แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1768

สนทนาธรรมที่โรงพยาบาลจังหวัดอุดรธานี

วันอาทิตย์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑


. ถ้าเราไปตั้งเป้าหมาย ก็ผิดวัตถุประสงค์ที่อาจารย์สอนว่า เอาความอยากไปตั้งกำหนดไว้ล่วงหน้า

สุ. ไม่ได้มีความอยาก นี่เป็นสิ่งที่มีจริง คือ เห็นดับ ได้ยินดับ คิดนึกดับ จิตเกิดขึ้นทีละขณะเดียว และไม่ใช่เฉพาะจิตอย่างเดียวที่เกิด มีเจตสิกเกิดร่วมกัน เป็นนามขันธ์ ๔ และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็มีรูปเกิดด้วยตามสมุฏฐาน เป็นรูปที่เกิดจาก กรรมเป็นสมุฏฐานก็มี เป็นรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานก็มี เป็นรูปที่เกิดจากอุตุ เป็นสมุฏฐานก็มี เป็นรูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐานก็มี บังคับไม่ได้ เวลานี้รูปที่ ดับไปแล้วก็มีปัจจัยทำให้เกิดอีก อย่างจักขุปสาทที่ดับไปแล้วก็มีปัจจัยให้จักขุปสาทเกิดอีก ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่มีเหตุมีปัจจัยที่จะให้สังขารธรรมคือขันธ์ทั้ง ๕ เกิดขึ้นและดับไป เกิดขึ้นและดับไปสืบต่อกัน การเกิดดับแต่ละขณะมีจริง เป็นจริง เป็นขณิกมรณะ

. ขณะที่ดับไปแล้วก็ดับไปแล้ว

สุ. เพราะว่าดับแล้วดับเลย ไม่มีเหลือเลย ถ้าเข้าใจขณิกมรณะจะเข้าใจสมมติมรณะ คือ ขณะที่จิต เจตสิก รูปดับ และไม่เกิดสืบต่ออีกในชาตินี้ ในความเป็นบุคคลนี้ สิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้ นั่นเป็นสมมติมรณะ แต่จะมีปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิตทันที ด้วยเหตุนี้จึงชื่อว่าการตายในชาติหนึ่งๆ นั้น เป็นสมมติมรณะ จนกว่าจะถึงสมุจเฉทมรณะเมื่อดับกิเลสหมด และจุติจิตเกิด ดับไป เป็นการปรินิพพานของพระอรหันต์

. อย่างนั้นที่ผมปฏิบัติก็อาจจะผิดพลาดไป คิดว่าเราไม่ตาย

สุ. ถ้ายังไม่ได้ศึกษาธรรม จะมีความคิดต่างๆ มากมายหลายอย่าง แต่ถ้าได้ศึกษาพระธรรมแล้วจะรู้ได้ว่า ไม่จำเป็นต้องไปคิดเอง เพราะว่ามีผู้ที่ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมโดยละเอียด เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียดให้พิจารณาตามว่า เป็นความจริงอย่างที่ ทรงแสดงหรือไม่

. ที่บอกว่า ขณะใดที่คิดจะไปทำอย่างอื่น ก็มีสติรู้ว่าหลงลืมสติ ขณะนั้น จะเริ่มเป็นปัจจัยให้ครั้งต่อๆ ไปที่คิดจะไปทำอย่างอื่น สติก็เกิดขึ้นระลึก ขณะนั้นเป็นปัจจัยที่จะทำให้สติเป็นปกติเรื่อยๆ ใช่ไหม

สุ. ถ้าระลึก ก็มีปัจจัยที่จะระลึกแน่นอน แต่ถ้าจำคำนี้ไม่ได้ ลืมเสียอีกแล้ว ก็อยากจะไปทำอย่างอื่นอีก ก็ตามปัจจัยที่สะสมมา ไม่มีใครสามารถบังคับได้ แต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่จะเกิดขึ้น ต้องมีปัจจัยจึงเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นความเห็นถูกหรือความเห็นผิด ก็ต้องมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น

