แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1743
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๐
ถ. แต่สติต้องเกิดขึ้นรู้ในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ และพิจารณา
สุ. ใช่ เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมไม่ว่าจะเป็นทางวิทยุหรือที่นี่ ก็เหมือนกับการเตือนให้สติเกิด แล้วแต่ว่าสติจะเกิดหรือไม่เกิด แต่ก็ฟังบ่อยๆ เรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ. ส่วนใหญ่ต้องมีสิ่งที่ทำให้เกิดความเพียร เช่น อ่านพระสูตร หรือได้ยินพระธรรม หรือฟังจากวิทยุก็ดี เทปก็ดี ขณะนั้นช่วยเตือนได้มาก ซึ่งวันหนึ่งๆ เพลิดเพลินแน่นอน เพราะสติมีกำลังน้อย
สุ. บางท่านก็บอกว่า ทั้งๆ ที่ท่านฟังพระธรรมและเข้าใจเรื่องการเจริญ สติปัฏฐาน เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แต่ท่านก็ยังรู้สึกตัวว่ามีโลภะมาก คือ ยังชอบสิ่งที่สวยๆ งามๆ ยังชอบการเพลิดเพลิน การรื่นเริงสนุกสนาน ดูโทรทัศน์ เที่ยวเตร่ ซึ่งนั่นก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุปัจจัยที่โลภะจะเกิด ไม่มีใครยับยั้งได้ โลภะก็ต้องเกิดไปตามปกติ แต่ในขณะเดียวกันปัญญาก็เกิดด้วย ไม่ใช่เป็นผู้ที่ละเลย มีการฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรม ศึกษาในเหตุในผล เป็นอาหารที่จะทำให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น เรื่องของโลภะ เรื่องของอกุศล ก็เป็นเรื่องอกุศลที่มีปัจจัยเกิดขึ้น เรื่องของกุศล เรื่องของสติ เรื่องของปัญญา ก็เป็นเรื่องการค่อยๆ สะสมอบรมไป จนกว่าปัญญามีกำลังคมกล้าเมื่อไร ก็สามารถละคลายและดับอกุศลที่ยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
แต่ปัญญาที่จะเกิดขึ้นมีกำลังพอที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้นมาจากไหน นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาให้ถูกต้อง ถ้าไม่เคย ได้ยินได้ฟังเรื่องของสภาพธรรม เรื่องของสติปัฏฐาน เรื่องของหนทางเจริญปัญญา ปัญญาก็เจริญไม่ได้ แต่เมื่อฟังแล้ว ไม่สูญหาย ถ้าฟังน้อยความรู้ก็ยังไม่เพิ่มขึ้น เมื่อมีการฟังมากขึ้น สติเริ่มเกิด สติปัฏฐานนั้นก็จะค่อยๆ สะสมอบรมไป ทีละเล็กทีละน้อยตามกำลัง แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยของสภาพธรรมใดเกิดในวันหนึ่งอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น ตามปกติ ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น สำหรับพระโสดาบัน แม้ว่าท่านดับสักกายทิฏฐิและความเห็นผิดทั้งหมด ไม่มีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่พระโสดาบันยังมีโลภะมีโทสะเหมือนคนธรรมดา ต่างกันที่ไม่มีสักกายทิฏฐิและความเห็นผิด ซึ่งเป็นผลของการอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมจนประจักษ์แจ้ง อริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้น ไม่มีการข้ามขั้น หรือไม่มีการเข้าใจผิด
อย่างผู้ที่เห็นโทษของโทสะ พระโสดาบันท่านก็ยังมีโทสะ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบันก็เป็นของธรรมดาที่จะต้องมีโทสะ แต่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ บ้างหรือยัง นี่ก็เป็นปัจจัตตัง คือ แต่ละท่านจะรู้ขณะที่สติเกิด
ถ. เท่าที่ฟังมารู้สึกว่า อาจารย์สนับสนุนด้านวิปัสสนา อยากทราบว่า ทำไมอาจารย์ไม่สนับสนุนด้านสมาธิ
สุ. เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียด ขอให้เป็นการสนทนากันจริงๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับท่านผู้ฟังท่านอื่นด้วย ก่อนอื่นคิดอย่างไรที่ว่า ดิฉันไม่สนับสนุน
