แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1714

ที่โรงเรียนนายทหารชั้นผู้บังคับฝูง ทหารอากาศ ดอนเมือง

วันพุธที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๐


สุ. ที่ถามอย่างนี้ ไม่ทราบว่ากลัวนรกหรือเปล่า เพราะว่าสนใจแล้ว ใช่ไหม เมื่อเห็นว่าโลกนี้มี ก็ทำให้คิดว่า โลกอื่นจะมีด้วยหรือเปล่า คงจะไม่ใช่มีแต่โลกนี้ โลกเดียว เพราะว่าในโลกนี้ก็ยังมีสิ่งที่มีชีวิตที่ต่างกัน เช่น มีคน และมีสัตว์ดิรัจฉานด้วย นี่ก็แสดงให้เห็นความต่างกันของสิ่งที่มีชีวิตในโลกว่า ต้องมีเหตุที่ทำให้ต่างกัน ความต่างกันของคนและสัตว์ก็มองเห็นได้ว่า คนมีความสามารถที่จะศึกษา ที่จะพัฒนาสติปัญญา ที่จะทำสิ่งซึ่งสัตว์ไม่สามารถกระทำได้ แม้ว่าสัตว์ก็เป็นสิ่งที่มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน เพราะฉะนั้น อะไรเป็นเหตุให้มีชีวิตที่ต่างกัน

ตามหลักของเหตุผล ก็ต้องเป็นเรื่องของกรรม และกรรมที่จะพิสูจน์ ไม่ใช่ว่า สามารถนำเอาชาติก่อนซึ่งผ่านไปแล้วมาย้อนกลับให้เห็นได้ แต่ชาตินี้มีกรรมหรือเปล่า ถ้าชาตินี้ทุกคนที่นี่ไม่มีกรรมอะไรเลย ไม่ได้ทำกุศลกรรมอะไรเลย ไม่ได้ทำอกุศลกรรมอะไรเลย ก็ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องนรกสวรรค์ ไม่จำเป็นต้องคิด แต่เพราะว่าทุกคนมีจิตใจที่ต่างกัน มีทั้งจิตใจที่ดีงามมาก และมีทั้งจิตใจที่ต่ำทรามมาก ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการกระทำที่ต่างกัน เมื่อการกระทำที่เป็นเหตุต่างกัน ผลก็ต้องต่างกันด้วย

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ทราบว่าการรับผลของกรรม รับเมื่อไร ในขณะไหน ก็ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า นรกมีจริงไหม สวรรค์มีจริงไหม แต่ในขณะนี้สามารถพิสูจน์ ได้ว่า มนุษย์มีจริง สัตว์ดิรัจฉานมีจริง และการรับผลของกรรมก็คือในขณะที่ ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เราเลือกที่เกิดไม่ได้ ไม่มีใครสามารถเลือกมารดาบิดาได้ ไม่สามารถเลือกครอบครัววงศาคณาญาติได้ หรือแม้เกิดมาแล้วก็ยังไม่สามารถเลือกได้ว่า เราต้องเห็นแต่สิ่งที่น่ารื่นรมย์ตลอด ต้องได้ยินเสียงเพราะๆ ต้องได้กลิ่น ดีๆ ต้องได้อาหารอร่อยๆ ทุกวัน ต้องไม่ป่วยไข้ได้เจ็บ นี่เป็นสิ่งซึ่งไม่มีใครสามารถเลือกได้เลย เพราะว่ากรรมทำให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น ควรที่จะทราบทางรับผลของกรรมว่า มีอยู่ ๕ ทาง เหมือนกันหมดไม่ว่าในโลกไหน คือ ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑

เคยมีใครที่เจ็บปวดทรมานมากไหมในโลกนี้ ถ้าไปตามโรงพยาบาลก็เห็น เป็นที่ที่ควรจะเกิดมีจิตกรุณาเมตตา พยายามที่จะช่วยเหลือให้บุคคลอื่นซึ่งกำลัง เป็นทุกข์เดือดร้อนได้มีความสุขขึ้น หรือว่ามีใครบ้างที่ไม่เคยอ่านข่าวอุบัติเหตุที่ไฟไหม้ และคนถูกไฟไหม้ร้อนก่อนที่จะตาย หรือจะอดอาหารมากเหมือนพวกเปรต ในโลกมนุษย์นี้ก็ยังมีอย่างนั้น ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในเมื่อกรรมจะให้ผล ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้นก็หลีกเลี่ยงผลของกรรมไม่ได้ แม้ว่าจะเกิดในโลกนี้

