แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1727

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๓๐


ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๒๗๖ มีข้อความว่า

ชื่อว่าโทษ คือ กิเลสทั้งหลาย ทุจริตทั้งปวง อภิสังขารทั้งปวง กรรมอันเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่ภพทั้งปวง เป็นโทษ ความสำคัญในโลกนี้และโทษนี้ว่าเป็นภัย อันแรงกล้า ปรากฏแล้วด้วยประการฉะนี้

ยังไม่ปรากฏก็ต้องฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาโดยไม่ท้อถอย ค่อยๆ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจนกว่าจะเห็นโทษจริงๆ เมื่อปัญญาเห็น โทษภัยของการเกิดขึ้นของธรรมทั้งหลายแล้ว ย่อมน้อมไปสู่สันติบท

บทว่า สันติปเท ในสันติบท ได้แก่ ในส่วนแห่งสันติ คือ ในนิพพาน

ถ้าไม่พูดว่า นิพพาน จะใช้คำว่า สันติ ก็ได้ คือ ความสงบจริงๆ ดับระงับ ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีการเกิดที่จะทำให้เป็นทุกข์เดือดร้อนเลย

ข้อ ๑๑๕ – ข้อ ๑๑๙ มีข้อความว่า

ญาณในสันติบทว่า ความไม่เกิดขึ้นปลอดภัย ความไม่เป็นไปปลอดภัย ฯลฯ ความไม่คับแค้นใจปลอดภัย

เพราะฉะนั้น จึงเป็นปัญญาที่เห็นความต่างกันชัดเจนว่า

ความเกิดขึ้นเป็นภัย ความไม่เกิดขึ้นปลอดภัย ความเป็นไปเป็นภัย ความไม่เป็นไปปลอดภัย ฯลฯ ความคับแค้นใจเป็นภัย ความไม่คับแค้นใจปลอดภัย

และ ญาณในสันติบทว่า ความเกิดขึ้นเป็นทุกข์ ความไม่เกิดขึ้นเป็นสุข ความเป็นไปเป็นทุกข์ ความไม่เป็นไปเป็นสุข ฯลฯ ความคับแค้นใจเป็นทุกข์ ความไม่คับแค้นใจเป็นสุข

และ ญาณในสันติบทว่า ความเกิดขึ้นเป็นสังขาร ความไม่เกิดขึ้นเป็นนิพพาน ความเป็นไปเป็นสังขาร ความไม่เป็นไปเป็นนิพพาน ฯลฯ ความคับแค้นใจเป็นสังขาร ความไม่คับแค้นใจเป็นนิพพาน

ข้อที่พระโยคาวจรพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ความเป็นไป สังขารนิมิต กรรมเครื่องประมวลมาและปฏิสนธิว่า เป็นทุกข์ นี้เป็นอาทีนวญาณ

ข้อที่พระโยคาวจรพิจารณาเห็นความไม่เกิดขึ้น ความไม่เป็นไป ความไม่มีนิมิต ความไม่มีกรรมเครื่องประมวลมา และความไม่ปฏิสนธิว่า เป็นสุข นี้เป็นญาณในสันติบท อาทีนวญาณนี้ย่อมเกิดในฐานะ ๕ ญาณในสันติบทย่อม เกิดในฐานะ ๕ พระโยคาวจรย่อมรู้ชัดญาณ ๑๐ ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะทิฏฐิต่างๆ เพราะเป็นผู้ฉลาดในญาณทั้ง ๒ ฉะนี้แล ฯ

ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในความปรากฏโดยความเป็นภัย เป็นอาทีนวญาณ

ข้อความใน อัฏฐสาลินี แสดงอานิสงส์ของอาทีนวญาณว่า

อาทีนวทัสสนะ คือ ญาณเห็นว่าเป็นโทษนั้น ละความสำคัญหมายรู้ว่า เป็นสิ่งที่น่าชื่นใจได้

สิ่งที่น่าชื่นใจมีอยู่ในชีวิตประจำวันทั้งนั้นสำหรับผู้ที่ปัญญาไม่เกิด ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นสิ่งที่ปรารถนาต้องการ เพราะทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นใจ เพราะฉะนั้น อานิสงส์ของอาทีนวญาณ คือ ละความสำคัญหมายรู้ว่าสภาพธรรมเป็นสิ่งที่น่าชื่นใจได้

. อาทีนวญาณเห็นความเกิดขึ้นเป็นภัย เห็นความเสื่อมไปเป็นภัย ความเป็นไปเป็นภัย ไม่ทราบว่า ความดับเป็นภัยหรือไม่ เพราะไม่มีกล่าวไว้

