แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1735

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๐


ข้อความในอรรถกถามีว่า

พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูโลกในเวลาใกล้รุ่ง เห็นพราหมณ์นี้แล้ว ทรงพระดำริว่า พราหมณ์นี้ถือข้าวปายาสอันเลิศเห็นปานนี้เอาไปเผาไฟด้วยตั้งใจจะให้มหาพรหมบริโภค ชื่อว่าทำสิ่งไร้ผล เราจะให้มรรค ๔ ผล ๔

พระผู้มีพระภาคจึงเสด็จลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ทีเดียว ทรงชำระพระวรกายเสร็จแล้ว ทรงถือบาตรจีวร เสด็จไปประทับนั่ง ณ โคนต้นไม้นั้น โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล

เป็นพระมหากรุณาคุณมากแค่ไหนที่ทรงกระทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ว่า พราหมณ์นั้นควรจะได้มรรค ๔ ผล ๔ ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรพระผู้มีพระภาคจึงทรงคลุมตลอดพระเศียร

สำหรับคนที่ช่างคิด ก็ต้องคิดไปเรื่อยๆ และต้องหาเหตุผลพิจารณาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้ทราบพระมหากรุณาคุณอย่างถ่องแท้

ตอบว่า เพื่อป้องกันหิมะตกและลมหนาว พระตถาคตทรงสามารถอดทน หิมะตกและลมหนาวได้ แต่ถ้ามิได้ทรงนั่งคลุมพระวรกาย พราหมณ์จำได้แก่ไกล ก็จะกลับเสีย เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่ได้สนทนากัน ดังนั้นพระผู้มีพระภาคทรงมี พระดำริว่า เมื่อพราหมณ์มาเราจะเปิดศีรษะ ทีนั้นพราหมณ์ก็จะเห็นเรา จะได้สนทนากัน เราจักแสดงธรรมตามแนวที่สนทนากันแก่พราหมณ์ ดังนี้ จึงได้ทรงทำอย่างนั้นเพื่อจะได้สนทนากัน

ในตอนท้าย ผลก็คือสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย คือ ได้ทั้งมรรค ๔ และผล ๔ จากพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาค

นี่เป็นเหตุที่ทรงคลุมพระอวัยวะตลอดทั้งพระเศียร คนสมัยนี้จะมีความอดทน ถึงอย่างนั้นไหม ทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้ฟังได้รับฟังพระธรรม

คนสมัยนี้ถ้ามีคนอื่นแสดงปฏิกิริยาบางประการ ก็เลิกที่จะสนทนากันแล้ว ได้ยินได้ฟังบางท่านบอกว่า ทนคนนั้นไม่ได้ ทนคนนี้ไม่ได้ ซึ่งนั่นเพราะอะไร วิตกมี ๒ อย่าง อกุศลวิตกและกุศลวิตก ถ้าเกิดความคิดอย่างนั้นขณะใด พิจารณาหรือเปล่าว่าเพราะอะไร ขณะที่ทนใครก็ตามไม่ได้ เพราะอะไร

ก็เพราะไม่คิดจะเจริญกุศล ซึ่งกุศลพร้อมที่จะเกิดจริงๆ ด้วยประการหนึ่งประการใด เมตตาเกิดได้แทนที่จะไม่อดทน ทางวาจาก็ยังสามารถเกื้อกูลในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ในสิ่งที่เป็นเหตุผล แทนที่จะมีแต่อกุศลวิตกที่เห็นความไม่น่าพอใจของ คนอื่น

พระธรรมทั้งหมดเพื่อประโยชน์ของผู้ฟัง ยังไม่ต้องคิดถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นเลย เพียงแต่เป็นผู้ที่น้อมรับฟังพระธรรมเพื่อประพฤติปฏิบัติตาม เป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ รับฟังพระธรรมเพื่อขัดเกลากิเลส ไปเรื่อยๆ มิฉะนั้นแล้วถ้ามีอกุศลมากๆ และก็กล่าวว่า สติไม่ค่อยเกิด

