แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1769

สนทนาธรรมที่โรงพยาบาลจังหวัดอุดรธานี

วันอาทิตย์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑


ต้องเข้าใจเรื่องสมถภาวนาให้ถูกต้องว่า เป็นการอบรมเจริญกุศล ในชีวิตประจำวันที่จิตจะสงบ แม้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล และที่จะกล่าวว่า สมถะคำเดียวคือความสงบ ยังจะต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า สงบอย่างไร ไม่ใช่อยากจะนั่งนิ่งๆ ให้จิตไม่นึกถึงอะไรเลย นอกจากสิ่งที่เรากำลังจดจ้องอยู่ และเข้าใจว่าขณะนั้นสงบ แต่นั่นไม่ใช่ เพราะเหตุว่าสงบ สมถะ หมายความว่า สงบจากอกุศล สงบจากโลภะ สงบจากโทสะ สงบจากโมหะ คือ ความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังอยากจะอยู่คนเดียว และจดจ้องที่อารมณ์เดียว คิดดูว่า ขณะนั้นสงบ หรือว่าอยาก

ความอยากมีหลายอย่าง อยากเห็นสิ่งที่สวยๆ งามๆ ก็เป็นความอยาก อย่างหนึ่ง อยากจะได้ยินเสียงที่เพราะๆ หรือแม้เสียงชม ไม่ต้องเป็นเสียงดนตรี เพียงแต่ใครชมสักนิดสักหน่อยก็พอใจ เพียงเสียงที่กล่าวเป็นคำชมออกมา นั่นก็เป็น สิ่งที่เราต้องการ อยากได้กลิ่นหอมๆ อยากลิ้มรสอาหารอร่อยๆ ทั้ง ๓ มื้อ ๓ เวลา หรือทั้งวัน และก็อยากจะกระทบสัมผัสสิ่งที่สบาย เก้าอี้ต้องอ่อนนุ่มสบายสะดวก ทุกอย่าง นี่คือโลภะ และไม่ใช่ว่าจะมีความยินดีพอใจเพียงในรูปที่เห็นทางตา ในเสียง ที่กระทบหู ในกลิ่นที่กระทบจมูก ในรสที่กระทบลิ้น ในโผฏฐัพพะที่สัมผัสทางกาย แต่โลภะจะชอบทุกอย่างหมด

แม้เพียงแต่อยากจะนั่งเฉยๆ ไม่ให้จิตนึกถึงอย่างอื่นเลย ขณะนั้นไม่ได้มีปัญญาอะไรเลยที่จะรู้ว่า กุศลเป็นอย่างไร อกุศลเป็นอย่างไร มีแต่ความต้องการ ที่จะพักจิตใจ ไม่ให้เที่ยวเตร็ดเตร่ไปตามอารมณ์ที่ปั่นป่วน เดือดร้อน วุ่นวาย นั่นก็คือลักษณะของความต้องการชนิดหนึ่งเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา จึงไม่ใช่สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะเจริญสมถภาวนาต้องเข้าใจความหมายของสมถะ และต้องรู้ วิธีว่า การอบรมเจริญต้องเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ใช่ไปนั่งทำอย่างหนึ่ง อย่างใดและเข้าใจว่าสงบ แต่เวลาที่พบคนอื่นจริงๆ ก็ไม่สงบแล้ว

. … เรื่องอานาปานสติก็ดี เรื่อง ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ต้องประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าใครมาชักชวนให้ทำอะไร ต้องเข้าใจตัวของเราเองก่อนว่า ทำทำไม และสิ่งที่ทำเราเข้าใจอะไรขึ้น อย่างกสิณ ที่ใช้คำว่า กสิณ มี ๑๐ อย่าง

คำว่า กะ สิ ณะ ต้องแปลก่อน ไม่อย่างนั้นเราก็พูดถึงคำที่เหมือนเข้าใจ แต่ความจริงเราไม่ได้เข้าใจอะไรเลยสักอย่างเดียว เขาบอกอะไรก็เชื่อ ขอเรียนเชิญอาจารย์สมพร

