แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1732
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๐
ถ. อยากมีเมตตาเป็นอกุศล ผมก็ปฏิเสธว่า ผมไม่อยากมี ก็เป็นอกุศลอีก
สุ. ทั้ง ๒ อย่าง
ถ. ถ้าอย่างนั้น ผมก็ไม่รู้ว่าจะอยากหรือไม่อยากมี
สุ. มิได้ มีเมตตาทันทีได้ ไม่ต้องอยาก ขณะนี้มีท่านผู้ฟังที่นี่มากมาย หลายท่าน มีเมตตาได้ทันที ไม่ว่าจะตาเห็นอะไรมีเมตตาทันที ได้ยินเรื่องอะไรที่ น่าจะโกรธก็ไม่โกรธเลย สงสารคนที่มีอกุศลอย่างนั้นๆ ขณะนั้นไม่ใช่ว่าต้องอยาก มีเมตตา แต่เมตตาเกิดทันที
ถ. ถ้าอยากมีก็เป็นอกุศล ไม่อยากมีก็เป็นอกุศล
สุ. ไม่ใช่ต้องอยากมีหรือไม่อยากมี แต่เมตตาทันทีเมื่อเข้าใจสภาพของจิต
ถ. ผมกำลังงงอยู่ว่า จะมีหรือไม่มีดี
สุ. ไม่ต้องคิดอยาก หรือคิดไม่อยาก มีเมตตาทันทีที่เห็น เพราะถ้าทุกคนมัวแต่อยาก อยากมีเมตตา อยากมีปัญญา อยากมีสติ อยากเกิดที่นั่น อยากเกิดที่นี่ ในขณะนั้นเป็นเรื่องของอยากทั้งนั้น หรือแม้แต่อยากทำบุญ โดยไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วเมตตาเกิดเป็นบุญทันที แทนที่จะโกรธ แต่ไม่โกรธ
ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใดเล่าเรื่องการกระทำของคนที่ไม่ดีให้ฟัง ชีวิตประจำวันมีอย่างนี้บ้างไหม คิดดู มี ใช่ไหม และขณะนั้นจะทำอย่างไร จะร่วมโกรธเคืองไปด้วย หรือเปล่า พิจารณาถึงชีวิตที่ผ่านมา เพื่อจะได้รู้ว่าผิดหรือถูก
วิตกในวันหนึ่งๆ ซึ่งเกิดไม่หยุดเลย นอกจากขณะที่เป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ถ้าใครเขาโกรธคนอื่นและเราก็พลอยร่วมโกรธไปด้วย ถูกหรือผิด ควรทำอย่างไร
ควรแสดงโทษของความหวั่นไหวของอกุศลจิตของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็ตาม ขณะโกรธ ขณะนั้นหวั่นไหวไปด้วยเรื่องที่ได้ยิน หวั่นไหวไปด้วยสิ่งที่ปรากฏ ทางตา หวั่นไหวไปตามความคิดนึก เพราะฉะนั้น ควรที่จะเห็นโทษของอกุศล ที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ในมหาสุญญตสูตรซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว คงจะเป็นประโยชน์ถ้าจะระลึกถึงบ่อยๆ ที่ว่า เธออย่าได้ช่วยเหลือในฐานะที่ไม่ควรช่วยเหลือ
ในวันหนึ่งๆ คิดดู ถ้าคนอื่นเล่าเรื่องที่น่าโกรธเคือง หรือความประพฤติที่ไม่ดีของบุคคลอื่น และเราช่วยให้เขาเกิดโกรธมากๆ ถูกหรือผิด ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ก็ลืมคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธออย่าได้ช่วยเหลือในฐานะที่ไม่ควรช่วยเหลือ คือ ไม่ควรช่วยเหลือให้ใครโกรธกันยิ่งขึ้น แต่ควรชี้ให้เห็นโทษ และในขณะนั้นเอง ไม่ได้ร่วมโกรธเคืองไปด้วย แต่ต้องเป็นผู้มีเมตตาจริงๆ
ถ้ามีคนที่มีความประพฤติไม่ดี และคนอื่นก็อยากให้ท่านพลอยโกรธไปด้วย เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ควรที่จะระลึกถึงพระกรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคต่อ ท่านพระเทวทัต ท่านพระราหุล หรือช้างธนบาล มีความเมตตาเสมอกันไม่ว่ากับ ผู้ที่เป็นคนดี หรือผู้ที่มีความประพฤติที่ไม่ดี เพราะว่าแต่ละคนมีกิจที่จะต้องรักษาจิตของตนเอง
