แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1701

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๓๐


สุ. ไม่ทราบท่านผู้ฟังมีความเห็นอย่างไรบ้างหรือเปล่า

ผู้ฟัง ความคิดอย่างที่เจ้าของจดหมายเขียนมา เป็นความคิดที่ผมเคยดำเนินมาแล้ว คือ อาจารย์ที่สอนนั้นท่านบอกว่า ตำราที่เรียนมาต้องทิ้ง ต้องลืมให้หมด จะไปจำไปคิดตามตำราไม่ได้ คุณต้องเริ่มฝึกและปฏิบัติตามที่อาจารย์สอน อาจารย์สอนให้ทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ไม่ต้องคิดด้วย ต้องเชื่ออย่างเดียว ต้องปักใจเชื่อ ไม่อย่างนั้นแล้วไม่มีทางได้สมาธิ เมื่อสมาธิไม่เกิดไม่มีทางที่จะมีปัญญาพิจารณาสังขารร่างกายว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ ผมเข้าใจว่าเป็นอย่างนี้ ๙๙ % ที่สอนกันอยู่ในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ อาจารย์ทั้งหลายที่ดังๆ

ผมก็พยายามศึกษาและปฏิบัติตามหลายสำนัก หลายอาจารย์ แต่ไปๆ แล้วจนด้วยเกล้า คือ ไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่มีอะไรก้าวหน้า ไม่มีอะไรที่จะทำให้เราเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างที่เราอยากจะเข้าใจ มีแต่จะทำให้เห็นพระพุทธศาสนาว่า ทำไมง่ายอย่างนี้ ทำไมตื้นๆ อย่างนี้ เพราะว่ามีคนสำเร็จกันบ่อยๆ หรือมากๆ ด้วย จะแบบไหนก็แล้วแต่ ก็มีได้กันอยู่ เห็นนรกสวรรค์ก็ได้กันอยู่เป็นประจำเลย

แต่ท่านเหล่านั้นดูพฤติกรรมแล้ว บางคนก็ถึงขั้นอริยะในเพศบรรพชิต แต่ก็หวนกลับไปเป็นฆราวาสไปมีลูกมีเมีย กินเหล้าเมาสุราก็มีอยู่เยอะแยะ ผมจึงเห็นว่า แนวทางที่เราพยายามค้นคว้าพยายามเดินตามนั้น คงไม่ใช่แล้ว จะต้องมีแนวทางที่ถูก แต่เรายังเข้าไม่ถึง จึงยังไม่ตรงเป้าตรงประเด็นที่พระพุทธองค์ทรงอยากให้เราเข้าใจ

ผมก็คิดอยู่อย่างนี้จนกระทั่งระอาใจ จนกระทั่งคิดว่าไม่มีทางแล้วชาตินี้ คงไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างที่อยากจะเข้าใจ เวลาที่อาจารย์สอน ก็มักจะค้านตำราทุกครั้ง ตำราว่าอย่างนี้ แต่เวลาสอน สอนอีกอย่างหนึ่ง และเราจะเรียนพระไตรปิฎก เรียนอรรถกถาไปทำไม ในเมื่อพระบาลีในพระไตรปิฎกและ อรรถกถาไม่ได้ให้ความรู้ความเข้าใจที่จะเป็นแนวทางในการปฏิบัติแก่เราได้ ผมก็มานึกดูว่า เป็นไปไม่ได้ พระบาลีในพระไตรปิฎกและอรรถกถาต้องเป็นหลักฐานที่ถูกต้องแน่ๆ แต่เรายังเข้าใจไม่ถูก

ผมคิดอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งปี ๒๕๑๐ ผมได้ฟังวิทยุยานเกราะ ได้ยินเสียง ท่านอาจารย์ แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นท่านอาจารย์ คิดว่า ขอประทานโทษ ผู้หญิงคนนี้พูดเหมือนอย่างที่เราอยากจะรู้ ก็พยายามติดตามฟังมาเรื่อยๆ ความเข้าใจที่มี ที่เรียนมาในพระบาลีในอรรถกถาในพระสูตรต่างๆ ก็เห็นว่า สอดคล้องตรงกัน เป็นสิ่งที่เราอยากรู้มานาน แต่ไม่มีใครบอกเราอย่างนี้

