แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1708

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๐


ผู้ฟัง เรื่องเห็นการเกิดดับซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณ ผมเข้าใจว่า ขณะที่เห็น เช่น เห็นกระดานดำ รับรองว่ากระดานดำไม่มีการเกิดดับแน่ เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ เห็นคน เห็นสัตว์ เห็นสิ่งของ รับรองว่า คน สัตว์ สิ่งของไม่เกิดดับแน่ ถ้ายังเห็นอยู่อย่างนั้นไม่มีทางที่จะเกิดดับ

ผมขอเล่าถึงตัวเองเมื่อตอนที่เข้าปฏิบัติ เดินจงกรมไปเดินจงกรมมาก็นึกถึงคำที่เพื่อนปฏิบัติด้วยกันเล่าให้ฟังว่า เขาเห็นเกิดดับแล้ว มองไปเห็นอะไรก็ดับวูบๆ ตกใจเลยเมื่อเห็นความเกิดดับที่เกิดขึ้น ผมก็สงสัยว่าเกิดดับแบบไหน เรามองดูฝาผนัง มองดูโบสถ์ ไม่เห็นดับสักทีหนึ่ง ผมก็มานึกว่า คงไม่ใช่โบสถ์วิหาร หรือกระดาน คน สัตว์เกิดดับแน่ๆ ที่ว่าเกิดดับ ต้องเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่กระดาน ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่คน ไม่ใช่เก้าอี้

ต้องรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตามีลักษณะอย่างไร จึงจะรู้ความเกิดดับต่อไป ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาคืออะไร รับรองว่าไม่มีทางเข้าใจ หรือปัญญาจะเกิดขึ้นในลำดับต่อไปได้ ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยบรรยายว่า อะไรแน่ ที่เราจะต้องรู้ในขณะที่เห็น ที่ว่าปรากฏทางตา มีลักษณะอย่างไร

สุ. ปัญญาประจักษ์การเกิดดับ ถ้าไม่ใช่ปัญญาไม่มีทางที่จะประจักษ์เลย และก่อนที่จะประจักษ์การเกิดดับ ต้องคลายการที่เคยยึดถือปรมัตถธรรมว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเสียก่อน เพราะฉะนั้น ทางตาวิธีพิสูจน์ คือ ยังเห็นว่าเป็นสัตว์บุคคลต่างๆ โดยที่สติไม่เคยระลึกได้เลยว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น และการที่ปัญญาจะเจริญขึ้น จะต้องอาศัยการพิจารณาอีกมาก จะต้องรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ก็ปรากฏเพียงชั่วขณะจิตเดียว เห็นไหมว่ากว่าที่จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปได้ ปัญญาต้องมนสิการ คือ พิจารณา และเพิ่มความรู้เพิ่มความมั่นคงขึ้นว่า ทุกขณะจิตเป็นเพียงชั่วขณะเดียวในสังสารวัฏฏ์ฎ์ ซึ่งจะไม่มีการกลับมาอีกเลย ทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้และมีการได้ยิน กับเห็นหลังจากที่ได้ยิน ก็เป็นอีกขณะหนึ่งหมายความว่าจะขาดการพิจารณาเพื่อให้ปัญญาระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม อยู่เรื่อยๆ ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเดินไป จงกรมไป และคิดว่าประจักษ์การเกิดดับ โดยไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม

ปัญญาของแต่ละบุคคลเป็นปัจจัตตัง เป็นการรู้เฉพาะตัวจริงๆ เช่น ขณะนี้ใครจะพิจารณาทางตาและมีความรู้เพิ่มขึ้นจริงๆ ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาชั่วขณะเดียวในสังสารวัฏฏ์ฎ์ เวลาได้ยินเสียง เห็นอีก ก็รู้อีกว่า ที่เห็นนี้ก็เป็นชั่วขณะเดียวในสังสารวัฏฏ์ฎ์ เพราะฉะนั้น ปัญญาทำหน้าที่ละคลายการติดข้องไปเรื่อยๆ ด้วย ไม่ใช่ว่าเมื่อปัญญาเกิดแล้วไม่ได้ละอะไรเลย แต่ปัญญาทุกขณะที่เกิดจะต้องละตามลำดับขั้นของปัญญา แม้ในตอนต้นยังไม่ได้ละโลภะ โทสะ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ต้องละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ เป็นบุคคลต่างๆ โดยรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏ เพียงชั่วขณะเดียวในสังสารวัฎฎ์

