แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1753

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๓๑


เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ต้องฟังนาน และฟังด้วยการพิจารณาจริงๆ แม้แต่คำพูดก็ต้องพยายามเข้าใจว่าคำนั้นหมายถึงอะไร และถูกต้องอย่างไร เช่นที่ถามว่า การเจริญสติ พอตาเห็นก็กำหนดว่าเป็นนาม สิ่งที่เห็นก็เป็นรูป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่คน

ถ้าพูดอย่างนี้ ก็ไม่ต้องกล่าวถึงอะไรอีกแล้ว ใช่ไหม กำหนดเอาว่าเป็นนาม เป็นรูปเท่านั้น ซึ่งเท่านี้ไม่พอ ใช้คำว่ากำหนด แต่เข้าใจหรือยังว่าหมายความว่าอะไร พอเห็นไก่หรือนก ก็กำหนดเช่นเดียวกัน

นี่คือยังไม่ได้เข้าใจในเรื่องของภาวนา ซึ่งเป็นการอบรมจริงๆ เป็นการที่จะต้องอาศัยสุตมยปัญญา คือ การฟัง และจินตามยปัญญา คือ สิ่งใดที่ได้ฟังแล้วต้องพิจารณาไตร่ตรองใคร่ครวญจนกระทั่งเป็นความเข้าใจ เพราะการที่สติปัฏฐานเกิด เป็นสภาพที่ระลึกเพื่อรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งถ้าไม่เคยได้ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมมาก่อนจะไม่เห็นประโยชน์เลยว่า ทำไมสติปัฏฐานต้องระลึกที่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติตามธรรมดาในขณะนี้เอง แต่เพราะต้องเคยได้ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมอย่างละเอียดจนกระทั่งเห็นจริงๆ ว่า เป็นนามธรรมเท่านั้น เป็นรูปธรรมเท่านั้น ไม่ควรที่จะยึดถือนามธรรมและรูปธรรมสักอย่างเดียวว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล นี่อาศัยการฟังจนกระทั่งเข้าใจแล้วจึงเห็นประโยชน์ รู้ว่า เพียงขั้นที่เข้าใจแค่นี้ก็ยังไม่พอที่จะดับกิเลส แต่ต้องเป็นเพราะเมื่อเข้าใจอย่างนี้สติจึงจะเกิดระลึกตรงลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา ที่กำลังเห็นอย่างนี้ หรือว่าทางหูที่กำลังได้ยินอย่างนี้ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

เท่านั้นยังไม่พอ เพราะว่าลักษณะของสติเป็นสภาพที่เพียงระลึก สติไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เองมีสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของ นามธรรมและรูปธรรมจริงๆ จะระลึกไม่ได้ ยังคงไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร แต่เพราะฟังแล้วรู้ว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วจะมากำหนดไหมว่า พอตาเห็นก็กำหนดว่าเป็นนาม

ไม่ใช่ให้กำหนด แต่หมายความว่ามีความรู้ว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดระลึกได้ สติเป็นสภาพที่เพียงระลึก ขณะที่กำลังเห็นก็ระลึก แต่สติไม่ใช่ปัญญา ปัญญา คือ ขณะที่เริ่มพิจารณาสังเกตเพื่อที่จะรู้ขึ้นว่า ขณะนี้ ที่เห็นเป็นอาการรู้ หรือเป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่ง

นี่คือการพิจารณา ใส่ใจ สังเกต ไม่ใช่กำหนดว่าเป็นนาม ไม่ใช่เอาชื่อมานึกว่า ขณะที่เห็นนี้เป็นนาม หรือสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นรูป ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นการเริ่มที่จะเข้าใจ เพื่ออะไร ก็เพื่อถ่ายถอนการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เช่นที่บอกว่า พอเห็นไก่หรือนกก็กำหนดเช่นเดียวกัน คือ ไม่ใช่สัตว์ เป็นเพียงนามรูปเท่านั้น

นี่จะไม่ทำให้เกิดปัญญาเลย เพราะไม่ว่าจะเป็นคน หรือเป็นไก่ หรือเป็นนก ปัญญาจะต้องรู้ว่า ลักษณะสภาพของสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ สี หลายๆ สีเท่านั้นเอง หลับตาแล้วอาจจะมีสีเดียวปรากฏ แล้วแต่ว่าจะอยู่ในที่สว่างหรือที่ร่ม แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นคนเป็นสัตว์เลย เป็นแต่เพียงสี คือ เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏกับ ผู้ที่มีจักขุปสาท เพราะฉะนั้น เวลาลืมตา อย่าทิ้งลักษณะของสีที่เคยปรากฏในขณะที่อยู่ในที่โล่งที่แจ้งว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพียงแต่ว่าเปลี่ยนเป็นสีต่างๆ

