แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1738

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๐


ความเป็นผู้แสวงหาข้อบกพร่อง ชื่อว่าความคอยแสวงหาโทษ

นี่คือกุศลจิตหรืออกุศลจิตที่จะเกิดในชีวิตประจำวัน กุศลวิตกหรืออกุศลวิตก ถ้าเป็นผู้ที่แสวงหาข้อบกพร่อง ชื่อว่าความคอยแสวงหาโทษ

ใจสบายหรือเปล่าเวลาที่คอยแสวงหาโทษของคนอื่น ควรจะเป็นผู้ที่จิตใจสบาย ปลดปล่อย ไม่คิดถึงคนอื่นในทางที่จะทำให้ตนเองเดือดร้อน แต่แม้กระนั้นก็เป็นผู้ที่คอยแสวงหาโทษของคนอื่น ซึ่งความจริงแล้วน่าจะเป็นการกระทำที่น่าเหนื่อย เพราะว่าอยู่ว่างๆ ก็สบายดี หรือเป็นกุศลก็น่าจะดีกว่า คือ มีเมตตา จิตใจ ก็เบาสบาย แต่ถ้าเป็นผู้ที่สะสมมาที่จะแสวงหาโทษของคนอื่น วันหนึ่งๆ ก็ไม่ว่าง คอยแต่จะคิดว่าคนนั้นมีโทษอะไร คนนี้มีโทษอะไร โทษเท่านี้ยังไม่พอ ยังแสวงหามากกว่านั้นอีกว่า คนนั้นจะมีโทษมากกว่านั้นอีกแค่ไหน แสดงให้เห็นถึงสภาพของอกุศลจิต ซึ่งผู้นั้นอาจจะไม่รู้ตัวว่าเป็นอกุศลจิต

บางคนอาจจะบอกว่า การคิดถึงความดีของคนอื่นยากกว่าการคิดถึงความไม่ดีของคนอื่น แสดงให้เห็นว่า ลักษณะของอกุศลวิตกเป็นอย่างนั้นเพราะการสะสม จนกว่าจะเห็นโทษ และกุศลวิตกก็เริ่มคิดถึงความดีของคนอื่น ละเลยการที่จะต้องคิดถึงความไม่ดีของคนอื่น

ข้อความในอรรถกถามีว่า

บุคคลใดประกอบแล้วด้วยลักษณะ คือ คอยติดตามดูโทษของผู้อื่นใดนั้น เปรียบเหมือนช่างชุนผ้าคลี่ผ้าออก แล้วก็ตรวจดูผ้าทะลุนั่นแหละ ฉันใด บุคคลผู้มีจิตคิดแข่งดีก็ฉันนั้นแหละ ลบหลู่คุณแม้ทั้งปวงของผู้อื่น แล้วดำรงอยู่ในอคุณทั้งหลายเท่านั้น

ถ้าได้ยินใครที่กำลังเดือดร้อนเพราะความไม่ดีของคนอื่น ก็คิดถึงลักษณะของช่างชุนผ้าที่คลี่ผ้าออกและตรวจหาดูผ้าทะลุ เพราะฉะนั้น ก็คิดถึงแต่อคุณ ความ ไม่ใช่คุณของบุคคลอื่นทั้งนั้นในวันหนึ่งๆ

ถ้าใคร่ที่จะรู้ว่าอกุศลธรรมในตนเองมีมากเพียงไร จะอ่านได้ในพระไตรปิฎกและในอรรถกถา ซึ่งพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจะไม่พ้นไปจากอกุศลธรรมและกุศลธรรม

สำหรับเรื่องของวิปัสสนาญาณ เป็นเรื่องสั้นๆ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องเจริญปัญญาจนกว่าจะประจักษ์แจ้งด้วยวิปัสสนาญาณ ด้วยโลกุตตรปัญญาขณะใด ก็หมดความสงสัยในพระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง แต่เมื่อยังเป็นผู้ที่ไม่ถึง และ อกุศลธรรมในวันหนึ่งๆ ก็มีมาก กุศลธรรมในวันหนึ่งๆ ก็น้อยกว่าอกุศลธรรม ฉะนั้นข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมด พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงเรื่องของอกุศลธรรมและกุศลธรรมในชีวิตประจำวันนั่นเอง

