แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1775

สนทนาธรรมที่โรงพยาบาลจังหวัดอุดรธานี

วันอาทิตย์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑


ถ้าทุกคนอยากจะเข้าใจความฝันหรือขณะที่ฝันมากขึ้น ขอให้พิจารณา เมื่อคืนนี้ฝันหรือเปล่า ท่านผู้ฟังเมื่อคืนนี้ฝันหรือเปล่า ฝัน ใช่ไหม

ดิฉันฝันทุกคืน ไม่ทราบว่าท่านที่มาฟัง ฝันทุกคืนอย่างดิฉันหรือเปล่า ซึ่งขอให้ทราบว่า ที่ฝันนี่เพราะคิด แม้ว่าไม่เห็น

เวลานี้ใครใจลอยบ้าง ที่เราใช้คำว่า ใจลอย คือ ไม่ได้ยินคำที่กำลังพูด พูดว่าอะไรก็ไม่รู้ เพราะกำลังนึกถึงต้นไม้ที่บ้าน หรือกำลังนึกถึงสัตว์เลี้ยงที่บ้าน หรือกำลังนึกถึงคนไข้ที่อยู่ตึกนั้นหรือห้องนี้ ในขณะนั้นเป็นความคิดนึกเหมือนกัน แสดงให้เห็นว่า แม้ไม่เห็นก็คิดได้ แม้ไม่ได้ยินก็ยังคิด ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้กระทบสัมผัสก็คิด เราตัดความคิดไม่ได้

เพราะฉะนั้น แม้หลับแล้ว คือ ไม่เห็น ที่ใช้คำว่า หลับ ก็คือ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่คิดนึกถึงสิ่งที่เห็น แต่คิดนึกเรื่องอื่น ขณะที่กำลังหลับ ทุกคนคิดถึงเรื่องที่ตาไม่เห็น หูไม่ได้ยิน แต่ว่าจำไว้

เคยฝันถึงคนที่ตายไปแล้วไหม เคย เพราะอะไร ก็เพราะยังจำเขาไว้ ทั้งๆ ที่ ไม่เห็น แต่ก็คิดถึงเรื่องเขา เพราะฉะนั้น เวลาตื่นขึ้นมา และถ้าเป็นผู้ที่มีสติ จะรู้ได้ทันทีว่า จิตกำลังคิดเรื่อง เวลานี้ถ้าจะคิดถึงเพื่อนสักคนหนึ่ง คิดได้ ใช่ไหม เขาใส่เสื้อสีอะไร ไม่เห็นเสื้อเขา แต่คิดถึงเขาได้ แสดงให้เห็นว่า คิดเรื่องโดย ไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนกับที่ตาเห็นนี่เลย

เพราะฉะนั้น ความจำของเรามีมากเหลือเกิน และการปรุงแต่งของความคิด ในวันหนึ่งๆ ก็มาก จนกระทั่งแม้ไม่เห็นก็ยังต้องฝัน คือ คิดต่อไป บังคับไม่ได้ ถ้าเป็นผู้ที่มีสติมาก เวลาที่ตื่นหลังจากที่ฝันแล้วจะรู้ทันทีว่า เป็นแต่เพียงความคิด แต่เวลาที่สติไม่เกิดก็จะอยากรู้ว่า ความฝันเมื่อกี้ที่ชักจะลืมๆ ไป ทบทวนดูอีกทีซิว่า เมื่อกี้ ฝันว่าอย่างไรแน่

นี่ก็เท่ากับมีความสำคัญในความฝัน จนกระทั่งอยากจะรู้ว่าเมื่อกี้ฝันว่าอะไร เป็นลักษณะของความยึดมั่นในเรื่องราว ในสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยินเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ แต่ให้ทราบว่าทุกคนต้องฝัน ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์จะหมดความฝันไม่ได้เลย เพราะยังมีความเกาะเกี่ยวผูกพันกับเรื่องราวต่างๆ กับสิ่งที่เห็น และ กับบุคคลต่างๆ ถ้าจะไม่ฝันก็ต้องเป็นพระอรหันต์เท่านั้น

สมพร ทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุมีปัจจัยให้เกิดขึ้นทั้งนั้น โบราณพูดเหตุของความฝัน ๔ อย่าง คือ ปุพพนิมิต จิตนิวรณ์ เทพสังหรณ์ ธาตุกำเริบ

