แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1719
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๐
สุ. ขอยกตัวอย่างทางตาในขณะนี้ เพื่อที่จะได้รู้ว่า ถ้าสติจะระลึก จะระลึกอย่างไร ถ้าระลึกลักษณะของนามธรรมก็รู้ว่า ขณะที่กำลังเห็น เป็นอาการรู้ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นสีสันที่กำลังปรากฏ ซึ่งลักษณะของอาการรู้ สภาพรู้ ธาตุรู้ ไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ต้องน้อมไปที่จะเข้าใจจริงๆ ว่า อาการรู้นี้ มี แต่ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสีสัน ซึ่งขณะนั้นเริ่มน้อมไปที่จะรู้ว่า ธาตุรู้ ลักษณะรู้ คือ ขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้เอง
นี่คือการระลึกลักษณะของนามธรรมทางตา
ถ้าจะระลึกลักษณะของรูปธรรมทางตาก็รู้ว่า ในขณะนี้ที่เคยเข้าใจว่าเป็นญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง มิตรสหาย สิ่งหนึ่งสิ่งใด แท้ที่จริงแล้วขณะนั้นคิด ถ้าหยุดคิด จะมีแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ไม่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏได้ทางตาเท่านั้น และถ้าสติปัฏฐานระลึกชำนาญขึ้นจะรู้ว่า ความคิด สลับกับปรมัตถธรรมที่ปรากฏมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางตา เห็นนิดเดียว แต่คิดเรื่องราวของสิ่งที่เห็นมาก เป็นคนหนึ่งคนใด กำลังทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือกำลังคิดเรื่องราวของคนนั้นคนนี้ ซึ่งสิ่งที่กำลังปรากฏทางตานั้นสั้นนิดเดียว ปรากฏและ ดับไปแล้ว แต่ความคิดนึกสืบต่อเป็นเรื่องราวที่ผสมกับเสียงทางหูซึ่งดับไปแล้วอย่างรวดเร็ว ทางใจก็คิดนึกเรื่องของสิ่งที่ได้ยินทางหู เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐานจริงๆ สามารถรู้โลกของสมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะได้ว่า ในวันหนึ่งๆ ปรมัตถธรรมปรากฏมาก หรือว่าคิดนึกมาก
ถ. คิดนึกมาก
สุ. แต่ระหว่างที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่รู้เลยว่ากำลังอยู่ในโลกของความ คิดนึกทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมเล็กน้อยและสั้น ส่วนความคิดไม่มีสาระ เพราะว่าเรื่องราวต่างๆ ไม่ใช่สิ่งที่มีจริง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่สิ่งที่มีจริงก็คิดได้มากมาย เหมือนกับวาดภาพต่างๆ นานาและทำให้เกิดสุขทุกข์มากมาย โดยที่เมินต่อ ปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งสติควรจะระลึกและรู้จริงๆ ว่า ไม่มีอะไรจริงเท่ากับปรมัตถธรรม ความคิดเรื่องราวทั้งหลายทั้งหมดไม่เป็นสาระจริงๆ เท่ากับปรมัตถธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏ
นี่คือการเริ่มรู้ลักษณะของนามธรรม เพราะฉะนั้น ต้องรู้ทั่ว ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่การที่วิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ จะเกิด ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า คนนี้ที่นามรูปปริจเฉทญาณเกิดได้เคยพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมพร้อมกับสติปัฏฐานในชาติก่อนๆ มามากน้อยเท่าไร เพราะว่าเพียงชาติเดียว เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีปัจจัยทำให้นามรูปปริจเฉทญาณเกิด
