แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1790

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๓๑


ถ. คำว่า ทะลุปรุโปร่ง คือ ต้องรู้เข้าไปถึงสัจจะ ความเป็นจริง ใช่ไหม

สุ. ทะลุปรุโปร่ง คือ ในขณะนี้เอง ที่กำลังมีขันธ์ปรากฏ มีอายตนะ มีธาตุ

ถ. เช่น เสียง ใช่ไหม

สุ. ทุกอย่างที่กำลังปรากฏ ที่เป็นของจริง ที่เป็นปรมัตถธรรม เข้าใจ ทะลุปรุโปร่ง ต้องหมายความถึงเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรม

ถ้ากล่าวว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล หรือพระเจ้าพิมพิสาร เข้าใจทะลุปรุโปร่ง เข้าใจอย่างไร ก็คือเข้าใจถึงกุศลจิต โสภณเจตสิกต่างๆ ที่เกิดขึ้น เข้าใจเรื่องการสร้างพระวิหารเชตวันของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็คือเข้าใจถึงกุศลจิตของท่านที่เป็นไป ในการสร้างพระวิหาร หมายความถึงสภาพปรมัตถธรรม แทนที่จะกล่าวว่า ขันธ์ ๕ สร้างพระวิหาร ก็ไม่มีใครที่สามารถเข้าใจได้ว่า เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์สร้างพระวิหารเชตวัน เพราะฉะนั้น ก็กล่าวว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างพระวิหารเชตวัน แต่ต้องเข้าใจถึงลักษณะของปรมัตถธรรม จึงจะเป็นการเข้าใจ ที่ทะลุปรุโปร่ง

แม้แต่ในเรื่องของรูปขันธ์ที่จะเข้าใจทะลุปรุโปร่งได้ ก็คือขณะที่สติเกิด ระลึกรู้ลักษณะของรูปขันธ์หนึ่งรูปขันธ์ใดที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้นแล้วปัญญา เจริญไม่ได้เลย ไม่ว่าจะอ่านพระไตรปิฎก หรือฟังพระธรรมมากสักเท่าไรก็ตาม ถ้า ไม่รู้ว่าจะต้องระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจึงจะเป็นปัญญาที่เข้าใจทะลุปรุโปร่งได้จริงๆ

ถ. ผู้ที่กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานต้องไปที่สงบสงัด อย่างนี้เรียกว่าเข้าใจทะลุปรุโปร่งไหม

สุ. ขณะนี้กำลังเห็น สติเกิด

ถ. เพราะฉะนั้น ต้องถือว่าเขาไม่เข้าใจ ใช่ไหม ถ้าเข้าใจแล้วต้องไม่ไป ที่สงบสงัด

สุ. เป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมบ่อยๆ เนืองๆ เพราะฉะนั้น ปกติอยู่ที่ไหน ขณะนี้กำลังเป็นปกติ บางท่านฟังแล้ว ความที่คัดค้านกับความเข้าใจเดิมของท่าน ท่านก็ถึงกับไม่เข้าใจว่า ที่ว่าเป็นปกตินั้นคืออย่างไร สงสัยแม้คำว่า เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน บอกหน่อยซิว่าปกติคืออย่างไร ไม่เข้าใจว่า ปกติ คือ ในขณะที่กำลังเห็นเป็นปกติ ในขณะที่กำลังได้ยินในขณะนี้เป็นปกติ ในขณะที่กำลังคิดนึกเดี๋ยวนี้มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเป็นปกติ คือ ไม่ต้องทำอะไร ก็มีเหตุปัจจัยทำให้สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นปกติ

ในที่สุดก็เลยไม่เข้าใจคำว่า ปกติ เพราะไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะไม่สงสัยเลยว่า ปกติคืออย่างไร

กำลังนั่ง กำลังนอน กำลังยืน กำลังเดิน กำลังประกอบกิจการงาน กำลังเคลื่อนไหว มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก นี่คือปกติ ยังไม่ต้องทำอะไรเลย สติก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