ถ้ายังไม่เคยเห็นอกุศลวิตกของท่านเอง ขอให้พิจารณาจริงๆ เวลาที่มีเหตุการณ์แต่ละอย่างเกิดขึ้นว่า จิตของท่านในขณะนั้นเป็นอย่างไร เป็นผู้ที่น้อมประพฤติพรหมวิหารในชีวิตประจำวัน คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือว่าพลอยเป็นไปด้วยเมื่อคนอื่นอยากให้ท่านพลอยโกรธเคืองไปด้วย
จะเห็นได้ว่า ขณะที่เป็นอกุศลวิตก ไม่มีทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา แม้อุเบกขา แต่เวลาที่กุศลจิตเกิด คิดตรงกันข้าม คือ เมื่อเมตตาแล้วก็คิดสงเคราะห์ช่วยเหลือ เพราะฉะนั้น ย่อมนำมาซึ่งกุศลต่างๆ เป็นอันมาก ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศลก็ตรงกันข้าม คือ ย่อมนำมาซึ่งความคิดที่จะเบียดเบียน คิดดู ความคิดที่จะเบียดเบียนตามหนังสือพิมพ์ที่อ่านมากมายสักแค่ไหน วิจิตรสักแค่ไหน สามารถเบียดเบียนกันได้ สักแค่ไหน และสำหรับแต่ละบุคคลในแต่ละภพแต่ละชาติ ถ้ายังไม่สามารถดับกิเลสได้ ก็ไม่มีใครรู้ว่า วันหนึ่งวันใดก็อาจจะกระทำกรรมอย่างนั้น
ถ้าพิจารณาอกุศลวิตกซึ่งเกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ เกิดกับโลภะก็คิดเป็นเรื่องของโลภะทั้งนั้น เกิดกับโทสะก็คิดเป็นเรื่องของโทสะทั้งนั้น เกิดกับมิจฉาทิฏฐิก็คิด ปรุงแต่งไปในเรื่องของความเห็นผิดทั้งนั้น เกิดกับมานะก็คิดสำคัญตนต่างๆ นานา มีความถือตน หรือความมัวเมาในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ หรือเกิดกับอิสสา เกิดกับมัจฉริยะ ก็ย่อมเป็นไปตามสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งอกุศลวิตกเกิดร่วมด้วย
ถ. ความคิดใคร่อยากจะพ้นทุกข์ เป็นแต่ความคิดอยากจะพ้นทุกข์ อย่างนี้ก็เป็นอกุศลจิต ใช่ไหม
สุ. ไม่เกิดปัญญาเลย เพราะว่าทุกคนมีทุกข์ และทุกคนก็ไม่ชอบทุกข์ ทุกคนก็ไม่อยากจะมีทุกข์ แต่เวลาที่เป็นสุข ไม่เคยคิดที่จะพ้นจากสุขด้วย ใช่ไหม
ถ. มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณนี้ประจักษ์จริงๆ ว่า สังขารเป็นทุกข์จริงๆ จึงอยากจะพ้น ต้องเป็นญาณอย่างนี้ใช่ไหม จึงจะไม่เป็นอกุศล
สุ. แน่นอน เพราะเป็นปัญญาที่ถึงความสมบูรณ์ หลังจากที่หน่ายเพราะเห็นโทษของการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม และเมื่อปัญญาอบรมเจริญต่อไป ความหน่ายก็เพิ่มขึ้นจนถึงระดับขั้นที่เป็นการใคร่ที่จะพ้น ด้วยปัญญา
ถ. แต่ถ้าคิดเบื่อหน่ายเรื่อยเปื่อย ก็เป็นอกุศล
สุ. ต้องเป็นอกุศล เพราะว่าปัญญาไม่เกิด
ถ. ถ้าเราคิดอยากถึงพระนิพพาน จึงมาศึกษาเล่าเรียนพระธรรม อยากให้มีความรู้ความเข้าใจเพื่อเป็นปัจจัยให้บรรลุพระนิพพาน เป็นอกุศลวิตกหรือเปล่า
