แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1726
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๓๐
สำหรับวิปัสสนาญาณที่ ๖ ต่อจากภังคญาณซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๕ คือ ภยญาณ หรือภยตูปัฏฐานานุปัสสนาญาณ เป็นปัญญาที่พิจารณาเห็นความดับของสภาพธรรมโดยความเป็นภัย เริ่มเห็นภัยของการที่สภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับๆ ซึ่งในขั้นปริยัติที่ฟัง แม้จะได้ฟังว่า ขณะนี้เห็นเกิดแล้วดับ ได้ยินเกิดแล้วดับ แต่เมื่อยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณที่จะเห็นความเป็นภัยนั้น ก็ยังเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เทียบปัญญาขั้นการฟัง กับปัญญาขั้นประจักษ์แจ้ง ก็ต้องเป็นปัญญาที่คมกล้ากว่ากันมากทีเดียว
เมื่อภังคญาณดับหมดแล้ว ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็รู้ว่า กิเลสทั้งหลาย ยังมีกำลังเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสม แม้ว่าจะใฝ่ใจระลึกถึงลักษณะที่ดับไปๆ ของนามธรรมและรูปธรรม ความยินดีที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน ก็ยังไม่หมดสิ้นไป แต่จะละคลายลงไปได้อีกด้วยการเห็นภัยของการดับไปๆ ของนามธรรมและรูปธรรมนั่นเอง
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานก็เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมต่อไป เนืองๆ บ่อยๆ แต่ว่าพิจารณาเห็นภัยของการดับไปของนามธรรมและรูปธรรม
การที่จะเห็นว่าเป็นภัยจริงๆ นั้น เริ่มจากภยญาณ ซึ่งการค่อยๆ น้อมไปพิจารณาเห็นภัยของการดับไปของนามธรรมและรูปธรรมเรื่อยๆ เมื่อปัญญาสมบูรณ์พร้อมด้วยปัจจัยขณะใด ภยญาณก็เกิดขึ้น ประจักษ์ลักษณะที่ดับของนามธรรมและรูปธรรมโดยความเป็นภัย
ในขณะที่กำลังประจักษ์แจ้งการดับของนามธรรมและรูปธรรมด้วย วิปัสสนาญาณที่เป็นภยญาณ ข้อความใน อัฏฐสาลินี แสดงว่า
ภยญาณละความสำคัญหมายรู้ในธรรมอันเป็นไปกับด้วยภัยว่าไม่มีภัย ได้ด้วยญาณเห็นว่าเป็นภัย
ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี ก็ชัด ขณะนี้มีธรรมอันเป็นไปกับด้วยภัยแต่เห็นว่าไม่มีภัย ทั้งๆ ที่เป็นภัยอย่างนี้ คือ เกิดและดับไปจริงๆ แต่ยังไม่สามารถเห็นได้ว่าเป็นภัย จนกว่าจะถึงภยญาณ
เมื่อเห็นว่าเป็นภัยแล้ว วิปัสสนาญาณที่ ๗ คือ อาทีนวญาณ หรือ อาทีนวานุปัสสนาญาณ คือ ญาณที่เห็นโทษของการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม
นี่แสดงถึงความเหนียวแน่นแค่ไหนของการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ทั้งๆ ที่เห็นว่าเป็นภัย ยังไม่พอ ปัญญาต้องเห็นยิ่งกว่านั้นอีก คือ ยังต้องเห็นว่า ภัยคือการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมนั้น เป็นโทษด้วย
