แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1758

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๓๑


ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมูลเหตุแห่งการวิวาท ๖ อย่าง

เรื่องของการวิวาทขอให้ทราบว่า ต้องมีมูลเหตุ และสำหรับการวิวาทเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด เมื่อเทียบกับการวิวาทในเรื่องของการเจริญมรรคมีองค์ ๘ แล้ว การวิวาทในเรื่องอื่นแม้ในเรื่องของอาชีวะหรือปาติโมกข์อันยิ่งนั้น ก็ยังนับว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการวิวาทในเรื่องของมรรคมีองค์ ๘ และเหตุที่จะให้เกิดการวิวาทนั้น มี ๖ อย่าง คือ

๑. เป็นผู้มักโกรธ มีความผูกโกรธ

๒. เป็นผู้มีความลบหลู่ มีความตีเสมอ

๓. เป็นผู้มีความริษยา มีความตระหนี่

๔. เป็นผู้โอ้อวด เป็นผู้มีมายา

๕. เป็นผู้มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด

๖. เป็นผู้มีความเห็นเอาเอง มีความเชื่อถือผิวเผิน มีความถือรั้น สละคืนได้ยาก

ภิกษุที่เป็นผู้มีความเห็นเอาเอง มีความเชื่อถือผิวเผิน มีความถือรั้น สละคืนได้ยากนั้น ย่อมไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงแม้ในพระศาสดา แม้ในพระธรรม แม้ในพระสงฆ์อยู่ ทั้งไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ภิกษุที่ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงแม้ในพระศาสดา แม้ในพระธรรม แม้ในพระสงฆ์อยู่ ทั้งไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขานั้น ย่อมก่อความวิวาทให้เกิดในสงฆ์ ซึ่งเป็นความวิวาทมีเพื่อ ไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์

เพราะฉะนั้น แต่ละท่านจะต้องฟัง พิจารณา หนักแน่นไม่หวั่นไหว ในพระธรรมที่ได้ฟัง ที่ได้พิจารณาในลักษณะของสภาพธรรม ในอริยสัจจธรรมว่า ข้อปฏิบัติใดเป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้ปัญญาเจริญขึ้นได้จริงๆ เพราะสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน และการที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็ละคลายจากกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ กำลังคิดนึกเดี๋ยวนี้ กำลังเป็นสุขเป็นทุกข์เดี๋ยวนี้

ลักษณะของสภาพธรรมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย สภาพธรรมใดมีลักษณะอย่างใด ก็เป็นอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ซึ่งอวิชชาไม่สามารถรู้ในลักษณะของสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นได้ แต่ปัญญาที่ค่อยๆ เกิดเพราะสติระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จะทำให้ค่อยๆ รู้ในลักษณะของเห็นที่กำลังเห็น เมื่อรู้แล้วก็ค่อยๆ คลายการยึดถือ สิ่งที่ปรากฏว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และค่อยๆ ละการยึดถือเห็นว่า เป็นเราเห็น

เพราะฉะนั้น การพิสูจน์การเจริญปัญญา ไม่ยากเลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ขณะใด สติเกิดจะรู้ได้เลยว่าปัญญารู้อย่างนี้ไหม เมื่อรู้แล้วก็ค่อยๆ คลายตามปกติ ตามธรรมดาในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใดและเข้าใจว่าปัญญาเกิด แต่ปกติที่กำลังเห็นไม่มีการรู้เลยว่าเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีการละคลายการยึดถือเห็นที่กำลังเป็นปกติในขณะนี้ว่าเป็นตัวตน ไม่มีการละคลายที่จะเข้าใจว่า สภาพของปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสีสันวัณณะต่างๆ ที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