ถ้ามีอกุศลมาก มีปัจจัยที่จะให้อกุศลเกิดอีกๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็ยากที่จะมีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิดได้ แม้แต่ชีวิตประจำวันก็ควรพิจารณาถึงกุศลวิตกและ อกุศลวิตกของตนเอง มิฉะนั้นแล้วจะเห็นแต่อกุศลของคนอื่น แทนที่จะกระทำกิจ ของตนก็ไปคิดอยากให้คนอื่นหมดกิเลส โดยลืมว่าในขณะนั้นจิตของตนเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

. ดอกไม้ที่ประดับศพ เอาไปทิ้งขยะแล้ว นำมาบูชาพระได้ไหม

สุ. บูชาด้วยการปฏิบัติได้ไหม ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลอย่างไร

. ระลึกรู้ในขณะนั้นหรือ

สุ. ไม่จำเป็นต้องบูชาด้วยดอกไม้ ถ้าเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรม แต่ถ้ามีดอกไม้ ที่ควรแก่การที่จะบูชาและใคร่ที่จะบูชา ขณะนั้นก็พิจารณาจิตว่าเป็นกุศลหรือ เป็นอกุศลอย่างไร เพราะว่าจิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก

ส่วนมากพุทธบริษัทจะบูชาพระคุณของพระผู้มีพระภาคด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ของหอม เพราะว่าไม่มีอื่นที่จะบูชา แต่ผู้ที่มีกุศลจิตและพยายามบูชาด้วยวิธีอื่นๆ ก็มี เช่น บางท่านก็เป่าสังข์บูชา ทำอะไรก็ได้ในขณะที่กุศลจิตเกิดและน้อมบูชา แต่ไม่มีความจำเป็นที่จะไปเอาดอกไม้ทิ้งแล้วในถังขยะมาบูชา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ควรคิด สิ่งที่ควรคิด คือ แม้ไม่มีสิ่งที่จะบูชา การปฏิบัติบูชาก็ย่อมกระทำได้

ขณะใดที่จิตเป็นกุศล เคยเป็นอกุศลวิตก และเมื่อได้ฟังพระธรรมก็น้อมประพฤติปฏิบัติตาม ขณะนั้นเป็นการบูชาที่พระผู้มีพระภาคทรงมีพระประสงค์มากกว่าที่จะให้บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนหรือเครื่องหอมต่างๆ เพราะว่าพระองค์ทรงดับกิเลสหมดแล้ว ไม่มีความใยดีต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ตอนนี้คิดจะถวายหรือไม่ถวาย ดอกไม้ในถังขยะ

. เก็บมาปักแจกัน คิดว่าบูชาพระได้

สุ. เป็นเรื่องของกุศลจิต ถ้าขณะนั้นกราบนมัสการและสติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นการปฏิบัติบูชาที่ดีกว่า

การขัดเกลากิเลสเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะต้องเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมโดยละเอียด โดยถูกต้อง ถ้าใครศึกษาพระธรรมโดยไม่รอบคอบ หรือมีการเข้าใจผิด ในพระธรรม การขัดเกลากิเลสก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ นิทานกถา ว่าด้วย วิบัติ ๓ ประเภท ซึ่งเป็นวิบัติของผู้ศึกษาพระธรรมวินัย ไม่ใช่เป็นแต่เพียงวิบัติของ ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย มีข้อความว่า

ผู้ปฏิบัติผิดในพระวินัย เป็นผู้มีความสำคัญว่าไม่มีโทษในธรรมที่มีโทษ เป็นต้น

ย่อมทำให้เป็นผู้ทุศีลเมื่อเข้าใจพระวินัยผิด ตัวอย่างคือท่านที่เข้าใจว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตเครื่องลาด เครื่องนุ่งห่มที่มีสัมผัสเป็นสุข การสัมผัส โผฏฐัพพะที่เป็นสุข เช่น สัมผัสหญิง ก็ย่อมไม่มีโทษเช่นเดียวกัน

