แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1728

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๓๐


นามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวัน บางครั้งก็มีลักษณะที่น่าชื่นใจ บางครั้งก็มีลักษณะที่น่ายินดี น่าพอใจ น่าติดข้อง ถ้าพิจารณาโดยละเอียดจะเห็นระดับขั้นของความติด ความพอใจในนามธรรมและรูปธรรมในวันหนึ่งๆ ซึ่งมีมากต่างกัน เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะถึงความสมบูรณ์ที่จะปรุงแต่งให้เกิดการหน่าย การคลายจากความยินดียึดมั่นในนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนได้ ก็ต้องอบรมจนถึงความสมบูรณ์ของวิปัสสนาญาณที่เป็นนิพพิทาญาณ

เพราะฉะนั้น คิดดู จะยากสักแค่ไหน ในชีวิตประจำวัน ซึ่งในแสนโกฏิกัปป์ ก็ไม่เคยหน่าย คลายความพอใจ ความยึดมั่นในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ท่านที่พอใจในรูปภาพสวยๆ เห็นรูปภาพสวยๆ ครั้งใดก็อยากได้ คิดดูว่า วันไหนจะหน่าย จะคลาย จะเห็นว่าไม่น่าชื่นใจไม่น่ายินดีอีกต่อไป

ต้องเป็นเรื่องจริง ต้องเป็นปัญญา ต้องเป็นความรู้ชัดจึงสามารถทำให้เกิดความหน่ายความคลายได้โดยถูกต้อง ไม่ใช่เป็นความเบื่อ ซึ่งความเบื่อเป็นลักษณะ ที่ติด พอใจ อยากได้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแต่ไม่ได้ จึงเบื่อ

ความหน่ายไม่ใช่เป็นความเบื่อ ความเบื่อเป็นอกุศลจิต เป็นโทสมูลจิต แต่ความหน่ายนั้นด้วยปัญญาเพราะประจักษ์แจ้งในสภาพที่แท้จริงของสิ่งซึ่งเคยเป็น ที่ชื่นใจ ที่ยินดี เพราะฉะนั้น จะเห็นความต่างกัน และการที่ปัญญาจะสมบูรณ์จริงๆ และหน่ายด้วยปัญญาจริงๆ ต้องตามลำดับขั้น จนถึงวิปัสสนาญาณที่เป็น นิพพิทาญาณ

ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดถี่ถ้วนจริงๆ และไม่ได้อบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมเข้าใจผิดในนิพพิทาญาณ เพราะว่าส่วนใหญ่จะได้ยินคำถามหรือคำบอกเล่าของบางท่านที่ว่า ท่านผู้นั้น ท่านผู้นี้ ได้บรรลุถึงนิพพิทาญาณ แต่ท่านที่กล่าวไม่มี ข้อวินิจฉัย เพียงแต่ได้รับฟังมาอย่างไรก็เข้าใจไปอย่างนั้น โดยไม่ได้ศึกษาว่า นิพพิทาญาณคืออย่างไร

การไม่ศึกษาทำให้เข้าใจนิพพิทาญาณผิด และอาจคิดว่า การบรรลุถึง นิพพิทาญาณนั้นไม่ยาก ซึ่งถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็หมายความว่า ไม่เข้าใจลักษณะของนิพพิทาญาณ และไม่เข้าใจเหตุที่จะให้บรรลุถึงนิพพิทาญาณ

เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาโดยความถี่ถ้วนรอบคอบจริงๆ อย่างบางท่าน สอนให้ละ ฟังดูไม่ยาก อย่าติด อย่ายึดถือ ละเสีย ไม่ต้องยินดี ไม่ต้องพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในเห็น ในได้ยิน ดูเหมือนกับว่าง่าย บอกให้ ละเสียๆ ทำให้ผู้ที่มีความเลื่อมใสเห็นว่าเป็นคำสอนที่ถูกต้อง เพราะว่าสอนให้ละ เพราะฉะนั้น ก็เกิดศรัทธาที่จะละโดยรักษาศีล ๘ และบางท่านก็ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ คิดว่าเมื่อปฏิบัติเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จะค่อยๆ คลายกิเลสไปเรื่อยๆ และไม่นานจะ เป็นพระอริยบุคคล ซึ่งบางท่านคิดว่า ถ้าเป็นอุบาสกก็คงจะเป็นพระอนาคามี และ ถ้าเป็นพระภิกษุก็จะถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะจากการสนทนากับบางท่าน ท่านบอกว่า ท่านได้รับคำสอนเรื่องการปฏิบัติจากพระอรหันต์

