แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1739

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๐


เพราะฉะนั้น เพื่อให้ทราบว่า มีภิกษุอยู่ในที่นั้น

ครั้งนั้น ท่านพระมหากัจจายนะออกจากวิหารแล้ว ได้กล่าวกับมาณพเหล่านั้นว่า ดูก่อน มาณพทั้งหลาย พวกเธออย่าได้ส่งเสียงไป เราจักกล่าวธรรมให้เธอทั้งหลายฟัง

เมื่อท่านพระมหากัจจายนะกล่าวอย่างนี้แล้ว มาณพเหล่านั้นก็ได้พากันนิ่งอยู่ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัจจายนะได้กล่าวกับมาณพเหล่านั้นด้วยคาถาทั้งหลายว่า

พราหมณ์เหล่าใดระลึกถึงธรรมของพราหมณ์เก่าๆ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้สูงสุดโดยศีลมาก่อน ทวารทั้งหลายย่อมเป็นอันพราหมณ์เหล่านั้นคุ้มครองแล้ว รักษาดีแล้วเพราะครอบงำความโกรธเสียได้ พราหมณ์เหล่าใดระลึกถึงธรรมของพราหมณ์เก่าได้ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้ประพฤติในธรรม (กุศลกรรมบถ) และในฌาน

ฟังดูเหมือนกับไม่มีอะไร แต่อรรถกถาอธิบายว่า

ที่ท่านพระเถระกล่าวอย่างนี้เพราะคิดว่า เมื่อกล่าวถึงคุณของผู้มีคุณ ความไม่มีคุณของผู้ไม่มีคุณก็จะปรากฏชัด

ท่านผู้ฟังเป็นอย่างนี้หรือเปล่า เปรียบเทียบคุณที่บุคคลอื่นมี เช่น พระอริยเจ้าหรือผู้ที่มีคุณความดี และระลึกถึงตนเองได้ว่า ตนเองยังไม่มีคุณอย่างนั้น เพื่อที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมที่สะสมมาต่างกัน

เมื่อจะย่ำยีความเมาของพราหมณ์ในปัจจุบัน ท่านพระมหากัจจายนะจึงได้กล่าวต่อไปว่า

พราหมณ์เหล่าใดละเลยธรรมเหล่านี้เสีย เป็นผู้เมาด้วยโคตร เป็นผู้ถูก ความโกรธครอบงำแล้ว มีอาชญาในตนมากมาย ประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย ทั้งที่มีใจหวาดสะดุ้งและมั่นคง จึงประพฤติไม่เรียบร้อย การสมาทานวัตรทั้งปวง คือ การไม่กิน การนอนบนพื้นดิน การอาบน้ำในเวลาเช้า และพระเวท ๓ ของบุคคล ผู้ไม่คุ้มครองทวารเป็นการเปล่าผล เหมือนทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันบุรุษได้แล้วใน ความฝัน ฉะนั้น บริขารภัณฑ์เหล่านี้ คือ หนังเสือหยาบๆ ชะฎา เหงือก มนต์ ศีลพรต ตบะ การล่อลวง ไม้เท้าคดๆ และการเอาน้ำลูบหน้า เป็นวรรณของพวกพราหมณ์ การภาวนาเห็นแก่อามิส พวกพราหมณ์ก็ทำกันแล้ว

และได้กล่าวเตือนต่อไปว่า

ส่วนจิตอันตั้งมั่นดีแล้ว อันผ่องใส ไม่ขุ่นมัว ไม่เหี้ยมโหดในสัตว์ทั้งปวง ข้อนั้นเป็นทางถึงพรหม

ถ้าท่านผู้ฟังสังเกตคำที่ท่านพระมหากัจจายนะกล่าวที่ว่า การไม่กิน การนอนบนพื้นดิน การอาบน้ำในเวลาเช้า และพระเวท ๓ ของบุคคลผู้ไม่คุ้มครองทวาร เป็นการเปล่าผล เพราะฉะนั้น จุดสำคัญอยู่ที่การไม่คุ้มครองทวาร ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ถ้าฟังจริงๆ จะสนใจว่า การเป็นผู้คุ้มครองทวารหมายความว่าอย่างไร