ถ้ารู้ว่าทุกคนในขณะนี้ที่ได้ยินก็เป็นชั่วขณะหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ฎ์เท่านั้น จะไม่มีสาระสำคัญอะไรเลย สิ่งที่ดับไปเมื่อกี้ก็ไม่กลับมาอีกเลย มีแต่ไป ไป ไป เกิดขึ้น และก็ไป คือ ดับ อยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยความเป็นพหูสูต คือ การฟัง พระธรรม พร้อมกับการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพื่อให้มีฐานที่มั่นคงที่จะ ทำให้ความรู้นั้นสมบูรณ์ถึงขั้นที่สติปัฏฐานและสัมปชัญญะจะเกิดประจักษ์แจ้งลักษณะที่เกิดดับได้จริงๆ

ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสิ่งที่เข้าใจยากจริงๆ ทั้งๆ ที่เราก็เห็นอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่ได้เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

สุ. ถ้ารู้ว่าเพียงชั่วขณะเดียว หมดไปแล้วเมื่อกี้ ก็ระลึกใหม่ พิจารณาใหม่

ผู้ฟัง โดยมากเห็น ก็เห็นเป็นต้นไม้ เห็นเป็นคน เห็นเป็นสิ่งของแล้ว

สุ. ก็ไม่ต้องไปติด เพราะว่าดับไปแล้ว ขณะนี้ขณะใหม่ พิจารณาใน ขณะนี้เองว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา การที่จะไปยึดถือว่าเป็นสิ่งเดิมหรือสิ่งนั้นสิ่งนี้จะลดน้อยลง ถ้าเห็นญาติพี่น้อง หรือเห็นใคร ก็รู้ว่าเพียงชั่วขณะเดียวในสังสารวัฏฏ์ฎ์ ไม่มีบุคคลนั้นอีกแล้ว

ผู้ฟัง หมายความว่าสติต้องเกิดเร็วมากขณะที่เห็น ขณะที่ปรากฏ เมื่อลืมตา สติของเราต้องมีพลังสามารถรู้ขณะที่เห็นขณะแรกเลย ถ้าต่อไปจะเห็นเป็นต้นไม้ เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ มีชื่อเรียกมากมาย แต่ขณะแรกสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ สติไม่ค่อยจะระลึกได้ หรือไม่ค่อยจะเกิด

สุ. ยากที่จะหวังว่า ลืมตาตื่นสติก็เกิด จะเป็นไปได้บางขณะบางวัน แต่ไม่ใช่เสมอไปทุกวัน เพราะว่าปัจจัยที่จะให้เกิดอกุศลยังมากอยู่ เพราะฉะนั้น ไม่จำกัดดีกว่าว่าจะเป็นเมื่อไร แต่ให้ทราบกำลังของปัญญาว่า ที่สติจะมีกำลังเป็น สติพละก็เพราะว่าปัญญาเพิ่มขึ้น ถ้าปัญญาไม่เพิ่ม สติจะมีกำลัง หรือจะเป็นพละไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะให้สติมีกำลัง สามารถระลึกลักษณะของสภาพธรรมเมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ทวารไหนก็ได้ ก็ต้องศึกษารู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็น สภาพรู้ในขณะที่สติระลึกไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าความรู้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

ถ้าคิดถึงคำอุปมาที่เป็นผ้าไหมแคว้นกาสีที่เนื้อบางละเอียด และร้อยปีก็ ลูบเขาสิเนรุครั้งหนึ่งจนกว่าเขาสิเนรุจะสึกไป ซึ่งวันหนึ่งๆ การเกิดขึ้นของสติปัฏฐาน ก็เป็นไปในลักษณะนั้น แต่ถ้าผู้ใดก็ตามที่มีความเข้าใจถูก และสัมมาสติเกิดระลึก รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ้าง วันหนึ่งก็ต้องถึง เพราะว่าการฟังที่ได้ฟัง ไม่ได้สูญหายไปไหน การพิจารณา การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมก็ไม่ได้ สูญหายไปไหน เพียงแต่ยังไม่ถึงกาลที่จะถึงความสมบูรณ์ที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมเท่านั้นเอง ก็ต้องอบรมเจริญไป