เพราะฉะนั้น การที่บางท่านสามารถรักษาศีล ๘ ตามความคิดที่ว่า ละเสียๆ ละไปเรื่อยๆ และไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ทำให้คนที่ดูเผินๆ ภายนอกมีความเลื่อมใส เพราะไม่ได้ศึกษาเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาก็เข้าใจว่า ผู้ที่สามารถปฏิบัติ อย่างนั้นต้องละคลายกิเลสไปพอสมควรทีเดียว โดยไม่เฉลียวใจเลยว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สัจจธรรมอะไร และทรงแสดงหนทางข้อปฏิบัติที่ทำให้รู้ แจ้งอริยสัจจธรรมอย่างไร

นี่เป็นสิ่งที่ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ จะใช้คำว่า นิพพิทาญาณ หรือวิปัสสนาญาณโดยง่าย และเข้าใจว่าได้บรรลุโดยข้อปฏิบัติอื่น ซึ่งไม่ใช่การอบรมเจริญสติรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษา จะไม่มีคำว่า นิพพิทาญาณ หรือวิปัสสนาญาณใดๆ เลย

เพียงแต่ว่าให้ละเสียๆ และรักษาศีลไปๆ จะเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งบางท่านก็คิดว่าได้มีผู้ที่เป็นพระอนาคามีบ้างแล้วสำหรับอุบาสก และมีหลายท่านที่เป็น พระอรหันต์แล้วสำหรับผู้ที่เป็นบรรพชิต บางท่านก็นั่งทำสมาธิ และคิดเรื่องสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ทุกอย่างเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปไม่ยั่งยืน ขณะนั้นก็เลยเบื่อ เพราะเห็นว่าสังขารทั้งหลายที่ไม่ยั่งยืนนั้นก็เป็นทุกข์ ซึ่งขณะนั้นก็เข้าใจเองว่า ความเบื่อนั้นเป็นนิพพิทาญาณ และเมื่อไปถามท่านผู้ที่สอนให้ปฏิบัติ ถ้าผู้ใดบอกว่าเป็นนิพพิทาญาณก็เชื่อ เพราะว่าอยากจะถึงนิพพิทาญาณอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น เรื่องวิปัสสนาญาณไม่ใช่เรื่องที่ฟังใครพูดและก็เชื่อ แต่เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาพิจารณาให้เหตุสมควรแก่ผลจริงๆ ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตื่นเต้นง่ายเวลาที่ได้ยิน ได้ฟังใครบอกว่า ท่านผู้นี้ได้ฌาน หรือท่านผู้นี้ได้วิปัสสนาญาณ ท่านผู้นี้ถึง นิพพิทาญาณ หรือท่านผู้นี้เป็นพระโสดาบัน ท่านผู้นี้เป็นพระอรหันต์

ขออนุโมทนาท่านผู้ฟัง ที่ท่านยังไม่ซาบซึ้งในวิปัสสนาญาณต่างๆ เพราะ เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญด้วยปัญญาของท่านเองจริงๆ เพื่อให้บรรลุผลอย่างถูกต้องจริงๆ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นผู้ที่สนใจแต่เรื่องผล โดยไม่ได้พิจารณาเหตุให้ตรงว่า การที่วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยปัญญาที่อบรมเจริญขึ้นอย่างไร และธรรมในชีวิตประจำวันเป็นเครื่องสอบปัญญาของทุกท่านอย่างดีที่สุด ซึ่งไม่จำเป็นต้องถามบุคคลอื่น ในขณะที่หลงลืมสติ ในขณะที่มีสติ ในขณะที่ศึกษา ในขณะที่พิจารณา และปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้น

คงจะมีท่านผู้ฟังหลายท่านที่อาจจะได้ยินมิตรสหายบางท่านบอกว่า เบื่อโลก ซึ่งเมื่อกี้ก็ได้ยินท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านปรารภว่า มีเพื่อนของท่านคนหนึ่งเบื่อโลก แต่ท่านผู้นั้นที่เบื่อโลกรู้จักหรือยังว่า โลกคืออะไรที่จะเบื่อ