สมพร คำว่า กสิณ เดิมมาจากคำว่า กสิณัง หมายความว่า ทั้งปวง คือ อารมณ์ทั้งปวง ผู้ที่จะปฏิบัติต้องเข้าใจ เบื่อหน่ายในเรื่องกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ จะหลีกเลี่ยง แต่ผู้นั้นต้องเข้าใจในอารมณ์นั้น จึงไปสงบสติอารมณ์อยู่ แต่บางครั้งไปสงบสติอารมณ์อยู่ โลภะไม่สงบ โทสะสงบจริง แต่โลภะทำให้ยินดีติดใจ เพราะเหตุนั้น คำว่า กสิณ ถ้าไม่เข้าใจและปฏิบัติ อาจจะเป็นมิจฉาทิฏฐิได้

สุ. กสิณมี ๑๐ อย่าง ขอเริ่มจากปฐวีกสิณซึ่งทุกคนคงจะได้ยินได้ฟังบ่อยๆ

ปฐวี ภาษาไทยแปลว่า ดิน แต่ดินก็มีหลายอย่าง ลักษณะที่เป็นธาตุดิน ต่างกับดินที่เราเข้าใจกัน ลักษณะที่เป็นธาตุดิน คือ ไม่ว่าอะไรก็ตามที่แข็ง กระทบสัมผัสแล้วแข็งทั้งหมดคือลักษณะของธาตุชนิดหนึ่ง แม้เราจะไม่เรียกว่า แข็ง แม้เราจะไม่เรียกว่า ดิน แม้เราจะไม่เรียกว่า ปฐวี แต่ลักษณะที่แข็งกระทบสัมผัส ทางกายสำหรับทุกคนที่มีกายปสาท นี่คือลักษณะของธาตุ ซึ่งแม้จะไม่ใช้คำใช้ชื่อใดๆ สิ่งนั้นก็มีจริง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ลักษณะที่แข็งเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ

เหมือนกับเสียง เป็นสิ่งที่มีจริง ทุกคนที่มีโสตปสาท มีการได้ยิน ก็รู้ว่า เสียงมีลักษณะอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เสียงเป็นสัททธาตุ เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่ง

ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงโดยที่เราไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาบาลี หรืออะไร แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ถ้า ทางธรรมจะใช้คำว่า ปรมัตถธรรม แต่คงจะไม่ต่อไปถึงนั่นเพราะกำลังพูดถึงเรื่องปฐวีว่า ดินมีหลายอย่าง ลักษณะของธาตุก็แข็ง แต่ว่าดินที่เราเข้าใจกันก็เป็น พื้นดินทั่วๆ ไป การที่จิตจะสงบโดยการระลึกถึงดิน คิดดูถึงเหตุผลว่า เป็นไปได้ไหม

ก่อนที่ใครจะมาชักชวนเราให้ทำอะไร เราต้องซักฟอกความเข้าใจกับข้อปฏิบัติให้ตรงว่า เหตุต้องตรงกับผล เพราะฉะนั้น ปฐวี แปลว่า ดิน กสิณะ แปลว่า ทั้งปวงทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมีอะไรบ้างที่ปราศจากดิน หรือลักษณะที่แข็ง เราอาจจะเห็นสิ่งนี้ และก็รู้ว่าเป็นเครื่องใช้อย่างหนึ่ง แต่ลองกระทบสัมผัส ก็เพียงแข็ง นี่ก็แข็ง ดอกไม้ที่ว่าสีสวยๆ เรียกชื่อหลายๆ ชื่อ ทั้งดอกไม้จริง ดอกไม้ปลอม ในกระถางหรือ เกิดขึ้นมาอย่างไรก็ตาม กระทบสัมผัสแล้วก็เพียงแค่แข็ง

รูปธรรมทั้งหมดที่เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจทางตา คือ สีของสิ่งที่แข็ง เมื่อมีสิ่งที่แข็งกระทบสัมผัสได้ ถ้ามองดูจะเห็นสีของสิ่งนั้น แต่ไม่กระทบความแข็ง ของสิ่งนั้น นี่ก็เป็นการแยกออกแล้ว เพราะว่ากสิณมี ๑๐ อย่าง นอกจากกสิณ ที่เป็น ธา - ตุ - กสิณ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ก็ยังมีกสิณที่เป็นสีต่างๆ ด้วย เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจเรื่องของสมถภาวนาหรือว่ากสิณ จะต้องรู้ที่มาที่ไปทุกอย่างว่า ในเมื่อ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไม่พ้นจากธาตุดินสักอย่างเดียวที่เป็นรูปธรรม โต๊ะ เก้าอี้ หนังสือ อาหาร เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ วิทยุ โทรทัศน์ แม้แต่รถยนต์ หรืออะไรต่างๆ ก็ไม่พ้นไปจากธาตุดินเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราปรารถนาต้องการกันเหลือเกินในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่แข็งเท่านั้นเอง จริงหรือไม่จริง ใครจะปรารถนาอะไรก็ตามแต่ ลองกระทบสัมผัสดู ก็แค่แข็งเท่านั้น

