แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1781
สนทนาธรรมที่โรงพยาบาล จังหวัดเลย
วันอาทิตย์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑
สุ. ทุกคนอยู่ในโลกของความคิดของตัวเอง เมื่อกี้ไม่ได้คิดถึงใครที่บ้าน ใช่ไหม ถ้าเดี๋ยวนี้คิด มีไหม
ผู้ฟัง มี
สุ. ถ้าไม่คิดจะมีไหม
ผู้ฟัง ไม่มี
สุ. เพราะฉะนั้น แสดงว่าตลอดชีวิตของเรา เราอยู่กับความคิด ยึดมั่นในความคิด จึงรู้สึกว่าเป็นคน เป็นสัตว์ ตลอดเวลา
สมพร กิเลสเกิดตอนที่เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นคนดี คนไม่ดี สิ่งของนั้นดี ไม่ดี ถ้าเห็นเป็นของดี กิเลสโลภะก็เกิด ถ้าเห็นเป็นของไม่ดี กิเลสโทสะ ก็เกิด กิเลส ๒ อย่างนี้ป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ตัวเรา คือ โลภะ ความยินดีติดใจ และ โทสะ ความไม่สบายใจ เพราะเกิดจากการเห็น การได้ยิน การรู้กลิ่น รู้รส หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมากระทบกาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรียกว่าเป็นชีวิตประจำวัน ที่ท่านอาจารย์สอนอยู่ทุกวันนี้
สุ. เรื่องผู้รู้ ยังมีข้อสงสัยอีกไหม ไม่มีเราอีกต่างหากเลย ถ้าแยกชีวิตประจำวันออก มีเห็น ซึ่งจิตเป็นสภาพรู้ มีจิตหลายประเภท และมีความรู้ หลายขั้น มีปัญญาหลายขั้น ปัญญาขั้นการฟังดับกิเลสไม่ได้ อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ รู้สารพัดรู้ รู้ดีรู้ชั่วทุกอย่าง แต่ไม่หมดกิเลส เพราะว่าเป็นเพียงปัญญาขั้นฟัง ยังไม่ใช่ขั้นโลกุตตระที่เจริญอบรมจนกระทั่งประจักษ์ชัดลักษณะของนามธรรมโดยสภาพที่ ไม่ใช่ตัวตน จนถึงขั้นโลกุตตรปัญญาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะนิพพานจึงดับกิเลสได้
เพราะฉะนั้น ปัญญามีหลายขั้น แต่ต้องเริ่มจากขั้นฟังให้เข้าใจ ถ้ายังไม่เข้าใจอะไรเลยก็ไม่มีทางที่ปัญญาจะคมกล้าขึ้นถึงขั้นโลกุตตระได้ ข้อสำคัญ คือ เข้าใจเรื่องอะไรเป็นสภาพรู้หรือยัง
ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจ
สุ. ยังไม่เข้าใจนี่ถูก เพราะว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณาว่า เห็นมีแน่ๆ ขณะนี้กำลังเห็น เห็นเสียงได้ไหม เห็นกลิ่นได้ไหม เห็นควันได้ไหม เห็นรสได้ไหม รสก็ไม่เห็น เห็นคนนั้นคนนี้ได้ไหม
อย่าลืม ทางตาเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสีสันต่างๆ เท่านั้น ขอให้ทราบความจริงว่า เมื่อไรเห็นอย่างนี้จึงจะรู้ว่า ไม่ใช่คนเลยสักคนเดียวที่กำลังปรากฏทางตา คิดถึงคนได้หลังจากที่เห็นแล้ว แต่ต้องเห็นก่อนจึงจะคิดได้
ถ. จากการบรรยายธรรมของท่านอาจารย์ในวันนี้ ผมคิดว่าผู้ฟังอาจจะมีความรู้ไม่เท่ากัน ผมอยากให้อาจารย์ให้รายละเอียดเกี่ยวกับธรรมในชีวิตประจำวัน และประโยชน์ คือ บางครั้งทำงานมีปัญหาต้องแก้ไข จะทำงานให้มีความสุข ทำอย่างไร
สุ. ต้องขอขอบพระคุณ เพราะว่าปัญหานี้เริ่มจากชีวิตประจำวันคือธรรม และขอให้เข้าใจจริงๆ ว่า ไม่ปราศจากธรรมเลยในชีวิตประจำวัน แม้แต่กำลังเห็น กำลังได้ยิน เป็นต้น และก้าวต่อไปถึงความสุขความทุกข์ในชีวิตประจำวัน ขอเรียนถามว่า กำลังมีปัญหาอะไรหรือเปล่า ปัญหาเป็นอย่างไร
ถ. อย่างเราตั้งเป้าหมายงานไว้ แต่ทำแล้วไม่ถึงตามเป้าหมาย ก็กังวลใจ
สุ. ทำจนเต็มความสามารถหรือยัง
ถ. เราทำเต็มความสามารถ แต่ ...