ถ้ายังไม่รู้จักว่า โลกคืออะไร ขณะนั้นที่กล่าวว่าเบื่อโลก ก็เป็นแต่เพียงไม่ชอบความรู้สึกที่เป็นทุกข์ เป็นโทมนัสเวทนาต่างๆ เท่านั้นเอง แต่ถ้าโทมนัสเวทนานั้น หมดสิ้นไป ท่านผู้นั้นคงไม่กล่าวว่าเบื่อโลก เพราะยังไม่ได้รู้จักโลกพอที่จะกล่าวว่า หน่ายหรือคลายความติดความพอใจในโลก

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เบื่อโลกโดยที่ไม่รู้จักโลก ในขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต ไม่ใช่ปัญญา เพราะว่าเบื่อทุกข์ โดยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ แต่เบื่อ โทมนัสเวทนาบ้าง เบื่อทุกขเวทนาบ้าง

มีท่านผู้ฟังที่เริ่มรู้สึกเบื่อๆ บ้างไหม หรือยังไม่เบื่อ ยังไม่แม้แต่จะคิดเบื่ออะไรสักอย่างเดียว ซึ่งตามความเป็นจริง ตั้งแต่เกิดมาจนถึงเดี๋ยวนี้ ถ้าพิจารณาจริงๆ แม้ว่ายังไม่ใช่วิปัสสนาญาณที่เป็นนิพพิทาญาณ แต่ถ้าพิจารณาไตร่ตรองถึงความยาก ความลำบากของการที่ชีวิตจะต้องดำเนินไป จะเห็นได้ว่า เป็นสภาพที่น่าจะหน่าย น่าจะคลายแม้เพียงในขั้นคิด ยังไม่ต้องถึงขั้นประจักษ์แจ้งด้วยวิปัสสนาญาณ

ถ้าขณะใดที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ความรู้สึกเบื่อในขณะนั้น ถ้าสติเกิด ระลึกรู้จะเห็นสภาพของโทมนัสเวทนา หรืออกุศลจิต ซึ่งต่างกับขณะที่เป็นกุศลจิต ซึ่งเบื่อโดยที่ไม่ใช่เฉพาะในความรู้สึกที่เป็นทุกข์หรือโทมนัสเท่านั้น แต่ต้องในขณะที่ไม่ใช่ทุกข์โทมนัสก็ยังพิจารณาและเห็นความลำบาก ความทุกข์ยากของการที่ชีวิตจะต้องดำเนินไป

บางท่านเบื่อที่เป็นผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ขี้โรค หรือพิการ ไม่สมประกอบ คนที่มีร่างกายแข็งแรงสดชื่น กระปรี้กระเปร่า สนุกสนานร่าเริง สมประกอบ กับ คนที่ร่างกายอ่อนแอ ขี้โรค พิการ ไม่สมประกอบ นี่ก็เป็นความต่างกัน แต่จิตใจของทั้ง ๒ ท่าน แล้วแต่ว่าจะประกอบด้วยกุศล หรืออกุศล หรือปัญญาที่จะพิจารณาสภาพธรรมในขณะนั้น

ในขณะที่ป่วยไข้หรือมีโรคภัยร้ายแรง ในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เบื่อแบบไหน เบื่อโลก หรือเบื่อลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่พ้นไปจากโลก เมื่อมีการเกิดขึ้น

เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งพิจารณาได้ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะว่า ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งร่างกายเติบโตแข็งแรง จนกระทั่งถึง วัยชราที่ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ความจำหรือกำลังเรี่ยวแรงก็ถดถอย ปวดเมื่อย อวัยวะน้อยใหญ่ย่อหย่อน อินทรีย์วิกลวิการ ฟันหัก เนื้อหนังเหี่ยวย่น ตามัว รูปร่างหน้าตาก็เปลี่ยนไป

อาจจะไม่เบื่อสำหรับบางท่าน หรือถ้าจะเบื่อก็ด้วยอกุศลจิตอีก ซึ่งข้อความใน อรรถกถา ทุกขสัจนิทเทส ปฏิสัมภิทามรรค กล่าวว่า