เราเรียนแต่เราไม่เข้าใจ เมื่อเราได้เข้าใจตามที่ท่านอาจารย์บรรยาย มันก็ตรง ผมจึงติดตามมาเรื่อยๆ แม้ทำงานอยู่ในวันอาทิตย์ ผมก็ลาออกมาเพื่อจะมาฟัง วันอาทิตย์ ติดตามมาจนกระทั่งบัดนี้ ไม่รู้จะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ จะได้อะไรหรือ ไม่ได้อะไร แต่ผมก็ภูมิใจว่า ได้พบสิ่งที่เราอยากจะศึกษา ชีวิตนี้คงไม่เป็นหมันแน่ๆ คงไม่ไร้ประโยชน์แน่ๆ ดีกว่าที่เราจะไปเที่ยวหลงงมงายถือตามใครก็ได้โดยไม่มีเหตุผล สอนให้เชื่ออย่างเดียวผมไม่เอาแน่

สุ. อีกนานมากกว่าท่านเจ้าของจดหมายฉบับนี้จะได้รับฟังความเห็นนี้ และความคิดเห็นของท่านผู้ฟังท่านอื่น ซึ่งไม่ทราบว่าเมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ความคิดเห็นของท่านจะเปลี่ยนไปประการใด หรือมีความเข้าใจพระธรรมอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้น มากน้อยแค่ไหน

ผู้ฟัง จดหมายลงวันที่เท่าไร

สุ. วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๐

ผู้ฟัง เมื่อเร็วๆ นี้เอง และพูดย้อนถึงท่านพุทธบุตร เข้าใจว่ายังคงติดตาม ฟังอาจารย์อยู่

สุ. จดหมายของคุณพุทธบุตรออกอากาศไปนานแล้วเหมือนกัน

ผู้ฟัง นานแล้ว แต่ได้ออกซ้ำอีกที คงจะมาฟังเที่ยวที่ ๒ ก็ได้ หรือเที่ยวที่ ๓ ก็ได้ จดหมายนี้ผมมีประเด็นอยู่ ๒ ประเด็น คือ ประเด็นที่ ๑ เขาบอกว่า ลูกศิษย์หรือผู้ที่ฟังอาจารย์อยู่นั้น หลง เข้าใจผิด สำคัญผิดกันไปถึงไหน และมีศีลกันแค่ไหน ขอปฏิเสธว่า ไม่ได้หลง มีศีลเท่าไรก็รู้ และล่วงศีลอยู่ทุกวันนี้ก็รู้ ไม่ได้หลง ขอปฏิเสธ และขอปฏิเสธแทนคนอื่นด้วยว่า ขณะนี้ที่ล่วงศีลก็รู้ว่าล่วงศีล และคิดว่า ศีล ๕ ยังบริสุทธิ์ไม่ได้ เพราะยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน และที่ว่าเข้าใจผิดหรือสำคัญผิดตามที่อาจารย์บรรยาย ขอยืนยันและมั่นคงว่าไม่ผิด และที่ฟังอยู่นี้ก็มั่นใจว่า เราไปทางถูกแล้ว ขอปฏิเสธว่า ไม่ได้ตามอาจารย์ไปอย่างงมงาย

ส่วนประเด็นที่ ๒ ที่บอกว่า อาจารย์สอนปริยัติล้วนๆ ไม่มีปฏิบัติ ทั้งๆ ที่ชื่อรายการว่า แนวทางเจริญสติปัฏฐาน และมีบางฝ่ายบอกว่า อาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญอภิธรรมในเรื่องปริยัติ คล้ายๆ กับรายการของอาจารย์ไม่มีเรื่องปฏิบัติเลย นี่ก็ เข้าใจผิดกันได้ แต่เขาก็คงคิดว่าที่ผมพูดนี่ ก็เข้าใจเขาผิดเหมือนกัน

