แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1747
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๓๐
ถ. หลับตา มีสี
สุ. สีอะไร
ถ. อาจจะเป็นมืดก็ได้ ที่เราบัญญัติไปว่าเป็นมืด
สุ. แล้วแต่ว่าจะอยู่กลางแจ้ง หรือในร่มมากน้อยแค่ไหน แต่ก็มีสีหนึ่งที่กำลังปรากฏ ใช่ไหม
ถ. ใช่
สุ. เพราะฉะนั้น นั่นคือรูปารมณ์แน่นอน ซึ่งคนตาบอดไม่เห็น แม้ว่าหลับตาแล้วคนที่มีจักขุปสาทก็ยังมีสีปรากฏ และไม่มีการยึดถือสีในขณะที่ปรากฏ ลางๆ ในขณะที่หลับตาว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย
ทั้งๆ ที่กำลังอยู่ในห้องนี้ มีผู้ฟังมากมายหลายท่าน แต่เวลาหลับตาลง มีเพียงสีเดียวที่ปรากฏ ไม่มีรูปร่างสัณฐานปรากฏเลย เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่ยังอยู่ ในห้องนี้ก็เหมือนไม่มีใครอยู่ในที่นี้เลย เมื่อปรากฏเพียงสีเดียว ฉันใด เมื่อลืมตาขึ้น ทำไมไม่เข้าใจให้ถูกว่า เพียงแต่เปลี่ยนสีเท่านั้นเอง จากสีเดียวก็เพิ่มเป็นหลายๆ สี แต่ก็ยังคงเป็นสีเท่านั้น
ถ้ารู้อย่างนั้นจริงๆ จะเข้าใจอรรถของรูปารมณ์ว่า เป็นอย่างนั้นจริงๆ และจะมองเห็นได้ว่า ทำไมถึงช่างไปคิดถึงสีสันวัณณะที่เป็นสีต่างๆ เปลี่ยนจากสีเดียวเป็นหลายๆ สี ทำให้เกิดรูปร่างสัณฐาน และยังยึดถือในรูปร่างสัณฐานนั้นว่า เป็นเพื่อน เป็นญาติ เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทั้งๆ ที่ตามความเป็นจริงก็เปลี่ยนจากสีเดียวเป็นหลายสี เพราะฉะนั้น สีก็คือสี ไม่ว่าจะเป็นสีเดียวหรือหลายสี ฉันใด ถ้าปัญญารู้แจ้งจริงๆ พิจารณาบ่อยๆ จะรู้ชัดว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นไม่พ้นจากสี ไม่ว่าจะสีเดียวหรือหลายสี ก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น
การฟังเรื่องของรูปารมณ์บ่อยๆ อย่างนี้ จะเป็นปัจจัยทำให้สติปัฏฐานระลึกตามปกติในขณะที่เห็น เพราะฉะนั้น การที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ต้องเป็นปัญญาที่พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน อาจหาญร่าเริงที่จะรู้ความจริง เพราะว่า ผู้ที่ประจักษ์ความจริงก็เข้าใจว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ว่าจะเป็นกี่สีก็ตาม จนกว่าจะถ่ายถอนการยึดถือรูปารมณ์ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้
นี่คือการที่สติปัฏฐานจะค่อยๆ เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ว่าไปที่หนึ่งที่ใด ไปรู้อะไรก็ไม่ทราบ และกลับมาก็ เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็ไม่เคยละคลายว่า แท้ที่จริงแล้วก็คือสีต่างๆ ขอให้ทราบความจริงว่า คือ สีต่างๆ เท่านั้นที่ปรากฏ
ถ. ส่วนต่างๆ นั้น คือ จิตที่กำลังคิดถึงเรื่องสัณฐาน
สุ. หลังจากเห็นแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็เกิด คิดถึงรูปร่างสัณฐานพร้อมทั้งความทรงจำในเรื่องของสิ่งที่ปรากฏเป็นสีต่างๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐานจึงรู้ว่า ปรมัตถธรรมปรากฏสั้นมากให้คิดเรื่องของปรมัตถธรรมเป็นเรื่อง ยาวๆ และทรงจำยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