เพราะฉะนั้น เมื่อสิ้นสุดชีวิตของโลกนี้แล้ว ก็ยังไม่จบ เพราะว่ากรรมที่ทำไว้ไม่ได้สูญหายไปไหน ในเมื่อบุคคลนั้นยังไม่ใช่พระอรหันต์ตราบใด ก็ยังต้องมีเหตุปัจจัยที่จะต้องเกิด ขณะนี้ทุกคนพิสูจน์ได้ว่า มีโลกนี้ เพราะว่ากำลังอยู่ในโลกนี้ แต่เมื่อจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น ก็จะพิสูจน์ได้อีกเหมือนกันว่า โลกอื่นก็มี และเมื่อถึงนรกเมื่อไร ก็หมดสงสัยเรื่องนรก และถ้าถึงสวรรค์เมื่อไร ก็หมดสงสัยเรื่องสวรรค์ ในเมื่อชาตินี้หมดสงสัยเพียงเรื่องโลกมนุษย์เท่านั้น

คำถามอีกข้อหนึ่งถามว่า การไปวัดเพื่อฟังเทศน์ (ที่เป็นภาษาบาลี) แต่ฟัง ไม่รู้เรื่อง หรือนิมนต์พระมาสวด หรือรดน้ำมนต์แล้วเชื่อว่าได้บุญนั้น เป็นการปฏิบัติธรรมหรือไม่ และความเชื่อนี้ถูกต้องหรือไม่

อ. ผู้ถามเคยทำไหม ถ้าเคยทำ ก็ต้องถามตัวเองว่า เวลาทำมีกุศลจิต เกิดบ้างหรือเปล่า กุศลจิตเกิดเมื่อไร ก็ได้บุญเมื่อนั้น

สุ. คำตอบสั้น แต่คงจะชัดเจน ข้อสำคัญที่เน้น คือ บุญไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะได้รับเหมือนกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่คนอื่นยื่นให้ หรือทำให้ เช่น น้ำมนต์ ถ้าไม่มี ความนอบน้อมระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ในขณะนั้นดีใจที่จะได้ลาภ จะได้ยศ ขณะนั้นก็ไม่ใช่บุญ เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า บุญ คือ กุศลจิต

เมื่อกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุเกิดขึ้นและดับไป จะเป็นเหตุให้มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ทั้งในชาตินี้และในชาติหน้าต่อไปที่จะเห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี แต่ข้อสำคัญที่สุด คือ ไม่ควรจะติด เพราะถ้าติดก็เพิ่มอกุศลขึ้น ควรที่จะแยกให้ออกว่า ขณะใดเป็นผลของกรรม และขณะใดเป็นกุศลหรืออกุศลต่อไป เพราะว่าบางคนเกิดมามีความสะดวกสบาย มีความสุขสบายมาก มีฐานะ มีทรัพย์สมบัติ แต่เต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่สว่างมา แต่ว่ามืดไป เพราะว่าไม่ได้ ขัดเกลากิเลส ไม่ว่าจะได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ก็เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจที่เป็นอกุศล

เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดที่จะต้องทราบ คือ บุญคือกุศลจิต ขณะที่ให้ทาน แม้ไม่ใช่การฟังพระสวดมนต์ แต่จิตขณะใดที่มีความโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ต่อผู้อื่น ขณะนั้นก็เป็นบุญ คือ เป็นกุศล

อ. ถ้าอยากจะเข้าใจธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่เคยศึกษา ภาษาบาลี ไม่เคยรู้เรื่อง ถ้าอยากจะฟังและอยากรู้เรื่องของธรรมจริงๆ จะไปฟังเทศน์ที่เป็นภาษาบาลีด้วยก็ไม่ว่าอะไร แต่คนนั้นจำเป็นต้องหาโอกาศไปฟังธรรมที่เป็นภาษาไทย หรือเป็นภาษาที่ตัวเองเข้าใจด้วย

ถ้าไปฟังเทศน์เพราะว่ามีคนชักชวนไป หรืออาจจะไปเพราะคิดว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจจะไม่ชอบเลย หรือว่าจำเป็นต้องไปเพราะเกรงใจเขา แต่เมื่อไปแล้วก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องเป็นอกุศลจิตตลอดเวลา ไม่ใช่นั่งแล้วมีแต่โทสะ ไม่พอใจตลอดเวลา คนที่รู้โทษของอกุศล รู้ว่ากุศลเป็นอย่างไรและมีอานิสงส์มีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน คนนั้นก็คงมีโอกาสที่จะมีกุศลจิตเกิดบ้างตอนที่ไปทำสิ่งที่ไม่อยากทำ ถ้าไปฟังเทศน์ เห็นว่าไม่เสียหาย ไปก็ได้ ก็ยังมีโอกาสที่จะทำบุญในลักษณะที่มี กุศลจิตเกิดได้ แล้วแต่ว่าจะเกิดแบบไหน แต่จะเกิดจากการฟังธรรมและเข้าใจธรรมไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจภาษาบาลี อาจจะนั่งคิดถึงธรรมที่เคยฟังมาแล้วครั้งก่อนก็ได้ เกิดกุศลจิตพิจารณาธรรมที่เคยฟังที่อื่นในเวลาอื่นตอนที่เขาสวดภาษาบาลีก็ได้

