แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1716

ที่โรงเรียนนายทหารชั้นผู้บังคับฝูง ทหารอากาศ ดอนเมือง

วันพุธที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๐


อ. ถ้าเห็นอันตรายของการฆ่าสัตว์ ซึ่งทุกครั้งที่ฆ่าสัตว์ก็มีสิทธิ์ตกนรก ทุกครั้ง ไม่ต้องเกิดเป็นยุง ยุงยังมีความสุขมากกว่าสัตว์นรกหลายเท่า ฆ่ายุงเกิดเป็นสัตว์นรกได้ เพราะฉะนั้น ในชาตินี้สร้างเหตุที่จะทำให้เกิดในนรกกี่ครั้งแล้ว

นอกจากนั้น ทุกครั้งที่ฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย จิตใจเป็นอย่างไร ก็หยาบกระด้าง ไม่เห็นใจ ไม่สนใจสิ่งที่มีชีวิต ไม่ใช่จิตมีเมตตา ไม่ใช่จิตอ่อนโยน ไม่ใช่จิตที่งาม แต่หยาบกระด้าง อาจจะไม่หยาบมาก แต่หยาบ เพราะฉะนั้น เป็นการปฏิบัติธรรม ที่มีประโยชน์มากๆ ที่จะเห็นใจมด ยุง แมลงสาป เป็นต้น

ศีลข้อที่ ๒ การลักทรัพย์ แม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่ควร ไม่ดี ไม่งาม น่าเกลียด น่าอาย

ศีลข้อที่ ๓ ไปยุ่งกับคนที่เป็นคนของคนอื่น ก็น่าอายเหมือนกัน น่าอายมากๆ ที่จะไปทำลายความสุขของผู้อื่น เพราะยุ่งกับคนหนึ่งคนใดของผู้นั้น

ศีลข้อที่ ๔ ก่อนที่พระโพธิสัตว์บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า ในศีล ๕ ข้อ พระโพธิสัตว์เคยล่วง ๔ ข้อ ซึ่งอาจจะหลายครั้ง แต่ข้อที่ ๔ ไม่เคย ไม่เคยโกหก เพราะว่าอยากบรรลุ อยากรู้ความจริง ข้อนี้สำคัญมากๆ สำหรับคนที่จะเจริญปัญญา ต้องนับถือความจริง ต้องหาทางไม่พูดอะไรออกมาที่ตั้งใจจะให้คนเข้าใจผิด คือ พูดสิ่งที่ไม่เป็นจริง มีโอกาสบ่อยๆ ที่จะรักษาศีลข้อนี้ได้ แต่หลายคนคิดว่า หลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็น แต่จำเป็นเพราะอะไร ก็เพราะตนเองทนไม่ได้ที่จะได้รับผล ที่คิดว่าจะเกิดขึ้นถ้าหากไม่โกหก คล้ายๆ กับว่า ขี้ขลาด

ศีลข้อที่ ๕ พูดไปแล้ว

นี่เรื่องการรักษาศีล

บุญกิริยาวัตถุประการต่อไป คือ ช่วยเหลือคนอื่นเมื่อมีโอกาสที่จะช่วยเหลือ และคงมีโอกาสมาก ถ้าสังเกตและสนใจ

ประการต่อไป นับถือเคารพในบุคคลที่ควรเคารพ

และต่อไปจัดเป็นภาวนา คือ การแสดงธรรม สอนธรรม อธิบายธรรมให้คนอื่นเข้าใจว่าความจริงเป็นอย่างไร

การฟังธรรม พยายามเข้าใจ เป็นบุญ เป็นการปฏิบัติธรรมอีกชนิดหนึ่ง

และเจริญความสงบ คือ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องพูดอะไร แต่พิจารณาจิตใจว่าจิตใจเป็นอย่างไร ให้สงบขึ้นๆ และเจริญปัญญาที่รู้ความจริงจนกระทั่งละกิเลสได้

สุ. เวลาคงจะหมดแล้ว มีคำถามข้อสุดท้าย ขออ่านให้ฟัง

ผมขอเรียนถามว่า (ขอความเห็น) หากอาจารย์มีนโยบายและจุดมุ่งหมาย หรือ แนวความคิดที่จะเผยแพร่ธรรมให้กับบุคคลที่อยู่ในระดับผู้นำของประเทศ เช่นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้บังคับบัญชาระดับสูงๆ ให้ประพฤติและปฏิบัติธรรม หรือมีจิตใจเป็นธรรมแล้ว โดยให้ท่านทั้งหลายกระทำตนเป็นตัวอย่างแล้ว ผมคิดว่าการเผยแพร่ธรรมคนชั้นระดับกลางๆ จะไม่เป็นการยากเลย เพราะถ้าผู้ใหญ่ทำเป็นตัวอย่างแล้ว การที่จะให้ผู้น้อยทำตามนั้นจะไม่เป็นการยากเลย ท่านอาจารย์มีความคิดเห็นว่าอย่างไร