ประเทศที่กำลังแย่งชิงกัน รบราฆ่าฟันกัน ก็แย่งดินกันเท่านั้นเอง ถ้าคิดจริงๆ แล้วก็แย่งดินกัน ทุกสิ่งทุกอย่างมีเพียงแค่ดินเท่านั้นเอง แต่ถ้าเราไม่เข้าใจอย่างนี้ เราจะไม่รู้เลยว่า ทุกอย่างที่เราต้องการ เมื่อลอกสภาพที่ลวงตาเป็นสีต่างๆ ออก ก็เหลือแต่เพียงความอ่อนหรือความแข็ง ซึ่งเป็นลักษณะของดินชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นดินอย่างเดียว ดินจริงๆ ดินเท่านั้น ยังอยากจะได้ไหม หรือเวลาที่เอาดินมาปั้นให้เป็นถ้วยโถโอชามสวยๆ ให้มีรูปร่างต่างๆ ก็ชอบเสียแล้ว เปลี่ยนสภาพนิดเดียว วัตถุยังคงเป็นดิน ยังแข็ง แต่ทำให้รูปร่างเปลี่ยนแปลงไป และแต้มสีสันต่างๆ ความยึดมั่น ความพอใจก็เกิดขึ้น อาจจะตีราคาเป็นเครื่อง เบญจรงค์สวยงามราคาเพิ่มขึ้นมากมาย โดยที่ลักษณะแท้ๆ ก็คือธาตุดินเท่านั้นเอง

ถ้าคิดอย่างนี้จริงๆ มองทุกอย่างให้เสมอเหมือนกับเพียงดินเท่านั้น ความต้องการของเราจะลดลง เพราะไม่มีอะไรพ้นจากดิน ไม่มีอะไรนอกจากดิน มีแต่ดิน เมื่อระลึกถึงกสิณะ ปฐวีกสิณ คือ ดินทั้งปวง ความรู้สึกของเราที่เคย โลดเต้นพึงพอใจในถ้วยชามเบญจรงค์ ในอะไรต่ออะไรทุกอย่างก็ลดลง เพราะ รู้ความจริงว่า ไม่มีอะไรเลย เหลือเพียงดินอย่างเดียวเท่านั้น จิตก็สงบลงได้

แต่ไม่ใช่ไม่รู้อะไรเลยก็ไปนั่งจ้องดินสีอรุณที่เป็นวงกลม ขอให้คิดดูจริงๆ ว่า มีใครในโลกนี้ที่มองดินสีอรุณแล้วจิตจะสงบโดยปัญญาไม่เกิด มีใครไหม เวลานี้ถ้ามีดินสีอรุณที่เป็นปฐวีกสิณตั้งอยู่ที่นี่ คนที่เห็นมีใครบ้างที่กุศลจิตจะเกิด เป็นไปไม่ได้เลย เพียงมองดูดินแล้วกุศลจิตเกิด นี่ก็แปลกมากว่า ดูอย่างไรกุศลจิตจะเกิด แต่เมื่อ ปัญญาเกิดขึ้น น้อมระลึกถึงเพียงดินเท่านั้น ทุกอย่างเป็นแต่เพียงดิน ไม่มีอะไรนอกจากดิน ขณะนั้นก็จะทำให้จิตสงบได้

เพราะฉะนั้น แม้แต่การเจริญสมถภาวนา ทุกๆ อารมณ์ที่จะทำให้จิตสงบ ซึ่งสมถภาวนาทั้งหมดมี ๔๐ อารมณ์ ทุกอารมณ์ต้องมีปัญญาพิจารณาจิตจึงจะสงบได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะอบรมเจริญสมถภาวนา ต้องประกอบด้วยปัญญา ต้องเป็น มหากุศลจิตญาณสัมปยุตต์ มิฉะนั้นแล้วเจริญไม่ได้ สงบไม่ได้ เห็นดินสีอรุณแล้วอาจจะชอบก็ได้ สวยดี เท่านั้นเอง ยิ่งดูก็สวยดี ขณะนั้นไม่มีทางที่จิตจะสงบได้

. สมมติว่าในชีวิตปกติประจำวัน ถ้าว่างเราก็ ...

