แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1725

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๓๐


ผลของภังคานุปัสสนาญาณ ข้อความใน สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค แสดงว่า

บทว่า นิโรเธ อธิมุตฺตตา ความน้อมจิตไปในความดับ

ความว่า ความน้อมไป ความเป็นผู้หนักแน่น ความเอียงไป ความโอนไป ความลาดไปในความดับ อันได้แก่ภังคะ ความทำลายนั้น เพราะความเป็นผู้ฉลาด ในความปรากฏ ๓ ประการนี้ คือ โดยความสิ้นไป โดยความเสื่อมไป และโดยความสูญไป

ไม่ใช่เพียงสิ้นไปเฉยๆ แต่ไม่กลับมาอีกเลย สูญไปจริงๆ

ย่อมไม่หวั่นไหวในทิฏฐิมีประการต่างๆ มีสัสสตทิฏฐิเป็นต้น พระโยคาวจรนั้นมิได้หวั่นไหวอยู่อย่างนี้ มีมนสิการเป็นไปแล้วว่า สิ่งไม่ดับย่อมดับ สิ่งไม่แตก ย่อมแตก

ถูกไหม ในขณะที่ไม่ประจักษ์ สิ่งนั้นไม่ดับ แต่เมื่อประจักษ์ สิ่งไม่ดับย่อมดับ สิ่งไม่แตกย่อมแตก

ดังนี้ ก็สละนิมิตอันเป็นไปแล้วในอุปาทะฐิติแห่งสังขารทั้งปวง ดุจภาชนะเก่ากำลังแตก

ขณะที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดกำลังแตก ดูเป็นของธรรมดาจริงๆ แต่ถ้าเป็น สังขารธรรมคือสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมก็ตามที่สติกำลังระลึก และวิปัสสนาญาณประจักษ์ในความดับไปของธรรมนั้น ก็จะเหมือนกับคนธรรมดาๆ ซึ่งเห็นภาชนะเก่ากำลังแตก

แก้วแตก เคยเห็นไหม นั่นแหละคือลักษณะของการแตกของขันธ์โดยอุปมา

ดุจธุลีละเอียดกำลังกระจัดกระจาย

เวลาที่เห็นฝุ่นฟุ้ง ไม่เคยคิดเลยว่า สิ่งที่เคยเข้าใจว่าเป็นก้อนแท่งทึบ เมื่อปัญญาประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมแล้วจะไม่มีก้อนแท่งทึบเลย มีแต่ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ละเอียด เพราะแต่ละกลาปเป็นสภาพธรรมที่เล็กน้อย ละเอียดมาก เพราะฉะนั้น ดุจธุลีละเอียดกำลังกระจัดกระจาย

ดุจเมล็ดงาถูกคั่วอยู่ ย่อมเห็นความทำลายนั่นเอง พระโยคาวจรนั้นย่อมเห็นว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงย่อมทำลายไปๆ เหมือนบุรุษผู้มีตาดียืนอยู่บนฝั่งสระโบกขรณีหรือบนฝั่งแม่น้ำ เมื่อฝนหนาเม็ดตก พึงเห็นฟองน้ำฟองใหญ่ๆ ผุดขึ้นๆ บนหลังน้ำ แล้วก็แตกไป ฉะนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงพระโยคาวจรเห็นปานนั้นว่า มัจจุราชย่อมไม่เห็นผู้พิจารณาเห็นโลกอยู่ เหมือนพระโยคาวจรเห็นฟองน้ำหรือพยับแดด ฉะนั้น

ถ้าใครสามารถเห็นโลกเหมือนกับฟองน้ำหรือพยับแดด ต่อไปมัจจุราชย่อม ไม่เห็นผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังแตกหรือดับไปอย่างนั้น

เมื่อพระโยคาวจรนั้นเห็นบ่อยๆ อย่างนี้ว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงย่อม แตกไปๆ ดังนี้ ภังคานุปัสสนาญาณมีอานิสงส์ ๘ เป็นบริวารย่อมมีกำลัง