อ. คิดว่า คนระดับกลางต้องเป็นผู้ใหญ่สำหรับคนอื่นบ้าง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องพูดถึงคนอื่นว่าจะสอนให้เขาเป็นอย่างไร ถ้าหากคนในห้องนี้ถือว่าเราเป็นคนระดับกลาง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้เป็นผู้ใหญ่ในสายตาของบางคน เพราะฉะนั้น เราเป็นผู้ใหญ่ด้วย ไม่ใช่ระดับกลางอย่างเดียว ก็ให้ผู้ใหญ่ในห้องนี้เป็นตัวอย่างสำหรับผู้น้อยที่นับถือในผู้ใหญ่ในห้องนี้

สุ. ประการสำคัญคงจะไม่ลืมว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น แต่ละท่านควรที่จะหวังพึ่งตัวเอง ไม่ใช่พึ่งบุคคลอื่น และสำหรับนายกรัฐมนตรีก็ดี รัฐมนตรีก็ดี ทุกท่านมีสิทธิ์เป็น ไม่ใช่ไม่มีสิทธิ์ ไม่ใช่ในวันนี้ก็อาจจะเป็นในวันหนึ่งข้างหน้า เพราะฉะนั้น ถ้าทุกท่านพึ่งตัวของท่านเอง และท่านเห็นประโยชน์ของ พระธรรม เมื่อไรที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ท่านก็จะเป็นผู้นำที่ดี แต่ในขณะที่ท่านยังไม่ใช่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี และหวังให้ท่านผู้อื่นมีความสนใจ ก็ควรที่จะทราบว่า เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

สนทนาธรรมที่โรงเรียนนายเรืออากาศ

วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๐

สุ. ข้อสำคัญที่สุด หนทางข้อปฏิบัติที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้นคืออย่างไร คงไม่ใช่หมายความว่าให้นั่ง โดยที่ไม่รู้ว่านั่งทำไม หรือว่าให้เดิน กี่ก้าวๆ โดยไม่รู้ว่าจะเกิดปัญญาได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น ปฏิบัติในที่นี้หมายความถึงการอบรมเจริญปัญญา รู้อะไร ถ้าเป็นปัญญาต้องเป็นความเห็นถูก ความรู้ถูก ตรงกันข้ามกับอวิชชา ขณะนี้ผู้ที่ยัง ไม่มีปัญญาก็ต้องยอมรับว่า ยังมีอวิชชา หรือกำลังมีอวิชชาอยู่ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้อวิชชาไม่รู้อะไรที่กำลังมี และธรรมฝ่ายตรงข้ามคือปัญญานั้นต้องรู้อะไร ซึ่งอวิชชาไม่รู้

นี่เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจก่อนที่จะปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าใครชวนปฏิบัติก็ปฏิบัติโดย ไม่เข้าใจ นั่นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ต้องเริ่มจากการฟังให้เข้าใจในข้อปฏิบัติก่อนว่า ข้อปฏิบัตินั้นคืออย่างไร

ถ้าทราบแล้วว่า ข้อปฏิบัติคือการอบรมเจริญปัญญา แต่ปัญญารู้อะไร นี่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ จึงจะปฏิบัติได้ถูกต้อง และต้องเป็นปัญญาของผู้ปฏิบัติเองด้วย จึงจะสามารถชี้แจงให้บุคคลอื่นได้เข้าใจได้พิจารณาว่า ปัญญารู้อย่างนี้ใช่ไหม หรือว่า รู้อย่างอื่น

เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่กำลังเห็น ซึ่งทุกคนที่เกิดมาแล้วตลอดชีวิตตั้งแต่เกิด จนตายจะไม่พ้นจากการเห็น เมื่อวานนี้ก็เห็น วันนี้ก็เห็น พรุ่งนี้ก็เห็นอีกตลอดไป จนตาย มีการได้ยิน เมื่อวานนี้ก็ได้ยิน วันนี้ก็ได้ยิน พรุ่งนี้ก็ได้ยินอีก มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึก เพียง ๖ ทาง และสุขทุกข์มาจากไหน คิดดู ก็ต้องมาจากเห็น ต้องมาจากได้ยินนั่นเอง และคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ในขณะนั้นเป็นอวิชชา หรือว่าเป็นปัญญา ชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายและก็เห็นไป ได้ยินไป คิดนึกไป สุขไป ทุกข์ไป เป็นอวิชชาหรือว่าเป็นปัญญา

