แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1693

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๓๐


ทุกคนที่อบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะถึง จะต้องพิจารณาชีวิตตามปกติ ของตนเองในแต่ละวัน ข้ามไม่ได้เลย เพราะว่าการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นการรู้แจ้งนามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวันตามปกติ และต้องมีการละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมลงเรื่อยๆ ไม่ใช่ยิ่งรู้ ยิ่งอยากได้ นั่นไม่ใช่ลักษณะของปัญญา เพราะถ้าเป็นปัญญา ยิ่งรู้ก็ยิ่งละ เช่น ถ้ารู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัยทั้งนั้น จะวิตกกังวล เดือดร้อนห่วงใยไหม ในเมื่อประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า ทุกๆ ขณะจิต สภาพธรรมต้องมีปัจจัยจึงเกิดขึ้น

แม้เพียงการได้ยินก็ต้องมีปัจจัยจึงเกิด การเห็นก็มีปัจจัยจึงเกิด เพราะฉะนั้นเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่ต้องคิด เพราะว่าเพียงการเห็นยังต้องมีปัจจัยจึงเกิด การได้ยินก็ต้องมีปัจจัยจึงเกิด การได้กลิ่น การลิ้มรส การคิดนึก ความสุข ความทุกข์ แต่ละอย่าง การพูด การกระทำใดๆ ทุกอย่าง ล้วนมีเหตุปัจจัยที่จะเกิด ถ้ารู้อย่างนี้สติปัฏฐานจะไปคอยจดจ้องอยู่ที่นามใดรูปใดไหม หรือว่ายิ่งละ และไม่ต้องจดจ้องเลย เพราะว่ามีนามธรรมและรูปธรรมอยู่ทุกขณะปรากฏ แล้วแต่ว่าสติจะระลึกศึกษา รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นหรือไม่

ไม่ต้องไปดิ้นรนขวนขวาย แสวงหานามธรรมและรูปธรรมอะไรเลย ทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งนั้น แม้ว่าแต่ละท่านจะยังไม่ถึงนามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ แต่ก็ควรที่จะศึกษาพิจารณาให้เข้าใจในเรื่องของวิปัสสนาญาณพอที่จะไม่เข้าใจผิด เพราะว่าการที่จะหลงผิด เข้าใจผิดในข้อปฏิบัติจนกระทั่งสำคัญว่าได้บรรลุธรรมแต่ละขั้น เป็นสิ่งที่มีได้

เท่าที่เคยได้ฟัง ส่วนมากมักจะกล่าวว่า ต้องทำให้จิตนิ่งเป็นสมาธิก่อน ปัญญาจึงจะสามารถรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ บางท่านก็กล่าวว่า สามารถประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้เพราะจิตในขณะนั้นสงบ นิ่ง ใส เพราะฉะนั้น ก็สามารถรู้ชัดในการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม แต่ถ้าคิดอย่างนั้น จะข้ามวิปัสสนาญาณขั้นต้นทั้งหมด คือ ข้ามนามรูปปริจเฉทญาณ ข้ามปัจจยปริคคหญาณ ข้ามสัมมสนญาณไปจนถึงอุทยัพพยญาณ ซึ่งเป็นไป ไม่ได้เลย แต่แม้กระนั้นก็ยังมีผู้ที่เข้าใจผิดได้ เพราะไม่ได้พิจารณาให้ละเอียดว่า การที่ปัญญาจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงให้จิตนิ่งสงบ แต่ไม่เคยศึกษาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ตอนแรกท่านเข้าใจว่า ท่านถึงอุทยัพพยญาณ เพราะว่าท่านพิจารณาว่าเสียงนี้ก็ดับ คิดนึกก็ดับ และคิดนึกก็ไม่ใช่รูปธรรมแน่ เป็นลักษณะของนามธรรมที่คิดนึก และเวลาที่คิดท่านก็รู้ว่า คิดเรื่องนี้หมดแล้ว คิดเรื่องอื่นต่อ และเวลาที่เสียงปรากฏ เสียงนั้นก็ดับไป เพราะฉะนั้น นามธรรมที่ได้ยินก็ดับด้วย ต่อเมื่อท่านได้ฟังและได้พิจารณาธรรมละเอียดขึ้นๆ ในขณะนี้ท่านก็มีความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยท่านกล่าวว่า ท่านเพิ่งจะเข้าใจว่า ที่ท่านปฏิบัติและคิดว่าท่านรู้ การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นแต่เพียงคิด