ผลของการฟังด้วยอโยนิโสมนสิการ คือ การไม่ฟังด้วยดี คือ

ครั้งนั้นแล มาณพเหล่านั้นขัดเคือง ไม่พอใจ ได้พากันเข้าไปหา โลหิจจพราหมณ์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะโลหิจจพราหมณ์ว่า

ขอท่านผู้เจริญพึงทราบเถิด พระสมณมหากัจจายนะขอดค่อนด่าว่า ถึงมนต์ของพราหมณ์ทั้งหลายโดยส่วนเดียว

เมื่อมาณพเหล่านั้นกล่าวแล้วอย่างนี้ โลหิจจพราหมณ์ก็ขัดเคือง ไม่พอใจ

เป็นธรรมดา ใช่ไหม ทุกคนเวลาที่ได้ยินอย่างนั้นก็จะเกิดความไม่พอใจ

ลำดับนั้น โลหิจจพราหมณ์จึงคิดดังนี้ว่า การที่เราพึงด่า พึงเหน็บแนม พึงบริภาษพระสมณมหากัจจายนะ เพราะเชื่อฟังคำของมาณพเป็นแน่นอนนี้ ไม่สมควรแก่เราเลย อย่ากระนั้นเลย เราไปหาแล้วถามดูเถิด

นี่คือผู้ที่สะสมความละเอียด แม้โกรธในขณะที่ได้ยินได้ฟัง แต่ก็ยังระลึกได้ว่า การที่จะพูดไม่ดีและพลอยบริภาษบุคคลอื่นไปด้วย เป็นสิ่งที่ไม่ควร แต่ควรจะไปสอบถามดูก่อน

ครั้งนั้นแล โลหิจจพราหมณ์กับมาณพเหล่านั้นได้เข้าไปหาท่าน พระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระมหากัจจายนะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถาม ท่านพระมหากัจจายนะว่า

ท่านกัจจายนะผู้เจริญ พวกมาณพผู้เที่ยวหาฟืนเป็นอันมากซึ่งเป็น อันเตวาสิกของข้าพเจ้า ได้มาในที่นี้หรือหนอ

ท่านพระมหากัจจายนะตอบว่า

ดูก่อน พราหมณ์ พวกมาณพผู้เที่ยวหาฟืนเป็นอันมากซึ่งเป็นอันเตวาสิก ของท่าน ได้มาแล้วในที่นี้

โลหิจจพราหมณ์ถามว่า

ท่านกัจจายนะได้ปราศรัยอะไรกับมาณพเหล่านั้นบ้างหรือ

ท่านพระมหากัจจายนะตอบว่า

ดูก่อน พราหมณ์ อาตมาได้ปราศรัยกับมาณพเหล่านั้น

โลหิจจพราหมณ์ถามว่า

ก็ท่านกัจจายนะได้ปราศรัยกับมาณพเหล่านั้นอย่างไรเล่า

นี่คือผู้ที่ฟังและต้องสอบถามเพื่อความถูกต้อง ก่อนที่จะเชื่อคำที่มานพทั้งหลายไปบอกว่า ท่านพระมหากัจจายนะขอดค่อนด่าว่าพวกพราหมณ์

ท่านพระมหากัจจายนะก็ได้กล่าวกับโลหิจจพราหมณ์ตามที่ท่านสนทนา กับมานพเหล่านั้น ซึ่งความเป็นผู้ละเอียดของโลหิจจพราหมณ์นั้น ทำให้ท่านถาม ท่านพระมหากัจจายนะว่า

ท่านกัจจายนะได้กล่าวว่า ผู้มีทวารอันไม่คุ้มครองแล้ว ดังนี้ ท่านกัจจายนะ ด้วยเหตุมีเท่าไรหนอ บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีทวารอันไม่คุ้มครองแล้ว

ซึ่งผู้ที่มีทวารอันไม่คุ้มครอง คือ เมื่อเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และคิดนึก อกุศลจิตก็เกิด

. การเจริญสติปัฏฐานต้องรู้ลักษณะของรูปธรรมนามธรรม เป็นไปได้ไหมที่ผู้เจริญสติปัฏฐานจะประจักษ์ลักษณะของรูปธรรม โดยยังไม่เคยพิจารณาลักษณะของนามธรรมมาก่อน และสามารถประจักษ์ได้ว่า ลักษณะของรูปธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน โดยไม่รู้ลักษณะของสภาพรู้ว่าเป็นอย่างไร