เพราะฉะนั้น ตอบได้ใช่ไหมว่า เป็นอะไร อวิชชาหรือปัญญา กำลังเห็นเดี๋ยวนี้

ถ. เป็นการปฏิบัติ

สุ. ยังไม่ปฏิบัติ หมายความว่ายังปฏิบัติไม่ได้ ถ้าปัญญายังไม่เข้าใจว่า ปัญญารู้อะไร

ถ. ข้อนี้ก็ยอมรับ .... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. มีธรรมชาติอยู่ ๒ อย่าง และทางที่โลกจะปรากฏมี ๖ ทาง คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กำลังเห็น มีอวิชชาหรือว่ามีปัญญา

ถ. มีอวิชชา

สุ. ขออนุโมทนา หมายความว่าเป็นผู้ที่รู้จริงๆ แล้วว่า ขณะนี้เห็น ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้เป็นอวิชชา ยังไม่ใช่วิชชา เพราะยังไม่รู้ว่าเห็น ในขณะนี้คืออะไร และสิ่งที่เห็นคืออะไร และปัญญาต้องรู้อะไรจึงจะชื่อว่าปัญญา ซึ่งหมายความว่าจะต้องปฏิบัติด้วยการอบรมตั้งแต่ขั้นการฟัง นี่คือการปฏิบัติ

กำลังฟังขณะนี้และเริ่มเข้าใจขึ้น นั่นคือการอบรมที่จะถึงการระลึกได้ ศึกษา พิจารณาจนกระทั่งประจักษ์แจ้งว่า พระธรรมทั้ง ๓ ปิฎกที่ทรงแสดงไว้เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในชีวิตประจำวันทุกขณะ ทุกภพ ทุกชาติ แต่ขณะใดที่ยังไม่รู้จักสภาพธรรมที่กำลังเห็นและสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นต้องเป็นอวิชชา และถ้ายังไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไรและการเห็นเป็นอะไร ก็อบรมเจริญปัญญาไม่ได้

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องพิธีกรรม และไม่ใช่เรื่องคำสั่งที่ว่า ให้นั่งหลับตา หรือว่านั่งท่านั้นท่านี้ เดินท่านั้นท่านี้ เพราะนั่นไม่ใช่เหตุที่จะให้เกิดปัญญา แต่เหตุ ที่จะให้เกิดปัญญาต้องเกิดจากการฟังพระธรรมจนเข้าใจก่อน จึงจะเป็นสังขารขันธ์ นี่ใช้ภาษาพระ เพราะว่าขันธ์ ๕ ทุกคนคงรู้จักดี ถ้าเป็นชาวพุทธก็คงจะชินกับคำว่า ขันธ์ ๕ ซึ่งได้แก่ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑

ฟังดูเหมือนใครที่พูดได้ก็คงเข้าใจ แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ถ้าไม่ได้ศึกษาจริงๆ แม้แต่รูปขันธ์คืออะไรก็บอกไม่ได้ อาจจะเดาได้ว่าคือรูปที่มองเห็น หนังสือเป็นรูป ร่างกายเป็นรูป แต่นั่นยังไม่พอ และเวทนาขันธ์คืออะไร ก็ชักจะ ไม่ทราบแล้ว เพราะเคยคิดว่า เวทนา คือ สงสารมากๆ จับจิตจับใจ แต่นั่นไม่ใช่เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ก็ยิ่งไม่ทราบใหญ่ว่า สัญญาคืออะไร สัญญาที่เข้าใจกัน ก็เป็นสัญญาที่ต้องเซ็นชื่อ สัญญาอะไรต่างๆ แต่นี่เป็นสัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจอะไรเลย อย่าปฏิบัติ เพราะว่าปฏิบัติด้วยความ ไม่เข้าใจ ต้องผิดแน่ๆ