สุ. ถ้าสติเกิดจริงๆ จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล ขณะที่อยาก เป็นอกุศลแล้ว

. ถ้าเราน้อมอย่างที่อาจารย์ว่า มนสิการ

สุ. นี่หมายความว่า คงจะมีบางท่านที่พยายามผสมสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา ต้องเข้าใจก่อนว่า วิปัสสนาคืออะไร ถ้าเข้าใจแล้วจะไม่ผสม แต่จะรู้ว่าขณะใดจิตสงบ ขณะนั้นเป็นกุศลชนิดหนึ่ง และปัญญาจะรู้ว่าขณะนั้น ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ก็ไม่ไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมาเลย แต่เป็นผู้ที่รู้ว่า ทุกขณะจิตมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น เพื่อละความเป็นตัวตน นี่เป็นเหตุที่สมถภาวนาแยกกับวิปัสสนาภาวนา

. อย่างเรียนวิชาอะไรก็ตาม ถ้าเราไม่มีเวลามาทบทวน ... ถ้าไม่เป็นกุศล ก็เป็นอกุศล ถ้าเราให้เวลาสำหรับกุศลต่อเนื่องกันไป ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. นามรูปปริจเฉทญาณ คือ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ ไม่ใช่ว่าต้องไปนั่งที่อื่น ทำอย่างอื่น

. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ขอประทานโทษ ธรรมเป็นเรื่องปฏิบัติทันที และเดี๋ยวนี้ด้วย เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้จะทำอย่างไร

. เสียงคือรูป ตอนรู้คือนาม ถ้าเราเพ่งเสียงอย่างเดียวว่ารูป ...

สุ. นี่เป็นสิ่งที่หลายคนอาจจะคิดอย่างนี้ มีความเป็นเราที่จะจัดการ ที่จะทำ แต่ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า ทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้ดับ จิตที่ได้ยินเสียงไม่ใช่จิตเห็น เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังมีเสียง เสียงขณะนั้นปรากฏต้องไม่มีเห็นในขณะนี้ นี่จึงจะเป็นการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลัง เกิดดับสลับกันจริงๆ

ปัญญาต้องรู้ทั่ว ไม่ใช่ไปเลือกต้องการที่จะรู้อย่างเดียวและเข้าใจว่ารู้มาก ในขณะนั้นมีความเป็นตัวตน ไม่ใช่มีความเป็นอนัตตาที่จะรู้ว่า แม้แต่เสียงที่จะเกิด ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย หรือว่าเห็นที่กำลังปรากฏนี้ สติจะระลึกหรือไม่ระลึก ก็แล้วแต่ปัจจัยที่สติจะเกิด เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ จะมีเราที่ทำ ซึ่งถ้ามีเรา ที่ทำแล้ว ไม่สามารถเอาความเป็นตัวตนออกจากเราที่จะทำได้เลย

เพราะฉะนั้น ปัญญาจริงๆ คือ ปัญญาที่ค่อยๆ อบรมให้รู้ว่า แม้แต่สติที่จะเกิดระลึกก็เป็นอนัตตา ขณะที่กำลังฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมเดี๋ยวนี้ ถ้าสะสมเหตุปัจจัยมาเหมือนกับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลในครั้งพุทธกาลที่ พระผู้มีพระภาคยังไม่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ปัญญาสามารถแทงตลอดแม้ในขณะที่กำลังฟัง โดยที่ว่าไม่ใช่ทำอะไร แต่หมายความว่าอบรมเจริญความรู้ลักษณะ ของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏ โดยรู้ว่าขณะไหนสติเกิด ไม่ใช่เรา จะทำ และขณะไหนที่สติไม่เกิด คือ หลงลืมสติ บังคับไม่ได้ที่จะไปอยู่ตรงนั้นตรงนี้ เริ่มเวลานั้น หมดเวลานี้ แต่มีความเข้าใจลักษณะของธรรมว่าเป็นอนัตตายิ่งขึ้น ต้องเป็นผู้ที่อดทนอย่างมาก

. เข้าใจว่าที่นั่งสมาธิโดยกำหนดก็เพื่อให้จิตสงบจากอกุศล จิตได้พัก สำหรับตัวเองรู้สึกว่า ถ้าเราทำให้จิตได้พักมากขึ้น ในชีวิตประจำวันเราก็เจริญสติได้ ดีขึ้น สามารถคุมตัวเองได้ดีขึ้นกว่าเดิม คิดว่ามีประโยชน์