อานิสงส์ ๘ เหล่านี้ คือ

การละภวทิฏฐิ ๑

การสละความใคร่ในชีวิต ๑

การประกอบความขวนขวายในการบุญทุกเมื่อ ๑

ความมีอาชีพบริสุทธิ์ ๑

การละความขวนขวายในการทำบาป ๑

ความปราศจากภัย ๑

การได้ขันติและโสรัจจะ ๑

การอดกลั้นความยินดียินร้าย ๑

ด้วยเหตุนั้นพระโบราณาจารย์จึงกล่าวว่า พระมุนี ผู้เห็นสังขารทั้งหลายแตกดับไปเนื่องๆ ครั้นเห็นอานิสงส์อันมีการละภวทิฏฐิเป็นต้นเหล่านี้ว่าเป็นธรรมสูงสุดด้วยคุณ ๘ ประการแล้ว เพื่อบรรลุอมตะคือพระนิพพาน จึงพิจารณาสังขารด้วย ภังคานุปัสสนาญาณบ่อยๆ เหมือนบุคคลมีผ้าโพกศีรษะอันไฟกำลังลุกไหม้ ฉะนั้น

เพราะฉะนั้น วันหนึ่งจะประจักษ์ได้แน่นอน สำหรับผู้ที่เข้าใจข้อปฏิบัติที่ถูก และอบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ

สำหรับผู้ที่ยังไม่ถึงภังคานุปัสสนาญาณ จะเห็นได้ว่า ยังไม่สามารถได้อานิสงส์ ๘ ซึ่งเป็นบริวาร คือ การละภวทิฏฐิ ความเห็นว่า มีสภาพธรรมที่เที่ยง เป็นสัสสตทิฏฐิ เพราะขณะนี้ไม่แตกดับ จึงเห็นว่ายังอยู่ และผู้นั้นจริงๆ ก็ไม่ใช่สละความใคร่ในชีวิตด้วยปัญญา เพราะว่าบางคนอาจจะเบื่อโลก ไม่อยากอยู่ในโลก แต่ขอให้ทราบว่า นั่นไม่ใช่ด้วยปัญญา

จะอยากอยู่ หรือไม่อยากอยู่ ก็ต้องอยู่ ยังพ้นโลกไปไม่ได้ ไม่โลกนี้ ก็โลกอื่น และถ้าไม่ใช่โลกนี้ แต่เป็นโลกอื่นซึ่งทุกข์ทรมานมากกว่าโลกนี้ก็จะคิดใหม่ว่า ไม่อยากจะอยู่ในโลกนั้นแล้ว อยู่ในโลกนี้ยังดีกว่า เพราะว่าไม่สามารถจะพ้นจากโลกไปได้ นอกจากนั้นผู้ที่ได้เห็นความเกิดดับ และน้อมไปสู่ความดับ ก็จะเป็นผู้ที่ประกอบความขวนขวายในการบุญทุกเมื่อ

สำหรับหลายท่านซึ่งแม้ว่ายังไม่ได้ประจักษ์ภังคญาณ แต่ท่านก็สะสมอุปนิสัย ที่จะประกอบความขวนขวายในการบุญทุกเมื่อ เพราะฉะนั้น ก็เป็นการสะดวก เพราะว่าจิตของท่านน้อมไปแล้วสู่การสละภพหรือสละชีวิตด้วยปัญญา สละความใคร่ในชีวิตด้วยปัญญา ซึ่งจะทำให้ท่านผู้นั้นเป็นผู้ที่มีอาชีพบริสุทธิ์ แต่ถ้ายังไม่ถึง การประจักษ์แจ้งลักษณะของภังคญาณ ก็ยังมีเยื่อใยในชีวิต ยังมีความรักชีวิต ต้องการให้ชีวิตเต็มสมบูรณ์ด้วยความสุขความสบาย เพราะฉะนั้น ก็ยังต้องมีโอกาส ที่จะมีอาชีพไม่บริสุทธิ์

