แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1774

สนทนาธรรมที่โรงพยาบาลจังหวัดอุดรธานี

วันอาทิตย์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑


ข้อ ๒. วิญญาณสามารถบังคับร่างเราได้หรือไม่

คงเคยได้ยินบ่อยๆ ที่ว่า รูปนาม หรือนามรูปก็ได้ นาม หมายความถึง สภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ ซึ่งไม่ใช่รูป เพราะฉะนั้น ที่เป็นคนหรือเป็นเรา ที่ยึดถือว่าเป็นเราที่กำลังนั่งอยู่ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เป็นรูปที่ไม่รู้อะไรเลย ลักษณะที่แข็ง ลักษณะที่อ่อน ลักษณะที่ร้อน ลักษณะที่เย็น ไม่ว่าจะจับส่วนที่เราเคยยึดถือว่า เป็นผม กระทบสัมผัสแล้วก็แข็ง กระทบสัมผัสส่วนที่เป็นนิ้วก็อ่อน เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรเลยตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า นอกจากสภาพที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ซึ่งเป็นลักษณะของมหาภูตรูป

แต่ว่าคนตายกับคนเป็นก็ต่างกัน ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ มีรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เมื่อสิ้นชีวิตก็มีรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง แต่ไม่มีนามธรรม คือ ไม่มีจิตอีกต่อไป เพราะฉะนั้น คนตายไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

เวลาที่พูดถึงเรื่องนามธรรมและรูปธรรมต้องแยกว่า สิ่งที่รวมกันและยึดถือว่าเป็นเรา มีทั้งที่เป็นนามธรรมที่เป็นสภาพรู้ และที่เป็นรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ แต่วิญญาณคือสภาพรู้ต้องอาศัยรูป ถ้าไม่มีรูปก็เกิดไม่ได้ เช่น จิตได้ยิน ถ้าไม่มีเสียง หรือไม่มีโสตปสาทคือไม่มีหู จิตจะได้ยินเสียงไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ที่ได้ยินกันบ่อยๆ ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ นามธรรมต้องอาศัยรูปธรรม และรูปธรรมก็ต้องอาศัยนามธรรมด้วย ต่างก็เป็นสภาพธรรมที่อาศัยกันและกัน แต่ จะกล่าวว่า วิญญาณสามารถบังคับร่างเราได้หรือไม่

ไม่ควรจะใช้คำว่า บังคับ เพราะว่าไม่มีตัวตน แต่เป็นปัจจัยได้ เช่น เวลาโกรธหน้าแดง บังคับให้แดงหรือเปล่า หรือถ้าตกใจมากจนหน้าซีด บังคับให้หน้าซีด หรือเปล่า แต่นามธรรมเป็นปัจจัยให้รูปธรรมประเภทนั้นๆ เกิด โดยที่ว่าไม่ใช่ตัวตน ที่จะไปบังคับบัญชาได้ หรือเวลาที่เสียใจมากจนกระทั่งน้ำตาไหล ไม่อยากจะร้องไห้ แต่ลักษณะความโทมนัสมากนั่นเองเป็นปัจจัยให้รูป คือ น้ำตาไหล เกิดขึ้น

แสดงให้เห็นว่า นามธรรมและรูปธรรมอาศัยซึ่งกันและกัน แต่ไม่ใช่บังคับให้เป็นอย่างที่ต้องการได้ หรือท่านผู้ฟังไม่เห็นด้วย คิดว่าจะบังคับได้

บังคับรูปไม่ให้แก่ไม่ได้ บังคับรูปไม่ให้เจ็บไม่ได้ แต่มีปัจจัยที่จะทำให้รูปเจ็บเกิดขึ้น รูปแก่เกิดขึ้น ไม่ใช่ไปบังคับโดยวิญญาณ ความต้องการ หรือจิตประเภทหนึ่งประเภทใดจะบังคับได้

ข้อ ๓. การถอดจิต ถอดวิญญาณ ทำได้จริงหรือไม่

สมพร การถอดจิต ถอดวิญญาณ ตามลัทธิภายนอกเขาว่าทำได้ แต่ความจริงทำไม่ได้ รูปกับนามต้องเกิดด้วยกันเสมอ ที่เรียกว่า ปัญจโวการภูมิ ภูมิที่มีขันธ์ ๕ มีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ เป็นเรื่องลัทธิภายนอก ที่เขาบอกว่าเมื่อทำสมาธิมากแล้วสามารถถอดจิตไปดูนรกก็ได้ ไปขึ้นสวรรค์ก็ได้ แต่ของเราไม่ใช่อย่างนั้น