สุ. ไม่ทราบท่านผู้ฟังท่านอื่นยังมีความคิดเห็นอะไรบ้างไหม

ผู้ฟัง ผมรู้สึกมีความเสียใจ ขอแสดงความเสียใจกับท่านอาจารย์และ ท่านผู้ฟังทุกท่าน และขอแสดงความเสียใจกับตัวเองด้วยในฐานะที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์คนหนึ่ง คือ เท่าที่ผมติดตามท่านอาจารย์บรรยายธรรมมาหลายปี ก็ซาบซึ้งในกุศลจิตความเมตตากรุณาของท่านอาจารย์ที่พยายามบรรยายธรรมเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สาธุชนทั้งหลาย แม้แต่คณะศึกษาธรรมก็พยายามทุกอย่าง ที่จะเกื้อกูลในด้านนี้ ไม่ว่าด้านเทป แต่ถึงแม้จะทำอย่างนี้ด้วยความทุ่มเท ทั้งท่านอาจารย์และคณะศึกษาธรรมทั้งหลาย แต่ก็ยังมีปรากฏการณ์อย่างจดหมายฉบับนี้เกิดขึ้น ผมรู้สึกเสียใจ และเห็นด้วยกับที่อาจารย์บรรยายในตอนแรกว่า นี่คือข้อพิสูจน์ตัวเองว่า ปัญญาและการเจริญสติปัฏฐานของพวกเราถึงขั้นไหนแล้วที่ว่า จะไม่สำคัญตน และไม่หวั่นไหวในลาภสักการะและชื่อเสียง

สุ. ถ้าใครจะรู้สึกเสียใจเมื่อกี้นี้ ก็ดับไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ว่าไม่เดือดร้อน เป็นเรื่องสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป และเป็นโลกธรรม คือ ต้องมีทั้งความเห็นถูกและความเห็นผิด แต่ควรจะได้พิจารณาในเหตุผลในการที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่นด้วย ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวว่า จะต้องไปฝึกสมถวิปัสสนาเสียก่อน โดยที่ยังไม่เข้าใจจริงๆ หรือยังไม่ได้สนทนากันพอที่จะให้เข้าใจได้ชัดเจนว่า สมถภาวนาก็ดี หรือ วิปัสสนาภาวนาก็ดีนั้นคืออะไร

ขอกล่าวถึงข้อความในจดหมายฉบับนี้ เพื่อประโยชน์ของคุณพุทธสาวกผู้เขียน ข้อความที่ว่า

การศึกษาทฤษฎีหรือปริยัติเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการปฏิบัติ มันไม่มีประโยชน์อะไร ตรงข้ามการปฏิบัติเพียงอย่างเดียวกลับมีประโยชน์มากกว่า

สุ. การศึกษาพระธรรมต้องระวังมาก การศึกษาพระวินัยมีประโยชน์ก็ได้ มีโทษก็ได้ การศึกษาพระสูตรมีประโยชน์ก็ได้ มีโทษก็ได้ การศึกษาพระอภิธรรม มีประโยชน์ก็ได้ มีโทษก็ได้ มีโทษ ถ้าไม่รู้ว่าศึกษาเพื่ออะไร

ถ้าศึกษาเพียงจะเป็นผู้ที่รู้มาก เพื่อใช้แสดงความรู้ความสามารถ ขณะนั้นก็ไม่ใช่จุดประสงค์ที่แท้จริงที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อให้ผู้ฟังเกิดปัญญาที่จะ ละกิเลส ขัดเกลากิเลสของตนเอง เพราะฉะนั้น ในเรื่องของการศึกษาก็เป็นเรื่องที่ ทุกท่านที่กำลังศึกษาจะต้องพิจารณาถึงประโยชน์หรือจุดมุ่งหมายของการศึกษาด้วย

สำหรับที่ว่า การปฏิบัติเพียงอย่างเดียวกลับมีประโยชน์มากกว่า

จะปฏิบัติเพียงอย่างเดียวโดยไม่ศึกษา เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าผู้นั้นจะต้องไม่ใช่พุทธสาวก ถ้าเป็นผู้ที่ปฏิบัติโดยที่ไม่ได้ศึกษา

และที่ท่านยกตัวอย่างท่านอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านจบเปรียญ ๙ บ้าง หรือเป็น ผู้ที่เดินธุดงค์บ้างตั้งแต่หนุ่มจนแก่ และท่านก็กล่าวว่า ผลก็รู้ทั่วๆ ไปแล้วว่า ท่านสำเร็จขั้นใด

ไม่ทราบว่า ผลก็รู้ทั่วๆ ไปนั้น ใครรู้

เพราะใครก็ตามที่จะรู้ว่าบุคคลใดประจักษ์นามรูปปริจเฉทญาณ ย่อมหมายความว่าบุคคลนั้นต้องประจักษ์ จึงจะรู้ว่าบุคคลอื่นประจักษ์ หรือบุคคลใดประจักษ์ บุคคลใดไม่ประจักษ์ ไม่ใช่เพียงทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์เดียว โดยที่ไม่เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และไม่อบรมความเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจากการฟังจนกระทั่งเป็นสังขารขันธ์ที่จะคล้อยตามไปที่จะรู้ว่าลักษณะสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนโดยละเอียดอย่างไร