ความละเอียดของการพิจารณาพระธรรมเพื่อสอนตนเอง พระผู้มีพระภาค ทรงพระมหากรุณาแสดงไว้ใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อนันเตวาสิกานาจริยสูตร ข้อ ๒๓๖ มีข้อความว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้อันไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์

ฟังดูก็แปลกสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อ่านข้อความนี้โดยตลอด เพราะว่าทุกท่านเคยได้ยินแต่มีอันเตวาสิกคือลูกศิษย์ และอาจารย์

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังมีอันเตวาสิก ยังมีอาจารย์ อยู่เป็นทุกข์ ไม่สำราญ

อยากมีลูกศิษย์ไหม หรืออยากมีอาจารย์ไหมถ้าไม่อยากมีลูกศิษย์ ก็ไม่ดี ทั้ง ๒ อย่าง ยังมีอันเตวาสิก ยังมีอาจารย์ อยู่เป็นทุกข์ ไม่สำราญ

ส่วนภิกษุไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ ย่อมเป็นสุขสำราญ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุยังมีอันเตวาสิก ยังมีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สำราญ เป็นไฉน

ธรรมทั้งหลายอันเป็นบาป เป็นอกุศล คือ ความดำริอันฟุ้งซ่าน อันเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพย่อมบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุในศาสนานี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ อกุศลธรรมเหล่านั้นย่อมอยู่ภายในของภิกษุนั้น เพราะอกุศลธรรมอยู่ภายในของ ภิกษุนั้น เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า มีอันเตวาสิก เพราะอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้นย่อมครอบงำภิกษุนั้น เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า มีอาจารย์

มีทั้งลูกศิษย์มีทั้งอาจารย์เต็มทุกวัน แต่ไม่รู้สึก จนกว่าเมื่อไรไม่มีอันเตวาสิก คือไม่มีลูกศิษย์ และไม่มีอาจารย์ เมื่อนั้นจึงจะเป็นสุข

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

อีกประการหนึ่ง อกุศลธรรมอันลามก คือ ความดำริฟุ้งซ่าน เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะฟังเสียงด้วยหู ... เพราะสูดกลิ่น ด้วยจมูก ... เพราะลิ้มรสด้วยลิ้น ... เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... เพราะรู้แจ้งธัมมารมณ์ด้วยใจ อกุศลธรรมเหล่านั้นอยู่ภายในของภิกษุนั้น เพราะอกุศลธรรม อันลามกเหล่านั้นอยู่ภายในของภิกษุนั้น เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า มีอันเตวาสิก เพราะอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้นย่อมครอบงำภิกษุนั้น เพราะเหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า มีอาจารย์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีอันเตวาสิก มีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สำราญ อย่างนี้แล ฯ

วันนี้มีลูกศิษย์นับไม่ถ้วน เพราะว่าทางตาเห็น อกุศลธรรมมีภายใน ทางหู ได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้โผฏฐัพพะ ทางใจคิดนึก

อยู่สำราญ หรืออยู่ไม่สำราญ ในวันหนึ่งๆ เข้าใจว่าสำราญมาก แต่แท้ที่จริงเวลาที่อกุศลจิตเกิดจะชื่อว่าอยู่สำราญไม่ได้เลย

แสดงให้เห็นถึงความต่างกันของผู้มีปัญญา กับผู้ที่ยังมืดมน ยังไม่เห็น สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงมีความหลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่เข้าใจว่าทำให้สุขสำราญ แต่แท้ที่จริงแล้วขณะใดที่ยังเป็นไปด้วยอกุศล ขณะนั้นจะชื่อว่าอยู่สำราญย่อมไม่ได้

ฟังดูก็เข้าใจทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่จะไม่เข้าใจ แต่การที่จะเข้าใจจนกระทั่ง เห็นโทษของอกุศลและน้อมประพฤติปฏิบัติตาม พร้อมกับการเป็นผู้ที่มีปกติ เจริญสติปัฏฐาน ต้องอาศัยการฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ

สำหรับภิกษุผู้ไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ ก็โดยนัยตรงกันข้าม คือ เมื่อ เห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้น ก็ไม่มีอกุศลวิตก จึงย่อมอยู่เป็นสุขสำราญ