ผู้ที่สามารถระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง จะรู้ว่า สติปัฏฐานเกิดสลับกับปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าก่อนนั้นปรมัตถธรรมปรากฏเพื่อให้คิดเป็นเรื่อง เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่เวลาที่สติปัฏฐาน มีกำลัง มีปัญญาเพิ่มขึ้น ปรมัตถธรรมที่ปรากฏนั้นก็ปรากฏให้สติระลึกรู้ตาม ความเป็นจริงของแต่ละทวารได้ถูกต้อง และผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ก็รู้ว่า สิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว คือ ดับไป และสิ่งที่กำลังปรากฏก็ปรากฏเพียงชั่วระยะที่สั้นมาก เพราะทางตาที่เห็นต้องดับในขณะที่ทางหูได้ยิน จึงเป็นผู้ที่เบาสบายด้วย ข้อปฏิบัติที่สามารถรู้การเกิดดับของสภาพนามธรรมและรูปธรรมโดยความเป็น ปรมัตถธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ
ถ. เพราะสติระลึกตรงลักษณะ
สุ. และศึกษาจนกระทั่งรู้จริงๆ
ถ. ซึ่งต่างกับไม่มีสติที่คิดถึงเรื่องราว จำเนื้อเรื่อง ขณะนั้นไม่รู้ของจริง
สุ. ขณะใดที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ และสติปัฏฐานไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ว่า แท้ที่จริงขณะนั้นเป็นนามธรรมที่คิด ขณะนั้นจะยึดถือบัญญัติว่าเป็นตัวตน และยึดถือจิตที่คิดด้วยว่าเป็นเราที่คิด ไม่มีทางดับกิเลสได้ เพราะไม่สามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของปรมัตถธรรมที่กำลังเกิดดับ
ถ. ต้องอบรม ฟัง และต้องเข้าใจมากๆ ไม่อย่างนั้นสติเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า สิ่งที่กำลังเผชิญหน้าอยู่คืออะไร
สุ. ต้องอาศัยการฟัง และการพิจารณาจริงๆ
ถ. ขณะที่สภาวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏและสติระลึกรู้ เช่น ขณะที่ยินดีหรือดีใจ ขณะที่เสียใจ ขณะที่โกรธ และมีสติระลึกรู้ในขณะนั้น แต่ความดีใจก็ดี ความเสียใจก็ดี ความโกรธก็ดี ก็ยังไม่หาย อย่างนี้แสดงว่า เรายังไม่รู้ตรงลักษณะของสภาวธรรมจริงๆ ใช่ไหม
สุ. จุดประสงค์ต้องการอะไร ต้องการให้หมดความโกรธ ความโลภ หรือต้องการรู้ว่า แม้แต่ความยินดีที่เกิดขึ้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าปัญญายังไม่ได้ดับการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล จะดับโลภะ จะดับโทสะ จะดับกิเลสทั้งหลายไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น แม้ว่าโลภะจะเกิด ลักษณะของโลภะก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มีเหตุปัจจัยก็เกิด ใครบ้างไม่มีโลภะ พระโสดาบันก็ยังมี และผู้ที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพของโลภะนั้นเป็นใคร
ถ. แต่ก็ยังไม่เบาบาง ควรจะเบาบางบ้าง ถ้าเรารู้ว่านี่เป็นลักษณะของความดีใจไม่ใช่เรา ซึ่งเราก็รู้ แต่ก็ยังเท่าเก่าอยู่ ความเสียใจเกิดขึ้น บอกว่านี่ไม่ใช่เรา เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ก็ยังเท่าเก่าอยู่ ขณะที่ความโกรธเกิดขึ้น บอกว่านี่เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา ก็ยังเท่าเก่าอยู่