นี่คือการที่จะต้องเข้าใจ เพื่อถ่ายถอนการที่เคยนึกถึงรูปร่างสัณฐานและจำได้ว่ารูปร่างสัณฐานอย่างนี้ สีอย่างนี้ ลักษณะอย่างนี้เป็นคน สีอย่างนั้น ลักษณะ อย่างนั้นเป็นนก หรือว่าสีอย่างนั้น ลักษณะอย่างนั้นเป็นไก่ แต่ให้ทราบว่า เมื่อเป็น ผู้ที่มีปกติค่อยๆ ระลึกลักษณะของรูปธรรมที่กำลังปรากฏ และทางตารู้ว่า เป็นแต่เพียงหลายๆ สี ก็จะถ่ายถอนการที่เคยเห็นว่าเป็นคน หรือเป็นไก่ หรือเป็นนก หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ไม่ใช่ว่าโดยรวดเร็ว

นี่คือความหมายของการละคลายด้วยปัญญาที่เข้าใจจริงๆ พร้อมสติที่ระลึกได้ว่าในขณะนี้แท้ที่จริงก็เป็นแต่เพียงสีต่างๆ แต่ไม่ใช่ทางตาเห็นก็กำหนดว่า เป็นนามเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ต้องฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเป็นปรมัตถ์ธรรม โดยละเอียดไปเรื่อยๆ เพื่อที่สติจะระลึกได้ และค่อยๆ ศึกษา สังเกต ถ่ายถอนการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล โดยแยกรู้ว่าทางตาจริงๆ มีสีหลายสีปรากฏ แต่เวลาที่รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นก็รู้ว่าเป็นความคิดทางใจ เพราะว่าหลับตาแล้ว ก็ยังคิดถึงรูปร่างสัณฐานต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้น ที่เข้าใจว่าเป็นคนเป็นสัตว์ ต้องต่างกับทางตาที่กำลังเห็น เพราะว่าทางตาที่กำลังเห็นต้องเห็นเพียงสีต่างๆ เท่านั้น

การที่ปัญญาสามารถแยกลักษณะของปรมัตถ์ธรรมที่ปรากฏทางตา กับการ คิดนึกสืบต่อจากการเห็นทางตา จะเป็นเหตุทำให้รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วปรมัตถ์ธรรม ไม่พึงยืดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลจริงๆ เพราะว่าสีต่างๆ ที่ปรากฏจะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น จะเข้าใจขึ้นว่า แท้ที่จริงสภาพจิตที่คิดทางมโนทวารทำให้เกิดความจำความสำคัญหมายว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทำให้เกิดความสุขความทุกข์ เป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตามากมายสลับกันหนาแน่นสืบต่ออย่างรวดเร็วทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทำให้ปรากฏเสมือนเป็นสิ่งซึ่งไม่มีการดับไปเลย แต่ไม่ใช่อย่างที่ในจดหมายกล่าวว่า พอตาเห็นก็กำหนดว่าเป็นนาม และสิ่งที่เห็นเป็นรูป เมื่อเป็นเช่นนี้ การฆ่าสัตว์ การทำร้ายสัตว์ก็ไม่บาป เพราะเห็นคน เช่น บิดามารดาก็เป็นเพียง นามรูปเท่านั้น ทำอะไรก็ได้ เห็นเช่นนี้ต้องผิดแน่ๆ อย่างไรครับ

คือ อย่างที่เรียนให้ทราบว่า นามธรรมมีหลายประเภท รูปธรรมมีหลายประเภท ซึ่งการเกิดดับสืบต่อกันของนามธรรมและรูปธรรมทำให้ยืดถือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีนามธรรมรูปธรรมที่เป็นมารดาบิดา เพราะที่ถือว่า เป็นมารดาบิดา ก็คือนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเป็นผู้ที่มีพระคุณที่ได้กระทำสิ่งที่ มีประโยชน์ต่อบุตรธิดานั่นเอง

ผู้ใดก็ตามที่ได้รับประโยชน์เกื้อกูลจากบุพการี คือ มารดาบิดาหรือผู้มีพระคุณ ต้องรู้ตามความเป็นจริงด้วยว่า กุศลกรรมมี กุศลวิบากมี แต่ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้ ที่เป็นตัวตน ที่ไม่ดับ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องเข้าใจเหตุผลโดยละเอียด

