แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1736

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๐


เวลาที่พูดถึงเวร ไม่มีใครชอบเวรแน่นอน จึงได้กล่าวกันว่า เป็นกรรม เป็นเวร เมื่อไม่ชอบเวร ชอบอกุศลไหม นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเกี่ยวข้องสืบเนื่องกัน เป็นเรื่องของกุศลและอกุศล เป็นเรื่องของกุศลวิบากและอกุศลวิบาก เป็นเรื่องของการเห็นโทษของอกุศล และเป็นเรื่องของการเห็นประโยชน์ของกุศลและประพฤติปฏิบัติตาม

ขอให้คิดถึงสภาพของคนมีทุกข์ด้วยความโกรธ เหมือนคนมีเวร ขณะที่กำลังโกรธ กำลังแค้น กำลังหมายมั่นที่จะแสดงกายวาจาเหยียบย่ำคนที่ตนโกรธ อกุศลของตนเองในขณะนั้นทำให้ไม่เห็นว่า เทียบด้วยความทุกข์เหมือนคนมีเวร แต่อาจจะพอใจอยากจะชนะ ความที่อยากจะชนะทำให้หมายมั่นมากขึ้นด้วยอกุศลประการต่างๆ ซึ่งควรที่จะได้พิจารณาถึงคนที่กำลังประสบเวรทางอื่น เช่น ภัยพิบัติต่างๆ และ คร่ำครวญว่าเมื่อไรจะหมดเวรหมดกรรม แต่เมื่อยังมีกิเลสอยู่ก็หมดเวรหมดกรรมไม่ได้ ปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้ลดคลายอกุศลลงไปได้

ถ้าขณะนั้นกุศลวิตกเกิด สภาพของจิตเปลี่ยนทันทีจากความขุ่นเคืองหรือ การคิดถึงความไม่ดีของคนอื่น เมื่อกุศลวิตกเกิดเห็นโทษ ขณะนั้นจะรู้สึกเบาสบาย แต่ถ้าเป็นผู้ที่อกุศลวิตกยังคงเกิดอยู่ ก็ไม่ต้องคิดถึงเรื่องของวิปัสสนาญาณ เพราะว่าแม้เพียงกุศลวิตกที่ควรจะเกิดขึ้นก็ยังเกิดไม่ได้ในขณะนั้น และจะอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งถึงวิปัสสนาญาณต่างๆ ก็ย่อมถูกอกุศลวิตกนั้นขัดขวาง

ข้อความใน สัจจวิภังคนิทเทส อุปมาความโกรธและกิเลส และทุกข์ทั้งหลายเหมือนต้นไม้มีพิษ

ไม่ว่าจะทรงอุปมาอย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกคนพิจารณาตนเองว่า พร้อมที่จะเห็นโทษของอกุศลจริงๆ และกุศลวิตกจะเกิดได้หรือยัง

ท่านที่เห็นว่า ความโกรธ กิเลส และทุกข์ทั้งหลาย อุปมาเหมือนต้นไม้มีพิษ คิดที่จะเพิ่มอาหารให้ต้นไม้มีพิษให้ฝังรากลึกลงไปอีก ให้งอกงามเพิ่มพูนขึ้น จะเก็บบำรุงรักษาต้นไม้มีพิษนั้นไว้ หรือจะตัดโค่นต้นไม้มีพิษนั้น

มีใครคิดจะรอไหม ยังไม่แก้อกุศลวิตก ถ้ารอเดี๋ยวนี้ ก็ต้องรอไปอีกเรื่อยๆ และไม่ทราบว่าจะรอไปอีกนานแสนนานสักเท่าไร เพราะถ้าขณะนี้รอก็เป็นปัจจัย ให้ขณะต่อไปก็รออีกๆ ไปเรื่อยๆ

. มีการเปลี่ยนอกุศลวิตกเป็นกุศลวิตกได้หรือ

สุ. มิได้ หมายความว่าเมื่ออกุศลวิตกดับ มีปัจจัยที่กุศลวิตกจะเกิด ก็เห็นความต่างกัน เพราะว่ากุศลวิตกเกิดเป็นปัจจัยไม่ให้อกุศลวิตกนั้นเกิดต่อไปอีกๆ มิฉะนั้นแล้วอกุศลวิตกที่เกิดและดับไป จะเป็นปัจจัยให้อกุศลวิตกเกิดต่อไปอีกๆ

