แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1754

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๓๑


. ตามที่ศึกษาปริยัติ ขณะที่สภาพธรรมปรากฏทางปัญจทวาร สมมติว่าเสียงเป็นอารมณ์ที่ปรากฏ ขณะนั้นอารมณ์นั้นกระทบปสาท สภาพรู้เกิดขึ้นที่ปสาทโดยรู้อารมณ์ที่ปรากฏ การที่จะน้อมรู้ลักษณะของปสาททั้ง ๕ ได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าเป็นรูปหยาบ นามธรรมเป็นสภาพที่ละเอียดกว่า ในขณะที่สภาพของรูปซึ่งไม่รู้อารมณ์กำลังกระทบ ถ้าสติเกิดขึ้นค่อยๆ น้อมศึกษาในลักษณะของปสาท ที่กำลังกระทบ ซึ่งปริยัติบอกว่าขณะที่เสียงกระทบปสาทจะเป็นปัจจัยให้เกิด โสตวิญญาณ ถ้าไม่มีปสาทในภูมิที่มีขันธ์ ๕ โสตวิญญาณเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น สติเกิดขึ้นค่อยๆ โน้มรู้ในสภาพที่ถูกกระทบอยู่ ซึ่งเป็นสภาพกระทบได้แต่เสียง กระทบรูปอย่างอื่นไม่ได้ ขณะนั้นถือว่า เป็นการน้อมรู้ลักษณะของปสาท ใช่ไหม

สุ. ในรูป ๒๘ รูปหยาบ คือ โอฬาริกรูป มี ๑๒ รูป ได้แก่ รูปารมณ์ คือ สีสันวัณณะ สีต่างๆ ที่ปรากฏทางตา ๑ รูป สัททะ คือ เสียง ๑ รูป คันธะ คือ กลิ่น ๑ รูป รสะ คือ รส ๑ รูป โผฏฐัพพะ ๓ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม รวมเป็น ๗ รูป และปสาทรูป ๕ คือ จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป รวมเป็น ๑๒ รูป ในบรรดารูปหยาบ ๑๒ รูปนี้ รูปใดปรากฏ

. สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะปรากฏ

สุ. รู้ชัด รู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลหรือเปล่า ถ้าไม่รู้ไปคิดถึงปสาทรูป ก็เป็นเรื่องนึก และเป็นเรื่องเจาะจง เป็นเรื่องตัวตนที่จะรู้ลักษณะของปสาทรูป เมื่อปสาทรูปไม่ปรากฏ

การศึกษาธรรม คือ การที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา ขั้นต้นสิ่งใดกำลังปรากฏและเคยเข้าใจผิด เคยไม่รู้ลักษณะจริงๆ ของสิ่งนั้น อย่างที่บางท่านกล่าวว่า เหมือนอยู่ในโลกของความลวง คือ ลวงให้เห็นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงสีที่ปรากฏทางตา เสียงที่กระทบหูแล้วก็ดับ กลิ่นกระทบจมูกแล้วก็ดับ รสกระทบลิ้นแล้วก็ดับ โผฏฐัพพะกระทบกายแล้วก็ดับ แต่ลวงให้เห็นเป็น สิ่งต่างๆ เรื่องต่างๆ และอย่างนี้เมื่อไรจะละการยึดถือสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่า เป็นตัวตน ตราบใดที่สิ่งต่างๆ เหล่านั้นยังลวงได้

เพราะฉะนั้น เมื่อสีลวงให้เห็นว่าเป็นคน เป็นสัตว์ การที่จะละคลายก็ต้องประจักษ์ลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏ

ไม่ต้องไปนึกถึงจักขุปสาทดีกว่าไหม เพราะบางท่านที่ได้ศึกษาปรมัตถธรรม ทั้งเรื่องของจิต เจตสิก รูป และทราบว่ารูปประเภทไหนเป็นรูปหยาบ รูปประเภทไหนเป็นรูปละเอียด ก็เกิดความคิดที่จะรู้ปสาทรูปต่างๆ แต่ขณะนี้ปสาทรูปปรากฏ หรือเปล่า ถ้าปสาทรูปไม่ปรากฏ แต่สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ ลวงให้เป็นสัตว์ บุคคล ต่างๆ ก็ควรที่จะได้พิจารณาศึกษาถ่ายถอนความสำคัญผิดที่ยึดถือรูปที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน โดยไม่ต้องคำนึงถึงรูปอื่นๆ เลย เพราะว่าปัญญา ต้องรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ เช่นเดียวกับผัสสเจตสิกเป็นนามธรรม เป็นสภาพที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต เป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ที่จิตรู้ ซึ่งผัสสะเองก็รู้อารมณ์โดยการกระทบอารมณ์ที่ผัสสะรู้ แต่ว่ารู้โดยกระทบ