สำหรับเรื่องสังฆทาน ท่านบอกว่า ทั่วๆ ไปก็รู้กันว่า ถวายสังฆทานได้บุญมาก อาจารย์สุจินต์ท่านเคยบรรยายว่า ถ้านึกเช่นนั้นก็เป็นโลภมูลจิต เป็นอกุศล จะคิดอย่างไรครับ

ท่านผู้ฟังเคยได้ยินดิฉันกล่าวว่า สังฆทานเป็นโลภมูลจิตหรือเปล่า

แต่ถ้าอยากได้บุญมาก นั่นเป็นโลภมูลจิต

สังฆทานเป็นกุศลที่สูงกว่าการถวายแก่บุคคล เพราะว่าปาฏิปุคคลิกทาน คือ การถวายแก่ภิกษุบุคคล แล้วแต่ว่าจะนิมนต์ภิกษุรูปใด อาจจะเป็นเจ้าอาวาสหรือ พระผู้ใหญ่ และคิดว่าจะได้บุญมาก เข้าใจว่าจะเป็นเช่นนั้น ความจริงกุศลนั้น ไม่สูงเท่ากับสังฆทานซึ่งไม่ได้ถวายจำเพาะเจาะจงแก่ภิกษุบุคคลรูปหนึ่งรูปใด แต่ มุ่งถวายต่อสงฆ์ ได้แก่ ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล แม้ว่าผู้รับจะไม่ใช่ แต่เจตนาของ ผู้ถวาย ถวายด้วยความนอบน้อมต่อภิกษุนั้นเสมอด้วยการนอบน้อมต่อพระอริยสงฆ์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นกุศลทั้งในเรื่องของทานที่ไม่เจาะจง และในเรื่องของจิตใจที่ นอบน้อมต่อพระสงฆ์ด้วย จึงต้องเป็นกุศลที่มีผลมากแน่นอน ถ้าจิตใจเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือ เป็นผู้ที่มีปกติอ่อนน้อม และในการถวายก็ถวายโดยไม่เจาะจง ด้วยความนอบน้อมด้วย เพราะฉะนั้น จะเป็นกุศลมากไหม

แต่สำหรับท่านที่ต้องการกุศลมาก นี่ผิดกันแล้ว ใช่ไหม

สังฆทานจริงๆ คือ จิตที่อ่อนน้อม และไม่ได้หวังผลโดยที่ว่าจะต้องถวายต่อภิกษุบุคคลรูปนั้นรูปนี้ แต่ภิกษุผู้รับจะเป็นใครก็ได้ ผู้ถวายมีจิตที่นอบน้อมเสมอกับถวายต่อพระอริยะ เพราะฉะนั้น จิตขณะนั้นเป็นกุศลมาก ผลจึงมาก นี่เป็นเรื่องของจิตที่เป็นสังฆทาน แต่ขณะใดบุคคลใดต้องการผลมาก ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต

ขณะที่ต้องการผลมาก เหมือนกับขณะที่กำลังนอบน้อมถวายไหม

เพราะฉะนั้น เรื่องของสังฆทานส่วนใหญ่เป็นการพิจารณาจิตใจของผู้ที่กระทำสังฆทาน หรือเป็นผู้ที่มีปกติถวายเป็นสังฆทานอยู่เสมอ นี่คือความต่างกัน ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติถวายสังฆทานอยู่เสมอ คือ ไม่เจาะจงภิกษุทุกครั้งที่ถวาย และเวลาที่ถวาย ก็ถวายด้วยความนอบน้อม ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้มีปกติถวายสังฆทาน แต่สำหรับบางคน คิดว่าสังฆทานได้บุญมาก ก็อยากถวายสังฆทาน นี่ผิดกันแล้ว ใช่ไหม

อยากได้บุญจึงถวายสังฆทาน โดยไม่เข้าใจเลยว่าสังฆทานนั้น คือ จิตในขณะที่นอบน้อมถวายต่อภิกษุโดยไม่เจาะจง เพราะฉะนั้น ที่ว่าเป็นโลภมูลจิต ไม่ใช่ในขณะที่เป็นสังฆทาน แต่เป็นโลภมูลจิตในขณะที่อยากจะได้ผลมาก ของสังฆทาน ท่านผู้นั้นไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติถวายสังฆทาน แต่เป็นผู้ที่จะทำสังฆทานเพราะว่าจะได้ผลมาก

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังทุกคนพิจารณาจิตใจของตนเองได้ว่า ท่านเป็นบุคคลประเภทไหน จะถวายสังฆทานเพราะว่าจะได้บุญมาก หรือเป็นผู้ที่มีปกติถวายสังฆทานอยู่เสมอ