ความฝันที่เกิดจากจิตนิวรณ์ อย่างที่อาจารย์ว่า คือ ความคิด เมื่อเห็นรูป ฟังเสียงต่างๆ เหล่านี้ ตกกลางคืนก็คิดอีก หลับไปแล้วก็เกิดความฝันขึ้น เรียกว่า จิตนิวรณ์

เทพสังหรณ์ เวลาที่เทพยดาจะมาให้โทษหรือมาให้คุณ ก็มาทำให้เราเห็น ภาพต่างๆ เรียกว่า เทพสังหรณ์

ปุพพนิมิต โดยมากเกี่ยวกับกรรมเก่า อย่างพระพุทธเจ้าก่อนที่จะทรงตรัสรู้ ก็ฝัน เรียกว่า ปุพพนิมิต เกิดจากกรรม

ธาตุกำเริบ คนที่ธาตุไม่ดี เจ็บไข้ได้ป่วย หรือท้องไม่ปกติ อย่างนี้เป็นต้น

ท่านรวบรวมไว้ ๔ อย่าง นี่โดยย่อ ซึ่งส่วนมากเกิดจากวิตกตามที่อาจารย์พูด

สุ. เกี่ยวกับความฝัน กุศลจิตหรืออกุศลจิตที่ฝัน เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการสะสมของแต่ละบุคคล ถ้าบุคคลนั้นมีโลภะมาก ความฝันก็เป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยโลภะ ถ้าคนนั้นกำลังโกรธหรือผูกโกรธใครอยู่ บางครั้งความฝันนั้นจะมีความตระหนกตกใจ หรือเป็นลักษณะของจิตที่เป็นโทสะ

สำหรับคนที่เห็นโทษของอกุศล เวลาที่ฝันด้วยอกุศลก็ทำให้รู้ว่า มีอกุศลมากมายเหลือเกิน แม้จะกล่าวว่าไม่เจตนา ไม่ตั้งใจที่จะฝันอย่างนั้นอย่างนี้ก็ตาม แต่แม้อกุศลจิตที่ฝัน ก็เป็นไปตามการสะสม คือ กิเลสที่ยังมีอยู่ของตนนั่นเอง

ในความฝันในวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า น้อยนักที่จะเป็นกุศล สำหรับบางท่านอาจจะฝันเป็นกุศลมาก แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าเป็นผู้ตรง วันนี้ในชีวิตจริงๆ ที่ยังไม่ฝัน มีกุศลน้อย เพราะฉะนั้น เวลาฝันก็ต้องฝันด้วยอกุศลมากกว่าฝันด้วยกุศล และเราจะเริ่มเห็นตัวเองตามความเป็นจริงว่า เป็นคนที่น่ารัก หรือน่าชังเพราะว่า เป็นคนมีอกุศลมาก

ต้องรู้จักตัวเอง คนอื่นอาจจะไม่เห็นอกุศลของเรา เพราะว่าไม่ได้แสดงออก บางครั้งก็เป็นเพียงความคิดนึกที่เป็นอกุศล แต่ถ้าเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ เราก็รู้ตัวเองได้ว่า แท้จริงแล้วคนอื่นไม่อาจจะเห็นอกุศลของเราได้ และอกุศลนั้นก็ยังมีมาก ถ้ารู้อย่างนี้ จะเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล และจะศึกษาพระธรรมเพื่อให้ปัญญาเกิดและอกุศล ลดน้อยลง

ถ้าเข้าใจก็เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา แม้ว่าจะเป็นเพียงเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ เพราะว่ายังไม่ได้ศึกษาความละเอียดของธรรม เรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของรูป ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ แต่ก็ยังมีโอกาสได้เข้าใจเรื่องของจิตบ้าง เรื่องของการรักษาศีล หรือการเจริญสมถวิปัสสนาบ้าง แต่เพียงเท่านี้ยังไม่พอ พระธรรมทรงแสดงไว้ ๔๕ พรรษา เราจะฟังเพียงในเวลา ๒ ชั่วโมง หรือ ๔ ชั่วโมง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจโดยตลอด แต่สามารถจะ ฟังอีกได้ เข้าใจอีกได้ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเห็นประโยชน์

. ... เวลาที่เกิดอกุศล เราก็รู้ว่าเป็นแค่รูปแค่นาม ทำให้กุศลจิตเกิดคั่น กำลังของอกุศลจิตก็ลดลง ๆ เป็นอย่างนี้หรือเปล่า ...