สุ. เมื่อเห็นเกิดก็ต้องดับด้วย ไม่มีสภาพของสังขารธรรมใดซึ่งเกิดแล้ว ไม่ดับ เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นความเกิดขึ้น ก็รวมถึงสิ่งนั้นต้องดับด้วย

. พิจารณาดู มีแต่ความเกิดขึ้น ความเสื่อมไป ถึงชรา ไม่เห็นมีมรณะ คือ ความดับไปของนามรูปนั้น เป็นภัย

สุ. บางครั้งที่ทรงแสดงธรรม ก็ละไว้ในฐานที่เข้าใจ

. อย่างอาทีนวญาณ ผ่านภังคานุปัสสนาญาณ เห็นความดับ ก็ไม่ได้บอกว่า เห็นความดับเป็นภัย จึงคิดว่า ความดับอาจไม่เป็นภัย

สุ. เพราะว่าผ่านภังคญาณแล้ว น้อมไปที่ความดับ จึงจะละคลาย การติดยึดถือนามธรรมและรูปธรรม ค่อยๆ คลายลง ก่อนที่จะถึงภยญาณที่จะ เห็นว่าเป็นภัย ต้องถึงภังคญาณก่อน ถ้าไม่ถึงภังคญาณ จะพิจารณาเห็นโดยความเป็นภัยไม่ได้

. แสงสว่างที่เป็นวิปัสสโนภาสมีจริงหรือเปล่า และลักษณะเป็นอย่างไร

สุ. เป็นวิปัสสนูปกิเลส หลังจากที่อุทยัพพยญาณเกิดแล้ว

. ลักษณะเป็นอย่างไร

สุ. โอภาส คือ แสงสว่าง ก็มี เพราะว่าวิปัสสนูปกิเลสมีถึง ๑๐ อย่าง ไม่ใช่มีอย่างเดียว

. เป็นของที่มีจริง ใช่ไหม

สุ. เวลาที่จิตสงบถึงขั้นที่เป็นวิปัสสนาญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดรูปได้ แล้วแต่ว่าความสว่างนั้นจะน้อยหรือจะมากตามกำลังของความสงบ แต่ถ้าเป็น วิปัสสนูปกิเลส เป็นอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๑๐ อย่างได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นทั้ง ๑๐ อย่าง เพราะฉะนั้น ถ้าจิตของบุคคลนั้นไม่สงบถึงขั้นที่จะทำให้เกิดโอภาส คือ แสงสว่างขึ้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลสอื่น ไม่จำเป็นต้องเป็นแสงสว่าง

. อย่างที่จิตสงบแล้วว่าง ไม่มีอะไร อย่างนี้เป็นลักษณะอะไร

สุ. ลักษณะที่จิตสงบว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย ในขณะไหน

. ขณะที่จิตเป็นสมาธิ

สุ. จิตเป็นสมาธิต้องมีอารมณ์ที่ทำให้จิตตั้งมั่นคง จิตจะตั้งมั่นคงสงบ โดยไม่มีอารมณ์ปรากฏให้จิตสงบไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องมีลักษณะของอารมณ์ที่ทำให้จิตมนสิการหรือตั้งมั่นในอารมณ์นั้นด้วยกุศลจิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเป็นฌานจิต คือ อัปปนาสมาธิที่แนบแน่นในอารมณ์ ก็ต้องเป็นสมาธิขั้นต้น คือ บริกรรมสมาธิก่อน และเมื่อจิตสงบขึ้นๆ ใกล้ต่อการที่จะถึงฌานจิต จึงจะเป็นอุปจารสมาธิ เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า จิตสงบต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ และมหากุศลญาณสัมปยุตต์ คือ ขณะที่ประกอบด้วยปัญญา ในขณะนั้นต้องมีปัญญา ไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไร แม้แต่ในการอบรมเจริญสมถภาวนา ขณะนั้นก็ต้องเป็น มหากุศลญาณสัมปยุตต์ก่อนที่จะเป็นรูปาวจรจิต เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นจะชื่อว่า สงบไหม ที่ไม่มีอะไรปรากฏ ว่างเปล่า

. สงบ

สุ. สงบได้อย่างไร ในเมื่อต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งผู้ที่มีสัมปชัญญะต้องเป็นผู้ที่รู้อย่างดี รู้ถูกต้อง ต้องมีปัญญาเกิด ในขณะนั้น จึงรู้อย่างถูกต้องในลักษณะของจิตที่สงบและในลักษณะของอารมณ์ ที่ปรากฏ จึงสงบได้

เพราะฉะนั้น ในขณะที่ว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย ขณะนั้นสงบไหม

