แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1702
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๓๐
มีอีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งท่านเขียนมาว่า
เมื่อถึงตอนนี้คุณก็คงจะรู้แล้วว่า รายการของคุณไม่ได้สอนให้มีการปฏิบัติ หรือการบำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือวิปัสสนาภาวนาเลย แต่เป็นการสอนปริยัติทั้งหมด นอกจากนั้นการสอนเรื่องรูปนาม สิ่งใดเป็นรูป สิ่งใดเป็นนาม นั่นก็เป็นเพียงสิ่งเบื้องต้นเท่านั้น ยังมีเรื่องความเบื่อหน่ายในรูปนาม ความอยากหลุดพ้นในรูปนาม ที่คุณยังไม่ได้พูด
สุ. เร็วเหลือเกินที่จะให้พูดเรื่องของความเบื่อหน่ายในรูปนาม และความอยากหลุดพ้นในรูปนาม ด้วยเหตุว่าวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นเป็นเรื่องที่จะต้องฟัง โดยละเอียดจริงๆ และต้องกล่าวถึงทุกวิปัสสนาญาณ เพราะเป็นเรื่องของการอบรมเจริญโสภณธรรมทั้งหมด ในขณะนี้ก็กำลังกล่าวถึงตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่เป็นกลาง และสังขารุเปกขาญาณที่เป็นวิปัสสนาญาณที่ใกล้ต่อการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ยังเกิดไม่ได้เลย ถ้าในขั้นต้นยังไม่มีความเข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาอย่างถูกต้องตามลำดับขั้น เพราะคนส่วนมากเข้าใจว่า นั่งไม่นานเลย อาจจะแล้วแต่สติปัญญา บางคนก็บอกว่าเดือนหนึ่ง บางคนก็สองเดือน บางคนก็ สามเดือน ก็จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม และที่ได้ฟังจากรายการวิทยุบางแห่งก็กล่าวว่า เป็นสัมมสนญาณบ้าง เป็นอุทยัพพยญาณบ้าง โดยที่ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องใจร้อนหรือไม่ใช่เรื่องรีบร้อนที่จะต้องกล่าวถึงวิปัสสนาญานอย่างรวดเร็ว เพียงแต่ว่าทำอย่างไรจึงจะเข้าใจเรื่องการอบรม เจริญปัญญา
ในวันหนึ่งๆ กำลังสนุกสนานรื่นเริงและเกิดระลึกได้ว่า แม้ขณะนี้ก็ไม่เที่ยง เพียงเท่านี้มีบ้างไหมในวันหนึ่งๆ อาจจะกำลังดูหนังสนุก อ่านหนังสือพิมพ์ หรือสนทนากัน หรือดูการละเล่นที่กำลังเพลิดเพลินมาก จะมีบ้างไหมที่เกิดระลึกได้ว่า แม้ขณะนี้ก็เป็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวซึ่งไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป แม้แต่เพียงขั้นจะ คิดอย่างนี้ยังไม่มี และจะกล่าวถึงการประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึกขณะนี้ ได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องข้าม แต่เป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าก่อนการฟัง พระธรรมก็สนุกสนานกันไปวันหนึ่งๆ ไม่เคยที่สติจะเกิดระลึกว่า แม้ในขณะนี้ก็เป็นชั่วขณะจิตเดียวซึ่งกำลังสนุก กำลังเพลิดเพลิน กำลังพอใจอย่างยิ่ง ก่อนฟังพระธรรมไม่เคยคิด และเมื่อฟังแล้วมากๆ นานๆ ก็ยังไม่ค่อยจะได้คิด เพียงแต่ว่าบางครั้ง บางคราก็เกิดระลึกได้บ้าง
