แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1765

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑


. ตรงนี้เข้าใจแล้ว

สุ. เข้าใจก็ต้องปฏิบัติตามที่เข้าใจ จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น และ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็นำไปสู่การเกิดดับได้ เพราะว่ารูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาท ก็ดับแล้ว ๑๗ ขณะนี่เร็วมาก

. ถ้าเห็นรูป เราเห็นวัณณะรูปของมหาภูตรูปจริงๆ หรือ

สุ. เป็นอีกรูปหนึ่งซึ่งไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่อ่อน

. เราสามารถเห็นเนื้อแท้ของมันหรือ

สุ. กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ต้องมีอีกรูปหนึ่งซึ่งเป็นรูปารมณ์ในกลุ่มนั้น ในกลาปนั้น ก็เหมือนกับดูเงาในกระจกตลอดชีวิต ซึ่งแท้จริงไม่มี แต่ก็เหมือนมี

เวลาที่ยืนส่องกระจก เห็นใคร ก็ยึดถือว่าเป็นเราในกระจก แต่มีเราไหม ฉันใด ในขณะนี้ทางตาก็กำลังเห็นเหมือนอย่างนั้น และมีการคิดนึกรูปร่างสัณฐานที่ทำให้ยึดถือว่ายังคงเป็นเราอยู่ จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เหมือนเงาให้คิดนึกเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ โดยที่หามีสิ่งนั้นจริงๆ ไม่ เป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดและดับไป เกิดและดับไป แต่สืบต่อกันอย่างเร็วมาก จนกระทั่งทำให้เหมือนว่ายังมีสิ่งนั้นอยู่ ทุกครั้งที่เห็น

. จากการอ่านหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป พิจารณา และสนทากันว่า การเจริญสมถะนั้นเจริญถูกต้องแล้วหรือยัง หรือเข้าใจละเอียดเพิ่มขึ้นแล้วหรือยัง คือสนทนากันว่า ผู้ที่เจริญสมถภาวนา ถ้าไม่ศึกษาพระพุทธศาสนาเขาก็รู้ลักษณะของธรรมต่างๆ เหมือนกัน เช่น กุศล อกุศล หรือวิตก วิจาร เขาก็รู้ลักษณะแต่ไม่รู้จักชื่อ ก็สนทนาว่า ถ้าอย่างนั้นผู้เจริญสมถภาวนาต้องมีปัญญามาก เพราะแม้ไม่ได้ศึกษาจากพระพุทธเจ้า ก็สังเกตธรรมทุกอย่างจนรู้ว่า ลักษณะใดทำให้จิตสงบ เช่น วิตก วิจารที่ตรึกไปในอารมณ์กัมมัฏฐาน ขณะที่รู้จักลักษณะของสภาพธรรม เช่น มีอกุศลเป็นอารมณ์ จะต่างกันอย่างไรกับวิปัสสนาหรือสติปัฏฐาน คือ สมมติโทสะเกิดขึ้น ผู้ที่เจริญสมถภาวนาก็ต้องรู้ลักษณะของโทสะเหมือนกัน ต่างกันที่สมถภาวนานั้น เห็นโทษแต่ยังยึดถือว่าเป็นเรารู้อยู่ เพราะฉะนั้น ในเมื่อผู้ที่เจริญสมถภาวนาต้องรู้ลักษณะของกุศล อกุศล และเข้าใจการละอกุศล ข่มกิเลสในขณะนั้นได้ชั่วคราว ก็ต้องมีปัญญามากทีเดียว

ก็สนทนากันว่า เราศึกษาพระธรรม และรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วปลอดภัยกว่า หรือว่าทำการเผยแพร่ให้ผู้ที่เจริญสมถภาวนา โดยให้ศึกษาพระธรรมวินัยให้ละเอียดเสียก่อนดีกว่า แทนที่จะเสี่ยงให้ผู้ที่เจริญ สมถภาวนาไปพิจารณาอารมณ์ เช่น ลมหายใจ และสังเกตเองว่า ตอนไหนเป็นกุศลอกุศล

สรุปว่า อารมณ์ของสมถภาวนานั้นจะเป็นปรมัตถ์ก็ได้ หรือเป็นบัญญัติก็ได้ แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาภาวนาต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์อย่างเดียว และปัญญายังต้องรู้มากกว่านั้นอีก เช่น รู้เหตุเกิดเหตุดับ รู้ความเกิดความดับต่างๆ

เมื่อสนทนาไปถึงตอนนี้แล้วก็มีปัญหาว่า แม้เข้าใจการเจริญสมถะแล้ว เข้าใจการเจริญวิปัสสนาแล้ว ถ้าจะเจริญวิปัสสนาในขณะที่อารมณ์ไม่สงบก็ดี หรือฟุ้งซ่านก็ดี ถ้ามีสมถภาวนาเข้ามาช่วย อย่างนี้ยังจะเป็นผู้ที่เข้าใจไหม

