แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1761

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑


. ขณะที่ความโกรธเกิดขึ้น หรือความพอใจ ความโลภเกิดขึ้น แต่เราไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรม เราหลงลืมไป อย่างนี้ถือว่าเราขาดความเพียรหรือเปล่า

สุ. ความเพียรในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ามีตัวเราที่จะเพียร ตราบใดที่มี ตัวเราที่จะเพียร ขณะนั้นไม่ใช่สัมมามรรค ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ เพราะไม่รู้ความ เป็นอนัตตา ต้องรู้ลักษณะของขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ และรู้ด้วยว่า ปัจจัยที่จะให้สติเกิด คือ การฟัง การพิจารณา จนกระทั่งเข้าใจ

เมื่อสติเกิดขึ้นครั้งหนึ่งก็รู้ว่าขณะนั้นปัญญายังไม่เจริญ แต่ปัญญาจะเจริญ ก็ในขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั่นเองไม่ใช่ในขณะอื่น

. ในขณะที่สติเกิด ความเพียรก็ต้องเกิดด้วยในขณะนั้น

สุ. แน่นอน แต่ไม่ใช่เราจะเพียร ในขณะที่สติระลึกนั่นเอง ความเพียรสังเกตที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นรูปธรรมหรือเป็นสภาพรู้

. แต่ถ้าคิดว่า ความโกรธเกิดขึ้นก็ดี หรือความพอใจเกิดขึ้นก็ดี เราต้องพยายามกำจัดหรือข่มไว้ ถือว่าเป็นเราทำ

สุ. ขณะนั้นไม่ใช่ความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

. สองสามอาทิตย์ก่อนที่บรรยายตอนเช้าว่า ท้าวสักกะมาฟังธรรมของพระพุทธองค์ พระองค์ท่านสอนว่าอย่างไร เพราะตอนนั้นฟังไม่ได้ และที่ท่าน พระมหาโมคคัลลานะไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ถามท่านสักกะว่า พระพุทธองค์สอนอะไร แต่ช่วงนั้นหนูฟังไม่ทัน ไม่ทราบว่าพระพุทธองค์ท่านสอนอะไรบ้าง

สุ. สอนไว้มากมายในพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนก็เป็นเรื่องชีวิตประจำวันทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้น วันนั้นผ่านไปแล้ว ฟังใหม่ เรื่องใหม่ ก็เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทั้งนั้นที่จะต้องรู้ตามความเป็นจริง ถ้าจะกลับมาฟังอีก ก็มีหลายท่านที่อัดเทปไว้ ข้อความในพระไตรปิฎกมีมาก และเป็นเรื่องของชีวิตประจำวันทั้งนั้น เป็นเรื่องของความพากเพียรอบรมเจริญปัญญา แม้จะผ่านข้อความนั้น แต่ขณะนี้กำลังฟังข้อความอื่น ซึ่งข้อความที่ได้ฟังทั้งหมดเป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งสิ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นข้อความที่ท้าวสักกะฟังตอนนั้น

ไม่ควรเป็นผู้ประมาท แต่ก็ยากเหลือเกินในเมื่อมีอกุศลสะสมมามากมาย ทั้งโลภะบ้าง โทสะบ้าง เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยสติ การระลึกได้ เป็นผู้อารักขา การดำเนินชีวิตต่อไปในการที่จะเจริญกุศลยิ่งขึ้น

สำหรับชีวิตในแต่ละชาติ จะเห็นได้ว่า ถ้าในทุกๆ ชาติที่เกิดมามีโอกาส ได้ฟังพระธรรม ถ้ายังไม่ละคลายอกุศลต่างๆ ในชีวิตประจำวันจริงๆ ด้วย ความตั้งใจมั่น ด้วยความเพียร ด้วยความอดทน ย่อมไม่ถึงกาลที่จะดับกิเลสได้ เพราะว่ากิเลสมากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้น การที่กุศลแต่ละขณะจะเกิดได้ จะเจริญได้ ต้องอาศัยความเพียร และความอดทนต่อการที่จะไม่เป็นอกุศลในขณะนั้น

ระหว่างความสนุกสนานเพลิดเพลิน กับการฟังพระธรรม จะเลือกอย่างไหน ถ้าไม่ใช่เรื่องความสนุกสนานเพลิดเพลิน เรื่องธรรมดาๆ ก็อาจจะเลือกฟังพระธรรม แต่ถ้าเป็นเรื่องสนุกสนานมาก เพลิดเพลินจริงๆ คิดดู ในขณะนั้นจะฟังพระธรรมหรือจะเลือกสนุกสนานเพลิดเพลิน

ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้มีวิริยะ มีความตั้งใจมั่น และมีความอดทน

อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อรรถกถาอาสีวิสสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

ในคำว่า วิริยารมฺภสฺเสตํ อธิวจนํ นี้ เพื่อแสดงถึงการทำความเพียรทางจิต

ท่านผู้ฟังคงเคยเพียรทางกายมามากแล้ว เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เป็นเรื่อง ความเพียรทางจิต เพราะว่าเป็นเรื่องของการอบรมเจริญกุศล

พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้

ผู้ยืนอยู่ฝั่งนี้อันน่ารังเกียจ ประสงค์จะข้ามห้วงน้ำ

นี่เป็นคำอุปมาสำหรับทุกท่านที่ต้องการจะดับกิเลส ต้องการเป็นอริยบุคคล ต้องการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม อุปมาเหมือน ผู้ยืนอยู่ฝั่งนี้อันน่ารังเกียจ ประสงค์จะ ข้ามห้วงน้ำ ต้องเห็นความน่ารังเกียจของฝั่งที่อยู่นี้ก่อน คือ ความติด ความพอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และปรารถนาที่จะละคลายความ น่ารังเกียจนี้

พักอยู่ ๒ - ๓ วัน ค่อยๆ ตระเตรียมเรือ แล้วขึ้นเรือเป็นเหมือนเล่นน้ำ

นี่เป็นชีวิตของทุกคนหรือเปล่า รู้ว่าหนทางนั้นคืออะไร แต่แม้กระนั้นทั้งๆ ที่ประสงค์จะข้ามห้วงน้ำก็พักอยู่ ๒ – ๓ วัน และบางคนก็ยิ่งกว่า ๒ – ๓ วัน พักไปเรื่อยๆ ๒ – ๓ อาทิตย์ ๒ – ๓ เดือน และบางคนขอเวลาไปถึง ๒ – ๓ ปี ที่จะพัก ที่จะไม่ศึกษาพระธรรม ค่อยๆ ตระเตรียมเรือ นี่ก็ช้า แล้วขึ้นเรือเป็นเหมือนเล่นน้ำ ก็เป็นเรื่องของความตามสบายๆ อยู่เรื่อยๆ

แม้เมื่อเขาทำอย่างนั้น ก็ยังขึ้นเรือไม่ได้ ย่อมถึงความพินาศ ฉันใด ภิกษุ ผู้ใคร่จะข้ามห้วงน้ำคือกิเลสก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ควรทำความเนิ่นช้าว่า เรายังเป็นหนุ่มอยู่ จักผูกแพคือมรรคมีองค์ ๘ ต่อเวลาเราแก่เสียก่อน

จริงอยู่ ภิกษุเมื่อทำอยู่อย่างนี้ แม้เวลาแก่ก็ยังไม่ถึง ก็ถึงความพินาศ แม้แก่ ก็ยังไม่ถึง ก็ไม่อาจทำได้

บางคนขอเวลาว่า เอาไว้แก่เสียก่อน แต่ยังไม่แก่ ความแก่ยังมาไม่ถึง สิ้นชีวิตไปก่อนก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น ที่รอไว้ ผลัดไป จะไม่ถึงโอกาสนั้นเลย และแม้ว่าบางคนถึงเวลานั้น ก็ไม่อาจทำได้

ระหว่างที่ยังไม่แก่ก็ปล่อยให้กิเลสมากมายเพิ่มขึ้น เพิ่มพูนท่วมทับ เวลาที่แก่กิเลสก็เพิ่มขึ้นอีกเยอะแยะ อย่างนั้นแล้วปัญญาก็ต้องเพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะฉะนั้น ก็ทำไม่ได้

ควรระลึกถึงภัทเทกรัตตสูตรเป็นต้น แล้วรีบเร่งผูกแพคืออริยมรรคนี้ทันที

คือ ไม่ให้รอกาลเวลาในการที่จะศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือวิริยารัมภกถา คำที่เตือนให้เป็นผู้ที่มีวิริยะ มีความเพียร มีความอุตสาหะ มีความอดทน