สุ. คือ ทางฝ่ายอกุศลที่เกิดแต่ละขณะก็ไม่สูญหาย เช่นเดียวกับทาง ฝ่ายกุศลซึ่งแต่ละขณะก็ไม่สูญหาย

. ... การหลุดพ้นเป็นเพราะอย่างนี้หรือเปล่า

สุ. ค่อยๆ อบรมเจริญ จนกระทั่งทางฝ่ายกุศลมีกำลังที่จะตัดอกุศลได้

. เพราะฉะนั้น การสะสมก็หมายถึงว่าเราพยายามลดกำลังของอกุศลจิต ให้กุศลจิตเข้ามาแทน

สุ. ใช่ คือ สะสมทางฝ่ายกุศลเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการสะสม แต่ฝ่ายอกุศล ทุกคนมีที่เก็บกรรมที่ปลอดภัยที่สุด ไม่มีใครสามารถหยิบขโมยหรือว่าเอาไปได้เลย แม้แต่แดดลมก็ไม่สัมผัสกระทบที่เก็บกรรมเลย เพราะว่าเก็บไว้ที่จิต ทุกขณะ กรรมใดๆ ที่กระทำแล้วในอดีตอนันตชาติ หรือแม้ในชาตินี้ หรือแม้อกุศลขณะหนึ่งที่เกิดและดับไป หรือกุศลขณะหนึ่งที่เกิดและดับไป สะสมสืบต่อ ทำให้แต่ละคนมีอัธยาศัยต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น จึงปรากฏว่า บางคนเป็นคนที่ โลภมาก ต้องการทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เคยพอ บางคนก็มักโกรธ เจ้าโทสะ

เพราะฉะนั้น ถ้าเราต้องการแบบไหน เราสามารถสะสมเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ได้ ถ้าต้องการเป็นคนที่ใจดี มีเมตตา ให้อภัย ไม่ผูกโกรธ เสียสละ ทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อคนอื่น เราก็เริ่มทำ คือ สะสมเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้

เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่พ้นเลย เพราะว่าเก็บไว้ในที่ๆ ปลอดภัยที่สุด คือ ที่จิตทุกขณะ ทรัพย์สมบัติอื่นมีทางที่จะสูญไปได้ทั้งนั้น แต่ว่ากรรมหรือกุศลอกุศลที่เก็บสะสมไว้ไม่มีทางที่จะสูญไปเลย สะสมสืบต่อไปเรื่อยๆ แม้แต่ความรู้วันนี้ ก็ไม่หายไปไหน ความเข้าใจวันนี้ หลายๆ วันผ่านไป ได้ยินคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง ก็รู้ได้แล้วว่า ได้แก่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและสภาพธรรมนั้นก็ดับไป และเข้าใจความหมายของคำว่า อนัตตา เพิ่มขึ้น ถ้าฟังต่อไปเรื่อยๆ

ปัญญามีหลายระดับขั้นมาก ปัญญาขั้นที่เกิดจากการฟังเป็นขั้นที่อ่อนมาก เพราะว่าดับกิเลสอะไรไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่รู้แสนรู้ว่าโลภะไม่ดี รู้แสนรู้ว่าโทสะไม่ดี รู้แสนรู้ว่าโมหะไม่ดี และที่จะมีโลภะ มีโทสะ ก็เพราะมีโมหะนั่นเอง แต่ทำไม ไม่เห็นโทษของโมหะจนกระทั่งขวนขวายที่จะละโมหะนั้นให้หมด และทำไมเมื่อเห็นว่าโลภะเป็นโทษ ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ยังมีโลภะ ทั้งๆ ที่รู้ว่าต้องตาย ทุกคนต้องตาย อาจจะเป็นพรุ่งนี้ หรืออาจจะเป็นเย็นนี้ แต่ตราบใดที่ยังไม่ตายก็ยังโลภ เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ปัญญาขั้นการฟังเป็นปัญญาขั้นที่อ่อนมาก ต้องเจริญขึ้นอีกหลายขั้นกว่าที่จะรู้แจ้งแทงตลอดในการเกิดดับ สามารถประจักษ์ได้จริงๆ จนกระทั่งไม่ใช่เพียงความเชื่อในพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เป็นเพราะประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาของตนเอง ซึ่งจะทำให้ค่อยๆ ดับกิเลสไปตามลำดับขั้นได้