ถ้าศึกษาอดีตชาติของพระอริยสาวกทั้งหลายจะพบว่า ท่านเคยได้รับฟัง พระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ หลายพระองค์ และ เป็นพหูสูต พร้อมกันนั้นท่านต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานในชาติก่อนๆ ด้วย สะสมมา เพราะฉะนั้น เมื่อสติของท่านเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และวิปัสสนาญาณเกิด ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีนามธรรมใดปรากฏ รูปธรรมใดปรากฏ ไม่มีการที่จะตระเตรียมหรือเจาะจง เพราะไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า ขณะต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น
ขณะต่อไปของเดี๋ยวนี้ ไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฉันใด เมื่อขณะต่อไปเป็นวิปัสสนาญาณ หรือขณะนี้เป็นวิปัสสนาญาณ ก็ไม่รู้ว่านามอะไรรูปอะไรต่อไป ที่จะปรากฏกับวิปัสสนาญาณ แต่ในช่วงระยะนั้นเป็นความสมบูรณ์ของปัญญาพร้อมกับสติสัมปชัญญะที่มีปัจจัยแทงตลอด คือ สภาพธรรมจะปรากฏชัดกับปัญญา ในขณะนั้นทางมโนทวาร ซึ่งต้องผ่านทางปัญจทวารแต่ละทวารตามปกติด้วย เพราะถ้าเสียงจะปรากฏทางมโนทวาร ขณะนั้นจะไม่มีโสตทวารวิถีจิตไม่ได้ เพราะว่าต้องมีจิตที่กำลังได้ยินเสียง แต่ในขณะนั้นไม่มีตัวตนเลย มีแต่ธาตุรู้เท่านั้น ที่ปรากฏทางมโนทวาร และกำลังรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ นามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง ทีละอย่าง ทีละประเภท
ถ. ธรรมดาแล้วเราเห็นเดี๋ยวนี้ จักขุวิญญาณเห็นแท้ๆ แต่เราก็คิดว่า เป็นตัวเราเห็น และคิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ ซึ่งไม่ใช่จักขุวิญญาณคิดนึกถึงสัณฐาน ต้องประจักษ์ก่อนว่า ในขณะที่คิดนึกถึงสัณฐาน ไม่ใช่จักขุวิญญาณที่เห็น แยกขาดจากกันก่อนจึงจะเข้าใจได้ว่า บัญญัติ จริงๆ แล้วไม่มี เพราะว่าปรมัตถธรรมปรากฏ บัญญัติก็หายไปทันที ขณะนั้นโลกทางอื่นไม่มี ลักษณะของสติปัฏฐานระลึกตรง เมื่อระลึกตรงแล้วบัญญัติก็ไม่มี ปัญญาต้องเกิดรู้แต่ละขั้นอย่างนี้ก่อน ใช่ไหม
สุ. สำหรับนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะของ สภาพธรรมทางมโนทวารโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะขณะนั้นไม่มีเราที่กำลังรู้ แต่เป็นธาตุรู้ที่ปรากฏ และรู้สิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นนามธรรมใดหรือรูปธรรมใด แต่ไม่มีเราที่กำลังรู้
ถ. เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่า ธาตุรู้เป็นอย่างไร และเรารู้เป็นอย่างไร และประจักษ์ความแตกต่างกันว่า ธาตุรู้ในลักษณะที่ไม่มีเรารู้ ซึ่งเดี๋ยวนี้มีเรารู้ บัญญัติขณะนั้นเกิดหรือเปล่า