การที่จะพิจารณาธรรม ต้องมีเหตุผล เพราะว่าขณะนี้ยังไม่ต้องถึงขณะนั้นก็ได้ ขณะนี้สงบไหม เริ่มจากเดี๋ยวนี้เลย ทุกอย่าง การอบรมเจริญ ไม่ว่าจะเป็น สมถภาวนาก็ดี วิปัสสนาภาวนาก็ดี ตรวจสอบได้ในขณะนี้เองว่า ในขณะนี้สงบไหม ถ้าจะพูดถึงสมถภาวนา ขณะนี้สงบไหม

. ไม่สงบ

สุ. และเวลาที่ว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย พิจารณาดีๆ ว่า ขณะนั้นสงบไหม เพราะถ้าสงบต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์

มหากุศลญาณสัมปยุตต์ คือ ขณะนั้นต้องมีปัญญารู้ชัดในลักษณะของอารมณ์ที่จิตสงบเมื่อน้อมพิจารณาถึงอารมณ์นั้น หรือในขณะที่จิตตั้งมั่นในอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น ขณะที่ว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย ขณะนั้นสงบไหม

. มีโลภะ ไม่สงบ

สุ. และขณะนั้นไม่ใช่ว่างเปล่า แต่เป็นอาการของความไม่รู้ในอารมณ์ที่ปรากฏ พอใจที่จะทำอย่างนั้นไหม

. เวลาเกิดอารมณ์อย่างนั้น ความพอใจก็เข้ามา

สุ. ความพอใจนั้นแสดงแล้วว่าไม่ใช่มหากุศลญาณสัมปยุตต์ เป็นโลภะ และขณะนั้นก็ไม่ใช่ความสงบ

เพราะฉะนั้น อย่าพอใจเพียงการทำสมาธิ หรือโดยใช้ชื่อว่า ทำสมถะ เพราะถ้าไม่ศึกษาเรื่องของสมถภาวนาจริงๆ ขณะนั้นก็ต้องเป็นมิจฉาสมาธิ

. อย่างนั้นก็เป็นอกุศล

สุ. เป็นอกุศล

. การเจริญสติปัฏฐาน ยังมีผู้เข้าใจสับสนกันอยู่มาก เพราะเข้าใจว่า ต้องหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน วิธีที่จะทำให้เราเข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐานไม่จำเป็นต้องหา ต้องศึกษาทำความเข้าใจอย่างไรที่จะไม่คิดว่าต้องไปหาอารมณ์มาพิจารณา คือ การเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้องจะต้องทำอย่างไร

สุ. ไม่ต้องหา เพราะว่าขณะนี้มีอารมณ์ที่สติจะระลึกได้แล้ว

. หมายความว่า อารมณ์มีอยู่แล้ว

สุ. ทุกขณะ เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย อย่างเห็นในขณะนี้ก็มี

. อารมณ์ของสติปัฏฐาน ไม่ต้องหา

สุ. จะไปหาที่ไหน

. แต่ที่จะหานั้นคืออะไร ต้องหาปัญญาหรือเปล่า ต้องศึกษา ต้องหาความเข้าใจให้เกิดได้เสียก่อน เพราะถ้าหากไม่มีความเข้าใจ ก็จะไปหาอารมณ์ของ สติปัฏฐานอยู่ตลอดเวลา คิดว่าต้องไปหาอารมณ์ เมื่อได้อารมณ์แล้วจะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น ความเข้าใจโดยมากจะเป็นอย่างนี้ จึงไปหากัมมัฏฐานกัน คิดว่า ได้กัมมัฏฐานแล้วปัญญาจะเจริญขึ้น เท่าที่ผมสังเกตดูความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ จะเป็นอย่างนี้ โดยไม่ได้ตั้งต้นให้ถูกก่อนว่า ต้องหาความรู้ความเข้าใจก่อน ถ้ายังไม่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่มีโอกาสเจริญสติปัฏฐานได้ อย่างนี้จะถูกต้องไหม

สุ. ต้องเข้าใจว่า เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นคือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่จำเป็นต้องไปหาอารมณ์ หรือ ไม่จำเป็นต้องไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด ในขณะนี้เอง เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ข้อสำคัญ คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็ได้ยินได้ฟังมามาก ทั้งในขั้นของการศึกษาปริยัติที่เป็นอภิธรรม หรือบางท่านอาจจะอ่านพระสูตร ศึกษาค้นคว้าก็ทราบได้ว่า ไม่มีอะไรเลยนอกจากนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น และธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

ข้อความสั้นๆ เพียงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา และไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น เท่านี้เอง ขอให้รู้จริงๆ จนประจักษ์แจ้ง แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพียงสั้นๆ อย่างนี้ ไม่มีผู้ใดสามารถ ประจักษ์แจ้งได้ จึงต้องทรงแสดงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียดแต่ละลักษณะ พร้อมทั้งเหตุปัจจัยมากมาย เพื่อให้พิจารณาแล้วพิจารณาอีก ฟังแล้วฟังอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็เรื่องของขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึกในขณะนี้เอง

