แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1782
สนทนาธรรมที่โรงพยาบาล จังหวัดเลย
วันอาทิตย์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑
สุ. กาลสมัยต่อมา พุทธศาสนาก็ไปสู่ประเทศต่างๆ และอย่างประเทศไทย เราก็ไม่ได้ใช้ภาษาบาลี เพราะฉะนั้น จุดมุ่งของพระภิกษุเวลาที่ท่านบวชแล้วก็คือ จะศึกษาภาษาบาลีเพื่อรักษาพระศาสนาไว้ เพราะว่าพระศาสนาเป็นภาษาบาลี ที่มีข้อความชัดเจน และกระชับมาก ไม่ทำให้เคลื่อนไปตามภาษาต่างๆ ซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะแปลจากบาลีเป็นไทย หรือเป็นจีน หรือเป็นอังกฤษ หรือเป็นลาว เป็นเขมรต่างๆ ความหมายก็ยังคงกลับมาสู่ภาษาบาลีซึ่งเป็นหลักยึดไว้
ด้วยเหตุนี้พระภิกษุส่วนใหญ่จึงมุ่งศึกษาภาษาบาลีเพื่อรักษาพระธรรม แต่ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ยากมาก จะใช้เวลาเพียง ๕ ปี ๑๐ ปี ก็ไม่พอ ถ้าจะศึกษา จริงๆ ให้เก่งอย่างท่านอาจารย์สมพรที่สามารถแปลอรรถกถาเป็นเล่มๆ ออกมาเกื้อกูลต่อการที่จะเข้าใจพระไตรปิฎกได้ ซึ่งไม่ใช่ง่ายเลย เพราะนอกจากพระไตรปิฎกแล้ว ยังต้องมีคำอธิบายซึ่งเป็นอรรถกถาด้วย ต้องใช้เวลาที่นานมากทีเดียว
เมื่อชีวิตของบรรพชิตส่วนใหญ่มุ่งไปศึกษาภาษาบาลีแล้ว การที่จะศึกษา พระธรรมวินัยก็น้อยกว่าการศึกษาบาลี นี่เป็นสิ่งที่ปรากฏในแต่ละสมัย แม้ในสมัยนี้ โดยเฉพาะสำหรับการศึกษาพระอภิธรรมสำหรับบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็เริ่มไม่นานนี้เอง ประมาณสัก ๓๐ – ๔๐ ปี คงจะได้
เพราะฉะนั้น ก็เป็นที่น่าเห็นใจ ถ้าท่านผู้ใดก็ตามได้ศึกษาพระวินัยปิฎก จะเห็นได้ว่า พระภิกษุแม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็เป็นผู้ที่ยังมี กิเลสอยู่ ทำให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสมด้วยกำลังของกิเลส แม้ในสมัยนั้นยังมีได้ เพราะฉะนั้น เมื่อกาลเวลาผ่านมาจนถึงสมัยนี้ และพระภิกษุท่านมุ่งที่จะศึกษาทางด้านภาษาบาลี กิเลสจึงยังคงมีเหมือนชาวบ้านธรรมดาที่เป็นปุถุชน สิ่งใดซึ่ง ท่านเคยติด เคยคุ้นเคย เช่น หมากบ้าง บุหรี่บ้าง ท่านจะละได้อย่างไร ในเมื่อจุดประสงค์ของการบวชในครั้งโน้น บวชหลังจากที่ได้ฟังพระธรรมและรู้จักตนเองว่า จะเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต แต่ในครั้งนี้บวชเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรจะอบรมฝึกฝนตนชั่วระยะหนึ่ง หรือจะตลอดชีวิตก็แล้วแต่บางท่าน แต่การที่ข้อประพฤติปฏิบัติจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ ก็ด้วยการเข้าใจพระธรรมละเอียดขึ้น ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจ พระธรรมโดยละเอียด ทุกคนก็ยังมีกิเลสมากๆ ยังเป็นสภาพของปุถุชนอยู่ จนกว่า จะศึกษาพระธรรมและเข้าใจ และเห็นโทษของอกุศล และรู้ว่าเพศบรรพชิตต่างจากเพศคฤหัสถ์อย่างมากทีเดียว