สุ. ช่วยอย่างไร การที่จะพูดอะไรก็ตามแต่ จะต้องมีข้อปฏิบัติด้วย ไม่ใช่เพียงพูดเฉยๆ ถ้าพูดเฉยๆ ไม่สามารถเข้าใจได้จริงๆ เช่น บางท่านบอกว่า ให้ดับผัสสะ เพราะถ้ามีผัสสะแล้ว ก็มีโลภะ มีโทสะ เพราะฉะนั้น วิธีที่จะกันก็คือ ให้ดับผัสสะ พูดอย่างนี้ก็ไม่ทราบว่าจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อจะดับผัสสะ เพราะว่า ผัสสะเป็นสภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ จิตเกิดขึ้นขณะใดที่จะปราศจากผัสสะ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จะดับผัสสะอย่างไร ในเมื่อผัสสะต้องเกิดกับจิต ทุกขณะ

การพูดจะต้องมีวิธีการปฏิบัติด้วย ที่ว่าจะอาศัยสมถภาวนาช่วย จะอาศัยอย่างไร ข้อปฏิบัติอย่างไรที่จะทำให้เป็นวิปัสสนาที่ช่วยในการเจริญสติปัฏฐาน

. เช่น การเจริญอานาปานสติ ขณะที่อยู่ในชีวิตประจำวัน และคิดว่า สติปัฏฐานเกิดน้อย ก็เลยคิดว่ากุศลขั้นอื่นๆ ควรเจริญ ก็นั่งพิจารณาลมหายใจ เพื่อให้จิตสงบ เมื่ออารมณ์ใดๆ ปรากฏ สติปัฏฐานก็จะเกิดได้

สุ. การเจริญอานาปานสติต้องกระทำด้วยปัญญาและเป็นมหาบุรุษ คือ เป็นผู้ที่มีปัญญามากจริงๆ แต่คนที่มีปัญญาเพียงเล็กน้อย ถ้าเทียบปัญญาของปุถุชนซึ่งยังไม่ได้เกิดอะไรเลยและจะไปทำอานาปานสติ โดยยังไม่รู้ว่าการเจริญ อานาปานสติต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์อย่างไร

และสำหรับเรื่องอาศัยวิธีอื่นที่จะช่วยในการเจริญสติปัฏฐาน ต้องพิจารณา เหตุกับผลให้ตรงกันด้วย ที่ว่าสติเกิดน้อยจึงหาวิธีอื่นที่จะช่วย ก็ควรจะได้ทราบว่า ทำไมต้องการมีสติ ถ้ายังไม่รู้จุดประสงค์ว่าทำไมจึงต้องการมีสติ ก็เคลื่อนไป หรือเพี้ยนผิดไปอีก การที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่เพื่อให้มีสติมากๆ แต่เพื่ออะไร

. เพื่อเข้าใจลักษณะ

สุ. เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ คือ ขณะนี้มีสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมกำลังปรากฏ นี่เป็นสิ่งที่ลืมไม่ได้เลยว่า ในขณะนี้เองมีสภาพปรมัตถธรรมกำลังปรากฏ อยากจะพูดซ้ำไปซ้ำมาหลาย ๆ ครั้งเพื่อเป็นการเตือนว่า เมื่อมีสภาพที่เป็น ปรมัตถธรรมกำลังปรากฏแล้ว อวิชชาทำให้ไม่ระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม

ไม่ใช่ต้องไปทำอย่างอื่นเลย เพราะฉะนั้น ที่ขาด คือ ขาดปัญญาที่จะ รู้ประโยชน์ของการที่สติจะระลึกแม้เพียงเล็กน้อย เพราะถ้าในขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่สังเกต ไม่พิจารณาว่า เป็นเพียงอาการรู้ ซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งฟังมาตลอดเวลา หรือ เป็นลักษณะของรูปธรรม ซึ่งก็ฟังมาตลอดเวลา และอาจจะพูดตามได้ว่าลักษณะใดเป็นรูปลักษณะใดเป็นนาม แต่นั่นเป็นการฟัง การจำเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ยังไม่ใช่การที่สติระลึกเพื่อที่จะศึกษาให้เข้าใจจริงๆ

เพราะฉะนั้น การที่สติปัฏฐานแม้เพียงชั่วขณะจะเกิดระลึกลักษณะของ ปรมัตถธรรม ก็เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่นขึ้นมาช่วย

ทำอย่างอื่น ปัญญาไม่มีทางที่จะเกิดและสังเกตพิจารณาลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