สุ. ถ้ายังไม่รู้จักจิต จะถอดจิตยังกะถอดรูป เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจว่า มีจิตหลายประเภท และจิตบางประเภทมีพลัง เช่น ผู้ที่มีความสงบ ของจิตมั่นคง เป็นฌานจิตถึงขั้นปัญจมฌาน และยังต้องฝึกจิตที่จะทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากแสนยาก ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะทำได้โดยง่าย เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของอุตริมนุสสธรรม

ภาษาธรรมใช้คำว่า อุตริมนุสสธรรม คือ ธรรมที่เหนือมนุษย์ธรรมดา เพราะฉะนั้น ถ้ายังเป็นมนุษย์ธรรมดาอยู่ ก็คงไม่ต้องสนใจในเรื่องที่จะทำอย่างนั้น

ข้อ ๔. มนุษย์ถูกกำหนดขึ้นมาพร้อมกับกิเลส ทำไมเราจึงต้องค้นหาทางตัดกิเลส

เพราะว่ากิเลสทำให้เป็นทุกข์ เมื่อใครไม่ต้องการทุกข์ คนนั้นก็มีหนทางที่จะดับทุกข์ได้ แต่ถ้าใครยังชอบกิเลสมากๆ ไม่เห็นว่ากิเลสเป็นทุกข์ ยังอยากจะมีกิเลสอยู่ คนนั้นก็ไม่หาทางที่จะตัดกิเลส

ข้อ ๕. ทำไมไม่ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติที่กำหนดมา

ถ้าธรรมชาติ คือ ไม่รู้ และยังพอใจที่จะไม่รู้ ธรรมชาติมีกิเลส ก็ยังพอใจที่จะให้มีกิเลสต่อไป ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่บุคคลใดก็ตาม เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ทรงเห็นโทษของกิเลส และทรงเห็นโทษของ การเกิด เพราะฉะนั้น ก็ทรงบำเพ็ญพระบารมีอบรมเจริญปัญญาจนสามารถดับ กิเลสได้ และทรงแสดงธรรมสำหรับผู้ที่มีความประสงค์ที่จะดับกิเลสเช่นเดียวกับพระองค์ด้วย

ข้อ ๖. ตัวของเรา จิตของเรา เป็นไปได้ไหมที่จะมีความรู้สึกขัดแย้งกับวิญญาณของเรา เช่น ตัวเราเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่วิญญาณเราต้องการอีกแบบหนึ่ง

มีเยอะไปหมดเลย มีทั้งตัวเรา มีทั้งจิตเรา มีทั้งวิญญาณเรา ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ของเราเลยสักอย่างเดียว แต่เมื่อยังไม่เข้าใจตามความเป็นจริงทั้งในเรื่องของจิต ที่เรียกว่าวิญญาณบ้าง ก็เลยทำให้เข้าใจว่ามีความขัดแย้งกัน แต่ความจริงแล้ว จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เปลี่ยนไม่ได้ เช่น ในขณะที่เกิด ความพอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นโลภะ เป็นความต้องการ จะเปลี่ยนจิตในขณะนั้นให้เป็นการสละ ไม่ต้องการสิ่งนั้นอีกต่อไปก็ไม่ได้

แสดงให้เห็นว่า จิตใดเป็นกุศล จะเปลี่ยนกุศลจิตนั้นให้เป็นอกุศลไม่ได้ และ จิตใดที่เป็นอกุศล ก็จะเปลี่ยนจิตที่เกิดมาเป็นอกุศลให้เป็นกุศลไม่ได้ จิตชนิดไหน เกิดมาเป็นอย่างไร ก็เกิดมาเป็นอย่างนั้นชั่วขณะหนึ่งและก็ดับ

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเราขัดแย้งกัน แต่มีจิตหลายๆ ประเภท คือ โลภมูลจิต จิตที่มีโลภะก็มี โทสมูลจิต จิตที่มีโทสะก็มี จิตที่ประกอบด้วยเมตตาก็มี จิตที่ประกอบด้วยความตระหนี่ก็มี มีจิตหลายๆ อย่าง แต่เกิดดับสลับกันทีละอย่าง จึงทำให้ดูเหมือนกับว่าขัดแย้งกัน เพราะว่าบางคนอาจจะได้อยากได้บุญ แต่ไม่อยากให้ทานก็มี ใจจริงๆ อยากได้ผลของบุญ แต่มีความตระหนี่ไม่สละวัตถุให้ทั้งๆ ที่อยากจะได้ผลของบุญ แสดงให้เห็นว่า ขณะที่ตระหนี่เป็นขณะหนึ่ง ขณะที่อยากจะให้จิตเป็นกุศลก็อีกขณะหนึ่ง ซึ่งความจริงแล้วทุกขณะนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ของเราทั้งสิ้น