. ใหม่ๆ เคยปฏิบัติผิด นกร้องอยู่ตั้งนาน ก็คอยจะฟังว่าเมื่อไรจะร้องใหม่ จะพิจารณาเสียง แต่ก่อนปฏิบัติผิดมาก เพราะว่าฟังน้อย แม้เดี๋ยวนี้ก็ยังเกิดอีกได้ คือ โลภะเกิดแทรก ใหม่ๆ ไม่รู้เลยว่าผิด จนเมื่อสนทนาก็ตกใจเหมือนกันว่า ทำไมตัวเองเป็นอย่างนั้น ใหม่ๆ ไม่รู้ว่าเป็นอกุศล เจริญมาแบบนี้จนกระทั่งมีกำลังก็เกิด ได้อีก

สุ. แน่นอน เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า ขณะใดที่ปัญญาเกิด ขณะนั้น จะค่อยๆ ละสีลัพพตปรามาส การประพฤติผิดปฏิบัติผิดไปจากมรรคมีองค์ ๘ แต่ต้องเป็นปัญญาที่รู้ ถ้าไม่ได้ฟังจนกระทั่งเข้าใจ สิ่งนั้นจะติดตามมามากยิ่งกว่านั้น แต่เมื่อได้ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว และเริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ความรู้ถูกก็จะมี และเวลาที่ความเห็นผิดเกิดขึ้น ก็สามารถรู้ได้ว่านี่เป็นความเห็นผิด ที่เกิดเพราะการสะสม ซึ่งจะต้องค่อยๆ จางไปเมื่อความเห็นถูกเพิ่มขึ้น

. ใช่ ต้องค่อยๆ เพราะว่าสังเกตดู ไม่ได้หายไปเลย บางครั้งนานๆ ก็ยังต้องเกิดอีก

สุ. เพราะฉะนั้น หนทางคือมรรคมีองค์ ๘ เป็นหนทางเดียวที่จะดับ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ แต่ถ้ายังอบรมเจริญไม่พอ สีลัพพตปรามาสคือ การลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติผิดซึ่งเคยทำมาแล้ว ก็เกิดแทรกได้ตามเหตุตามปัจจัย แต่แม้กระนั้นปัญญาก็สามารถรู้ได้

สำหรับเรื่องของความสงบในชีวิตประจำวัน ซึ่งค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ย่อมดีกว่าการที่จะไปทำมิจฉาสมาธิ

มีท่านผู้ฟังที่อยู่ต่างประเทศ ท่านขาดการมาวัดที่จะฟังพระธรรม แต่ท่านก็ได้รับเทปจากกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้ส่งไปให้ ขณะที่ฟังพระธรรม ถ้าสติสัมปชัญญะ เกิดในขณะนั้น สามารถที่จะรู้ลักษณะความผ่องใสของจิตในขณะที่กำลังระลึกถึงพระคุณที่กำลังเข้าใจพระธรรม

เพราะฉะนั้น อนุสสติ หรือ สมถภาวนา การอบรมเจริญความสงบในชีวิตประจำวันของพุทธบริษัท จะไม่พ้นจากอนุสสติ ๖ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ จาคานุสสติ สีลานุสสติ เทวตานุสสติ เพราะว่าขณะใดที่เข้าใจพระธรรม และระลึกถึงพระคุณ ย่อมเป็นปัจจัยให้น้อมประพฤติปฏิบัติตาม ทั้งทาน และศีล และความสงบของจิต รวมทั้งสติปัฏฐานด้วย

แสดงให้เห็นว่า การเจริญความสงบในชีวิตประจำวันที่เห็นผลได้ทุกขณะ โดยไม่ผิด คือ ขณะที่กุศลจิตเกิดและสติสัมปชัญญะเริ่มสังเกตลักษณะความสงบ ของจิต และถ้าขณะนั้นมีการดื่มด่ำในพระคุณที่ได้เข้าใจเพิ่มขึ้น สติสัมปชัญญะ ก็เริ่มสังเกตลักษณะความสงบนี้ซึ่งมากกว่าเคย และถ้ามีปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น การที่ความสงบของจิตจะปรากฏเป็นความผ่องใส ก็ย่อมปรากฏเพิ่มขึ้นด้วย