เคยได้ยินบ่อยๆ ไหม ที่มีผู้จะทำสังฆทาน แสดงถึงความเข้าใจของบุคคลนั้นหรือเปล่าว่าเข้าใจถูกหรือเข้าใจผิดในเรื่องสังฆทาน แสดงว่าต้องเข้าใจผิดแล้วที่ จะทำสังฆทาน และไม่ทราบว่าท่านผู้นั้นจะทำได้หรือเปล่า ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของสังฆทาน และเวลาที่บางท่านทำสังฆทานแล้ว คือ ท่านคิดว่าท่านทำสังฆทานแล้ว ท่านก็บอกว่า ท่านพยายามให้เป็นสังฆทานแต่ก็ไม่เป็น เพราะใจของท่านไม่ยอมที่จะอ่อนน้อม เป็นจิตใจที่กระด้าง สำคัญตน

นี่ก็เป็นการรู้ลักษณะของจิตซึ่งทำให้เห็นว่า ถ้าปกติไม่ใช่ผู้ที่อ่อนน้อม ถึงเวลาจะบังคับให้อ่อนน้อม เป็นไปได้ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าปกติท่านเป็นผู้ที่มีความ นอบน้อมต่อพระภิกษุสงฆ์ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงปฏิปทาหรือข้อปฏิบัติของ ภิกษุบุคคล เพราะบุคคลทำกรรมใดก็ได้รับผลของกรรมนั้น เป็นของที่แน่นอนที่สุด ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์ก็มีกิจของคฤหัสถ์ที่จะต้องนอบน้อมต่อพระภิกษุ โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าพระภิกษุนั้นปฏิปทาเป็นอย่างไร

ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกตินอบน้อม เวลาที่ถวายทานต่อพระภิกษุ ท่านก็ยังคงเป็น ผู้ที่ถวายด้วยความนอบน้อมอยู่ ไม่ใช่ว่าท่านเป็นผู้ที่แข็งกระด้าง มีความสำคัญตน ไม่นอบน้อม แต่เวลาจะทำสังฆทานก็จะนอบน้อมขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทำไม่ได้ เพราะว่าปกติไม่เคยนอบน้อม

ด้วยเหตุนี้จึงควรเข้าใจเรื่องของกุศลว่า ความนอบน้อม จิตใจอ่อนโยนเป็น กุศลชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถนอบน้อมต่อบุคคลอื่นที่ควรแก่การนอบน้อมได้ ถ้าปกติ เป็นอย่างนี้ เวลาถวายทานทุกครั้งก็เป็นสังฆทานได้ ไม่ใช่ว่าอยากจะทำสังฆทาน ทำเสร็จแล้วก็บอกว่า ไม่ใช่สังฆทาน เพราะนอบน้อมไม่ได้ จิตใจในขณะนั้นไม่เป็นสังฆทาน เพราะฉะนั้น เรื่องของการฟังพระธรรมขอให้พิจารณาโดยละเอียด

พระ เจริญพร เรื่องทำสังฆทาน อาตมาก็เป็นสมมติสงฆ์ เคยมีผู้บอกว่า จะทำสังฆทาน หรือนิมนต์ไปทำสังฆทานหลายครั้งอยู่ อาตมาก็ถามว่า ทำไมต้อง ทำสังฆทาน ที่ถามเช่นนั้นเพื่อให้เขาเข้าใจนั่นเอง เขาบอกว่าเขาบนมา และ ทำสังฆทานจะได้บุญเยอะ โรคภัยก็จะหายไป อาตมาก็ให้ความเห็นอย่างที่โยม ให้ความเห็น

ที่เขาทำกันทุกวันนี้เพื่อเป้าหมายทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่เขาคิด คิดว่าเป็นโลภะแน่นอน เพราะเขาต้องการแก้ไขปัญหา แต่เขาไม่รู้ว่ากุศลจิตนั้นคืออะไร ไม่เข้าใจลักษณะของทานจริงๆ หรือบุญจริงๆ คิดเอาเองว่า ทำสิ่งนี้แล้วสิ่งโน้น จะหายไป

อีกอย่างหนึ่งจากประสบการณ์ อาตมาสังเกตว่า จิตในขณะที่กราบพระ ครั้งที่สาม จิตไม่ผ่องใสทุกครั้ง ชี้ให้เห็นว่าเราไม่ได้คิดถึงพระอริยสงฆ์ทุกครั้ง ผู้ที่จะทำสังฆทาน อาตมาคิดว่า ให้สังเกตจิตในขณะที่กราบพระสงฆ์ว่า รู้จักพระสงฆ์จริงๆ แล้วหรือยังว่าพระอริยสงฆ์คือใคร และการทำสังฆทานนั้นกุศลจิตเป็นอย่างไร อาตมาคิดว่าสำคัญตรงนี้