คือ เข้าใจว่า เครื่องลาด เครื่องสัมผัส จะเป็นจีวรหรือเสนาสนะที่ทรง อนุญาตแล้ว สัมผัสได้ เพราะฉะนั้น การสัมผัสหญิงก็เช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับ สัมผัสอื่นๆ ดังนั้น ผู้ที่เข้าใจพระวินัยผิดอย่างนี้ ย่อมทำให้เป็นผู้ทุศีล

ผู้ปฏิบัติผิดในพระสูตร ไม่รู้คำอธิบาย (ไม่เข้าใจในอรรถ) ย่อมถึงความเป็นมิจฉาทิฏฐิ

เข้าใจผิดไปได้อย่างมากเลย ถ้าเพียงแต่จะอ่านพระสูตรเดียว โดยไม่พิจารณาพระธรรมทั้ง ๓ ปิฎก

ผู้ที่ปฏิบัติผิดในพระอภิธรรม จะวิจารณ์ธรรมเกินไป ย่อมคิดแม้สิ่งที่ไม่ควรคิด ก็จะถึงความฟุ้งซ่านแห่งจิต

บางอย่างไม่น่าจะคิดเลย ก็คิดๆ อยู่นั่นเอง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่วิสัยของผู้เป็นสาวก ที่จะเข้าใจได้ แต่ก็ไปติดหรือคิดถึงสิ่งนั้นจนกระทั่งไม่สามารถเข้าใจธรรมประการอื่นๆ เพราะฉะนั้น ก็จะถึงความฟุ้งซ่านแห่งจิต

ผู้ปฏิบัติผิดในพระไตรปิฎกนี้ ย่อมถึงความวิบัติอันต่างด้วยความเป็นผู้ทุศีล ความเป็นมิจฉาทิฏฐิ และความฟุ้งซ่านแห่งจิตนี้ โดยลำดับด้วยประการฉะนี้

แสดงถึงลักษณะความละเอียดของวิตกเจตสิกซึ่งปรุงแต่งไม่หยุด แม้แต่ในการศึกษาพระธรรมวินัย ใครจะเข้าใจถูก ใครจะเข้าใจผิด ใครจะเข้าใจได้ลึกซึ้ง ใครจะเข้าใจได้มากน้อยอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามการสะสมทุกๆ ขณะ แม้ขณะนี้เอง ทุกท่านก็กำลังสะสมความเข้าใจถูก หรือความเข้าใจผิดในพระธรรมถ้าเป็นผู้ที่ ไม่ละเอียด

เพราะฉะนั้น ต้องป็นผู้ที่พิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ กว่าจะถึงวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ภังคานุปัสสนาญาณ ภยตูปัฏฐานานุปัสสนาญาณ อาทีนวานุปัสสนาญาณ นิพพิทานุปัสสนาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว และต่อไป คือ ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ มรรคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ

เรื่องของวิปัสสนาญาณต่างๆ ไม่ใช่เรื่องห่วง ไม่ใช่เรื่องกังวลว่าจะถึงเมื่อไร จะเกิดเมื่อไร จะประจักษ์แจ้งเมื่อไร แต่ที่ควรจะพิจารณา คือ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ กุศลจิตเกิดหรืออกุศลจิตเกิด น้อมประพฤติปฏิบัติพระธรรมได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่เป็นการอยากให้เพียงฟังเรื่องของจิต เจตสิก โสภณเจตสิก หรือวิปัสสนาญาณต่างๆ ให้จบปริจเฉทต่างๆ ตำราต่างๆ แต่ต้องเข้าใจว่า การศึกษาพระธรรมเพื่อประโยชน์ของตนเอง คือ เข้าใจกุศลและอกุศลของตนเอง เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเพิ่มขึ้น เพื่อการเจริญกุศลยิ่งขึ้น เพราะถ้าเข้าใจผิด จิตก็ไม่อ่อนโยน ไม่น้อมที่จะฟังเพื่อประโยชน์ คือ การเจริญกุศล