อันที่จริงทุกข์นี้มีอยู่ในโลกตลอดกาล

ผู้ที่มีปัญญาจะไม่เว้นเลยที่จะรู้ว่า ทุกขณะเป็นทุกข์

ประโยชน์อะไรที่จะต้องพูดมากไปในกาลไหนๆ มิใช่หรือ

คือ ไม่จำเป็นต้องจาระไน เพราะเป็นทุกข์ไปเสียทุกสิ่งทุกอย่างทุกประการ ไม่ว่าจะในเรื่องการบริโภค การที่บริโภคแล้วก็เป็นทุกข์อีก ปวดท้อง เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าพิจารณาจริงๆ แล้ว ประโยชน์อะไรที่จะต้องพูดมากไปในกาลไหนๆ มิใช่หรือ

ทุกข์เว้นจากชาติเสียแล้วก็มีไม่ได้ เพราะพระผู้มีพระภาคผู้ทรงแสวงหา คุณยิ่งใหญ่ตรัสถึงชาตินี้ว่าเป็นทุกข์ก่อนทุกข์อื่นทั้งหมด ดังนี้

ถ้าจะรู้ที่มาของทุกข์ ต้องรู้ว่า ชาติคือความเกิดขึ้นนั่นเองนำมาซึ่งทุกข์ ทั้งปวง ถ้าเพียงแต่ไม่มีชาติ ความเกิด ทุกข์ทั้งหลายย่อมจะมีไม่ได้

เพราะฉะนั้น การเกิดของอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

โดยสภาพของขันธ์ ๕ นั้นก็เป็นทุกข์อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีการยึดถือขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นทุกข์ด้วยความเป็นของเรา หรือด้วยความเป็นตัวตนอีก เพราะฉะนั้น คิดดู ความทุกข์นั้นจะเพิ่มสักแค่ไหน ทั้งๆ ที่ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง ก็ยังยึดถือสภาพที่เกิดดับ ไม่เที่ยงนั้นว่าเป็นของเราด้วย

ทุกข์ทั้งหลายถ้าไม่มีชาติ คือ ความเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหลายก็มีไม่ได้เลย การเกิดของอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ดุจไฟกำจัดเชื้อไฟ ดุจหญ้าและเถาวัลย์เกิดบนแผ่นดิน ดุจดอกไม้ ผลไม้ และใบไม้อ่อน เกิดในต้นไม้

นี่เป็นคำอุปมาที่น่าคิด ลักษณะของทุกข์อยู่ที่ไหน ทุกข์อยู่ที่ขันธ์ ๕ ดุจไฟกำจัดเชื้อไฟ

ไฟไม่ได้กำจัดอย่างอื่นเลยนอกจากเชื้อไฟ เพราะฉะนั้น ทุกข์ที่เกิดก็เพราะ ขันธ์ ๕ เกิด ไม่ใช่นอกไปจากขันธ์ ๕ เลย เมื่อมีขันธ์ ๕ ก็มีทุกข์ เพราะฉะนั้น อุปมาเหมือนไฟกำจัดเชื้อไฟ หรือดุจหญ้าและเถาวัลย์เกิดบนแผ่นดิน ถ้าไม่มีแผ่นดิน หญ้าและเถาวัลย์ก็เกิดไม่ได้ ดุจดอกไม้ ผลไม้ และใบไม้อ่อน เกิดในต้นไม้

ถ้าพิจารณาพระธรรม จะค่อยๆ เห็นความจริง แม้แต่ลักษณะที่เป็นทุกข์ของขันธ์ ๕

ข้อความต่อไปแสดงว่า

ชาติเป็นทุกข์ในเบื้องต้นของอุปาทานขันธ์ ชราเป็นทุกข์ในท่ามกลาง มรณะเป็นทุกข์ในที่สุด โสกะเป็นทุกข์ที่ถูกเผาผลาญ เพราะเหตุว่าเมื่อความโศกเกิดขึ้นนั้นย่อมดุจไฟเผาผลาญ หรือว่าดุจถูกแทงด้วยลูกศรอาบยาพิษ

คนที่กำลังโศกจะรู้จักดี และในชีวิตทุกคนต้องโศก ซึ่งในขณะที่กำลังโศก ลักษณะของความโศกดุจไฟเผาผลาญ ขณะนั้นไม่มีความสุขเลย หรือดุจถูกแทงด้วยลูกศรอาบยาพิษ ใครก็ตามที่กำลังโศกเศร้าจะมีความรู้สึกอย่างนี้จริงๆ