สุ ข้อสำคัญไม่เจาะจงภิกษุผู้รับ คือ ไม่เลือกบุคคล และถวายด้วยความนอบน้อมเหมือนกับถวายต่อพระอริยสงฆ์ ท่านจะเป็นหรือไม่เป็นไม่สำคัญ แต่ถวายด้วยความนอบน้อมในสงฆ์ แม้ว่าภิกษุผู้รับเป็นภิกษุบุคคล รูปหนึ่งรูปใดก็ได้

พระ ขึ้นอยู่กับการนอบน้อมบ่อยๆ เพราะจะให้เกิดตอนนั้นไม่ใช่ง่าย

สุ. ถ้าไม่เป็นผู้มีปกตินอบน้อมก็เกิดยาก จะไปบังคับให้เกิดในขณะหนึ่งขณะใดเป็นไปไม่ได้

พระ แต่ก่อนที่เริ่มฟังใหม่ๆ เป้าหมายไม่ใช่เพื่อละคลายอกุศล หรือ ให้รู้อริยสัจจธรรม อาตมามีความคิดคล้ายๆ กับเจ้าของจดหมายเมื่อกี้ คิดว่า ลักษณะที่รู้ว่าอะไรเป็นรูปเป็นนามแล้วบาปและอกุศลไม่มี ในขณะนั้นฟังนิดเดียว เท่านั้นเอง ฟังว่ารู้รูปนาม แต่ไม่รู้ว่ารู้เพื่ออะไร หลังจากนั้นพอเริ่มรู้อีกหน่อยก็ไปบอกใครๆ ว่า จริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งนี้ๆ เป้าหมายก็เพื่อเอาความรู้นี้ไปใช้ว่ารู้มากกว่า คนอื่น และปฏิบัติ

จริงๆ แล้วไม่ได้ปฏิบัติ คิดเอาทั้งนั้นเลย พอคิดเอาแล้วปัญหาเกิดขึ้นมาก เพราะไม่เข้าใจธรรม แต่ก็ฟังไปเรื่อยๆ เริ่มรู้จักกุศลจิตนิดๆ หน่อยๆ เริ่มเห็นความต่างกันของกุศลจิต อกุศลจิต จนกระทั่งปัญญาเริ่มรู้ว่า การศึกษาธรรมเป็นเรื่องของความรู้มากกว่าความที่อยากจะไปเอา คือ ขอให้รู้ก่อน ถ้าไม่รู้ รีบๆ ไปเอา ได้เหมือนกัน แต่ได้ผิด เพราะไปคิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง อย่างที่โยมอ่านจดหมาย ที่ว่า ฆ่าไก่ก็ฆ่าได้ แต่เขาไม่เข้าใจหรอกว่า มันเป็นเรื่องของความคิด ถ้าประจักษ์อริยสัจจธรรมแล้ว สิ่งนั้นมีชั่วขณะเล็กน้อยมากจะไปฆ่าทำไม ซึ่งขัดแย้งกับความคิดของเขาว่า ถ้ารู้รูปนามแล้วก็ฆ่าได้ จะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อสิ่งนั้นไม่มี ไม่ใช่ไก่ แต่เป็นเพียงสภาพธรรมเดี๋ยวเดียวชั่วขณะ จะไปฆ่าใคร ไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้น จิตใจย่อมน้อม เพราะอวิชชาเริ่มคลายที่จะรู้อริยสัจจธรรม อาตมามีความเห็นอย่างนี้ เพราะเคยเป็นมาแล้วเหมือนกัน เจริญพร

สุ. ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลเป็นผู้ที่สมบูรณ์ในศีลห้า แสดงให้เห็นว่า ไม่มีเจตนาฆ่าแน่นอน เพราะว่ารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนไม่มีเจตนา ที่จะฆ่า นามธรรมและรูปธรรมเกิดแล้วก็ดับ ทำไมจะต้องฆ่า

พระ ที่ฆ่าเพราะจริงๆ แล้วเห็นเป็นไก่และอยากจะกินไก่ คิดถึงเนื้อไก่ และสะสมการฆ่า

สุ. เพราะไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่รู้ลักษณะสภาพของจิตที่เป็นกุศลและอกุศลด้วย และไม่รู้เหตุปัจจัยของการที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานและปัญญาเกิดจริงๆ สภาพธรรมทั้งหมด ที่เป็นปกติประจำวันจะปรากฏโดยลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ไม่มีเจตนาฆ่าแน่นอน

เปิด  279
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565