เพราะฉะนั้น การกล่าวถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นๆ ก็เป็นเรื่องที่ห่างไกล แต่ผู้ที่รู้จักตนเองตามความเป็นจริงก็ไม่ได้หมดหวัง หรือไม่ได้ท้อถอย ตราบใดที่เข้าใจข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ข้อสำคัญ อย่าเข้าใจผิด อย่าปฏิบัติผิด อย่ายึดถือข้อปฏิบัติที่ผิด ซึ่งไม่เป็นหนทางที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง

ไม่ใช่ไปรู้อย่างอื่นเลย แต่ต้องรู้ว่าอริยสัจจธรรม คือ ในขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม บางท่านเป็นพระอรหันต์ได้ ขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก เหมือนผู้อื่นที่ฟังอยู่ที่เป็นปุถุชน หรือ บางท่านอาจจะเป็นพระโสดาบัน บางท่านก็เป็นพระสกทาคามี บางท่านก็เป็น พระอนาคามี ตามการสะสมของแต่ละบุคคล แต่ต้องเป็นปัญญาที่รู้ เพราะฉะนั้น ไม่ควรสนใจในข้อปฏิบัติที่ไม่ทำให้เกิดความรู้ หรือคำใดๆ ก็ตามที่ไม่เกื้อกูลต่อการ ที่จะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้เข้าใจขึ้น

ถึงแม้จะถึงอุทยัพพยญาณแล้ว ความเหนียวแน่น ความหนาแน่นของกิเลส ก็ปรากฏให้รู้ว่า ยังไม่ได้ถ่ายถอนหรือดับการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนเด็ดขาดเป็นสมุจเฉท เพราะว่าเพิ่งจะเริ่มเป็นพลววิปัสสนา เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องอบรมเจริญต่อไปอีก โดยสติสัมปชัญญะเกิดระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏและน้อมระลึกถึงลักษณะที่ดับ เพราะถึงแม้ว่า อุทยัพพยญาณเป็นการประจักษ์แจ้งการเกิดดับอย่างชัดเจน แต่ก็ชั่วระยะที่เป็นวิปัสสนาญาณ หลังจากนั้นก็มีปัจจัยที่จะให้อกุศลทั้งหลายเกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า ในสังสารวัฏฏ์ฎ์ที่เคยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมและเคยยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนมานั้นยาวนาน เพียงปัญญาขั้นนี้ยังดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนไม่ได้เป็นสมุจเฉท และผู้นั้นก็รู้ว่ายังไม่ถึงการดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะความเหนียวแน่นของกิเลสมีมาก

คิดดู ทั้งๆ ที่ประจักษ์ แต่ยังไม่สามารถดับการยึดถือสภาพธรรม ความเยื่อใย ความพอใจว่าเป็นเราหรือเป็นตัวตนได้ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็น้อมระลึกถึงอาการดับเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น หลังจากอุทยัพพยญาณแล้ว ขอกล่าวไปถึงภังคญาณ

ทุกคน ถ้าคิดถึงความดับไปของทุกอย่าง กิเลสจะเบาบางไหม สิ่งที่เกิด ดูเหมือนมีสาระ ดูเหมือนน่าดู น่าชม น่าติด น่าใคร่ ไม่ว่าจะเป็นรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี สัมผัสก็ดี แต่ถ้าคิดถึงการดับของสิ่งนั้นซึ่งมีอายุที่สั้นมาก คือ เพียงเกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป ถ้าน้อมพิจารณาถึงอาการดับของสิ่งนั้น ย่อมจะละคลายมากกว่าเห็นเพียงการเกิดแล้วก็ดับ และก็เกิดอีก และก็ ดับไป และก็เกิดอีก และก็ดับไป ด้วยเหตุนี้ผู้ที่บรรลุถึงอุทยัพพยญาณจึงน้อมพิจารณาถึงการดับของสภาพธรรม จนกระทั่งปัญญาสมบูรณ์ถึงขั้นภังคญาณ

ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๑๑๒ มีข้อความว่า

ปัญญาในการพิจารณาอารมณ์แล้วพิจารณาเห็นความแตกไป คือ การดับไป เป็นวิปัสสนาญาณอย่างไร ฯ

จิตมีรูปเป็นอารมณ์ เกิดขึ้นแล้วย่อมแตกไป ผู้พิจารณาอารมณ์นั้นแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นความแตกไปแห่งจิตนั้น ย่อมพิจารณาเห็นอย่างไร ชื่อว่าพิจารณาเห็น ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่พิจารณาเห็น โดยความเป็นของเที่ยง ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ไม่พิจารณาเห็น โดยความเป็นสุข ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นอัตตา ย่อมเบื่อหน่าย ไม่เพลิดเพลิน ย่อมคลายกำหนัด ไม่กำหนัด ย่อมให้ดับ ไม่ให้เกิด ย่อมสละคืน ไม่ถือมั่น เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาได้ เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ย่อมละสุขสัญญาได้ เมื่อพิจารณาโดยความเป็นอนัตตา ย่อมละอัตตสัญญาได้ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมละความเพลิดเพลินได้ เมื่อคลายกำหนัด ย่อมละราคะได้ เมื่อให้ดับ ย่อมละสมุทัยได้ เมื่อสละคืน ย่อมละความถือมั่นได้ ฯ

ผู้ที่ปัญญายังไม่บรรลุถึงขั้นนี้ ฟังดูก็เหมือนเรื่องตัวอักษร แต่ตามความเป็นจริง ปัญญาต้องพิจารณาอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เพราะว่าความจริงเป็นอย่างนี้

สิ่งใดที่เห็นอยู่ชัดๆ ว่า ดับไป จะไม่คลายความพอใจหรือ ในเมื่อไม่เคยประจักษ์มาก่อนเลยว่า สิ่งนั้นแท้จริงเกิดขึ้นมีอายุที่สั้นมากและดับไป ขณะนี้เมื่อ ไม่ประจักษ์ว่าเห็นเกิดขึ้นสั้นมากและดับไปก็ไม่ประจักษ์ว่า แท้ที่จริงแล้วควรจะหน่ายหรือว่าคลายความยินดีในการเห็น ซึ่งในขณะนี้ทุกขณะกำลังเกิดดับอยู่ ถูกต้องไหม แต่มีขณะไหนบ้างไหมที่จิตน้อมพิจารณาถึงการดับ

เพิ่งฟังเรื่องของภังคญาณเมื่อกี้เองว่า ทุกอย่างเกิดและก็ดับ และจะต้องพิจารณาการดับไปเพื่อให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรเบื่อหน่าย แต่แม้กระนั้นในขณะนี้ที่กำลังเห็นและก็ดับ ได้ยินและก็ดับ แต่ปัญญาก็ยังไม่ได้พิจารณาการดับไปของเห็นและของได้ยิน เพราะว่ายังไม่ใช่ภังคญาณ ยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้น จึงยัง ไม่สามารถพิจารณาอย่างนั้นได้จริงๆ และไม่ใช่แต่เฉพาะรูป

ข้อความต่อไป ข้อ ๑๑๓ – ข้อ ๑๑๔ มีว่า

จิตมีเวทนาเป็นอารมณ์ ฯลฯ จิตมีสัญญาเป็นอารมณ์ ฯลฯ จิตมีสังขารเป็นอารมณ์ ฯลฯ จิตมีวิญญาณเป็นอารมณ์ ฯลฯ จิตมีจักษุเป็นอารมณ์ ฯลฯ จิตมีชราและมรณะเป็นอารมณ์ เกิดขึ้นแล้วย่อมแตกไป พระโยคาวจรพิจารณาอารมณ์นั้นแล้ว พิจารณาเห็นความแตกไปแห่งจิตนั้น ย่อมพิจารณาเห็นอย่างไร ชื่อว่าพิจารณาเห็น ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง เมื่อสละคืน ย่อมละความถือมั่นได้ ฯ

การก้าวไปสู่อัญญวัตถุแต่ปุริมวัตถุ การหลีกไปด้วยปัญญาอันรู้ชอบ การคำนึงถึงอันเป็นกำลัง ธรรม ๒ ประการ คือ การพิจารณาหาทางและ ความเห็นแจ้ง บัณฑิตกำหนดเอาด้วยสภาพเดียวกันโดยความเป็นไปตามอารมณ์ ความน้อมจิตไปในความดับ ชื่อว่าวิปัสสนาอันมีความเสื่อมไปเป็นลักษณะ