สุ. นั่นคือนั่งบอก บอกว่าไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่การศึกษาลักษณะของนามธรรม
ถ. แสดงว่ายังไม่ได้ศึกษาลักษณะของสภาวธรรมนั้นๆ ให้ตรงจริงๆ
สุ. ด้วยเหตุนี้ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จึงจะเข้าใจความหมายว่าสติปัฏฐานคืออะไร ไม่ใช่เพียงบอกเอาเฉยๆ ว่า นี่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง ผมขอตอบว่า สติยังไม่มีกำลังพอ เพราะแม้ขณะที่เจริญ สติปัฏฐานจะระลึกตรงและศึกษา ระลึกในนามธรรมรูปธรรมแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะดับได้ เดี๋ยวนั้น แต่จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่า ได้ละ ได้คลายแล้ว ที่บอกว่ายังเท่าเดิม เอาอะไรเป็นเครื่องวัด ไม่เท่าเดิมแล้วล่ะ แต่เราไม่รู้ เหมือนอย่างจับด้ามมีดจนสึกก็ไม่รู้ แต่ จะรู้เมื่อไรมองไม่เห็นหรอก สึกก็ยังไม่รู้ กว่าจะรู้ เมื่อไร มองไม่เห็นหรอก จะเปล่งวาจาว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ก็ยังเปล่งไม่ได้ เปล่งได้เมื่อไร เมื่อนั้น ด้ามมีดสึก จึงจะเห็น
ผมก็ได้เจริญสติปัฏฐานมาเป็นเวลาพอสมควร ในระยะนี้ก็ได้พิสูจน์ธรรมอยู่บ่อยๆ หลายครั้ง เมื่อสัก ๒ - ๓ วันมานี้ได้โต้เถียงกับภรรยาที่บ้าน ตอนนั้นอาจารย์ ก็กำลังบรรยายธรรมอยู่ เขาโต้เถียงกับผม ผมก็โต้เถียงกับเขา สติระลึกได้ซึ่งเป็น ช่วงที่สั้นมาก เราฟังธรรมไม่รู้เรื่อง ยังเป็นตัวเป็นตน มีเขา มีเรา ก็ซัดกับเขาเต็มที่ จะให้เขาหยุดให้ได้ ในตอนนั้นมีความรู้สึกว่า เราทั้งหยาบ ทั้งกระด้าง นี่คือโทสะ และเสียงที่เราโต้เถียงกับเขาก็หยุดไป หยุดแล้วก็ระลึกได้ว่า นี่แหละโทสะ ดุร้าย หยาบกระด้าง ขณะนั้นคิดนึกถึงสภาพธรรมเป็นนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง หรือ ไม่เป็นบ้าง ผมก็ไม่ได้โต้ตอบอีก ฟังธรรมไปจนกระทั่งจบ ตอนเช้าผมก็ไม่ได้โต้เถียงอะไรกับเขาอีก รู้สึกว่าเรียบร้อยดี ถ้าเป็นแต่ก่อนคงจะเลยเถิดไปกว่านี้
นี่คือการพิสูจน์ธรรม ก่อนนี้ไม่มีทาง ผมต้องเอาชนะจนเขาไม่ได้ตั้งตัวเลย นี่เป็นการพิสูจน์ธรรมทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้น ขอโทษ มันละแล้ว แต่ท่านยัง ไม่เห็น
สุ. นี่คือชีวิตประจำวันจริงๆ
ถ. อย่าเพิ่งภูมิใจ ทีหลังจะมาอีก ความโกรธเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่น่าเกลียด และกระด้างหยาบคายจริงๆ เพราะขณะนั้นทั้งๆ ที่เราก็เรียนธรรมพอสมควรจนเขา ดูถูกดูหมิ่นเราได้ว่า เป็นอย่างไรให้ความโกรธเกิดขึ้นได้ จนกระทั่งกล่าววาจาหยาบออกไป ไม่สามารถระงับยับยั้งได้ ไม่มีขันติเลย กล่าววาจาหยาบออกไปแล้วก็ตกใจว่า เราศึกษาธรรมแค่ไหน นึกไม่ถึงว่าเราจะพูดออกไปได้อย่างนั้น พูดไปแล้วก็เสียใจ