ถ้าเข้าใจว่าชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมเต็มไปด้วยอวิชชาและความยึดมั่น แต่เมื่อได้ฟังและมีความเข้าใจเกิดขึ้นเป็นขั้นๆ สติก็เริ่ม ระลึกรู้ การละคลายก็จะค่อยๆ เป็นไปตามลำดับ แต่ต้องเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี แสดงประวัติของท่านสูรอัมพัฏฐเศรษฐีอุบาสก ซึ่งท่านเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสกสาวก ผู้เลื่อมใสโดยไม่หวั่นไหว

ข้อความมีว่า

ท่านปุรพันธเศรษฐีอุบาสก (บาลีว่า สูรอัมพัฏฐะ) ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ท่านเกิดในสกุลเศรษฐี เป็นอุปัฏฐากของเหล่าอัญญเดียรถีย์

ไม่ได้กล่าวถึงการสะสมปัญญาและบารมีในอดีตชาติที่จะทำให้ท่านได้เป็น พระโสดาบัน ซึ่งท่านก็ต้องได้เคยฟังพระธรรม ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานมาแล้ว

ในชาติที่ท่านจะได้เป็นพระโสดาบันนั้น ท่านเกิดในตระกูลเศรษฐีมีนามว่า สูรอัมพัฏฐะ (แต่ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า ท่านชื่อว่า ปุรพันธเศรษฐี)

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูโลกเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยแห่ง โสดาปัตติมรรคของท่าน จึงได้เสด็จไปถึงประตูบ้านของท่านในเวลาที่เสด็จบิณฑบาต เมื่อท่านเห็นพระผู้มีพระภาคท่านก็คิดว่า พระสมณโคดมทรงอุบัติในสกุลใหญ่ และเป็นผู้อันมหาชนรู้จักกันอย่างดีในโลก ด้วยเหตุนี้การไม่ไปเฝ้าพระองค์นั้น ไม่สมควร

ดังนั้น ท่านจึงเข้าไปเฝ้าและกราบที่พระยุคลบาท รับบาตรและอาราธนาให้เสด็จเข้าไปในเรือน ให้ประทับนั่งบนบัลลังก์มีค่ามากแล้วได้ถวายภัตตาหาร เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเสร็จภัตกิจแล้ว ท่านก็นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมตามควรแก่อุปนิสัยของท่าน เมื่อจบเทศนา ท่านดำรงอยู่ในโสตาปัตติผล และพระผู้มีพระภาคได้เสด็จกลับไปยังพระวิหารเชตวัน

ทุกท่านอยากจะเป็นอย่างนี้ ใช่ไหม ง่ายดี แต่ก่อนที่จะเป็นอย่างนี้นั้น ไม่ง่ายเลย จะต้องอาศัยการฟังจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ และอบรมเจริญปัญญา จนพร้อมที่เมื่อได้ฟังพระธรรมถึงกาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

ลำดับนั้น มารคิดว่า ชื่อว่าปุรพันธะนี้เป็นสมบัติของเรา (เพราะกาลครั้งหนึ่งท่านเคยเป็นอุปัฏฐากของพวกเดียรถีย์) มารคิดว่า แต่ว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จไปเรือนของเขาวันนี้ เขาจะได้บรรลุมรรคผลเพราะได้ฟังพระธรรมของพระผู้มีพระภาคหรือไม่หนอ

เพื่อที่จะได้รู้ว่าปุรพันธเศรษฐีบรรลุมรรคผลหรือไม่ มารก็เนรมิตรูปเป็น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับยืนใกล้ประตูเรือนของปุรพันธอุบาสก

อยากรู้มาก มีวิธีที่จะรู้ได้ คือ ได้แปลงกายเป็นพระผู้มีพระภาค

แม้ปุรพันธอุบาสกได้ฟังว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จมาอีกแล้ว ก็คิดว่า ธรรมดาการเสด็จไปชนิดไม่แน่นอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีเลย เหตุไรหนอจึงเสด็จมา ดังนี้

การที่พระผู้มีพระภาคเสด็จไปและเสด็จกลับมาอีก ย่อมไม่มีเลย เพราะฉะนั้น ท่านก็มีความสงสัย