ผู้ฟัง มีตัวอย่างเมื่อไม่กี่วันนี้ เกิดอกุศลวิตก เพราะเขาจอดรถไว้ขวาง เลยบีบแตร เขาก็โต้ตอบมารุนแรงเหลือเกิน แต่ประมาณ ๒ – ๓ นาที เหตุการณ์นั้น ก็ผ่านไป แต่อกุศลวิตกทำให้ผมเกิดอกุศลวิตกซ้ำไปอีก จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ค่อยคลาย บางครั้งสติระลึกได้ก็เตือนตัวเองว่า เรามีส่วนผิดที่ไปบีบแตร ถ้าเรามีขันติไม่บีบแตร รอเขาหน่อย คงจะไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ติตัวเอง ทำไมสติไม่ระลึกสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียงที่ปรากฏทางหู ไม่ทัน โอกาสที่สติจะระลึกก็ยังอ่อน กลับมาแล้ว ก็ได้มาคิด และคิดว่านั่นเป็นอกุศลวิตก นี่เรากำลังคิดนึกถึงเรื่องที่เกิดขึ้น เกือบ สองอาทิตย์แล้ว ก็ยังไม่ค่อยจาง

สุ. เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งใน สัมโมหวิโนทนี วรรณนา ทุกนิทเทส มีข้อความว่า

บุคคลผู้ประกอบความโกรธด้วยลักษณะใด ย่อมไม่อาจสละเวร บุคคลนี้ย่อมติดตามซึ่งความโกรธอื่นๆ อีกด้วยลักษณะว่า บุคคลนี้ไม่สมควรพูดกับเราอย่างนี้ (หรืออาจเป็นการกระทำก็ได้ ไม่ใช่คำพูด) ดังนี้ ความโกรธของเขาย่อมลุกโพลงทีเดียว ราวกับฟืนไม้สนอันไฟติดทั่วแล้ว

ถึงขั้นนี้หรือเปล่า ขอให้คิดถึงไม้สนซึ่งเป็นเชื้อไฟอย่างดี เวลาที่ประกอบด้วยความโกรธ และยังไม่สละ คือ ยังไม่ทิ้งความโกรธนั้นไป ความโกรธอื่นๆ ก็จะติดตามมาอีก ควรที่จะจบเมื่อสิ่งนั้นหมดแล้ว ผ่านไปแล้ว แต่ว่าใจก็ยังติดตามยึดถือ คิดถึงเรื่องนั้นด้วยความโกรธอื่นๆ อีก

ผู้ฟัง ยังไม่ถึงกับถือง่ามหนังสติ๊ก

สุ. ขอให้พิจารณาความโกรธในขณะนั้น ในลักษณะที่ว่า ราวกับฟืนไม้สนอันไฟติดทั่วแล้ว อยากให้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

. ความคิด คือ เรื่องราวต่างๆ ที่เราคิด ที่คิดเพราะมีวิตกเจตสิก ถ้าเราคิดถึงเรื่องราวที่เป็นกุศลก็คือกุศลวิตก หรือคิดเรื่องราวที่เป็นอกุศลก็เพราะมี อกุศลวิตก ใช่ไหม

สุ. ต้องแยกเรื่องกับจิตที่คิด คือ เรื่องที่คิดเป็นอารมณ์ของจิตคิด จะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม แต่สภาพของจิตที่คิดถึงเรื่องนั้นเป็นกุศลวิตก หรือเป็นอกุศลวิตก นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

. ต้องแยกกันต่างหาก ไม่ใช่ว่าคิดเรื่องราวที่เป็นอกุศล จิตก็เป็นอกุศล ไปด้วย คิดถึงเรื่องราวที่เป็นกุศล จิตก็เป็นกุศลไปด้วย ไม่ใช่อย่างนั้น ใช่ไหม

สุ. เรื่องเป็นอารมณ์ของจิตที่คิด

. เพราะฉะนั้น ไม่เกี่ยวกัน

สุ. แต่ต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า ส่วนใหญ่ถ้าคิดถึงความไม่ดีของคนอื่น เวลาที่เห็นความไม่ดีของคนอื่น ลืมย้อนกลับมาถึงจิตที่คิดในขณะนั้นว่า เป็นอกุศลหรือเป็นกุศล ถ้าคิดถึงความไม่ดีของคนอื่นแล้วมีเมตตา ได้ไหม

. ได้

สุ. ขณะนั้นเป็นกุศลวิตก แต่ถ้าคิดถึงความไม่ดีของคนอื่นแล้วไม่ชอบ ขณะนั้นเป็นอกุศลวิตก