สุ. ถ้าเข้าใจว่า นิพพาน คือ ธรรมที่ดับกิเลส และต้องอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่เพียงแต่อยาก แต่ศึกษาข้อปฏิบัติที่ถูกและอบรมเจริญ ข้อปฏิบัติที่ถูกด้วย แม้ไม่กล่าวออกมาเป็นคำว่า อยากบรรลุถึงนิพพาน หรือไม่ต้องคิด แต่ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นแสดงถึงความตั้งใจมั่นที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าจะถึง
ถ. ต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจของเราที่ศึกษาด้วยว่า มีความเข้าใจใน พระธรรมแค่ไหนที่จะเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน
สุ. ถูกต้อง
ถ. อีกอย่างหนึ่งเวลาเราทำบุญทำกุศลแล้ว สวดมนต์ไหว้พระ หรือทำบุญให้ทาน ก็ปรารถนาอยากให้ถึงพระนิพพาน ขอให้เป็นปัจจัยให้สิ้นกิเลสอาสวะ จะเป็นอกุศลวิตกด้วยหรือเปล่า
สุ. ขณะนั้นสติปัฏฐานเกิด ก็ถูกต้อง ระลึกรู้ลักษณะของจิตที่กำลังคิด ในขณะนั้นว่า เป็นแต่เพียงสภาพคิดซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แทนที่จะอยากอยู่เสมอ
ถ. อกุศลวิตกที่มีโทษมาก จะระลึกได้มากกว่าอกุศลวิตกที่มีโทษน้อยไหม
สุ. แล้วแต่บุคคล แล้วแต่ขณะจิต ไม่มีกฎเกณฑ์
ถ. อย่างอกุศลวิตกที่มีโทษน้อย ที่อาจารย์บอกว่า คิดไป เพลินไปใน การทำงานก็ดี หรือในการฟังเพลงก็ดี เป็นอกุศลวิตกที่มีโทษน้อย ก็มองไม่ค่อยเห็น ไม่เหมือนอย่างอกุศลวิตกที่มีโทษมาก อาจจะไปโดนทำร้าย รู้สึกว่าเป็นอกุศลวิตก ที่มีโทษมาก เพราะความโกรธจะเกิดขึ้นแผดเผาจิตใจขึ้นมาทันที ผมว่าน่าจะมี เหตุปัจจัยมากกว่าอกุศลวิตกที่มีโทษน้อย
สุ. ขณะที่ถูกอย่างนั้นแล้วจิตเป็นอย่างไร ก็โกรธ และจะระลึกได้อย่างไร ขณะที่ระลึกควรจะเป็นกุศล ใช่ไหม คือ ไม่เกิดความโกรธ
ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ มีสภาพธรรมในวันหนึ่งๆ ที่จะให้รู้ชัดได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน มีปกติฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรม ใคร่ครวญพระธรรม และเห็นประโยชน์ของพระธรรมจริงๆ ว่า พระธรรมทั้งหมด เพื่อเกื้อกูลให้สาวกคือผู้ฟังได้ประโยชน์ คือ ละคลายอกุศล
ทุกคนมีกิจที่จะต้องกระทำ อยู่ในโลกของตัวเอง คือ ละคลายอกุศล ไม่ใช่ว่าจะต้องพลอยเป็นไปตามบุคคลอื่นที่ต้องการจะให้ท่านเป็น
ถ้าใครอยากจะโกรธ ก็ช่วยไม่ได้ ใช่ไหม จะไปบอกให้คนโน้นว่าอย่าโกรธ ใครจะบอกได้ ใครจะทำได้ เพราะฉะนั้น เฉพาะตัวจริงๆ
เมื่อฟังพระธรรมแล้วจะพิจารณาอย่างไร ใครอยากจะโกรธ ก็โกรธไป หรือใครอยากจะเจริญเมตตา ก็เจริญไป อยู่ที่ว่าจะคิดอย่างฉลาด หรือจะคิดอย่างเขลา อย่างไม่ฉลาด อย่างโง่ นั่นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ
วันหนึ่งๆ สามารถรู้สึกตัวได้เมื่อเทียบกับเรื่องที่ได้ยินได้ฟังว่า เมื่อได้ฟังเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพื่อให้รัก หรือเพื่อให้ชังก็ตาม จิตใจในขณะนั้นหวั่นไหว หรือว่าเป็นกุศล