ถ้าพิจารณาก็รู้ว่า โมหะผ่านไปหลายขณะแล้ว ใช่ไหม

กำลังเห็น สติไม่เกิด ก็ต้องเป็นการหลงลืมสติว่า เป็นเราเห็น ขณะที่กำลัง ได้ยินไม่รู้เลยว่า เพียงเกิดขึ้นได้ยินชั่วขณะเดียวแล้วก็หมด ไม่มีอีกในสังสารวัฏฏ์ ที่ได้ยินนั้นจะเกิดขึ้นได้ นอกจากจะเป็นได้ยินอีกขณะหนึ่ง และรู้เสียงอีกเสียงหนึ่ง ไม่ใช่เสีสัจจยงเก่าที่ดับไปแล้ว

แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นผู้ละเอียด แทนที่จะคิดถึงเหตุการณ์ยาวๆ เป็นวัน หรือเป็นชั่วโมง ก็ย่อลงมาเป็นเพียงชั่วขณะจิต และจะประจักษ์ได้ว่า คำใดที่ได้ทรงตรัสรู้และทรงแสดง คำนั้นไม่ผิดเลย เพราะว่าเป็นสัจจธรรม

น้ำลืมชาตินี่นานแล้วหรือ

สมพร เรื่องน้ำลืมชาติก็พูดกันหลายนัย บางคนก็บอกว่าดื่มน้ำเฉยๆ และก็ลืม บางคนก็บอกว่า ไปข้ามต้นไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งและก็ลืม มีอย่างอื่นอีก ซึ่งไม่เป็นมาตรฐาน ผมคิดว่าคงเป็นความฝันชนิดหนึ่ง ซึ่งความจำของเก่าอาจจะ มีอยู่บ้าง แต่ว่านิดๆ หน่อยๆ ก็เหมือนในปัจจุบันนี้ บางทีเราก็หลงลืมอย่างรวดเร็ว บางทีก็ยังจำได้ถึงอดีตตอนที่เราเล็กๆ ได้ แต่ถ้าเรามีเรื่องราววุ่นวายมากก็ลืมเพราะฉะนั้น น้ำลืมชาติก็ตาม ข้ามต้นไม้และทำให้ลืมชาติก็ตาม ไม่เป็นมาตรฐาน

. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. เหล้าไม่ใช่กิเลส รูปกับนามต้องมีความสัมพันธ์กัน คือ อาหารบางอย่างมีปฏิกิริยาบางอย่างได้กับรูป ธาตุเย็น ธาตุร้อน ธาตุอ่อน ธาตุแข็ง ธาตุตึง ธาตุไหว ในส่วนผสมลักษณะหนึ่งก็จะมีปฏิกิริยากับร่างกายได้ เหล้าไม่ใช่กิเลส แต่บุคคลที่มีกิเลสอยู่เมื่อได้รับกระทบกับสิ่งนั้น ก็ทำให้เกิดมีความรู้สึกประเภทนั้นๆ ขึ้นมาได้ตามการกระทบนั้นๆ ด้วย อย่างถ้ากระทบรูปบางรูปซึ่งเป็นที่พอใจ ความยินดีพอใจ ความสุขอย่างมากก็เกิด แต่ถ้ากระทบกับรูปบางรูปที่ไม่พอใจ ความไม่พอใจก็ต้องเกิด อาจจะรุนแรงมากก็ได้ เพราะฉะนั้น ความวิจิตรของความรู้สึกของการกระทบย่อมมี และก็มีความทรงจำซึ่งช่วยผสมที่จะทำให้เป็นปัจจัย ทำให้ความรู้สึกอย่างนั้นเกิดขึ้นอีกก็เป็นไปได้

สมพร คล้ายๆ กับว่าเป็นอาหารชนิดหนึ่ง เป็นธาตุภายนอก เหมือนกับไฟมากระทบร่างกายเกิดความรู้สึกร้อนขึ้น เหล้าก็เป็นอาหารชนิดหนึ่ง เมื่อกระทบสัมผัสในร่างกายแล้วก็มีปฏิกิริยาทำให้หลงลืมสติ คือ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามปัจจัยทั้งสิ้น อาศัยภายนอกก็ได้ อาศัยภายในก็ได้ อาศัยภายนอกก็เช่นอาหารต่างๆ ที่เราดื่มเข้าไป จะเป็นเหล้าหรือเป็นอาหารที่เป็นพิษก็ได้ คือ สภาพอย่างใดปรากฏ แก่ร่างกายเป็นเหตุเป็นปัจจัย เหตุนั้นแหละจะทำให้ปรากฏเป็นร้อน หรือเย็น หรือเมาบ้าง อาศัยเหตุต่างๆ

