แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1729

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๐


ในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร วิปัสสนาญาณก็ไม่ใช่ปัญญาที่เห็นอย่างอื่น แต่เห็นสภาพธรรมที่กำลังเป็นทุกข์ต่างๆ เหล่านี้ โดยลักษณะที่ไม่ใช่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน สามารถรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ที่เกิดขึ้นและดับไป ถ้าสติระลึกบ่อยๆ เนืองๆ วันหนึ่งย่อมสามารถประจักษ์ได้จริงๆ

เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงเรื่องของนิพพิทาญาณเพียงย่อๆ แต่จะกล่าวถึง พระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้เป็นอันมากที่จะเป็นเหตุให้เจริญกุศล เพื่อให้เกิด นิพพิทาญาณ

ทุกชีวิตต้องดำเนินต่อไปในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งแต่ละชาติๆ ก็ไม่พ้นไปจาก เกิด แก่ เจ็บ และก็มีความทุกข์โศกนานาประการ มีการเห็นสิ่งที่น่าพอใจ ไม่น่าพอใจบ้าง และถ้าไม่อาศัยพระธรรม ไม่มีทางเลยที่สติปัญญาจะน้อมพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งเจริญกุศลขึ้น เพราะว่าการสะสมของอกุศล ยังมีกำลังที่ในวันหนึ่งๆ อกุศลจะต้องเกิดมากกว่ากุศล

เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันของแต่ละท่านที่ได้ฟังพระธรรมมาพอสมควร เคยพิจารณาถึงผลบ้างหรือยัง ยังไม่ต้องเป็นนิพพิทาญาณ เพียงแต่ผลที่ได้ฟัง พระธรรมที่จะเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล ไม่มีอะไรอื่นเลย

แม้แต่ในเรื่องของสติปัฏฐาน ในเรื่องของวิปัสสนาญาณ ในเรื่องของพระธรรมทั้งหมด ก็เพียงแต่อัญเชิญพระพุทธพจน์ที่ทรงพร่ำสอนเพื่อให้ผู้ฟังทุกท่านได้พิจารณาด้วยความแยบคาย ด้วยความถูกต้อง ด้วยการเห็นโทษของอกุศล และอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ

มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ มหาสุญญตสูตร ว่าด้วยกถาวัตถุ ๑๐ ข้อ ๓๕๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ สาวกไม่ควรจะติดตามศาสดาเพียงเพื่อฟังสุตตะ เคยยะ และ ไวยากรณ์เลย

คือ ไม่เพียงเพื่อฟังปริยัติเท่านั้น

นั่นเพราะเหตุไร เพราะธรรมทั้งหลายอันพวกเธอสดับแล้ว ทรงจำแล้ว คล่องปากแล้ว เพ่งตามด้วยใจแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยความเห็นเป็นเวลานาน ดูกร อานนท์ แต่สาวกควรจะใกล้ชิดติดตามศาสดาเพื่อฟังเรื่องราวเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ เรื่องมักน้อย เรื่องยินดีของของตน เรื่องความสงัด เรื่องไม่คลุกคลี เรื่องปรารภความเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ

ข้อความในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษของความคลุกคลี คือ การคบหาสมาคม แม้แต่การที่จะติดตามศาสดาก็ไม่ใช่เพียงเพื่อฟังปริยัติ แต่เพื่อประพฤติปฏิบัติตาม นี่เป็นประโยชน์ของการฟัง เพื่อที่จะละการคลุกคลี

คิดดู ชีวิตตั้งแต่เกิด เมื่อมีความเป็นตัวตน มีความเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ มีการที่จะต้องอยู่ร่วมกันกับหลายบุคคล ก็ควรที่จะพิจารณาว่า ในวันหนึ่งๆ ชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายของการที่ต้องอยู่ร่วมกัน อยู่ร่วมกันด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง ไม่พ้นเลย แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อให้ละการคลุกคลี เพราะถึงแม้จะมีท่านผู้ใดที่เห็นโทษของการคลุกคลีด้วยกายและปลีกตัวออกไป แต่เมื่อใจยังคิดถึง ขณะนั้นก็ยังชื่อว่าคลุกคลีในความคิดนึก เพราะฉะนั้น คิดถึงกิเลสว่า มากมายหนาแน่นสักแค่ไหน กว่าจะเริ่มเห็นชีวิตว่า ต้องละคลายจากบุคคลอื่น จากความ คลุกคลี จนกระทั่งถึงการละคลายจากขณะของอุปาทานขันธ์ที่เกิดขึ้น ที่จะไม่ยึดถือว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา

นี่เป็นการหน่าย หรือคลายจากกิเลสจริงๆ มิฉะนั้นถ้าไม่พิจารณาพระธรรมโดยละเอียด จะมีชีวิตดำเนินต่อไปเพียงการฟังปริยัติเท่านั้น

ครั้นนั้นพระองค์ได้มีพระดำริดังนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าการอยู่เป็นคณะนี้ ได้ประพฤติปฏิบัติกันมาในวัฏฏะแล้ว เหมือนน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำ การอยู่เป็นคณะก็ได้ประพฤติกันมาแล้วในนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย และอสุรกายก็มี ในมนุษย์โลก เทวโลก และพรหมโลกก็มี

การที่จะทรงแสดงธรรมให้เห็นโทษ แสดงถึงความจริงเรื่องของการที่แต่ละชีวิตต้องอยู่เป็นหมู่คณะ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่มีมานาน และไม่ใช่แต่ในมนุษย์ แม้ในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย และอสุรกายก็มี ในมนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลกก็มี

นรกหมื่นโยชน์แน่นไปด้วยสัตว์ทั้งหลาย เหมือนทะนานที่เต็มไปด้วยผงดีบุก

แน่นมากไหม ทะนานที่เต็มไปด้วยผงดีบุก

ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมู่ปลวกในจอมปลวกแห่งหนึ่งย่อมจะประมาณ หรือกำหนดไม่ได้

ในบ้านหนึ่งๆ ต้องน้อยกว่าปลวกในจอมปลวก และแต่ละครอบครัว คิดดู รวมเป็นประเทศชาติ รวมเป็นโลก ความติด ความยึดมั่น จะแผ่ขยายไปสักแค่ไหน

และหมู่มดแดงเป็นต้น แม้ในรังแต่ละรังเป็นต้นก็เหมือนกัน แม้ในพวกเปรต พวกอสุรกาย มนุษย์ เทวโลก พรหมโลก ก็อยู่กันเป็นคณะ

เพื่อที่จะทรงชี้แจงให้เห็นโทษ ก็ทรงยกตัวอย่างของการที่อยู่รวมกันเป็นคณะ

แต่นั้นทรงดำริว่า เราบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ ถึง ๔ อสงไขยแสนกัป ก็เพื่อกำจัดการอยู่รวมเป็นคณะ แต่ภิกษุเหล่านี้ นับจำเดิมแต่นี้ไป ภิกษุเหล่านี้ย่อม เกาะกลุ่มยินดีในหมู่ กระทำกรรมไม่สมควรเลย

พระองค์ทรงเกิดธรรมสังเวชเพราะภิกษุทั้งหลายเป็นเหตุ ทรงพระดำริว่า ถ้าเราจักบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุ ๒ รูปไม่พึงอยู่ในที่เดียวกัน แต่ไม่สามารถจะบัญญัติได้

เพราะพระบัญญัติทุกอย่างต้องสมบูรณ์ด้วยเหตุผล เมื่อไม่ประกอบสมบูรณ์ด้วยเหตุผล ถึงแม้ว่าเป็นสิ่งที่ควร แต่ก็ไม่ใช่ข้อที่จะพึงบัญญัติ

พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า ฉะนั้น เราจะแสดงพระสูตรชื่อมหาสุญญตาปฏิบัติ ซึ่งจักเป็นเหมือนการบัญญัติสิกขาบทสำหรับกุลบุตรผู้ใคร่ต่อการศึกษา และเหมือนกระจกสำหรับส่องหมู่สัตว์ทุกหมู่เหล่าที่วางไว้ ณ ประตูเมือง แต่นั้นกษัตริย์เป็นต้น เห็นโทษของตนในกระจกบานหนึ่ง ละโทษนั้น ย่อมเป็นผู้หาโทษมิได้ ฉันใด แม้เมื่อเราปรินิพพานแล้วล่วงไปถึง ๕,๐๐๐ ปี กุลบุตรทั้งหลายย่อมระลึกถึงพระสูตรนี้ จะบรรเทาความเป็นหมู่ ยินดีในความอยู่ผู้เดียว จักกระทำที่สุดแห่งวัฏฏทุกข์ได้