ความสุขสำราญนี้ก็มีเป็นขั้นๆ ไป คือ ถ้าเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ คิดนึกด้วยกุศลจิต ขณะนั้นเบาสบายไม่เป็นอกุศล นี่ก็สำราญ ขั้นหนึ่งแล้ว แต่ถ้ายิ่งสามารถดับอกุศลธรรมได้เป็นสมุจเฉทตามลำดับขั้น ก็ยิ่ง สบายขึ้น

ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

เพราะกิเลสไม่ได้อยู่ภายนอก ไม่ได้อยู่ที่สัตว์บุคคลอื่น สิ่งอื่น ไม่ได้อยู่ที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อกิเลสเป็นธรรมที่อยู่ภายในตนเอง จึงเป็นอันเตวาสิก คือ ภายใน

ต่อไปนี้เวลาที่ใครพูดถึงลูกศิษย์ก็ทราบได้ว่า ไม่ใช่คนอื่นที่มาแสดงความเคารพนับถือ แต่ขณะใดที่อกุศลธรรมเกิดขึ้นภายใน ขณะนั้นเป็นอันเตวาสิก

ถ้ายังคงเพลิดเพลินไป หรือจิตใจฟูขึ้นด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สักการะ จากบุคคลอื่น ขณะนั้นเป็นอกุศล ก็ต้องเป็นผู้ที่มีอันเตวาสิกภายใน แต่ถ้าเป็นผู้ที่รู้ สภาพธรรมตามความเป็นจริงและไม่หวั่นไหวไปกับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือว่า เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ขณะที่เป็นกุศลจิตที่ไม่หวั่นไหว ขณะนั้นก็ไม่มี อันเตวาสิก

และเมื่อกิเลสอกุศลธรรมเหล่านั้นย่อมครอบงำ ท่วมทับ กิเลสเหล่านั้นก็ชื่อว่า เป็นอาจารย์ของผู้มีกิเลสนั้น ด้วยอรรถว่า อบรม คือ สั่งสอน กล่าวคือ ให้กระทำกายวาจาอย่างนั้นๆ

อาจารย์ก็ร้ายมาก ใช่ไหม คือ ทำให้เกิดกายทุจริตและวจีทุจริตต่างๆ

ใครทำให้เกิดกายทุจริตและวจีทุจริต ถ้าไม่ใช่กิเลสอกุศลธรรมของตนเอง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เกิดกายทุจริตขึ้นให้ระลึกว่า ขณะนั้นมีอาจารย์ คือ มี อกุศลธรรมซึ่งเป็นผู้ทำให้กายทุจริตนั้นเกิดขึ้น

สำหรับชีวิตประจำวันของแต่ละคนซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษาธรรม และยังมีกิเลส อกุศลธรรมอยู่ ก็ย่อมจะมีทั้งความรักและความเคารพผู้ที่เป็นครูอาจารย์ จะมีแต่ ความเคารพอย่างเดียวโดยที่ไม่มีความรักด้วย ก็รู้สึกว่าต้องเป็นผู้ที่มีความมั่นคง ในกุศลและเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว แต่ส่วนใหญ่ของบรรดาผู้ที่ศึกษาธรรมก็จะได้ยินได้ฟังว่า เป็นผู้ที่มีความรักเคารพครูอาจารย์

ถ้าจะพิจารณาให้ละเอียดถึงแต่ละบุคคล จะเห็นได้ว่า บางคนก็รักและเคารพเสมอกัน บางคนก็รักมากกว่าเคารพ และบางคนก็เคารพมากกว่ารัก นี่เป็นจิตใจธรรมดาของผู้ที่ยังมีอกุศลธรรม แต่แม้จะจำแนกออกถึง ๓ ประเภท คือ รักเคารพเสมอกัน รักมากกว่าเคารพ หรือเคารพมากกว่ารัก แต่ความปลีกย่อย ความละเอียดของระดับขั้นก็ยังมีมากกว่านั้นอีก เช่น ถ้ากล่าวถึงผู้ที่รักและเคารพเสมอกัน ก็อาจจะเคารพนิดเดียว ความรักที่เท่ากันก็นิดเดียว เสมอกัน หรือเคารพมากขึ้น ความรักก็มากขึ้นอีก ซึ่งก็เสมอกันไปเรื่อยๆ