สุ. ที่จริงไม่ได้หมายความว่าไม่ให้สวดมนต์ไหว้พระ ที่สวดมนต์ไหว้พระมาแล้วก็เป็นกุศลจิตแต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะว่าขณะที่สวดมนต์ก็มี ความเข้าใจพอสมควรว่า เป็นบทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เพียงแต่ยังไม่สามารถเข้าใจคำที่สวดได้พอที่จะเกิดความซาบซึ้งยิ่งขึ้น แต่ถ้าผู้ใดทราบว่า ควรเข้าใจความหมายของคำสวดมนต์ด้วยในขณะที่สวด และขวนขวายที่จะเข้าใจ นั่นก็จะเป็นกุศลยิ่งขึ้น เพราะว่าขณะที่สวดก็สวดด้วย ความเข้าใจในพระคุณ ไม่ใช่เพียงแต่สวดให้จบๆ ให้เสร็จธุระ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น กุศลก็น้อยนิดเดียว คือ เพียงชั่วขณะที่มีศรัทธาที่จะสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ แต่ ไม่เข้าใจความหมาย

ข้อนี้ก็น่าตอบ ถามว่า ในฐานะที่เป็นทหาร ถ้าจำเป็นต้องฆ่าศัตรู จะมีธรรมข้อใดบ้างที่จะทำให้จิตใจไม่เป็นทุกข์ หรือเป็นทุกข์น้อยที่สุด

อ. บอกว่าจำเป็นต้องฆ่า ก็ขอให้ไม่เก่งพอที่จะสำเร็จ

สุ. มีความจำเป็น เป็นหน้าที่ เพื่อประเทศชาติและเพื่อส่วนรวม เพราะ ถ้ามีแต่คนที่ไม่ดี ก็ทำให้ทุกอย่างของโลกไม่ดี

อ. ขอให้เป็นคนที่รู้เรื่องการเจริญสติปัฏฐานพอที่จะเจริญไปเรื่อยๆ ทุกวันๆ ไม่ว่าตัวเองจะอยู่ที่ไหน ในสถานการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น อาจจะมีโชคดีที่จะเกิดสติปัฏฐาน คือ ความเข้าใจลึกซึ้งในธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปก่อนฆ่า หรือแม้แต่กำลังฆ่า ถ้าเป็นคนที่เจริญสติมั่นคงจริงๆ สติเกิดได้ หลังจากฆ่าเสร็จแล้วสติเกิดก็ได้ ถ้าเป็นคนที่เจริญสติปัฏฐาน ถ้าสติไม่เกิดในวันนั้น ก็เกิดก่อนวันนั้น เกิดหลังวันนั้น ก็ได้ และในที่สุดจะเป็นสาเหตุทำให้ละกิเลสหมดสิ้น ไม่มีวันที่จะฆ่าคนได้ และ ในที่สุดไม่มีวันที่จะต้องเกิดและเป็นทุกข์เลยสักนิดเดียว

สุ. ทหารไม่ได้มีแต่เฉพาะในสมัยนี้ มีก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ครั้งที่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้ก็มีทหาร คือ ต้องมีทหารทุกยุคทุกสมัย แม้ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงธรรม ไม่ว่าจะเป็นแคว้นโกศล หรือแผ่นดินใดก็ตาม ก็ต้องมีทหารที่ทำหน้าที่ของทหาร ซึ่งความจริงหน้าที่ของทหารเป็นหน้าที่ที่เสียสละเพื่อส่วนรวม ทุกคนที่มีความสุขสบาย อดไม่ได้ที่จะระลึกถึงบุญคุณของทหารซึ่งทำให้ผู้ที่ไม่ใช่ทหารได้มีชีวิตที่มีความสุข ความสะดวกสบาย หรือแม้แต่ผู้ที่จะศึกษาธรรม เผยแพร่พระธรรม ที่จะทำได้โดยสะดวกก็เพราะมีทหารเป็น ผู้ที่กระทำหน้าที่ให้พลเมืองของประเทศชาติได้อยู่อย่างเป็นสุข