สุ. คำถามนี้ ขอความกรุณาอาจารย์สมพรตอบ

ดิฉันเรียนรู้ว่า ฆราวาสจะต้องปฏิบัติศีล ๕ ให้ได้บริสุทธิ์ และจะต้องมีกรรมบถ ๑๐ กำกับไปด้วย กรรมบถ ๑๐ ประการมีอะไรบ้าง

สมพร ศีล ๕ ก็รวบยอดมาจากกรรมบถ กรรมบถหมายความถึงทางของการทำกรรม ซึ่งแบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ กุศลและอกุศล ถ้าเป็นกุศลเรียกว่า กุศลกรรมบถ ถ้าเป็นอกุศลเรียกว่า อกุศลกรรมบถ ถ้าขาดศีล ๕ กรรมบถก็ขาด ไปด้วย เป็นอกุศลกรรมบถ กรรมบถ ๑๐ ก็เกี่ยวกับทางกาย ทางวาจา ทางใจ

ทางกายมี ๓ ทางวาจามี ๔ ทางใจมี ๓ รวมเป็น ๑๐

ทางกาย เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม เรียกว่า กายสุจริต ทางวจีก็ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดคำหยาบ ทางมโนก็ไม่มีความโลภ ไม่พยาบาท และไม่มีความเห็นผิด นี่เป็นกุศลกรรมบถ

กรรมบถกล่าวว่า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับศีล ๕ ถ้าฆ่าสัตว์ เป็นต้น ก็ถือว่าล่วงกรรมบถ เพราะฉะนั้น จะแยกศีล ๕ ออกจากกรรมบถไม่ได้ ควรจะถือว่า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

สุ. อกุศลกรรมบถ ทางกาย ๓ ได้แก่ ปาณาติบาต การฆ่าสัตว์มีชีวิต ๑ อทินนาทาน การถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ ๑ กาเมสุมิจฉาจาร การประพฤติผิดในกาม ๑

ทางวาจามี ๔ คือ มุสาวาท พูดสิ่งที่ไม่จริง ๑ ผรุสวาท พูดคำหยาบ ๑ ปิสุณาวาท พูดคำส่อเสียด ๑ สัมผัปปลาปวาท พูดคำเพ้อเจ้อ คำที่ไม่มีประโยชน์ ๑ นี่เป็นวจีกรรม ๔ ซึ่งหักรอนประโยชน์ของผู้อื่น

มโนกรรม ๓ คือ อภิชฌา การเพ่งเล็งอยากได้ของของคนอื่น ๑ พยาปาท การคิดเบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น ๑ และมิจฉาทิฏฐิ ๑

นี่คืออกุศลกรรมบถ เพราะฉะนั้น ศีล คือ การวิรัติทุจริต คือ เว้นอกุศลกรรมทั้ง ๑๐ ขณะใด ขณะนั้นเป็นกุศลกรรมบถ คือ เป็นทางของกุศล ซึ่งได้แก่ศีลนั่นเอง

การวิรัติทุจริตทั้งหมด ได้แก่ ศีล ขณะใดที่เว้นทุจริต ขณะนั้นเป็นกุศล นอกจากนั้นแล้วกุศลก็ยังมีทางของกุศลอีก ๑๐ ประการด้วย คือ เป็นไปในทาน การที่วิรัติทุจริต ไม่ทำทุจริต จิตในขณะนั้นไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง จึงเป็นไปในเรื่องของการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น ๑ หรือการอุทิศส่วนกุศลที่ได้กระทำแล้วให้คนอื่นได้อนุโมทนา ๑ และขณะใดที่จิตเกิดอนุโมทนา ขณะนั้นก็เป็นกุศลที่ เป็นไปในทาน

แสดงให้เห็นว่า เวลาที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ นอกจากในเรื่องของศีลแล้ว ก็ยังเป็นไปในเรื่องของทานได้ เป็นไปในเรื่องของการอบรมเจริญภาวนาได้ เช่น ในเรื่องของการฟังธรรม การแสดงธรรม หรือการเจริญสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนาเป็นต้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเมื่อเว้นทุจริตแล้ว จะหมดเรื่องของการเจริญกุศล แม้ว่าจะมีศีลซึ่งเป็นการวิรัติทุจริตแล้ว ก็ยังมีกุศลอื่นๆ ที่ควรเจริญขึ้นด้วย

เปิด  243
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565