ใครรู้ลักษณะของผัสสะที่จะกล่าวว่า รูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาท หรือ สัททารมณ์กระทบกับโสตปสาท หรือจะกล่าวว่า ผัสสเจตสิกกำลังกระทบกับ สัททารมณ์ ผัสสเจตสิกกำลังกระทบกับรูปารมณ์ นี่เป็นเรื่องชื่อ แม้ว่าขณะนี้สภาพของผัสสเจตสิกกำลังทำกิจนี้อยู่แล้วแน่นอน ในขณะที่เห็นต้องมีผัสสเจตสิกกระทบ กับรูปารมณ์จึงปรากฏแก่จิตที่รู้รูปารมณ์ได้ แต่แม้กระนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะต้องไปพยายามรู้ลักษณะของผัสสเจตสิก ทั้งๆ ที่ในขณะนี้เองผัสสะก็กำลังกระทบอยู่

ถ้าผัสสะไม่กระทบ เวทนา ความรู้สึกต่างๆ มีได้ไหม ก็มีไม่ได้ ที่เห็นแล้ว ชอบ พอใจ ก็แสดงอยู่ชัดเจนว่า เพราะผัสสะกระทบจึงเกิดเวทนา ดีใจบ้าง เสียใจบ้างในอารมณ์ที่ปรากฏ แต่แม้กระนั้นก็แล้วแต่ว่า ลักษณะของสภาพธรรมใด จะเป็นสติปัฏฐาน คือ เป็นสิ่งที่สติกำลังระลึกรู้ที่สิ่งนั้น เช่น ความรู้สึก เป็นของจริง รู้ได้ ขณะนั้นก็มีผัสสเจตสิก แต่ความรู้สึกที่ดีใจ หรือเสียใจ หรือเฉยๆ มี ก็ควรที่ปัญญาจะระลึกจนกระทั่งรู้ว่า แม้ความรู้สึกนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป

ไม่มีการจงใจอยากจะรู้ปสาทรูป หรือผัสสเจตสิก หรือนามธรรมใดรูปธรรมใด เพียงแต่เมื่อสติเกิด สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ที่อารมณ์ที่ปรากฏ มีอารมณ์ที่กำลังปรากฏสั้นๆ นิดเดียวชั่วขณะ แต่ปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ ให้สติระลึกได้

ถ้าจะกล่าวว่า เห็นเมื่อกี้ก็ดับไปแล้ว ก็จริง แต่เวลานี้ก็มีเห็นที่สติจะระลึก ได้อีก อ่อนหรือแข็งเมื่อกี้ดับไปแล้ว แต่ก็มีอ่อนหรือแข็งที่สติจะระลึกได้อีก

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปคำนึงถึงสิ่งที่เกิดดับสืบต่อกัน เพราะว่าปัญญายังไม่ได้ประจักษ์การเกิดดับสืบต่อกัน ปัญญาต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม ที่เป็นสภาพรู้ซึ่งแยกขาดจากลักษณะของรูปธรรมแต่ละทางก่อน ไม่มีกิจอื่นเลย นอกจากศึกษาลักษณะของนามธรรมจริงๆ เพื่อรู้ว่าไม่ใช่เราที่กำลังเห็น เป็นแต่เพียงอาการรู้หรือธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

. ต้องระลึกศึกษาและพิจารณาธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไปเรื่อยๆ จนกว่าธรรมจะค่อยๆ ปรากฏขึ้น สติจึงจะระลึกได้

สุ. ไม่มีทางที่ใครจะไปใช้สติ ไม่มีทางที่ใครจะไปตั้งสติ ไม่มีทางที่ใครจะไปเลือกอารมณ์ให้สติได้เลย แต่อาศัยการฟังพระธรรมจนเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยให้สติระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก จนกระทั่งแยกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทวารออกได้

. ถ้าเราไม่เข้าใจว่ามีลักษณะของปสาทที่กระทบอารมณ์ เช่น เสียงเกิดขึ้น เราจะมองไปที่ตำแหน่งของเสียงเพราะไม่เคยศึกษาว่า จริงๆ แล้วไม่ได้อยู่ ข้างนอก เป็นแต่เพียงธรรมที่กระทบกัน และเป็นปสาทที่กระทบ นี่เป็นความคิดตามที่ ได้เรียนและพิจารณาตาม