สติเจตสิกเป็นองค์หนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติจะประกอบด้วยมรรค ๕ องค์ จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่มีตัวตนที่กำลังปฏิบัติ แต่มรรคมีองค์ ๕ เจริญขึ้นโดยการเกิดขึ้นบ่อยๆ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจผิด หรือความเข้าใจคลาดเคลื่อน จะทำให้สงสัยแม้ในสิ่งซึ่งไม่เคยคิดว่าจะมีใครสงสัย หรือไม่น่าจะสงสัย คือ คำว่า ปกติ ซึ่งก็คือ เดี๋ยวนี้เอง ไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้าทำขึ้นด้วยความเข้าใจผิด ขณะนั้นไม่ใช่ปกติ

เรื่องของสังขารุเปกขาญาณเป็นวิปัสสนาญาณก่อนที่มรรควิถีจะเกิด เป็นเรื่องที่แสนไกล แต่ชีวิตประจำวันทุกขณะที่จะอบรมจนกว่าจะถึง คือ การเข้าใจข้อปฏิบัติ ที่เป็นการอบรมเจริญปัญญาอย่างถูกต้อง รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริงทีละเล็กทีละน้อย และสามารถรู้ว่า ปรมัตถธรรมที่หลงยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป ส่วนสังขารุเปกขาญาณเป็นสิ่งที่ไกลมากทีเดียว เพราะว่าใกล้ต่อการที่มรรควิถีจิตจะเกิดรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล

เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้ามีความวางเฉยด้วยปัญญาบ้างแม้เพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อย นั่นก็เป็นการสะสมที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่คิดว่าเราจะวางเฉย และ เราก็วางเฉยได้ และก็พอใจที่เราสามารถจะวางเฉยได้โดยปัญญาไม่รู้อะไร คือ ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง

ควรเห็นคุณค่าของการสะสมการวางเฉยด้วยปัญญาทีละเล็กทีละน้อย ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นในขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรม และถึงแม้จะยังไม่ถึงขั้นสติปัฏฐาน ความวางเฉยด้วยกุศลก็เป็นไปได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่มั่นคง ไม่เหมือนกับขณะที่สติปัฏฐานเกิดและระลึก สังเกต พิจารณา รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น

ความไม่หวั่นไหวที่จะเป็นสังขารุเปกขาญาณ เป็นจุดประสงค์ของการอบรมเจริญปัญญา แต่ต้องรู้ด้วยว่า ปัญญาที่จะไม่หวั่นไหวจริงๆ นั้นจะเริ่มเกิดในขณะไหน เช่น ในขณะที่กำลังฟังพระธรรม จะเป็นเหตุให้วางเฉยด้วยปัญญา เป็นสังขารขันธ์ ที่จะปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิด เพราะว่าธรรมทั้งหมดต้องสัมพันธ์กัน เกื้อกูลกัน ปรุงแต่งกัน จนกว่าจะเป็นสังขารขันธ์ที่ทำให้ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมจนละคลาย เพราะว่าการยึดถือสภาพนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนมากมายเหลือเกิน ถ้ายิ่งฟัง ยิ่งศึกษา ยิ่งพิจารณา จะเห็นว่าละเอียดมาก

เช่น ในขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของรูป ไม่ว่าจะเป็นทางหนึ่งทางใดก็ตาม และกำลังสังเกตในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้น อย่าลืม ความเป็นตัวตนยังมีอยู่ ในเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ที่กำลังสังเกตลักษณะของรูป เพราะว่าในขณะนั้นสติกำลังสังเกตลักษณะของรูป กำลังพิจารณาลักษณะของรูป เพราะฉะนั้น ความเป็นตัวตนยังมีอยู่ที่เวทนาบ้าง สัญญาบ้าง สังขารบ้าง วิญญาณบ้าง

เพราะฉะนั้น ยากจริงๆ ที่จะต้องฟังโดยละเอียด และเป็นผู้ที่อดทนต่อการ ที่จะเป็นพหูสูต โดยการฟังให้เข้าใจให้ละเอียดยิ่งขึ้น เป็นการเกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจและละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

ขอทบทวนถึงความละเอียดของจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งท่านผู้ฟังได้เคยฟังมาแล้ว แต่ถ้ายิ่งพิจารณาถึงความละเอียดเพิ่มขึ้นจะทำให้เห็นการที่ปัญญาจะต้องอบรมเจริญมากขึ้นพร้อมกับ ความอดทนจริงๆ

ทุกท่านทราบแล้วว่า สภาวรูปทุกรูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ขอให้คิดถึงความรวดเร็วของรูปซึ่งมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะว่า จะสั้นและเล็กน้อยสักแค่ไหน ทางตาอาจจะมองไม่เห็นเลยว่าเป็นรูปที่มีอายุเพียง แค่ ๑๗ ขณะและก็ดับ แต่สำหรับทางหู คิดถึงเสียงเล็กๆ นิดเดียว ขณะนั้นที่เรา รู้สึกว่าสั้นมาก ความจริงเกิน ๑๗ ขณะของจิตแล้ว เพราะต้องมีทั้งวิถีจิตทาง ปัญจทวาร และภวังค์คั่น และวิถีจิตทางมโนทวาร

แสดงให้เห็นว่า แม้เพียงรูปที่สั้นที่สุด เล็กน้อยที่สุดที่เกิดขึ้นและดับไป ก็เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ถ้าปัญญาไม่ตามรู้ความจริงของสภาพธรรมจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมได้อย่างไร

บางท่านอาจจะได้ยินเสียงบางเสียง เช่น เสียงยุงบิน เคยได้ยินไหม เคยสังเกตไหม ทันทีที่ได้ยินเสียง กำลังนอนอยู่จะรู้ได้เลยว่า ยุงบิน ชั่วขณะที่สั้น นิดเดียว แต่ก็ยังสามารถตรึกนึกคิดเป็นเรื่องของเสียงที่ปรากฏว่า ยุงบิน ในขณะนั้นจะมีความรู้สึกเหมือนกับว่ามีการเคลื่อนไหว มีตัวตน คือ มีสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งบินด้วย เพราะว่าเสียงนั้นเป็นเสียงของยุงบิน ถ้ายุงไม่บินก็คงไม่มีเสียงอะไร แต่เวลาที่ ยุงบินเกิดขึ้น แม้สั้นนิดเดียวก็ยังทำให้เกิดความคิดในเรื่องของความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

แสดงให้เห็นว่า กว่าปัญญาจะรู้ความจริงของรูปที่สั้นกว่านั้น คือ ไม่ใช่ยุง และไม่ได้บินด้วย จะมีบินได้อย่างไร เสียงบินได้ไหม เสียงบินไม่ได้ แต่เสียงของยุง ที่บินทำให้ในขณะนั้นสามารถนึกรู้ได้ถึงสิ่งที่มีตัวตนว่า เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งทำเสียงชนิดหนึ่ง คือ บินผ่านไป แม้ช่วงสั้นๆ

จะมีประโยชน์มากถ้าได้พิจารณาเรื่องของวิถีจิตทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้รู้ว่า รูปที่คิดว่าเที่ยง หรือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น แท้ที่จริงแล้วสั้นและเล็กน้อยยิ่งกว่าที่ใครจะ คาดคะเนได้ นี่สำหรับทางหู

เพราะฉะนั้น จะต้องฟังเรื่องของรูปและวิถีจิตที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะโน้มไปพิจารณาเห็นความเล็กน้อยของสภาพธรรมที่เพียงเกิดขึ้น ไม่ควรที่จะยึดถือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

เทียบดูกับทางตา จักขุปสาทรูปที่อยู่กลางตาซึ่งทุกคนมี ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ก็มีอายุ ๑๗ ขณะจิต รูปารมณ์ที่กระทบกับจักขุปสาทรูปก็มีอายุเพียง ๑๗ ขณะจิต สั้นเหลือเกิน เล็กน้อยมาก และกระทบกันจึงเป็นปัจจัยให้การเห็นเกิดขึ้น