นี่คือสิ่งที่จะต้องพิจารณาให้ละเอียดจริงๆ ว่า ขณะที่คิดเรื่องของนามธรรม และรูปธรรม ไม่ใช่ขณะที่สัมมาสติกำลังระลึกลักษณะ ซึ่งต้องมีลักษณะที่เป็น ปรมัตถธรรมปรากฏให้ศึกษา ให้เข้าใจ ให้รู้ชัดว่าไม่ใช่ตัวตนอย่างไร เพราะว่าจุดประสงค์ของการศึกษาพระอภิธรรม เพื่อละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน นี่คือจุดประสงค์ของการศึกษา เพื่อละหรือดับความเห็นผิดที่ยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ไม่มีผม ไม่มีขน ไม่มีเล็บ ไม่มีฟัน ไม่มีหนัง ไม่มีปอด ไม่มีกระดูก ไม่มีทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรเหลือเลย จึงสามารถประจักษ์แจ้งได้ว่า ดับ หรือละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ เพราะว่าสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏรวมกัน แต่ต้องปรากฏเพียงทีละลักษณะ

และในขณะที่สภาพธรรมปรากฏทีละลักษณะ สำหรับผู้ที่ทำสมาธิ กับผู้ที่อบรมเจริญปัญญานั้นต่างกัน เพราะสำหรับผู้ที่ทำสมาธิ จิตจดจ้องอยู่ที่ลักษณะหนึ่งลักษณะใด ในขณะนั้นก็เข้าใจว่าไม่มีอย่างอื่นเลย มีแต่สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ปัญญาไม่ได้รู้เลยว่า ในขณะนั้นไม่ใช่เรา ลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ไม่ใช่ลักษณะของรูป เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องสามารถรู้ได้ว่า ตลอดชีวิตมีแต่นามธรรมและรูปธรรม ซึ่งถ้าสติเกิดเมื่อไร จะระลึกและศึกษาที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนั้น

ถ้าไม่เริ่มต้นอย่างนี้ และคิดว่า การทำจิตให้สงบ ให้ใส จะประจักษ์การ เกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เคยทำ จิตให้สงบ แต่ปัญญาก็ยังคงไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น ต่างกับขณะที่เป็นการศึกษาเพื่อที่จะบรรลุถึงอุทยัพพยญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณ ที่ ๔ ในขณะนั้นปัญญาสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง เพราะถ้าไม่ทั่วทั้ง ๖ ทาง จะไม่ถึงอุทยัพพยญาณ

และการที่ปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง ย่อมสามารถเห็นว่า นามธรรมนี้เกิดและดับ รูปธรรมนี้เกิดและดับ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ลักษณะที่ต่างกันจริงๆ ของทั้ง ๖ ทวารปรากฏ และก็เปลี่ยน เกิดขึ้นและดับไป ขณะนั้นสติไม่ได้ทิ้งการพิจารณาสภาพลักษณะที่เป็นนามธรรมเท่านั้น รูปธรรมเท่านั้น เพราะว่าพิจารณาทั่วแล้วจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเห็นแล้วได้ยินเกิด ก็รู้ว่าเพียงชั่วขณะเล็กน้อย สั้นที่สุด ซึ่งทุกคนพร้อม ที่จะประจักษ์การเกิดดับอย่างสั้นที่สุด เร็วที่สุดหรือยัง จะมีความรู้สึกเป็นอย่างไร ว้าเหว่สักแค่ไหน ไม่มีอะไรเหลือจริงๆ มีแต่ลักษณะของสภาพธรรมอย่างเดียวที่เกิดและดับไป

เวลานี้ถ้าคิดถึงชาติหนึ่งซึ่งเกิดและก็ตาย ก็ยังรู้สึกว่า ถ้าตายไปคงน่าเศร้าใจ หมดสภาพความเป็นบุคคลนี้ เสียดายไปหมด ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผูกพันโดยสภาพ ของเพื่อนฝูงมิตรสหาย บุคคล ครอบครัว ญาติสนิทต่างๆ

อย่างทรัพย์สมบัติ สิ่งนั้น สิ่งนี้ ที่เคยพอใจในบ้าน บางทีมีสมบัติหลายอย่างซึ่งเป็นที่พอใจอย่างมาก อาจจะเป็นของเก่ามีราคามากและผูกพันไว้ ถ้าต้องจาก พลัดพรากจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็รู้สึกน่าเศร้าใจ แต่นั่นเป็นขณะที่ยาวไกลมาก จากชาติหนึ่งที่เกิดมา จนถึงขณะที่จะจากไป แต่ถ้าเป็นการประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมด้วยปัญญาที่เป็นอุทยัพพยญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๔ เป็นพลววิปัสสนา เป็นวิปัสสนาญาณที่มีกำลัง จะเห็นได้ว่า การดับ การจาก การพลัดพราก สั้นกว่านั้นมาก และเร็วกว่านั้นด้วย เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่เพียงเกิดขึ้นและดับไป เพราะฉะนั้น ย่อมจะทำให้สามารถค่อยๆ ละคลายการยึดถือ สภาพธรรมลงไปอีก แต่ก่อนที่จะถึงอุทยัพพยญาณ ทุกคนต้องฟังพระธรรมต่อไป พิจารณาต่อไป เพื่อจุดประสงค์ คือ ละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