มุ่งหวังว่าทำอย่างอื่นเสียก่อน เพื่อที่จะรู้อย่างนี้ นี่เป็นสิ่งที่เคลื่อนไป ทั้งหมดเลย คือ ไม่เห็นประโยชน์ของแม้สติชั่วขณะที่จะระลึกลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ

สาตถกสัมปชัญญะ เป็นการรู้ประโยชน์ของสติปัฏฐาน ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่น ไม่ใช่ให้ไปเอาอย่างอื่นมาสับสน และหวังว่าจะเกิดปัญญา แต่การที่เพียรฟังพระธรรมให้เข้าใจประโยชน์ของสติ แม้เพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ ก็รู้ว่า สติปัฏฐานเป็นอนัตตา ไม่ใช่อยากจะมีมากๆ แต่ไม่รู้อะไรเลย

เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมเพื่อเกื้อกูลให้เห็นว่า ยิ่งมีความเข้าใจใน ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมเพิ่มขึ้น ปกติธรรมดา แม้ในขณะที่คิดว่าสติจะ ไม่เกิดเลย เช่น ขณะที่กำลังเพลิดเพลินสนุกสนาน สติปัฏฐานก็ยังระลึกได้ อาจจะระลึกที่ความรู้สึกที่กำลังเป็นสุข และรู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง

นี่คือสิ่งที่จะต้องอบรมเจริญไปจนกว่าปัญญาจะประจักษ์แจ้งในลักษณะที่ ไม่ใช่ตัวตน โดยนามธรรมและรูปธรรมปรากฏทีละลักษณะทางมโนทวาร พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ต้องการอย่างนี้หรือเปล่า

ถ้าไม่ต้องการอย่างนี้ ก็ไปทำอย่างอื่น แต่ถ้าต้องการอย่างนี้ เหตุกับผล ต้องตรงกัน คือ ถ้าต้องการปัญญาอย่างนี้ จะไม่มีวิธีอื่นเลย แม้ว่าจะเป็นวิธีที่ช้า เป็นวิธีที่ยิ่งกว่าจับด้ามมีด เพราะว่าด้ามมีดเป็นวัตถุ เป็นรูป ยังมองเห็นการสึกได้ ด้วยการจับแม้จะต้องกินเวลานานแสนนาน แต่นามธรรมในแสนโกฏิกัปป์ซึ่งเกิดดับ สืบต่อมาจนกระทั่งถึงชาตินี้ และในชาติหนึ่งๆ การฟังพระธรรมของแต่ละท่านมีเท่าไร ฟังแล้วเก็บไปคิด จำ พิจารณามากน้อยเท่าไร และวันหนึ่งๆ ที่สติปัฏฐานจะเกิด มากน้อยเท่าไร และชีวิตชาติหนึ่งๆ สั้นแค่ไหน ก็คิดดูว่าจะได้ปัญญาจากชาติหนึ่งเท่าไรที่จะเป็นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ และถ้าไม่สะสมสติปัฏฐานแม้ว่าจะน้อยไปจนกว่าจะถึง แต่ไปทำอย่างอื่น ก็ยิ่งเมินความสำคัญของสติชั่วขณะที่จะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งเป็น ปรมัตถธรรม

การฟังเข้าใจได้ แต่ว่าลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนจะไม่หมดไปด้วยการฟัง ต้องเป็นเพราะสติปัฏฐานเกิดแม้ชั่วขณะนิดเดียวก็ให้รู้ว่า นั่นคือลักษณะของสติสัมปชัญญะ ที่กำลังมีลักษณะของปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ เพียงแต่ปัญญายังไม่รู้ชัดว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เพราะอัตตสัญญายังจำไว้มั่นคงว่า ยังเป็นเราที่ยืน ที่เห็น ที่พูด ที่นั่ง ที่นอน ที่คิด ที่นึก ที่สุข ที่ทุกข์

. เป็นคำตอบที่ดีมาก คราวที่แล้วพูดถึงเรื่องอยากจะไปปฏิบัติหลายๆ แบบ หลังจากเลิกบรรยายแล้วก็มีท่านผู้หนึ่งกล่าวว่า ปกติเขาก็พูดกันว่า อยาก อยากไป บางทีก็ปฏิบัติถูกได้ เข้าใจได้ ใหม่ๆ ก็ต้องอยากกันก่อน

สุ. ท่านเหล่านั้นไม่เห็นโทษของอวิชชา ใช่ไหม

. ไม่เห็น

สุ. เพราะฉะนั้น ต้องเห็นโทษของอวิชชา ความไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

. ถ้าไม่เห็นโทษของอวิชชา ก็ไม่คิดที่จะเจริญสติปัฏฐาน

สุ. ไม่คิดที่จะเจริญปัญญาเลย เพราะไม่เห็นโทษของอวิชชา ที่จริงแล้ว เพราะอวิชชาจึงมีความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน และเกิดความอยาก ความต้องการเพื่อตัว แม้แต่การที่จะปฏิบัติก็เพื่อตัว อยากจะให้ตัวเองมีสติมากๆ ไม่มีหนทางเลยที่จะละความเป็นตัวตนด้วยวิธีอื่น