เพราะฉะนั้น เมื่อมีสติสัมปชัญญะ ก็สามารถรู้ลักษณะของความสงบที่ ผ่องใสขึ้น เพียงแต่ว่าจะถึงอุปจารสมาธิหรือไม่ถึงอุปจารสมาธิ ซึ่งไม่ใช่ เป็นความหวังหรือความต้องการที่จะถึง เพราะว่าจุดประสงค์ควรจะเป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อละ

. ถ้าเรามีเวลาว่าง และเรานั่งสมาธิ จะช่วย… (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. เป็นคำถามที่น่าสนใจและมีประโยชน์มาก เพราะว่าสมัยนี้ทุกคนจะใช้คำว่า ทำสมาธิ หรือ นั่งสมาธิ หรือ ทำสมถภาวนา แต่ว่าพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ทำให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งเป็นปัญญาของผู้ที่ศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าศึกษาพระพุทธศาสนาโดยละเอียดจะทำให้เข้าใจถูกต้อง หมดความสงสัย แต่ต้องฟังความละเอียดของแต่ละเรื่องพอสมควร ไม่ใช่เพียงใครบอกว่า ทำสมาธิ ก็ทำเลย นั่นไม่มีความเข้าใจอะไรสักนิดเดียว เพียงแต่บอกให้ทำก็ทำ แต่ไม่เข้าใจจุดประสงค์

ในพระพุทธศาสนามีการอบรมเจริญกุศลนอกจากขั้นทานและขั้นศีล อีก ๒ อย่าง คือ สมถภาวนาอย่างหนึ่ง และวิปัสสนาภาวนาอย่างหนึ่ง

คำว่า ภาวนา เราก็เคยได้ยินบ่อยๆ แต่แม้เราจะได้ยินศัพท์ต่างๆ ก็ใช่ว่า เราจะเข้าใจความหมายของศัพท์ที่เราใช้จริงๆ เช่น คำว่า ภาวนา หมายความว่า การอบรม ค่อยๆ เจริญให้สิ่งซึ่งยังไม่เคยเกิด เคยมี เกิดขึ้น มีขึ้น เพิ่มขึ้น มากขึ้น นี่คือความหมายของภาวนา

เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงภาวนา คือ การอบรมในพระพุทธศาสนาที่ว่ามี ๒ อย่าง คือ อบรมเจริญความสงบของจิตใจอย่างหนึ่งชื่อว่าสมถภาวนา และอบรมเจริญปัญญาเพื่อละความไม่รู้ ละกิเลส จนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เป็นพระอริยบุคคล เหมือนพระอริยเจ้าในครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแล้ว เป็นพระโสดาบันบุคคล เป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระอนาคามีบุคคล จนถึงความเป็นพระอรหันต์ นั่นคือการเจริญวิปัสสนาภาวนา เพราะฉะนั้น ภาวนา ๒ อย่าง คือ สมถภาวนาอย่างหนึ่ง และวิปัสสนาภาวนาอย่างหนึ่ง คิดว่าจะเจริญอย่างไหน

นี่เป็นสิ่งที่เพียงแต่จะให้พิจารณาในเหตุผลขั้นต้นก่อนว่า จะเจริญความสงบของจิตชั่วครั้งชั่วคราว แต่ไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ อิสสา ความริษยา ความตระหนี่ อะไรๆ ก็ตามที่เป็นอกุศล สมถภาวนาดับไม่ได้ แต่ว่าวิปัสสนาภาวนาดับได้