ถ้าทุกคนคิดถึงหน้าที่ ก็ควรทราบว่า เรื่องของการฆ่าไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งเราจะทำด้วยความโกรธแค้นพยาบาทเป็นการส่วนตัว เพราะฉะนั้น ต้องแยก จิตใจที่โกรธ ทุกคนยังมี เพราะผู้ที่ไม่มีความโกรธคือผู้ที่เป็นพระอนาคามีบุคคล ซึ่งเป็นผู้ที่รู้แจ้ง อริยสัจจธรรมต่อจากพระโสดาบันและพระสกทาคามี จึงจะไม่มีความโกรธ เหลืออีกเพียงขั้นเดียวคือจะเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ทุกคนที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยะ ต้องรู้จักตัวเองว่า ยังมีทั้งโลภ มีทั้งโกรธ มีทั้งหลง เวลาที่อ่านหนังสือพิมพ์ และ มีข่าวซึ่งไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ความโกรธ ความไม่พอใจก็มี และทุกคนที่เกิดมาก็มีหน้าที่ต่อประเทศชาติตามฐานะของ แต่ละบุคคล

สำหรับทุกคนซึ่งไม่ว่าจะมีฐานะการงานอาชีพอย่างไรก็ตาม สามารถเป็นพุทธศาสนิกชนได้ ถึงแม้ทหารก็เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีได้ คือ ศึกษาพระธรรม ให้เข้าใจเพื่อจะได้เจริญกุศล และละความโกรธ ความอาฆาต ความพยาบาท ทุกอย่างที่ทำ ทำเพื่อส่วนรวม เพื่อหน้าที่ ไม่ใช่ทำเพราะส่วนตัว

ถ้าคิดถึงคนที่ฆ่า อย่างโจรผู้ร้ายฆ่าเพื่ออะไร ฆ่าเพื่อประโยชน์ของตนเอง แต่ว่าทหารไม่ได้ทำอย่างนั้น และทหารก็คงไม่คิดจะฆ่าทุกวัน แต่มีการคิดป้องกัน ส่วนการฆ่านั้นต้องเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะกระทำ และที่ทราบก็มีนายทหารหลายท่าน ที่สนใจพระธรรม ฝักใฝ่ในการศึกษาและปฏิบัติธรรม พยายามที่จะเจริญกุศล ทุกประการ ซึ่งท่านเหล่านั้นหลีกเลี่ยงการฆ่า จะไม่ใช้การฆ่าเลย

ถ้ามีทางใดที่จะช่วย แม้แต่ฝ่ายตรงกันข้ามก็จะใช้วิธีอื่น คือ เมตตาบ้าง กรุณาบ้าง และทางอื่นทั้งหมด โดยการฆ่านั้นเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะทำ เป็นสิ่งซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ และไม่ใช่ทำเพื่อตนเอง แต่เมื่อเป็นหน้าที่ที่ต้องทำก็ทำ เพราะว่ายังต้องกระทำหน้าที่อยู่ จนกว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล และนอกจากทหารที่ฆ่า ก็ยังมีชาวประมง มีคนฆ่าสัตว์ มีอะไรๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งก็เป็นไปตามการสะสม และการโน้มเอียงของแต่ละบุคคลซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสะสม ถ้าสะสมธรรมมากขึ้น จิตใจก็จะละเว้นทุจริต จะล่วงทุจริตเพียงเมื่อเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และสำหรับทหารก็ไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อส่วนรวม จนกว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบัน

คำถามข้อต่อไป

ที่พระพุทธเจ้าเคยเปรียบเทียบว่า คนนั้นเปรียบเสมือนบัว ๔ เหล่า คนโง่คงไม่สามารถเข้าใจธรรมได้ หรือเข้าใจได้ก็ไม่ลึกซึ้ง ท่านจะมีวิธีสอนคนเหล่านี้อย่างไร

อ. ไม่ทราบว่า โง่แค่ไหน แต่คิดว่าสอนด้วยตัวอย่างอาจจะได้ผล คือ ตัวเองศึกษา ตัวเองฟัง ตัวเองปฏิบัติตนดีเท่าที่ทำได้ตามที่ศึกษามา ให้เป็นตัวอย่าง ดีๆ สำหรับคนอื่นที่อยากให้รู้เรื่องขึ้น คิดว่าน่าจะได้ผลบ้าง