ทุกพระสูตรไม่พ้นไปจากการให้เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่มีทางเป็นผู้ที่อยู่ผู้เดียวได้

เพราะฉะนั้น กระจกที่ทุกคนเห็นทุกวัน ไม่ควรเป็นกระจกที่เพียงส่องให้ เห็นกาย แต่ควรส่องให้เห็นถึงจิตด้วย โดยหนทางเดียว คือ สติปัฏฐาน นอกจากนั้นพระธรรมทั้งหมดก็เหมือนกระจกที่ส่องให้ทุกคนระลึกถึงลักษณะของจิตของตนเอง ในขณะที่ฟังพระธรรม หรือในขณะที่ประสบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะความยินดีในการอยู่ผู้เดียวนั้นไม่ใช่ด้วยกาย ต้องเป็นผู้ที่อบรมจิต จึงจะยินดี ในการอยู่ผู้เดียวด้วยปัญญาได้

ข้อความในอรรถกถามีว่า

ก็ถ้าภิกษุผู้บวชใหม่ผู้มีความรู้ต่ำบางรูปจะพึงกล่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดีแต่นำพวกเราออกจากหมู่ ประกอบไว้ในความโดดเดี่ยว เหมือนชาวนานำโคที่ เข้าไปสู่นาออกจากนา ส่วนพระองค์เองทรงแวดล้อมไปด้วยพระราชาและ ข้าราชบริพารเป็นต้น เพราะฉะนั้น พระตถาคตแม้จะประทับนั่งท่ามกลางบริษัท มีจักรวาลเป็นที่สุด ก็ทรงเริ่มเทศนานี้ เพื่อจะทรงแสดงว่าเป็นผู้อยู่โดดเดี่ยว เพื่อจะไม่ให้โอกาสภิกษุบางรูปพูดจ้วงจาบได้

นี่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของจิตซึ่งแต่ละคนก็ช่างคิดไปต่างๆ จนกระทั่งภิกษุซึ่งบวชใหม่มีความรู้ต่ำบางรูปอาจจะคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงแวดล้อมด้วยบริษัท แต่ก็ให้พวกตนเป็นผู้ที่อยู่โดดเดี่ยว

ผู้ที่เลิศด้วยการอบรมจิต คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ข้อความในอรรถกถามีว่า

พระผู้มีพระภาคสำเร็จสีหไสยาสน์ในพระคันธกุฎีภายหลังภัตตาหาร ออกจากสีหไสยาสน์แล้วประทับนั่งเข้าพลสมาบัติ

โดดเดี่ยวไหม

ในสมัยนั้น บริษัททั้งหลายย่อมประชุมกันเพื่อฟังธรรม ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเวลาแล้ว เสด็จออกจากพระคันธกุฎี ตรงไปยังพุทธอาสน์ ทรงแสดงธรรม ไม่ให้เวลาล่วงไป เหมือนบุรุษผู้ถือเอาน้ำมันที่หุงไว้สำหรับประกอบยา ทรงส่งบริษัทไปด้วยจิตที่น้อมไปในวิเวก

ในขณะที่ทรงแสดงพระธรรมนั่นเอง ด้วยพระสติสัมปชัญญะ และทรงสลับกับพลสมาบัติ นี่เป็นความวิเวกของผู้ที่อบรมจิตอย่างเลิศประเสริฐที่สุด

นับจำเดิมแต่พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุ พระโพธิญาณแล้ว แม้วิญญาณทั้ง ๑๐ ของพระองค์ก็น้อมไปเพื่อพระนิพพานอย่างเดียว