ด้วยเหตุนี้เมื่อกาลสมัยผ่านมาจนกระทั่งเกือบจะหมดสิ้น คือ ถึงครึ่งหนึ่งแล้ว ๒,๕๐๐ ปี ครึ่งหนึ่งของพุทธกาล การศึกษาก็ห่างไปตามลำดับ จนกระทั่งเกือบจะ ไม่เข้าใจว่าธรรมจริงๆ คืออะไร อริยสัจจธรรมหรือหนทางที่จะดำเนินไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมคืออย่างไร เพราะฉะนั้น ปฏิปทาอาจาระของพระภิกษุท่านก็ห่างจากพระวินัยมาโดยลำดับ แต่ก็คงจะไม่ทุกรูป แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะเห็นส่วนมากส่วนน้อยอย่างไร นั่นก็เป็นเรื่องของพระภิกษุท่าน ซึ่งทำให้ผู้เป็นคฤหัสถ์บางท่านอาจจะกังวลใจเหลือเกิน เพราะเห็นว่าท่านไม่ได้เป็นพระภิกษุอย่างที่หวัง อย่างที่คิด อย่างที่พระวินัยบัญญัติกล่าวไว้
ทุกคนเกิดมาแล้วมีชีวิตสั้นมาก แทนที่จะไปมุ่งจัดระเบียบคนอื่น หรือคำนึงถึงกิจของคนอื่นซึ่งเราไม่สามารถแก้ไขได้ ควรคิดว่ามีทางใดที่คฤหัสถ์จะเกื้อกูลบรรพชิตแม้ในทางวินัย และบรรพชิตมีอะไรที่จะเกื้อกูลต่อคฤหัสถ์ได้ มีเมตตาจิตต่อกันที่จะเกื้อกูลกัน ถ้าท่านเป็นผู้ขาดโอกาสในการจะศึกษาพระธรรม คฤหัสถ์ที่เข้าใจพระธรรมก็เกื้อกูลท่านโดยการให้โอกาส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหนังสือ ตำรับตำรา หรือเทป หรือการสนทนาธรรม เพราะแม้ในครั้งพุทธกาล ท่านจิตตคฤหบดี ท่านเป็น พระอนาคามีบุคคล เวลาที่พระภิกษุทั้งหลายไม่ได้สนทนาธรรมกับท่าน ท่านก็ สนทนาธรรมกับพระภิกษุนั้น คือ ท่านขอโอกาสที่จะเรียนถามปัญหา และพระภิกษุ ในครั้งนั้นท่านก็เป็นผู้ที่ตรง ปัญหาใดที่ท่านตอบไม่ได้ แต่ท่านรู้ว่าจิตตคฤหบดีเป็นผู้ที่เป็นธรรมกถึกสามารถที่จะตอบได้ ท่านก็ย้อนถามจิตตคฤหบดีเพื่อที่จะได้ฟังพระธรรม นี่ก็เป็นการเกื้อกูลกันระหว่างบรรพชิตกับคฤหัสถ์
เพราะฉะนั้น กิจของคฤหัสถ์ที่จะพึงมีต่อบรรพชิต นอกจากจะมีเมตตาจิตที่จะเกื้อกูลต่อท่านทั้งในด้านธรรมและด้านวินัยแล้ว ก็ควรที่จะนอบน้อมต่อเพศบรรพชิต ใช้คำว่า ต่อเพศบรรพชิต ไม่ใช่ต่อบุคคล เพราะถ้าจะพิจารณาถึงปฏิปทาอาจาระของภิกษุบุคคล จะเห็นว่าบางรูปมีอาจาระที่ไม่น่าเลื่อมใส เราก็ไม่ส่งเสริม แต่ไม่ใช่โดยการดูหมิ่น เพราะในขณะนั้นจิตใครเป็นอกุศล ขณะที่กำลังดูหมิ่นบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม
ที่ใช้คำว่า สังฆะ หรือพระสงฆ์ก็ตาม หมายถึงหมู่คณะของเพศบรรพชิต ไม่ใช่หมายความถึงพระภิกษุแต่ละรูป เพราะฉะนั้น บุคคลใดก็ตามเห็นพระภิกษุรูปใด มีความนอบน้อมในเพศบรรพชิตเสมอกับท่านเป็นพระอริยบุคคลหรือท่านมีข้อปฏิบัติสืบเนื่องมาจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ประทานอนุญาตให้คฤหัสถ์ได้บวชเป็นเพศบรรพชิต และก็มีบรรพชิตที่เป็นพระอริยบุคคลผู้เลิศในทางต่างๆ เช่น ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระอานนท์ ท่านพระกัสสปะ ท่านพระอนุรุทธะ ก็ล้วนครองเพศบรรพชิตอย่างนี้ให้เราได้น้อมระลึกถึง พระผู้มีพระภาคและพระภิกษุสงฆ์ในครั้งอดีต ก็จะทำให้จิตใจของเราอ่อนโยน
แต่ถ้าพระภิกษุบุคคลรูปใดมีการกระทำใดที่ไม่เหมาะสม เราก็อย่าส่งเสริม เพราะมีชาวพุทธหลายท่านที่กำลังคำนึงถึงว่า ขณะนี้ชาวพุทธส่วนใหญ่มุ่งที่จะส่งเสริมทางด้านวัตถุ มีการสร้างวัด หรือสถานที่ใดๆ ก็ตามที่ใหญ่ที่สุด กว้างที่สุด สูงที่สุด หรืออะไรๆ ที่สุดอยู่เสมอ ซึ่งดิฉันก็ได้เรียนท่านผู้นั้นว่า บรรพชิตรูปหนึ่งรูปใด ท่านไม่สามารถสร้างได้ ถ้าคฤหัสถ์ไม่มอบปัจจัยถวายท่าน
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ความผิดของท่าน แต่เป็นความผิดของคฤหัสถ์ ถ้าคฤหัสถ์ไม่ต้องการให้มีการส่งเสริมทางด้านวัตถุ คฤหัสถ์ไม่ถวายปัจจัย ท่านจะสร้างได้อย่างไร แต่เวลาที่ท่านสร้างแล้วก็เป็นข้อติเตียนว่า ท่านสร้างสิ่งที่เป็นแต่วัตถุเหมือนกับการแข่งว่า สูงที่สุดบ้าง ใหญ่ที่สุดบ้าง
ผู้ฟัง ผมเป็นกรรมการพุทธสมาคม ศาสนาเสื่อมเพราะบุคคล ๓ เหล่า เมื่อครั้งก่อน ๔ เหล่า คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แต่ปัจจุบันภิกษุณีไม่มีแล้ว มีแต่ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา ศาสนาไม่ได้เสื่อม เสื่อมอยู่ที่เรา
สุ. ธรรมที่ได้ฟัง จะมีประโยชน์เมื่อปฏิบัติ ไม่ว่าเรื่องของศีล เรื่องของทาน
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. บุญอยู่ที่ไหน ถ้าไม่รู้ว่าบุญอยู่ที่ไหน อาจจะไม่ได้ด้วย เพราะไม่รู้ว่าบุญอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า บุญอยู่ที่ไหน ถ้าใครตอบได้ คนนั้นจึงจะรู้ว่า บุญมากหรือบุญน้อย ถ้าตอบไม่ได้ ไม่ได้บุญ ถ้าจะได้บุญเดี๋ยวนี้ หมายความว่าต้องเกิดความเข้าใจถูกว่าบุญอยู่ที่ไหนก่อน มีท่านผู้ใดจะตอบบ้างไหมบุญอยู่ที่ไหน
รู้สึกว่าทุกคนมุ่งหวังบุญ เพราะฉะนั้น ต้องคิด จึงจะรู้ว่าเป็นบุญจริงๆ หรือไม่ มีคำตอบว่า บุญอยู่ที่ตัวเรา ไม่ผิดเลย ตอบให้ชัดไปกว่านั้นอีกว่า ที่ไหนในตัวเรา
ผู้ฟัง อยู่ที่จิตใจ