ธรรมต้องเริ่มเจริญเป็นขั้นๆ ถ้าจะเจริญธรรมขั้นสูง คือ ขั้นปฏิบัติธรรม โดยที่ยังไม่เข้าใจอะไรเลย ปฏิบัติไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องฟังก่อนจนกระทั่งรู้ว่า ปัญญารู้อะไร และจะบังคับหรือจะไปปฏิบัติก็ไม่ได้ เพราะแม้ธรรมซึ่งเป็นการเจริญ ข้อปฏิบัติ คือ มรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นอนัตตาด้วย

ถ. ขอบพระคุณ

อ. ที่ถามถึงศีล สมาธิ และปัญญา ไม่ทราบว่าจะให้ตอบด้วยหรือเปล่า จะทำอะไรก่อน จะทำอะไรหลัง จะให้ตอบด้วยหรือเปล่า ผมคิดว่า วิธีหนึ่งที่จะให้เข้าใจเรื่องว่าอะไรก่อน อะไรหลัง คือ รู้ประวัติของบางคนในครั้งพุทธกาลที่บรรลุเพราะปฏิบัติถูก และบรรลุเป็นพระอรหันต์

ผมจำได้มีเรื่องของคนๆ หนึ่งเป็นเสนาบดี ท่านเมาเหล้ามาก กำลังดูผู้หญิงสวยๆ ฟ้อนรำ ผู้หญิงคนนั้นอดอาหาร ๗ วัน จึงฟ้อนรำสวยๆ งามๆ ได้ เสนาบดีกำลังเพลิดเพลินดูผู้หญิงฟ้อนรำ เมาเหล้าด้วย ฉะนั้น คิดว่าคงไม่มีสมาธิเท่าไร ศีลก็จางไปหน่อย ศีลข้อที่ ๕ อย่างน้อย และก็มีสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงคนนั้นต้องตาย ต่อหน้าของเสนาบดี ซึ่งเสนาบดีนั้นเห็นผู้หญิงนั้นตายแล้วก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ไม่ทราบว่าอะไรมาก่อน อะไรมาหลัง นอกจากว่าเสนาบดีคนนั้นเคยฟังธรรมใน ชาติก่อนๆ ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจ ซึ่งศีลของท่านในชาติก่อนๆ ผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่ ฟังแล้วเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร จนกระทั่งสามารถบรรลุทุกขั้น ตั้งแต่พระโสดาบัน จนเป็นพระอรหันต์ติดต่อกันเร็วมาก เพราะว่าเหตุปัจจัยครบแล้ว

คิดว่าอะไรก่อนอะไรหลัง ไม่สำคัญ เพราะถ้าฟังและเห็นประโยชน์ของคำสอนแล้วบ้าง ก็แสดงว่าไม่ใช่คนที่ไม่รู้เรื่องของศีล เพราะคนที่ไม่รู้เรื่องของศีล คงไม่สนใจ ที่จะฟัง คงไม่เห็นประโยชน์ของคำพูด คำสอน แต่ถ้าจะให้ศีลไม่ผิดเลยทั้ง ๕ ข้อ ก็ต้องเป็นพระโสดาบัน คนอื่นทำไม่ได้ คนอื่นอาจจะไม่ค่อยผิด แต่ยังมีสิทธิ์ที่จะผิดถ้ายังไม่บรรลุ

เพราะฉะนั้น คิดว่าไปพร้อมกัน คือ กำลังฟังและกำลังเข้าใจก็มีสมาธิเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าไม่มี มีนิดหน่อย แต่ถ้าจะเจริญสมาธิ มุ่งถึงสมาธิ ไม่มุ่งถึงปัญญา ก็น่าเสียดาย เพราะว่าผลที่จะเกิดขึ้น คือ เป็นคนสงบที่จะต้องเกิดใหม่และ ฝึกความสงบในชาติหนึ่งๆ ต่อไปเรื่อยๆ เพราะว่าไม่มีปัญญาที่จะละสาเหตุที่ทำให้มีกิเลสที่จะต้องให้สงบ ใช่ไหม มุ่งถึงความสงบ สงบได้ แต่ยังไม่มีปัญญาพอที่จะ ละกิเลส เกิดใหม่ก็ต้องฝึกใหม่เรื่อยๆ ในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีที่สิ้นสุด