เพราะฉะนั้น แม้ว่าภยญาณจะเห็นภัยของการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว เมื่อภยญาณดับไป ความยินดีพอใจในการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนก็ยังไม่ดับไป ผู้เจริญสติปัฏฐานจึงรู้ว่า ต้องเห็นโทษของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับเพิ่มขึ้นโดยประการต่างๆ เพื่อเกื้อกูลให้เห็นว่า เป็นโทษจริงๆ จนกว่าจะคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนลงไปอีก เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับ
หลังจากอุทยัพพยญาณดับไปแล้ว สติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมและการเกิดดับก็จะปรากฏ แต่ถึงแม้ว่าการเกิดดับจะปรากฏ ก็ขึ้นอยู่กับปัญญา ในขณะที่กำลังประจักษ์การเกิดดับว่า เพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่า
ถ้าปัญญานั้นเห็นว่าเป็นภัย ในขณะนั้นเป็นภยญาณ และยังต้องเกิดปัญญาที่เห็นว่าเป็นโทษในขณะที่ประจักษ์แจ้งด้วย เมื่อปัญญาพิจารณาเห็นโทษของการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมละเอียดขึ้น จนปัจจัยสมบูรณ์พร้อมที่จะปรุงแต่งให้อาทีนวญาณเกิดขึ้นเมื่อไร อาทีนวญาณก็เกิดขึ้น ประจักษ์แจ้งโทษของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับในขณะนั้น
นี่ยังไม่ถึงนิพพิทาญาณซึ่งเคยมีท่านผู้ฟังเขียนถามมาว่า ได้แต่กล่าวถึงญาณขั้นต้นๆ แต่ยังไม่กล่าวถึงนิพพิทาญาณ
ไม่ใช่ว่าจะเกิดความหน่าย ความคลายความยินดี ความพอใจในนามธรรมและรูปธรรมได้โดยง่ายเลย เพราะแม้ว่าจะเป็นวิปัสสนาญาณสำหรับผู้ที่ ไม่ใช่อุคฆฏิตัญญู ไม่ใช่วิปัญจิตัญญู แต่เป็นเนยยบุคคล การที่วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นจะเกิด ก็ต้องอาศัยความพากเพียรอบรมเจริญปัญญา น้อมระลึกพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม พร้อมกับการเจริญกุศลทุกประการอย่างมากกว่า วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นจะเกิดขึ้นได้
ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา มีข้อความว่า
ปัญญาในความปรากฏเป็นของน่ากลัว เป็นอาทีนวญาณอย่างไร
ปัญญาในความปรากฏโดยความเป็นภัยว่า ความเกิดขึ้นเป็นภัย ความเป็นไปเป็นภัย สังขารนิมิตเป็นภัย ฯลฯ กรรมเครื่องประมวลมาเป็นภัย ปฏิสนธิเป็นภัย คติเป็นภัย ความบังเกิดเป็นภัย ความอุบัติเป็นภัย ชาติเป็นภัย ชราเป็นภัย พยาธิเป็นภัย มรณะเป็นภัย ความโศกเป็นภัย ความรำพันเป็นภัย ความคับแค้นใจเป็นภัย เป็นอาทีนวญาณแต่ละอย่าง ฯ
ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า
ความเกิดขึ้นเป็นภัย
บทว่า อุปปาโท ความเกิดขึ้น คือ เกิดขึ้นในโลกนี้ เพราะกรรมเก่าเป็นปัจจัย
ข้อความใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เกี่ยวกับอริยสัจ แสดงเรื่องภัยของการเกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งแต่ละคนมีชีวิตผ่านมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ก็ผ่านภัยหลายประการ ผ่านโรคหลายชนิด ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านความทุกข์ยากลำบาก โดยที่ว่าแม้ในขณะนี้เองก็ยังไม่แน่ว่าจะมีภัยอะไรเกิดขึ้นต่อไป คือ อาจจะเป็นผู้พิการเมื่อไร ขณะไหน ก็ย่อมจะเป็นได้ เพราะฉะนั้น ความเป็นไปจึงเป็นภัย