สุ. ที่จิต เพราะฉะนั้น บุญ คือ จิตที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะนั่นเอง ขณะใดที่จิตใจมีเมตตา ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ขณะนั้นเป็นบุญแล้ว ขณะที่สละวัตถุให้บุคคลอื่น เพราะว่าในโลกนี้มีทั้งผู้ที่มีมากมายล้นเหลือ และผู้ที่ขาดแคลนยากไร้ ลำบากมาก เพราะฉะนั้น ขณะใดประสบกับผู้ที่กำลังทุกข์ยากเดือดร้อน และมีจิตใจอ่อนโยน มีความเป็นมิตรต้องการที่จะเกื้อกูล ขณะนั้นจิตปราศจากโลภะ ไม่ตระหนี่ และสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น ขณะนั้นเป็นบุญ
นี่คือธรรมปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ที่ว่าจะได้บุญ ไม่ใช่ว่าจะไปได้เมื่อไร แต่ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นบุญ ชอบไหมบุญอย่างนี้ ต้องการบุญมากๆ ใช่ไหม เวลาที่เห็นคนกำลังเดือดร้อนทุกข์ยาก ช่วยทันทีขณะใด ขณะนั้นเป็นบุญ แต่ต้องโดยไม่หวัง ไม่ใช่หวังว่าจะได้บุญมากๆ ทำไปเพื่อจะได้บุญมากๆ แต่ขณะใดกุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นบุญ จะมากหรือจะน้อยอยู่ที่กุศลจิตเกิดมากหรือเกิดน้อย ไม่ใช่ทำไปแล้ว ช่วยไปแล้วก็หวังบุญ ขณะที่กำลังหวังบุญหรือต้องการบุญ ขณะนั้นไม่ใช่บุญ ขอให้ทราบว่า ที่จะได้บุญมากหรือบุญน้อย ก็คือกุศลจิตเกิดมาก หรือ กุศลจิตเกิดน้อย
เวลาใดที่โกรธใครก็ตาม ขณะนั้นเป็นบุญหรือเปล่า ไม่เป็น เวลาที่ให้อภัย และเข้าใจว่า ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะโกรธ การโกรธนั้นไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย ทั้งเขาทั้งเรา เวลาที่เราโกรธก็ไม่ได้ทำให้คนที่เราโกรธดีขึ้น และใจของเราในขณะนั้น ก็รุ่มร้อน ขณะนั้นไม่ใช่บุญ เพราะฉะนั้น ถ้ามีเมตตาและไม่โกรธ ขณะนั้นเป็นบุญไหม
ผู้ฟัง ไม่โกรธเป็นบุญ
สุ. ไม่โกรธเป็นบุญ เพราะฉะนั้น รู้แล้วว่าบุญอยู่ที่ไหน วันหนึ่งๆ อยากจะได้บุญมากสักเท่าไร หาเองได้ คือ ไม่ต้องไปทำอะไรให้ลำบากสักนิดเดียว ขณะใดที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ขณะนั้นเป็นบุญ
ไม่ใช่ถามว่า ทำอย่างนี้แล้วจะได้บุญมากไหม ทำอย่างนั้นแล้วจะได้บุญ มากไหม นั่นคือความหวังผลบุญ ซึ่งไม่ใช่บุญ ความหวังผลนั้นต้องเป็นโลภะ เป็นความต้องการ
ถ. ... ที่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุดนั้น หมายความว่าอย่างไร
สุ. ไพเราะเพราะว่าเป็นสัจจธรรมที่พิสูจน์ได้ทุกกาลสมัยแม้ในขณะนี้ อย่างเรื่องการเห็น ก็เป็นสิ่งที่มีจริง และเป็นอนัตตาด้วย เพราะฉะนั้น คำที่ไพเราะ คือ คำจริง ถ้าเป็นคำไม่จริง เป็นคำเท็จ แม้ฟังดูเหมือนจะไพเราะ แต่เมื่อไม่จริงแล้ว ย่อมไม่ใช่ความไพเราะ
ถ. อยากจะรักษาศีล
สุ. อยากจะรักษาศีลเพราะอะไร ทุกอย่างจะสมบูรณ์เมื่อรู้และเข้าใจเหตุผล แต่ถ้าทำๆ ไปโดยไม่เข้าใจจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะฉะนั้น แม้แต่จะรักษาศีล ก็ควรที่จะทราบว่าเพื่ออะไร หรือเพราะอะไร ทำไมจะรักษาศีล ถ้าตอบได้ ก็เป็นกุศล ถ้าตอบไม่ได้ ก็อยากได้ผลของศีล อยากได้บุญอีก