ท่านจึงได้รีบไปที่ที่มารแปลงเป็นพระพุทธเจ้ายืนอยู่ เมื่อกราบแล้วได้ยืน ที่สมควรข้างหนึ่ง และกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงกระทำภัตกิจเสร็จในเรือนของ ข้าพระองค์ ทรงอาศัยเหตุอะไรจึงเสด็จมาอีก

มารกล่าวว่า

ดูก่อน ปุรพันธะ เราเมื่อกล่าวธรรม ไม่ทันพิจารณาแล้วกล่าวคำไปข้อหนึ่ง มีอยู่ แท้จริงเรากล่าวไปว่า ปัญจขันธ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาหมดทุกอย่าง แต่ความจริงไม่ใช่ทั้งหมดเห็นปานนั้น ด้วยว่าขันธ์บางจำพวกที่เที่ยง มั่นคง ยืนยง มีอยู่

ทีนั้นปุรพันธอุบาสกคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องหนักอย่างยิ่ง

คือ เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำเลยที่จะกล่าวอย่างนี้

ด้วยธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเป็นคำสองไม่มี จึงคิดใคร่ครวญว่า ขึ้นชื่อว่ามารเป็นข้าศึกของพระทศพล ผู้นี้ต้องเป็นมารแน่ จึงกล่าวว่า

ท่านเป็นมารหรือ

มารยอมรับว่าใช่ ปุรพันธอุบาสกจึงชี้นิ้วกล่าวว่า

มารตั้ง ๑๐๐ ตั้ง ๑,๐๐๐ ก็มาทำศรัทธาของเราให้หวั่นไหวไม่ได้หรอก พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงแสดงธรรมแก่เรา ก็ทรงแสดงธรรมปลุกให้ตื่นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ท่านอย่ายืนใกล้ประตูเรือนของเรานะ

มารก็ได้อันตรธานไปในที่นั้นนั่นเอง

และในตอนเย็นปุรพันธอุบาสกก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลให้ทรงทราบ

ท่านผู้ฟังพิจารณาธรรมหนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหวที่จะรู้ว่า สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง ไม่ว่าใครจะกล่าวว่าอย่างไรก็หนักแน่นมั่นใจมั่นคงว่า สิ่งใดที่เกิด เพราะเหตุปัจจัยสิ่งนั้นก็ดับ ที่จะยั่งยืนมั่นคงนั้นไม่มีเลย หรือขันธ์บางขันธ์อาจจะยั่งยืนมั่นคง ถ้าคิดอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ ก็เป็นความเห็นผิด และเป็นการไม่มั่นคง ในเหตุในผล ซึ่งการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ต้องเป็นผู้มีความมั่นคงในเหตุในผล จริงๆ ไม่คลอนแคลน ไม่ว่าในการพิจารณากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ต้องพิจารณาในเหตุผลที่จะทำให้สติปัฏฐานเจริญขึ้นโดยถูกต้อง

ผู้ฟัง มารนี่มาได้แนบเนียนมาก ถ้าปุรพันธะไม่ได้โสดาบันก็เสร็จแน่

สุ. ถ้าเป็นผู้ที่หนักแน่นมั่นคง ฟังพระธรรมเข้าใจ แม้ในขั้นของการฟัง ก็ต้องประกอบด้วยเหตุผลที่จะต้องรู้ว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไม่มีสอง เพราะว่า ทรงแสดงตามที่ทรงตรัสรู้ ฉะนั้น ที่จะกลับไปกลับมาเป็นไปไม่ได้ และโดยเหตุผล จริงๆ ก็เป็นอย่างนั้นไม่ได้

ผู้ฟัง ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อเราฟังอาจารย์แล้วเราก็ต้องมั่นคงว่า รูปนั่งกับปรมัตถธรรมต้องต่างกันแน่