แต่ขอให้พิจารณาถึงจักขุปสาทรูป ในวันหนึ่งๆ ซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ขณะใดที่ไม่กระทบกับรูปารมณ์ ไม่มีการเห็น จักขุปสาทรูปเล็กๆ สั้นมาก ก็เกิดดับสืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ ส่วนรูปารมณ์คือวัณณะที่เกิดร่วมกับมหาภูตรูปก็เกิดดับ มีอายุ ๑๗ ขณะ ไม่ว่าใครจะเห็นหรือไม่เห็น จะกระทบกับจักขุปสาท หรือไม่กระทบกับจักขุปสาท รูปารมณ์นั้นก็เกิดดับเป็นประจำอย่างรวดเร็ว

เพราะฉะนั้น ช่วงขณะที่ทั้งจักขุปสาทและรูปารมณ์กระทบกันเท่านั้น ที่จะเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นที่สามารถจะขยายให้เห็นว่า เพียงชั่วขณะสั้นๆ นั้น มีจิตเกิดดับถึง ๑๗ ขณะ แสดงให้เห็นว่า จิตต้องเกิดดับเร็วยิ่งกว่ารูป เพราะชั่วขณะที่รูปสั้นๆ นิดหน่อยเกิดขึ้นปรากฏแล้วดับนั้น จิตยังเกิดดับถึง ๑๗ ขณะ

ที่ใดที่ไม่มีจักขุปสาทรูป ที่นั้นจะกระทบกับรูปารมณ์ไม่ได้ แม้ว่ารูปารมณ์ เกิดดับ จักขุปสาทรูปเกิดดับ แต่ต้องอาศัยการกระทบกันของรูปารมณ์และจักขุปสาท ซึ่งจะต้องกระทบกับภวังคจิต

นี่เป็นสิ่งซึ่งแม้ท่านที่ยังไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรม ถึงตอนนี้ก็พอที่จะพิจารณาเข้าใจได้ ถ้ารู้ว่าชีวิตวันหนึ่งๆ แบ่งประเภทของจิตออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ จิตที่เป็นวิถี และจิตที่ไม่ใช่วิถี

ถ้าใช้คำว่า วิถีจิต ก็หมายความถึงจิตที่อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้น รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดใน ๖ ทาง ซึ่งทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่เป็นรูปอย่างเดียว มี ๕ ทาง คือ

ทางตา เป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นเห็นสีต่างๆ ที่กระทบกับจักขุปสาทรูปที่ยังไม่ดับ

ทางหู คือ จิตที่เกิดขึ้นได้ยินเสียงที่กระทบกับโสตปสาทรูปที่ยังไม่ดับ

ทางจมูก คือ จิตที่เกิดขึ้นรู้กลิ่นที่กระทบกับจมูกหรือฆานปสาทรูปที่ยังไม่ดับ

ทางลิ้น คือ จิตที่เกิดขึ้นลิ้มรสที่กระทบกับชิวหาปสาทรูปที่ยังไม่ดับ

ทางกาย คือ จิตที่เกิดขึ้นรู้เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่กระทบกับกายปสาทรูปที่ยังไม่ดับ

ที่เน้นจุดนี้ก็เพื่อให้เห็นว่า ต้องเป็นรูปที่ยังไม่ดับทั้งปสาทรูปและอารมณ์ที่กระทบกับปสาทรูปนั้นๆ แสดงให้เห็นว่า ในขณะนี้เองที่จิตกำลังเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งจึงจะดับไป และก่อนที่จะมีการเห็นทางตา มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึก ก่อนวิถีจิตเหล่านี้จิตต้องเป็นภวังค์ คือ เป็นจิตประเภทที่ดำรงภพชาติ โดยที่ขณะนั้นไม่รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ คือ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และไม่คิดนึก เพราะฉะนั้น จิตจึงแยกได้เป็น ๒ ประเภท คือ เป็นวิถีจิตประเภทหนึ่ง และจิตที่ไม่ใช่วิถีจำพวกหนึ่ง

เปิด  223
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565