เพราะฉะนั้น ถ้าจะเปลี่ยนการบรรยาย เป็นการเตือนด้วยการกล่าวถึงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพื่อว่า สติปัฏฐานของใครจะเกิดระลึกทันที นั่นคือผลของการฟัง นั่นคือประโยชน์ที่สุดของการฟัง ไม่ใช่เป็นการเพียงจำเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมไว้มากโดยไม่รู้จุดประสงค์ แต่ฟังเพื่อเกื้อกูลให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพรู้ในขณะนี้ แล้วแต่ว่าใครจะระลึกสภาพรู้ทางตาในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ก็เป็นปกติอย่างนี้ ซึ่งสภาพรู้ทางตาในขณะนี้แยกจากสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่ได้เข้ามาสู่ตัว ไม่มีสมบัติที่เห็นว่าเป็นของเรา อย่างหนึ่งอย่างใดจะเข้ามาสู่ภายในร่างกายได้เลย เมื่อปรากฏขณะใดก็เพียงปรากฏภายนอก คือ ปรากฏทางตาให้เห็นเท่านั้น เพราะฉะนั้น การน้อมพิจารณาถึงสิ่งที่กำลังปรากฏโดยนัยของอายตนะภายใน ภายนอก จะทำให้เข้าใจลักษณะของนามธรรม ธาตุรู้ ซึ่งเป็นภายใน

คำว่า ภายใน ขอให้พิจารณาแยกจากสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นภายนอก รูปารมณ์ที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นภายนอก อยู่ข้างนอก ปรากฏข้างนอก จิตไม่ได้ออกไปข้างนอกที่จะไปรู้รูปารมณ์ แต่ในขณะที่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาปรากฏ ในขณะนี้เอง เพราะมีธาตุรู้ซึ่งกำลังเป็นภายใน คือ เห็น นี่โดยนัยของอายตนะ

มนายตนะเป็นภายใน รูปารมณ์เป็นภายนอก เวลาประจักษ์แจ้งก็ประจักษ์แจ้งอย่างนี้

สำหรับวิปัสสนาญาณขั้นต่อไป คงจะกล่าวเพียงเล็กน้อยสั้นๆ เพราะว่า เป็นเรื่องที่ต้องประจักษ์แจ้งชัดด้วยตนเองเมื่อปัญญาสมบูรณ์ แต่เป็นแนวทางให้เข้าใจว่า ไม่ใช่เพียงขั้นที่จะอ่านและพิจารณา และคิดว่าได้บรรลุญาณนั้น ญาณนี้แล้ว

ขอกล่าวถึงวิปัสสนาญาณที่ ๘ คือ นิพพิทาญาณ หรือนิพพิทานุปัสสนา ซึ่งอีกไกลแสนไกล ไม่ใช่จะเกิดได้อย่างง่ายๆ หรือว่าโดยรวดเร็ว แต่ถ้าข้อปฏิบัตินั้นถูกแล้ววันหนึ่งต้องเกิด นี่เป็นความอุ่นใจ นี่เป็นความมั่นใจที่เมื่อสัมมาสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมและศึกษา เมื่อศึกษาย่อมจะต้องเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเพิ่มขึ้นในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะรู้ว่าตั้งแต่เกิดจนตาย เห็นเป็นสภาพรู้ ได้ยินเป็นสภาพรู้ ได้กลิ่นเป็นสภาพรู้ ลิ้มรสเป็นสภาพรู้ กระทบสิ่งที่เย็นร้อนอ่อนแข็งเป็นสภาพที่รู้เย็นร้อนอ่อนแข็ง และขณะที่กำลังคิดนึกต่อจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็คือนามธรรมเท่านั้น

นี่คือสิ่งที่จะต้องรู้จนกระทั่งปัญญาเพิ่มขึ้น สมบูรณ์ขึ้นเป็นวิปัสสนาญาณตามลำดับขั้น จนถึงวิปัสสนาญาณที่ ๘ เป็นนิพพิทาญาณ หรือนิพพิทานุปัสสนา เป็นญาณที่ประจักษ์แจ้งลักษณะที่เกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ด้วยความรู้ชัด ในความหน่าย ในการคลาย

อาทีนวญาณเห็นเป็นโทษ แต่เมื่อถึงนิพพิทาญาณ เป็นความรู้ชัดใน ความหน่ายในนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงเป็นนิพพิทาญาณ ซึ่งละความสำคัญหมายรู้ในนามธรรมและรูปธรรมว่าน่ายินดีได้

เปิด  239
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565