ศีล คือ การวิรัติทุจริต ผู้ที่จะไม่มีกิเลสเลยคือพระอรหันต์เท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่ใช่พระอรหันต์ก็ต้องมีกิเลสมากน้อยตามลำดับขั้น ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นเป็นอกุศล นี่คือความหนาแน่นของปุถุชน เมื่อรู้อย่างนี้แล้วจะเห็นกิเลสเป็น ขั้นๆ ว่า กิเลสมีถึง ๓ ขั้น คือ ขั้นละเอียด ขั้นกลาง และขั้นหยาบ
กิเลสขั้นหยาบ คือ ในขณะที่กระทำทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา ซึ่งได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ นั่นคือกิเลสหยาบ
กิเลสอย่างกลาง คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ทุกคนมีโลภะเสมอ ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนหลับ ทันทีที่ลืมตาต้องการอะไร แม้แต่การที่จะลุกขึ้นบริหารร่างกาย รักษาสุขภาพร่างกาย แปรงฟัน ล้างหน้า บริโภคอาหาร ทุกขณะขอให้ทราบว่า เป็นโลภมูลจิตทั้งนั้น ขณะที่ยังไม่ขุ่นเคืองใจ
แต่ถ้าขณะใดเห็นสิ่งใด แม้ฝุ่นสักเล็กน้อยตามซอกเก้าอี้ เครื่องเรือน เครื่องใช้ และเกิดความไม่พอใจขึ้น นั่นก็คือลักษณะของอกุศลประเภทหนึ่ง คือ โทสมูลจิต
เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ เต็มไปด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วโลภะเป็นสมุทัยของสังสารวัฏฏ์ที่จะทำให้ไม่มีการสิ้นสุดการเกิดขึ้นเลย เพราะว่า ยังมีความพอใจที่จะเห็น มีความพอใจที่จะได้ยิน ที่จะได้กลิ่น ที่จะลิ้มรส ที่จะกระทบสัมผัส มีความต้องการสิ่งที่เห็น กลับไปบ้าน ทุกสิ่งในบ้านเป็นสิ่งที่พอใจทั้งนั้น ถ้าสิ่งไหนไม่พอใจ สิ่งนั้นจะทิ้งไป ไม่ให้อยู่ในบ้านอีกต่อไป เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ถ้วยแก้ว ภาชนะใดๆ ทั้งสิ้นในบ้านทั้งหมดเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ นี่คือสมโลภะ คือ ความพอใจที่เป็นโลภะตามธรรมดา ปกติ ที่ยังไม่ใช่ล่วงเป็นทุจริต
สมพร ที่อาจารย์พูดนั้นถูกแล้ว เพราะว่าทุจริตถ้าเกิดทางกาย เช่น เราเบียดเบียนเขา ตีเขา ทำร้ายด้วยมือ เป็นต้น เรียกว่าเป็นกิเลสอย่างหยาบ ออกมาทางกายมีกำลังแล้ว ถ้าเพียงเกิดอยู่แต่ในจิตใจ ทำจิตใจเรารุ่มร้อนเรียกว่า ปริยุฏฐานะ คือ กลุ้มรุมจิต
ปริยุฏฐานะ แปลว่า กลุ้มรุมจิตไม่ให้เป็นตัวของตัวเอง เป็นไปตามอำนาจของกิเลส กิเลสอย่างกลางนี้เป็นเรื่องที่รู้ได้ยาก มีปัจจัยจึงเกิดขึ้น ไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิดขึ้น
