แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1731

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๐


สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สัญโยชนสูตร ข้อ ๑๘๕

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเทวดาว่า

โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้ วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละตัณหาเสียได้ขาด จึงเรียกว่า นิพพาน

เพียงเท่านี้เอง แต่เป็นความจริงซึ่งไม่มีใครปฏิเสธได้ทุกภพทุกชาติ โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้ แสดงให้เห็นว่า ทุกวันต้องมีความติด ความพอใจในโลก ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในทุกอย่างที่เกิด แม้ว่าสิ่งนั้นจะดับไปเมื่อไม่ประจักษ์ก็ยังเป็นที่เพลิดเพลินยินดี โดยที่วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น

ข้อความในอรรถกถามีว่า

บทว่า วิตักกัสสะ วิจารณา ได้แก่ วิตก เป็นเท้าของโลก

ทุกขณะจิตจะไปทางไหนก็เพราะวิตกหรือวิตกเจตสิกเป็นเท้าของโลก นั่งอยู่ที่นี่ คิด ไปแล้ว มีเท้าก้าวไปสู่อารมณ์นั้น คือ วิตกเจตสิกนั่นเอง หรือแม้แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาที่เห็นดับแล้ว ก็ไปอีก ไปสู่ความนึกคิดถึงลักษณะที่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะว่าวิตกเจตสิกเป็นเท้าของโลก

ทุกวันๆ ไม่ได้ขาดขณะจิตซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไปเลย เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีความสำคัญซึ่งเป็นเท้าของโลกที่ก้าวไปเรื่อยๆ สู่ขณะจิตที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง สูงบ้าง ต่ำบ้าง

ถ้าเป็นอกุศลวิตกก็นำไปสู่ทางต่ำ คิดก็ต่ำ วาจาก็ต่ำ การกระทำก็ต่ำ เพราะว่าเป็นอกุศล ใจก็ผูกโกรธ วาจาก็ทำลายคนอื่นได้ กิริยาอาการก็ทำให้คนอื่นเดือดร้อนได้ นั่นคือสภาพของอกุศลวิตกซึ่งเป็นมรรค เป็นหนทางที่นำไปสู่อบายภูมิ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย แต่อยู่ทุกๆ ขณะ ในชีวิตประจำวัน เมื่อเห็น เมื่อได้ยิน เมื่อได้กลิ่น เมื่อลิ้มรส เมื่อรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เมื่อคิดนึก

สำหรับกุศลวิตก เป็นวิตกฝ่ายสูง ฝ่ายดี นำขึ้นสู่สวรรค์ หรืออาจจะถึง รูปพรหมและอรูปพรหม หรือนิพพาน เพราะว่าวิตกเจตสิกเป็นองค์ของมรรคหนึ่ง ในมรรคมีองค์ ๘ เป็นสัมมาสังกัปปะซึ่งเกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิถ้าเป็นอริยมรรค มีองค์ ๘ แต่ถ้าเป็นทางผิด ดำริผิด ก็เกิดร่วมกับความเห็นผิดได้

วิตก สำคัญไหม มีอยู่แล้ว และกำลังมี และจะมีอยู่ต่อไป แต่ถ้าขาดการพิจารณาว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ก็ไม่มีทางทำให้กุศลวิตกเจริญขึ้น เพราะย่อมเป็นอกุศลวิตกมากกว่ากุศลวิตก คือ เป็นไปกับโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง

. ในชีวิตประจำวันทุกวันที่อาจารย์พูดถูกต้อง ส่วนมากเป็นอกุศลวิตกทั้งนั้น โอกาสที่จะเป็นกุศลวิตกนั้นยาก ซึ่งอาจารย์ก็ได้เตือนสติว่า วิตกเป็น สัมมาสังกัปปะ เป็นหนึ่งในมรรค ๘ แต่ชีวิตประจำวันเราก็ไม่เคยนึกเลยว่า วิตกนั้นคือ สัมมาสังกัปปะ และที่เราระลึก เราก็ไม่ได้ระลึกว่าเป็นอกุศลวิตก ส่วนมากจะคิดนึกเป็นเรื่องเป็นราวอย่างที่อาจารย์กล่าว เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว โอกาสที่จะเป็นกุศลวิตก คือ ระลึกในนาม ในรูป ระลึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็น้อย เมื่อน้อยโอกาสที่จะหน่ายเป็นปัญญาขั้นมุญจิตุกัมยตาปัญญา ผมว่า ยังอีกไกลแสนไกล

สุ. ไกลแน่นอน ต้องอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ โดยการฟัง พระธรรมโดยละเอียด ความเป็นผู้ละเอียดในการฟังพระธรรมจะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้น แม้ก่อนนี้อาจจะไม่เห็นความสำคัญของความคิดหรือวิตกเจตสิกเลย แต่ขอให้ทราบว่า ชีวิตทั้งชีวิตสำคัญที่ไหน สุขหรือทุกข์อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ความคิดนั่นเอง ถ้าคิดดีเป็นกุศลวิตก ไม่มีทุกข์ แต่ขณะใดที่มีทุกข์ ให้ทราบว่า ขณะที่เป็นทุกข์นั้นเองเป็นอกุศลวิตก