บทว่า ปวัตตัง ความเป็นไป คือ ความเป็นไปของความเกิดขึ้นเป็นไป
ทุกคนจะหยุดความเป็นไปของชีวิตที่เกิดมาไม่ได้เลย นอกจากนั้นยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเป็นไปสักขณะจิตเดียว เหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิด จะไม่ให้เกิด ได้ไหม
บทว่า นิมิตตัง คือ สังขารนิมิตทั้งหมด เป็นภัย
คำว่า นิมิตตัง ที่นี่ หมายความถึงสังขารนิมิต คือ นามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นมีนิมิตคือลักษณะต่างๆ นั่นเอง เพราะฉะนั้น คำว่า นิมิต ก็เป็นอีกคำหนึ่งของนามธรรมและรูปธรรม เพราะว่านามธรรมและรูปธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นมีลักษณะของตนที่ปรากฏให้รู้ เป็นเครื่องหมายลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น สังขารนิมิตทั้งหมดเป็นภัย ทั้งหมดนี่ไม่เว้นเลย คือ ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมชนิดใด รูปธรรมชนิดใด เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะและดับไป
ถ้าจะให้ละเอียดจากเหตุการณ์ทั้งเหตุการณ์ ก็ย่อยย่อลงเป็นแต่ละขณะ จิตเดียว คือ จะไม่ให้ได้ยิน เป็นไปไม่ได้ จะไม่ให้เห็น ก็เป็นไปไม่ได้ จะไม่ให้คิดนึก ก็เป็นไปไม่ได้ และโดยเฉพาะถ้าคิดนั้นเป็นอกุศล ก็คงจะพิจารณาเห็นภัยได้ชัดเจนว่า ภัยนั้นจะเพิ่มขึ้นอีกสักเท่าไร
ในอรรถกถาอธิบายกรรมเครื่องประมวลมาเป็นภัย มีข้อความว่า
บทว่า อายูหนัง กรรมที่ประมวลมาเป็นภัย คือ กรรมอันเป็นเหตุแห่ง ปฏิสนธิต่อไปเป็นภัย
ข้อความต่อไปมีว่า
ปฏิสนธิ คือ การเกิดต่อไปชาติหน้า เป็นภัย คติ คือ ทางของปฏิสนธิ เป็นภัย ความบังเกิดเป็นภัย ความบังเกิด คือ ความเกิดขึ้นของขันธ์ทั้งหลาย ความอุบัติเป็นภัย ชาติเป็นภัย โดยนิปปริยาย คือ โดยตรง ชาติ คือ ความปรากฏครั้งแรกของขันธ์ทั้งหลายที่ปรากฏแก่สัตว์ผู้เกิดในที่ภพนั้นๆ
หมายความถึงขณะจิตขณะแรกที่เป็นชาติ เป็นความปรากฏครั้งแรกของขันธ์ทั้งหลาย
ชราเป็นภัย
บทว่า ชรา ได้แก่ ความเก่าของขันธสันดานที่เนื่องกันในภพหนึ่ง ในสันตติ ที่รู้กันว่า มีฟันหักเป็นต้น
นามธรรมและรูปธรรมเกิดดับสืบเนื่องติดต่อกันไปเรื่อยๆ แต่ว่าชราคือความปรากฏความเก่าของขันธสันดานที่เกิดดับสืบเนื่องกันในภพหนึ่ง ทำให้รู้ว่าเป็นลักษณะของชรา เพราะว่าเกิดดับสืบต่อเป็นเวลานาน
ความโศกเป็นภัย
บทว่า โสโก ได้แก่ ความเดือดร้อนใจของผู้ที่ถูกความเสื่อมจากญาติเป็นต้นกระทบ
ไม่มีใครจะผ่านพ้นความโศกไปได้ บางท่านอาจจะผ่านแล้ว บางท่านอาจจะเพิ่งประสบ และบางท่านก็จะประสบต่อไป เพราะฉะนั้น เป็นของธรรมดา ในขณะที่ความเดือดร้อนใจของผู้ที่ถูกความเสื่อมจากญาติเป็นต้นกระทบ จะไม่มีใครสงสัยว่า ลักษณะของความโศกเป็นอย่างไร เพราะว่าทุกคนต้องประสบ