สำหรับผู้ที่ได้ประจักษ์วิปัสสนาญาณแล้ว อานิสงส์ คือ มีอาชีพบริสุทธิ์ ละความขวนขวายในการทำบาป ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนั้นก็จะปราศจากภัย และจะมี ขันติและโสรัจจะ มีการอดกลั้นความยินดียินร้าย

ขณะนี้ก็ได้กล่าวถึงโสภณเจตสิกตามลำดับ จนกระทั่งถึงตัตรมัชฌัตตตา ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องของวิปัสสนาญาณ หรือเรื่องของกุศลที่เป็นไปในทาน ในศีล ในสมถะคือ ความสงบของจิต หรือในการเจริญสติปัฏฐาน หรือแม้วิปัสสนาญาณแต่ละขั้น ที่เกิดขึ้น ก็จะต้องประกอบด้วยตัตรมัชฌัตตตา ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปในอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งซึ่งจะพิจารณาเห็นได้ว่า ขณะใดที่เป็นกุศลจริงๆ ขณะนั้นเป็นกลาง

ขอกล่าวถึงข้อความที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของตัตรมัชฌัตตตา ใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อัตตกรณสูตร ข้อ ๓๔๓ - ข้อ ๓๔๕ มีข้อความสั้นๆ ว่า

ปลาทั้งหลายเข้าไปสู่เครื่องดักที่เขาดักไว้ยังไม่รู้สึกตัว ฉันใด สัตว์ทั้งหลาย ล่วงเข้าไปสู่วัตถุกามด้วยกิเลสกามก็ไม่รู้สึกตัว ฉันนั้น

ข้อความในอรรถกถามีว่า

เหตุที่พระผู้มีพระภาคตรัสข้อความนี้ ก็เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จออกประทับนั่งฟังการพิจารณาคดีความ ในคดีนั้นพวกอมาตย์รับสินบนเขามา ก่อนนั่งวินิจฉัยคดี ตัดสินให้ผู้มิใช่เจ้าของทรัพย์สินกลายเป็นเจ้าของทรัพย์สินไป พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว ทรงพระดำริว่า ต่อหน้าเราผู้เป็นใหญ่ ในแผ่นดิน อำมาตย์พวกนี้ยังกระทำถึงเพียงนี้ ลับหลังเรา เขาจักไม่ทำกระไรได้

การที่ยกตัวอย่างในพระไตรปิฎกเพื่อแสดงให้เห็นว่า ทุกยุค ทุกสมัย เหมือนกันหมด เพราะว่าโลภะ โทสะ โมหะในครั้งอดีตเป็นอย่างไร ในขณะที่เป็นปัจจุบันขณะนี้ก็ต้องเป็นอย่างนั้น หรือแม้แต่อนาคตที่จะเกิดต่อไป ลักษณะของโลภะ โทสะ โมหะ ก็ไม่เปลี่ยนแปลง

มีบางท่านให้ความคิดเห็นว่า ในเรื่องการยกตัวอย่างของธรรมน่าที่จะยกตัวอย่างเหตุการณ์ปัจจุบัน แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เหตุการณ์ปัจจุบันทุกคนย่อมทราบตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือจากวงศาคณาญาติ ญาติสนิทมิตรสหาย เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในสมัยนี้ แต่ถ้ายกตัวอย่างเหตุการณ์ในอดีต คือ ในพระไตรปิฎก เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี จะเห็นได้ว่า ไม่มีความต่างกันเลย โลภะ โทสะ โมหะในครั้งก่อน กับโลภะ โทสะ โมหะ หรือแม้เหตุการณ์คล้ายคลึงกันก็ยังมีได้ ตามข้อความใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อัตถกรณสูตร ที่ได้กล่าวถึงแล้ว

เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะไม่ได้กล่าวโดยตรงถึงตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก แต่กล่าวถึงสูตรหนึ่งสูตรใดก็ตามในพระสูตร หรือข้อความในพระวินัย หรือข้อความอื่นๆ ใน พระอภิธรรมซึ่งเป็นเรื่องของกุศล ก็แสดงว่าตัตรมัชฌัตตตาย่อมเกิดร่วมกับกุศล ซึ่งทั่วไปในพระไตรปิฎก ในกุศลทุกประเภท

สำหรับอุเบกขามี ๑๐ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว

อุเบกขา ๑๐ คือ

๑. ฉฬังคุเบกขา

๒. พรหมวิหารุเบกขา

๓. โพฌังคุเบกขา

๔. วิริยุเบกขา

๕. สังขารุเบกขา

๖. เวทนุเบกขา

๗. วิปัสสนูเบกขา

๘. ตัตรมัชฌัตตุเบกขา

๙. ฌานุเบกขา

๑๐. ปาริสุทธุเบกขา

นี่เป็นลักษณะของความเป็นกลางต่างๆ ซึ่งความเป็นกลาง ๑๐ ประการนี้ สำหรับฉฬังคุเบกขา พรหมวิหารุเบกขา โพฌังคุเบกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ส่วนวิริยุเบกขานั้น ได้แก่ วิริยเจตสิก ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว

ในขณะนี้กำลังกล่าวถึงสังขารุเบกขาซึ่งได้แก่ปัญญาเจตสิก แต่ก่อนที่จะถึง สังขารุเบกขาซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณใกล้ที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ได้กล่าวถึง การอบรมเจริญปัญญาและวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น เพราะไม่ใช่ว่าเมื่อเริ่มอบรม เจริญสติปัฏฐาน ก็จะถึงสังขารุเบกขาญาณทันที

สำหรับวิปัสสนาญาณ คือ ปัญญาที่รู้ชัด รู้แจ้งในลักษณะของสภาพธรรม มี ๑๖ คือ

๑. นามรูปปริจเฉทญาณ

๒. ปัจจยปริคคหญาณ

๓. สัมมสนญาณ

๔. อุทยัพพยญาณ

๕. ภังคญาณ

๖. ภยญาณ

๗. อาทีนวญาณ

๘. นิพพิทานุปัสสนาญาณ

๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ

๑๐. ปฏิสังขาญาณ

๑๑. สังขารุเปกขาญาณ

๑๒. อนุโลมญาณ

๑๓. โคตรภูญาณ

๑๔. มัคคญาณ

๑๕. ผลญาณ

๑๖. ปัจจเวกขณญาณ

เพียงแต่ชื่อก็ยากที่จะจำ แต่ให้ทราบว่า เป็นปัญญาที่อบรมเจริญขึ้นตาม ลำดับขั้น จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมชัดเจนขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้น เรื่องชื่อ ถ้าเข้าใจลักษณะสภาพของวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น ชื่อก็คงจะไม่ลืม เช่น วิปัสสนาญาณที่ ๑ ทุกท่านคงจะจำได้ นามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ ใช้คำว่า นามรูปววัฏฐานะ คือ ปัญญาที่ประจักษ์ชัดในสภาพที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น คงจะจำได้ นามรูปปริจเฉทญาณ

ญาณที่ ๒ ปัจจยปริคคหญาณ คือ ปัญญาที่รู้ปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น เพียงแต่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่แยกขาดจากกัน ยังไม่พอที่จะดับกิเลส แต่ถ้าสามารถรู้ถึงปัจจัยของนามธรรมแต่ละอย่าง รูปธรรมแต่ละอย่าง ที่สติกำลังระลึกในขณะนี้ จะทำให้เพิ่มการละคลาย และรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีใครสามารถทำให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้นได้เลย เพราะว่าสภาพธรรมทุกอย่างมีปัจจัยจึงเกิดขึ้น