ที่ผมพูดว่า ความโกรธเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง คงจะรู้ไม่จริง แค่จำ สภาวะนั้นจริงๆ ไม่ปรากฏ คือ สติยังระลึกไม่ได้จริงๆ ถ้าระลึกได้จริงๆ ขณะนั้น ควรจะจางหายไป ที่ว่าค่อยเบาบางไป ไม่ทราบว่าตอนหลังจะกลับแข็งแรงขึ้นอีกไหม กิเลสผมกลัวมันจริงๆ เพราะมันทำท่าจะอ่อนแอ แต่ไปๆ กลับแข็งแรงขึ้นกว่าเก่าอีก บางทีแข็งแรงยิ่งกว่าตอนยังไม่ได้ศึกษาธรรมอีก ผมเห็นว่าอย่างนี้ ทำอย่างไรจะ เบาบางลงได้บ้าง ไม่ต้องถึงขนาดละได้ เอาแค่เบาบาง
สุ. เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ธรรมคือชีวิตประจำวัน และทุกท่านดูจะรังเกียจอกุศลเวลาที่เกิดขึ้น แต่แม้จะมีการรังเกียจอกุศล ไม่ว่าจะ ในขณะที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏ หรือแม้สติจะเกิดระลึกลักษณะที่เป็นนามธรรม ที่หยาบกระด้าง ก็ไม่ใช่ว่าขณะนั้นจะดับความโกรธไม่ให้เกิดอีก หรือไม่ให้รุนแรงอีก เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่คิดว่าเพียงแต่จะละเสีย ละเสีย โดยไม่อบรมเจริญปัญญา ให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมยิ่งขึ้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ คือ การดับกิเลสทั้งหมด แน่นอนที่สุด สำหรับ ผู้ที่ศึกษาธรรม แต่การบรรลุจุดประสงค์นี้ได้ ต้องเริ่มจากละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล โดยปัญญาเจริญขึ้น เพราะฉะนั้น ทิ้งปัญญาไม่ได้
ใครที่มีความโกรธ และสติปัฏฐานระลึกตรงลักษณะของนามธรรม และประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน กับคนที่ไม่ค่อยจะโกรธ แต่ปัญญาก็ไม่เกิด ไม่มีทางที่จะรู้ว่า กำลังเห็นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง กำลังโกรธก็เป็นนามธรรม ชนิดหนึ่ง กำลังยินดีก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง อย่างไหนจะเป็นเหตุทำให้ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
เพราะฉะนั้น ยังไม่ต้องคิดถึงเรื่องความโกรธน้อยลง มากขึ้น หรือเดี๋ยวมาก เดี๋ยวน้อย เดี๋ยวละ เดี๋ยวเพิ่ม แต่ให้คิดถึงว่า ในขณะนี้เองเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองว่า ปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรมเพิ่มขึ้นหรือยัง
แต่ไม่ควรจะหวังให้โทสะไม่เกิด หรือว่าโลภะไม่เกิด เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ควรที่จะคิดถึงพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน ท่านยังมีโลภะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ แต่ปัญญาของท่านเจริญถึงขั้นประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งท่านไม่ได้เป็นห่วงกังวลเรื่องโลภะของท่าน เรื่องโทสะของท่าน ที่จะต้องเป็นไปตามขั้นของปัญญาที่ดับกิเลส
ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่ ก็เต็มไปด้วยกิเลสทุกประการ ถ้าเป็นพระโสดาบัน ก็ดับมิจฉาทิฏฐิ การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เมื่อเป็น พระสกทาคามีก็ดับโลภะโทสะอย่างหยาบ เมื่อเป็นพระอนาคามีก็ดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และโทสะเป็นสมุจเฉท เหลืออีกขั้นเดียว คือ เป็นพระอรหันต์ ซึ่งจะต้องดับความยินดีในภพชาติด้วยอรหัตตมรรค เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องอบรมเจริญไปตามลำดับขั้น