สุ. ขณะนั้นไม่ชื่อว่าสติระลึกตรงลักษณะของรูปธรรม หรือตรงลักษณะของนามธรรม เพราะว่าเสียงก็ปรากฏทีละหนึ่งรูป หนึ่งลักษณะ และสภาพที่ได้ยินเสียง ในขณะนั้นจะคิดนึกอะไรไม่ได้เลย แต่ขณะที่กำลังคิดนึกว่าเสียงอยู่ทางซ้ายหรือ อยู่ทางขวา ขณะนั้นแสดงอยู่แล้วว่า แม้มีเสียง แต่ก็มีใจที่คิดเรื่องเสียงว่าเสียงนั้น อยู่ทางซ้ายหรืออยู่ทางขวา

เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นเรื่องที่ต้องรู้จริงๆ ว่า ถ้าขณะนั้นศึกษา คือ สังเกตลักษณะที่เป็นสภาพรู้ ขณะนั้นจะไม่ใส่ใจว่าเสียง มาจากไหน หรือโสตปสาทรูปอยู่ตรงไหน เพราะตามปกติแล้วยังไม่ได้เพิกอิริยาบถ ทุกคนที่มีรูปร่างกายก็รู้ว่า นั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดิน เป็นเราตลอดตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เพราะฉะนั้น ยังไม่ได้รู้ลักษณะของแต่ละนามแต่ละรูปจริงๆ เพราะยังระลึกถึงว่า กำลังนอน โสตปสาทอยู่ตรงนี้ และเสียงจะต้องกระทบกับ โสตปสาทตรงนี้ นั่นคือความรวดเร็วของความคิดนึก แต่ไม่ใช่สติที่ระลึกลักษณะของนามธรรม ไม่ใช่สติที่ระลึกลักษณะของรูปธรรม แสดงให้เห็นว่า ในขณะนั้นนึกเรื่องโสตปสาทว่าอยู่ที่ไหน และสัททารมณ์คือเสียงกระทบโสตปสาทไหน เพราะจริงๆ แล้วมีโสตปสาทถึง ๒ ข้าง คือ ซ้ายกับขวา

คนที่กำลังคิดวุ่นวายในขณะนั้นว่า กระทบทางซ้ายหรือทางขวา อย่าง ในขณะนี้พิสูจน์ได้เลย ท่านผู้ฟังที่ยังมีความสำคัญตนว่า เป็นเรากำลังนั่งอยู่ในห้องนี้ และกำลังได้ยิน นี่คือยังมีความเป็นตัวตนอยู่ เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินเสียงและ ได้ยินเรื่องของโสตปสาทกับสัททารมณ์ ก็อาจจะติดตามเสียงที่ปรากฏว่ามาจากไหน แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีโยนิโสมนสิการ คือ ในขณะที่ฟังนี่เองรู้ว่า ไม่มีเรา เพียงเท่านี้ เพียงรู้จริงๆ ว่า ไม่มีเรา และในขณะนั้นถ้าทิ้งเรา เพิกอิริยาบถ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าก็ไม่มี เพราะเพียงเสียงปรากฏ รูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าปรากฏไม่ได้ เพราะขณะนั้นเฉพาะเสียงอย่างเดียวที่ปรากฏ ในขณะนั้นจิตเกิดขึ้นทีละขณะ มีเสียงเป็นอารมณ์ จะมีสิ่งอื่นรวมอยู่ในที่นั้นไม่ได้เลย

ถ้าเป็นผู้ที่ฉลาด และเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานมามาก เพียงฟังและ สติระลึกที่ลักษณะของสภาพรู้ในขณะนั้นก็จะรู้ว่า สภาพรู้เสียงดับพร้อมเสียง ไม่มีแล้ว และจะมีเสียงเกิดขึ้นอีก ปรากฏอีก มีสภาพรู้เสียงอีก หรือทางตาเห็นก็จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพที่เห็น ไม่ใช่สภาพที่รู้เสียง นี่คือความรู้ชัดในลักษณะของนามธรรม

และถ้ามีกลิ่นปรากฏ ก็เป็นเครื่องยืนยันพิสูจน์อยู่แล้วว่า ในขณะที่กลิ่นปรากฏ จะมีจิตอื่นไม่ได้ จะมีได้ยินไม่ได้ จะมีเห็นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญามามากที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมหรือว่าวิปัสสนาญาณเกิดได้ก็รู้ว่า ขณะนั้น ไม่มีอย่างอื่นเลย เพิกอิริยาบถ สันตติ ฆนสัญญาหมด มีแต่เฉพาะนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ ไม่มีอะไรเหลือนอกจากสภาพรู้กับสิ่งที่ปรากฏ และเมื่อสิ่งนั้นดับ นามธรรมนั้นก็ดับ และก็มีนามธรรมอื่นเกิดโดยรู้สิ่งอื่นที่ปรากฏชั่วขณะ ทีละอย่าง เพียงสั้นๆ เท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นการไปค้นคว้าหาดูว่า โสตปสาทรูปอยู่ตรงไหน ซ้ายหรือขวาด้วย