ถ้าผู้นั้นพิจารณาละเอียดก็จะรู้ว่า แม้สติในขณะที่คิดอย่างนั้นก็เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เลย เพียงเท่านี้เกิดคิดขึ้นมาได้ แต่ถ้าไม่เคยฟังมาก่อน ไม่มีทาง ที่จะเกิดระลึกได้ เช่น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะเวลาที่ท่าน ดูการละเล่นที่พระนครราชคฤห์ ท่านเกิดความสลดใจ ท่านยังไม่ได้พบท่านพระอัสสชิ หรือยังไม่ได้ฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาคเลย แต่การสะสมที่สะสมมาในอดีตชาติไม่ได้สูญหาย จึงเป็นปัจจัยเกื้อกูลที่จะให้สติขั้นนั้นเกิดขึ้น
สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว แต่ยังไม่ได้ระลึกถึงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่ศึกษา ไม่พิจารณาสังเกตลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เพียงขั้นที่จะระลึกได้ว่า ความสุขนี้ก็เพียงชั่วขณะเดียว ครู่เดียวเท่านั้นเอง ก็จะเห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ ว่า เมื่อสติที่ระลึกได้เป็นอนัตตาอย่างไร สติปัฏฐานที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เป็นอนัตตาอย่างนั้น บังคับบัญชาไม่ได้เลย นี่คือประโยชน์ของการฟัง
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติถูก ย่อมเป็นผู้ที่เห็นพระคุณของพระรัตนตรัย ซึ่งรวมทั้งพระธรรมด้วย ไม่ใช่ว่าพระธรรมที่เรียนมาทั้งหมดไม่มีประโยชน์ ไม่ได้เกื้อกูล ไม่ได้ทำให้เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ตรงตามที่ได้ศึกษา
ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ พรรณนารัตนสูตร มีข้อความว่า
พุ่มไม้ที่งอกงามเรียกว่า กอไม้รุ่น ยอดกิ่งมีดอกบานสะพรั่ง
ซึ่งอรรถกถาได้อธิบายว่า ดอกไม้ที่เกิดที่กิ่งใหญ่กิ่งน้อยทุกกิ่ง ดอกไม้นั้น ท่านกล่าวว่า มียอดอันบานแล้ว
ย่อมสง่างามอย่างเหลือเกินในป่าที่รกชัฏด้วยต้นไม้นานาชนิด ในฤดูวสันต์ เป็นเดือนต้นฤดูคิมหันต์ ฉันใด พระผู้มีพระภาคมิใช่ทรงแสดงพระธรรมเพราะ เห็นแก่ลาภ มิใช่ทรงแสดงเพราะเห็นแก่สักการะเป็นต้น หากแต่มีพระหฤทัยอัน พระมหากรุณาให้ทรงขะมักเขม้นอย่างเดียว ได้ทรงแสดงพระปริยัติธรรมอันประเสริฐ ที่ชื่อว่ามีอุปมาเหมือนอย่างนั้น เพราะสง่างามอย่างยิ่งด้วยดอกไม้ คือ ประเภทแห่งอรรถนานาประการ มีขันธ์อายตนะเป็นต้นก็มี มีสติปัฏฐานและสัมมัปปธานเป็นต้น ก็มี มีศีลขันธ์สมาธิขันธ์เป็นต้นก็มี ชื่อว่าให้ถึงพระนิพพาน เพราะทรงแสดงมรรค อันให้ถึงพระนิพพาน เพื่อเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่สัตว์ทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน
นี่คือผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม เพราะถ้าไปที่ไหนเห็นดอกไม้ที่มีดอกบานสะพรั่งทั้งต้น ทุกคนตื่นเต้นไหมว่า ช่างงามจริง ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ที่กิ่งใหญ่ กิ่งน้อย ทุกกิ่งมีดอกบานสะพรั่ง แต่อย่าเพียงดูดอกไม้บานสะพรั่งที่น่าดูเท่านั้น ควรจะได้คิดถึงความงามสะพรั่งของดอกไม้คือพระธรรมด้วย เพราะว่าพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณา ทรงขะมักเขม้นที่แสดงพระปริยัติธรรมอันประเสริฐ
พระธรรมที่ได้ฟังทั้งหมดถ้ามีความเข้าใจ ไม่ว่าในเรื่องของขันธ์ อายตนะ สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ เป็นต้น ชื่อว่าให้ถึงพระนิพพานเพราะฉะนั้น ท่านที่ชอบธรรมชาติ และชอบดูดอกไม้บานเต็มต้นสวยๆ ก็อาจจะ ระลึกถึงว่า พระธรรมงามสง่ายิ่งกว่านั้น เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริงและ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงด้วยพระมหากรุณาโดยละเอียดที่จะให้ผู้ฟังได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ จนถึงการประจักษ์แจ้งได้
และที่จำเป็นต้องกล่าวถึงภาษาบาลี ก็เพราะต้องอธิบายให้เข้าใจด้วยว่า คำนี้เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคทรงหมายถึงสภาพธรรมอะไร มิฉะนั้นแล้วไม่มีทางเลย ที่จะรู้ว่านั่นคือพระธรรมที่ทรงแสดงถ้าไม่ได้ใช้คำภาษาบาลี แต่คำที่ใช้เป็นภาษาบาลีทั้งหมด ท่านผู้ฟังจะค่อยๆ เข้าใจความหมายทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ ได้ ถ้าเป็น ผู้ที่ปฏิบัติถูก ก็ต้องเห็นประโยชน์ของพระธรรม
ถ. อรรถกถาที่อาจารย์แสดงเมื่อกี้ เกี่ยวกับดอกไม้ที่บานสะพรั่งใน คิมหันต์ฤดูนี่ ...
สุ. ในเดือนวสันต์ ที่เป็นเดือนต้นของฤดูคิมหันต์
ถ. รู้สึกจะมีในรัตนสูตร
สุ. นี่เป็นอรรถกถาของรัตนสูตร
ถ. เปรียบเทียบกับพระปริยัติธรรมว่ามีความวิจิตรงดงามอย่างยิ่ง เหมือนดอกไม้ที่บานทั้งต้น ผมท่องรัตนสูตรอยู่ทุกคืน ได้ฟังข้อความแล้วรู้สึกซาบซึ้ง เข้าใจที่พระองค์ทรงเปรียบเทียบว่าพระธรรมวิจิตรงดงามจริงๆ เหมือนกับดอกไม้งาม แต่เวลาที่เราเห็นดอกไม้งามไม่เคยนึกถึงพระธรรมเลย มีแต่นึกถึงว่างาม มีแต่โลภะเกิดขึ้น ไม่ได้คิดว่าพระธรรมของพระองค์นั้นวิจิตรงดงามจริงๆ เหมือนดอกไม้
ขอเรียนถามว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ องค์ธรรม คือ ตัตรมัชฌัตตตา ไม่ใช่ อุเบกขาเวทนา ใช่ไหม
สุ. ถูกต้อง
ถ. เมื่อสงเคราะห์เข้าในมรรค ๘ อุเบกขาสัมโพชฌงค์อยู่ในอะไร
สุ. โพชฌงค์เป็นเรื่องของโพชฌงค์ เพราะว่าโพธิปักขิยธรรมมี ๓๗ ๓๗ นี่ก็โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ แยกกัน
ถ. เมื่อมรรคผลเกิดแล้ว องค์ธรรมเหล่านี้จะต้องรวมเป็นอันเดียว ใช่ไหม สุ. แต่ต้องเป็นตามประเภทนั้น คือ โพชฌงค์ก็เป็นโพชฌงค์ มรรคมี องค์ ๘ ก็จำกัดไว้ว่าเป็นมรรค ๘ องค์
ถ. สงเคราะห์กันไม่ได้ใช่ไหม
สุ. เป็นธรรมคนละอย่าง ซึ่งเกื้อกูลกัน โดยหน้าที่กิจการงานต่างๆ กัน