ถ. เพราะที่อาจารย์ตอบคำถามมา อาจารย์ให้เจริญแต่วิปัสสนา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทางด้านรูปนามแค่นั้น
สุ. จึงคิดว่าดิฉันไม่สนับสนุนเรื่องการเจริญสมาธิ ถ้าทราบว่าสมาธิมี ๒ อย่าง คือ มิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ ถ้าทราบอย่างนี้ คิดว่าดิฉันไม่สนับสนุน ฝ่ายไหน หรือทั้งสองฝ่าย
ถ. ก็คงไม่สนับสนุนมิจฉาสมาธิ
สุ. ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ถูกต้อง เพราะว่ามิจฉาสมาธิ คือ ความต้องการจดจ้องที่จะให้จิตรู้อารมณ์เดียวโดยไม่ให้รู้อารมณ์อื่นเลย และในขณะนั้นไม่ได้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์หรือเปล่า
ถ. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านตรัสรู้ ตอนที่ท่านจะตรัสรู้ท่านก็ใช้สมาธิ ใช่ไหม
สุ. คำว่า ใช้สมาธิ หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่าพระองค์ ทรงศึกษาเรื่องของสมถภาวนาจนกระทั่งจิตสงบถึงขั้นฌานจิตที่เป็นรูปฌานกุศลทั้ง ๕ และอรูปฌานกุศลทั้ง ๔ ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดของสมถภาวนา เพราะฉะนั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพิจารณาอะไรที่ทำให้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้อะไร จึงทำให้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เรื่องของสมถภาวนาเป็นเรื่องที่พระองค์ทรงศึกษาแล้ว และได้บรรลุถึงฌาน ขั้นสูงสุด คือ อรูปฌานที่ ๔ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน จบหมดแล้วเรื่องของฌาน ไม่มีสูงกว่านั้นอีก เพราะฉะนั้น การที่พระองค์เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงพิจารณาอะไร และปัญญาของพระองค์ทรงตรัสรู้อะไรจึงได้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะขณะที่ทรงบรรลุอรูปฌาน ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น ทรงตรัสรู้อะไร นี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องพิจารณาก่อนที่จะคิดว่าสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนอะไร
ถ. ถ้าอาจารย์สนับสนุนสัมมาสมาธิ ก็หมายความว่าให้ปฏิบัติสมาธิได้ ใช่ไหม หมายถึงควบคู่กันไปกับที่อาจารย์ให้เจริญวิปัสสนา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
สุ. ขอทราบว่า ถ้าจะปฏิบัติสัมมาสมาธิ จะปฏิบัติอย่างไร
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สมบูรณ์พร้อมด้วยเหตุผล เป็นศาสนาที่จะทำให้พุทธบริษัทเกิดปัญญามีความเห็นที่ถูกต้อง แต่ต้องเป็นผู้ที่รอบคอบ ละเอียด และพิจารณาธรรมโดยถี่ถ้วนจริงๆ อย่างลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ ทำอย่างไรจึงจะเป็นสัมมาสมาธิ เพราะถ้าไม่รู้วิธีก็ทำไม่ได้ และ ถ้าไม่รู้ว่าอะไรเป็นมิจฉาสมาธิ อะไรเป็นสัมมาสมาธิ ก็ไม่สามารถปฏิบัติสัมมาสมาธิได้ สิ่งที่กำลังปฏิบัติอยู่อาจจะเป็นมิจฉาสมาธิก็ได้ เพราะไม่สามารถรู้ว่า สัมมาสมาธินั้นเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าจะปฏิบัติสัมมาสมาธิ จะทำอย่างไร
ถ. ในหนังสือเคยอ่านว่า เมื่อถึงอับปนาสมาธิแล้วก็ลดฌานลงมา
สุ. ยังไม่ต้องพูดถึงผล พูดถึงการที่จะลงมือปฏิบัติ จะเจริญสัมมาสมาธินั้น จะเจริญอย่างไร
ถ. ตอนแรกให้จิตสงบก่อน็็
สุ. ตอนแรกให้จิตสงบ เราบังคับได้ไหม เดี๋ยวนี้จะให้จิตสงบได้ไหม
ถ. เดี๋ยวนี้ไม่ได้ แต่เมื่อนั่งสมาธิ บางที ...