การที่พระโยคาวจรพิจารณาอารมณ์แล้ว พิจารณาเห็นความแตกไปแห่งจิต และความปรากฏโดยความเป็นของสูญ ชื่อว่าอธิปัญญาวิปัสสนา (ความเห็นแจ้งด้วยอธิปัญญา) พระโยคาวจรผู้ฉลาดในอนุปัสนา ๓ ในวิปัสสนา ๔ ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะทิฏฐิต่างๆ เพราะความเป็นผู้ฉลาดความปรากฏ ๓ ประการ ฯ

ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการพิจารณาอารมณ์แล้วพิจารณาเห็นความแตกไปเป็นวิปัสสนาญาณ คือ ภังคานุปัสสนาญาณ

แต่ถ้าปัญญายังไม่อบรมจนถึงขั้นนั้นก็ไม่มีทางเลย ทั้งๆ ที่จะได้ยินได้ฟัง อย่างนี้ต่อไปอีก ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาตามลำดับขั้น แต่ข้อสำคัญที่สุด คือ ต้องทราบว่า การประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นวิปัสสนาญาณ ต้องเป็นการประจักษ์ลักษณะของปรมัตถธรรม ไม่ใช่เป็นการคิดว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้หมดไป ดับไป เพราะนั่นเป็นการคิดเรื่องของปรมัตถธรรม ไม่ใช่เป็นการประจักษ์ลักษณะของ ปรมัตถธรรม

สำหรับวิปัสสนาญาณมี ๓ ขั้น คือ ญาตปริญญา ๑ ตีรณปริญญา ๑ ปหานปริญญา ๑

อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สมิทธิสูตร มีข้อความว่า

ญาตปริญญา คือ ปัญญาที่รู้ลักขณาทิจตุกะของขันธ์ ๕

คือ ปัญญาที่รู้ลักษณะของรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ แต่ละประเภท และวิญญาณขันธ์ อย่างโลภะเกิดขึ้นมีลักษณะที่ต่างจากโทสะ ขณะนั้นเป็นปัญญาที่รู้ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าปกติขณะที่กำลังสบายใจทุกคนก็รู้ หรือขณะที่กำลังขุ่นเคืองใจทุกคนก็รู้ แต่ไม่ใช่ ปรมัตถธรรม ในขณะนั้นเป็นเราที่สบายใจ เป็นเราที่ไม่สบายใจ เพราะฉะนั้น ต่างกับวิปัสสนาญาณซึ่งรู้ลักษณะของสภาพที่พอใจติดข้องว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และเวลาที่สภาพที่ไม่พอใจ หยาบกระด้าง ขุ่นเคืองเกิดขึ้นก็รู้ว่า ลักษณะนั้นก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ปัญญาที่รู้อย่างนี้เป็นญาตปริญญา

ตีรณปริญญา คือ พิจารณาขันธ์ ๕ ที่ตนรู้แล้วโดยวิปัสสนาญาณ โดยพิจารณาสภาพที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ ลักษณะที่เกิด ดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั่นคือตีรณปริญญา

ปหานปริญญา เป็นการละความยินดีในขันธ์ ๕ ด้วยมรรคอันเลิศ

แต่ก่อนที่จะถึงการดับเป็นสมุจเฉท ภังคญาณเป็นการเริ่มต้นของ ปหานปริญญา ถ้ายังไม่ถึงภังคญาณ ที่จะค่อยๆ คลาย ค่อยๆ ปหาน ค่อยๆ ละ การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ก็ยังมีไม่ได้

เพราะฉะนั้น ต้องเห็นความละเอียดของวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นว่า ใครก็ตามที่คิดว่าจะละการยึดถือว่าเป็นเราโดยคิดเอาเองบ้าง หรือโดยที่ นามรูปปริจเฉทญาณยังไม่เกิด หรือเมื่อนามรูปปริจเฉทญาณเกิดแล้ว ก็จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จนกว่าจะถึงภังคญาณ จึงจะเป็นการเริ่มของปหานปริญญา

เปิด  234
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565