ถ. เหมือนกับเจตสิกต่างๆ ใช่ไหม ทำหน้าที่คนละอย่างแต่เกื้อกูลกัน
สุ. ถ้าปราศจากกันแล้วไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
ผู้ฟัง ผมยังติดในจดหมายเมื่อสักครู่นี้ มีหลายท่านที่บอกว่าอาจารย์สุจินต์ไม่ได้สอนวิธีปฏิบัติ จากการที่ผมได้เคยศึกษาธรรมมาหลายแบบตามที่จดหมายนั้นเขียนไว้ รู้สึกว่าตัวเองเมื่อออกจากสมาธิมาแล้วก็ยังไม่เข้าใจ แต่เมื่อมาฟังอาจารย์ ก็พอจะเข้าใจได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ เช่น แต่ก่อนนี้เมื่อจะเจริญเมตตา นั่งสมาธิเสร็จก็แผ่เมตตาเรื่อยไปเลย ขอให้คนนั้นมีความสุข อย่าได้เบียดเบียนกัน แต่เมื่อฟัง อาจารย์สุจินต์กล่าวว่า การเจริญเมตตานั้นต้องมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ ซึ่งผมคิดว่าตนเองพอมีความเข้าใจเรื่องเมตตาอยู่บ้าง สามารถเจริญได้ แต่ไม่ทุกครั้ง เป็นบางครั้งบางคราว แม้ขณะที่นั่งรถเมล์ ผมนั่งอยู่ริมหน้าต่าง ขณะนั้นแดดส่อง มีเด็กเล็กๆ ที่แม่อุ้มอยู่นั่งอยู่ข้างผม ในขณะนั้นถ้าเกิดเมตตาเราก็โยกตัวไปบังแดดได้ ซึ่งขณะนั้นก็เกิดเมตตา สติในขั้นนึกคิดก็เป็นประโยชน์ ในขณะนั้นจะรู้สึกว่าตัวเบา มีความปีติยินดีที่ได้เจริญเมตตานี้
จากการที่ผมได้ฟังเรื่องเมตตาของอาจารย์สุจินต์ และนำมาประพฤติปฏิบัติ นี่คือการปฏิบัติที่ถูกต้องตามพระธรรมคำสั่งสอนแล้ว ไม่ใช่ไปนั่งทำสมาธิ ผมคิดว่า นี่เป็นการปฏิบัติอย่างหนึ่ง
ถ้าเข้าใจเรื่องทานว่า มีองค์ประกอบอะไรบ้าง การทำสังฆทาน เข้าใจว่า จิตขณะนั้นเป็นสังฆทานได้หรือไม่ ถ้าไม่เข้าใจก็คิดว่า ต้องมีถังน้ำ มีสบู่ ยาสีฟัน มีหอม กระเทียม ในขณะนั้นคิดว่าเป็นสังฆทาน เมื่อก่อนนี้ผมก็ทำในลักษณะนั้น แต่จากการที่ได้มาฟังอาจารย์แล้วก็เริ่มเข้าใจว่า การทำสังฆทานนั้นไม่ได้ทำง่ายๆ เพียงแต่ว่าสภาพจิตในขณะนั้นเป็นสังฆทานหรือเปล่า
หรือแม้ในเรื่องศีล ถ้าเราไปงานเลี้ยงสังสรรค์เพื่อนฝูง ในขณะที่มีความเข้าใจเรื่องศีล ก็งดเว้นที่จะไม่ดื่ม ในขณะนั้นก็เป็นการประพฤติปฏิบัติแล้ว ผมคิดอย่างนี้ จะถูกต้องไหม
สุ. นี่ก็เป็นชีวิตของผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานและเจริญกุศลประการ อื่นๆ ด้วย และจะเห็นได้จริงๆ ว่า ในขณะที่กุศลจิตเกิดผู้นั้นย่อมรู้ว่า กำลังขจัดอกุศล ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัวและไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ก็คงไม่มีจิตเมตตา แต่เมื่อ ได้ฟังพระธรรมแล้ว ขณะที่กุศลจิตเกิดจะเห็นได้ว่า ทำให้การกระทำก็ถูก วาจาก็ ถูกด้วย