. เพราะฉะนั้น คำที่ว่า อกุศลวิตก หมายถึงวิตกที่เกิดร่วมกับจิต ไม่ใช่เรื่องราวที่เป็นกุศลหรืออกุศลที่เราพูดกัน

สุ. ไม่ได้หมายถึงเรื่อง แต่หมายถึงสภาพของจิตที่คิด

. กระจ่างแจ้งขึ้น และถ้าอกุศลวิตกเกิดขึ้น เราจะแก้อย่างไร

สุ. นี่เป็นคำถามที่ดี บางครั้งอาจจะรู้สึกเสียใจว่า ทำไมถึงเกิดอกุศลวิตกอย่างนั้น ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย เคยไหม

. เคย

สุ. หนทางเดียวที่เป็นประโยชน์ที่สุด คือ สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นว่า เป็นแต่เพียงการตรึกหรือความคิดซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะไม่มีใครอยากมีอกุศลวิตก แต่เมื่อมีปัจจัยที่อกุศลวิตกจะเกิด อกุศลวิตกก็ต้องเกิด

. หมายถึงเรื่องราวต่างๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลหรือ

สุ. ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลย อกุศลวิตกก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง กุศลวิตกก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

. หมายถึงเรื่องราวนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ใช่ไหม

สุ. เรื่องราวเป็นอารมณ์ของจิตที่คิด ถ้าจิตไม่คิด เรื่องราวนั้นจะมีไหม

. จึงแก้ด้วยคำว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จิตก็เลยคลายอกุศลวิตก

สุ. ขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และมีความเห็นถูกเกิดขึ้น รู้ว่าขณะนั้นเป็นชั่วขณะจิตที่เกิดคิดขึ้น

ที่บ้านมีอะไรบ้าง ที่บ้านมีรูปช้างไหม

. ไม่มี

สุ. มีอะไรบ้าง จำได้หมดไหม

. จำไม่ได้หมด

สุ. แสดงให้เห็นแล้วว่า ขณะใดที่สัญญาและวิตกเจตสิกไม่เกิดขึ้นจำและระลึกถึงสิ่งใด สิ่งนั้นหามีไม่

นี่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ ถ้าสติปัฏฐานเกิดจริงๆ จะรู้ได้ว่า ไม่มีอะไรเลย สัญญาก็เป็นแต่เพียงความจำเท่านั้น ไม่ว่าจะนึกถึงอะไรก็เพราะจำสิ่งนั้น แต่แท้ที่จริงขณะที่สัญญานั้นดับ สิ่งนั้นก็ไม่มีในความนึกคิด

. หามีไม่ และมีประโยชน์อะไร

สุ. ไม่มีจริงๆ เพราะฉะนั้น เห็นความว่างจากสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสัญญา หรือยัง การที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมต้องละเอียดขึ้นๆ แม้แต่เวลาที่ อกุศลวิตกเกิด ก็ต้องรู้ว่าเพียงชั่วขณะที่คิด เพราะฉะนั้น ควรที่จะเห็นความว่างจากสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสัญญา ซึ่งเกิดขึ้นและดับไป

จึงได้ถามว่า ที่บ้านมีรูปช้างไหม เพราะว่าบางบ้านมีรูปช้างหลายตัวใน ขบวนแห่พระเขี้ยวแก้วของประเทศศรีลังกา แต่ก็ชั่วขณะที่จำ เมื่อสัญญานั้นดับ ไม่มีแล้ว ช้างในขบวนแห่พระเขี้ยวแก้วที่ประเทศศรีลังกาก็ไม่มี

. ถ้าเราเห็นว่า ว่างเปล่าจากตัวตน แม้แต่สัญญาก็เกิดขึ้นและดับไป หาสาระอะไรไม่ได้ ถ้าเราเห็นอย่างนี้ เราศึกษามาถึงญาณที่เห็นความเบื่อหน่าย ในนามรูป เมื่อเบื่อหน่ายก็พยายามคลายออก ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศลผมไม่ทราบ แต่คงจะไม่ใช่อกุศล ถ้าเราเห็นขนาดนี้ และนึกถึงสัญญาที่ว่าเมื่อกี้ และเรายินดี เป็นโอกาสของอกุศลที่จะเข้าได้ไหม เมื่อรู้ว่าที่เรารู้นั้นถูกต้องแล้ว