มีใครทำเห็นให้เกิดขึ้นได้ไหม มีใครทำให้ได้ยินเกิดขึ้นบ้าง มีใครทำให้คิดนึกเกิดขึ้นบ้าง ไม่มีเลย แต่สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิด เพราะมีเหตุปัจจัย ผู้ที่ไม่เคยคิด ไม่เคยพิจารณาเลย ก็ไม่ใส่ใจที่จะรู้ว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะเมื่อเกิดมาแล้วยึดถือสภาพธรรมเหล่านี้ว่า เป็นเรา เป็นตัวตน โดยไม่ได้พิจารณาว่า แท้ที่จริงแล้วถ้าเพียงแต่พิจารณาและศึกษาพระธรรมก็จะรู้ได้จริงๆ ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างเพื่อที่จะเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียวและดับไปอย่างรวดเร็ว

ขอให้คิดดูถึงความไม่มีแก่นสารของสิ่งซึ่งต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างเกิดขึ้น แต่ว่าเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะนิดเดียวแล้วก็ดับไป เมื่อดับไปแล้ว ก็สูญไป ไม่กลับมาเกิดอีกเลย เพราะฉะนั้น ถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ จะทำให้ค่อยๆ ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

และเมื่อละคลายการยึดถือสภาพธรรม โดยสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่ต้องเลือก เพราะสภาพธรรมทั้งหมดเหมือนกัน เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย ไม่สามารถบังคับบัญชาให้เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ไปคอย รอรู้ สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดที่ยังไม่เกิด แต่สภาพธรรมใดที่เกิดแล้วก็พิจารณารู้ ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนเพิ่มขึ้นจนกระทั่งเป็นสัมมสนญาณ ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปซึ่งสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว แต่แม้อย่างนั้นก็ยังไม่สามารถละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่เคยยึดถืออย่างเหนียวแน่นว่าเป็นเราได้ เพราะว่านามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ เป็นตรุณวิปัสสนา แต่ก็เริ่มที่จะเป็นขันติญาณ ตั้งแต่สัมมสนญาณ เพราะจะต้องพิจารณาลักษณะของนามและรูปทั่วทั้ง ๖ ทาง

การที่กล่าวย้ำแล้วย้ำอีก ก็เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เห็นการค่อยๆ เจริญขึ้นของปัญญา ซึ่งไม่ใช่อย่างอื่นเลย นอกจากรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น แต่ว่าสิ่งนี้ ในขณะนี้ ที่กำลังปรากฏ เป็นเครื่องสอบปัญญาว่า รู้แค่ไหน

ทางตาที่กำลังเห็น รู้แค่ไหน ถ้ายังรู้ไม่พอ สติระลึกต่อไป พิจารณาต่อไป และเมื่อถึงอุทยัพพยานุปัสสนาญาณหรืออุทยัพพยญาณ ก็เป็นปัญญาที่ละเอียด และคมขึ้นที่จะพิจารณาประจักษ์ชัดการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่เป็นปัจจุบัน ทีละอย่าง และเมื่อปัญญาเจริญต่อไปก็ถึงภังคญาณ เพราะว่าการประจักษ์ การเกิดขึ้นและดับไปแม้ของสภาพธรรมที่เป็นปัจจุบัน แต่เมื่อสภาพธรรมนั้นดับ ก็ยังมีสภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่อทันที เพราะฉะนั้น การที่จิตใจจะละคลายก็ยังเป็นไป โดยไม่ถึงขั้นที่จะเป็นขั้นปหานปริญญา เพราะยังมีสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นสืบต่อจาก สภาพธรรมที่ดับไป ต่อเมื่อใดพิจารณาน้อมถึงความดับ จึงจะเพิ่มความรู้ในความ ไม่เป็นแก่นสารของนามธรรมและรูปธรรมขึ้น แต่แม้กระนั้นปัญญาขั้นนั้นก็ยัง ไม่สามารถดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

เปิด  263
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566