ผู้ฟัง ผมขอยืนยันว่า การได้มาฟังพระธรรมที่อาจารย์สุจินต์พยายามหยิบยื่น เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์และสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ ถ้าฟังและเข้าใจ ก็สามารถเจริญกุศลได้ และในขณะเดียวกันก็สามารถขจัดหรือระงับกิเลสหรือโทสะ ชั่วคราวได้ แทนที่จะโกรธนานๆ สติในขั้นนึกคิดซึ่งยังไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็สามารถ เกิดหิริโอตตัปปะ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป และเกิดความเข้าใจว่า เป็นการสะสมการฟังธรรมและเข้าใจ ไม่ว่าการเจริญในขั้นทาน ศีล ภาวนา หรือเมตตา อย่างที่ผมเรียนให้ทราบ แม้กระทั่งการระงับอกุศลคือโลภะหรือโทสะ ก็สามารถระงับขัดเกลา เป็นการประพฤติปฏิบัติได้พอสมควร ซึ่งผมก็พอใจว่า เริ่มทำได้ทีละเล็กทีละน้อย แม้บางคราวอาจจะหลงลืมสติไปบ้าง ผมขอยืนยันว่า ในขณะนี้ผมกำลังปฏิบัติธรรมโดยถูกต้องแล้ว
สุ. ขออนุโมทนา
ผู้ฟัง ธรรมทุกบทที่ผมได้ฟังจากอาจารย์สุจินต์ คำพูดแต่ละคำพูดที่ผมฟังและเข้าใจ ผมถือว่าเป็นการเรียนปริยัติธรรมจากพระไตรปิฎก สิ่งที่ผมเข้าใจแล้ว ผมก็พยายามปฏิบัติตามทุกบททุกตอน แต่ละถ้อยคำของอาจารย์สุจินต์ผมถือว่า เป็นการเรียนทั้งปริยัติและปฏิบัติด้วย
สุ. ขออนุโมทนา
ถ้าจะสรุปจดหมายของคุณพุทธสาวก คงมีประเด็นใหญ่ประเด็นเดียว คือ คุณพุทธสาวกไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการอบรมเจริญวิปัสสนา นี่เป็นความคิดเห็นของดิฉันและท่านผู้ฟังที่นี่ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณพุทธสาวก มีความเห็นอื่นซึ่งต่างกัน ทางที่จะเกื้อกูลกันได้ก็มี คือ สนทนาธรรมแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น ถ้าคุณพุทธสาวกมีความมั่นใจในการปฏิบัติกัมมัฏฐานของคุณพุทธสาวกที่ต้องการจะเกื้อกูลคนอื่นว่าจะปฏิบัติอย่างไร ก็ขอเชิญให้มาแสดงความคิดเห็น เพื่อท่านผู้ฟังที่อยู่ที่นี่จะได้ซักถามได้ และสำหรับดิฉันที่ได้เรียนให้ทราบว่า ตามจดหมายฉบับนี้ดิฉันมีความคิดเห็นว่า คุณพุทธสาวกยังไม่เข้าใจเรื่องการเป็น ผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ เป็นการเจริญวิปัสสนา ถ้าคุณพุทธสาวกยังข้องใจในเรื่องนี้ ขอเชิญซักถามได้
ผู้ฟัง ข้อคิดอีกข้อหนึ่ง ย้อนกลับไปดูสมัยพุทธกาล ตลอดเวลา ๔๕ ปี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรยายธรรมตลอดไม่ว่าจะเสด็จไปที่ไหน ไม่ได้จับใครมาอยู่สำนัก อาจารย์บรรยายที่นี่หรือที่วัดมหาธาตุ ฯ มาก่อน ก็หยิบยกแนวที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงมาบรรยายอย่างนี้เหมือนกัน พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร อาจารย์ก็พยายามสอนอย่างนั้น แต่อาจจะไม่ละเอียดเท่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และที่เขาคิดว่า อาจารย์ไม่ได้สอนปฏิบัติ เพราะอาจารย์ไม่เคยคิดจะตั้งสำนัก อาจารย์ไม่เคยมีสำนักเลย ซึ่งความจริงไม่ต้องมีสำนัก ทำให้เขาเข้าใจว่า อาจารย์ มายืนบรรยายอย่างนี้ ไม่มีการปฏิบัติ การปฏิบัติต้องเข้าสำนัก นี่คือการเข้าใจผิด ของเขา
สุ. ขอให้คุณพุทธสาวกได้รับฟัง ถ้ายังมีความเห็นอย่างอื่น ก็ขอเชิญ