ข้อความต่อไปมีว่า

ก็บุคคลจะผูกแพ ควรมีมือเท้าบริบูรณ์

จริงอยู่ คนมีเท้าเป็นโรคพุพอง หรือมีเท้าหงิกง่อย ไม่สามารถจะยืนได้ บุคคลผู้มีมือเป็นแผลเป็นต้น ไม่อาจจับใบหญ้าใบไม้เป็นต้นได้ฉันใด ภิกษุผู้จะผูกแพคืออริยมรรคนี้ก็ฉันนั้น พึงปรารถนาความบริบูรณ์ด้วยเท้าคือศีล และด้วยมือคือศรัทธา

จริงอยู่ บุคคลผู้ทุศีลผู้ไม่มีศรัทธา ไม่ตั้งมั่นในพระศาสนา ไม่เชื่อข้อปฏิบัติ ไม่อาจจะผูกแพคืออริยมรรคได้

อนึ่ง แม้บุคคลผู้มือเท้าบริบูรณ์ แต่ไม่มีเรี่ยวแรง ถูกพยาธิเบียดเบียน ก็ไม่สามารถจะผูกแพได้ ต่อสมบูรณ์ด้วยกำลังเท่านั้นจึงจะสามารถฉันใด แม้คนมีศีล มีศรัทธาก็ฉันนั้น แต่เป็นคนเกียจคร้าน นั่งจมน่าเกลียด ก็ไม่สามารถจะผูกแพ คือมรรคนี้ได้ ผู้ปรารภความเพียรเท่านั้นจึงสามารถ ฉะนั้น ผู้ประสงค์จะผูกแพ คือมรรคนี้ จึงควรปรารภความเพียร

ฟังดู ถ้าเป็นคนที่ไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ก็จะมีตัวตนที่จะทำ ความเพียรอีกแล้ว

ฉะนั้น การฟังพระธรรม เมื่อฟังแล้วต้องพิจารณาให้สอดคล้องกันทั้ง ๓ ปิฎกด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ฟังเท่านี้แล้วก็รีบร้อนจะไปปฏิบัติ จะไปทำความเพียร นั่ง ๑๐ วัน ๒๐ วัน นั่นไม่ใช่ความหมายของการอบรมเจริญปัญญา

ความเพียร คือ เพียรอบรมเจริญปัญญา ซึ่งยากกว่า

เพียรที่จะเข้าใจชีวิต สภาพธรรมแต่ละขณะในทุกๆ วันตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปนั่งเพียรทำ แต่เพียรที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

และข้อความที่ว่า ก็บุคคลจะผูกแพควรมีมือเท้าบริบูรณ์ แสดงให้เห็นว่า การที่อริยมรรคจะเจริญขึ้นหรือจะเกิดได้ ไม่ใช่เป็นคนที่ไม่มีความเข้าใจถูกก็จะสามารถไปอบรมเจริญอริยมรรคได้ แต่ผู้ใดก็ตามที่จะผูกแพ ต้องเป็นผู้มีมือเท้าบริบูรณ์ จริงอยู่ คนมีเท้าเป็นโรคพุพอง หรือมีเท้าหงิกง่อย ไม่สามารถจะยืนได้ เพราะฉะนั้น ก็ผูกแพไม่ได้ ถ้าจะเป็นอย่างนั้น

บุคคลผู้มีมือเป็นแผลเป็นต้น ไม่อาจจับใบหญ้าใบไม้เป็นต้นได้ฉันใด ภิกษุ ผู้จะผูกแพคืออริยมรรคนี้ก็ฉันนั้น พึงปรารถนาความบริบูรณ์ด้วยเท้าคือศีล และด้วยมือคือศรัทธา

จะเห็นได้ว่า ในบางพระสูตรแสดงว่าวิตกหรือวิตกเจตสิกเป็นเท้า และ ในบางพระสูตร เช่น ในพระสูตรนี้ แสดงว่าศีลเป็นเท้า เพราะว่าสำหรับศีลมีทั้งที่เป็นกุศลศีลและอกุศลศีล เช่นเดียวกับวิตกเจตสิกซึ่งเป็นปกิณณกเจตสิก เกิดกับจิตเกือบทุกดวง

สำหรับชีวิตประจำวันของกามาวจรจิต เว้นจิตเพียง ๑๐ ดวงเท่านั้น ที่วิตกเจตสิกไม่เกิดร่วมด้วย คือ เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ได้แก่ จักขุวิญญาณ ๒ ดวง โสตวิญญาณ ๒ ดวง ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง กายวิญญาณ ๒ ดวง นอกจากนั้นแล้ววิตกเจตสิกเกิดกับจิตที่เป็นกามาวจรจิตทั้งหมด คือ ๔๔ ดวง เว้นเพียง ๑๐ ดวง เพราะว่ากามาวจรจิตทั้งหมดมี ๕๔ ดวง แต่ที่เป็นกุศลศีลหรือกุศลวิตก ต้องเป็นในขณะที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องการ เจริญกุศลแล้ว เท้า คือ ศีล และมือ คือ ศรัทธา