สุ. คิดว่าไปนั่งสมาธิแล้วจิตจะสงบ ใช่ไหม จิตที่สงบเป็นจิตประเภทไหน นี่ต้องทราบก่อน กำลังเห็นอย่างนี้ จิตจะสงบได้ไหม และถ้าสงบได้ เป็นจิต ประเภทไหน ไม่ใช่ว่าสงบไม่ได้ เพราะสมถภาวนาหมายความถึงการอบรมเจริญ ความสงบ ซึ่งต้องเป็นกุศล เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่รู้เรื่องของกุศลจิตและอกุศลจิต โดยละเอียดจะไม่รู้เลยว่า ขณะที่กำลังต้องการจะทำ เพียงคิดว่าต้องการจะสงบ ขณะนั้นสงบหรือเปล่า ในขณะที่อยากจะสงบ กำลังอยากจะสงบ ในขณะนั้นสงบไหม
ถ. บางทีก็ไม่สงบ
สุ. ไม่ใช่บางที จริงๆ เลย อย่างเดี๋ยวนี้ ถ้าอยากจะสงบ ขณะนี้กำลังอยาก อยากมากๆ เลย ขณะที่กำลังอยากนั้นสงบไหม สงบหรือยัง
ถ. สงบได้
สุ. มิได้ ขณะที่กำลังอยากจะสงบ ขณะที่อยากนั้นสงบหรือยัง
ถ. ยัง
สุ. เพราะฉะนั้น จะสงบได้อย่างไร เวลานี้กำลังอยากสงบ ซึ่งในขณะที่อยากสงบนั้นไม่สงบ เพราะฉะนั้น จะสงบได้อย่างไร
ถ. ไม่ทราบ
สุ. นี่เป็นเรื่องของการที่ว่า เพราะเหตุใดจึงคิดว่าดิฉันไม่สนับสนุนหรือส่งเสริม เพราะถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ไม่มีที่ดิฉันจะไม่ส่งเสริมหรือสนับสนุนกุศล ทุกประการ แต่ถ้าเป็นอกุศล ไม่ส่งเสริม ถ้าเป็นความไม่รู้ ก็ไม่ส่งเสริม ถ้าเป็นความเข้าใจผิด การปฏิบัติผิด ก็ไม่ส่งเสริม
การที่จะปฏิบัติถูกได้ ต้องเป็นปัญญา และปัญญาต้องพิจารณาละเอียดจริงๆ ไม่ใช่เพียงได้ยินได้ฟังเรื่องของสมาธิก็จะทำ โดยที่ยังไม่รู้เลยว่า ความสงบที่เป็นสัมมาสมาธิเป็นอย่างไร ถ้าไม่รู้ ควรจะเป็นมิจฉาสมาธิหรือสัมมาสมาธิ
ถ. มิจฉาสมาธิ
สุ. และจะทำไหม หรือยังอยากจะทำอยู่
ถ. ก็คงศึกษาด้านสัมมาสมาธิก่อน เมื่อทราบแน่ชัดก็อาจจะทำ อาจจะช่วยทำให้การเจริญวิปัสสนาเร็วขึ้นได้ไหม
สุ. ไม่มีทาง ต้องเข้าใจว่าวิปัสสนาคืออะไร วิปัสสนา คือ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เหตุต้องตรงกับผล การที่ผลคือปัญญาอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ มีหนทางเดียว คือ สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ในขณะนี้ทางตา มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ การที่จะรู้ชัดในลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏมีหนทางเดียว คือ เมื่อสติเกิดระลึกได้ว่าไม่รู้ จึงระลึกศึกษาเพื่อที่จะเริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่วิธีอื่น ไม่ใช่ปะปนกัน การที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมก็เพราะสติเกิดระลึก
ถ. ถ้าสัมมาสมาธิไม่ได้ประโยชน์ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ทำเพื่ออะไร
สุ. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ และทรงแสดงว่ามิจฉาสมาธิเป็นอกุศล ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ทรงแสดงว่ามีมิจฉามรรค ๘ และมีมิจฉาญาณด้วย มีมิจฉาวิมุตติด้วย รวมเป็น ๑๐ ซึ่งก็มีจริงๆ ความเห็นผิดมี ความดำริผิดมี ความเพียรผิดมี
ถ. ส่วนสัมมาสมาธิที่ท่านสอน ท่านสอนเพื่ออะไร
สุ. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้เจริญกุศลทุกประการ จนกว่าจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
ถ. กราบขอบพระคุณ
สุ. คงพอจะเข้าใจแล้วว่า ดิฉันไม่สนับสนุนฝ่ายผิด ธรรมที่ผิด
ถ. ก่อนจะถามปัญหาท่านอาจารย์ ต้องขออภัยท่านผู้ฟังด้วย เพราะผมอาจจะถามปัญหาที่ท่านเคยฟังมาแล้วจนเบื่อ ผมอยู่บ้านนอก นานๆ จะเข้ามาทีหนึ่ง อาจจะมีคำถามที่อาจไม่น่าถามก็ได้
ข้อแรกเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนา กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน อิริยาปถบรรพ ควรจะปฏิบัติอย่างไร