แต่ต้องไม่มีอะไรๆ ทั้งสิ้น ข้อนี้ลืมไม่ได้เลย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ปอด กระดูก ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมี ต้องไม่มี มีแต่สภาพธรรมซึ่งเกิดและดับ เมื่อนั้นจึงจะสามารถบรรลุถึงปัญญาที่ดับกิเลสได้จริงๆ

และถ้าไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง จะทำให้สำคัญว่าบรรลุ แม้ไม่บรรลุ หรืออาจจะเข้าใจว่า เจริญสติปัฏฐาน แม้ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานเลย นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่าเหตุกับผลต้องตรงกัน

วิภังคปกรณ์ ขุททกวัตถุวิภังค์ ข้อ ๘๙๙ มีข้อความว่า

ความสำคัญว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ เป็นไฉน

ถ้าไม่มีข้อปฏิบัติผิด ข้อความนี้จะไม่มีในพระไตรปิฎก แต่ที่มีข้อความนี้ ในพระไตรปิฎกก็ต้องแสดงว่า มีผู้ที่สำคัญผิดว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ เพราะฉะนั้น คำอธิบายมีว่า

ความสำคัญว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ เป็นไฉน

ความสำคัญว่าถึงแล้วในธรรมที่ตนยังไม่ถึง ความสำคัญว่าทำกิจแล้วในกิจที่ตนยังไม่ได้ทำ ความสำคัญว่าบรรลุแล้วในธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ ความสำคัญว่าได้ทำให้แจ้งแล้วในธรรมที่ตนยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ความถือตัว กิริยาที่ถือตัว สภาพที่ถือตัว การยกตน การเทิดตน การเชิดชูตนดุจธง ความยกตนขึ้น ความที่จิตต้องการ เป็นดุจธง อันใดมีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า ความสำคัญว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ

ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่ละกิเลส ค่อยๆ ละ ขจัดกิเลสไปตามลำดับเป็นขั้นๆ แต่จะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นการปฏิบัติผิด การเข้าใจผิด การบรรลุผิดแล้ว ไม่ได้ละกิเลสเลย เพราะมีความถือตัวว่าได้บรรลุ มีกิริยาที่ถือตัว มีสภาพที่ถือตัว มีการยกตน การเทิดตน การเชิดชูตนดุจธง ความยกตนขึ้น ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง อันใดมีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า ความสำคัญว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้บรรลุธรรมวิเศษจริงๆ ต้องมีลักษณะอาการที่ตรงกันข้าม ไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลย เพราะว่าตัวตนก็ไม่มี รู้อยู่แล้วว่าไม่มี มีแต่สภาพธรรม ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไปทุกๆ ขณะ

ทุกคนได้ยินเหมือนกันหมดในขณะนี้ สภาพได้ยินเป็นสภาพที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป จะเป็นของใครได้เมื่อไม่มีตัวตนเลย ขณะที่เห็น ขณะที่ ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่คิดนึก จะมีความสำคัญตน มีอาการถือตัว สภาพที่ถือตัว เทิดตน เชิดชูตนดุจธง ต้องการเป็นดุจธงได้อย่างไร

นี่เป็นสิ่งที่ทุกท่านพอที่จะรู้ลักษณะและกิจของปัญญาได้จริงๆ ว่า เป็น สภาพธรรมที่รู้ชัดแทงตลอดในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน และละคลายกิเลสตาม ลำดับขั้นด้วย

. สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับการยกตน เชิดชูตนต่างๆ นั้น ผมเห็นว่า ถ้ามีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น การเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันจะช่วยขัดเกลาขึ้น ใช่ไหม คือ ความเข้าใจธรรม การเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามเริ่มมีขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ถูกไหม