บางท่านอาจจะได้ยินได้ฟังเรื่องไร้สาระที่คนอื่นอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ท่าน จิตขณะนั้นเป็นอย่างไร กุศลวิตกหรือว่าอกุศลวิตก ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย ขณะที่กำลังเดือดร้อน ขณะนั้นไม่ใช่ทุกข์นั้นเกิดจากคนอื่น แต่อกุศลวิตกทำให้เป็นทุกข์

ถ้าเป็นคนฉลาดก็รู้ว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นจริงๆ ถ้าเพียงแต่ไม่สนใจ ไม่เดือดร้อน ได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยิน เห็นก็เหมือนไม่เห็น และก็มีเมตตา ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังอะไรก็ตามแต่ ขณะนั้น ไม่เดือดร้อนเลยจริงๆ

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นกุศลวิตกเกิด ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าเป็นอกุศลวิตก ควรจะระลึกได้ว่า ความทุกข์ทั้งหมด ความเดือนร้อนใจทั้งหมด ความกระวนกระวายทั้งหมดมาจากอกุศลวิตกที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

ปัญญาจะทำให้เห็นประโยชน์ของการเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง และไม่ว่าชีวิตในวันหนึ่งๆ ของแต่ละบุคคลจะได้ประสบกับอนิฏฐารมณ์ใดๆ ก็ตาม ถ้าสติเกิดระลึกได้ วิตกเจตสิกเกิดกับสัมมาสติ เกิดกับสัมมาทิฏฐิ ในขณะนั้นจะ ไม่เป็นทุกข์เลย

เพราะฉะนั้น ควรเป็นผู้ละเอียดจริงๆ ที่จะพิจารณาวิตกเจตสิกซึ่งเกิดกับตนเองในแต่ละวัน เพราะว่าตามปกติชีวิตส่วนใหญ่ในวันหนึ่งๆ ไม่มีทั้งมิจฉาทิฏฐิ และสัมมาทิฏฐิ ใช่ไหม นอกจากผู้ที่สติปัญญาเกิดมาก สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมบ่อยๆ ในขณะนั้นก็เป็นสัมมาทิฏฐิที่เกิดร่วมกับสัมมาสังกัปปะ หรือ วิตกเจตสิกในขณะนั้นเมื่อเกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิที่ระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ขณะนั้นก็จรดในลักษณะที่เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น สำหรับผู้นั้นในขณะนั้นก็มีสัมมาทิฏฐิที่เกิดร่วมกับวิตกซึ่งเป็นสัมมาสังกัปปะ แต่ว่าคิดดู ในวันหนึ่งๆ ขณะนั้นมีมากหรือมีน้อย

ในวันหนึ่งๆ ส่วนใหญ่ไม่มีทั้งสัมมาทิฏฐิและมิจฉาทิฏฐิ นอกจากบางขณะ และถ้าขณะใดที่ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในภาวนา ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลวิตก

นี่เป็นข้อเตือนใจ ใช่ไหม ถ้าจะมองตัวเองให้ถูกต้องว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีแม้แต่ชื่อที่คนอื่นเรียก ชื่อจริงๆ นั้นไม่มี เป็นแต่เพียงหมายรู้ เท่านั้นเองสำหรับชาติหนึ่ง แต่ชื่อจริงๆ ไม่มีลักษณะปรากฏให้ถือเอาได้ว่าเป็นของเรา

ถ้ารู้จักสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ จะทำให้พิจารณาวิตกเจตสิกได้ชัดเจนถูกต้องละเอียดขึ้น โดยเริ่มรู้ว่า วันหนึ่งๆ มีอกุศลวิตกมาก ถูกหรือผิด เริ่มรู้อย่างนี้เป็นการดี เพื่อที่จะได้รู้จักตัวเองว่า มีกิเลส มีอกุศลที่จะต้องขัดเกลาด้วยการฟัง พระธรรม ด้วยการอบรมเจริญปัญญา และสำหรับอกุศลวิตกในวันหนึ่งๆ ควรที่จะพิจารณาว่า มีหลายขั้น ตั้งแต่ขั้นที่มีโทษน้อย จนกระทั่งถึงขั้นที่มีโทษมาก

ขณะที่ไม่รู้สึกกระวนกระวายเดือดร้อน ไม่ใช่ว่าขณะนั้นไม่มีอกุศลวิตก แต่เป็นอกุศลวิตกที่มีโทษน้อย เพราะว่าไม่ทำให้เดือดร้อน กระวนกระวาย

ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ถ้ากุศลใดๆ ไม่เกิด ขณะนั้นเป็น อกุศลวิตก แต่ไม่รู้สึกเดือดร้อน เพียงแต่บริหารร่างกาย ดำเนินชีวิตไปเป็นปกติประจำวัน ทำกิจการงานต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ ขณะนั้นไม่ใช่อกุศลวิตกที่มีโทษมาก แต่ขณะใดที่รู้สึกเดือดร้อน ขณะนั้นถ้าพิจารณาสภาพของจิตก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็น อกุศลวิตกที่มีโทษมาก