แสดงให้เห็นว่า การเจริญกุศลแต่ละครั้งจะมีแต่เท้าไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกิจ การงานใดทั้งสิ้น ต้องมีทั้งมือ มีทั้งศีรษะ และมีทั้งอวัยวะต่างๆ ด้วย คือ ต้องอาศัยโสภณธรรมต่างๆ ได้แก่ โสภณเจตสิก เช่น ศรัทธา สติ ปัญญา เป็นต้น กุศลจึงจะเจริญได้ และข้อความต่อไปที่ว่า

บุคคลผู้ทุศีลผู้ไม่มีศรัทธา ไม่ตั้งมั่นในพระศาสนา ไม่เชื่อข้อปฏิบัติ ไม่อาจจะผูกแพคืออริยมรรคได้

อนึ่ง แม้บุคคลผู้มือเท้าบริบูรณ์ แต่ไม่มีเรี่ยวแรง ถูกพยาธิเบียดเบียน ก็ไม่สามารถจะผูกแพได้ ต่อสมบูรณ์ด้วยกำลังเท่านั้นจึงสามารถฉันใด แม้คนมีศีล มีศรัทธาก็ฉันนั้น แต่เป็นคนเกียจคร้าน นั่งจมน่าเกลียด ก็ไม่สามารถจะผูกแพ คือมรรคนี้ได้ ผู้ปรารภความเพียรเท่านั้นจึงสามารถ ฉะนั้น ผู้ประสงค์จะผูกแพ คือมรรคนี้ จึงควรปรารภความเพียร

เป็นความจริงไหม มือเท้าสมบูรณ์ ไม่ได้เป็นโรคอะไรเลย แต่ขี้เกียจ ก็ไม่สามารถจะผูกแพ คือ อริยมรรคได้ เพราะฉะนั้น แพไม่ใช่ขณะอื่น แต่เป็นขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อข้ามไปสู่อีกฝั่งหนึ่ง

การศึกษาพระธรรม จุดประสงค์เพื่อขัดเกลากิเลสทั้งหลายด้วยการเจริญกุศลยิ่งๆ ขึ้น และการศึกษาพระธรรมทั้งหมดโดยตลอดก็เพื่อให้รู้ว่า แม้กุศลธรรม ก็ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

เพราะฉะนั้น กุศลธรรมทั้งหลายที่จะค่อยๆ อบรมให้เจริญขึ้น ก็ได้แก่ โสภณเจตสิกแต่ละชนิด ซึ่งต่างอาศัยกันเกิดขึ้น และค่อยๆ อบรมเจริญขึ้นๆ จนกระทั่งในที่สุดสามารถถึงขั้นบรรลุวิปัสสนาญาณ คือ การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามลำดับขั้น

นี่คือจุดประสงค์ของการศึกษาและการฟังพระธรรม คือ เพื่อกุศลทุกประการเจริญขึ้น จนถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรมและดับกิเลส

สำหรับโสภณเจตสิกที่ได้กล่าวถึงแล้ว ได้แก่ โสภณสาธารณเจตสิก ๗ ดวง คือ

๑. ศรัทธา ซึ่งทุกคนก็คงจะชินหู ได้แก่ สภาพธรรมที่ผ่องใส ขณะนั้นปราศจากความเศร้าหมองใดๆ

๒. สติ เป็นสภาพที่ระลึกได้ในทางกุศล ตามระดับขั้นของกุศลนั้นๆ

๓. หิริ คือ ความละอาย รังเกียจอกุศลธรรม ซึ่งต้องเป็นไปตามลำดับขั้น สำหรับในขั้นต้นจะมีความรังเกียจละอายทุจริตกรรมหรืออกุศลกรรมบถ แต่เวลาที่โลภะเกิดขึ้นยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถ้าปัญญายังไม่ถึงขั้น ที่จะละอาย ความละอายหรือความรังเกียจโลภะเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นสมโลภะ ซึ่งไม่ใช่วิสมโลภะ ก็ยังไม่เกิด นี่ก็จะเห็นได้ในชีวิตประจำวัน