สุ. ถ้าสติปัฏฐานของบุคคลนั้นระลึกลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดที่กำลังปรากฏ และปัญญาเริ่มพิจารณาสังเกตที่จะรู้ลักษณะของรูปโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่นิ้ว ไม่ใช่แขน ไม่ใช่มือ เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ที่ปรากฏ เช่น ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งที่ปรากฏ ถ้าสติขณะนั้นระลึกศึกษาลักษณะที่แข็งก็รู้ว่าไม่ใช่เราเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ขณะนั้นก็เป็นการเริ่มต้นที่จะพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน แต่ยังไม่ถึงขั้นความสมบูรณ์ของปัญญาที่จะเป็นวิปัสสนาญาณ

. ถ้าปัญญาเริ่มค่อยๆ พิจารณาจนรู้ลักษณะของสภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรม หรือลักษณะของจิต ถ้าลักษณะของสภาพรู้ที่ปรากฏ เช่น จักขุวิญญาณปรากฏ เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่แทงตลอดถึงลักษณะของรูปธรรม ใช่ไหม

สุ. ขณะนี้มีนามธรรมซึ่งต่างกับรูปธรรม ถ้าปัญญาจะรู้ลักษณะของรูปธรรม ก็เพราะสติเกิดระลึกตรงลักษณะของรูปธรรม ถ้าปัญญาจะรู้ลักษณะของนามธรรม ก็เพราะสติเกิดระลึกศึกษารู้ในสภาพที่เป็นนามธรรม

. แต่ผู้ที่พิจารณาลักษณะของนามธรรม เช่น จักขุวิญญาณ ซึ่งเป็นสภาพรู้สี หรือรู้สิ่งที่ปรากฏ ถ้าสติเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะ จะต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นธาตุชนิดหนึ่งที่กำลังรู้สภาพที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น สติจะต้องระลึกรู้ถึงลักษณะของสภาพของสีด้วย ไม่อย่างนั้นจะไม่รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นลักษณะของสภาพรู้ ใช่ไหม

สุ. ไม่ว่าจะเป็นสภาพรู้ทางตา หรือสภาพรู้ทางหู เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ก็คือคุ้นเคยใกล้ชิดที่จะรู้ในลักษณะของนามธาตุซึ่งเป็นธาตุรู้ เพราะทุกท่านได้ยินได้ฟังคำว่า นามธรรม หรือนามธาตุ เพียงชื่อ แม้ในขณะที่กำลังได้ยิน ได้ยินก็ไม่ใช่ตัวตน แต่แม้กระนั้นก็เป็นเพียงฟังเข้าใจเรื่องนามธรรมว่าเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ แต่ยังไม่มีปัญญาที่จะแทงตลอดจริงๆ ว่า ในขณะที่ได้ยินนั้นเป็นอาการรู้

ถ้ารู้ว่าในขณะที่ได้ยินเป็นอาการรู้ ในขณะที่เห็นเป็นอาการรู้ ในขณะที่คิดนึกเป็นอาการรู้ ในขณะนั้นจะรู้ว่า ลักษณะของสภาพรู้ไม่ได้เป็นรูปอย่างหนึ่งอย่างใดเลย

ในขณะใดที่สติระลึกลักษณะของนาม ก็จะค่อยๆ พิจารณารู้ในอาการที่เป็นธาตุรู้ ในขณะที่พิจารณาลักษณะของรูป ก็จะค่อยๆ พิจารณารู้ลักษณะของสภาพที่เป็นรูปธรรม

. ถ้าลักษณะของสภาพรู้กำลังปรากฏ สติก็ค่อยๆ ระลึกและพิจารณา รู้ลักษณะที่กำลังเป็นสภาพรู้ ปัญญาค่อยๆ ศึกษา ซึ่งจะต้องมีลักษณะของรูปธรรมสลับกัน ใช่ไหม

สุ. ขณะนั้น แล้วแต่ว่าสติจะระลึกลักษณะที่เป็นนามธรรม หรือว่า ระลึกตรงลักษณะของรูปธรรม