ข้อ ๗. ทำไมเราจึงรู้สึกเบื่อชีวิตมากๆ เป็นบางครั้ง เบื่อชีวิตวัยรุ่น เบื่อความฟุ้งเฟ้อ และจะทำอย่างไรจึงจะดำรงชีวิตอย่างไม่กระวนกระวายได้

มีอย่างเดียว ไม่มียาวิเศษ ไปหาหมอที่ไหน โรงพยาบาลไหน ขอยา ไม่เบื่อชีวิต ก็ไม่มี แต่ปัญญาที่รู้ความจริงของธรรมเท่านั้นที่จะทำให้เบื่อน้อยลง เพราะรู้ว่าการเบื่อไม่มีประโยชน์ สิ่งใดจะเกิดก็ต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย ควรที่จะเข้าใจสภาพนั้นๆ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เบื่อ เพราะความเบื่อนั้นหมายความว่าต้องการสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นต่างหากจึงเบื่อ

ถ้าต้องการสิ่งใดแล้วได้ ยังจะเบื่อชีวิตไหม อยากได้อะไรก็ได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ยังเบื่อชีวิตไหม ไม่เบื่อ แต่ถ้าอยากได้แล้วไม่ได้เมื่อไร เมื่อนั้นจะเบื่อทันที

อยากแข็งแรง แต่เกิดไม่สบายกระเสาะกระแสะ ต้องรับประทานยาบ่อยๆ ต้องมาโรงพยาบาลบ่อยๆ เบื่อแล้วชีวิตนี้ ไม่ได้ไปที่ไหนเลยนอกจากเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาล เพราะว่าไม่ชอบสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ แต่ถ้าได้ทุกสิ่งทุกอย่าง จะไม่เบื่อเลย

แสดงให้เห็นว่า ความเบื่อมาจากไม่ได้สิ่งที่ต้องการ และสิ่งที่ต้องการก็ ไม่สามารถได้ตลอดเวลา บางครั้งได้สิ่งที่ต้องการ บางครั้งก็ไม่ได้สิ่งที่ต้องการ จึงทำให้เบื่อ เพราะฉะนั้น ถ้าหมดกิเลสไปทีละเล็กละน้อย ความเบื่อจะลดน้อย ลงไปด้วย

สมพร การเบื่อบางอย่างเกิดจากกิเลส อย่างที่อาจารย์ว่า ต้องการ สิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นก็เกิดความเบื่อขึ้น การเบื่อชนิดนี้ที่จะละได้ก็ด้วยปัญญา การศึกษาให้เข้าใจ สร้างกุศล จิตจะไม่รู้สึกว่าเบื่อ คือ ไม่มีความไม่สบายใจ เบื่อหมายความถึงความไม่สบายใจนั่นเอง ถ้าเราเข้าใจเรื่องการปฏิบัติ มีปัญญาเข้าใจว่าควรทำอย่างไร อย่างนี้ก็สามารถแก้ความเบื่อได้ คือ จิตเราผ่องใส

สุ. คำถามต่อไปเป็นเรื่องที่ทุกท่านต้องตัดสินด้วยตัวของท่านเองเหมือนกัน คือถามว่า การระลึกชาติได้มีจริงหรือไม่

ถ้าระลึกได้จริงๆ มี แต่ไม่ง่าย และเหตุต้องสมควรแก่ผลด้วย หรือผลคือ การระลึกชาติได้ ต้องมีเหตุที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าไม่มีเหตุก็จะระลึกได้

เรื่องที่เคยได้ยินมีอยู่ว่า เด็กเกิดมาอายุได้ประมาณ ๕ - ๘ ปี จำได้ว่า ญาติและบ้านเดิมอยู่ที่ใด จำญาติอื่นๆ ได้หมดทุกคน และได้เล่าให้ฟังว่า ขณะที่ ตายไปนั้น เขาให้นั่งเรียงแถว และให้กินน้ำลืมชาติทุกคน แต่บุคคลนี้อมน้ำไว้แต่ ไม่กลืน พอเขาเผลอก็บ้วนทิ้ง แกเลยจำชาติได้ อาจารย์เชื่อแค่ไหน เพียงใด