ทุกท่านควรทราบว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ต้องควบคู่กันไปกับการฟังพระธรรม เพื่อที่จะได้เห็นโทษของอกุศล และปัญญาที่เห็นโทษของอกุศลนั้นจะทำกิจบรรเทา ละอกุศลลงไป

ผู้ฟัง เรื่องสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ เป็นเรื่องบังเอิญที่เมื่อคืนนี้ก็อ่าน พระสูตรนี้เหมือนกัน พระพุทธเจ้าตรัสให้สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ละมานะเรื่องชาติ และมีรายละเอียดเพิ่มมานิดเดียว คือ เรื่องหิริ ความละอายเท่านั้นเอง แต่ใน อรรถกถาผมไม่ได้อ่าน เมื่อกี้อาจารย์พูดถึงให้มรรค ๔ ผล ๔ ด้วย เข้าใจว่า ในอรรถกถาน่าจะมีเทศนาเรื่องอริยสัจจ์ ๔ ด้วย

สุ. โดยมากในอรรถกถาจะแก้ข้อความบางประการ แต่ไม่มีข้อความเรื่องเกี่ยวกับธรรม บางสูตรก็มี บางสูตรก็ไม่มี

ผู้ฟัง แต่ในพระสูตรสั้นมาก

สุ. สั้นมาก แต่ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้ นี่คือประโยชน์ของการฟังพระธรรม ไปเรื่อยๆ สะสมความเข้าใจ จนกว่าวันหนึ่งแม้ได้ฟังเพียงสั้นๆ ก็เข้าใจได้

ผู้ฟัง น่าจะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจบ้าง

สุ. ไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะว่าหิริเกิดได้อย่างไร

ผู้ฟัง นอกจากอ่านสูตรนี้แล้ว ได้อ่านสูตรข้างหน้าอีกประมาณ ๓ – ๔ สูตร ก็สั้นๆ ทั้งนั้น และพราหมณ์แต่ละคนได้บรรลุพระอรหันต์ทั้งนั้นเลย

สุ. ถ้าคิดถึงหิริอย่างเดียว แต่ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หิริจะมีได้อย่างไร เพราะฉะนั้น วิตก คือ การตรึกเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ก็ต้องเนื่องมาจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึกทั้งนั้น ไม่พ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเลย

คราวก่อนได้กล่าวถึง สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สัญโยชนสูตร ซึ่งมีข้อความว่า วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนี้ คือ วิตกเป็นเท้าของโลก และใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส อุทยมานวกปัญหานิทเทส ข้อ ๔๕๖ ก็มีข้อความเดียวกัน โดยแสดงวิตก ๙ เป็นเครื่องเที่ยวไปของโลก มีข้อความว่า

วิตก ๙ คือ

ทุกท่านควรจะพิจารณา เพราะเป็นชีวิตประจำวันของทุกคน

กามวิตก

ตั้งแต่เช้าจนถึงเดี๋ยวนี้ ถ้ารู้ เกิดทันทีหลังจากที่ทวิปัญจวิญญาณดับไป

พยาปาทวิตก

ความขุ่นเคืองใจมีบ้างไหมในวันนี้

วิหิงสาวิตก

คิดที่จะเบียดเบียนใครหรือเปล่า แม้เพียงความคิด บางทียังไม่ได้เบียดเบียน แต่คิดไม่ชอบใจแล้ว อาจจะใคร่ให้บุคคลนั้นเสื่อมลาภบ้าง เสื่อมยศบ้าง เป็นต้น

วิตกถึงญาติ วิตกถึงชนบท

มีไหมวันนี้ ประเทศเราเป็นอย่างไรบ้าง การทำมาค้าขาย ข้าวยากหมากแพง อุทกภัย วาตภัยต่างๆ