. เนื่องจากยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนนั่นเอง อวิชชาปกปิดความจริงจึงเกิดทุกข์ใช่ไหม

สุ. อยากจะปฏิบัติ ก็คือความยึดมั่นในตัวตนนั่นเอง

. แทนที่จะเจริญเหตุ

สุ. แทนที่จะละความเป็นตัวตนว่าไม่มีเรา ปัญญาเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เป็นเรื่องที่จะต้องเจริญขึ้นถูกต้องจึงจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมได้ เพราะถ้าเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ธรรมดาขั้นของการรู้เรื่องของกรรม แต่ที่จริงแล้วข้อความในอรรถกถามีว่า วิปัสสนาญาณทั้งหมดเว้นขณะที่มรรคจิตจะเกิด เป็นกัมมัสสกตาญาณ เพราะเป็นผู้ที่รู้ว่า ในขณะนี้เองไม่มีใครสามารถทำสิ่งหนึ่ง สิ่งใดได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แม้แต่กำลังเห็นขณะนี้ ขณะนี้ใครทำอะไรได้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายต้องมี เหตุปัจจัย การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัส เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย จะไม่ทำอย่างอื่นเลย นอกจากเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น

ผลของกรรมทางตาที่ต้องเห็นในขณะนี้ ไม่มีใครทำอะไรได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ไปทำอย่างอื่น นอกจากเพียรระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย การปรุงแต่งก็น้อยลง การที่จะเป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นตัวตน เป็นความคิดนึก เป็นสัตว์ บุคคล ก็จะรู้ได้ว่า แท้ที่จริงแล้วคือขณะจิต ที่คิด เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตายที่มีความสำคัญว่าเป็นเราก็เพราะคิด มีความสำคัญว่าเป็นเขาก็เพราะคิด จะชังใคร จะรักใคร ก็เพราะคิด

ถ้าสติปัฏฐานระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม และเพิ่มความรู้ในลักษณะของปรมัตถธรรมขึ้น จะลดการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะรู้ลักษณะว่า เป็นเพียงความคิด ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ถ้าแยกรู้ว่า ในขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ กำลังปรากฏ ไม่จำเป็นต้องใช้คำอะไรเลย ไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า สีสันวัณณะ รูปร่างสัณฐาน หรืออะไรทั้งสิ้น สูงต่ำดำขาว หรืออะไรทั้งหมด ไม่ต้องใช้เลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่กระทบจักขุปสาทแล้วดับ มีอายุที่สั้นที่สุดเลย แต่ความคิดสืบต่อ เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถแยกความคิดซึ่งสืบต่อจากการเห็น จะทำให้รู้ว่า ขณะที่เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขา ในวันหนึ่งๆ อย่างมากมายนั้น ก็เพราะความคิด

, ต้องแยกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา กับความคิด ออกจากกัน

สุ. แน่นอน มิฉะนั้นจะไม่รู้ความต่างกันของปรมัตถธรรมกับบัญญัติ

. เดี๋ยวนี้รูปร่างสัณฐานก็มีเพราะความคิด และสีก็มีทางตา

สุ. ถ้าใช้คำว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็สั้นมาก ความคิดยังไม่ทันจะเกิด ถ้าคิดถึงว่าสั้นมาก คือ ยังไม่ทันจะคิดถึงรูปร่างสัณฐานเลย แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏแล้วโดยยังไม่ได้คิดถึงรูปร่างสัณฐาน ก็จะรู้ได้ว่ารวดเร็วสักแค่ไหน กับการที่เพียงเห็นและยังไม่ทันจะคิดถึงรูปร่างสัณฐาน นั่นคือความจริงของสิ่งที่ ปรากฏทางตา

ถ้าสติปัฏฐานไม่ค่อยๆ เกิดระลึกไปเรื่อยๆ อบรมเจริญไปทีละเล็กทีละน้อย แต่ไปทำอย่างอื่น ไม่มีทางที่จะประจักษ์แจ้งได้ว่า สภาพธรรมที่กำลังเห็นในขณะนี้ เป็นแต่เพียงลักษณะที่รู้อย่างเร็วและมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้แล้วดับไป และความคิดนึก ก็เกิดสืบต่ออย่างเร็วจนกระทั่งไม่ปรากฏเลยว่าสภาพธรรมใดดับ เพราะฉะนั้น ก็ปรากฏเหมือนกับมีสัตว์ มีบุคคลจริงๆ ที่ทำให้รักบ้าง ชังบ้าง

เปิด  242
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565