ความคิดวิจิตรมาก ใครจะคิดอย่างไรไม่มีใครห้ามได้ จะคิดว่าระลึกชาติก่อนเคยเป็นอย่างนั้น เคยเป็นอย่างนี้ ก็คิดได้ แต่ความจริงจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ต้องเป็นเรื่องของเหตุและผล เพราะแม้แต่ในชาตินี้ ใครจำได้มากน้อยแค่ไหน เหมือนกันไหม บางคนอาจจะลืมไปแล้ว เมื่อวานนี้รับประทานอาหารอะไร รสชาติเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่ยังไม่สิ้นชีวิต ยังไม่จากโลกนี้ไป เพียงข้ามวันข้ามคืน ข้ามเดือนข้ามปีก็ลืมแล้ว

เพราะฉะนั้น การที่จะระลึกชาติได้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีเหตุ ทำให้พระองค์ระลึกชาติได้ แม้พระสาวก หรือแม้แต่เดียรถีย์ ผู้ที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาเลย แต่เป็นผู้ที่อบรมสะสมสติ และฝึกหัดการที่จะมีความจำ เช่น ถ้าจะหัดเดี๋ยวนี้ ถอยไปว่าขณะก่อนที่จะอยู่ที่นี่ทำอะไร และก่อนที่จะอยู่ที่นั่นทำอะไร ถอยจากวันนี้ไปถึงเมื่อวานนี้ ถอยไปทีละวันๆ จนครบเดือน ครบปี นั่นจะเป็นเหตุ ทำให้มีความจำที่สามารถรู้ว่า เมื่อเกิด นาทีแรกที่เกิดในชาตินี้ต่อจากชาติก่อน เป็นใครอยู่ที่ไหน อย่างไร นี่คือการระลึกชาติด้วยเหตุผลจริงๆ หมายความว่าต้องเป็นผู้ที่จิตสงบขั้นฌาน และใช้ฌานจิตที่มั่นคงที่สงบนั้น ฝึกหัดในการที่จะระลึก คือ ถอยความจำจากวันนี้ไปสู่ขณะหลังๆ เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งสามารถที่จะระลึกได้ แต่ละชาติๆ

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศในอภิญญา ในความรู้ที่พิเศษยิ่งกว่าบุคคลอื่นทั้งหมด เพราะฉะนั้น การระลึกชาติของพระองค์ในอสงไขยแสนโกฏิกัปป์นั้นสามารถระลึกชาติไหนก็ได้ทันที ซึ่งบางคนทำอย่างนั้นไม่ได้ เหมือนอย่างคนที่เริ่ม หัดใหม่ๆ ก็จะต้องระลึกจากวันนี้ไปเมื่อวานนี้ แต่ถ้าจะระลึกชาติวันนี้ถึงเมื่อสิบปีก่อน วันที่เท่านั้น เดือนนั้นจริงๆ ย่อมทำไม่ได้ แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะทั้งปวง เพราะฉะนั้น การระลึกชาติของพระองค์ต้องพิเศษกว่าคนอื่น คือ ไม่ว่าจะระลึกชาติไหนในระหว่างแสนโกฏิกัปป์ ย่อมได้ทันที

ที่กล่าวว่า ระลึกได้ว่าในขณะที่ตายไปนั้น เขาให้นั่งเรียงแถว และให้กินน้ำ ลืมชาติ ใครเคยพบเห็นน้ำลืมชาติบ้าง เกิดมาจนถึงเดี๋ยวนี้ มีใครเคยเห็น เคยดื่ม เคยรับประทาน หรือเคยได้ยินเรื่องน้ำลืมชาติบ้าง และถอยไปถึงรุ่นของคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณทวด ท่านเคยเล่าให้ฟังเรื่องน้ำลืมชาติบ้างหรือเปล่า

คนนี้ที่บอกว่าอายุ ๕ – ๘ ปี เพราะฉะนั้น ก็คงจะตายไปไม่นาน ในสมัยนั้นก็คงจะไม่ถึง ๒๐ ปี มีน้ำลืมชาติบ้างไหม แต่ความคิดของคนก็สามารถทำให้คิดไปได้ว่า ในขณะที่ตายไปนั้น เขาให้นั่งเรียงแถว และให้กินน้ำลืมชาติทุกคน แต่บุคคลนี้ อมน้ำไว้ไม่กลืน พอเขาเผลอก็บ้วนทิ้ง แกเลยจำชาติได้