ความรำพันเป็นภัย
บทว่า ปริเทโว ได้แก่ ความพร่ำเพ้อของผู้ที่ถูกความเสื่อมจากญาติเป็นต้นกระทบ
เวลาที่มีความเสื่อมจากญาติ เคยพูดถึงคนที่จากไปบ้างไหม คิดถึงเรื่องต่างๆ การกระทำต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ด้วยความอาลัย ขณะนั้นจิตไม่ใช่โสมนัส แต่ว่าขณะนั้นเป็นโทมนัสที่ทำให้เกิดความรำพัน
เพราะฉะนั้น ปริเทโว ได้แก่ ความพร่ำเพ้อของผู้ที่ถูกความเสื่อมจากญาติ เป็นต้นกระทบ อย่างน้อยที่สุดก็คงอดกล่าวคำว่าคิดถึงไม่ได้ นั่นคืออย่างน้อย ถ้าอย่างมากก็จะเห็นถึงการพร่ำเพ้อ ซึ่งพูดบางเรื่องแล้วก็หยุดไป และก็ต่อเรื่องใหม่ และก็หยุดไป นั่นเป็นลักษณะของความพร่ำเพ้อของผู้ที่ถูกความเสื่อมจากญาติเป็นต้นกระทบ
ความคับแค้นใจเป็นภัย
บทว่า อุปายาโส ได้แก่ ความคับแค้นใจมาก คือ โทสะที่เกิดจากทุกข์ใจมากมายของผู้ที่ถูกความเสื่อมจากญาติเป็นต้นกระทบ
บางคนทุกข์มากจนกระทั่งใจแห้งผากหมดชีวิตชีวา นี่ทำให้เห็นระดับขั้นของความโศกว่ามีมากมายหลายขั้น เพ้อจนกระทั่งจิตใจแห้งหมด ในขณะนั้นก็เป็นความคับแค้นใจซึ่งเป็นอุปายาโส
ปัญญาที่เห็นภัยอย่างนี้ เป็นอาทีนวญาณแต่ละอย่างๆ
ไม่น่าที่จะเป็นอาทีนวญาณได้ แต่ว่าอาทีนวญาณต้องเห็นโทษ ต้องเห็นภัย ของสิ่งซึ่งดูเป็นธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป เพราะว่า ความทุกข์ความโศกเหล่านี้ไม่ใช่ว่าจะไม่ดับ ในขณะที่เกิดก็เป็นทุกข์อย่างยิ่ง แต่ ทุกข์นั้นก็หมดไปด้วย เพราะฉะนั้น บางท่านอาจจะค่อยๆ คลายความทุกข์ไป ลืมไป แต่วิปัสสนาญาณต้องเห็นภัยจริงๆ เห็นโทษจริงๆ เพราะไม่สามารถยับยั้งความเป็นไปต่างๆ เหล่านี้ได้ จึงรู้ว่า สังขารทั้งหลายต้องเกิดขึ้น ต้องดับไป
ถ. ถ้าเกิดญาณขั้นต้นแล้ว และรู้รูปธรรมนามธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นชัดเจนแล้ว และปัญญาเจริญขึ้นโดยลำดับไปจนถึงญาณขั้นสูงๆ ขึ้นไป เมื่อถึง ญาณขั้นสูงขึ้นไป เช่น อาทีนวญาณ จะหวนกลับไปมีญาณขั้นต่ำๆ ได้อีกหรือเปล่า
สุ. สภาพธรรมในขณะนี้ เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่เมื่อลักษณะยังไม่ปรากฏชัด ยังไม่ได้ประจักษ์แจ้งด้วยวิปัสสนาญาณ ก็ยังไม่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ แต่เมื่อเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ คือ ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ทางมโนทวาร เหมือนขณะนี้ตามปกติ เพราะแม้ในขณะนี้ก็มีมโนทวารวิถี แต่ปัญญาที่กำลังพิจารณาไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง แต่เมื่อประจักษ์แจ้งก็เป็นมโนทวารวิถี ซึ่งชัดและประจักษ์ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หมดความสงสัยในลักษณะ ของมโนทวาร เพราะฉะนั้น จึงรู้ว่าวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นต้องเป็นการประจักษ์แจ้งทางมโนทวาร ซึ่งเคยประจักษ์แจ้งแล้ว