เพราะฉะนั้น ควรที่จะทราบว่า ก่อนที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้อริยสัจจธรรม การอบรมเจริญสมถภาวนามีแล้ว ไม่ใช่ไม่มี กุศล ทุกประการมีแล้ว กุศลที่เป็นขั้นทานก็มีแล้ว กุศลที่เป็นขั้นศีลก็มีแล้ว กุศลที่เป็น ขั้นสมถะคือความสงบของจิตก็มีแล้ว แต่ถ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตรัสรู้ การอบรมเจริญปัญญาที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมที่จะให้ดับกิเลสนั้น ไม่มี เพราะเหตุนั้นจึงมีผู้ที่สามารถอบรมเจริญความสงบของจิตก่อนการตรัสรู้อย่างมาก ขั้นสูงด้วย แต่ก็ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าจะกล่าวถึงสมถภาวนา ก็คือกุศลอีกขั้นหนึ่งนอกจากขั้นทาน ขั้นศีล และต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วย เพราะถ้าไม่เข้าใจจะเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะ ในพระไตรปิฎกมีคำว่า สัมมาปฏิบัติ มิจฉาปฏิบัติ มรรคมีองค์ ๘ เป็นสัมมามรรคก็มี เป็นมิจฉามรรคก็มี

เพราะฉะนั้น การที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงข้อปฏิบัติ จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจโดยละเอียดจริงๆ ไม่ใช่ว่ายังไม่ได้ศึกษาเลย ใครบอกให้ ทำอะไรก็ทำ โดยที่ไม่ได้เข้าใจว่ากำลังทำอะไรและผลที่จะเกิดนั้นคืออะไร

ขอเรียนให้ทราบว่า สมถภาวนาเป็นกุศลอีกขั้นหนึ่งที่ขณะนั้นจิตสงบจากอกุศลซึ่งวันหนึ่งๆ ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมจะไม่ทราบเลยว่า ถ้าขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นเป็นอกุศลหมดถ้าเราไม่กล่าวถึงจิตประเภทที่เป็นวิบากคือผลของกรรม ได้แก่ ขณะที่กำลังเห็นเป็นจิตที่เป็นวิบาก กำลังได้ยินก็เป็นผลของกรรม กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังกระทบสัมผัส ขณะต่างๆ เหล่านี้ แค่ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นผลของกรรม แต่เมื่อเห็นแล้ว ชอบหรือไม่ชอบ ไม่ใช่เป็นผลของกรรมแล้ว แต่ เป็นเหตุที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ที่จะทำให้เกิดการกระทำที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ซึ่งจะ ทำให้เกิดสังสารวัฏฏ์วนเวียน คือ เมื่อเหตุที่ไม่ดีมี กรรมที่ไม่ดีมี ผลของกรรมที่ดีและ ไม่ดีก็ต้องมีตามเหตุด้วย

เพราะฉะนั้น เราต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า เมื่อยังไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่เคยรู้ตัวว่า มีกิเลสมากแค่ไหน มีอกุศลจิตมากแค่ไหน ต่อเมื่อได้ศึกษาแล้วจึงรู้ว่า ขณะใดที่กุศลไม่เกิด ขณะนั้นเว้นจิตที่เป็นวิบากคือเป็นผลของกรรมแล้ว เป็นอกุศลหมดเลย

ชอบดอกไม้สวยๆ ไหม ไม่เคยคิดเลยว่าเป็นอกุศลแล้ว ตื่นขึ้นมาก็ อาหารอร่อยไหม วันนี้จะทำอะไรบ้าง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยเรื่องของโลภะทั้งนั้น ความต้องการ ความปรารถนา ความติดข้อง เวลาที่ไม่ได้สิ่งที่ต้องการก็เป็นโทสะ ความโกรธหรือความไม่พอใจมีทุกระดับ ตั้งแต่เห็นฝุ่นนิดเดียว ขณะนั้นถ้าสังเกตความรู้สึกจะรู้ได้เลยว่า จิตใจไม่ผ่องใส ขณะนั้นก็เป็นอกุศลแล้ว และถ้าเห็นคนที่ ไม่พอใจ ก็ยิ่งกว่าเห็นฝุ่นเล็กๆ น้อยๆ ความไม่ชอบใจ ความรำคาญใจ ความอึดอัดกระวนกระวายใจก็ต้องเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ โลภะ โทสะมากทีเดียว ขณะนั้นไม่สงบ