ถ้าไม่มีปัญญาเป็นพื้นฐานที่จะอบรมจนกระทั่งหยั่งรากลึกลงไปที่สติจะเกิดและสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่มีทางที่จะถึง นามรูปปริจเฉทญาณได้ เพราะว่าไม่ใช่เป็นการทำสมาธิ และผสมผเสกับการที่เคยได้ยินได้ฟังว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นนามธรรม สิ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรม ซึ่งเท่านี้ไม่พอ ถ้ายังไม่เข้าใจแท้ๆ ในเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยละเอียด โดยทั่วขึ้น เป็นพื้นฐาน

ที่กล่าวว่า ผลก็รู้ทั่วๆ ไปแล้วว่าท่านสำเร็จขั้นใด

แต่ผู้ที่จะรู้ ต้องเป็นผู้ที่ประจักษ์ลักษณะสภาพธรรม และวิปัสสนาญาณเกิด อย่างถูกต้องตามลำดับขั้นด้วย เพราะฉะนั้น ใครจะรู้ ทั่วๆ ไป ฟังดูเหมือนคนอื่นรู้ ใช่ไหม ที่กล่าวว่า ผลก็รู้ทั่วๆ ไป ทั่วๆ ไปนี่ต้องคนอื่นแน่ๆ แต่ท่านที่กล่าวท่านรู้ หรือเปล่า ถ้าท่านยังไม่รู้ท่านสามารถกล่าวได้อย่างไรว่า คนอื่นหรือคนไหนเป็นผู้ที่รู้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นแต่เพียงคาดคะเนตามๆ กันว่า ผลก็รู้ทั่วๆ ไปแล้วว่าท่านสำเร็จ ขั้นใด แต่จะมีบุคคลใดที่ยืนยันที่จะกล่าวว่า การรู้เป็นการรู้ขั้นไหน และปัญญาที่จะ รู้ได้ถึงขั้นนั้น ต้องอบรมเจริญอย่างไร

ไม่มีเหตุที่สมควรแก่ผลเลย เพียงแต่คิดว่า ต้องทำสมถกัมมัฏฐาน วิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยชื่อ แต่วิปัสสนาจริงๆ คืออย่างไร สมถะจริงๆ คืออย่างไร ถ้าไม่รู้ จะทำอะไรๆ แล้วก็กล่าวว่าขณะนั้นเป็นสมถกัมมัฏฐาน เป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ย่อมเป็นความเข้าใจผิด เพราะว่าเพียงใช้ชื่อว่าสมถและวิปัสสนา แต่ไม่ใช่ปัญญาที่เป็นสมถภาวนาจริงๆ ไม่ใช่ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาภาวนาจริงๆ

และที่คุณพุทธสาวกแนะนำว่า

การที่เราสามารถกำหนดรู้รูปนามได้นั้น เราต้องลงมือปฏิบัติบำเพ็ญกัมมัฏฐาน เจริญภาวนาจนบรรลุถึงญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณเสียก่อน จึงจะสามารถกำหนดแยกนามและรูปได้

แต่ไม่ได้แสดงหนทางข้อปฏิบัติเลยว่า บำเพ็ญกัมมัฏฐาน เจริญภาวนา จนบรรลุญาณที่ ๑ นั้น คือ อบรมเจริญอย่างไร เพราะฉะนั้น แม้คุณพุทธสาวก จะแนะนำให้ดิฉันปฏิบัติกัมมัฏฐาน เจริญภาวนา แต่ก็ไม่ได้มีคำอธิบายว่า จะให้อบรมเจริญปัญญาอย่างไร เพราะฉะนั้น คงไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เพราะไม่ได้แนะนำมาด้วยว่า จะให้ปฏิบัติแบบไหน

ไม่ทราบว่ายังมีข้ออื่นอีกไหมที่ท่านผู้ฟังสนใจ ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์

ผู้ฟัง ที่ในจดหมายบอกว่า ไม่ต้องเรียนปริยัติ ผมเข้าใจว่า เขาบอกให้ เข้าป่าลุยเลย

เปิด  273
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566