เพราะฉะนั้น เมื่อสภาพธรรม คือ นามธรรมและรูปธรรม ปรากฏทางมโนทวาร สำหรับวิปัสสนาญาณขั้นสูงขึ้น ก็คือลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ในขั้นต้นปัญญายังไม่คม ปัญญาที่เกิดและประจักษ์ลักษณะที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรม จึงเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ
ถ้าเอาชื่อออก ไม่ต้องตั้งชื่อ ไม่ต้องเรียกว่านามรูปปริจเฉทญาณ ขณะนั้นปัญญาขั้นนั้น ก็คือขั้นประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพียงขั้นประจักษ์ลักษณะ โดยที่ปัญญายังไม่ได้พิจารณาจนกระทั่งมนสิการถึงสภาพการเกิดและดับ ซึ่งในขณะที่นามรูปปรากฏทางมโนทวาร ไม่ใช่นามเดียว ไม่ใช่รูปเดียว เมื่อเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ต้องมีนามธรรมหลายนามธรรม และรูปธรรมหลายลักษณะที่ปรากฏ แต่ปัญญาไม่คมพอที่จะมนสิการการเกิดและการดับสืบต่อกัน
เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น ก็เพียงประจักษ์แจ้งว่า ลักษณะที่เป็นนามธรรมนี้ ไม่เคยรู้ ไม่เคยประจักษ์ ไม่เคยรู้ชัดแจ้งอย่างนี้ว่า ธาตุรู้ อาการรู้ ลักษณะรู้นั้น ไม่มีรูปธรรมใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น
ขณะนั้น คิดดู โลกซึ่งเคยเต็มไปด้วยสี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็งไม่ได้ปรากฏรวมกัน และขณะนั้นลักษณะของทวารอื่นไม่ปรากฏ เพราะว่าขณะนั้นกำลังเป็นมโนทวาร โดยที่สภาพของนามธรรมแต่ละลักษณะปรากฏ และรูปธรรม ซึ่งผ่านปัญจทวารแต่ละทวารทีละทวาร แล้วแต่ว่ารูปใดจะปรากฏกับมโนทวาร การประจักษ์แจ้งครั้งแรก คือ ลักษณะที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรม ในขณะนั้นเป็นปัญญาที่สมบูรณ์เพียงขั้นนั้น จึงเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ
แต่เมื่อปัญญาจะประจักษ์ขั้นต่อไป จะพ้นจากลักษณะเดิมได้ไหม เพียงแต่ว่าปัญญาคมขึ้นเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น แต่ละขั้น คือ ปัญญาที่คมขึ้น เมื่อลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมปรากฏทางมโนทวาร
ถ. ก็คงจะเป็นนามธรรมรูปธรรม แต่ว่าปัญญาคมชัดขึ้น
สุ. แน่นอน เพราะฉะนั้น วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นก็เกื้อกูลทำให้ วิปัสสนาญาณขั้นต่อไปเกิดขึ้น จะกล่าวว่าเป็นนามรูปปริจเฉทญาณอีกได้ไหม ในเมื่อประจักษ์แล้ว และปัญญาก็คมกว่านั้นแล้ว แต่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็ปรากฏ เพียงแต่ว่าปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งนั้นเพิ่มกำลังขึ้น เช่น ปัจจยปริคคหญาณ ในขณะนั้นจะคลายการที่เคยจดจ้องหรือต้องการนามหนึ่งนามใด เพราะรู้ว่าขณะนั้นสภาพนั้นเกิดเพราะปัจจัย ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ละลักษณะแสดงว่ามีปัจจัยแต่ละอย่างที่ทำให้สภาพธรรมนั้นเกิด ไม่ว่าจะเป็น วิปัสสนาญาณขั้นไหน ที่ถามว่าจะย้อนกลับไปเป็นอันเก่าได้ไหม ก็เป็นปัญญาที่คมขึ้น