สุ. บัญญัติเกิดไม่ได้ บัญญัติไม่มีทางเกิดเลย เพราะว่าบัญญัติ ไม่ใช่สภาพธรรม แต่ขณะนั้นมีจิตที่คิดได้ เพราะว่านามรูปปริจเฉทญาณเป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรม ขณะที่คิดเป็นนามธรรม ชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ในนามรูปปริจเฉทญาณ นอกจากลักษณะของนามธรรม แต่ละลักษณะ และรูปธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏ ไม่ใช่ว่าทั้งหมดทั้งรูป ๒๘ หรือจิตกี่ประเภท เจตสิกเท่านั้นเท่านี้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นนามธรรมใดจะปรากฏ กับบุคคลใด และรูปธรรมใดจะปรากฏกับบุคคลใด ในขณะนั้นความคิดนึกมีได้ เพราะว่าความคิดนึกก็เป็นนามธรรมด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นสำหรับ นามรูปปริจเฉทญาณไม่มีความสงสัยเลยว่า ลักษณะสภาพที่คิดเป็นสภาพรู้ที่กำลังคิด
ถ. และวิปัสสนาญาณต้องรู้สภาพรู้ และบัญญัติก็ยังต้องเกิด
สุ. บัญญัติเกิดไม่ได้
ถ. จิตที่รู้บัญญัติ
สุ. ใช้คำว่า จิตคิด ดีกว่า
ถ. จิตคิด ก็ยังต้องคิดอยู่
สุ. ห้ามคิดไม่ได้
ถ. แต่สติปัฏฐานต้องระลึกลักษณะของจิตที่คิดด้วยหรือเปล่า ในขณะที่รู้สภาพของนามรูปแล้ว
สุ. ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่ขั้นพิจารณา ต้องแยกจากกันว่า ถ้าเป็น ขั้นสติปัฏฐาน สติระลึกและปัญญาก็ศึกษา เพราะว่ายังไม่รู้จึงน้อมไปสังเกตพิจารณา น้อมไป ระลึกไป พิจารณาไป และค่อยๆ ชินกับลักษณะที่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ แต่ยังไม่ใช่ขั้นประจักษ์
เมื่อเป็นขั้นประจักษ์ที่เป็นวิปัสสนาญาณ ก็พ้นจากขั้นที่จะต้องคิดเรื่องที่จะต้องมาสังเกตว่า นี่เป็นนาม หรือนั่นเป็นรูป แต่ว่าความคิดเกิดได้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะคิดอะไร ก็เป็นแต่เพียงธาตุที่กำลังคิด ไม่ใช่เราที่คิด
เพราะฉะนั้น บางท่านจึงเข้าใจคำว่า นามรูปปริจเฉทญาณก็ดี ปัจจยปริคคหญาณก็ดี สัมมสนญาณก็ดี เมื่อเป็นตรุณวิปัสสนาก็เข้าใจว่าเป็นจินตาญาณ แต่ความจริงไม่ได้หมายความว่าเป็นปัญญาที่ไปศึกษาจากครูบาอาจารย์จนทราบว่านามธรรมเป็นธาตุรู้ รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ ก็เข้าใจว่าขณะนั้นได้นามรูปปริจเฉทญาณตามที่พระคุณเจ้าจากจังหวัดปราจีนบุรีเขียนมา ไม่ใช่อย่างนั้น แต่หมายความว่า แม้ในขณะที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ก็มีนามธรรมที่คิดเกิดได้ แต่ไม่ใช่เราที่คิด เป็นธาตุรู้ที่กำลังคิด
ถ. ปัญญาต้องรู้ด้วยหรือเปล่า
สุ. ขณะนั้นเป็นปัญญาตลอด ที่ไม่ต้องพิจารณาเลย เพราะว่าเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น เมื่อปรากฏให้เห็น ก็มีหน้าที่เห็นชัดเท่านั้น
ถ. จริงๆ แล้วที่เห็นเป็นคน เพราะว่ามโนทวารคิดถึงคน เมื่อสติปัฏฐานเกิดและรู้ลักษณะของรูปธรรมนามธรรม สติปัฏฐานต้องระลึกรู้ถึงลักษณะของจิตที่คิดถึงคนด้วยหรือเปล่า
สุ. ขณะที่กำลังรู้ว่าเป็นคน เป็นอะไร
ถ. ขณะที่รู้ว่าเป็นคน ก็ต้องเป็นจิตที่คิด
สุ. ต้องเป็นนามธรรม ไม่ใช่เราที่รู้
ถ. ไม่ใช่เราที่รู้ แต่ปัญญาต้องรู้ว่า เป็นจิตที่รู้ ไม่ใช่เราที่รู้ ใช่ไหม
สุ. แน่นอน ขณะที่กำลังรู้ว่าอะไร ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง และก็สั้นลงสำหรับผู้ที่สติปัฏฐานเกิดบ่อยๆ เพราะว่าจะระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมเพิ่มขึ้น