มีปัญหาที่น่าคิด ถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ชีวิตผ่านความตายไปทุกวัน แต่ละวันๆ หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า ผ่านความตายไปแต่ละขณะๆ เพราะฉะนั้น การสิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ก็คงจะใกล้เข้ามาทุกขณะ ที่แต่ละขณะผ่านไป และการเกิดในภพภูมิต่อไปนั้น ก็แล้วแต่กรรมหนึ่งเป็นปัจจัยที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในภพใหม่ ซึ่งเลือกไม่ได้ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรือ อกุศลกรรมอะไรที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่ไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิไหนก็ตาม สภาพของจิตย่อมเป็นไปตามการสะสม
ถ้าปัจจุบันชาตินี้ยังรัก ยังโลภ ยังโกรธ ยังหลง ยังพยาบาท ยังริษยา ยังสำคัญตนมากน้อยอย่างไร ชาติหน้าเปลี่ยนไปได้ไหม ก็จะต้องเหมือนอย่างนี้ แต่จะมากขึ้น หรือจะน้อยลง ก็ตามการสะสมของปัจจุบันชาติในแต่ละขณะนี้เอง
เพราะฉะนั้น จะเห็นความสำคัญของแต่ละขณะในชีวิตว่า จะเป็นประโยชน์ เมื่อกุศลจิตเกิด และจะเป็นประโยชน์มากขึ้นเมื่อสามารถรู้ว่า เป็นนามธรรมหรือ เป็นรูปธรรม
สำหรับในชาตินี้ ก่อนที่จะตาย ก็น่าจะคิดว่า อยากเป็นคนดี หรืออยากเป็นพระโสดาบัน คิดดูว่าต้องการอย่างไหน ขอเชิญท่านผู้ฟังแสดงความคิดเห็น อยากเป็นคนดีทุกๆ วันเพิ่มขึ้นด้วยการเจริญกุศลทุกประการ หรืออยากเป็นพระโสดาบัน
ทุกท่านมีสิทธิ์ที่จะคิดได้ ถ้าคิดถูกก็เป็นปัญญา ถ้าคิดผิดก็ไม่ใช่ปัญญา
ผู้ฟัง สำหรับผม ชาตินี้คงไม่ได้เป็นพระโสดาบัน เพราะพยายามมานานแล้วตั้งแต่บวช เนื่องจากความเข้าใจมีน้อย ถ้าความเข้าใจมีอยู่แค่นี้ ชาตินี้คงไม่ได้เป็น พระโสดาบันแน่ๆ แต่ก็พยายามเป็นคนดี ซึ่งความดีก็รู้สึกว่าทำน้อยเหลือเกิน โดยมากมักจะนึกถึงสิ่งใหญ่ๆ ในการทำความดี เช่น ทำบุญบวชนาคบ้าง ทอดกฐินบ้าง ทอดผ้าป่าบ้าง ที่ถือว่าเป็นบุญใหญ่ แต่บุญเล็กบุญน้อยที่เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ อย่างเวยยาวัจจมัย ปัตตานุโมทนามัย ปัตติทานมัย พวกนี้มักจะ มองข้ามไป ซึ่งผมคิดว่า ตราบใดที่เรายังดูถูกบุญเล็กบุญน้อยประจำวันที่เราควรจะบำเพ็ญได้ทุกขณะ ตราบนั้นบารมีหรือสติปัญญาของเราที่จะเป็นเครื่องอบรมให้เกิด สติปัฏฐานนั้นก็คงจะยาก ไม่ฉับพลันทันทีที่จะเห็นแจ้งในสัจจธรรมได้
เพราะฉะนั้น จะต้องบำเพ็ญบุญกุศลเล็กๆ น้อยๆ อย่าดูถูกดูหมิ่น ผมจำได้ที่ พ.อ.ธงชัยเคยพูดว่า ทานนี่อย่าประมาท ทำไปเถอะ บาทหนึ่ง สองบาท เห็นคนขอทานข้างถนนอย่าไปดูถูกดูหมิ่นคิดไปในทางอกุศลว่า ได้เงินไปคงเอาไปซื้อเหล้า อย่าไปคิดอย่างนั้น ถ้าจิตเราเป็นกุศลทุกๆ ขณะที่เราสามารถจะทำได้ ผมคิดว่า จะเป็นประโยชน์สำหรับชีวิตของเรา ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน ส่วนที่หวังผลขั้นสูงจนถึงมรรคผลนิพพานยังอยู่ห่างมาก เพราะสติปัญญา ความเข้าใจในพระธรรม ยังน้อยเหลือเกิน