สุ. ต้องพิจารณาและเป็นความเข้าใจจริงๆ ในเรื่องของปรมัตถธรรม ในเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่พิสูจน์ได้ ไม่ใช่เพียงแต่ให้เชื่อหรืออ้างตำราโดย บอกว่า เมื่ออิริยาปถบรรพมีในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ต้องดูรูปนั่ง หรือรู้รูปนั่ง ท่าทางที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดิน ซึ่งนั่นไม่เกื้อกูลต่อพระธรรมที่ทรงแสดงเรื่องของปรมัตถธรรมไว้โดยละเอียด เพราะแม้แต่โดยธาตุก็ไม่มีธาตุยืน ไม่มีธาตุเดิน ไม่มีธาตุนั่ง ไม่มีธาตุนอน มีแต่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีวิญญาณธาตุ มีโลภธาตุ มีโทสธาตุ มีกามธาตุ มีธาตุต่างๆ ซึ่งมีลักษณะจริงๆ เป็นปรมัตถธรรมและเมื่อปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น เจริญขึ้น มั่นคงขึ้น ก็ยิ่งรู้ว่า ไม่มีตัวตนที่จะทำอะไรได้เลยสักอย่างเดียว

นี่คือการละคลายความเป็นตัวตน โดยการรู้เหตุปัจจัยของสภาพธรรม แต่ละอย่างที่เกิดขึ้นว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจของ สภาพธรรมนั้นๆ และจะรู้ด้วยว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือ ขณะที่สติระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสติปัฏฐาน มิฉะนั้นแล้วไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา เพราะว่าไม่ทำให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ มีข้อความว่า

นอกจากมรรคแล้ว เครื่องนำออกอย่างอื่นย่อมไม่มี แม้มรรคนั้นมิใช่เครื่อง นำออกก็หาไม่ เพราะฉะนั้น มรรคนั้นบัณฑิตจึงรู้ว่าเป็นสัจจะ เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องนำออกอย่างแท้จริง

ทุกคนกำลังมีกิเลสสะสมมามาก ก็อยากจะให้กิเลสนั้นหมดไป เบาบางไป ดับไป แต่จะไม่มีหนทางอื่นเลย นอกจากมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น เพราะฉะนั้น เครื่องที่จะนำกิเลสทั้งหลายออกอย่างอื่นนอกจากมรรคไม่มีเลย หรือใครคิดว่า มีหนทางอื่น วิธีอื่นที่จะดับกิเลส แต่ข้อความในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแสดงไว้ชัดเจนว่า เครื่องนำออกอย่างอื่นย่อมไม่มี แม้มรรคนั้นมิใช่เครื่องนำออกก็หาไม่

ยังปฏิเสธกำกับไว้อีกว่า ที่มรรคนั้นจะไม่ใช่เครื่องนำออกนั้น เป็นไปไม่ได้ แต่ละขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะสภาพธรรม และสังเกตพิจารณาเพื่อที่จะแยกลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ออกจากลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏ นั่นเป็นหนทางที่จะนำกิเลสออกอย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้น มรรคนั้น บัณฑิตจึงรู้ว่าเป็นสัจจะ

ต้องเป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาด จึงจะรู้ว่า หนทางที่จะละกิเลสนั้นมีหนทางเดียว

ข้อความต่อไปใน สัมโมหวิโนทนี วิภังคปกรณ์ มีว่า

ทุกข์นั้นตัณหามิได้สร้างแล้วย่อมไม่มา ทุกข์ย่อมมีเพราะเหตุภายนอก มีเพราะพระอิศวรบันดาลก็หาไม่ ที่แท้ทุกข์ย่อมมีเพราะตัณหานี้

เป็นข้อความสั้นๆ แต่เป็นชีวิตประจำวันของทุกคนซึ่งมีทุกข์ คงไม่มีใครเลย ที่เกิดมาแล้วไม่มีทุกข์ เพียงแต่ว่าจะทุกข์มากหรือทุกข์น้อย จะทุกข์กายหรือทุกข์ใจ แต่มีใครบ้างที่จะพิจารณาอริยสัจจธรรมที่ว่า ทุกข์นั้นตัณหามิได้สร้างแล้วย่อมไม่มา