ถ. ที่อาจารย์บอกว่าให้เจริญเมตตาทันที หมายความว่าผู้นั้นต้องรู้ลักษณะของเมตตาด้วย ไม่อย่างนั้นเจริญไม่ได้ คือ ต้องมีสติปัฏฐานระลึกลักษณะของเมตตาด้วยจึงเจริญได้
สุ. การฟังเรื่องเมตตาก็เข้าใจลักษณะของเมตตาได้ เช่น เมตตาเป็นสภาพที่เป็นมิตร เป็นเพื่อน มีความหวังดีพร้อมที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่น ไม่ว่าใคร โดยไม่เลือก ก่อนหน้านี้อาจจะไม่ชอบหน้าคนนั้น ไม่ชอบหน้าคนนี้ เพียงแค่เห็นก็ไม่ชอบ คิดดูถึงอกุศลวิตกว่า ช่างคิดไม่ดีได้แค่ไหน ถ้าระลึกได้ว่า เพียงเห็นแล้วไม่ชอบ ไม่มีเหตุ อะไรเลย ไม่มีเหตุการณ์ที่ควรแก่การโกรธก็ยังเกิดไม่พอใจได้ ถ้ารู้สึกตัวอย่างนี้ ก็เปลี่ยนนิสัย และสติปัฏฐานช่วยเกื้อกูลอย่างมาก เพราะว่าเป็นปัจจัยให้สติทุกขั้น เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ท่อง แต่เป็นการรู้ลักษณะของจิตว่า ขณะที่ประกอบด้วยเมตตา ไม่โกรธ ต่างกับขณะที่กำลังโกรธหรือผูกโกรธ
ทุกท่านคงจะคุ้นเคยต่อการบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ธูปเทียน แต่ควรที่จะพิจารณาถึงพระพุทธประสงค์ในการทรงแสดงธรรม
การบูชาพระรัตนตรัยด้วยการฟังพระธรรม น้อมประพฤติปฏิบัติตาม เห็นโทษของอกุศล เห็นประโยชน์ของกุศล และเจริญกุศลยิ่งขึ้น ย่อมมีประโยชน์กว่าการ เพียงบูชาด้วยอามิสทั้งหลาย
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค โลกสูตร ข้อ ๑๙๖ มีข้อความว่า
เมื่ออายตนะภายใน ๖ เกิดขึ้นแล้ว อายตนะภายนอกนี้ก็ชื่อว่าเกิดขึ้นแล้ว โลกย่อมทำความชมเชยในอายตนะภายนอก ๖ โลกยึดถืออายตนะภายใน ๖ โลกย่อมเดือดร้อนในเพราะอายตนะภายนอก ๖ ดังนี้
เป็นข้อความที่สั้น แต่ครอบคลุมทุกขณะ ทุกชีวิตในโลก รวมทั้งหมด ทุกจักรวาล ถ้าพิจารณาพระธรรม จะสามารถเข้าใจและเห็นจริงในขณะนี้เอง ซึ่ง ทุกคนกำลังมีอายตนะภายใน ๖ คือ ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใจ ๑
เมื่ออายตนะภายใน ๖ เกิดขึ้นแล้ว อายตนะภายนอกนี้ก็ชื่อว่าเกิดขึ้นแล้ว
ขณะที่เห็นเป็นจิต จะไม่มีสิ่งที่ถูกเห็นไม่ได้เลย ต้องเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทางตา ขณะที่ได้ยินเสียง สภาพที่ได้ยินเป็นจิตเกิดขึ้นแล้ว จะไม่มีอายตนะภายนอกคือเสียงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่ได้ยิน อายตนะภายในเกิดขึ้นแล้ว อายตนะภายนอกนี้ ก็ชื่อว่าเกิดขึ้นแล้ว
ข้อความต่อไป ขอให้พิจารณาว่าเป็นความจริงเพียงไรที่ว่า
โลกยึดถืออายตนะภายใน ๖
เป็นเราในขณะที่เห็น เป็นเราในขณะที่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส คิดนึก
โลกย่อมเดือดร้อนในเพราะอายตนะภายนอก ๖ ดังนี้
สิ่งที่ผ่านมาให้เห็น ทำให้จิตใจหวั่นไหวเดือดร้อนอยู่เสมอด้วยโลภะ หรือโทสะ โมหะ และบริวารของอกุศลทั้งหลาย เช่น อิสสา มัจฉริยะ มานะ ความสำคัญตนต่างๆ เพราะฉะนั้น กำลังเดือดร้อนหรือเปล่า เวลาที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส
ถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ ไม่พิจารณาจริงๆ ไม่มีทางที่จะเข้าใจว่า พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเป็นความจริง ซึ่งต้องอาศัยการฟัง การอ่าน การพิจารณาพระธรรมแม้ว่าจะเป็นข้อความเพียงสั้นๆ แต่ก็สามารถพิสูจน์ได้ทุกๆ ขณะ
ขอยกตัวอย่างท่านพระอานนท์ และความละเอียดของวิตกเจตสิกของ ท่านพระอานนท์ ใน อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค จูฬสุญญตสูตร ข้อ ๓๓๓ มีข้อความว่า
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกาวิสาขามิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม พระนครสาวัตถี ท่านพระอานนท์เถระกระทำวัตร คือ กิจที่อุปัฏฐากควรกระทำแก่พระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ได้ไปสู่ที่พักกลางวันของท่าน เจริญสุญญตาพลสมาบัติมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ และออกจากพลสมาบัติตามเวลาที่กำหนด ท่านใคร่ที่จะได้ฟังสุญญตากถาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้อย่างพิสดาร ให้แจ่มแจ้ง แต่ท่านก็มีความคิดว่า ท่านเป็นผู้มีธุระมาก ไม่อาจกราบทูลขอให้ พระผู้มีพระภาคทรงโปรดตรัสสุญญตากถาแก่ท่าน
นี่คือวิตกเจตสิกของท่านพระอานนท์
ท่านจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สักยนิคม ชื่อนครกะ ในสักกชนบท ณ ที่นั้น ข้าพระองค์ได้สดับ ได้รับพระดำรัสนี้เฉพาะ พระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกร อานนท์ บัดนี้เราอยู่มากด้วยสุญญตาวิหารธรรม
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้ข้าพระองค์ได้สดับดีแล้ว รับมาดีแล้ว ใส่ใจดีแล้ว ทรงจำไว้ดีแล้วหรือ
ต้องการที่จะได้ฟัง แต่ด้วยความเคารพในพระผู้มีพระภาค เห็นว่าตัวท่านเองเป็นผู้มีธุระมาก แม้พระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงแล้ว ก็ยังต้องมาแสดงกับท่านอีก
ก็เป็นจิตที่ตรึกคิดด้วยความยำเกรงในพระผู้มีพระภาค ซึ่งถึงแม้ว่าจะอยากฟังสุญญตากถา แต่ก็เพียงทูลถามเรื่องที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สักยนิคม เพื่อแล้วแต่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงพระกรุณาตรัสประทานยาวสั้นประการใด
นี่คือความละเอียดของจิตของแต่ละบุคคล ซึ่งจะพิจารณาเห็นได้ว่าต่างกัน
ข้อความในอรรถกถามีว่า
ฉะนั้น การที่ผู้ประสงค์จะฟัง ทำเป็นเหมือนคนรู้แล้วถามไม่สมควร บางคนแม้ไม่รู้ ก็ทำเป็นเหมือนคนรู้ ท่านพระอานนท์เถระจะกระทำการหลอกลวงได้ อย่างไรเล่า ท่านพระอานนท์เถระแสดงความเคารพต่อพระผู้มีพระภาคจึงกราบทูลดังนี้
ไม่ควรคิดว่าเป็นอุบาย แต่ควรที่จะพิจารณาด้วยความละเอียดจริงๆ ว่า เพราะเหตุใดท่านพระอานนท์จึงได้ทูลอย่างนั้น
การฟังพระธรรม จะได้ประโยชน์จากการที่พิจารณา แม้แต่วิตกเจตสิกของ ท่านพระอานนท์ ซึ่งต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า ไม่ใช่การหลอกลวง หรือไม่ใช่เป็นอกุศลวิตก