต้องมีปัญญาขั้นที่คมกล้ากว่านั้นต่อไปอีก เพราะนี่เพิ่งเป็น วิปัสสนาญาณที่ ๔ เท่านั้นเอง

. เหมือนนายขมังธนูที่ว่า ยิงเร็ว ยิงแม่น คือ คล้ายกับว่านามธรรมรูปธรรมอะไรจะเกิด อุทยัพพยญาณคงมีกำลังสามารถรู้ได้ติดต่อกันไปเรื่อยๆ ถูกไหม

สุ. ผู้ที่เป็นเนยยบุคคล ต้องพากเพียรมากสำหรับวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น ไม่ใช่ผู้ที่เป็นอุคฆฏิตัญญู หรือวิปัญจิตัญญู

. ผมนึกว่าถ้าพลววิปัสสนาญาณเกิดแล้ว จะมีกำลังสามารถเกิดติดต่อกันไปได้

สุ. ถ้าอย่างนั้นบุคคลก็ไม่ต่างกัน เพราะฉะนั้น อย่าหวัง ใครที่คิดว่า นั่งนิ่งๆ และจะประจักษ์เกิดๆ ดับๆ ปัญญาไม่ได้รู้อะไรเลย แต่นี่เป็นปัญญาจริงๆ และเป็นความสมบูรณ์ของตีรณปริญญา ซึ่งพิจารณาความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมจนกว่าจะประจักษ์แจ้ง ตามปกติในขณะนี้เอง

เปิด  252
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565