สุ. ถ้าเป็นสติสัมปชัญญะจริงๆ สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรม เริ่มจากสิ่งที่กำลังปรากฏนั้นไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม และลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละชนิด แต่ละประเภท ก็มีลักษณะเฉพาะของนามธรรมชนิดนั้นและรูปธรรมชนิดนั้น อย่างอกุศลวิตก ไม่ใช่กุศลวิตก เวลาที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของอกุศลวิตกย่อมรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล ที่จะว่าไม่รู้ ไม่มีเลย

. ขณะที่เราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เห็นนามรูปตามความเป็นจริงแล้วจนถึงขั้นเบื่อหน่าย นิพพิทาญาณเกิดขึ้น และเราก็รู้ว่า เรารู้อย่างนี้ ขณะนั้นจะเกิดความยินดีปีติ ผมถามว่า ขณะนั้นอกุศลเข้าได้ไหม

สุ. ยินดีอะไร

. ยินดีในความรู้ ในญาณนั้น

สุ. ขณะที่ยินดีเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล สติสัมปชัญญะระลึกรู้ในขณะนั้นได้ ความสงสัยไม่มี และกว่าที่จะถึงนิพพิทาญาณ ลักษณะของสภาพธรรมต้องตรงและละเอียดขึ้นจนกระทั่งไม่มีความคิดที่จะสงสัยอย่างนี้ แม้ยังไม่ถึงอุทยัพพยญาณ ปัญญาก็ต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏโดยทั่ว และ ต้องประจักษ์ลักษณะที่เกิดขึ้นและดับ

. ผมถามว่า ขณะเรารู้ผ่านมาแล้ว และเราก็รู้ว่าเรารู้อย่างนั้น และเราเกิดความยินดีขึ้น ถามว่า อกุศลเข้าได้ไหม

สุ. โลภมูลจิตไม่ได้ดับ นอกจากอรหัตตมรรคเท่านั้นที่ดับโลภมูลจิตได้

. แม้เห็นในวิปัสสนาญาณ อกุศลก็เกิดได้

สุ. ขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณเป็นอกุศลไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า วิปัสสนาญาณไม่ดับ เมื่อวิปัสสนาญาณดับแล้วมีปัจจัยที่สภาพธรรมใดจะเกิด สภาพธรรมนั้นก็เกิด ทั้งกุศลและอกุศลก็เกิดได้เพราะยังมีปัจจัยที่จะเกิดอยู่ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจึงไม่หวั่นไหว เพราะรู้ว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างล้วนเกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ไม่ว่าอกุศลที่เกิด เป็นอกุศลวิตกหรือเป็นอกุศลจิตประเภทใด ลักษณะใดก็ตาม ผู้ที่มีปัญญามั่นคงไม่หวั่นไหวก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย นี่เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ ต้องไม่หวั่นไหว

. เมื่อกี้ถามเรื่องอกุศลวิตกเกิดขึ้นแล้ว ทำให้ผมคิดถึงเรื่องการแก้ อกุศลวิตก ซึ่งมีอยู่สูตรหนึ่งในวิตกสังขารสูตร ผมจำไม่ค่อยได้ ถ้าอาจารย์จำได้ก็ ช่วยกรุณาบอกด้วย รู้สึกว่าจะมีอยู่หลายข้อ

สุ. ใครจะทำอย่างไร ด้วยประการใดๆ ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของ วิตกเจตสิกนั่นเอง ซึ่งไม่มีแบบ เพราะถึงแม้ว่าจะมีผู้กระทำอย่างนี้ เช่น ท่าน พระมหาโมคคัลลานะอาจจะทำอย่างนี้ แต่ก็ไม่ใช่แบบที่คนอื่นต้องทำอย่างท่าน พระมหาโมคคัลลานะ เพราะว่าวิตกเจตสิกของแต่ละบุคคลย่อมเกิดขึ้นตามการสะสมของแต่ละบุคคล เมื่ออกุศลวิตกเกิดขึ้นแต่ละบุคคลจะมนสิการอย่างไร จะตรึกอย่างไร จะพิจารณาอย่างไร ก็แล้วแต่แต่ละบุคคล แม้ว่าจะมีแบบวางอยู่ให้อ่านด้วย แต่ เวลาที่อกุศลวิตกเกิด เป็นไปได้ไหมที่จะทำได้อย่างนั้น หรือจะทำตามนั้นได้ หรือ จะไม่ทำตามนั้น แต่มีอุบายอื่นที่เป็นความแยบคายของการสะสมของบุคคลนั้น ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่แต่ละบุคคลจริงๆ