ปริเทวะเป็นทุกข์ด้วยการพร่ำเพ้อ เพราะทนทุกข์นั้นไม่ได้

บางคนโศก ไม่ได้แสดงออก แต่บางคนโศกก็อดที่จะกล่าวคำรำพันไม่ได้ แล้วแต่ว่าจะพร่ำเพ้อมากน้อยเพียงใด ก็ตามกำลังของความทุกข์นั้น

ทุกขะเป็นทุกข์ด้วยความเจ็บป่วยของร่างกาย เพราะสัมผัสอันไม่น่าปรารถนา กล่าวคือ ธาตุกำเริบ ย่อมบีบคั้นกาย และให้เกิดทุกข์ใจยิ่งขึ้น

เวลาที่ธาตุกำเริบ คือ ธาตุทั้ง ๔ ไม่สม่ำเสมอ ทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ เป็นทุกขเวทนาทางกาย ใจก็เป็นทุกข์ไปด้วย ยากนักยากหนาที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่เป็นทุกขเวทนาที่ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐานจริงๆ ไม่ใช่ว่าชีวิตประจำวันไม่เจริญสติปัฏฐาน และคอยเวลาเจ็บป่วยขึ้น จะเจริญสติปัฏฐาน เพื่อจะได้ไม่เกิดทุกข์ใจ นั่นเป็นสิ่งที่หวังไม่ได้เลย

โทมนัสเป็นทุกข์ด้วยการรบกวนทางใจ เพราะเกิดปฏิฆะ ความขึ้งเครียด ในโทมนัสของผู้ถูกโทมนัสนั้นเบียดเบียน

ความทุกข์ใจเป็นชื่อของความลำบากใจ มีลักษณะบีบคั้นทางใจ และนำมาซึ่งความทุกข์ทางกายด้วย

คนที่ทุกข์ใจมากๆ จะมีทุกข์กายติดตามมา นอนไม่หลับกระสับกระส่าย และคิดมาก ปวดศีรษะ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จะติดตามมา รับประทานอาหารไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้เพิ่มความทุกข์ เพราะว่าไม่ใช่แต่เฉพาะทุกข์ใจอย่างเดียว ทุกข์กาย ก็จะติดตามมาด้วย

อุปายาสะเป็นความทุกข์ใจที่มีกำลัง

ข้อความในอรรถกถา อุปมาลักษณะของความทุกข์ คือ โสกะ ปริเทวะ อุปายาส ว่า

โสกะ พึงเห็นเหมือนน้ำหุงข้าวด้วยไฟอ่อน น้ำเดือดอยู่ภายในภาชนะ

ทุกคนหุงข้าวกันบ่อยๆ ประจำวัน เวลาที่ไฟอ่อนและมีน้ำเดือดอยู่ในภาชนะนั้น เป็นลักษณะของโสกะซึ่งเป็นทุกข์อยู่ภายใจ

พึงเห็นปริเทวะเหมือนน้ำหุงข้าวด้วยไฟแรง น้ำข้าวก็เดือดล้นออกนอกภาชนะ

พึงเห็นอุปายาสเหมือนน้ำหุงข้าวส่วนที่เหลือจากที่ล้นออกไม่เพียงพอที่จะ ออกได้ น้ำข้าวที่หุงก็จะหมดสิ้นไปภายในภาชนะนั่นเอง

ค่อยๆ แห้งลง นั่นคือลักษณะของอุปายาส

การประสบกับสัตว์และสังขารอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ การพลัดพรากจากสังขารอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ การไม่ได้สมความปรารถนาก็เป็นทุกข์

ทุกคนยังไม่หน่าย ต่อให้พรรณนาทุกข์สักเท่าไรๆ ก็ตาม ถ้าปัญญายังไม่ถึงนิพพิทาญาณจริงๆ ไม่มีทางเลยที่จะหน่าย แม้ว่าจะฟังเรื่องทุกข์ แม้ว่าทุกข์เกิด แต่ทุกข์นั้นก็ดับ ไม่ใช่ว่าทุกข์นั้นจะตั้งอยู่ยั่งยืน เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ เกิดต่อจากนั้นก็ยังเป็นที่ชื่นใจ หรือเป็นที่น่ายินดีได้ ถ้าปัญญายังไม่เจริญขึ้นจริงๆ

เปิด  282
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565