ถ้าเป็นอกุศลวิตกที่เป็นการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับการดำเนินชีวิต ไม่ใช่การทำลาย ก็มีโทษน้อย เช่น อกุศลวิตกในการศึกษาค้นคว้าวิชาการต่างๆ ทางโลก อกุศลวิตกอย่างนั้นไม่เป็นโทษมาก

ข้อที่น่าคิด น่าพิจารณา ที่น่าจะรู้สึกตัวให้มีสติเกิดขึ้น คือ เมื่ออกุศลวิตกที่เป็นขั้นทำลายตัวเองและบุคคลอื่นที่เป็นอกุศลกรรมเกิดขึ้น มีไหมในวันหนึ่งๆ หรือ ทำไปโดยไม่คิดเลย

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งพระธรรมเกื้อกูลมากสำหรับผู้ที่เป็นสาวก คือ ฟังแล้วพิจารณา และน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย เพราะถ้าผู้ใดฟังแล้ว จงใจที่จะไม่ประพฤติปฏิบัติตาม หรือจงใจที่จะหลีกเลี่ยง ผู้นั้นไม่ใช่สาวก คือ ไม่ใช่ ผู้ที่ฟังแล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตาม

ต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ลักษณะของอกุศลวิตกในวันหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอกุศลวิตกของตนเอง เพราะส่วนใหญ่มักจะคิดถึงอกุศลของคนอื่น แต่ตามความ เป็นจริงเมื่อไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย ก็เป็นเพียงชั่วขณะจิตที่เกิดขึ้นและคิดเท่านั้นเอง หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลในสิ่งที่กำลังคิด หรือขณะจิตที่คิดไม่ได้เลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไป

. เพราะว่ามีวิตกเจตสิกเกิดขึ้น จึงคิดถึงเรื่องราวต่างๆ และที่ว่าเป็นกุศลหรืออกุศลวิตกนั้น เราหมายถึงเรื่องที่คิด หรือตัวที่คิด

สุ. วิตกเจตสิกเป็นอกุศล

. หมายถึงตัวที่ประกอบกับจิต ไม่ใช่อยู่ที่เรื่องราวที่คิด ถ้าเรื่องราว เป็นอกุศล แต่จิตของเราไม่เป็นอกุศล ได้ไหม

สุ. ยกตัวอย่าง

. อย่างที่อาจารย์ยกตัวอย่างว่า คิดอยากจะไปฟังธรรมที่ศาลาสุธรรมา บนสวรรค์ ถ้าเราคิดว่า ได้ไปฟังที่นั่นจะเป็นการดี จะได้เจริญปัญญา ถ้าคิดอย่างนี้เป็นกุศลหรือไม่

สุ. อยากหรือเปล่า

. ถ้าคิดเพียงว่า ถ้าได้ฟังก็เป็นการดี

สุ. ตัวที่คิดนั่นอยากไหม พิจารณาดู ถ้าเป็นตัวของท่านผู้ฟังเองที่คิด อย่างนั้น

. ก็ยังพิจารณาไม่ออก สมมติผมคิดว่า ถ้าได้เกิดที่นั่นและได้ฟังธรรม ก็เป็นการดี อย่างนั้นไม่ทราบว่าอยากหรือเปล่า

สุ. เรื่องของกุศลและอกุศลเป็นสภาพธรรมที่ละเอียดที่ยากจะรู้จริงๆ แต่ถ้าเพียงอยาก หรือเกิดอยาก ให้ทราบว่าในขณะนั้นต้องเป็นอกุศล เหมือนกับบางท่านที่บอกว่าอยากมีสติ ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ก็ต้องเป็นอกุศล เพราะไม่ต้องอยาก สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมทันทีได้ แต่ขณะที่อยาก ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล

. สมมติว่าเรื่องที่ถูกคิดเป็นอกุศล เช่น เราคิดถึงกิเลสที่เราเคยมี และ กิเลสเป็นอกุศล ...

สุ. เวลาที่จิตคิดถึงอกุศลที่เคยมี ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะต้องพิจารณาว่า ขณะนั้นจิตที่คิดมีลักษณะอย่างไร

. หมายเอาปัจจุบันที่เป็นตัวคิดนั่นเอง ไม่ใช่ตัวที่ถูกคิด

สุ. ถูกต้อง อยากมีเมตตาไหม ฟังแล้วก็น่าจะอยาก เวลาพูดถึงเมตตา เป็นสภาพธรรมที่เย็น อโทสะ ไม่ทำความเดือดร้อนกระสับกระส่ายกระวนกระวายเลย

อยากมีเมตตาไหม ถ้าอยากมีเมตตาขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล นี่เป็นความละเอียด คิดดู อยากมีเมตตา เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

ไม่อยากก็เป็นอกุศล อยากก็เป็นอกุศล ก็เหมือนกัน

แต่ถ้าไม่อยากนี่ยิ่งแย่ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเมตตาเป็นสภาพธรรมที่ดี ไม่ทำความเดือดร้อนให้ ก็ยังไม่อยากจะมีเมตตา

เปิด  264
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565