นี่ไม่เป็นเหตุเป็นผลใดๆ เลยทั้งสิ้น เพียงแต่แสดงให้เห็นว่า คนเราจะ คิดอย่างไรก็คิดได้ แต่คนอื่นที่จะเชื่อ ก็ควรพิจารณาหาเหตุผล ถ้ายังไม่มีน้ำลืมชาติ เรื่องนี้จะจริงได้อย่างไร แต่ถ้าใครอยากจะเชื่อ ก็ย่อมเชื่อได้เหมือนกันโดยที่ไม่มีเหตุผล หรือยังไม่รู้จักน้ำลืมชาติก็เชื่อเสียแล้วว่า น้ำลืมชาติก็คงจะมี น้ำในแก้ววันนี้ที่กำลังรับประทานกันข้างนอกนี่ ลืมชาติไหม อาจารย์สมพรจะเพิ่มเติมไหม

สมพร นี่เป็นแต่เพียงคำที่พูดกันมาสมัยเก่าๆ ในปัจจุบันก็ยังพูดกันว่า น้ำลืมชาติ ก็พูดกันไป แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น คนที่สามารถระลึกชาติได้ บางอย่างที่จำได้ก็มีบ้างเล็กน้อย แต่ที่ว่าดื่มน้ำลืมชาติ คงไม่ใช่ อาจจะเหมือนฝันไป การฝันจะถือเป็นประมาณไม่ได้ ถ้าระลึกชาติได้ พูดได้ถูกต้อง ก็มีบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่มีใครรับรอง

สุ. คำถามต่อไป

ข้อ ๑. ฝันมากเพราะอะไร ทำอย่างไรจึงจะไม่ฝันมาก ทำไมบางคนไม่ฝันเลย เวลาฝันจะกำหนดจิตได้หรือไม่

ข้อ ๒. ทำไมบางครั้งฝันแล้วก็เป็นจริง บางครั้งก็ไม่จริง คนที่ฝันเป็นประจำ สาเหตุเพราะอะไรจึงชอบฝัน

ปัญหาก็ร้อยแปด เพิ่มขึ้น ถ้าจะให้เป็นปัญหา แม้แต่เรื่องฝันก็ยังเป็นเรื่องที่กังวล ซึ่งเป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้

ทำไมถึงฝันมาก แสดงว่าไม่พอใจ ไม่ชอบที่จะฝัน ฝันมากเพราะอะไร

ความฝันมีหลายอย่าง มีหลายลักษณะ แต่ตามความเป็นจริงแล้วที่เรียกกันว่า ฝัน ก็คือจิตที่คิดเท่านั้นเอง ในขณะนี้ที่เห็น เห็นสิ่งใด ทุกคนอดจะคิดถึงเรื่องที่เห็นไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าจะคิดสั้นๆ หรือจะคิดยาวๆ อย่างเวลาเห็นคนที่ไม่รู้จักเดินผ่านไปตามถนน ก็เห็นว่าเป็นคน รูปร่างลักษณะอย่างนั้น ก็เท่ากับคิดแล้วถึงรูปร่าง ถึงลักษณะ อาจจะคิดถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวของคนนั้นด้วยก็ได้ ซึ่งนั่นแสดงว่า ไม่ใช่เพียงเห็น แต่ยังคิดด้วย

เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็นโดยไม่คิด เป็นไปไม่ได้ หรือขณะที่ได้ยินเสียง เสียงหนึ่งเสียงใด ก็ยังคิดตามเสียงนั้นด้วย ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส รวมความว่า ชีวิตในวันหนึ่งๆ นอกจากเห็น นอกจากได้ยิน นอกจากได้กลิ่น นอกจากลิ้มรสแล้ว ก็เต็มไปด้วยความคิดมากมาย ไม่ใช่แต่เฉพาะในขณะที่ฝัน ทั้งๆ ที่ไม่ฝัน เห็นแล้ว ก็คิด ได้ยินแล้วก็คิด

เพราะฉะนั้น นี่เป็นเหตุที่ว่าทำไมเราถึงฝันมาก เพราะเราคิดมากในวันหนึ่งๆ ซึ่งอาจจะไม่เคยคิดพิจารณาเลยว่า เป็นความคิดนึกถึงสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยได้กลิ่น คือ ฝันถึงเรื่องราวต่างๆ

เปิด  242
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566