สุ. ก่อนอื่นขอทบทวนความเข้าใจตั้งแต่ต้น เพื่อความเข้าใจแจ่มแจ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
มหาสติปัฏฐานมี ๔ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้ง ๔ รวมสภาพธรรมทั้งหมด ไม่เว้นเลย ไม่ว่าจะเป็นจิตกี่ประเภท เจตสิกกี่ประเภท รูปกี่ประเภทก็ตาม รวมอยู่ใน มหาสติปัฏฐานทั้งสิ้น ขันธ์ ๕ ไม่เว้นเลยสักขันธ์เดียว รวมอยู่ในมหาสติปัฏฐานทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ต้องทราบแม้แต่พระพุทธประสงค์ที่ทรงแสดงสติปัฏฐาน เช่นคำถามเรื่องของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน อย่างอานาปานบรรพ การระลึกรู้ลมหายใจก็ดี หรืออิริยาปถบรรพ การระลึกรู้ลักษณะสภาพของกายที่นั่ง นอน ยืน เดินก็ดี การระลึกรู้ลักษณะของสัมปชัญญบรรพ ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวเหยียดคู้ก็ดี การระลึกรู้ส่วนต่างๆ ของกาย เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนังต่างๆ ซึ่งเป็นปฏิกูลมนสิการบรรพ ก็ดี หรือการระลึกลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวที่กายก็ดี ซึ่งเป็นจตุธาตุววัตถาน หรือการระลึกลักษณะของซากศพอาการต่างๆ ก็ดี เพื่ออะไร เพราะอะไร
ก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิด ทุกคนยึดถือกายว่าเป็นเรา ถูกไหม ลมหายใจก็ยึดถือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังก็ยึดถือ กำลังนั่งอยู่ก็ยึดถือว่าเรา
ถ้าถามเฉพาะเจาะจงเรื่องอิริยาบถ ที่ทรงแสดงอิริยาปถบรรพก็เพราะว่า ก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิด กำลังนั่งก็เป็นเรานั่ง กำลังยืนก็เป็นเรายืน กำลังเดินก็เป็น เราเดิน กำลังนอนก็เป็นเรานอน นี่ก่อนสติปัฏฐานจะเกิด แต่เมื่อสภาพธรรมไม่ใช่เรา แต่ยึดถือขณะที่กำลังนั่ง นอน ยืน เดินว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานก็ต้องเกิดเพื่อที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กายในขณะที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดิน เพื่อจะได้ศึกษารู้ว่า ลักษณะนั้นๆ ไม่ใช่ตัวตนเพราะเป็นรูปอย่างไร
กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นรูป ใช่ไหม
เมื่อเป็นรูป จึงไม่ใช่เรา ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกสำหรับกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในเมื่อก่อนสติจะเกิดยึดถือว่าเป็นเรา พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงอิริยาปถบรรพเพื่อให้รู้ในขณะที่กำลังนั่งก็รู้ว่าเป็นรูปอย่างไร กำลังนอนเป็นรูปอะไรที่ปรากฏ
พอที่จะเห็นด้วยหรือยัง พุทธประสงค์ที่ทรงแสดงเรื่องของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะก่อนที่สติจะเกิดเคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา เป็นตัวตน ของเรา ด้วยเหตุนี้ปัญญาที่จะเกิดความรู้ที่ถูกต้อง จึงต้องเมื่อสติเกิดระลึกได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะเหตุว่านามธรรม เป็นสภาพรู้ และรูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้
ที่จะรู้ว่าเป็นอนัตตาได้ ก็ต่อเมื่อรู้ลักษณะของนามธรรมว่าเป็นสภาพรู้ และ รู้ลักษณะของรูปธรรมว่าไม่ใช่สภาพรู้ และรูปธรรมไหน ก็คือรูปธรรมตลอดศีรษะ จรดเท้าซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่สภาพรู้
เพราะฉะนั้น เมื่อสติเกิด จะต้องศึกษาลักษณะของรูป อย่าลืม ต้องศึกษาลักษณะของรูป เพราะรูปแต่ละรูปมีลักษณะเฉพาะของรูปนั้นๆ ที่จะปรากฏได้ ที่จะให้ประจักษ์แจ้งได้ว่าเป็นรูป ไม่ใช่ตัวตน
ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว ยังมีปัญหาเรื่องอิริยาปถบรรพไหม