สุ. ฟังดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น แต่ขอให้พิจารณา ที่ว่าทำสมาธิขอถามว่าทำอย่างไร

. ที่ทำอยู่ก็มีเดินจงกรม และนั่งอานาปานสติ

สุ. เดินจงกรมหมายความว่าอย่างไร

. ก็กำหนดอิริยาบถการเคลื่อนไหว

สุ. และปัญญารู้อะไร

. คิดว่าช่วงนั้นไม่ใช่การเจริญปัญญา

สุ. นี่คือคำตอบ ช่วงที่ไปทำและเข้าใจว่าสงบ แต่ปัญญาไม่เกิด ถูกต้อง ใช่ไหม

เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจว่า จุดประสงค์ของวิปัสสนาภาวนา หรือว่าจุดประสงค์ของชาตินี้ดีกว่า คือ ทุกคนต้องตาย ช้าหรือเร็วไม่มีใครรู้ล่วงหน้าเลย และชีวิตของเราก็เล็กน้อยเหลือเกิน จะทำอะไรดี

มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ มีรัก มีชัง มีโลภ มีโกรธ มีริษยา มีทุกอย่าง และเราเกิดมาชาตินี้ เราจะทำอะไร จะสะสมให้โลภะมากขึ้นอีก โทสะ ให้มากขึ้นอีก อิสสามากขึ้นอีก หรือว่าเราจะทำอะไร

ผู้ที่เป็นศาสนิกชนมีพระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์ และทุกคนเข้าใจว่า ไม่มีใครเลยที่อยู่ดีๆ ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม จะรู้หนทางที่ดับกิเลสได้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องอาศัยพระบารมีสี่อสงไขยแสนกัปที่ทรงพากเพียร แสวงหาทางที่จะอบรมปัญญาเพื่อดับกิเลส

เรื่องการดับกิเลส เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้จริงๆ เพราะว่านอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็มีพระอรหันต์อีกมากมาย และระดับของพระอริยบุคคลที่ต่ำกว่าพระอรหันต์ เช่น พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน ในครั้งนั้นก็มีมากมายเป็นเครื่องพิสูจน์ เป็นเครื่องยืนยันว่า ปัญญาที่ดับกิเลสนั้น อบรมได้ เจริญได้ มีได้ เพียงแต่ต้องเข้าใจให้ถูกว่า ปัญญารู้อะไร และจุดมุ่งหมายของชาตินี้เพื่ออะไร

ถ้าตอบ ทุกคนในที่นี้ก็คงจะตอบพร้อมกันว่า เพื่ออบรมเจริญปัญญา ใช่ไหม หรือยังไม่เอา กิเลสจะดับไม่ได้ ถ้าปัญญาไม่เกิด สิ่งที่กิเลสกลัวหรือจะละคลาย ลดน้อยไปได้ก็ด้วยสิ่งเดียวคือปัญญา ตราบใดที่ปัญญายังไม่เกิด กิเลสจะพาเราไป สงบตรงนี้หน่อย สัก ๓๐ นาทีก็ดีแล้ว คิดว่าอย่างนั้น แต่ไม่มีการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเลย ไม่เข้าใจแม้แต่ว่าปัญญาเริ่มจากไหน

ปัญญาต้องหมายความถึงสภาพของความรู้ชัด สภาพของความรู้จริง สภาพของการประจักษ์แจ้ง ซึ่งจะต้องเจริญ และที่จะใช้คำว่า ปัญญา ก่อนที่ปัญญาระดับนั้นจะเจริญ ปัญญาขั้นต้นมาจากไหน และปัญญานั้นรู้อะไร

ถ้ายังไม่เข้าใจอย่างนี้จริงๆ จนกระทั่งมั่นคง ชาตินี้ทั้งชาติเราก็ไม่ได้เกิดปัญญาประเภทนี้ เป็นแต่เพียงสิ่งที่เราคิดว่าพอแล้วที่เราจะพอใจ สงบดี หรือว่าจิตใจ ไม่วุ่นวาย พักผ่อนพอสมควร

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องทราบว่า ปัญญาที่จะดับกิเลสนั้นรู้อะไร และจะอบรมเจริญอย่างไร คุณหมอพอจะชี้แจงได้ไหมว่า ปัญญาที่จะดับกิเลสที่คุณหมอต้องการ รู้อะไร

เปิด  319
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566