สุ. ทุกๆ ขณะพยายามที่จะเข้าใจลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน และสติเกิดเพื่อจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละอย่างเพิ่มขึ้น ให้ถูก ให้ตรง แม้ว่าจะเป็นการอบรมเจริญปัญญาอย่างบางเบา เพราะว่าปัญญาไม่สามารถเจริญทันทีให้เห็นชัด แต่ทุกๆ ขณะที่ทุกท่านกำลังฟังพระธรรมไม่สูญหาย เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยที่เมื่อสติเริ่มเกิด เริ่มระลึก วันหนึ่งจะต้องเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ

เมื่อเป็นนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว จะไม่เข้าใจผิดในเรื่องวิปัสสนาญาณ ขณะใดที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณก็รู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ไม่ว่าจะพิจารณาอย่างไร เทียบเคียงอย่างไร ก็ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ต่อเมื่อเหตุสมควรแก่ผลเมื่อไร วิปัสสนาญาณขั้นต่อไปก็ปรากฏโดยสภาพความเป็นอนัตตา ซึ่งประจักษ์ชัดโดยที่ ไม่ต้องเทียบเคียง ไม่ต้องพิจารณา เพราะว่าเป็นการแทงตลอด และผู้นั้นย่อมรู้เองว่า ถ้าไม่อาศัยการฟังเรื่อยๆ ประกอบกับการพิจารณา การที่สติระลึกรู้ วิปัสสนาญาณขั้นต่อไปก็เกิดไม่ได้

เพราะฉะนั้น ที่กำลังฟังทุกขณะ คือ การสะสม การอบรม เพื่อที่ผล คือ นามรูปปริจเฉทญาณจะเกิดขึ้นในวันหนึ่ง และเมื่อนามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นแล้ว วิปัสสนาญาณขั้นอื่นๆ ก็จะเกิด แต่ต้องอาศัยความพากเพียร เพราะไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูบุคคล และไม่ใช่วิปัญจิตัญญูบุคคล

ทุกคนจะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงและรู้ด้วยว่า วิปัสสนาญาณไม่ใช่เกิดขึ้นโดยง่าย หรือไม่ใช่เกิดขึ้นโดยความต้องการ แต่จะเกิดโดยความเป็นอนัตตาเมื่อเหตุสมควรแก่ผล เพราะผู้นั้นต้องมีความมั่นคงในการรู้ลักษณะที่เป็นธาตุรู้ และลักษณะที่ไม่ใช่ธาตุรู้จริงๆ โดยที่ไม่ใช่เป็นเพียงขั้นคิดนึก

เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาชีวิตของแต่ละท่านในทุกชาติ เป็นปกติประจำวัน เพราะว่าฝืนไม่ได้ ทุกคนในที่นี้ถ้าถามก็คงอยากจะให้สติเกิดบ่อยๆ เนืองๆ ให้ติดต่อกันด้วย และให้สามารถระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ทั้ง ๖ ทวารด้วย ถ้าถามก็จะต้องมีความประสงค์ มีความต้องการอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ มีปัญญาจริงๆ จะรู้ว่า ธรรมทั้งหลายย่อมไหลมาจากเหตุ ดังนั้น หนทางเดียว คือชีวิตประจำวันควรเป็นอย่างไร ก็คือการที่จะต้องรู้จักตนเองและอบรมเจริญกุศล ทุกประการ จนกว่าปัญญาจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

แม้แต่ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นหนทางดำเนินสู่ความบริสุทธิ์หมดจด จากกิเลส ก็เป็นชีวิตประจำวันนี่เอง คือ เริ่มจากศีลนิทเทส สมาธินิทเทส และปัญญานิทเทส คือ ถ้าปราศจากความเข้าใจเรื่องศีล การประพฤติปฏิบัติดำรงชีวิต ในชาติหนึ่งๆ ย่อมไม่มีทางที่จะอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

เพราะฉะนั้น แม้แต่เรื่องของศีล ซึ่งเป็นการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ก็จะเป็นการดำเนินไปพร้อมกับการอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟังและการประพฤติปฏิบัติ เพราะว่าสุตมยปัญญาหรือสุตมยญาณ ได้แก่ ปัญญาที่เกิดจากการฟังแล้วเข้าใจ นี่สำคัญที่สุด ฟังแล้วเข้าใจก่อน เมื่อฟังแล้ว เข้าใจแล้ว ขั้นต่อไปซึ่งเกื้อกูลกัน ก็เป็นสีลมยญาณ เข้าใจอย่างไรก็ย่อมประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น ถ้าเข้าใจว่า กุศลเป็นอย่างไร ก็เจริญกุศลเพิ่มขึ้นๆ เพราะรู้ว่าสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล และเมื่อเข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นภาวนามยญาณ นี่คือชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งต้องประกอบกันทั้ง ๓ ญาณ

เปิด  254
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565