ถ้าไม่มีตัณหา ทุกข์ย่อมเกิดไม่ได้ แม้แต่เพียงความเป็นเราด้วยตัณหา ความเป็นเราด้วยทิฏฐิ ความเป็นเราด้วยมานะ ก็ไม่พ้นจากโลภมูลจิตเลย

ความเป็นเราด้วยทิฏฐิ คือ โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ซึ่งเกิดร่วมกับสักกายทิฏฐิที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน ในขณะนั้นควรจะพิจารณาว่า เป็นทุกข์แค่ไหน ทุกข์ทั้งหมดย่อมมาจากการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน หรือเป็นเรา ซึ่งขณะนั้นเกิดร่วมกับโลภะ ความยินดีพอใจในความเห็น ในการยึดถืออย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัญญาที่สามารถรู้ความจริงว่าไม่ใช่เรา เพียงละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน และสามารถเข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมในวันหนึ่งๆ ก็จะทำให้ความทุกข์เบาบางได้ แม้ในขั้นของการพิจารณาว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นๆ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แต่ที่จะดับได้จริงๆ เป็นสมุจเฉทต้องถึงโสตาปัตติมรรคจิต จึงจะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน และความเห็นผิดต่างๆ ได้ แต่ถ้ายังไม่ถึง ในบางกาลก็ต้องเป็นทุกข์เพราะการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน และถ้ายึดถือเหนียวแน่นมาก ทุกข์นั้นก็ต้องเพิ่มมากขึ้น

. ความเห็นถูกต้องเพียงอย่างเดียว ทำให้ทุกข์ไม่เกิดเลยหรือ

สุ. ทุกข์ทั้งหลาย ถ้าไม่มีตัณหาก็ไม่มี

. ความเห็นกับตัณหา อย่างเดียวกันหรือ

สุ. ความเห็นผิด พอใจในความเห็นนั้น

. ถ้ายึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นตัณหาไหม

สุ. แน่นอน เพราะว่าทิฏฐิเจตสิกต้องเกิดกับโลภมูลจิต ต้องเกิดร่วมกันกับโลภเจตสิก

. ผู้ได้โสตาปัตติมรรค โสตาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน เป็นผู้ที่ไม่มีตัณหาแล้วหรือ

สุ. มิได้ ไม่ใช่ว่าดับตัณหาหมด แต่ดับโลภมูลจิต ๔ ดวง คือ โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แต่ยังคงมีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ยังมีความทุกข์อยู่ แต่ว่าน้อยลง

. ทุกข์อะไร ทุกขอริยสัจจ์หรือ

สุ. แน่นอน ยังมีความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีทุกข์ซึ่งเกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

. พระโสดาบันละได้แต่ทิฏฐิ

สุ. ละได้เฉพาะความเห็นผิดทั้งหมด

. ละกามราคะ ปฏิฆะไม่ได้

สุ. ไม่ได้

. ที่เมื่อกี้บอกว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ถ้าผมบอกว่า สังขารทั้งปวงเที่ยง ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ

สุ. จริงไหม

. จริง

สุ. สังขารทั้งปวงเที่ยง จริงหรือเปล่า

. สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงเราจะรู้ได้อย่างไร สิ่งที่ไม่เที่ยง คือ รูปกับนามเท่านั้น สังขารเป็นปรมัตถ์หรือ

สุ. สังขารธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป สังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก ๕๐ ดวง สังขารที่เป็นอภิสังขารในปฏิจจสมุปบาท ได้แก่ เจตนาเจตสิก ๑ ดวง นี่คือการที่จะต้องฟังพระธรรม และเข้าใจศัพท์หรือความหมายของพยัญชนะแต่ละพยัญชนะให้ถูกต้อง

. จิต เจตสิก รูป

สุ. เป็นสังขารธรรม

เปิด  243
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565