สุ. เรื่องบัว ๔ เหล่านี้ ไม่ทราบว่าเข้าใจบัว ๔ เหล่าถูกต้องหรือเปล่า เพราะท่านที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรมมักจะเข้าใจว่า เหล่าที่ ๔ คือ ปทปรมะ หมายความถึง คนที่ฟังพระธรรมไม่เข้าใจเลย แต่ตามความจริงจำแนกบุคคลเป็น ๔ คือ บุคคลที่ ๑ อุคฆฏิตัญญูบุคคล ๑ เป็นผู้ที่ฟังพระธรรมเทศนาสั้นๆ ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ทันที บุคคลที่ ๒ วิปัญจิตัญญูบุคคล เป็นผู้ที่เมื่อฟังพระธรรมเพียงพระคาถาสั้นๆ ยังไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ทันที จะต้องทรงอธิบายขยายความ หรือจนจบพระสูตรนั้น บุคคลนั้นจึงรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ บุคคลที่ ๓ เนยยบุคคล เป็นผู้ที่ ฟังมาก ศึกษามาก พิจารณามาก ประพฤติปฏิบัติธรรมมาก แสดงธรรมมาก กล่าวสอนธรรมมาก ค้นคว้าธรรมมาก ทุกสิ่งทุกประการจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ในชาตินั้น ฉะนั้น คำว่า เนยยบุคคล จึงหมายความถึงผู้ที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลได้ในชาตินั้น

สำหรับบุคคลที่ ๔ คือ ปทปรมะ เป็นผู้ที่แม้จะได้ฟังพระธรรมสักเท่าไร พิจารณาสักเท่าไร สอบถามสักเท่าไร ค้นคว้าศึกษาสักเท่าไร ปฏิบัติสักเท่าไร ในชาตินั้นก็ไม่บรรลุ

ต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วย เพื่อจะได้ทราบว่า ใครบ้างเป็นปทปรมะในห้องนี้ ไม่ใช่หมายความว่า ในห้องนี้เป็นเนยยบุคคลกันหมด แต่หมายความว่า ใครก็ตาม ที่ได้ฟังพระธรรมแล้วยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาตินี้ ก็เป็นปทปรมะทั้งนั้น

ข้อต่อไป เป็นเรื่องที่ยาวคือถามว่า สัมมาทิฏฐิหมายถึงอย่างไร มีอะไรบ้าง เพราะตามที่พระราชวรมุนีกล่าวว่า ถ้ามีข้อนี้แล้วอีก ๗ ข้อจะตามมาเอง

สัมมาทิฏฐิหมายถึงอย่างไร

ตรงๆ สัมมา คือ ถูก ทิฏฐิ คือ ความเห็น เพราะฉะนั้น สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก ขณะไหนเห็นถูก ขณะไหนเห็นผิด

ความเห็นผิดมีหลายระดับ ธรรมทุกอย่างมีหลายระดับ ปัญญาก็มีหลายระดับ อวิชชา ความไม่รู้ ก็มีหลายระดับ ความเห็นผิดก็มีหลายระดับ ความเห็นถูกก็ต้องมีหลายระดับด้วย เช่น ขณะนี้ใครมีความเห็นผิด อาจจะตอบไม่ได้ แต่ผู้ใดก็ตามที่ยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล ผู้นั้นยังไม่ได้ดับความเห็นผิดเป็นสมุจเฉท

นี่แสดงให้เห็นว่า ต้องมีความเห็นผิดหลายขั้น ขณะนี้ที่กำลังเห็นสิ่งต่างๆ ในห้องนี้ว่า มีคนหลายคน มีนาฬิกา มีดอกไม้ มีวัตถุสิ่งต่างๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นคนจริงๆ ตั้งแต่เห็นมานี่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเสื่อมสลายแตกสลายไปเลย ความเห็นอย่างนี้ถูกหรือผิด

เห็นไหม นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า มีความเห็นผิดแม้แต่เพียงการไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงขณะใด ขณะนั้นก็เป็นความเห็นผิด ชนิดหนึ่ง แต่ไม่ร้ายแรงเท่ากับความเห็นผิดว่า บุญไม่มี บาปไม่มี หรือผลของบุญไม่มี ผลของบาปไม่มี เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดก็มีหลายขั้น

ตามที่กล่าวถึงเรื่องของความเห็นถูกที่นี่ ซึ่งถ้ามีความเห็นถูกขั้นนี้แล้ว ความเห็นถูกขั้นอื่นอีก ๗ ข้อจะตามมาเอง คือ หมายความถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นหนทางดับกิเลส ซึ่งเป็นเรื่องยาว

เปิด  250
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565