สุ. เราทำอย่างดีที่สุดหรือยัง ถ้าเราทำอย่างดีที่สุดแล้วและผลเป็นอย่างนั้น เราจะช่วยอะไรอีกได้ไหมในเมื่อเราทำดีที่สุดแล้ว
ถ. แต่ก็มีส่วนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
สุ. ถ้าเราทำดีที่สุดในทุกๆ ทางและผลคืออย่างนี้ เราก็ต้องยอมรับ ตามความเป็นจริงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เราแก้ไขเพียงตัวเราคนเดียวได้ แต่เราไม่สามารถแก้ไขคนอื่นได้ นอกจากแนะนำเขาเท่าที่เขาจะฟัง แต่เป็นไปไม่ได้ ที่เราจะไปแก้ไขให้ทุกคนดีอย่างที่เราปรารถนาต้องการ หรืออยากให้เขาเก่งอย่างที่เราต้องการ ถ้าเราได้ทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุดแล้ว เราต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้นว่า เราจะแก้ไขเฉพาะตัวเรายิ่งขึ้น
ไม่ใช่เฉพาะท่านผู้นี้ท่านเดียว ทุกท่านจะตอบเหมือนกันหมดว่า ไม่มีใคร ได้อะไรอย่างใจ เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงต่างเป็นทุกข์ เพราะว่าปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าเราคิดว่า เราทำดีที่สุดทุกๆ ทางแล้ว ก็ต้องยอมรับสภาพ ตามความเป็นจริงว่า เราแก้ไขคนอื่นไม่ได้ เราแก้เศรษฐกิจของประเทศไม่ได้ เราแก้เศรษฐกิจของโลกไม่ได้
เมื่อเราทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว เต็มที่แล้ว ผลก็คืออย่างนี้ เพราะว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา นี่เห็นได้ชัด เพราะฉะนั้น อย่าเป็นทุกข์ไปเลยในเมื่อแก้ไขไม่ได้ เพราะว่าเป็นทุกข์ก็เท่านั้น ไม่ทุกข์ก็เท่านั้น ผลคือเท่าเดิม เพราะฉะนั้น อยู่เป็นสุขดีกว่า โดยที่ผลเท่าเดิม ไม่ต้องไปกังวล ซึ่งจะเพิ่มความทุกข์ขึ้น ถ. กินหมากถือว่าเป็นกิเลสอย่างหนึ่งไหม
สุ. ความพอใจมีหลายทาง ทางตาก็ชอบสิ่งที่สวยๆ ทางหูก็ชอบเสียงเพราะๆ ทางจมูกก็ชอบกลิ่นหอมๆ ทางลิ้นก็ชอบรสอร่อย ทางกายก็ชอบสัมผัสสิ่งที่สบาย ผู้ที่จะละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีบุคคล เหลืออีกเพียงขั้นเดียวจะถึงความเป็นพระอรหันต์
ถ. … ไม่มีคนเคารพทั่วประเทศ แต่ทำไมเรามาครุ่นคิดคนเดียว
สุ. ไม่ใช่เกี่ยวกับส่วนมาก เกี่ยวกับตัวเองที่จะเคารพใครหรือไม่เคารพใคร ต้องเป็นผู้ที่มีเหตุผลด้วยว่า เคารพในลักษณะใด
สมพร ตามธรรมดา อย่างพระโดยมากจะไม่ค่อยพูดถึงท่าน เพราะว่า ท่านพ้นจากทางโลกไปแล้ว การที่ท่านจะสูบบุหรี่หรือกินหมากอะไรเหล่านี้ ถือว่า เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เรื่องกิเลสนี่ละยาก ใครๆ ก็ละยาก พระก็ละยาก ฆราวาสก็ละยาก
สุ. ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เวลาที่มีผู้ไปเฝ้าฟังพระธรรม และได้เข้าใจพระธรรมแล้ว ก็น้อมประพฤติปฏิบัติตาม