ถ. ปัญญาไม่ต้องแทงตลอดหมดได้ไหม ถ้ารู้แต่ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมของนามธรรมรูปธรรม ไม่ต้องแทงตลอดถึงจิตที่คิดนึกด้วยได้ไหม ในขณะนั้นจะถือว่าเป็นวิปัสสนาญาณได้ไหม
สุ. วิปัสสนาญาณ ไม่ต้องพิจารณา ไม่ต้องสังเกต
ถ. หมายถึงที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าเป็นรูปธรรมนามธรรม เป็นไปได้ไหม ที่ไม่ต้องประจักษ์ลักษณะของนามที่คิดนึกด้วย
สุ. จะห้ามความคิดได้ไหม
ถ. ห้ามไม่ได้ แต่ไม่มนสิการ ขณะนั้นปัญญาไม่ได้ระลึก
สุ. ถ้าคิดแล้วจะไม่รู้หรือ ถ้าสภาพคิดเกิดขึ้นในขณะนั้น วิปัสสนาญาณ จะไม่รู้หรือว่าในขณะนั้นเป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งที่คิด
ถ. เข้าใจแล้ว คือ ปัญญาสมบูรณ์แล้วต้องรู้หมด
สุ. อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาโลกุตตรกุศล แสดงเรื่อง ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา คือ การที่จะบรรลุลำบากและช้า มีข้อความว่า
อนึ่งเมื่อกำหนดรูปนาม ลำบากอยู่ด้วยความขวนขวายของตนอันยากเข็ญ ฝืดเคือง จึงสามารถกำหนดได้ การปฏิบัติของโยคาวจรบุคคลนั้นจัดเป็นทุกขาปฏิปทา
ยากไหมที่จะรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ว่าฟังปุ๊บรู้ปั๊บได้ แต่จะต้องมีการขวนขวายอันยากเข็ญ ฝืดเคือง ทั้งๆ ที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ เนืองๆ ว่านามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ที่กำลังเห็น แต่กว่าปัญญาจะสามารถพิจารณาและชินกับลักษณะของสภาพรู้จริงๆ ต้องขวนขวาย อย่างยากเข็ญ ฝืดเคือง จึงสามารถกำหนดพิจารณารู้ได้ การปฏิบัติของบุคคลนั้นจัดเป็นทุกขาปฏิปทา
ส่วนสำหรับผู้มีรูปนามอันกำหนดได้แล้ว กว่าวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น และมรรคจิตจะปรากฏก็ช้านาน ฉะนั้น จึงจัดเป็นทันธาภิญญา ผู้ที่บรรลุช้า
เพราะฉะนั้น คำถามเมื่อกี้ที่ว่า จะรู้นามอื่นรูปอื่นไหม ก็ต้องแล้วแต่ว่า ในขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณนั้น มีนามธรรมและรูปธรรมอะไรบ้างที่ปรากฏ เพราะว่าลักษณะของปัญญาที่เกิดไม่ได้นานมากเลยที่จะเป็นวิปัสสนาญาณ
ในขณะนี้ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด จะไม่มีการรู้เลยว่า มีนามธรรมและรูปธรรมอะไรบ้างมากมาย ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพราะว่าวันหนึ่งๆ ก็ผ่านไปในขณะที่เห็น ได้ยิน คิดนึก แต่ถ้าสติปัฏฐานเกิด มีปัจจัยที่จะให้เสียงเล็กๆ เพียงนิดเดียวเกิด เสียงนั้นก็เกิดและปรากฏกับสติสัมปชัญญะ มีปัจจัยที่จะให้ความไหวของร่างกาย แม้เพียงเล็กน้อยส่วนหนึ่งส่วนใดที่เร็วที่สุดสั้นที่สุดปรากฏ สภาพธรรมนั้นก็ปรากฏแล้วกับสติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะจริงๆ ลักษณะของปรมัตถธรรมจะปรากฏมากกว่าขณะที่หลงลืมสติ
อย่างบางคนเวลาที่คุยกัน ถ้าเหม่อลอยก็ไม่ได้ยินว่าเขาพูดเรื่องอะไรบ้าง หรือว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดผ่านสายตาไปก็ไม่ได้สังเกต นั่นคือลักษณะของผู้ที่ไม่มีสติสัมปชัญญะในขณะนั้น เพราะว่าเหม่อลอย
แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เหม่อลอย สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่างที่คนอื่นยังไม่ทันได้สังเกต ก็ปรากฏกับบุคคลนั้นได้ นี่ยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ความรู้สึกในขณะนี้ ถ้าปวดหรือเจ็บเริ่มเกิด และค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามการเกิดดับของจิต ตามปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น จนปรากฏเป็นความเจ็บมาก ซึ่งผู้ที่สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์และไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เจ็บมากแล้วจึงจะรู้ ใช่ไหม แต่ตอนที่เริ่มนิดเดียว ไม่ได้ปรากฏเลย
นี่คือความต่างกันของผู้ที่เป็นวิปัสสนาญาณกับผู้ที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ สติสัมปชัญญะสมบูรณ์พร้อมด้วยปัญญา สภาพธรรมย่อมปรากฏละเอียด และตามปกติ ตามความเป็นจริง ให้ปัญญาเห็นชัดในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น วิปัสสนาญาณเป็นช่วงขณะที่ไม่นาน แล้วแต่ว่าสภาพ นามธรรมใดจะปรากฏ รูปธรรมใดจะปรากฏ โดยที่ว่าไม่ใช่นามธรรมเดียวและรูปธรรมเดียว แต่เป็นสภาพธรรมที่อาศัยปัจจัยที่ได้พิจารณาสังเกตอบรม จนกระทั่งสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้วิปัสสนาญาณเกิดประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมทางมโนทวาร โดยสภาพที่เป็นอนัตตา คือ ไม่ต้องเตรียมตัวที่จะรู้ แต่เมื่อสภาพธรรมปรากฏกับวิปัสสนาญาณขณะใด ขณะนั้นก็ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
ในคราวก่อนได้กล่าวถึงข้อความใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทุติยวรรคที่ ๒ ชฏิลสูตร ซึ่งข้อความต่อไปมีว่า
บทว่า สากัจฉายะ ได้แก่ การสนทนากัน
จริงอยู่ ถ้อยคำของคนทรามปัญญาย่อมเลื่อนลอย เหมือนลูกยางลอยน้ำ ปฏิภาณของผู้มีปัญญาพูดไม่มีที่สิ้นสุด
เป็นความจริง โดยอาการที่น้ำไหว เขาก็รู้ได้ว่า ปลาตัวเล็กหรือตัวโต
นี่คือการที่แต่ละคนที่พบกันแล้วจะรู้ได้ว่า ใครมีความรู้ความเข้าใจถูกต้องเพียงใด ก็ต้องด้วยการสนทนาเท่านั้น ไม่ใช่ด้วยเหตุอื่น ซึ่งข้อความใน ชฏิลสูตร ข้อ ๓๕๘ มีว่า
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า
คนผู้เกิดมาดี ไม่ควรไว้วางใจเพราะผิวพรรณและรูปร่าง ไม่ควรไว้วางใจ เพราะการเห็นกันชั่วครู่เดียว เพราะว่านักบวชผู้ไม่สำรวมทั้งหลาย ย่อมเที่ยวไป ยังโลกนี้ด้วยเครื่องบริขารของเหล่านักบวชผู้สำรวมดีแล้ว ประดุจกุณฑลดิน และมาสกโลหะหุ้มด้วยทองคำปลอมไว้ คนทั้งหลายไม่บริสุทธิ์ในภายใน งามแต่ภายนอก แวดล้อมด้วยบริวารท่องเที่ยวอยู่ในโลก ฯ
ไม่ว่าในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน หรือในสมัยหลังต่อๆ มา ทุกท่านย่อมพิจารณาได้ว่าเป็นความจริงอย่างนั้น คือ ยากที่จะรู้ได้ว่า ผู้ที่มีอากัปกิริยาอาการภายนอกที่ดูเหมือนสำรวม แต่อาจจะมีลักษณะเหมือนกับกุณฑลดินและมาสกโลหะที่หุ้มด้วยทองคำปลอมไว้