และสำหรับกุศลอีกขั้นหนึ่งที่ว่า ขณะใดก็ตามที่ไม่ได้ให้ทาน ไม่เป็นไปในทาน การให้วัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ขณะใดที่ไม่ได้วิรัติทุจริต ไม่ใช่การวิรัติปาณาติบาต อทินนาทาน อย่างที่เราเคยทราบเรื่องศีล ๕ ขณะนั้นจิตใจเรา เป็นอย่างไร

ถ้าไม่ทราบ ก็ไม่ใช่เจริญสมถภาวนา แต่ถ้าทราบจึงจะมีปัญญาที่รู้ว่า ไม่ควร ที่จะให้อกุศลนั้นๆ ครอบครองจิตใจทั้งวัน ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบ ของจิตซึ่งเป็นกุศลอีกขั้นหนึ่ง ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาจึงจะเจริญได้ ไม่ใช่ไม่รู้อะไรเลย ก็จะไปทำสมาธิโดยเข้าใจว่าขณะนั้นสงบ โดยไม่ได้ศึกษาเลยว่า ในพระไตรปิฎก ได้ทรงแสดงมิจฉาสมาธิและมิจฉามรรคไว้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจย่อมจะปฏิบัติด้วยความไม่รู้ เมื่อไม่รู้จะเป็นข้อปฏิบัติที่ถูกไม่ได้

ก่อนอื่นขอให้ทราบว่า สมถะ คือ ขณะที่เป็นกุศล ที่ไม่ได้เป็นไปในทาน ในศีล เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ จิตที่สงบ เวลาไม่เป็นไปในทาน ในศีล จะเป็นไปได้อย่างไร

ทุกคนคิด ทุกวัน ไม่มีใครที่ไม่คิด วันนี้คิดแล้วตั้งหลายเรื่อง เวลาที่คิดถึง คนนั้นคนนี้ ถ้าสติไม่เกิดไม่สามารถรู้ได้เลยว่า คิดถึงด้วยความผูกพัน หรือคิดถึงด้วยความขุ่นเคือง ถ้าคิดถึงคนที่เราพอใจ ญาติ ความรู้สึกอย่างหนึ่ง มิตรสหายที่รัก ความรู้สึกอย่างหนึ่ง คิดถึงคนที่โกรธกัน ผู้ร่วมงานที่ไม่ถูกกัน ไม่เข้าใจกัน ความรู้สึกก็อีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น แม้แต่ความคิดก็เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง แต่ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอกุศล ถ้าปัญญาไม่เกิด

เพราะฉะนั้น การที่จิตจะสงบด้วยความคิดที่สงบในชีวิตประจำวัน ต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่า คิดอย่างไรจิตจึงจะสงบได้ นี่คือสมถภาวนา การอบรมจิต ซึ่งเกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาให้เป็นกุศลขึ้น ให้สงบขึ้น ไม่ใช่ว่าให้ไปนั่ง และไม่รู้อะไร

ที่ถามเมื่อกี้ว่า ฟังดูเหมือนกับว่าไม่ได้ส่งเสริมการนั่งสมาธิ นั่นเพราะเหตุว่า จะไม่ส่งเสริมมิจฉาสมาธิ แต่ถ้าเป็นการอบรมเจริญความสงบของจิตซึ่งเป็นกุศล อีกขั้นหนึ่งแล้ว ควรเจริญในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้แก่พรหมวิหาร ๔ เพราะว่าชีวิตประจำวันของทุกคนไม่ขาดการคิดถึงคนอื่น วันนี้แม้ว่าจะเพิ่งพบกันก็ยังมีความคิดต่อกันได้ว่า จะเมตตาต่อกัน หรือจะคิดร้ายต่อกัน หรือจะไม่ชอบหน้ากัน