พุทธบริษัทแบ่งออกเป็น ๔ คือ ภิกษุ ๑ ภิกษุณี ๑ อุบาสก ๑ อุบาสิกา ๑ ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วมีเป็นจำนวนมากที่ไม่บวชเป็นบรรพชิต เพราะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ไม่มีคุณธรรมของจิตระดับขั้นที่จะออกบรรพชาอุปสมบทเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิต เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือ ท่านอุบาสิกาวิสาขา ท่านก็ยังครองเรือน โดยที่ท่านก็ยังเป็นพระโสดาบันบุคคล และพวกคฤหัสถ์ที่เป็นพระสกคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคลก็มี โดยไม่บวช
แต่ก็มีหลายท่านที่พิจารณาเห็นว่า ชีวิตของท่านที่จะอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้น ท่านใคร่ที่จะบำเพ็ญในเพศสมณะ เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้น ก็บวช และอบรมเจริญปัญญา แต่กิเลสที่มีอยู่ของแต่ละบุคคลทำให้มีการประพฤติ ในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร จนกระทั่งพระผู้มีพระภาคต้องทรงบัญญัติเป็นสิกขาบท เพื่อให้เห็นว่าเพศของบรรพชิตนั้นต่างกับคฤหัสถ์อย่างมากทีเดียว เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่คฤหัสถ์จะติเตียนได้ สิ่งนั้นทรงบัญญัติ และสิ่งใดที่ไม่เกื้อกูลต่อการที่จะให้ กิเลสลดลง พระผู้มีพระภาคก็ทรงบัญญัติ เพราะฉะนั้น พระวินัยบัญญัติสำหรับบรรพชิตจึงมีมากถึง ๒๒๗ ข้อ
เมื่อกาลสมัยล่วงมาจนกระทั่งถึงสมัยนี้ ชาวพุทธจะเห็นว่า การบวชเปลี่ยนแปลงไปจากการที่ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจจึงบวชเพราะรู้จักตนเองว่า จะบำเพ็ญชีวิตที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต แต่ในสมัยนี้บวชก่อนที่จะเข้าใจพระธรรม บางท่านไม่ได้ฟังเรื่องของอริยสัจจ์ ๔ เรื่องของอนัตตา เรื่องของการขัดเกลากิเลสเลย แต่มีศรัทธา อาจจะเป็นศรัทธาของตนเอง หรือศรัทธาของมารดาบิดาก็ได้ ที่ใคร่จะให้ผู้นั้นได้บวช แม้ว่าเพียง ๑๕ วัน หรือ ๑ พรรษาก็ตามแต่
นี่ก็เป็นสมัยที่ต่างกัน ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน จนกระทั่ง กาลสมัยที่ล่วงมาถึง ๒,๕๐๐ ปี เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่เข้าใจพระธรรมและบวช ย่อมไม่มีเครื่องผูกมัดที่จะให้ดำรงอยู่ในเพศบรรพชิตเท่ากับผู้ที่ฟังแล้วเข้าใจ รู้จักตัวเองพร้อมที่จะสละเพศคฤหัสถ์จริงๆ
ด้วยเหตุนี้แม้คฤหัสถ์เองก็ไม่ทราบพระวินัยบัญญัติ และแม้พระภิกษุที่ท่านบวชก็ยังไม่ได้ศึกษาธรรม ท่านเพียงแต่ท่องข้อที่ท่านจะต้องกล่าวขานเวลาที่ท่านบวชได้ และหลังจากที่ท่านบวชแล้ว ท่านก็มีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้แนะนำว่า สำหรับ เพศบรรพชิตแล้วจะต้องนุ่งห่มอย่างไร จะต้องมีอาจาระ กิริยามารยาทอย่างไร แต่สำหรับพระธรรมจริงๆ มีการศึกษาน้อยมาก เพราะว่ามักจะนิยมศึกษาภาษาบาลี ถูกต้องไหม
สมพร ใช่ เพราะว่าภาษาบาลีเป็นภาษาธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นภาษาที่เราคนไทยเข้าใจยาก ที่ท่านอาจารย์พูดภาษาง่ายๆ อย่างทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่ก็มาจากภาษาบาลีนั่นเอง