. ใช่ เพราะว่าปัญญาต้องรู้ทีละอย่างในขั้นแรกๆ ก่อน ก่อนที่จะรู้ ความต่าง ใช่ไหม

สุ. ต้องมีการฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม จนกระทั่งมีความเข้าใจจริงๆ จึงจะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดระลึกตรงลักษณะนั้นๆ ได้ เช่น ในขณะที่กำลังเห็น จะต้องฟังและพิจารณารู้ว่า มีสภาพรู้ มีธาตุรู้ มีอาการรู้ในขณะที่กำลังเห็น และมีการได้ยิน หรือว่ามีการคิดนึก

สติปัฏฐานไม่มีการเจาะจงตั้งใจที่จะระลึกเฉพาะนามใดหรือรูปใด แล้วแต่ว่าสติจะเกิดระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมใด เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าสติจะระลึกลักษณะของสภาพของนามธรรม หรือจะระลึกลักษณะของรูปธรรมก็ได้

. พระอริยบุคคลท่านมีวิปัสสนาญาณครบทั้ง ๑๖ ขั้นแล้ว พระโสดาบันกับพระสกทาคามีท่านมีปัญญาต่างกันอย่างไร ในเมื่อมีญาณ ๑๖ ขั้นเหมือนกัน

สุ. พระโสดาบันรู้ตามความเป็นจริงว่า ท่านยังมีกิเลสอะไรเหลืออยู่ ท่านเพียงแต่ดับทิฏฐิความเห็นผิดที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เวลาที่โลภะเกิดขึ้นพระโสดาบันก็รู้ว่า เป็นสภาพนามธรรมซึ่งยังมีปัจจัย จึงเกิด ท่านยังมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ด้วยเหตุที่ท่านเป็นผู้ที่รู้จักตนเองตามความเป็นจริงจึงรู้ว่าเป็นผู้ยังมีกิเลสเหลือ ด้วยเหตุนี้จึงอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนคลาย การยึดมั่นอย่างหยาบในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะท่านเป็นผู้ที่ประจักษ์แจ้งว่า การที่จะดับกิเลสนั้นจะต้องดับตามลำดับขั้น ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็น พระโสดาบันแล้วจะเหมือนกับพระอรหันต์คือไม่มีกิเลสเลย เมื่อได้ระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนทั่วก็รู้ชัดว่า สภาพธรรมทุกอย่างเป็นแต่เพียงธาตุแต่ละชนิดซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น จึงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

นี่คือปัญญาขั้นพระโสดาบันที่ดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ และท่านก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ยังมีกิเลสที่จะต้องละต่อไป

. เรื่องของอารมณ์ โลภมูลจิตหรือโลภเจตสิกรู้โลกุตตรธรรม ๙ ไม่ได้ แต่สามารถมีมหากิริยาจิตเป็นอารมณ์ได้ อาจารย์ช่วยยกตัวอย่าง

สุ. เป็นการใคร่ที่จะเป็นเช่นพระอรหันต์เท่านั้นเอง

ข้อสำคัญ คือ ไม่ต้องกังวลเลยว่า นามรูปปริจเฉทญาณ หรือวิปัสสนาญาณขั้นอื่นๆ จะเกิดเมื่อไร เพราะนั่นเป็นเรื่องของผล ถ้าเหตุมีสมควรแก่ผลเมื่อไร ผลจึงจะเกิดได้ แต่ถ้าเหตุยังไม่สมควรแก่ผลที่จะเกิด ก็ไม่ต้องกังวลถึงว่าเมื่อไรผลนั้นจะเกิด นอกจากจะเจริญเหตุ คือ การฟังพระธรรม การพิจารณาพระธรรม เพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏละเอียดขึ้นๆ เพราะทุกท่านก็ทราบว่าเพียงแต่รู้ว่า มีนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ไม่เป็นปัจจัยที่จะให้กิเลสหมด

ถ้ารู้ว่าขณะที่เห็นเป็นนามธรรมรูปธรรม ขณะที่ได้ยินก็เป็นนามธรรมรูปธรรม ก็ยังไม่เป็นปัจจัยที่จะให้กิเลสหมด เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการฟังพระธรรม โดยละเอียดจริงๆ เพื่อจะได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจนเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เช่นในขณะนี้เอง ขณะที่ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็คือทางตาเมื่อเห็นแล้วก็น้อม ที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร เป็นสภาพรู้อย่างไร เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างไร