สำหรับบางคนที่ว่ารักมากกว่าเคารพ รักนั้นก็อาจจะมากกว่าเคารพเพียง นิดเดียว แต่เคารพนั้นมีมากก็ได้ หรือผู้ที่เคารพมากกว่ารัก ก็อาจจะเคารพมากกว่ารักนิดหน่อย หรืออาจจะเคารพมาก เหลือความรักเพียงเล็กน้อย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะถ้าสามารถเปลี่ยนความรักให้เป็นความเมตตา คือ เป็นผู้ที่มีความเคารพและเมตตาในครูอาจารย์ นั่นย่อมจะเป็นกุศลซึ่งควรแก่การอนุโมทนา เพราะเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล เพราะว่าเมตตาเป็นกุศล แต่ความรักซึ่งยังมีเจือปนอยู่กับความเคารพนั้น ก็ยังเป็นอกุศล

ถ้าผู้ใดสามารถพิจารณาเห็นโทษของอกุศล และความเคารพเป็นกุศล เพราะฉะนั้น ความรักก็ลดลง และเปลี่ยนเป็นความเมตตาเพิ่มขึ้น นั่นก็เป็นผู้ที่ ขัดเกลากิเลส และเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล

สารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อรรถกถา ปฐมทารุขันธสูตรที่ ๔ มีข้อความว่า

บทว่า อันโตปูติ ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้เน่าใน เพราะเป็นความเน่าของ คุณความดี แม้ของบุคคลผู้ไม่เน่าในอาการ ๓๒ มีไตและหัวใจเป็นต้น

นี่คือข้อความในอรรถกถาซึ่งมีประโยชน์ เพราะว่าเป็นชีวิตประจำวัน ที่จะชี้ให้เห็นแต่ละบุคคลตามความเป็นจริงว่า แม้เป็นผู้ที่อวัยวะไม่เน่า คือ หัวใจก็ดี ปอด ตับ ไต ดีหมด แต่ก็ชื่อว่าเป็นผู้เน่าในในขณะที่เป็นอกุศล แม้ว่ากำลังมีชีวิตอยู่ จิตใจก็เน่าได้ แม้ว่าร่างกายจะไม่เน่า

ใคร ไม่ใช่ท่านผู้ฟัง หรือว่าใช่

แต่ละคนตามความเป็นจริง เป็นผู้ที่ตรง อาจหาญที่จะพิจารณาตัวเองและรู้ว่ากำลังดีขึ้น คือ เป็นผู้ที่มีศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมโดยเห็นโทษของอกุศล และมีความตั้งใจที่จะขัดเกลา ไม่ใช่ตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยง มิฉะนั้นแล้วข้อความนี้จะไม่มีประโยชน์เลยที่แสดงให้เห็นว่า จิตใจเน่า แม้ว่าร่างกายไม่เน่า

ที่จะเห็นความเน่าซึ่งมีกลิ่นที่ไม่ดีออกมา ก็คือขณะใดที่กายทุจริตเกิดขึ้น วาจาทุจริตเกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่ากว่ากายทุจริตและวาจาทุจริตจะเกิด อกุศลจิตภายในต้องมากสักแค่ไหน อาจจะต้องคิดโดยยังไม่พูด ซึ่งเป็นอกุศลวิตก แต่เมื่อ คิดมากเข้า และอกุศลมีกำลังขึ้น ก็ทำให้เกิดวจีทุจริตหรือกายทุจริต

เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ถ้าเห็นกายทุจริตและวจีทุจริตก็จะรู้ได้ว่า อกุศลวิตกย่อมเกิดนับไม่ถ้วน

สำหรับบรรพชิต ข้อความตอนท้ายของอรรถกถาพระสูตรนี้มีว่า

ภิกษุในศาสนานี้เป็นผู้ต้องอาบัติที่เศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง การออกจากอาบัติเช่นนั้นยังไม่ปรากฏ นี้เราเรียกว่า ความเป็นผู้เน่าภายใน

สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ควรจะพิจารณาเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ถ้ารู้สึกตัวว่าจิตเน่า ก็น่ารังเกียจมาก ต้องใช้ยารักษา มิฉะนั้นแล้วไม่สามารถทำให้ จิตเน่ากลับคืนสู่สภาพปกติได้ จึงต้องฟังพระธรรม และอบรมเจริญกุศลทุกประการ ให้ถึงพร้อม

ไม่ต้องเป็นห่วงกังวลเรื่องวิปัสสนาญาณต่างๆ เลย เพราะการที่วิปัสสนาญาณต่างๆ จะเกิดขึ้นเมื่อไร ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แต่เมื่อเป็นผู้ที่สะสมเหตุ คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐานไปเรื่อยๆ วันหนึ่งวันใดก็ต้องถึง จะเห็นได้จริงๆ ว่า ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องของวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น แต่ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมและข้อปฏิบัติถูกต้อง เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน และเป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลส

การอ่านและการพิจารณาพระธรรมในพระไตรปิฎก ทำให้เห็นตัวอย่าง ความเป็นผู้ละเอียดของบุคคลต่างๆ ในพระไตรปิฎก ซึ่งจะเป็นเครื่องสอนให้ประพฤติปฏิบัติตามได้ยิ่งขึ้น เมื่อเห็นความละเอียดของสภาพธรรม เช่น เห็นโทษของแม้เพียงการเหน็บแนม เป็นโทษหรือเปล่า ดีหรือไม่ดี หรือใครมีวาจาเหน็บแนมเก่ง น่าสรรเสริญเหลือเกิน

นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเลย เพราะถ้าผู้ใดเห็นโทษแม้เพียงการเหน็บแนม แสดงว่าผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียด

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค โลหิจจสูตร ข้อ ๒๐๕ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจายนะอยู่ ณ อรัญญกุฎี ใกล้มักกรกฏนคร ในอวันตีชนบท ครั้งนั้น พวกมาณพผู้เที่ยวหาฟืนเป็นอันมากซึ่งเป็นอันเตวาสิกของโลหิจจพราหมณ์ ได้พากันเข้าไปยังอรัญญกุฎีของท่านพระมหากัจจายนะ ครั้นแล้วพากันเดินตามกันไปมา เที่ยวตามกันไปรอบๆ กุฎีเล่นเสเลยยกกีฬา มีเสียงเอ็ดอึงอึกทึกอยู่ว่า

อันสมณะโล้นเหล่านี้เป็นเชื้อแถวคฤหบดี เป็นคนดำ เป็นเหล่ากอของพวกเกิดแต่เท้าแห่งพรหม อันชาวภารตะแว่นแคว้นเหล่านี้สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ดังนี้ ฯ

เห็นอกุศลไหม มีวาจาที่กล่าวว่า อันสมณะโล้นเหล่านี้เป็นเชื้อแถวคฤหบดี เป็นคนดำ เป็นเหล่ากอพวกเกิดแต่เท้าแห่งพรหม

นี่ดูถูก ดูหมิ่น และมีวาจาที่เหยียดหยามหรือเปล่า

ข้อความในอรรถกถามีว่า

ท่านพระมหากัจจายนะคิดว่า พวกมาณพเหล่านี้มัดไม้เป็นกำแล้วเหวี่ยงไว้ที่บริเวณอันน่ารื่นรมย์ อันมีทรายที่เกลี่ยไว้สม่ำเสมอส่องแสงระยิบระยับคล้ายแผ่นเงิน คุ้ยทราย เอามือจับมือกันแล่นไปรอบๆ บรรณกุฎี โห่ร้องแล้วร้องเล่นว่า สมณะโล้นเหล่านี้ พวกกุฎุมพีสักการะแล้วๆ จึงกระทำเล่นๆ กันเกินไป ทั้งไม่รู้ว่า มีภิกษุทั้งหลายอยู่ในที่อยู่ จำเราจักแสดงภิกษุเหล่านั้นอยู่ ดังนี้ จึงออกจากบรรณกุฎี

เห็นว่าเล่นกันมากนัก และกล่าวคำที่ไม่เป็นประโยชน์ด้วย คงจะคิดว่า ไม่มีภิกษุอยู่ในที่อยู่นั้น

เปิด  261
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565