สุ. ขณะนี้ก็พอจะทราบได้ว่า เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เรื่องของจิตเป็นเรื่องพิสูจน์ทันที ขณะที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เป็นกุศล ขณะใดที่ไม่ใช่กุศล ขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น การรักษาศีลก็เพื่อวิรัติอกุศลที่มีกำลังแรงที่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน
เวลาที่เกิดโลภะมากๆ เกินสภาพปกติ เพราะว่าทุกคนมีโลภะ ทุกคนแสวงหาทรัพย์สินเพื่อที่จะได้สิ่งที่พอใจได้ตามปกติ ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน นั่นเป็นเรื่องของสมโลภะ แต่เวลาที่ความโลภเกิดมากจนกระทั่งกระทำทุจริตเพื่อให้ได้สิ่งนั้นๆ มา นั่นก็ทำให้คนอื่นเดือดร้อนแล้ว
เพราะฉะนั้น การรักษาศีล คือ การเห็นโทษของกิเลสอย่างหยาบ และวิรัติ คือ ละเว้นทุจริตกรรม นั่นคือการรักษาศีล
พอที่จะเข้าใจแล้วว่า รักษาศีลเพราะอะไร ก็เพราะเห็นโทษของอกุศล อย่างหยาบ ที่จะทำให้ผู้อื่นและตนเองเดือดร้อน
ถ. การรักษาศีลอุโบสถให้บริสุทธิ์ทำอย่างไร
สุ. รักษาอุโบสถศีล เพราะต้องการอะไร
ถ. ต้องการบุญ
สุ. ก็ไม่พ้นจากความต้องการบุญ แต่ถ้าคิดหรือเข้าใจว่า ศีล ๕ ยังไม่พอ ควรที่จะขัดเกลากิเลส คือ ความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ให้ยิ่งกว่านั้นถ้าสามารถจะกระทำได้ แม้ว่าเพียงวันหนึ่งหรือคืนหนึ่งก็ยังดีที่จะสะสม เป็นอุปนิสัย ถ้าเข้าใจอย่างนี้จึงจะถูก แต่ไม่ใช่ไปเพราะได้ยินได้ฟังว่า ผู้ที่รักษาอุโบสถศีลแล้วได้ผลของบุญมาก นั่นคือความต้องการผลของบุญ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ มีปัญญา ต้องเห็นกิเลสของตนเองและรู้ว่า วันหนึ่งๆ ตลอดชีวิตมีความติด ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น การรักษาอุโบสถศีลเป็นการขัดเกลายิ่งกว่าขั้นของศีล ๕ แม้ว่าเพียงชั่วคืนหนึ่งหรือวันหนึ่ง ถ้าจะกระทำได้ นั่นจึงควรเป็นจุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีล
แต่บางคนจะรักษาศีล ก็นอนเสีย จะได้ไม่ไปล่วงศีล อย่างนี้ไม่ถูกต้อง เพราะต้องเข้าใจจุดประสงค์จริงๆ ว่า เพื่อขัดเกลากิเลส
ยิ่งมีศีลมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการขัดเกลากิเลสมากเท่านั้น เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ ถ้าสามารถรักษาศีลเพียง ๕ ข้อให้สมบูรณ์ นั่นก็เรียกว่า เป็นการกระทำที่กระทำได้ยากแล้ว แม้การเป็นคฤหัสถ์ที่ดีก็ไม่ง่ายเลย ถ้าจะพิจารณาว่ามีศีล ๕ เป็นนิจครบถ้วนหรือไม่ เพราะว่าตามความเป็นจริงผู้ที่จะรักษาศีล ๕ ได้สมบูรณ์นั้น คือ พระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบันเป็นต้นไป