๔. โอตตัปปะ ความเห็นโทษ เกรงกลัวโทษของอกุศล

๕. อโลภะ ความไม่ติดข้อง

๖. อโทสะ ความไม่ขุ่นเคือง ไม่หยาบกระด้าง

๗. ตัตรมัชฌัตตตา

ที่กำลังกล่าวถึงในขณะนี้ เป็นสภาพของโสภณเจตสิกทั้งหลายซึ่งกำลังเกิด แม้ในขณะที่กำลังฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรมเข้าใจขึ้น ก็คือโสภณเจตสิกนั่นเอง ที่กำลังอบรมให้เพิ่มขึ้น

และสำหรับตัตรมัชฌัตตตาซึ่งเป็นสภาพที่เป็นกลาง จะมีลักษณะของ ความวางเฉย ซึ่งเป็นลักษณะของอุเบกขา ๑๐ อย่างที่ได้กล่าวถึงแล้ว ยังไม่ครบ ทั้ง ๑๐ แต่ว่าได้กล่าวถึงบางประการ คือ

๑. ฉฬังคุเปกขา

๒. พรหมวิหารุเปกขา

๓. โพชฌังคุเปกขา

๔. วิริยุเปกขา

๕. สังขารุเปกขา

นี่ก็เป็นชื่อที่อาจจะลืมไปแล้ว แต่ก็พอที่จะระลึกได้เมื่อกล่าวถึง เช่น ฉฬังคุเปกขา เป็นตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกของพระอรหันต์ ซึ่งไม่หวั่นไหวในอารมณ์ ที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่กระทบสัมผัส นี่เป็นการเตือนให้ผู้ที่ยังหวั่นไหวอยู่ได้รู้ความต่างกันของระดับขั้นของปัญญา ถ้าปัญญายังไม่ถึงขั้นที่จะไม่หวั่นไหว ในวันหนึ่งๆ ก็ต้องหวั่นไหวไปด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง จนกว่าโสภณเจตสิกจะเกิดเมื่อไร เมื่อนั้นก็จะไม่หวั่นไหว เพราะว่าเป็นกุศล

พรหมวิหารุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก เป็นความไม่หวั่นไหวที่เป็นพรหมวิหาร เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข

โพชฌังคุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก

วิริยุเปกขา ชื่อก็พอจะทราบว่า ได้แก่ วิริยเจตสิก

สังขารุเปกขา ได้แก่ ปัญญาเจตสิก

จะเห็นได้ว่า เฉพาะตัตรมัชฌัตตตาซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นกลางไม่หวั่นไหวเพียงอย่างเดียว ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ไม่สามารถถึงสังขารุเปกขาญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑๑

กว่าจะค่อยๆ อบรมเจริญไป ความไม่หวั่นไหวตั้งแต่อารมณ์ที่กระทบปรากฏ และสติเริ่มระลึกรู้ศึกษาพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนกว่าปัญญา จะเจริญขึ้น ถ้าปราศจากปัญญาแล้ว ก็เป็นตัตรมัชฌัตตตา หรือว่าโสภณเจตสิก ขั้นทานบ้าง ขั้นศีลบ้าง ขั้นความสงบของจิตในวันหนึ่งๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญกุศลควรจะต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาด้วย ไม่ใช่เพียงแต่จะ เจริญกุศลเพียงขั้นทาน ขั้นศีล หรือขั้นความสงบของจิตเท่านั้น

ก่อนที่จะกล่าวถึงสังขารุเปกขาญาณซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๑๑ ขอทบทวนวิปัสสนาญาณขั้นต้นๆ คือ

วิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ อีกชื่อหนึ่งใน อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ คือ นามรูปววัฏฐานะ ซึ่งความหมายก็อย่างเดียวกัน

วิปัสสนาญาณที่ ๒ คือ ปัจจยปริคคหญาณ อีกชื่อหนึ่ง คือ ธัมมัฏฐิติญาณ วิปัสสนาญาณที่ ๓ คือ สัมมสนญาณ

วิปัสสนาญาณที่ ๔ คือ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ

วิปัสสนาญาณที่ ๕ คือ ภังคญาณ

วิปัสสนาญาณที่ ๖ คือ ภยญาณ

วิปัสสนาญาณที่ ๗ คือ อาทีนวญาณ

วิปัสสนาญาณที่ ๘ คือ นิพพิทานุปัสสนาญาณ

วิปัสสนาญาณที่ ๙ คือ มุญจิตุกัมยตาญาณ

วิปัสสนาญาณที่ ๑๐ คือ ปฏิสังขาญาณ

วิปัสสนาญาณที่ ๑๑ คือ สังขารุเปกขาญาณ

เปิด  255
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566