วิตกถึงเทวดา วิตกอันสัมปยุตต์ด้วยความเอ็นดูผู้อื่น วิตกอันสัมปยุตต์ด้วยลาภ สักการะ และสรรเสริญ วิตกอันสัมปยุตต์ด้วยความไม่อยากให้ผู้อื่นดูหมิ่นตน เหล่านี้เรียกว่า วิตก ๙

ชื่อว่าวิตก ในอุเทศว่า วิตักกัสสะ วิจารณา ดังนี้ วิตก ๙ อย่างนี้เป็นเครื่องสัญจรไป เที่ยวไป ท่องเที่ยวไปของโลกนั้น โลกนั้นย่อมสัญจร เที่ยวไป ท่องเที่ยวไปด้วยวิตก ๙ อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น

โลกนั้นอยู่ไหน ฟังแล้วก็ต้องคิด โลกนั้นคือโลกไหน เวลานี้มีโลกหรือเปล่า โลกไหน โลกก็คือจิตทุกขณะนั่นเอง เพราะฉะนั้น วิตกนี้ เป็นเครื่องสัญจรไป เที่ยวไป ท่องเที่ยวไปของโลกนั้น แล้วแต่ว่าขณะจิตนั้นจะเป็นกุศลวิตกหรือเป็นอกุศลวิตก เช่น วิตก ๙ คือ กามวิตก เป็นอกุศล พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก วิตกถึงญาติ เวลาคิดถึงญาติ สังเกตดูว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล บางครั้งคิดด้วยโลภะ บางครั้ง คิดด้วยโทสะ บางครั้งก็พลอยเพลิดเพลินยินดีไปด้วย บางครั้งก็พลอยวิตกทุกข์ร้อน ไปด้วย วิตกถึงชนบท วิตกถึงเทวดา วิตกอันสัมปยุตต์ด้วยความเอ็นดูผู้อื่น ฟังดูเหมือนเป็นกุศล แต่ความจริงแม้วิตกอันสัมปยุตต์ด้วยความเอ็นดูผู้อื่น ก็เป็นอกุศล เพราะด้วยความเอ็นดู ด้วยความผูกพัน ด้วยการเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น ก็ย่อมเป็นอกุศล

ทั้งหมดนี้สำหรับผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพื่อบรรลุวิปัสสนาญาณในวันหนึ่ง แต่ก่อนที่จะถึง ควรพิจารณาถึงอกุศลวิตกของตนเองเพื่อละไปด้วย ไม่ใช่เพียงแต่คอยเมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิดเท่านั้น เพราะถ้าอกุศลวิตกยังมีมาก กลุ้มรุมอยู่บ่อยๆ ก็ขาดปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิดได้มาก

สัมโมหวิโนทนี พรรณนาพระวิภังคปกรณ์ สัจจวิภังคนิทเทส อุปมา คนมีทุกข์เหมือนคนมีเวร

วันนี้ใครรู้สึกตัวบ้างว่ามีทุกข์ เกิดมานี่ก็เป็นทุกข์ แต่ไม่รู้สึก เวลาที่อยากได้ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ขวนขวายหาสิ่งนั้น เป็นทุกข์หรือเปล่า แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่รู้ว่ามีทุกข์

คนที่กำลังมีทุกข์ที่จะเห็นได้ชัดๆ คือ ขณะที่กำลังมีความขุ่นเคืองใจ กำลัง มีความแค้นเคืองใจ กำลังมีความผูกโกรธ คนอื่นก็รู้ได้ว่า คนนั้นเหมือนคนมีเวร แต่คนที่กำลังมีอกุศลครอบงำย่อมไม่สามารถรู้สึกตัวได้ว่า ในขณะนั้นแม้ทุกข์อื่นไม่มี อาจจะเป็นคนที่มีทรัพย์สินเงินทองมาก มีความสะดวกสบายทุกอย่าง แต่จิตใจสะสมอกุศลจนกระทั่งมีแต่ความแค้นเคืองผูกโกรธ ในขณะนั้นก็เหมือนคนมีเวร

เปิด  261
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565