. บางครั้งเสียงปรากฏ ถ้ามีความต้องการจะรู้ปสาท ก็จะสังเกตไปที่ ต่างๆ ว่าอยู่ที่ไหน

สุ. เพราะว่ายังไม่เพิกอิริยาบถ ถ้าที่ไหนแล้วต้องมีอิริยาบถอยู่แน่ๆ เนื่องจากต้องมีหูอยู่ตรงนั้นที่กำลังนั่ง หรือกำลังนอนก็ต้องมีหูอยู่ตรงนั้นที่กำลังนอน

. จริงๆ แล้วขณะที่เสียงปรากฏ ธาตุรู้เสียงรู้อื่นไม่ได้ นอกจากรู้เสียง

สุ. ถูกต้อง ก็จะเห็นความเป็นปัจจัยว่า แม้แต่สภาพรู้ก็ต้องอาศัยเสียง ถ้าขณะนั้นเสียงไม่ปรากฏ สภาพรู้เสียงเกิดไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้น จะมีตัวตน ที่ไหน เพราะว่ามีเพียงสภาพรู้เท่านั้นที่กำลังรู้เพียงอารมณ์เดียวและดับไป

. หลังจากนั้นเป็นคิดทุกครั้ง

สุ. แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็มีเหตุปัจจัยที่จิตจะรู้อารมณ์นั้นต่อไปเรื่อยๆ ทีละอารมณ์ ทีละขณะ

เพราะฉะนั้น เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เรื่องของการภาวนา เรื่องของ การอบรม จะเห็นได้ว่า ขาดการฟังไม่ได้เลย และเมื่อฟังแล้วก็ต้องอาศัยการพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้เกื้อกูลต่อการที่จะละคลายกิเลส ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมจริงๆ ย่อมได้ประโยชน์ คือ เป็นผู้ที่รู้จักสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน และละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้น พร้อมทั้งการละคลายกิเลสอื่นๆ ด้วย แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และพิจารณาพระธรรม ไม่ว่าจะเป็นข้อความใดก็เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น

ขอกล่าวถึงข้อความที่เคยกล่าวถึงแล้ว คือ อรรถกถา กุมาปุตตเถรคาถา ข้อ ๑๗๓ ซึ่งมีข้อความว่า

ได้ยินว่า ท่านกุมาบุตรเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า

การฟังเป็นความดี

ข้อนี้ทุกท่านคงซาบซึ้ง การฟังเป็นความดี เพราะเมื่อฟังแล้วประโยชน์ คือ เริ่มเข้าใจสิ่งซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อน ยิ่งฟังมากก็ยิ่งเข้าใจได้ถูกต้องขึ้น ละเอียดขึ้น

ข้อความต่อไป ท่านกล่าวว่า

ความประพฤติมักน้อยเป็นความดี

ควรที่จะผ่านเลยไป หรือควรพิจารณาให้เข้าใจละเอียดว่า เกี่ยวเนื่องประโยชน์อะไรกับความประพฤติมักน้อยเป็นความดี

การฟัง ฟังอย่างไรที่จะเป็นความประพฤติมักน้อยเป็นความดี หรือการปฏิบัติอย่างไรจึงจะเป็นความประพฤติมักน้อยเป็นความดี หรือไม่เกี่ยวกับการฟัง ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ แต่ธรรมทั้งหมดสอดคล้องกัน เช่น ความประพฤติมักน้อย เป็นความดี ต้องแม้ในการฟังด้วย ถ้าฟังเพราะว่าอยากจะเก่ง มักน้อยหรือเปล่า เป็นความดีไหม ถ้าฟังเพียงเพื่อจะมีความรู้มากๆ เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญ เป็นผู้ที่ได้รับสักการะหรือสรรเสริญว่าเป็นผู้รู้ ขณะนั้นก็ไม่ใช่เป็นความมักน้อย

แม้แต่การฟังก็ต้องรู้ว่าฟังเพื่ออะไร ถ้าฟังเพื่อความประพฤติมักน้อย จึงจะเป็นความดี และเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติธรรมหรือไม่ เกี่ยวกับการ เจริญสติปัฏฐานหรือไม่ในการที่จะเป็นผู้มักน้อยเป็นความดี ถ้าอยากจะเป็น พระโสดาบันมีคนนับถือมาก ใครๆ ก็ยกย่องสรรเสริญ ขณะนั้นมักน้อยหรือเปล่า

เปิด  241
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565