ผู้ฟัง โดยสรุปแล้ว ต้องเจริญ ต้องอบรม

สุ. แน่นอนที่สุด จนกว่าจะถึงวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ไม่ใช่เป็นผู้ที่ละเลยการเจริญกุศลทุกประการ

ผู้ฟัง เอาตำรามากาง มาวางไว้ต่อหน้า อย่างนี้ก็ไม่มีทาง

สุ. ต้องเข้าใจ

ผู้ฟัง หรือไม่ก็เขียนเอาไว้รอบบ้านเลย เดินไปตรงไหนก็ชน

สุ. ต้องเห็นโทษของอกุศล ไม่ใช่เพียงรู้เรื่องโทษของอกุศล เวลาที่เห็น อ่าน ก็รู้เรื่องโทษของอกุศล เพราะถ้าเป็นอกุศลกรรมสามารถทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิได้ ทั้งๆ ที่รู้ แต่เห็นโทษของอกุศลจริงๆ หรือยัง หรือเพียงแต่รู้เรื่องโทษของอกุศลเท่านั้น

ผู้ฟัง บางที่บางแห่ง เขาติดไว้ตามต้นไม้ ตามประตูห้องน้ำ เดินออกก็เจอ เป็นการเตือนสติได้บ้างไหม

สุ. ใครจะทำอย่างไรก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แล้วแต่

ผู้ฟัง อย่างที่อาจารย์ว่า เอาตำรามากาง ถ้าไม่อบรม ไม่ได้เจริญ ไม่มีทาง ที่จะละได้ คลายได้

สุ. ประโยชน์ที่สุด คือ การฟังพระธรรมและพิจารณาพระมหากรุณาคุณ ที่ทรงแสดงพระธรรมไว้เป็นอันมากให้เห็นโทษของอกุศลของตนเอง จะได้เจริญกุศลยิ่งขึ้น เพราะว่าอกุศลทั้งหลายย่อมเป็นเหตุให้เกิดการวิวาทกัน ถูกหรือผิด

สัมโมหวิโนทนี วรรณนา ทุกนิทเทส มีข้อความที่แสดงลักษณะสภาพของอกุศลต่างๆ เช่น มักขะ ความลบหลู่คุณท่าน คำอุปมาทำให้เห็นชัดว่า ลักษณะไหนเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร เป็นอกุศลประเภทใด

มักขะ ความลบหลู่คุณ เป็นราวกับว่าย่ำยีความดีของผู้อื่นไว้ด้วยเท้า

คิดถึงกิริยาอาการแล้วก็เข้าใจ เพราะถ้าพูดถึงมักขะ ความลบหลู่คุณ ก็ไม่ทราบว่าเป็นลักษณะไหน อย่างไร แต่ถ้าคิดถึงการกระทำที่เปรียบเทียบอุปมาเหมือนกับย่ำยีความดีของผู้อื่นไว้ด้วยเท้า ก็แสดงให้เห็นว่าขณะใดมีความรู้สึกเหมือนอย่างนั้น ขณะนั้น คือ ความลบหลู่คุณ

ปลาสะ ผู้ตีเสมอ

ลักษณะไหนจะเป็นปลาสะ

ไม่แสดงคุณของผู้อื่น ย่อมทำคุณทั้งหลายคล้ายกับเป็นคุณของตน

ลักษณะของกิเลสทั้งนั้นเลย เพราะว่าทุกคนอยากเป็นคนดี อยากมีความเก่ง อยากได้รับคำชม หรืออยากเป็นผู้มีเกียรติ มีลาภ สักการะ เพราะฉะนั้น อกุศลนี้ ทำให้ไม่แสดงคุณของคนอื่น และ ย่อมทำคุณทั้งหลายคล้ายกับเป็นคุณของตน

เป็นอาหารเพราะการนำมาซึ่งความชนะของตนด้วย ชื่อว่าปลาสาหาร

โดยมากถ้าใครคิดถึงคนอื่นในลักษณะที่ว่า ใครถูก ใครผิด หรือว่าท่านต้องถูก คนอื่นต้องผิด นั่นก็แสดงลักษณะของการใคร่ที่จะเป็นผู้ชนะ ซึ่งที่จริงแล้วธรรมเท่านั้นชนะอธรรม แม้แต่ความรู้สึกหรือความคิดในขณะนั้นถ้าเป็นอกุศล ไม่มีทางชนะเลย ไม่ว่าจะแสวงหาวิธีการใดๆ ก็ตาม ถ้าเป็นไปด้วยอกุศลแล้ว เป็นผู้แพ้ เพราะว่า แพ้กิเลสของตนเอง

เปิด  225
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565