สำหรับท่านพระอัครสาวกทั้งสอง ท่านได้อบรมเจริญปัญญาถึง ๑ อสงไขยแสนกัป แสดงให้เห็นว่าตลอดเวลา ๑ อสงไขยแสนกัป ท่านพระสารีบุตร ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล แต่ในชาติสุดท้ายเมื่อได้ฟังท่านพระอัสชิแสดงธรรม ท่านก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลได้

คิดดู ปัญญาที่ทำให้ท่านรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันเมื่อได้ฟังท่านพระอัสชินั้นมาจากไหน ถ้าไม่ใช่มาจาก ๑ อสงไขยแสนกัปที่ฟังพระธรรม และอบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญามาเรื่อยๆ

ถ้าคิดถึงกัปหนึ่ง ท่านผู้ฟังอาจจะว่ามาก แต่แสนกัปก็ยังน้อยไปสำหรับการ ที่จะเป็นพระอัครสาวก ต้องถึง ๑ อสงไขยแสนกัป เมื่อท่านได้เป็นพระโสดาบันแล้ว หลังจากนั้น ๑๕ วัน ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

นี่ก็เพราะการสะสมของการเจริญสติปัฏฐานใน ๑ อสงไขยแสนกัปนั่นเอง

เพราะฉะนั้น แต่ละท่านไม่ต้องกังวลจริงๆ ว่า วิปัสสนาญาณยังไม่เกิด นามรูปปริจเฉทญาณยังไม่เกิด หรือว่าญาณอื่นๆ เมื่อไรจะเกิด หรือแม้แต่บางท่านอาจจะคิดว่า เมื่อเหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นแล้ว ทำไมสติปัฏฐานไม่เกิด

นี่ไม่ใช่การที่จะต้องรอคอยสติปัฏฐาน แต่เพราะความเข้าใจเรื่องลักษณะของสภาพธรรมมีความมั่นคง จึงจะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดเมื่อไรก็ได้ โดยไม่ต้องหวัง ไม่ใช่ว่าเวลาที่เหตุการณ์อย่างนั้นอย่างนี้เกิดและก็คอยคิดว่า ทำไมสติปัฏฐานไม่เกิด ซึ่งนั่นหมายความว่า หวังว่าสติปัฏฐานจะเกิด

สำหรับประโยชน์ของการสะสมอบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญา สามารถทำให้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก่อนสิ้นชีวิตได้ ขอกล่าวถึงข้อความใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ฉันนสูตร ข้อ ๑๐๔ ซึ่งมีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาจุนทะ และท่าน พระฉันนะ อยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ สมัยนั้น ท่านพระฉันนะอาพาธ ถึงความทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น เป็นเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักแล้วเข้าไปหา ท่าน พระมหาจุนทะถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระมหาจุนทะว่า

ดูก่อน ท่านจุนทะ เราจงพากันเข้าไปหาท่านพระฉันนะถามถึงความเป็นไข้เถิด

ถ้าศึกษาอภิธรรมจะทราบว่า มหากิริยาจิตของพระอรหันต์นั้นมีกรุณาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เมื่อคิดที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังทุกข์ยาก เช่น ในขณะที่กำลังป่วยไข้

ถึงแม้ท่านผู้ฟังจะยังไม่ทราบว่า เวลาที่กุศลจิตเกิดจะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย แม้ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เวลาที่คิดถึงความทุกข์ยากของคนอื่นและใคร่ที่จะช่วยเหลือ ขณะนั้นก็ควรที่จะได้ทราบว่า มีโสภณเจตสิก คือ กรุณาเจตสิก เกิดร่วมด้วย เพราะว่าบางครั้งก็มีความทุกข์ยากของคนอื่นเป็นอารมณ์ แต่ก็ไม่คิดที่จะช่วย บางครั้งก็ผ่านเลยไป แต่ถ้าเกิดความคิดที่จะอนุเคราะห์ช่วยเหลือ ขณะนั้นก็เพราะ กรุณาเจตสิกเกิดกับมหากุศลจิตสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ และแม้จะเป็น พระอรหันต์แล้ว กรุณาเจตสิกก็ยังเกิดกับมหากิริยาจิตด้วย

เปิด  241
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565