ไม่ว่าจะทางตาเห็นอะไร ทางหูได้ยินอะไร ทางจมูกได้กลิ่นอะไร ทางลิ้นลิ้มรสอะไร ทางกายสัมผัสอะไร จิตของผู้อื่นเป็นอกุศลหมด แต่สำหรับ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าน้อมไปเพื่อพระนิพพานอย่างเดียว

เพราะฉะนั้น ข้อความในพระสูตรนี้ที่ทรงแสดง เกื้อกูลอย่างยิ่งที่ให้เห็นโทษของการอยู่เป็นหมู่คณะ เพียงเพื่อการฟังพระปริยัติ แต่ถ้าเพื่อประโยชน์แล้ว เมื่ออยู่รวมกันเป็นคณะ ก็เพื่อฟังพระธรรมและน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ตามข้อความที่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วจากพระตถาคต ย่อมละอกุศล เจริญกุศล

นี่คือพระธรรมที่ทรงพร่ำสอนจริงๆ เพราะฉะนั้น หลังจากที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว ถ้าไม่พิจารณาจิตของตนเอง ขาดประโยชน์ หรือว่าได้รับประโยชน์จากการฟัง

พระอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วจากพระตถาคต ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ดังนี้ เป็นอันทำตนให้ เป็นพหูสูต เหมือนทหารที่พรั่งพร้อมด้วยอาวุธ ๕ อย่าง

ก็เพราะภิกษุแม้ถึงจะเรียนสุตตปริยัติ แต่ไม่ปฏิบัติอนุโลมปฏิปทาสมควรแก่สุตตปริยัตินั้น เธอย่อมชื่อว่าไม่มีอาวุธนั้น ส่วนภิกษุใดปฏิบัติ ภิกษุนั้นแหละจึงชื่อว่ามีอาวุธ

ภัยอันตรายรอบด้าน เพราะฉะนั้น จะมีอาวุธหรือไม่มีอาวุธก็อยู่ที่สติปัญญาของแต่ละบุคคลจริงๆ ว่า เมื่อฟังแล้วให้เป็นกระจกส่องถึงจิต และต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล เจริญธรรมที่ไม่มีโทษที่เป็นกุศลด้วย

ข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้มีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ ก็เหล่าสาวกย่อมเรียกร้องศาสดาด้วยความเป็นข้าศึก ไม่ใช่เรียกร้องด้วยความเป็นมิตรอย่างไร

ทั้งๆ ที่เป็นสาวก แต่ก็มีสาวกที่เป็นข้าศึกกับพระผู้มีพระภาค และมีสาวก ที่เป็นมิตรกับพระผู้มีพระภาค

ดูกร อานนท์ ศาสดาในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี้เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เธอ นี้เพื่อความสุขแก่พวกเธอ เหล่าสาวกของศาสดานั้นไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ และประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา ดูกร อานนท์ อย่างนี้แล เหล่าสาวกชื่อว่าเรียกร้องศาสดาด้วยความเป็นข้าศึก ไม่ใช่เรียกร้องด้วยความเป็นมิตร

ส่วนเหล่าสาวกชื่อว่าเรียกร้องศาสดาด้วยความเป็นมิตร ไม่ใช่เรียกร้องด้วยความเป็นข้าศึก ก็โดยนัยตรงกันข้าม คือ ย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้ และไม่ประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของพระศาสดา

ข้อความตอนท้ายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ เราจักไม่ประคับประคองพวกเธอเหมือนช่างหม้อประคับประคองภาชนะดินดิบที่ยังดิบๆ อยู่ เราจักข่มแล้วๆ จึงบอก จักยกย่องแล้วๆ จึงบอก ผู้ใดมีแก่นสาร ผู้นั้นจักตั้งอยู่

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล

รู้จักตัวเอง ใช่ไหม เรียกร้องพระผู้มีพระภาคด้วยความเป็นข้าศึก หรือ ด้วยความเป็นมิตร ไม่ต้องมีคนอื่นบอก แต่ใครก็ตามที่ตั้งใจจงใจไม่ประพฤติตาม ผู้นั้นเรียกร้องศาสดาด้วยความเป็นข้าศึก ไม่เรียกร้องด้วยความเป็นมิตร

ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงสั่งสอนหนเดียวแล้วนิ่งเสีย แต่จะตำหนิแล้วสั่งสอน คือ พร่ำสอนบ่อยๆ

สำหรับมูลเหตุที่ทรงตำหนิแล้วทรงพร่ำสอนแสดงพระสูตรนี้ ก็เนื่องจาก สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารนิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท

เมื่อเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาพระกระยาหารแล้ว จึงเสด็จเข้าไปยังวิหารของเจ้ากาฬเขมกศากยะ พระผู้มีพระภาคทรงทอดพระเนตรเห็นเสนาสนะ ที่แต่งตั้งไว้มากด้วยกัน

คือ มีทั้งเตียง ตั่ง ฟูก หมอน เสื่อ

จึงทรงมีพระดำริดังนี้ว่า ในวิหารของเจ้ากาฬเขมกศากยะนี้ มีภิกษุอยู่มากมายหรือหนอ

นี่ไม่ใช่เป็นข้อสงสัย เพียงแต่เป็นการปรารภ เพราะตามปกติแล้วภิกษุจะไม่อยู่รวมกันมากมายอย่างนั้น ซึ่งภายหลังท่านพระอานนท์กราบทูลว่า พวกสาวกกำลังกระทำจีวรกัน เพื่อให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า การที่ภิกษุอยู่รวมกันนั้นก็เพื่อช่วยกันทำจีวร ไม่ใช่ว่าอยู่รวมกันโดยไม่มีกิจ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ กัมมสมัยก็ดี อกัมมสมัยก็ดี จีวรกาลสมัยก็ดี อจีวรกาลสมัย ก็ดี จงยกไว้ ภิกษุที่ยินดีด้วยการคลุกคลีย่อมไม่งามเลย เธออย่าได้ช่วยเหลือในฐานะที่ไม่ควรช่วยเหลือ

เพียงแต่ท่านพระอานนท์กราบทูลให้ทรงทราบว่า ที่ภิกษุอยู่รวมกันเพื่อที่จะกระทำจีวรเท่านั้น แต่พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า เธออย่าได้ช่วยเหลือในฐานะที่ไม่ควรช่วยเหลือ เพราะว่าควรที่จะข่มอกุศล และควรที่จะยกย่องกุศล ถ้าเป็นผู้ที่ยังยินดีการคลุกคลีก็ต้องชี้โทษ ให้เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลทั้งหลายจริงๆ และขณะใดที่เป็นกุศลก็ทรงยกย่อง นี่คือพระธรรมที่ทรงพร่ำสอน เพราะฉะนั้น แม้จะช่วยเหลือกันทำ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ไม่ควรช่วยกันด้วยความคลุกคลี คือ ด้วยโลภะหรือด้วยโทสะ

และเหตุที่ภิกษุทั้งหลายกระทำจีวร ก็เพราะว่าเมื่อคนทั้งหลายได้ถวายผ้าจีวรแก่ท่านพระอานนท์ ท่านก็ได้ชวนภิกษุหลายรูปไปทำจีวรกรรมในวิหารนั้น

แม้ภิกษุเหล่านั้นนั่งแต่เริ่มร้อยเข็มแต่เช้าตรู่ ลุกขึ้นในเวลาไม่ปรากฏ เมื่อเย็บเสร็จแล้วภิกษุเหล่านั้นคิดว่า จักจัดเสนาสนะ แต่ก็ยังไม่ทันได้จัด พระผู้มีพระภาคก็เสด็จมา และได้ยินว่า ท่านพระอานนท์เถระคิดว่า พระผู้มีพระภาคจะทรงเห็นเสนาสนะทั้งหลายที่ภิกษุเหล่านี้ยังไม่ได้เก็บไว้แน่แท้ ด้วยประการฉะนี้ พระศาสดาจักไม่ทรงพอพระทัยประสงค์จักกำราบ เราจักช่วยเหลือภิกษุเหล่านี้ พระเถระจึงทูลว่า พระเจ้าข้า ภิกษุเหล่านี้มิใช่มุ่งแต่การงานอย่างเดียวเท่านั้น แต่อยู่อย่างนี้โดยจีวรกิจ

เปิด  258
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565