สุ. ขอต่อเรื่องของศีล โดยมากทุกคนจะคิดถึงศีลที่รู้จัก คือ ศีล ๕ ใช่ไหม แต่ว่าศีลในพระพุทธศาสนามีละเอียดยิ่งกว่านั้นด้วย เพราะว่าศีล ๕ เป็นศีลที่ละเว้นการประพฤติผิดทางกาย ทางวาจาเท่านั้น ไม่ได้เป็นศีลที่ละเอียดจนกระทั่งรู้แม้ ขณะจิตซึ่งเป็นเหตุที่จะให้ล่วงศีล เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นอินทริยสังวรศีล คือ การสังวรตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นผู้ที่มีสติละเอียดสามารถรู้สภาพจิตของตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถรู้ได้ รู้จิตของคนอื่นเพียงแต่เดา แต่เวลาที่ตัวเองโกรธ ใครรู้ แม้ว่า ยังไม่ได้แสดงออกทางกาย ทางวาจา ผู้ที่โกรธก็รู้แล้ว ใช่ไหม ถึงแม้จะเป็นเพียงความขุ่นใจนิดเดียวเกิดขึ้น บุคคลนั้นก็รู้แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นยังไม่ถึงขั้นที่จะทุบตี หรือทำร้ายบุคคลอื่นซึ่งเป็นการล่วงศีลทางกาย แต่สำหรับผู้ที่มีสติ ผู้ที่อบรม เจริญปัญญา สามารถรู้สภาพของจิตที่เป็นอกุศลได้

ถ้าจะกล่าวว่า ศีลใดที่ใช้ในการอบรมเจริญปัญญา ก็ต้องไม่ใช่ศีล ๕ ซึ่งพระโสดาบันเท่านั้นที่จะเป็นผู้ที่ไม่ล่วงเลย แต่บุคคลอื่นไม่ใช่ว่าจะไม่มีศีล ๕ มี แต่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะว่ายังมีกิเลสที่ทำให้วันหนึ่งวันใดอาจจะล่วงศีลหนึ่งศีลใด ใน ๕ ข้อได้ เนื่องจากไม่ใช่เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาอย่างละเอียดพอที่จะรู้ถึงจิตก่อนที่จะกระทำการล่วงศีล

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดขึ้นๆ และปัญญาสามารถที่จะละเว้นได้ละเอียดกว่า และศีลในการอบรมเจริญปัญญาเป็นอินทริยสังวรศีล ไม่ใช่เพียงขั้นศีล ๕ เท่านั้น

สนทนาธรรมที่กองสื่อสาร กองบินทหารอากาศ ๒ จังหวัดลพบุรี

วันพุธที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๐

สุ. คำถามข้อต่อไป ปัจจุบันนี้ทำไมพระจึงแข่งขันกันสร้างโบสถ์หรือพระองค์ใหญ่ให้สิ้นเปลืองเงินทองเกินกว่าเหตุ น่าจะสร้างโบสถ์ให้เหมาะสมกับจำนวนพระหรือเท่าที่เพียงพอต่อการปฏิบัติธรรม

อัลลัน .... (ฟังไม่ชัด)

สุ. คุณอัลลันก็ได้ตอบปัญหานี้แล้ว รวมถึงปัญหาที่ว่าการถวายเงินแก่พระ ซึ่งความจริงถ้าจะพิจารณาข้อนี้ ก็เป็นจริงอย่างที่ว่า คือ ถ้าคฤหัสถ์ไม่บริจาคเงินเพื่อที่จะสร้างโบสถ์ พระท่านก็สร้างไม่ได้แน่ ใช่ไหม

เพราะฉะนั้น ที่ว่าทำไมพระแข่งขันกันสร้างโบสถ์หรือพระองค์ใหญ่ให้สิ้นเปลืองเงินทองเกินกว่าเหตุนั้น ไม่ใช่ความผิดของพระภิกษุ แต่เป็นความผิดของคฤหัสถ์ ได้ไหม ที่บริจาคเงินให้ท่านสร้างอย่างนั้น

ถ้าคฤหัสถ์ไม่ต้องการให้ท่านสร้างอย่างนั้น ท่านก็ย่อมไม่มีปัจจัยที่จะสร้าง เพราะฉะนั้น ทุกคนที่เข้าใจในเหตุผล ในการศึกษาพระธรรมวินัยและเห็นว่า สิ่งใดควร ก็จะประพฤติได้เหมาะสม คือ ถ้าท่านเองไม่ต้องการที่จะมีโบสถ์หรือพระองค์ใหญ่ให้สิ้นเปลืองเงินทอง ท่านก็ไม่ต้องบริจาคเงินเพื่อสร้างโบสถ์หรือ พระองค์ใหญ่ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของคฤหัสถ์มากกว่าเรื่องของบรรพชิต เพราะว่าพระภิกษุไม่สามารถทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ถ้าขาดปัจจัยจากคฤหัสถ์

เปิด  257
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565