บางคนเพียงเห็น ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ถ้าสะสมความไม่พอใจไว้มากๆ ก็มี ข้อติตลอดเวลา คนนี้ก็เป็นอย่างนั้น คนนั้นก็เป็นอย่างนี้ อาจจะมองดูคนอื่นด้วยความไม่เป็นมิตร ความคิดถึงคนอื่นด้วยความไม่เข้าใจกัน ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต แต่ถ้าในชีวิตประจำวันทุกคนเข้าใจประโยชน์ของเมตตา คือ เข้าใจความรู้สึก และจิตใจที่ประกอบด้วยเมตตาจริงๆ ว่า ไม่ใช่การท่อง ไม่ใช่เพียงนึกว่า สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด

เมตตามาจากคำว่า มิตตะ หรือไมตรี ดิฉันขอเรียนให้ทราบว่า ดิฉันมี ท่านอาจารย์สมพรซึ่งเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญภาษาบาลี ซึ่งจะทำให้การกล่าวถึงพระธรรมเพิ่มความสมบูรณ์ขึ้นเมื่อได้เข้าใจความหมายหรืออรรถของคำ โดยที่ไม่ใช่เราคิดเองว่า คำนี้เป็นอย่างนี้ แต่ความหมายที่ลึกซึ้ง หรืออาจจะมี ๒ หรือ ๓ ความหมายของคำนั้นก็ได้ ก็ต้องขอเรียนปรึกษาท่านด้วย

สมพร คำว่าเมตตาที่ท่านอาจารย์พูดนั้น ถูกต้องทุกอย่าง เพราะว่าเมตตา คือ ความไมตรี มีจิตยินดีต่อกัน แต่ไม่ใช่ยินดีในด้านโลภะ

สุ. มิตรหรือไมตรี คือ ความเป็นเพื่อน ถ้าพูดถึงเพื่อนก็หมายความว่าไม่ใช่ศัตรู เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะเห็นใคร และมีความรู้สึกว่า เขาเป็นเพื่อนของเรา ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างประเทศ ต่างวัย ต่างความรู้ ต่างฐานะ แต่มีความเสมอกัน เข้ากันได้ เหมือนเพื่อนสนิท เพราะใครก็ตามที่จะเป็นเพื่อนกันแล้ว หมายความว่า คนนั้นต้องไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเขาหรือเป็นเรา หรือว่ามีความต่างกัน เพราะฉะนั้น จิตใจในขณะที่กำลังเป็นเพื่อน พร้อมที่จะเกื้อกูลช่วยเหลือผู้หนึ่งผู้ใด ขณะนั้นคือเมตตา

ธรรมเป็นสิ่งที่จะต้องอบรมเจริญประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพราะว่าชีวิตประจำวันของเราดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว บางขณะจิตเราก็เป็นอกุศล ซึ่งต่างกับขณะที่เป็นกุศล และจิตก็เกิดดับสลับเปลี่ยนแปลงกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าจิตเที่ยง จิตที่เป็นอกุศลก็ไม่ใช่จิตที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ขณะที่มีเมตตา มีความเป็นเพื่อน ขณะนั้นเป็นกุศล และถ้าเราเพิ่มความเมตตากับทุกๆ คนขึ้น ที่เราพบปะ นั่นคือการอบรมเจริญความสงบของจิต

ไม่ใช่ว่าเราไปนั่งท่องภาวนาอยู่ที่มุมหนึ่งมุมใด แต่พอพ้นจากห้องนั้นแล้ว เห็นคนอื่นก็หมั่นไส้ หรือว่าไม่ชอบ หรือว่ารำคาญ ขณะนั้นการที่เราไปนั่งท่องตั้ง ๒๐ นาที หรือครึ่งชั่วโมง ก็ไม่มีความหมายเลย เพราะว่าไม่ใช่การประพฤติปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน

เปิด  257
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565